ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 18 : มลวรรค  (อ่าน 7273 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 18 : มลวรรค
01.เรื่องบุตรของนายโคฆาตก์


พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภบุตรของนายโคฆาตก์(บุตรของคนเลี้ยงโค)คนหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปณฺฑุปลาโสวทานิสิ  เป็นต้น

สมัยหนึ่ง   ในกรุงสาวัตถี   มีชายผู้หนึ่งเป็นผู้ฆ่าโค(โคฆาตก์) มานาน 15 ปี  ในทุกๆวัน เมื่อเขาฆ่าโคแล้วก็นำเนื้อไปขาย  และที่เหลือก็นำมาปิ้งรับประทานกับข้าวพร้อมด้วยบุตรและภรรยา   อยู่มาวันหนึ่ง  เมื่อเขามอบเนื้อไว้ให้ภรรยาจัดการทำอาหารเลี้ยงครอบครัว แล้วเขาก็ไปอาบน้ำที่แม่น้ำ   ในระหว่างที่เขาไม่อยู่นั้น   เพื่อนของเขาคนหนึ่งมาที่บ้านแล้วขอซื้อเนื้อนั้นเพื่อไปทำอาหารเลี้ยงแขก  ทำให้วันนั้นชายผู้ฆ่าโคไม่มีเนื้อจะรับประทาน  ตามปกติแล้วชายผู้ฆ่าโคนี้จะไม่รับประทานอาหารหากไม่มีเนื้อโค   
พอเขากลับมาจากอาบน้ำและภรรยาบอกเขาว่าได้ขายเนื้อโคที่เตรียมไว้เพื่อทำอาหารนั้นให้กับเพื่อนบ้านนั้นไปแล้ว เขาจึงรีบเดินถือมีดไปที่โคตัวหนึ่งที่ยืนอยู่ที่หลังบ้าน  แล้วก็สอดมือเข้าไปในปากของโค  ดึงลิ้นของมันออกมา  เอามีดตัดที่โคนลิ้น  แล้วเดินนำลิ้นโคนั้นไปปิ้งที่ไฟ  พอเนื้อลิ้นโคสุกดีแล้วก็นำไปวางในชาม  เพื่อจะรับประทานกับข้าวอย่างที่เคยกระทำมาทุกครั้ง  แต่ครั้งนี้พอเขาเอาเนื้อลิ้นโคใส่เข้าไปในปาก  ลิ้นของเขาก็ขาดตกลงมาที่ชามข้าว  เขาได้รับวิบากของกรรมทันตาเห็น  เขาได้ร้องด้วยความเจ็บปวด และคลานลงกับพื้นบ้าน  มีเลือดไหลออกมาจากปากตลอดเวลา  และต่อมาเขาก็ได้สิ้นใจตาย  แล้วไปเกิดในอเวจีมหานรก

ภรรยาของชายเลี้ยงโคพร้อมกับบุตรมองดูชะตากรรมของสามีแล้ว  ก็กลัวว่ากรรมนั้นจะตกมาถึงบุตรด้วย  จึงได้บอกให้บุตรรีบหลบหนีไป  ข้างฝ่ายบุตรก็ได้หลบหนีไปอยู่ที่เมืองตักกสิลา และได้ศึกษาเล่าเรียนทางด้านวิชาชีพช่างทอง   ต่อมาเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว   ก็ได้ธิดาของอาจารย์มาเป็นภรรยา  และมีบุตรและธิดาด้วยกันจำนวนหนึ่ง  เมื่อพวกบุตรของเขาเติบโตแล้วก็ได้เดินทางกลับไปยังกรุงสาวัตถี  บุตรเหล่านี้มีศรัทธาในพุทธศาสนา  เห็นว่าบิดาชราแล้ว  และไม่เคยทำบุญให้ทาน  เพื่อเป็นเสบียงในปรโลกมาก่อนเลย  ก็จึงได้ทูลอาราธนาพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุพระสงฆ์ฉันภัตตาหารที่บ้าน  เพื่อให้บิดาได้ทำบุญให้ทาน เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว  พระศาสดาได้ตรัสเรียกชายผู้บิดานั้นมาแล้ว  ตรัสว่า “อุบาสก  ท่านเป็นคนแก่  มีสรีระแก่หง่อมเช่นกับใบไม้เหลือง  เสบียงทางคือกุศล  เพื่อจะไปยังปรโลกของท่าน  ยังไม่มี  ท่านจงทำที่พึ่งแก่ตน  จงเป็นบัณฑิต  อย่าเป็นพาล
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสอนุโมทนากถาว่า

ปณฺฑุปลาโสว  ทานิสิ
ยมปุริสาปิ  จ  เต  อุปฏฺฐิตา
อยฺโยคมุเข  ปติฏฺฐติ
ปาเถยฺยํปิ  จ  เต  น  วิชฺชติ ฯ

โส  กโรหิ  ทีปมตฺตโน
ขิปฺปํ  วายม  ปณฺฑิโต  ภว
นิทฺธนฺตมโล  อนงฺคโณ
ทิพฺพํ  อริยภูมิเมหิสิ ฯ


(อ่านว่า)
ปันดุปะลาโส วะ  ทานิสิ
ยะมะปุริสา  จะ  เต  อุปัดถิตา
อยฺโยคมุเข  ปะดิดถะติ
ปาเถยยัมปิ  จะ  เต  นะ  วิดชะติ.

โส  กะโรหิ  ทีปะมัดตะโน
ขิบปัง  วายะมะ  ปันดืโตวะ
นิดทันตะมะโล  อะนังคะโน
ทิบพัง  อะริยพูมิ เมหิสิ.

(แปลว่า)
บัดนี้ท่านเป็นดุจใบไม้เหลือง
อนึ่ง  บุรุษแห่งพยายม(คือความตาย)
ปรากฏแก่ท่านแล้ว 
ท่านตั้งอยู่ใกล้ปากแห่งความเสื่อม  อนึ่ง  แม้เสบียงทางของท่านก็ยังไม่มี.

