ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง
รวบรวมเรื่อง "เงิน" กับ "ทอง"
sithiphong:
ปัจจัยที่น่าจะกระทบต่อราคาทองคำในปี 2556
-http://www.goldtraders.or.th/ArticleView.aspx?gp=2&id=199-
ณ วันที่ 13/12/2555
สวัสดีท่านสมาชิกทุกท่าน ย่างเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2555 กันแล้วนะครับ ปีนี้ราคาทองคำร้อนแรงน้อยกว่าปีที่แล้วที่สามารถสร้าง All time High ได้ในเดือนสิงหาคม ขณะที่หลายสำนักต่างคาดการณ์กันว่าในปีหน้าฟ้าใหม่ 2556 ราคาทองคำจะสามารถกลับมาดึงดูดใจนักลงทุนได้อีกครั้ง ทำให้จุลสารฉบับส่งท้ายของปีนี้ขอข้ามไปจับประเด็นร้อนของปีหน้าโดยการติดตามคาดการณ์ทำให้สามารถจับประเด็นได้ว่าเรื่องร้อนในปีหน้าคงหนีไม่พ้น US Fiscal crisis, Eurozone debt crisis และ Expansion Monetary policy นอกเหนือจากนี้ยังมีการซื้อขายเก็งกำไรและการสะสมของบรรดากลุ่มนักลงทุนระยะยาว โดยมีปัจจัยที่น่าจะกระทบต่อราคาดังนี้
ทิศทางราคาทองคำในปี 2556 ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยเดิมในปี 2555 โดยเฉพาะนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางจีน (PBOC) จากการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ซึ่งเชื่อว่าจะยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2556 จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการคลังสหรัฐฯ (Fiscal Cliff) และปัญหาหนี้สินยุโรป ส่วนจีนนั้นต้องมีการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มมากขึ้นจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจแม้จะไม่ได้เป็น Hard Landing อย่างที่หลายฝ่ายกังวล แต่เศรษฐกิจที่กลับมาเติบโตแบบเลขตัวเดียวในปี 2555 ก็ถือว่ากระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ นโยบายทางการเงินสหรัฐฯ เชื่อว่าจะมีการผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขึ้นอยู่กับผลกระทบของ Fiscal Cliff โดยถ้าไม่สามารถต่ออายุมาตรการภาษีได้ทัน มาตรการทางการเงินอย่าง QE3และการคง FED Fund Rateในระดับใกล้ศูนย์จะยังคงดำเนินต่อไป นอกจากนี้ Operation Twist ที่จะหมดอายุในช่วงปลายปี 2555 อาจจะมีการต่ออายุ ซึ่งจะทำให้ทิศทางของสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง ส่วนวิกฤติหนี้ยุโรปเชื่อว่าจะกระทบต่อตลาดการลงทุนตลอดทั้งปี 2556 ทำให้ความผันผวนในตลาดการลงทุนปีนี้ยังมีต่อเนื่อง ปัจจัยเงินเฟ้อในปี 2556 ไม่ได้เป็นปัจจัยที่น่ากังวลเนื่องจากความต้องการใช้พลังงานอาจจะลดลงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนอุปสงค์ทองคำเชื่อว่ามีต่อเนื่องโดยเฉพาะในส่วนของธนาคารกลางแต่อาจจะถูกชดเชยจากอุปสงค์ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับที่ลดลง ค่าเงินบาทคาดเฉลี่ยทั้งปีแข็งค่าขึ้นจากนโยบายเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ เงินทุนไหลเข้า แต่เชื่อดอกเบี้ยนโยบายอาจจะลดลง 0.25-0.50% จากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ลดลง
ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเชื่อว่ายังเป็นปัญหาหลักในปี 2556 สหรัฐฯ เผชิญกับปัญหาหนักด้านการตัดลดการใช้จ่ายด้านการคลัง หรือที่เรียกว่าหน้าผาการคลัง (Fiscal Cliff) ซึ่งอาจจะต้องตัดลดรายจ่ายกว่า 6 แสนล้าน (ถ้าไม่สามารถต่ออายุมาตรการภาษีได้ทัน) หรือตัดลดรายจ่ายประมาณ 8.6 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ตามกฎหมายตัดลดรายจ่าย 1.2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงระยะเวลา 10 ปี นอกจากนี้สหรัฐฯ เรามองว่าการใช้จ่ายที่ลดลงของภาครัฐจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเติบโตในระดับที่น้อยกว่า 2% ในปี 2556 การจ้างงานในส่วนของพนักงานรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงสำคัญที่ถูกตัดลดรายจ่าย บวกกับบัณฑิตที่จบใหม่ จะทำให้อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงกว่า 7% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของ FEDทำให้เชื่อว่าการดำเนินนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ จะมีอย่างต่อเนื่องในปี 2556 โดยเฉพาะมาตรการ QE3 ที่จะเพิ่มปริมาณเงินเดือนละสี่หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐในการเข้าซื้อสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องทำให้ Monetary Baseอาจจะสูงกว่า 2,800 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงจากระดับที่เป็นอยู่ปัจจุบันรวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ในตลาด
