การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวงสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกการให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่คุ้นหูคุ้นใจคนจำนวนมาก คือบทที่ว่า “
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ แปลความว่า
การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”เพราะพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อย มีศรัทธาเชื่อในคุณแห่งการให้ธรรมเป็นทาน จึงแม้สามารถก็จะพากันพิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทาน ซึ่งเชื่อว่าเหนือการให้ทั้งปวง ซึ่งจักเป็นบุญเป็นกุศลยิ่งกว่าบุญกุศลที่เกิดจากการให้ทานอื่นทั้งปวง
นี่เป็นการถูก เป็นการดี เพราะการเผยแพร่ธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นความดีอย่างยิ่ง ยิ่งผู้ได้รับ
นำไปปฏิบัติก็จะยิ่งเป็นการดีที่สุด
เพราะการปฏิบัติธรรมทางธรรม ทรงธรรม ตั้งอยู่ในธรรม เป็นการนำให้ถึงความสวัสดีอย่างแท้จริง และไม่เพียงเป็นความสวัสดีเฉพาะตนเองเท่านั้น ยังสามารถแผ่ความสวัสดีให้กว้างไกลไปถึงผู้เกี่ยวข้องได้มากมายกล่าวได้ว่า ผู้มีธรรมเพียงคนเดียว ย่อม
ยังความเย็นความสุขให้เกิดได้เป็นอันมาก ตรงกันข้ามกับผู้ไม่มีธรรมแม้เพียงคนเดียว ก็ย่อมยังความร้อนความทุกข์
ให้เกิดได้เป็นอันมาก
การให้ธรรม
ที่แท้จริง หมายถึง
การทำตนเองของทุกคนให้มีธรรมพิจารณาจากความจริงที่ว่า ผู้มีธรรมเป็นผู้ให้ความเย็นความสุขแก่ผู้อื่นได้ เช่นเดียวกันกับที่ให้ความเย็นความสุขแก่ตนเอง อาจเห็นได้ว่า การให้ธรรมไม่หมายถึงเพียงการพิมพ์หนังสือธรรมแจก หรือการอบรมสั่งสอนด้วยวาจาให้รู้ให้เห็นธรรมเท่านั้น
แต่การให้ธรรมที่แท้จริง ย่อมหมายถึงการทำตนเองของทุกคนให้มีธรรม ให้ธรรมในตนปรากฏแก่คนทั้งหลายโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีการแสดงออกเป็นการสั่งสอนด้วยวาจา หรือเช่นด้วยการแสดงธรรมแบบพระธรรมเทศนาของพระการสั่งสอนธรรมหรือให้ธรรมด้วยความประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยตนเองนั้น มีความสำคัญเหนือกว่าการแจกหนังสือธรรมเป็นอันมากด้วยซ้ำ เพราะ
การประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอจนธรรมนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายกับใจ นั่นแหละเป็น
การแสดงธรรมให้ปรากฏแก่ผู้รู้ผู้เห็นทั้งหลายทั้งปวงและจะต้อง
ได้ผลมากกว่าการให้ธรรมที่เป็นข้อเขียนในหน้าหนังสือ
ความสูงต่ำห่างไกลของธรรมที่ดีและชั่วนั้นมีมากมายยิ่งนักอันคำว่าธรรมนั้น ที่แท้จริงมีความหมายเป็นสองอย่าง คือทั้งที่ดีและที่ชั่ว หนังสือธรรมมิได้แสดงแต่ธรรมที่ดี แต่แสดงธรรมที่ชั่วด้วย
เพียงแต่แสดงธรรมที่ดีว่าให้ประพฤติปฏิบัติ แสดงธรรมที่ชั่วว่าไม่ควรประพฤติปฏิบัติและผู้ประพฤติธรรมหรือผู้มีธรรมนั้นก็คือ ผู้ประพฤติธรรมที่ดี ไม่ประพฤติธรรมที่ชั่ว ผู้ประพฤติธรรมที่ดีเรียกได้ว่าเป็น
สัตบุรุษ ผู้ประพฤติธรรมที่ชั่วเรียกได้ว่าเป็น
อสัตบุรุษความสูงต่ำห่างไกลของธรรมที่ดีและที่ชั่วนั้นมากมายนัก
มีพุทธศาสนสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “
ฟ้ากับดินไกลกันและฝั่งทะเลก็ไกลกัน แต่นักปราชญ์กล่าวว่า ธรรมของสัตบุรุษกับของอสัตบุรุษไกลกันยิ่งกว่านั้น”
การทำตนที่ชั่ว ให้เป็นตนที่ดีได้ เป็นกุศลที่สูงที่สุดผู้ให้ธรรมทั้งด้วยการให้หนังสือธรรม และทั้งการปฏิบัติด้วยตนเองให้ปรากฏเป็นแบบอย่างที่ดีงามเป็นแบบอย่างของ
สัตบุรุษ กล่าวว่า เป็นผู้ให้เหนือการให้ทั้งปวง