ท่านนั้น  จงทำที่พึ่งแก่ตน
จงรีบพยายาม  เป็นบัณฑิต
ท่านกำจัดมลทินได้แล้ว
ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน

จักถึงอริยภูมิอันเป็นทิพย์.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  อุบาสกบรรลุโสดาปัตติผล  พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่หมู่ชนผู้มาประชุมกัน.

บุตรเหล่านั้น  ได้กราบทูลอาราธนาพระศาสดา  พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์  มาเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น และ เมื่อเสร็จภัตตกิจในวันที่สองแล้ว  พระศาสดาได้ทรงแสดงอนุโมทนากถาว่า

อุปนีโตว  ทานิสิ
สมฺปยาโตสิ  ยมสฺส  สนฺติกํ
วาโสปิจ  เต นตฺถิ  อนฺตรา
ปาเถยฺยํปิ  จ  เต  น   วิชฺชติ ฯ

โส  กโรหิ  ทีปมตฺตโน
ขิปฺปํ   วายม  ปณฺฑิโต  ภว
นิทฺธนฺตมโล  อนงฺคโณ
น  ปุน  ชาติชรํ  อุเปหิสิ.


(อ่านว่า)
อุปะนีโตวะ  ทานิสิ
สำปะยาโต สิ  ยะมัดสะ  สันติกัง
วาโสปิจะ  เต  นัดถิ  อันตะรา
ปาเถยยังปิ  จะ  เต  นะ  วิดชะติ.

โส  กะโรหิ  ทีปะมัดตะโน
ขิบปัง  วายะมะ  ปันดิโต  พะวะ
นิดทันตะมะโล  อะนังคะโน
น  ปุนะ  ชาติชะรัง  อุเปหิสิ.

(แปลว่า)
บัดนี้  ท่านเป็นผู้มีวัยอันชรานำเข้าไปแล้ว
เป็นผู้เตรียมพร้อมเพื่อจะไป สำนักของพระยายม
อนึ่ง แม้ที่พักในระหว่างทางของท่านยังไม่มี
อนึ่ง  ถึงเสบียงทางของท่านก็หามีไม่.


ท่านนั้นจงทำที่พึ่งแก่ตน
จงรีบพยายาม  จงเป็นบัณฑิต
ท่านเป็นผู้มีมลทินอันกำจัดได้แล้ว
ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน

จักไม่เข้าถึงชาติชราอีก.



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 18, 2012, 05:49:26 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 18 : มลวรรค
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2012, 03:06:36 pm »


02.เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อนุปุพฺเพน  เมธาวี   เป็นต้น

วันหนึ่ง   มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง  เมื่อออกไปนอกบ้านแต่เช้าตรู่  แลเห็นภิกษุหมู่หนึ่งอยู่ในหนึ่งห่มจีวร  กำลังเตรียมตัวจะออกไปบิณฑบาต   ในที่ตรงนั้นมีหญ้าขึ้นและมีน้ำค้างมาจับที่ยอดหญ้า  ชายจีวรของภิกษุทั้งหลายจึงเปียกน้ำค้าง   ในวันรุ่งขึ้นเขาจึงถือจอบมาจัดการถากหญ้าในบริเวณนั้นจนเตียนหมด  ในเวลาต่อมาเขาเห็นภิกษุเหล่านั้นห่มจีวรและชายจีวรเปื้อนฝุ่นจึงได้นำทรายมาเกลี่ยลงในบริเวณนั้น   พออีกวันหนึ่งเห็นภิกษุเหล่านั้นขณะห่มจีวรมีเหงื่อไหลโซมกายเพราะวันนั้นแดดร้อนจัด  เขาก็ได้มาทำซุ้มเพื่อใช้ป้องกันแดดแก่ภิกษุเหล่านั้น   ในเวลาต่อมามีฝนตกเห็นภิกษุเหล่านั้นจีวรเปียกฝน ก็ได้มาสร้างศาลาหลังหนึ่งขึ้นตรง ณ บริเวณนั้น  เมื่อสร้างศาลาเสร็จแล้ว  ก็ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระศาสดาเป็นประมุขมาฉันภัตตาหารในศาลานั้น  เมื่อเสร็จภัตตกิจของพระศาสดาและภิกษุสงฆ์แล้ว  เขาก็ได้กราบทูลเรื่องราวของความคิดและการกระทำของตนตั้งแต่ต้นตามลำดับให้พระศาสดาได้ทรงทราบ  และกราบทูลให้ทรงประทานอนุโมทนกถา  พระศาสดาจึงตรัสว่า “พราหมณ์  ธรรมดาบัณฑิตทั้งหลาย  ทำกุศลอยู่คราวละน้อยๆทุกขณะ  ย่อมนำมลทินคืออกุศล ของตนออกโดยลำดับทีเดียว
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อนุปุพฺเพน  เมธาวี
โถกํ  โถกํ  ขเณ  ขเณ
กมฺมาโร  รชตสฺเสว
นิทฺทเม  มลมตฺตโน.


(อ่านว่า)
อะนุปุบเพนะ  เมทาวี
โถกัง  โถกัง  ขะเน  ขะเน
กำมาโร  ระชะตัดเสวะ
นิดทะเม  มะละมัดตะโน.

(แปลว่า)
ผู้มีปัญญา(ทำกุศลอยู่)คราวละน้อยๆ
ทุกๆขณะ  โดยลำดับ
พึงกำจัดมลทินของตนได้

เหมือนช่างทองปัดเป่าสนิททอง ฉะนั้น  ฯ


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  พราหมณ์บรรลุโสดาปัตติผล  พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่มหาชน.
 

