อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล
۞๚ เถระคาถา ๚ะ๛ ۞
ฐิตา:
โคทัตตเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระโคทัตตเถระ
[๓๘๒] โคอาชาไนยที่ดี อันเขาเทียมแล้วที่แอกเกวียน ย่อมอาจนำแอกเกวียน
ไปได้ ไม่ย่อท้อต่อภาระอันหนัก ไม่ทอดทิ้งเกวียนอันเขาเทียมแล้ว
แม้ฉันใด บุคคลเหล่าใดบริบูรณ์ด้วยปัญญา เหมือนมหาสมุทรอันเต็ม
ด้วยน้ำ บุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ดูหมิ่นผู้อื่น ฉันนั้น ย่อมเป็นดังอริยธรรม
ของสัตว์ทั้งหลาย นรชนผู้ตกอยู่ในอำนาจของเวลา ตกอยู่ในอำนาจของ
ภพน้อยภพใหญ่ ย่อมเข้าถึงความทุกข์และต้องเศร้าโศก คนพาลไม่
พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง ย่อมเดือดร้อนด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ
มีใจฟูขึ้นเพราะเหตุแห่งสุข ๑ มีใจฟุบลงเพราะเหตุแห่งทุกข์ ๑
ชนเหล่าใดก้าวล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดในทุกขเวทนา ในสุขเวทนา และ
ในอทุกขมสุขเวทนา ชนเหล่านั้นเป็นผู้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเหมือนเสา
เขื่อน เป็นผู้ไม่ฟูขึ้นและไม่ฟุบลง ชนเหล่านั้นย่อมไม่ติดอยู่ในลาภ
ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และ
ทุกข์ทั้งหมด ดังหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น นักปราชญ์ทั้งหลาย
มีความสุขและได้ชัยชนะในที่ทุกแห่งไป การไม่ได้ลาภโดยชอบธรรมกับ
การได้ลาภโดยไม่ชอบธรรมทั้งสองอย่างนี้ การไม่ได้ลาภอันชอบธรรม
ประเสริฐกว่า การได้ลาภอันไม่ชอบธรรมจะประเสริฐอะไร คนไม่มี
ความรู้ มียศ กับคนมีความรู้แต่ไม่มียศ คนมีความรู้ไม่มียศประเสริฐ
กว่า คนไม่มีความรู้มียศจะประเสริฐอะไร การสรรเสริญจากคนพาลกับ
การติเตียนจากนักปราชญ์ การติเตียนจากนักปราชญ์ประเสริฐกว่า การ
สรรเสริญจากคนพาลจะประเสริฐอะไร ความสุขอันเกิดจากกามคุณกับ
ความทุกข์อันเกิดจากวิเวก ความทุกข์อันเกิดจากวิเวกประเสริฐกว่า
ความสุขอันเกิดจากกามคุณจะประเสริฐอะไร ความเป็นอยู่โดยไม่ชอบ
ธรรมกับความตายโดยธรรม ความตายโดยธรรมประเสริฐกว่า ความ
เป็นอยู่โดยไม่ชอบธรรมจะประเสริฐอะไร ชนเหล่าใดละกามและความ
โกรธได้แล้ว มีจิตสงบระงับเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ไม่ติดอยู่ใน
โลก ชนเหล่านั้นไม่มีความรักความชัง บุคคลเจริญโพชฌงค์ ๗ อินทรีย์ ๕
และพละ ๕ แล้วบรรลุถึงความสงบอันยอดเยี่ยม หาอาสวะมิได้ ย่อม
ปรินิพพาน.
ในจุททสกนิบาตนี้ พระเถระ ๒ รูปผู้มีฤทธิ์มาก คือ พระเรวตเถร ๑
พระโคทัตตเถระ ๑ ได้ภาษิตคาถารูปละ ๑๔ คาถา รวมเป็น ๒๘ คาถา
ฉะนี้แล.
ฐิตา:
อัญญโกณฑัญญเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระอัญญาโกณฑัญญเถระ
[๓๘๓] ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะประกาศความเลื่อมใสของพระองค์ จึงตรัส
พระคาถาที่ ๑ ว่า
ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมมีรสอันประเสริฐ จึงเกิดความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ธรรม
อันคลายความกำหนัด เพราะไม่ยึดถือมั่นโดยประการทั้งปวง พระผู้เป็น
เจ้าได้แสดงแล้ว-
ท้าวเธอตรัสชมเชยเทศนาของพระเถระดังนี้แล้ว ทรงนมัสการพระเถระ แล้วเสด็จ
กลับไปสู่ที่อยู่ของพระองค์ ภายหลังวันหนึ่ง พระเถระเห็นวาระจิตของปุถุชนบางจำพวก ซึ่งถูก
มิจฉาวิตกครอบงำ และระลึกถึงคำสอนอันเป็นปฏิปักษ์ต่อมิจฉาวิตกนั้นแล้ว นึกถึงความที่คน
มีใจอันพรากแล้วจากการฟังทั้งปวง จึงได้ภาษิตคาถา ๒ คาถา อันแสดงซึ่งเนื้อความนั้นว่า
อารมณ์อันวิจิตรมีอยู่ในโลกเป็นอันมาก ชะรอยจะย่ำยีบุคคลผู้คิดถึง
อารมณ์ว่า งาม อันประกอบด้วยราคะในปฐพีมณฑลนี้ ฝนตกลงมาใน
ฤดูฝน พึงระงับธุลีที่ถูกลมพัดไปได้ ฉันใด เมื่อใด พระอริยสาวก
พิจารณาเห็นด้วยปัญญา เมื่อนั้น ความดำริของพระอริยสาวกนั้นย่อม
ระงับไปฉันนั้น เมื่อใด พระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขาร
ทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้น พระอริยสาวกนั้นย่อมหน่ายในทุกข์ นี้เป็น
ทางแห่งความหมดจด เมื่อใด พระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั้น พระอริยสาวกนั้นย่อมหน่ายในทุกข์
นี้เป็นทางแห่งความหมดจด เมื่อใด พระอริยสาวกพิจารณาเห็นด้วย
ปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นพระอริยสาวกนั้นย่อมหน่าย
ในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความหมดจด พระโกณฑัญญเถระองค์ใดเป็นผู้
ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีความบากบั่นอย่างแรงกล้า ละความเกิด
และความตายได้แล้ว เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยพรหมจรรย์อันได้ด้วยยาก พระ
โกณฑัญญเถระองค์นั้นได้ตัดบ่วง คือ โอฆะ ตาปูตรึงจิต ๑- อันมั่นคง
และภูเขาที่ทำลายได้ยากแล้ว ๒- ข้ามไปถึงฝั่ง คือ นิพพาน เป็นผู้เพ่ง
ฌาน หลุดพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร.
ภายหลังวันหนึ่ง ท่านพระโกณฑัญญเถระได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของท่าน
เป็นผู้เกียจคร้าน มีความเพียรทราม มีใจฟุ้งซ่าน มักใหญ่ใฝ่สูง เพราะการคบหาด้วยมิตร
ชั่วช้า จึงไปยังที่นั้นด้วยฤทธิ์ แล้วตักเตือนว่า ท่านอย่าทำอย่างนี้ต่อไป ขอท่านจงละมิตรชั่วช้า
เสียแล้วคบหากัลยาณมิตรทำสมณธรรมเถิด ภิกษุนั้นไม่เชื่อฟังคำของท่าน ท่านจึงเกิดความ
สลดใจ เมื่อจะติเตียนข้อปฏิบัติอันผิด และสรรเสริญการปