อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล
۞๚ เถระคาถา ๚ะ๛ ۞
ฐิตา:
สังกิจจเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระสังกิจจเถระ
อุบาสกคนหนึ่ง ได้วอนขอให้กิจจสามเณรอยู่ในวิหารแห่งหนึ่งด้วยคาถาว่า
[๓๗๗] ดูกรพ่อสามเณร จะมีประโยชน์อะไรในป่า ภูเขาชื่ออุชชุหานะ เป็น
ที่ไม่สบายในฤดูฝน เพราะฉะนั้น ภูเขาอุชชุหานะจะมีประโยชน์
อะไรแก่ท่าน ลมหัวด้วนพัดมาอยู่ ท่านพอใจหรือ เพราะ
ความเงียบสงัดเป็นที่ต้องการของผู้เจริญฌาน.
สังกิจจสามเณรตอบว่า
ลมหัวด้วนในฤดูฝนย่อมพัดผันเอาวลาหกไปฉันใด สัญญาอันประกอบ
ด้วยวิเวก ย่อมคร่าเอาจิตของอาตมามาสู่ความสงัด ก็ฉันนั้น
กายคตาสติกัมมัฏฐาน อันประกอบด้วยความคลายกำหนัดในร่างกาย
ย่อมเกิดขึ้นแก่อาตมาทันที เหมือนกาอันเป็นสัตว์เกิดแต่ฟองไข่มีสีดำ
เที่ยวอาศัยอยู่ในป่าช้า ฉะนั้น บุคคลเหล่าอื่น ย่อมไม่รักษาบรรพชิต
และบรรพชิตก็ไม่รักษาคนเหล่าอื่น ภิกษุนั้นแลเป็นผู้ไม่ห่วงใยในกาม
ทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นสุข แอ่งศิลา ซึ่งมีน้ำใส ประกอบด้วยหมู่ชะนี
และค่างดารดาษไปด้วยสาหร่าย ย่อมยังอาตมาให้ยินดี การที่อาตมาอยู่
ในเสนาสนะป่า คือ ซอกเขาและถ้ำอันเป็นที่สงัด เป็นที่ส้องเสพอาศัย
แห่งมวลมฤค ย่อมทำให้อาตมายินดี อาตมาไม่เคยรู้สึกถึงความดำริอันไม่
ประเสริฐ ประกอบด้วยโทษเลยว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกเบียดเบียน จง
ถูกฆ่า จงได้รับทุกข์ อาตมาได้ทำความคุ้นเคยกับพระศาสดาแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อาตมาทำเสร็จแล้ว อาตมาปลงภาระอันหนัก
ลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ที่กุลบุตร
ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาต้องการแล้ว ถึงความสิ้นไปแห่ง
สังโยชน์ทั้งปวงแล้ว อาตมาไม่ยินดีความตาย ไม่เพลิดเพลินความ
เป็นอยู่ และรอเวลาอยู่ เหมือนลูกจ้างรอให้สิ้นเวลาทำงาน ฉะนั้น
อาตมาไม่ยินดีความตาย ไม่เพลิดเพลินความเป็นอยู่ และเป็นผู้มี
สติสัมปชัญญะ รอเวลาตายอยู่
ในเอกาทสนิบาตนี้ พระสังกิจจเถระองค์เดียวเท่านั้น ผู้เสร็จกิจแล้ว
หมดอาสวะ ได้ภาษิตคาถาไว้ ๑๑ คาถาถ้วนฉะนี้แล.