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 18 : มลวรรค
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2012, 03:33:09 pm »


03.เรื่องพระติสสเถระ

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่าติสสะ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อยสาวะ  มลํ  สมุฏฺฐาย   เป็นต้น

กุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง   ได้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว  มีชื่อว่าติสสเถระ  วันหนึ่งพระติสสเถระไปได้ผ้าเนื้อหยาบมาผืนหนึ่งในระหว่างเข้าพรรษา   เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว ท่านก็ได้นำผ้าผืนนั้นไปมอบให้พี่สาว  ข้างพี่สาวเห็นว่าผ้าผืนนั้นมีเนื้อหยาบจึงได้ดำเนินการตามกรรมวิธีที่จะทำให้เนื้อผ้านั้นละเอียดยิ่งขึ้น   ข้างพระติสสเถระก็พาพวกภิกษุไปพบพี่สาวเพื่อจะได้ช่วยกันตัดและเย็บผ้าผืนนั้นทำเป็นจีวร   เมื่อท่านได้ทราบว่าผ้าเนื้อหยาบนั้นพี่สาวได้ช่วยทำให้เป็นผ้าเนื้อดีเช่นนั้นก็มีความดีใจ   และได้ช่วยกันกับภิกษุอื่นตัดและเย็บจีวรจนแล้วเสร็จ  เมื่อจีวรแล้วเสร็จแล้ว  ท่านก็ตั้งใจว่าจะห่มจีวรผืนใหม่นั้นในวันรุ่งขึ้น   แต่ท่านได้มรณภาพลงในคืนนั้นเอง   และได้ไปเกิดเป็นเล็นมาไต่อยู่ในจีวรผืนนั้น  เมื่อภิกษุสงฆ์จะมานำจีวรผืนนั้นมาแบ่งกัน  ตัวเล็นนั้นก็มาวิ่งร้องไปข้างโน้นข้างนี้ว่า “ภิกษุเหล่านี้จะมาแย่งจีวรของเราไป”  พระศาสดาประทั่งในพระคันธกุฎี  ทรงสดับเสียงร้องของเล็นนั้นด้วยพระโสตอันเป็นทิพย์  ตรัสว่า “อานนท์  เธอจงไปบอกภิกษุเหล่านั้นว่าอย่างเพิ่งแบ่งจีวรผืนนั้น  ให้พ้น 7 วันเสียก่อนจึงค่อยแบ่งกัน”  ซึ่งภิกษุเหล่านั้นก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ   พอครบเจ็ดวัน  เล็นตัวนั้นก็ตายและได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต  ในวันที่ 8 พระศาสดาจึงมีรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายแบ่งจีวรผืนนั้นกันได้

ต่อมาภิกษุทั้งหลายได้ทูลถามพระศาสดาว่า เพราะเหตุใดพระองค์จึงทรงให้รอเวลาอยู่ 7 วันก่อนที่จะทรงให้ภิกษุทั้งหลายนำจีวรผืนนั้นมาแบ่งกัน  พระศาสดาตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  ติสสะเกิดเป็นเล็นในจีวรของตน  เมื่อพวกเธอจะแบ่งจีวรนั้น  วิ่งร้องไปข้างโน้นทีข้างนี้ทีว่า  ภิกษุพวกนี้แย่งจีวรอันเป็นของเรา  เมื่อพวกเธอถือเอาจีวรไป  เขาเกิดขัดใจในพวกเธอแล้วก็จะพึงเกิดในนรก  เพราะเหตุนั้น  เราจึงให้เก็บจีวรไว้ก่อน  ก็บัดนี้เขาเกิดในวิมานชั้นดุสิตแล้ว  เพราะเหตุนั้น  เราจึงอนุญาตให้พวกเธอแบ่งจีวรกันได้”  เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลอีกว่า  “พระเจ้าข้า  ขึ้นชื่อว่าตัณหานี้ช่างหยาบจริงหนอ”  จึงตรัสว่า “อย่างนั้น  ภิกษุทั้งหลาย  ขึ้นชื่อว่าตัณหาของสัตว์เหล่านี้หยาบ  สนิมตั้งขึ้นแต่เหล็ก  ย่อมกัดเหล็กนั้นให้พินาศ  ทำให้เป็นของใช้สอยไม่ได้  ตัณหานี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน  เกิดในภายในของสัตว์เหล่านี้แล้ว  ย่อมให้สัตว์เหล่านี้เกิดในอบายมีนรกเป็นต้น  ให้ถึงความพินาศ
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อยสา  ว   มลํ  สมุฏฺฐาย
ตทุฏฺฐาย   ตเมว  ขาทติ
เอวํ  อติโธนจารินํ
สานิ  กมฺมานิ  นยนฺติ  ทุคฺคตึ.


(อ่านว่า)
อะยะสา  วะ  มะลัง  สะมุดถายะ
ตะทุดถายะ  ตะเมวะ  ขาทะติ
เอวัง  อะติโทนะจารินัง
สานิ  กำมานิ  นะยันติ  ทุกคะติง.

(แปลว่า)
สนิมตั้งขึ้นแต่เหล็ก
ครั้นตั้งขึ้นแต่เหล็กแล้ว  ย่อมกัดเหล็กนั่นเอง  ฉันใด
กรรมทั้งหลายของตน
ย่อมนำบุคคลผู้ไม่พิจารณาปัจจัย 4 แล้วบริโภค

ไปสู่ทุคติ ฉันนั้น.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
 

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 18 : มลวรรค
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2012, 03:47:17 pm »


04.เรื่องพระโลฬุทายีเถระ

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระโลฬุทายีเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อสชฺฌายมลา มนฺตา  เป็นต้น

