สมเด็จพระเพทราชา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเพทราชา หรือ สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 28 ของอาณาจักรอยุธยาและทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา
พระราชประวัติ
พระเพทราชาเดิมเป็นสามัญชนชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี (ปัจจุบัน คือ บ้านพลูหลวงตั้งอยู่ในตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี) เป็นบุตรของพระนมเปรม และมีพระขนิษฐาคือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม)[3][4] พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาพระเพทราชาได้รับราชการในวังโดยรับตำแหน่งสูงและเป็นที่พึงพอพระราชหฤทัย
ในปี พ.ศ. 2231 ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ประทับอยู่ที่ลพบุรีและทรงประชวรหนัก พระเพทราชาได้กำจัดพระปีย์ พระโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์แล้วจับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ประหารชีวิต และได้ส่งกำลังไปควบคุมทหารฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ที่ป้อมบางกอก คือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ในปัจจุบัน
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ เสด็จสวรรคต บรรดาข้าราชการได้อัญเชิญพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม พระองค์ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2232 เมื่อมีพระชนมายุได้ 56 พรรษา
เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ขับไล่กำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา แต่ยังทรงอนุญาตให้บาทหลวง และพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้ ได้มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เรื่องการขนย้ายทหาร และทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกจากป้อมที่บางกอก โดยฝ่ายไทยเป็นผู้จัดเรือ กับต้องส่งคืนทรัพย์สิน ที่เป็นของกรุงศรีอยุธยาคืนทั้งหมด สำหรับข้าราชการและราษฎรไทย ที่ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ผลการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศส สิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา
สมเด็จพระเพทราชา เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2246 พระชนมายุได้ 71 พรรษา ครองราชย์ได้ 15 ปี
พระราชกรณียกิจ
การปฏิรูปการปกครอง
ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองใหม่ โดยกำหนดให้หัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ในความดูแลของสมุหนายก และหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของสมุหพระกลาโหม โดยแบ่งให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบดูแลกิจการทั้งด้านทหารและพลเรือนในภูมิภาคนั้น ๆ
นอกจากนี้พระองค์ยังได้เพิ่มจำนวนกำลังทหารให้แก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า เพื่อเป็นกำลังป้องกันวังหลวงอีกทางหนึ่งด้วย
การต่างประเทศ
ประเทศใกล้เคียง มีหัวเมืองประเทศใกล้เคียงเข้ามาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์เป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2234 เขมรได้ส่งคณะราชทูตนำช้างเผือกเชือกหนึ่งมาถวาย ขอเข้ามาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร ต่อมา ในปี พ.ศ. 2238 กษัตริย์กรุงศรีสัตนาคนหุตได้ส่งราชทูตนำพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย กับขอให้กองทัพไทยไปช่วยต้านทานการรุกรานจากกองทัพหลวงพระบาง พระองค์ได้จัดกองทัพขึ้นไปช่วยไกล่เกลี่ย จนทั้งสองเมืองกลับเป็นไมตรีต่อกัน
พระมเหสี
พระเพทราชาทรงมีมเหสีสำคัญๆอยู่ 4 พระองค์ ได้แก่
กรมหลวงโยธาเทพ หรือ มเหสีฝ่ายซ้าย - พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์ มีพระราชโอรสคือ เจ้าฟ้าตรัสน้อย ทรงสนใจทางด้านการศึกษาในหลายๆแขนงวิชา ช่วงหลังย้ายตามพระราชมารดาไปอยู่ ณ พระตำหนักใกล้วัดพุทไธศวรรค์
กรมหลวงโยธาทิพ หรือ มเหสีฝ่ายขวา - พระน้องนางในสมเด็จพระนารายณ์ มีพระราชโอรสคือ เจ้าฟ้าชายเจ้าพระขวัญ (กรมพระราชวังบวรสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์)
กรมพระเทพามาตย์ หรือ เจ้าแม่วัดดุสิต[5] เป็นผู้อภิบาลพระเจ้าเสือตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ภายหลังได้ขึ้นเป็นที่กรมพระเทพามาตย์
พระแก้วฟ้า ปรากฎในเอกสารในสมัยอยุธยาได้กล่าวว่า หลังจากการไกล่เกลี่ยเขตแดนระหว่างไทยกับลาว กษัตริย์แห่งเวียงจันทน์ได้ส่งพระราชธิดาถวายแก่พระเพทราชา แต่เอกสารของลาวกลับไม่ได้ปรากฎหรือกล่าวเอาไว้เลย[1]
อ้างอิง
^ 1.0 1.1 ภาสกร วงศ์ตาวัน. ประเทศราช ชาติศัตรู และพ่อค้านานาชาติ. กรุงเทพฯ:ยิปซี, 2553. หน้า 182
^ ราชอาณาจักรสยาม
^ ภูธร ภูมะธน. โกษาปาน ราชทูตกู้แผ่นดิน. (กรุงเทพฯ:สถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์ (พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้), 2550), หน้า 33
^ พลับพลึง มูลศิลป์. ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สมัยอยุทธยา. (กรุงเทพ:บรรณกิจ), 2523, หน้า 110, 238
^ เรื่องเก่าเอามาเล่าอีก (1)
http://www1.mod.go.th/heritage/king/ayuthaya/ayuthaya5.htmดูเพิ่ม
ลำดับพระมหากษัตริย์ไทย
-http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2-
.