อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล
۞๚ เถระคาถา ๚ะ๛ ۞
ฐิตา:
มหากัปปินเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระมหากัปปินเถระ
[๓๗๒] ผู้ใดพิจารณาเห็นแจ้งหรือแสวงหาประโยชน์ ย่อมพิจารณาเห็นกิจ
ทั้งสอง คือ ที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ อันยังไม่มาถึง
ได้ก่อนอมิตรหรือศัตรูของผู้นั้น ซึ่งคอยแสวงหาช่องอยู่ไม่ทันเห็น ผู้นั้น
เรียกว่า ผู้มีปัญญา ผู้ใดเจริญอานาปาณสติให้บริบูรณ์ด้วยดีแล้ว
อบรมแล้วโดยลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ผู้นั้นย่อม
ยังโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์เพ็ญออกจากกลีบเมฆฉะนั้น
จิตของเราผ่องใสแล้วหนอ อบรมดีแล้ว หาประมาณมิได้ เป็น
จิตประคองไว้แล้วเป็นนิตย์ ย่อมยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว บุคคล
ผู้มีปัญญาถึงจะสิ้นทรัพย์ ก็ยังมีชีวิตอยู่เป็นได้แน่แท้ ส่วนบุคคล
ผู้ไม่มีปัญญาถึงจะมีทรัพย์ก็เป็นอยู่ไม่ได้ ปัญญาเป็นเครื่องตัดสินสิ่ง
ที่ตนฟังมาแล้ว เป็นเครื่องเจริญชื่อเสียงและความสรรเสริญ นรชน
ในโลกนี้ ผู้ประกอบด้วยปัญญา แม้ในเวลาที่ตนตกทุกข์ ก็
ย่อมได้รับความสุข ธรรมนี้มิใช่มีในวันนี้ ไม่ใช่น่าอัศจรรย์
และไม่ใช่เคยมีมาแล้ว แต่ดูเหมือนเป็นของที่ไม่เคยมีในโลก ซึ่ง
เป็นที่เกิดที่ตาย เมื่อสัตว์เกิดมาแล้ว ก็มีความเป็นอยู่กับความ
ตายแน่แท้ สัตว์ที่เกิดมาแล้วๆ ในโลกนี้ ย่อมตายไปทั้งนั้น
เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา ชีวิตอันใดเป็นประโยชน์
แก่บุรุษเหล่าอื่น ชีวิตอันนั้นย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว
อันการร้องไห้ถึงผู้ที่ตายไปแล้ว ย่อมไม่ทำให้เกิดผล ไม่ทำให้
เกิดความสรรเสริญ สมณะและพราหมณ์ไม่สรรเสริญเลย การ
ร้องไห้ย่อมเบียดเบียนจักษุและร่างกาย ทำให้เสื่อมวรรณะ กำลัง
และความคิด ชนทั้งหลายผู้เป็นข้าศึกย่อมมีจิตยินดี ส่วนชน
ผู้เป็นมิตรก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย เพราะฉะนั้น บุคคลพึงปรารถนา
ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ เป็นพหูสูต ให้อยู่ในสกุลของตน เพราะ
กิจทุกอย่างจะสำเร็จได้ ด้วยกำลังปัญญาของท่านที่เป็นนักปราชญ์
และเป็นพหูสูตเท่านั้น เหมือนบุคคลข้ามแม่น้ำอันเต็มฝั่ง ด้วยเรือ
ฉะนั้น.