พวกอริยสาวก  ในกรุงสาวัตถี  เมื่อถวายทานในเวลาก่อนภัตตกิจของภิกษุทั้งหลายแล้ว  ในเวลาหลังภัตตกิจ  ก็จะนำสิ่งของทั้งหลาย  มีเนยใส  น้ำผึ้ง  น้ำอ้อยและผ้าเป็นต้น ไปวัดพระเชตวัน  แล้วฟังพระธรรมเทศนา  เมื่อเสร็จจากฟังพระธรรมเทศนาแล้ว  ก็เดินทางกลับบ้าน  ขณะเดินอยู่นั้นก็จะกล่าวยกย่องการแสดงธรรมของพระอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ และพระมหาโมคคัลลานเถระ  พระอุทายีเถระได้ยินคำกล่าวยกย่องชมเชยการแสดงธรรมพระอัครสาวกทั้งสองเช่นนั้น  ก็กล่าวว่า  นี่แค่ได้ฟังพระธรรมเทศนาของสองพระอัครสาวกก็ยังชื่นชมกันอย่างนี้แล้ว  หากได้ฟังพระธรรมเทศนาของท่านพระโลฬุทายีบ้างจะเป็นอย่างไรบ้างหนอ  เมื่อพวกอริยสาวกทั้งหลายได้ฟังเช่นนั้น  ก็คิดว่าพระโลฬุทายีแสดงธรรมเทศนาเก่งแน่ๆ  จึงได้นิมนต์ท่านให้แสดงธรรมเทศนา  พอถึงวันกำหนดท่านก็ได้ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์  ก็เกิดอาการสั่น  จนลืมเรื่องที่จะนำมาเทศน์  ท่านพยายามผลัดผ่อนเลื่อนเวลาเทศน์หลายครั้ง  ตั้งแต่หัวค่ำจนกระทั่งถึงเวลาใกล้รุ่ง แต่ก็เทศน์ไม่ได้  พวกชาวบ้านหมดความอดทน จึงคว้าไม้บ้างก้อนดินบ้างไปขู่คุกคามท่าน  จนท่านกลัวลงจากธรรมาสน์วิ่งหนีไปตกที่หลุมอุจจาระ

เมื่อพระศาสดา  ทรงทราบเรื่องนี้จากภิกษุทั้งหลายแล้ว  จึงตรัสเล่าเรื่องในอดีตชาติของพระโลฬุทายีว่า   เคยเกิดเป็นสุกร  ไปท้าสู้กับพระยาราชสีห์  พอถึงวันจะต่อสู้กัน   สุกรได้ลงไปคลุกตัวในอุจจาระ  พอราชสีห์เห็นเช่นนั้น ก็ได้ยอมแพ้  เพราะทนความเหม็นและความสกปรกของสุกรไม่ได้  และพระศาสดาได้ตรัสบอกว่า  ราชสีห์ในครั้งนั้นก็คือพระสารีบุตรเถระในบัดนี้  ส่วนสุกรในครั้งนั้นก็คือพระโลฬุทายีในบัดนี้

พระศาสดา  ครั้นทรงนำอดีตนิทานมาตรัสจบแล้ว  ตรัสต่อไปว่า “ภิกษุทั้งหลาย  โลฬุทายี  เรียนธรรมมาน้อย  และก็มิได้ท่องบ่นธรรมนั้นด้วย  การเล่าเรียนปริยัติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว  ไม่ทำการท่องจำปริยัตินั้น  เป็นมลทินแท้
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัส  พระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อสชฺฌายมลา  มนฺตา
อนุฏฺฐานมลา  ฆรา
มลํ  วณฺณสฺส  โกสชฺชํ
ปมาโท  มจฺจุโน  ปทํ ฯ


(อ่านว่า)
อะสัดชายะมะลา  มันตา
อะนุดถานะมะลา  คะรา
มะลัง  วันนัดสะ  โกสัดชัง
ปะมาโท  มัดจุโน  ปะทัง.

(แปลว่า)
มนต์ทั้งหลาย  มีอันไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน
เรือน  มีความไม่หมั่นเป็นมลทิน
ความเกียจคร้าน  เป็นมลทินของผิวพรรณ

ความประมาทเป็นมลทินของผู้รักษา.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
 

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 18 : มลวรรค
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2012, 04:03:12 pm »


05. เรื่องกุลบุตรคนใดคนหนึ่ง

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภกุลบุตรคนใดคนหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า มลิตตฺถิยา  ทุจฺจริตํ เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง  ภรรยาของของชายผู้หนึ่งประพฤตินอกใจสามี   จำเดิมแต่นั้นมา  ชายผู้นั้นมีความละอายใจเพราะการประพฤตินอกใจของนาง  จึงไม่กล้าพบหน้าใครๆ  และก็เลิกบำเพ็ญกุศลมีการบำรุงพระพุทธเจ้าเป็นต้น  หลังจากนั้น 2-3 วัน  ได้เข้าเฝ้าพระศาสดา  ถวายบังคมแล้ว  นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง  เมื่อพระศาสดาตรัสว่า  “อุบาสก  เพราะเหตุใด  เราจึงไม่ค่อยเห็นท่าน”  เขาจึงได้ทูลเรื่องที่ภรรยาของเขามีชู้   พระศาสดาตรัสว่า “ อุบาสก  แม้ในกาลก่อน  เราก็ได้กล่าวแล้วว่า  ขึ้นชื่อว่าสตรีทั้งหลาย  เป็นเช่นกับแม่น้ำเป็นต้น  บัณฑิตไม่ควรทำความโกรธในสตรีเหล่านั้น  แต่ท่านจำไม่ได้  เพราะความเป็นผู้อันภพปกปิดไว้”  จากนั้นได้ทรงนำเรื่องราวในอดีตชาติมาตรัสว่า “ธรรมดาสตรีในโลก  เป็นเหมือนแม่น้ำ  หนทาง  โรงดื่ม  ที่พัก  และบ่อน้ำ  เวลาย่อมไม่มีแก่สตรีเหล่านั้น
และตรัสว่า” ก็อุบาสก ความเป็นผู้มักประพฤตินอกใจ  เป็นมลทินของสตรี  ความตระหนี่  เป็นมลทินของผู้ให้ทาน  อกุศลกรรม  เป็นมลทินของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้และโลกหน้า  เพราะอรรถว่า  เป็นเครื่องยังสัตว์ให้ฉิบหาย  แต่อวิชชา  เป็นมลทินอย่างยอดยิ่ง  กว่ามลทินทั้งปวง
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท พระคาถานี้ว่า

มลิตฺถิยา  ทุจฺจริตํ
มจฺเฉรํ  ททโต  มลํ
มลา  เว  ปาปกา  ธมฺมา

อสฺมึ  โลเก  ปรมฺหิ  จ  ฯ

ตโต  มลา  มลตรํ
อวิชฺชา  ปรมํ  มลํ
เอตํ  มลํ  ปหนฺตฺวาน

นิมฺมลา  โหถ  ภิกฺขโว ฯ


(อ่านว่า)
มะลิดถิยา  ทุดจะริตัง
มัดเฉรัง  ทะทะโต  มะลัง
มะลา  เว  ปาปะกา  ทำมา
อัดสะหมิง  โลเก  ปะรัมหิ  จะ.