ตลาดการจ้างงานซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ธนาคารกลางสหรัฐฯใช้ในการกำหนดนโยบาย ยังคงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยในปี 2556 เชื่อว่าตลาดสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจภายนอกมากขึ้นโดยเฉพาะยุโรปที่เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างช้า ๆ ขณะที่รัฐยังต้องตัดลดรายจ่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาวินัยทางการคลังและไม่สร้างปัญหาขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งถ้าเทียบเคียงวิกฤติดอทคอมในช่วงปี 2544 ใช้เวลาถึง 5 ปีในการฟื้นตลาดการจ้างงานขณะที่วิกฤติ subprime มีขนาดความเสียหายมากกว่า และกระทบต่อภาคธนาคารซึ่งเป็นกลไกหลักในการเดินเศรษฐกิจ ประกอบกับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกจึงประเมินว่าตลาดจ้างงานสหรัฐฯจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีก 1-2 ปี
ตลาดเกิดใหม่อาจจะมีการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มมากขึ้นจาก 2 สาเหตุหลัก ประการแรกผลกระทบจาก QE3 สหรัฐฯ ทำให้สกุลเงินของประเทศเกิดใหม่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระทบต่อการค้าขายระหว่างประเทศ จึงเชื่อว่าในปี 2556 การดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศเกิดใหม่จะผ่อนคลายมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวอย่างเสรี ดังจะเห็นว่าในช่วงหลังการออกมาตรการ QE3 ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มมีการเข้าดูแลค่าเงินอย่างธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารบราซิล ธนาคารกลางเกาหลีใต้ รวมถึงธนาคารกลางจีน
ปัจจัยด้านเงินเฟ้อปี 2556 เชื่อว่าจะผ่อนคลายกว่าปี 2555 จากอุปสงค์ในการบริโภคและด้านพลังงานที่ลดลงตามภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะประเทศพัฒนาอย่างกลุ่มยูโรโซน ทำให้การขึ้นราคาสินค้าไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ดีความเสี่ยงในตะวันออกกลางเป็นปัจจัยที่คาดการณ์ได้ยาก การปะทะทางทหารระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันอาจจะทำให้ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อกลับมาได้ นอกจากนี้ปัจจัยด้านภัยธรรมชาติถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินเฟ้อ
ความต้องการทองคำในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤติ Subprime โดยเฉพาะการถือครองของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เนื่องจากสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่ธนาคารกลางเคยใช้เป็นทุนสำรองมีการอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงและส่งผลต่อทุนสำรองระหว่างประเทศ จึงทำให้มีการเปลี่ยนมาถือครองทองคำ ซึ่งในอดีตธนาคารกลางเป็นกลุ่มที่ขายทองคำอย่างต่อเนื่อง
ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีการขายทองคำลดลง ตามข้อตกลง Central Bank Gold Agreement ซึ่งกำหนดให้ธนาคารกลางขนาดใหญ่รวม IMF ขายทองคำออกได้ไม่เกินข้อตกลง โดยล่าสุดอยู่ในฉบับที่ 3 (CBGA3) ซึ่งมี limit ต่อปีไม่เกิน 400 ตัน แต่จะเห็นว่าธนาคารกลางแทบไม่มีการขายออกตั้งแต่ช่วงปี 2552 การขายทองคำจำนวนมากเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการขายของ IMF ช่วงต้นปี 2553 จำนวน 129.1 ตัน สะท้อนให้เห็นการสะสมทองคำของธนาคารสำคัญที่เพิ่มขึ้น