ฐิตา:
สีลวเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระสีลวเถระ
[๓๗๘] ท่านทั้งหลายพึงศึกษาศีลในศาสนานี้ ด้วยว่าศีลอันบุคคลศึกษาดีแล้ว
สั่งสมดีแล้ว ย่อมนำสมบัติทั้งปวงมาให้ในโลกนี้ นักปราชญ์
เมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการ คือ ความสรรเสริญ ๑ การได้
ความปลื้มใจ ๑ ความบันเทิงในสวรรค์เมื่อละไปแล้ว ๑ พึง
รักษาศีล ด้วยว่าผู้มีศีล มีความสำรวม ย่อมได้มิตรมาก
ส่วนผู้ทุศีลประพฤติแต่กรรมอันลามก ย่อมแตกจากมิตร นรชน
ผู้ทุศีล ย่อมได้รับการติเตียนและความเสียชื่อเสียง ส่วนผู้มีศีล
ย่อมได้รับการสรรเสริญและชื่อเสียงทุกเมื่อ ศีลเป็นเบื้องต้น เป็น
ที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธาน
แห่งธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์ สังวร
ศีลเป็นเครื่องกั้นความทุจริต ทำจิตให้ร่าเริง เป็นท่าที่หยั่งลง
มหาสมุทร คือ นิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งปวง เพราะฉะนั้น
พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์ ศีลเป็นกำลังหาเปรียบมิได้ เป็นอาวุธ
อย่างสูงสุด เป็นอาภรณ์อันประเสริฐ เป็นเกราะอันน่าอัศจรรย์
ศีลเป็นสะพาน เป็นมหาอำนาจ เป็นกลิ่นหอมอย่างยอดเยี่ยม เป็น
เครื่องลูบไล้อันประเสริฐ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอมฟุ้งไปทั่ว
ทุกทิศ ศีลเป็นกำลังอย่างเลิศ เป็นเสบียงเดินทางชั้นเยี่ยม เป็น
พาหนะอันประเสริฐยิ่งนัก เป็นเครื่องหอมฟุ้งไปทั่วทิศานุทิศ คนพาล
ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นในศีล ย่อมได้รับการนินทาในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้
เมื่อตายไปแล้ว ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในอบายภูมิ ย่อมได้รับทุกข์
โทมนัสในที่ทั่วไป ธีรชนผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีในศีล ย่อมได้รับการ
สรรเสริญในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ครั้นตายไปแล้ว ก็ได้รับความสุข
โสมนัสในสวรรค์ ย่อมรื่นเริงใจในที่ทุกสถานในโลกนี้ ศีลเท่านั้นเป็น
ยอดและผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดในโลกนี้ ความชนะในมนุษยโลกและ
เทวโลก ย่อมมีได้เพราะศีลและปัญญา.
ฐิตา:
สุนีตเถรคาถา
คาถาภาษิตของพระสุนีตเถระ
[๓๗๙] เราเกิดมาในสกุลต่ำ เป็นคนยากจน มีเครื่องบริโภคน้อย การงานของ
เราเป็นการงานต่ำ เราเป็นคนเทดอกไม้ เราถูกมนุษย์เกลียดชัง ดูหมิ่น
และแช่งด่า เราถ่อมตนไหว้หมู่ชนเป็นอันมาก ครั้งนั้น เราได้เห็น
พระพุทธเจ้า ผู้เป็นมหาวีรบุรุษ ห้อมล้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ เสด็จ
เข้าไปสู่พระนครอันอุดม ของชาวมคธเพื่อบิณฑบาต เราจึงวางกระเช้า
ลงแล้วเข้าไปถวายบังคม พระองค์ผู้เป็นอุดมบุรุษได้ประทับยืนอยู่เพื่อ
อนุเคราะห์เรา ครั้งนั้นเราได้ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดาแล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วจึงทูลขอบรรพชากะพระองค์ผู้สูงสุด
กว่าสัตว์ทั้งปวง ลำดับนั้น พระศาสดาผู้มีพระกรุณาอนุเคราะห์สัตว์โลก
ทั้งปวง ได้ตรัสเรียกเราว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด พระดำรัสนั้นเป็น
อุปสมบทของเรา เมื่อเราอุปสมบทแล้ว อยู่ในป่าแต่ผู้เดียว ไม่เกียจ
คร้าน ได้ทำตามพระดำรัสของพระศาสดาผู้พิชิตมาร ที่ทรงสั่งสอนเรา
ในราตรีปฐมยาม เราก็ระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้ในมัชฌิมยาม ก็ได้ทิพย-
จักษุ ในปัจฉิมยาม เราก็ทำลายกองแห่งความมืด คือ อวิชชาได้ ครั้น
รุ่งราตรีพระอาทิตย์อุทัย เทพเจ้าเหล่าอินทร์และพรหมทั้งหลาย พากัน
ประนมอัญชลีนมัสการเราพร้อมกับกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชา-
ไนย ขอนอบน้อมต่อท่าน ข้าแต่ท่านผู้เป็นอุดมบุรุษ ขอนอบน้อมต่อ
ท่าน ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นผู้สิ้นอาสวะ เป็นทักขิไณยบุคคล
ลำดับนั้น พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นเราห้อมล้อมด้วยหมู่เทพเจ้า
จึงทรงยิ้มแย้ม แล้วได้ตรัสเนื้อความนี้ว่า บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์
เพราะคุณธรรม ๔ ประการ คือ ตบะ ๑ พรหมจรรย์ ๑ สัญญมะ ๑
ทมะ ๑ ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวบุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรม ๔ ประการ
มีตบะเป็นต้นนั้นว่า เป็นพราหมณ์ผู้อุดม.