ตะโต  มะลา  มะละตะรัง
อะวิดชา  ปะระมัง  มะลัง
เอตัง  มะลัง  ปะหันตะวานะ
นิมมะลา  โหถะ  พิกขะโว.

(แปลว่า)
ความประพฤติชั่ว  เป็นมลทินของสตรี
ความตระหนี่  เป็นมลทินของผู้ให้ 
ธรรมอันลามกทั้งหลาย  เป็นมลทินแล

ทั้งในโลกนี้  ทั้งในโลกหน้า .

เราบอกมลทินอันยิ่งกว่ามลทินนั้น
อวิชชาเป็นมลทินอย่างยิ่ง
ภิกษุทั้งหลาย  ท่านทั้งหลาย

ละมลทินนั่นได้แล้ว  ย่อมเป็นผู้หมดมลทิน.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 18 : มลวรรค
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2012, 04:15:33 pm »


06.เรื่องจูฬสารีภิกขุ

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระภิกษุชื่อจุฬสารี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สุชีวํ  อหิริเกน เป็นต้น

วันหนึ่ง   พระจูฬสารีกลับจากดูแลรักษาคนป่วย  ในระหว่างทางท่านได้พบกับพระสารีบุตรเถระและได้เล่าให้พระเถระฟังว่าท่านไปรักษาคนไข้มา  และได้อาหารอันประณีตจากการรักษาคนป่วยนั้นด้วย  ท่านได้นิมนต์ให้พระสารีบุตรเถระรับอาหารนั้นบางส่วนไปฉันด้วย   พระสารีบุตรเถระไม่พูดว่าอะไรและได้เดินจากไป  ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนี้กับพระศาสดา  และพระศาสดาได้ตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  ธรรมบุคคลผู้ไม่มีความละอาย  ผู้คะนอง  เป็นผู้เช่นกับกา  ตั้งอยู่ในอเนสนา(การแสวงหาที่ไม่ควร) 21 อย่าง  ย่อมเป็นอยู่ง่าย   ส่วนบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ  ย่อมเป็นอยู่ยาก
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สองพระคาถานี้ว่า

สุชีวํ  อหิริเกนะ
กากสูเรน  ธํสินา
ปกฺขนฺทินา  ปคพฺเภน
สงฺกิลิฏฺเฐน   ชีวิตํ ฯ

หิริมตา  จ  ทุชฺชีวํ
นิจฺจํ  สุจิคเวสินา
อลีเนนาปคพฺเภน

สุทฺธาชีเวน  ปสฺสตา ฯ


(อ่านว่า)
สุชีวัง   อะหิริเกนะ
กากะสูเรนะ  ทังสินา
ปักขันทินา  ปะคับเพนะ
สังกิลิดเถนะ   ชีวิตัง.

หิริมะตา   จ  ทุดชีวัง
นิดจัง  สุจิคะเวสะนา
อะลีเนนาปะคับเพนะ
สุดทาชีเวนะ  ปัดสะตา.

(แปลว่า)
อันบุคคลผู้ไม่มีความละอาย
กล้าเพียงดังกา  มีปกติกำจัดผู้อื่น
มักแล่นไปเอาหน้า
ผู้คะนอง  ผู้เศร้าหมอง

           เป็นอยู่ง่าย.

ส่วนบุคคลผู้มีความละอาย
ผู้แสวงหากรรมอันสะอาดเป็นนิตย์
ไม่หดหู่  ไม่คะนอง

มีอาชีวะหมดจด  เห็นอยู่
               เป็นอยู่ยาก.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
 

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 18 : มลวรรค
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2012, 04:29:44 pm »


07.เรื่องอุบาสกห้าคน

พระศาสดา   เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภอุบาสก 5 คน  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า   โย  ปาณมติมาเปติ  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  อุบาสก  5 คนได้ไปรักษาอุโบสถศีลอยู่ที่วัดพระเชตวัน   อุบาสกแต่ละคนรักษาศีลเพียง 1-2  ข้อใน 8 ข้อนั้น  คนที่รักษาศีลข้อใดก็จะบอกว่าศีลที่ตนรักษาเป็นข้อที่รักษายากที่สุด    จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้น   ในที่สุดอุบาสกทั้ง 5 คนก็ได้ไปเฝ้าพระศาสดา  เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง  พระศาสดาตรัสว่า “ศีลทั้งหมด  เป็นของรักษาโดยยากทั้งนั้น
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สามพระคาถานี้ว่า

โย  ปาณมติมาเปติ
มุสาวาทญฺจ  ภาสติ
โลโก  อทินฺนํ  อาทิยติ
ปรทารญฺจ  คจฺฉติ ฯ


สุราเมรยปานญฺจ
โย  นโร  อนุยุญฺชติ
อิเธวะเมโส  โลกสฺมึ
มูลํ  ขนติ  อตฺตโน  ฯ


เอวํ  โภ  ปุริส  ชานาหิ
ปาปธมฺมา  อสญฺญตา
มา  ตํ  โลโภ  อธมฺโม  จ
จืรํ  ทุกฺขาย  รนฺธยุ  ฯ


(อ่านว่า)
โย  ปานะมะติมาเปติ
มุสาวาทันจะ  พาสะติ
โลโก  อะทินนัง  อาทิยะติ
ปะระทารันจะ  คัดฉะติ.