การถือครองของกองทุน ETF สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2555 กองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุนที่ถือครองทองคำมากที่สุดในโลก มีระดับการถือครองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นมุมมองของผู้ลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยต่อการลงทุนทองคำ ซึ่งปัจจุบันถือครองสูงกว่า 1,300 ตัน หลังจากมีแรงขายในช่วงต้นถึงกลางปี 2555
จะเห็นได้ว่าความต้องการทองคำในส่วนของทุนสำรองและการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความต้องการในส่วนของกลุ่มเครื่องประดับกลับลดลงซึ่งเป็นผลมาจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคทองคำมากที่สุดประเทศหนึ่งมีการปรับเพิ่มภาษีสำหรับนำเข้าทองคำเป็น 4% แต่เชื่อว่าจะกระทบต่ออุปสงค์เล็กน้อย
ด้านอุปทานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยยอดรวมของอุปทานทองคำในปี 2552-2554 เท่ากับ 4,109, 4,350 และ 4,497 ตัน ตามลำดับ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของการผลิตทองคำใหม่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยโดยรวมแล้วถือว่าโอกาสทองคำยังคงมีในปี 2556 อย่างไรก็ดีความผันผวนของราคาน่าจะเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นท่านสมาชิกควรให้ความระมัดระวังและติดตามปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับราคาอย่างใกล้ชิดครับ ฉบับนี้ลากันไปก่อนสวัสดีครับ
ผู้เขียน คุณกมลธัญ พรไพศาลวิจิต
ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด
ที่มา : จุลสาร ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2555
พิมพ์แจก สมาชิกสมาคมค้าทองคำ ทั่วประเทศ
http://www.goldtraders.or.th/ArticleView.aspx?gp=2&id=199
.
sithiphong:
เวิลด์แบงก์ เตือนหนี้สินทะลัก! จี้รัฐบาลหยุดกู้หากหนี้สูงเกิน
-http://hilight.kapook.com/view/84768-
'เวิลด์แบงก์' เตือนหนี้สินทะลัก! (ไทยโพสต์)
ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ดีขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ยังปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกโดยรวมปีนี้ลงจาก 7.9% เหลือ 7.8% พร้อมเตือนระดับหนี้สินของไทย-มาเลเซีย-จีนที่พุ่งเกินกว่า 150% ของจีดีพีแล้ว "กรณ์" ตามบี้เงินกู้ 2 ล้านล้าน จี้รัฐบาลระบุให้ชัด ถ้าหนี้สาธารณะพุ่งเกิน 50% ของจีดีพีให้หยุดกู้ทันที
ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ ได้ปรับข้อมูลการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกล่าสุด เมื่อวันที่ 15 เมษายน โดยได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตโดยรวมของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกประจำปี 2556 ลงมาอยู่ที่ 7.8% จากระดับ 7.9% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่ยังเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่อัตราขยายตัวอยู่ที่ 7.5% นอกจากนี้ เวิลด์แบงก์ยังทำนายด้วยว่าเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกในปี 2557 จะลดลงมาอีกที่ 7.6%
รายงานกล่าวถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารแห่งญี่ปุ่นที่ออกมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน โดยจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 2 ปี เพื่อทำลายวงจรเงินฝืดและยุติภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่ยาวนานกว่า 20 ปีของญี่ปุ่น ว่ามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของญี่ปุ่นน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ เช่น ของไทยและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนให้อุตสาหกรรมส่งออกของญี่ปุ่น
การปรับตัวเลขล่าสุดนี้ เวิลด์แบงก์ได้ลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนลง 0.1% จากคาดการณ์เมื่อเดือนธันวาคม เนื่องจากรัฐบาลจีนกำลังดำเนินความพยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ร้อนแรงของตน โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนปี 2556 จะขยายตัว 8.3% และปีหน้า 8.0% เช่นเดียวกับคาดการณ์เศรษฐกิจอินโดนีเซียปีนี้ ที่ถูกปรับลดลงจาก 6.3% มาอยู่ที่ 6.2%