ฐิตา:
จูฬปันถกเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระจูฬปันถกเถระ
[๓๗๓] เมื่อก่อน ญาณคติเกิดแก่เราช้า เราจึงถูกดูหมิ่น และพี่
ชายจึงขับไล่เราว่า จงกลับไปเรือนเดี๋ยวนี้เถิด เราถูกพี่ชายขับไล่แล้ว
ไปยืนร้องไห้อยู่ที่ใกล้ซุ้มประตูสังฆาราม เพราะยังมีความอาลัยในศาสนา
พระผู้มีพระภาคได้เสด็จมา ณ ที่นั้น ทรงลูบศีรษะเรา ทรงจับแขนเรา
พาเข้าไปสู่สังฆาราม พระศาสดาทรงอนุเคราะห์ ประทานผ้าเช็ดพระบาท
ให้แก่เรา ตรัสว่า จงอธิษฐานผ้าสะอาดผืนนี้ให้ตั้งมั่นดีโดยมนสิการว่า
รโชหรณํๆ ผ้าสำหรับเช็ดธุลีๆ จงตั้งจิตให้มั่น นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง
เราฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว เกิดความยินดีในศาสนา ได้
บำเพ็ญสมาธิให้เกิดขึ้นเพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุด เราระลึกถึงชาติ
ก่อนๆ ได้ ชำระทิพยจักษุให้หมดจดแล้ว ได้บรรลุวิชชา ๓
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำสำเร็จแล้ว พระจูฬปันถก-
เถระได้เนรมิตตนขึ้นพันหนึ่ง นั่งอยู่ที่ชีวกัมพวันอันรื่นรมย์ จนถึง
เวลาเขามาบอกนิมนต์ ครั้งนั้น พระศาสดาทรงส่งทูตไปบอกเวลา
ภัตตาหารแก่เรา เมื่อทูตบอกเวลาภัตตาหารแล้ว เราได้เข้าไป
เฝ้าโดยอากาศ ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดาแล้ว นั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระศาสดาทรงรับรองเราผู้
ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ เราเป็นผู้ควรบูชาของโลกทั้งปวง เป็นผู้
ควรรับของอันเขานำมาบูชา เป็นนาบุญแห่งหมู่มนุษย์ ได้รับ
ทักษิณาทานแล้ว.
ฐิตา:
กัปปเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระกัปปเถระ
[๓๗๔] ร่างกายนี้ เต็มไปด้วยของอากูลและของอันเป็นมลทินต่างๆ มี
หลุมคูถใหญ่เป็นที่เกิด เป็นดุจบ่อน้ำครำอันมีมานมนาน เป็น
ดุจฝีใหญ่ เป็นดุจแผลใหญ่ เต็มไปด้วยหนองและเลือด เต็มไปด้วย
หลุมคูถ มีน้ำไหลออกเป็นนิตย์ มีของเน่าไหลออกทุกเมื่อ กายอัน
เปื่อยเน่านี้รัดรึงด้วยเอ็นใหญ่ ๖๐ เส้น ฉาบทาด้วยเครื่องฉาบทา คือ
เนื้อ หุ้มห่อด้วยเสื้อ คือ หนัง เป็นของหาประโยชน์มิได้
เป็นของสืบต่อเนื่องกันด้วยร่างกระดูก เกี่ยวร้อยด้วยด้าย คือเส้น
เอ็น เปลี่ยนอิริยาบถได้ เพราะยังมีเครื่องประกอบพร้อม นรชน
ผู้ยังคลุกคลีอยู่ในกามคุณ เป็นผู้ตระเตรียมไปสู่ความตายเป็นนิตย์ เป็น
ผู้ตั้งอยู่ในที่ใกล้มัจจุราช จักต้องทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้เอง กายนี้
เองอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ผูกรัดด้วยเครื่องผูก ๔ ประการ จมอยู่
ในห้วงน้ำ คือ กิเลส ปกคลุมไว้ด้วยข่าย คือ กิเลสอันนอน
เนื่องอยู่ในสันดาน ประกอบแล้วในนิวรณ์ ๕ เพียบพร้อม
ด้วยวิตก ประกอบด้วยรากเหง้าแห่งภพ คือ ตัณหา ปก
ปิดด้วยเครื่องปกปิด คือ โมหะ หมุนไปอยู่ด้วยเครื่องหมุน คือ
กรรม ร่างกายนี้ย่อมมีสมบัติกับวิบัติเป็นคู่กัน มีความเป็นต่างๆ กัน
เป็นธรรมดา ปุถุชนคนอันธพาลเหล่าใด มายึดถือร่างกายนี้ว่าเป็น
ของเรา ย่อมยังสงสารอันน่ากลัวให้เจริญ ปุถุชนเหล่านั้นย่อมถือเอา
ภพใหม่อีก กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตเหล่าใด ละเว้นร่างกายอันฉาบทาแล้ว
ด้วยคูถ ดังบุรุษผู้ประสงค์ความสุขอยากมีชีวิตอยู่ เห็นอสรพิษแล้ว
หลีกหนีไปฉะนั้น กุลบุตรเหล่านั้นละอวิชชาอันเป็นรากเหง้าแห่งภพแล้ว
เป็นผู้ไม่มีอาสวะจักปรินิพพาน.