ในทวาทสกนิบาตนี้ พระเถระ ๒ รูป คือ พระสีลวเถระ ๑ พระสุนีต
เถระ ๑ ล้วนแต่มีมหิทธิฤทธิ์ ได้ภาษิตคาถารูปละ ๑๒ คาถา รวมเป็น
๒๔ คาถา ฉะนี้.
ฐิตา:
โสณโกฬิวิสเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระโสณโกฬิวิสเถระ
[๓๘๐] ผู้ใดเป็นผู้สำเร็จความปรารถนา เป็นผู้สูงสุดในแว่นแคว้นของ
พระเจ้าอังคะ วันนี้ ผู้นั้นมีนามว่าโสณะ เป็นผู้เยี่ยมในธรรมทั้งหลาย
เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พึงละสังโยชน์
เบื้องบน ๕ และพึงเจริญอินทรีย์ ๕ ให้ยิ่ง ภิกษุผู้ล่วงธรรมเป็น
เครื่องข้อง ๕ ท่านเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว ศีล สมาธิ และ
ปัญญา ของภิกษุผู้มีมานะเพียงดังว่าไม้อ้ออันยกขึ้นแล้ว ผู้ประมาท
ยินดีในอายตนะอันมีในภายนอก ย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ กิจใดที่
ควรทำ ภิกษุเหล่านี้มาละทิ้งกิจอันนั้นเสีย แต่มาทำกิจที่ไม่ควรทำ
อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่ภิกษุเหล่านั้น ผู้มีมานะเพียงดังไม้อ้ออันยก
ขึ้นแล้ว เป็นผู้ประมาท ส่วนภิกษุเหล่าใดปรารภกายคตาสติด้วยดีเป็น
นิตย์ ภิกษุเหล่านั้นกระทำกรรมที่ควรทำเนืองนิตย์ ย่อมไม่เสพกรรมมิใช่
กิจ อาสวะของภิกษุเหล่านั้นผู้มีสติสัมปชัญญะ ย่อมถึงความสิ้นสูญ เมื่อ
มีทางตรงพระพุทธเจ้าตรัสบอกไว้แล้ว ขอท่านทั้งหลายจงดำเนินไปเถิด
อย่าพากันกลับ จงตักเตือนตนด้วยตนเอง พึงน้อมตนเข้าไปสู่นิพพาน
เมื่อเราปรารภความเพียร พระศาสดาผู้มีพระจักษุยอดเยี่ยมในโลก ได้
ทรงแสดงธรรมอุปมาด้วยสายพิณสอนเรา เราฟังพระดำรัสของพระองค์
แล้ว ยินดีอยู่ในพระศาสนา ยังสมถภาวนาให้เกิดขึ้น เพื่อบรรลุ
ประโยชน์อันสูงสุด เราบรรลุวิชชา ๓ แล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธ
เจ้าเราได้ทำเสร็จแล้ว จิตของเราผู้น้อมไปในเนกขัมมะ ในความวิเวก
แห่งจิต ในความไม่เบียดเบียน ในความสิ้นไปแห่งอุปาทาน ในความ
สิ้นตัณหาและในความไม่หลงใหลแห่งใจ ย่อมหลุดพ้นโดยชอบ เพราะ
เห็นความเกิดขึ้นแห่งอายตนะ การสั่งสมย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้หลุด
พ้นแล้วโดยชอบ มีจิตสงบระงับเสร็จกิจแล้ว กิจอื่นที่จะพึงทำอีกไม่มี
ภูเขาศิลาล้วนเป็นแท่งทึบ ย่อมไม่สะเทือนด้วยลม ฉันใด รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งสิ้น ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ และ
อนิฏฐารมณ์ ย่อมไม่ทำจิตของบุคคลผู้คงที่ให้หวั่นไหวได้ ฉันนั้น จิต
ของผู้คงที่นั้น เป็นจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอารมณ์
อะไรๆ เพราะผู้คงที่นั้นพิจารณาเห็นความเสื่อมไปแห่งอารมณ์นั้น.