ส่วนของไทยและมาเลเซีย เวิลด์แบงก์ปรับเพิ่มคาดการณ์ขึ้นจากของเดิม โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 5.3% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเดิม 0.3% ส่วนปีหน้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะลดลงมาอยู่ที่ 5.0% เพิ่มจากตัวเลขคาดการณ์เดิม 0.5% ของมาเลเซียปีนี้น่าจะขยายตัว 5.1% และปีหน้า 5.4%
รายงานยังได้แสดงความเป็นห่วงระดับหนี้สินที่สูงของไทย, มาเลเซียและจีนด้วย กรณีของจีนนั้นหนี้สินภาครัฐในปี 2555 อยู่ที่ระดับ 22.2% เพิ่มขึ้นจาก 19.6% เมื่อ 5 ปีก่อน ส่วนหนี้สินนอกภาคสถาบันการเงินพุ่งขึ้นแตะ 126.4% ของจีดีพี จากระดับ 113.6% ของจีดีพีเมื่อปี 2550 ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนในจีนอยู่ที่ 29.2% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปี 2550 มากกว่า 10%
"สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการขยายตัวของหนี้ภาครัฐก็คือ การขยายตัวของหนี้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ยอดรวมของหนี้ภาครัฐ หนี้ภาคธุรกิจนอกสถาบันการเงิน และหนี้ครัวเรือนในมาเลเซีย, ไทย และจีน ขณะนี้เกินกว่า 150% ของจีดีพีแล้ว" รายงานธนาคารโลกกล่าวเตือน
นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึง ร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จากการพิจารณาชั้นแรกของกรรมาธิการฯ พบว่าไม่มีความพร้อม โดยคาดว่ามูลค่าของโครงการที่ดำเนินการได้เลยมีแค่ 5 แสนล้านบาทเท่านั้นจากเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท นอกนั้นยังไม่มีความชัดเจน
บี้รัฐบาลระบุให้ชัด
เขาบอกว่า หากพิจารณาตามแผนบริหารหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลัง พบว่ามีการกำหนดระยะเวลาการใช้เงินไว้เป็นช่วงๆ ตั้งแต่ปี 2556-2560 จึงอยู่ในวิสัยที่กำหนดวงเงินไว้ในงบประมาณปกติได้ แต่ถ้ารัฐบาลใช้วิธีการกู้เงินแบบเปิดตัวเลขไว้ก่อนแล้วค่อยเบิกจ่ายเป็นงวดๆ นั้น ก็เชื่อว่าน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการออกเป็น พ.ร.ก.ต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน แต่เมื่อมีการแบ่งการใช้เงิน 5 ปีตามแผน ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เร่งด่วนจริง ส่วนจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ คงต้องรอดูให้ชัดเจนก่อนว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร
นายกรณ์ยังกล่าวถึงช่วงเวลาการใช้เงินกู้ทั้งจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน และ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านที่เป็นช่วงเวลาเดียวกัน ว่าจะกระทบต่อปริมาณหนี้สาธารณะอย่างแน่นอน แม้กระทรวงการคลังจะยืนยันสามารถดูแลไม่ให้หนี้สาธารณะเกิน 50% ของจีดีพีได้ก็ตาม ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีความมั่นใจจริง พรรคประชาธิปัตย์ก็เสนอให้รัฐบาลเขียนในกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านว่า ถ้าวันใดวันหนึ่งสัดส่วนหนี้สาธารณะสูงกว่า 50% รัฐบาลควรยุติการกู้เงิน จนสถานการณ์หนี้สาธารณะจะปรับระดับลดลงมาต่ำกว่า 50% เพื่อยืนยันความมั่นคงทางการคลังของประเทศ และจะทำให้ประชาชนมีความสบายใจมากขึ้นว่าการกู้เงินมหาศาลนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศในเรื่องภาระหนี้สิน
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหารถไฟความเร็วสูง ซึ่งสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ที่มีสมมติฐานว่าขาดทุนแน่ โดยมีการคำนวณในกรรมาธิการฯ กฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้าน ว่าเส้นทาง กทม.-เชียงใหม่นั้น กระทรวงคมนาคมศึกษาพบว่าจะขาดทุนปีละ 2-2.5 หมื่นล้านบาท จึงต้องถามว่าความหมายคืออะไร ต้องให้คนไทยที่เสียภาษีทั้งหมดนำเงินมาชดเชยปีละ 2.5 หมื่นล้านใช่หรือไม่
เขากล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนด้วยว่าเส้นทาง กทม.-เชียงใหม่ จะทำถึงแค่พิษณุโลก หรือยาวไปถึงเชียงใหม่ โดยยังอยู่ในระหว่างการรอคำตอบว่า การกู้เงินสองล้านล้านไปถึงพิษณุโลกหรือเชียงใหม่กันแน่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือไม่ว่าจะถึงที่ไหนก็แล้วแต่ เช่นถึงหัวหิน แล้วจะดำเนินการต่อไปปาดังเบซาร์ เป็นการพูดถึงอนาคตที่ไม่ชัดเจนว่าจะใช้เงินจากไหนมาสร้างต่อ เพราะต้องใช้เงิน 5-6 แสนล้านเป็นอย่างน้อย แต่ตามแผนที่เสนอมาใช้เงินกู้เต็มจำนวนแล้ว และรัฐบาลก็ตั้งสมมติฐานว่าจะจัดงบสมดุลในปี 2560 จึงต้องถามว่า หากรัฐบาลไม่รู้จะจบยังไงควรจะเริ่มทำหรือไม่ รัฐบาลต้องให้ความกระจ่างมากกว่านี้
นายกรณ์กล่าวว่า หากเทียบกับโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งมีแนวคิดให้ผู้โดยสารเช็กอินที่มักกะสันได้ มีการลงทุนถึง 500 ล้านบาท ว่าจ้างบริษัทดูแลเดือนละ 4 ล้านบาท แต่มีผู้ใช้บริการเพียงวันละ 4 คน เดือนละ 120 คน คิดราคาต่อหัวประมาณ 33,000 บาท จึงต้องถามว่าคุ้มค่าไหม เพราะไม่มีคนใช้ แต่กลับเป็นภาระต่อประชาชนที่ไม่ได้ใช้บริการเหล่านี้ จึงย้ำว่าแต่ละโครงการต้องศึกษาให้รอบคอบถึงความคุ้มค่า ไม่ใช่เห็นเขามีแล้วอยากมีบ้าง นอกจากนี้ผลการศึกษาของสภาพัฒน์มีการคำนวณเงินลงทุนในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าว่าต้องใช้ 8 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลกู้ 2 ล้านล้านเพื่อพัฒนาระบบคมนาคม โดยไม่มีการพูดถึงการศึกษา, สาธารณสุข และแหล่งน้ำ ก็ต้องถามว่าเป็นการพิจารณาที่เหมาะสมหรือไม่ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องมีคำชี้แจง
"คงต้องรอให้กฎหมายผ่านวาระ 3 ในสภาฯ ก่อนจึงจะดำเนินการได้ โดยยังสงวนสิทธิ์ที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ากฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเจตนารัฐธรรรมนูญชัดเจนว่า ให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินบรรจุใน พ.ร.บ.งบประมาณ และมีกฎหมายเพิ่มเติมว่า ในแต่ละปีรัฐบาลสามารถกู้ยืมในการใช้จ่ายได้ไม่เกินเท่าไหร่ จึงมีความชัดเจนว่าไม่ต้องการให้รัฐบาลมีอำนาจในการสร้างภาระหนี้สินเกินกว่ากรอบวินัยทางการคลัง ดังนั้น การที่รัฐบาลไปหลีกเลี่ยงระบบงบประมาณปกติด้วยการออกเป็น พ.ร.บ.น่าจะขัดต่อหมวด 8 ของรัฐธรรมนูญ 2550" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก-http://www.thaipost.net/news/160413/72270-
http://hilight.kapook.com/view/84768
.
sithiphong:
ราคาทองร่วงหนัก! ดิ่งต่ำกว่า 2 หมื่นบาทแล้ว
-http://hilight.kapook.com/view/84767-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก เรื่องเล่าเช้านี้
นักลงทุนวิตก หลังราคาทองคำร่วงอย่างหนัก ลงมาอยู่ที่ 1,361.10 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ส่งผลให้ราคาทองคำในไทยปรับลดลงต่ำกว่า 20,000 บาทแล้ว
เมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา ราคาทองคำในตลาดโลก มีการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยปิดตลาดที่ 1,361.10 เหรียญสหรัฐต่ออนซ์ ลดลงไป 140.30 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศไทย ดิ่งลงต่ำกว่า 20,000 บาทแล้ว
ทั้งนี้คาดว่าสาเหตุการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องของราคาทองในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากสหรัฐฯ อาจหยุดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือการยกเลิกการพิมพ์แบงก์ดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้ ทำให้มีการขายทองคำออกมาเพื่อระดมเงินทุน จึงทำให้ราคาทองปรับลดลงอย่างมากจนนักลงทุนหลายรายต้องอยู่ในภาวะขาดทุน และกำลังเป็นที่วิตกอย่างมาก ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต้องถือทองคำราคาสูงเพื่อรอลุ้นราคาทองให้ปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง
sithiphong:
เส้นทางทองคำ โดย ปิรันย่า !
โพสโดย คุณปิรันย่า
โพสต์ 1 กันยายน 2555 - 08:06
-http://www.thaigold.info/Board/index.php?/topic/476-%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B3-%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2-%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2/page__st__2130-
สวัสดีครับ คุณผู้อ่าน
เห็นหลายท่านที่กรุณาเข้ามาอวยพรหรือทักทายในช่วงที่ผู้เขียนกบดานยาวไปพร้อมกับการปรับฐานยาวนานของทองคำก็รู้สึกว่าตนเองเสียมรรยาทอยู่บ้างต้องขออภัยจริงๆครับ ครั้นจะออกมาโพสต์ในช่วงที่ตนเองก็ไม่มีเวลาและอารมณ์ก็เกรงจะเกิด”ภาระผูกพัน”ที่ทำให้หน้าที่การงานเสียไป ช่วงนี้ภารกิจการงานบรรเทาลงเล็กน้อยเลยพอจะกลับมาเสนอหน้าชั่วคราวเผื่อจะเป็นประโยชน์กับสาธารณชนบ้างครับ
หลังจากดราม่ากันตามธรรมเนียมแล้วก็มาว่ากันเรื่องเส้นทางทองคำได้เลยครับ
เนื่องจากช่วงนี้ผู้เขียนคาดว่าทองคำอาจจะกำลังเริ่มวัฎจักรใหม่ที่มีขนาดใหญ่พอสมควร วันนี้จึงอยากเรียบเรียงคลื่นใหญ่ของวัฎจักรทองคำในมุมมองของผู้เขียนเผื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนในทองคำระยะยาวถึงยาวมากให้มีเป้าหมายในการลงทุนคร่าวๆ
วัฎจักรยักษ์ชุดนี้ของทองคำนั้นเมื่อเรียบเรียงบนพื้นฐานของทฤษฎีคลื่นแล้วออกมาเป็นดังนี้ครับ
- คลื่นขาขึ้นที่ 1 เริ่มเดินทางจากบริเวณ 254.2$ ในเดือน 4 ปี 2001 ขึ้นไปถึง 1032.6$ ในเดือน 3 ปี 2008 คิดเป็นขนาดความสูง 778.4$ ใช้เวลาเดินทางราว 7 ปี
- คลื่นปรับฐานที่ 2 ปรับฐานจาก 1032.6$ ลงไปที่ 681.4$ สิ้นสุดในเดือน 10 ปี 2008 คิดเป็นระยะความสูงปรับฐาน 351.2$ คิดเป็นสัดส่วนการปรับฐานราว 45.1% ใช้เวลาปรับฐานราว 7 เดือนครึ่ง
- คลื่นขาขึ้นที่ 3 ซึ่งช่วงคลื่นนี้ตลาดทองคำเริ่มร้อนแรงและมีตลาดทองคำเกิดใหม่ในหลายประเทศทั่วโลก เกิดการสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปทองคำในหลายประเทศ ปริมาณการซื้อขายในตลาดโลกในช่วงคลื่นนี้มีมากกว่าในช่วงคลื่นที่ 1 หลายสิบเท่า ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่าเป็นสาเหตุให้เวลาเดินทางของคลื่นขาขึ้นที่ 3 นี้สั้นกว่าคลื่นขาขึ้นที่ 1 หลายปี คลื่นนี้ราคาทองคำขึ้นจาก 681.4$ ไปจนถึง 1920.8$ ในเดือน 9 ปี 2011 คิดเป็นขนาดความสูง 1239.4$ หรือราว 1.59 เท่าของคลื่นขาขึ้นที่ 1 ใช้เวลาเดินทางเกือบ 2 ปี 11 เดือน
- คลื่นปรับฐานที่ 4 ซึ่งปรับฐานจบแล้วหรือไม่ยังไม่มีใครทราบ แต่ตามความเห็นของผู้เขียนแล้วเมื่อประเมินจากลักษณะคลื่นของกราฟค่าเงินยูโรและ Silver ประกอบกับการขึ้นผ่าน trend line ขาลงของทองคำประกอบกับการโหมซื้ออัดเข้าพอร์ตของกองทุนด้วยแล้ว ผู้เขียนคาดว่าการปรับฐานน่าจะสิ้นสุดแล้วเมื่อเกือบปลายเดือน 7 ปี 2012 ที่ผ่านมา โดยใช้ลักษณะคลื่นปรับฐานของค่าเงินยูโรเป็นหลักในการสันนิษฐานถึงแม้ว่าราคาทองคำจะไม่ได้ทำ New low ก็ตาม