ฐิตา:
อุปเสนวังคันตปุตตเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระอุปเสนวังคันตปุตตเถระ
[๓๗๕] ภิกษุส้องเสพเสนาสนะอันสงัด ปราศจากเสียงอื้ออึง เป็นที่อยู่อาศัย
แห่งสัตว์ร้ายเพราะการหลีกออกเร้นเป็นเหตุ ภิกษุพึงเก็บผ้ามาจากกอง
หยากเยื่อ จากป่าช้า จากตรอกน้อยตรอกใหญ่ แล้วทำเป็นผ้านุ่งห่ม
พึงทรงจีวรอันเศร้าหมอง ภิกษุควรทำใจให้ต่ำ คุ้มครองทวาร สำรวม
ดีแล้ว เที่ยวไปบิณฑบาต ตามลำดับตรอก คือ ตามลำดับสกุล ภิกษุ
พึงยินดีด้วยของๆ ตน แม้จะเป็นของเศร้าหมอง ไม่พึงปรารถนารส
อาหารอย่างอื่นมาก เพราะใจของบุคคลผู้ติดในรสอาหาร ย่อมไม่ยินดี
ในฌาน ภิกษุควรเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด เป็น
มุนี ไม่คลุกคลีด้วยพวกคฤหัสถ์ และพวกบรรพชิตทั้งสอง ภิกษุผู้
เป็นบัณฑิต ควรแสดงตนให้เป็นคนบ้าและคนใบ้ ไม่ควรพูดมากใน
ท่ามกลางสงฆ์ ไม่ควรเข้าไปกล่าวว่าใครๆ ควรละเว้นการเข้ากระทบ
กระทั่ง เป็นผู้สำรวมในพระปาติโมกข์ และพึงเป็นผู้รู้จักประมาณใน
โภชนะ เป็นผู้ฉลาดในการเกิดขึ้นแห่งจิต มีนิมิตอันถือเอาแล้ว
พึงประกอบสมถะและวิปัสสนาตามเวลาอันสมควรอยู่เนืองๆ พึง
เป็นบัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียรเป็นนิตย์ เป็นผู้ประกอบภาวนา
ทุกเมื่อ ด้วยความตั้งใจว่า ถ้ายังไม่ถึงที่สุดทุกข์ ไม่พึงถึง
ความวางใจ อาสวะทั้งปวงของภิกษุ ผู้ปรารถนาความบริสุทธิ์
เป็นอยู่อย่างนี้ ย่อมสิ้นไป และภิกษุนั้นย่อมบรรลุนิพพาน.
ฐิตา:
โคตมเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระโคตมเถระ
[๓๗๖] บุคคลพึงรู้จักประโยชน์ของตน พึงตรวจตราดูคำสั่งสอนของพระ
ศาสดา และพึงตรวจตราสิ่งที่สมควรแก่กุลบุตร ผู้เข้าถึงซึ่ง
ความเป็นสมณะในศาสนานี้ การมีมิตรดี การสมาทานสิกขา
ให้บริบูรณ์ การเชื่อฟังต่อครูทั้งหลาย ข้อนี้ล้วนแต่สมควรแก่
สมณะ ในศาสนานี้ ความเคารพในพระพุทธเจ้า ความยำ
เกรงในพระธรรมและพระสงฆ์ตามความเป็นจริง ข้อนี้ ล้วนสมควร
แก่สมณะ การประกอบในอาจาระและโคจร อาชีพที่หมดจด อัน
บัณฑิตไม่ติเตียน การตั้งจิตไว้ชอบนี้ ล้วนแต่สมควรแก่สมณะ
จาริตศีลและวาริตศีล การเปลี่ยนอิริยาบถอันน่าเลื่อมใส และ
การประกอบในอธิจิต ก็ล้วนแต่สมควรแก่สมณะ เสนาสนะป่าอันสงบ
ปราศจากเสียงอึกทึก มุนีพึงคบหา นี้เป็นของสมควรแก่สมณะ
จตุปาริสุทธศีล พาหุสัจจะ การเลือกเฟ้นธรรมตามความเป็นจริง
การตรัสรู้อริยสัจ นี้ก็ล้วนแต่สมควรแก่สมณะ
ข้อที่บุคคลมาเจริญอนิจจสัญญาในสังขารทั้งปวงว่า สังขารทั้งปวง
ไม่เที่ยง เจริญอนัตตสัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
และเจริญอสุภสัญญาว่า กรัชกายนี้ไม่น่ายินดีในโลก นี้ก็ล้วนแต่
สมควรแก่สมณะ การที่บุคคลมาเจริญโพชฌงค์ ๗ อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕ พละ ๕ และอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ล้วนสมควรแก่สมณะ
การที่บุคคลผู้เป็นมุนีมาละตัณหาทำลายอาสวะ พร้อมทั้งรากเหง้า เป็น
ผู้หลุดพ้นจากอาสวะกิเลสอยู่ ก็ล้วนแต่สมควรแก่สมณะ
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version