สุราเมระยะปานันจะ
โย  นะโร  อะนุยุนชะติ
อิเทวะเมโส   โลกัดสะหมิง
มูลัง  ขะนะติ  อัดตะโน.

เอวัง  โพ   ปุริสะ  ชานาหิ
ปาปะทำมา  อะสันยะตา
มา  มัง  โลโพ  อะทำโม  จะ
จิรัง  ทุกขายะ  รันทะยุง.
 
(แปลว่า)
นระใด  ย่อมยังสัตว์มีชีวิต  ให้ตกล่วงไป 1
กล่าวมุสาวาท 1
ถือเอาทรัพย์ที่บุคคลอื่นไม่ให้ในโลก  1
ถึงภริยาของคนอื่น1.

อนึ่ง  นระใด  ย่อมประกอบเนืองๆ
ซึ่งการดื่มสุราและเมรัย
นระนี้  ชื่อว่า  ย่อมขุดซึ่งรากเหง้าของตนในโลกนี้ทีเดียว.


บุรุษผู้เจริญ  ท่านจงทราบอย่างนี้  ว่า
บุคคลผู้มีบาปธรรมทั้งหลาย
ย่อมเป็นผู้ไม่สำรวมแล้ว

ความโลภและสภาพมิใช่ธรรม  จงอย่ารบกวนท่าน
เพื่อความทุกข์  ตลอดกาลนานเลย.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  อุบาสก  5  คนนั้น  บรรลุโสดาปัตติผล.  พระธรรมเทศนา มีประโยชน์  แม้แก่ชนผู้มาประชุมกัน.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 18 : มลวรรค
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2012, 04:42:26 pm »


08. เรื่องภิกษุหนุ่มชื่อติสสะ

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระภิกษุหนุ่มชื่อติสสะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ททาติ  เว  ยถาสทฺธํ   เป็นต้น

ภิกษุหนุ่มชื่อติสสะ  มีนิสัยชอบตำหนิทานและการกระทำความดีของผู้อื่น   ท่านตำหนิแม้กระทั่งอริยสาวกกผู้ทานบดี อย่างเช่น  อนาถบิณฑิกเศรษฐี  นางวิสาขามหาอุบาสิกา    และแม้กระทั่งอสทิสทานที่ถวายโดยพระเจ้าปเสนทิโกศล  นอกจากนั้นแล้ว  พระหนุ่มรูปนี้ก็ยังโอ้อวดว่าพวกญาติๆของท่านมีฐานะดีและมีใจบุญสุนทร์ทาน  เมื่อภิกษุอื่นๆได้ยินคำโอ้อวดของพระติสสะ  ก็เกิดความสงสัยในข้อเท็จจริง  จึงตัดสินใจที่จะไปพิสูจน์หาความจริง

พวกภิกษุหนุ่มกลุ่มหนึ่ง  ได้เดินทางไปพิสูจน์และสอบสวนที่หมู่บ้านของพระติสสะ  ก็ได้พบว่าครอบครัวของพระติสสะเป็นครอบครัวยากจน  เป็นแค่บุตรของยามรักษาการ  ไม่มีบ้านอยู่เป็นหลักฐาน  ก่อนบวชตระเวนไปกับพวกช่างไม้แล้วไปบวช 

เมื่อภิกษุทั้งหลาย   กราบทูลพระศาสดาให้ทรงทราบในเรื่องนี้   พระศาสดาตรัสว่า   “ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุชื่อว่าติสสะนั้น  ย่อมเที่ยวโอ้อวด  ในบัดนี้เท่านั้นหามิได้  แม้ในกาลก่อน  เธอก็ได้เป็นผู้โอ้อวดแล้ว  จากนั้นได้ทรงนำอดีตชาติของพระติสสะในกฏาหกชาดกมาเล่า  แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  ก็บุคคลใด  เมื่อชนเหล่าอื่นให้ซึ่งวัตถุน้อยก็ตาม  มากก็ตาม  เศร้าหมองก็ตาม  ประณีตก็ตาม  หรือให้วัตถุแก่ชนเหล่าอื่น  แต่ไม่ให้แก่ตน  ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน  ฌานก็ดี  วิปัสสนาก็ดี  มรรคและผลก็ดี  ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น” 
จากนั้น  ได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ททาติ  เว  ยถาสทฺธํ
ยถาปสาทนํ  ชโน
ตตฺถ  โย  มงฺกุโต  โหติ
ปเรสํ  ปานโภชเน
น  โส  ทิวา  วา  รตฺตึ วา
สมาธึ  อธิคจฺฉติ  ฯ


ยสฺส  เจตํ  สมุจฺฉินฺนํ
มูลฆจฺฉํ  สมูหตํ
ส  เว  ทิวา  วา  รตฺตึ  วา
สมาธึ  อธิคจฺฉติ  ฯ


(อ่านว่า)
ทะทาติ  เว  ยะถาสัดทัง
ยะถาปะสาทะนัง  ชะโน
ตัดถะ  โย  มังกุโต  โหติ
ปะเรสัง  ปานะโพชะเน
นะ  โส  ทิวา  วา  รัดติง  วา
สะมาทิง  อะทิคัดฉะติ.

ยัดสะ  เจตัง  สะมุดฉินนัง
มูละคัจฉัง  สะมูหะตัง
สะ  เว  ทิวา  วา  รัดติง  วา
สะมาทิง  อะทิคัดฉะติ.

(แปลว่า)
ชนย่อมให้ทานตามศรัทธา
ตามความเลื่อมใสแล 
ชนใด  ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน
ในเพราะน้ำและข้าวของชนเหล่าอื่นนั้น
ชนนั้นย่อมไม่บรรลุสมาธิในกลางวันหรือในกลางคืน.