ตามทฤษฎีคลื่นนั้นเมื่อการปรับฐานในคลื่นที่ 2 เกิดเป็นรูปแบบธรรมดาแล้ว การปรับฐานในคลื่นที่ 4 จะมีโอกาสสูงในการปรับฐานเป็นรูปแบบซับซ้อนและจุดสุดท้ายของการปรับฐานอาจจะไม่เกิด New low อีกทั้งการปรับฐานลงมาเป็นคลื่นที่ 4 ตามทฤษฎีคลื่นแล้วมักจะมีสัดส่วนการปรับฐานไม่มากนัก
ถ้านับจุดต่ำสุดของราคาทองคำที่สามารถลงมาได้ในคลื่นนี้ก็คือ 1522.6$ คิดเป็นความสูงของการปรับฐาน 398.2$ คิดเป็นสัดส่วนการปรับฐานราว 32.1% ของคลื่นขาขึ้นที่ 3 และใช้เวลาปรับฐานราว 10 เดือนกว่า
ดังนั้นหากสันนิษฐานตามทฤษฎีคลื่นได้ถูกต้องแล้ว ทองคำน่าจะยังเหลือคลื่นขาขึ้นที่ 5 ที่มีขนาดความสูงมากกว่าคลื่นขาขึ้นที่ 1 แต่อาจจะน้อยกว่าคลื่นขาขึ้นที่ 3 นั่นหมายถึงอาจมีขนาดความสูงได้มากกว่า 800$ ขึ้นไปและอาจใช้เวลาเดินทางราวๆ 2 ปีกว่านับจากนี้ แล้วเมื่อสิ้นสุดวัฎจักรนี้คาดว่าจะเกิด Mega tsunami หรือสึนามิทองคำลูกยักษ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน สรุปแล้วประมาณหยาบๆคือทองคำอาจมีราคาสูงขึ้นราว 50% ในอีกราว 2-3 ปีข้างหน้าแล้วค่อยถล่มครับ
กระทู้นี้ถือเป็นการรันอินก็จบเพียงเท่านี้ก่อนก็แล้วกันครับ อย่างไรก็ดีข้อสันนิษฐานข้างต้นยังเป็นเพียงมุมมองความเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น มิอาจรับรองความแม่นยำถูกต้องใดๆได้ทั้งสิ้น เวลาเท่านั้นที่จะสามารถเป็นผู้เฉลยคำตอบครับ
ว่าแต่หากผู้เขียนสันนิษฐานถูกต้องล่ะก็การลงทุนกับทองคำรอบนี้น่าจะฟันก่อนทิ้งได้พอสมควรเลยทีเดียว แล้วคุณล่ะพร้อมจะเข้าร่วมขบวนฟันแล้วทิ้งหรือยังครับ !
http://www.thaigold.info/Board/index.php?/topic/476-%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B3-%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2-%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2/page__st__2130
.
sithiphong:
Puiii
-http://www.goldhips.com/board/viewtopic.php?p=121756#121756-
http://www.marketwatch.com/story/gold-plunge-offers-up-short-term-trades-2013-04-16?link=MW_TD_latest
เนื้อหาดูจากเว็ปต้นฉบับนะคะ
*** โปรดใช้วิจารณญาณอย่างสูงในการรับข้อมูล
ขอขอบพระคุณผู้ให้ข้างต้น ที่มอบความรู้ บทวิเคราะห์ ข้อมูลต่างๆ มา ณ ที่นี่ด้วยนะคะ ***
-http://www.goldhips.com/board/viewtopic.php?p=121756#121756-
http://www.goldhips.com/board/viewtopic.php?p=121756#121756
.
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version