เพราะการพยายามช่วยให้คนเป็นผู้มีธรรมของสัตบุรุษ ละธรรมของอสัตบุรุษนั้น ก็เท่ากับพยายามช่วยให้คนบนดินคือต่ำเตี้ย ได้เข้าใกล้ฟ้าคือสูงส่ง หรือช่วยให้คนชั่วเป็นคนดีนั่นเองการช่วยให้คนชั่วเป็นคนดีนั้น ผู้ใดทำได้จักได้กุศลสูงยิ่ง การช่วยตนเองที่ประพฤติไม่ดีให้เป็นคนประพฤติดีนั้น ก็เป็นการช่วยคนชั่วให้เป็นคนดีเช่นกัน และจะเป็นกุศลที่สูงที่สุดเสียด้วยซ้ำ เพราะ
นอกจากตนเองจะช่วยตนเองแล้ว คนอื่นยากจักช่วยได้นี้หมายความว่า
อย่างน้อยตนเองต้องยอมรับฟังการแนะนำช่วยเหลือของผู้อื่น ยอมปฏิบัติตามผู้อื่นที่ปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีให้ปรากฏอยู่ คือทำตนเองให้เป็นผู้ประพฤติธรรมของสัตบุรุษละการประพฤติปฏิบัติธรรมของอสัตบุรุษให้หมดสิ้นฟังอบรมปัญญา เพื่อเป็นแสงสว่างขับไล่โมหะผู้มาบริหารจิตทั้งนั้น พึงดูจิตตนเองให้เห็นชัดเจนว่า มีความปรารถนาต้องการจะก่อทุกข์โทษภัยให้แก่ตนเองหรือไม่ ถ้าไม่มีความปรารถนานั้น ก็พึงรู้ว่าจำเป็นต้องอบรมปัญญา
เพื่อให้ปัญญาเป็นแสงสว่างขับไล่ความมืดมิดของโมหะ ให้บรรเทาเบาบางถึงหมดสิ้นไป ปัญญาจะช่วยให้เห็นถูกเห็นผิดตามความเป็นจริงและเมื่อเห็นตรงตามความเป็นจริงแล้ว การปฏิบัติย่อมไม่เป็นเหตุแห่งทุกข์โทษภัยของตนเองและของผู้ใดทั้งสิ้นทุกข์โทษภัยย่อมไม่มีแก่ตน อาจมีปัญหาว่าแม้ตนเองไม่ก่อทุกข์โทษภัยแก่ตนเอง ด้วยกระทำที่ไม่ถูกไม่ชอบทั้งหลาย แต่เมื่อยังมีผู้อื่นอีกเป็นอันมากที่ก่อทุกข์โทษภัยอยู่แล้ว เราจะ
พ้นจากทุกข์โทษภัยนั้นได้อย่างไร
ปัญหานี้แม้พิจารณาเพียงผิวเผิน ก็น่าจะเป็นปัญหาที่ต้องยอมจำนน คือต้องรับว่าถูกต้อง แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งอย่างประกอบด้วยปัญญาแท้จริงย่อมได้รับคำตอบแก้ปัญหาให้ตกไปได้อย่างสิ้นเชิงเพราะ
ผู้มีความเห็นชอบ ปราศจากโมหะ ย่อมเห็นได้ว่าไม่มีทุกข์โทษภัยใดจะเกิดแก่ตน ถ้าตนสามารถวางความคิดไว้ได้ชอบ
เพราะความทุกข์ทั้งปวงเกิดจากความคิดผู้มุ่งปฏิบัติธรรม ต้องรู้จักพิจารณาเลือกเฟ้นธรรมผู้มุ่งมาบริหารจิต มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นจากกิเลส ต้องพิจารณาใจตนในขณะอ่านหนังสือหรือฟังเรียกว่าเป็นการเลือกเฟ้นธรรม ธรรมใดกระทบใจว่าตรงกับที่ตนเป็นอยู่ พึงปฏิบัติ
น้อมนำธรรมนั้นเข้าสู่ใจตนเพื่อแก้ไขให้เรียบร้อย
ที่ท่านกล่าวว่า “เห็นบัณฑิตใด
ผู้มีปกติชี้ความผิดให้ดุจผู้บอกขุมทรัพย์ให้ ซึ่งมีปกติกล่าวกำราบ มีปัญญาพึงคบบัณฑิตเช่นนั้น เมื่อคบท่านเช่นนั้น ย่อมประเสริฐไม่เลวเลย” “บัณฑิต” นั้นคือ “
คนดีผู้มีธรรม หรือผู้รู้ธรรมปฏิบัติธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนนั่นเอง”
การ
กล่าวธรรมของบัณฑิต คือการ
กล่าวตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ และบัณฑิตนั้นมีพุทธภาษิตกล่าวไว้ด้วยว่า...“
บุรุษจะเป็นบัณฑิตในที่ทั้งปวงก็หาไม่ แม้
สตรีมีปัญญาเฉียบแหลมในที่นั้น ๆ ก็เป็นบัณฑิตได้เหมือนกัน”
สามารถหนีไกลจากกิเลสได้มากเพียงไร ก็สามารถแลเห็นพระพุทธเจ้าได้ใกล้ชิดเพียงนั้นคนดีมีปัญญา
คือคนมีกิเลสบางเบา โลภน้อยโกรธน้อย หลงน้อยกิเลสนั้นมีมากเพียงไร ก็ทำให้เหลือน้อยได้ ทำให้หมดจดอย่างสิ้นเชิงได้ สำคัญที่ผู้มีกิเลสต้องมีปัญญาแม้พอสมควรที่จะทำให้เชื่อว่า
กิเลสเป็นโทษอย่างยิ่งควรหนีให้ไกล สามารถหนีไกลกิเลสได้มากเพียงไรก็สามารถเป็นคนดี เป็นบัณฑิตได้เพียงนั้น ทั้งยังจะสามารถแลเห็นพระพุทธเจ้าได้ใกล้ชิดเพียงนั้นด้วย
: กรมการศาสนา
-http://www.m-culture.go.th/detail_page.php?sub_id=2166