ก็กุศลกรรมอันบุคคลใดตัดขาดแล้ว
ถอนขึ้นทำให้มีรากขาดแล้ว

บุคคลนั้นแล  ย่อมบรรลุสมาธิ
ในกลางวันหรือในกลางคืน.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 18 : มลวรรค
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2012, 05:02:07 pm »


09. เรื่องอุบาสก 5 คน

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภอุบาสก 5  คน  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  นตฺถิ ราคสโม  อคฺคิ  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  อุบาสก 5 คนไปฟังธรรมของพระศาสดา ที่วัดพระเชตวัน  อุบาสกคนที่ 1  นั่งหลับ  คนที่  2  นั่งเอามือขีดเขียนแผ่นดิน  คนที่ 3  นั่งเขย่าต้นไม้  คนที่ 4  นั่งแหงนคอดูท้องฟ้า คนที่ 5  นั่งฟังธรรมโดยเคารพ พระอานนทเถระ  ซึ่งนั่งถวายงานพัดพระศาสดาอยู่นั้น  ได้แลเห็นพฤติกรรมของอุบาสกทั้ง 5  คนนั้นแล้ว  จึงกราบทูลพระศาสดาว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่อุบาสกเหล่านี้  ดุจหยาดฝนเม็ดใหญ่ตกลงมาจากฟากฟ้า  แต่อุบาสกเหล่านั้น  กลับแสดงพฤติกรรมประหลาดๆแตกต่างกัน” จากนั้นพระเถระได้กราบทูลพฤติกรรมของอุบาสกให้พระศาสดาทรงทราบ  และได้กราบทูลถามถึงสาเหตุที่อุบาสกเหล่านั้นมีพฤติกรรมแตกต่างกัน  พระศาสดาตรัสว่า

อุบาสกคนที่นั่งหลับอยู่นั้น  เคยเกิดเป็นงูมา 500 ชาติ  ปกติงูจะพาดหัวไว้บนขนดแล้วหลับ  ก็จึงติดนิสัยชอบหลับนั้นมาจนถึงชาติปัจจุบัน   อุบาสกคนที่ชอบเอานิ้วคุ้ยเขี่ยแผ่นดินนั้น  เคยเกิดเป็นไส้เดือนในอดีตชาติมาแล้ว 500 ชาติ  จึงได้ติดนิสัยชอบคุ้ยเขี่ยแผ่นดินมาจนถึงปัจจุบันชาติ  อุบาสกคนที่ชอบเอามือเขย่าต้นไม้นั้น  เคยเกิดเป็นลิงมาแล้ว 500 ชาติ  จึงติดนิสัยชอบเขย่าต้นไม้มาจนถึงปัจจุบันชาติ   อุบาสกคนที่นั่งฟังธรรมโดยคารพนั้น  เคยเกิดเป็นพราหมณ์ผู้ชอบท่องมนตรามาถึง 500 ชาติ  จึงติดนิสัยชอบฟังธรรมแล้วนำไปเทียบเคียงกับมนตราที่ตนเคยท่องบ่นมาตั้งแต่อดีตชาติ   พระอานนทเถระกราบทูลถามต่อไปว่า  พระธรรมของพระองค์  เป็นสิ่งที่ยากสำหรับทุกคนที่จะฟังแล้วเข้าใจหรือไม่  พระศาสดาตรัสว่า   ขึ้นอยู่กับการอบรมบ่มนิสัยของแต่ละบุคคลมาตั้งแต่อดีตชาติ   พระอานนทเถระกราบทูลต่อไปว่า  ที่บุคคลฟังธรรมของพระศาสดาแล้วไม่เข้าใจเป็นเพราะมีสาเหตุอะไรมาขวางกั้นเอาไว้  พระศาสดาตรัสว่า  สิ่งที่มาขวางกั้นเอาไว้นั้นคือ  ราคะ  โทสะ  และโมหะ

พระศาสดาตรัสกับพระอานนทเถระว่า  “อานนท์  อุบาสกเหล่านั้น  อาศัยราคะ  อาศัยโทสะ  อาศัยโมหะ  อาศัยตัณหา  จึงสามารถ  ชื่อว่าไฟ  เช่นกับไฟคือราคะ  ไม่มี  ไฟใด  ไม่แสดงแม้ซึ่งเถ้า  ย่อมไหม้สัตว์ทั้งหลาย  แท้จริง  แม้ไฟซึ่งยังกัปให้พินาศ  ที่อาศัยความปรากฏแห่งพระอาทิตย์  7  ดวง  บังเกิดขึ้น  ย่อมไหม้โลก  ไม่ให้วัตถุไรๆ  เหลืออยู่เลยก็จริง  ถึงกระนั้น  ไฟนั้น  ย่อมไหม้ในบางคราวเท่านั้น  ชื่อว่ากาลที่ไฟคือราคะ  จะไม่ไหม้  ย่อมไม่มี  เพราะฉะนั้น  ไฟเสมอด้วยราคะก็ดี  ผู้จับเสมอด้วยโทสะก็ดี  ข่ายเสมอด้วยโมหะก็ดี  ชื่อว่าแม่น้ำเสมอด้วยตัณหา ก็ดี  ไม่มี
จากนั้น  พระศาสดา  ได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

นตฺถิ  ราคสโม  อคฺคิ
นตฺถิ  โทสสโม  คโห
นตฺถิ โมหสมํ  ชาลํ
นตฺถิ  ตณฺหาสมา  นที ฯ


(อ่านว่า)
นัดถิ  ราคะสะโม  อักคิ
นัดถิ  โทสะสะโม  คะโห
นัดถิ  โมหะสะโม  ชาลัง
นัดถิ  ตันหาสะมา  นะที.

ไฟเสมอด้วยราคะ  ไม่มี
ผู้จับเสมอด้วยโทสะ  ไม่มี
ข่ายเสมอด้วยโมหะ  ไม่มี

แม่น้ำเสมอด้วยตัณหา  ไม่มี.

 
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   อุบาสกผู้ฟังธรรมอยู่โดยเคารพนั้น  บรรลุโสดาปัตติผล  พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่ชนผู้ประชุมกัน.