ในเตรสกนิบาตนี้ พระโสณโกฬิวิสเถระผู้มีมหิทธิฤทธิ์รูปเดียวเท่านั้น
ได้ภาษิตคาถาไว้ ๑๓ คาถา ฉะนี้แล
ฐิตา:
เรวตเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระเรวตเถระ
[๓๘๑] นับแต่เราออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ไม่รู้สึกถึงความดำริอันไม่ประเสริฐ
ประกอบด้วยโทษเลย ในระยะกาลนานที่เราบวชอยู่นี้ เราไม่รู้สึกถึง
ความดำริว่า ขอให้สัตว์เหล่านั้น จงถูกฆ่า ถูกเขาเบียดเบียน จงได้
รับทุกข์ เรารู้สึกแต่การเจริญเมตตาอันหาประมาณมิได้ อบรมสั่งสม
ดีแล้วโดยลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว เราได้เป็นมิตร
เป็นสหายของสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้อนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวง ยินดีแล้วใน
การไม่เบียดเบียน เจริญเมตตาจิตอยู่ทุกเมื่อ เรายังจิตอันไม่ง่อนแง่น
ไม่กำเริบให้บันเทิงอยู่ เจริญพรหมวิหารอันบุรุษผู้เลวทรามไม่ซ่องเสพ
สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เข้าทุติยฌานอันไม่มีวิตกวิจาร
ประกอบด้วยความเป็นผู้นิ่งเป็นอริยะ โดยแท้จริง ภูเขาศิลาล้วนไม่หวั่น
ไหว ตั้งอยู่คงที่ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น ย่อมไม่หวั่นไหวดุจบรรพต
เพราะสิ้นโมหะ ความชั่วแม้มีประมาณเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏ
เหมือนประมาณท่าหมอกเมฆ แก่ท่านผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ผู้แสวง
หาความสะอาดเป็นนิตย์ เมืองหน้าด่านเป็นเมืองอันเขาคุ้มครองแล้ว
ทั้งภายในและภายนอก ฉันใด ท่านทั้งหลายจงคุ้มครองตนฉันนั้นเถิด
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย เราไม่ยินดีต่อความตาย ไม่
เพลิดเพลินต่อความเป็นอยู่ แต่เรารอเวลาตาย เหมือนลูกจ้างคอยให้
หมดเวลาทำงานฉะนั้น เราไม่ยินดีความตาย ไม่เพลิดเพลินความเป็น
อยู่ แต่เรามีสติสัมปชัญญะ รอท่าเวลาตาย พระศาสดาเราคุ้นเคยแล้ว
เราทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว
ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพแล้ว ได้บรรลุถึงประโยชน์ที่กุลบุตรออกบวช
เป็นบรรพชิตต้องการแล้ว บรรลุถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง ท่านทั้ง
หลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นคำสอนของเรา เรา
จักอำลาท่านทั้งหลายปรินิพพานในบัดนี้ เพราะเราเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
จากกิเลสทั้งปวง.
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version