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 18, 2012, 05:09:28 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 18 : มลวรรค
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2012, 05:28:32 pm »


10. เรื่องเมณฑกเศรษฐี

พระศาสดา  เมื่อทรงอาศัยภัททิยนคร  ประทับอยู่ในชาติยาวัน     ทรงปรารภเมณฑกเศรษฐี  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  สุทสฺสํ  วชฺชมญฺเญสํ  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง   ในระหว่างเสด็จจาริกสู่แคว้นอังคะและแคว้นอุตตระ   พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยที่จะบรรลุโสดาปัตติผลของบุคคล 6  คนเหล่านี้ คือ 1. เมณฑกเศรษฐี  2.ภรรยาของเศรษฐี  ชื่อนางจันทปทุมา  3. บุตรชื่อธนัญชัยเศรษฐี   4.  หญิงสะใภ้ชื่อนางสุมนเทวี  5.  หลานสาวชื่อวิสาขา   6.ทาสชื่อปุณณะ  จึงเสด็จไปสู่ภัททิยนคร   ประทับอยู่ในชาติยาวัน

เมณฑกเศรษฐีผู้นี้  มีฐานะร่ำรวยมาก   ที่เป็นเช่นนี้  ในพระคัมภีร์กล่าวว่า   เป็นเพราะเมณฑกเศรษฐีได้พบรูปปั้นแพะทองคำ  ประมาณเท่าช้าง  เท่าม้า  และเท่าโคถึก   โผล่ขึ้นมาจากแผ่นดินที่บริเวณหลังบ้าน  ซึ่งกินบริเวณกว้างถึง 8  กรีส  เพราะเหตุนี้เศรษฐีคนนี้จึงมีชื่อว่า เมณฑกเศรษฐี  แปลว่า  เศรษฐีแพะ   ในพระคัมภีร์บรรยายต่อไปว่าว่า  ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี   เขาได้เคยบริจาคทรัพย์สร้างวัดถวายพระวิปัสสีพระพุทธเจ้า  และถวายสิ่งของต่างๆ  เช่น  ธรรมาสน์ทำด้วยทองคำสำหรับแสดงพระธรรมเทศนา  พร้อมด้วยตั่งทองคำสำหรับก้าวขึ้นสู่ธรรมาสน์เป็นรูปแพะทั้ง 4 ทิศ  เป็นต้น  เมื่อสิ่งก่อสร้างต่างๆในวัดสำเร็จแล้ว  เขาก็ได้กราบทูลอาราธนาพระวิปัสสีพุทธเจ้ามาฉันภัตตาหาร  พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย   ตลอดเวลา 4  เดือน   

ต่อมาในอีกอดีตชาติหนึ่ง  เขาเกิดเป็นเศรษฐีในเมืองพาราณสี   ในกาลครั้งหนึ่ง  ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  ผู้คนอดอยากข้าวปลาอาหาร   ทั่วทุกหนทุกแห่ง  วันหนึ่งเศรษฐีได้ให้คนรับใช้ทำอาหารไว้พอดีสำหรับตนเองและบริวารรับประทาน   ได้มีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง  ซึ่งเพิ่งออกจากสมาบัติ  มายืนบิณฑบาตอยู่ที่หน้าประตูบ้าน   เขาได้บริจาคอาหารทั้งหมดทั้งในส่วนของตนเองและส่วนของบริวารแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น      เพราะผลแห่งการถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าที่เพิ่งออกจากสมาบัติ  ทำให้หม้อข้าวของเศรษฐี กลับมีข้าวอยู่เต็ม  และยุ้งฉางต่างๆที่ว่างเปล่าก็กลับเต็มไปด้วยข้าวเปลือก


เมื่อเมณฑกเศรษฐี   ได้ทราบข่าวว่า  พระศาสดาเสด็จที่เมืองภัททิยะมาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์  ก็ได้เข้าไปถวายบังคม หลังจากที่ได้ฟังธรรมจากพระศาสดาแล้ว  ท่านพร้อมด้วยบุคคลอื่นรวม 6  คน(ตามที่มีชื่อระบุข้างต้น)  ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล  และท่านได้กราบทูลพระศาสดาว่า  ในระหว่างทางที่ท่านเดินทางมาเฝ้าพระศาสดานั้น  ท่านได้พบกับพวกเดียรถีย์  และพวกเดียรถีย์เหล่านี้ได้ห้ามปรามมิให้ท่านมา   พระศาสดาจึงตรัสกับท่านเศรษฐีว่า  “คฤหบดี  ขึ้นชื่อว่าสัตว์เหล่าใดย่อมไม่เห็นโทษของตนแม้มาก  ย่อมโปรยโทษของชนเหล่าอื่นแม้ไม่มีอยู่กระทำให้มี  ราวกะบุคคลโปรยแกลบลงในที่นั้น ๆ  ฉะนั้น
จากนั้น   พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

สุทสฺสํ  วชฺชมญเญสํ
อตฺตโน  ปน  ทุสฺทสํ
ปเรสํ  หิ  โส  วชฺชานิ
โอปุนาติ  ยถา  ภุสํ
อตฺตโน  ปน  ฉาเทติ
กลึว  กิตวา   สโฐ  ฯ


(อ่านว่า)
สุทัดสัง  วัดชะมันเยสัง
อัดตะโน  ปะนะ  สุดทะสัง
ปเรสัง  หิ  โส  วัดชานิ
โอปุนาติ  ยะถา  ภุสัง
อัดตะโน  ปะนะ  ฉาเทติ
กลิงวะ  กิตะวา  สะโถ.

(แปลว่า)
โทษของบุคคลเหล่าอื่นเห็นง่าย
ฝ่ายโทษของตนเห็นได้ยาก
เพราะว่า  บุคคลนั้น  ย่อมโปรยโทษของบุคคลเหล่าอื่น
เหมือนบุคคลโปรยแกลบ

แต่ว่าย่อมปกปิด(โทษ)ของตน
เหมือนพรานปกปิดร่างกายด้วยเครื่องปกปิดฉะนั้น.


เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.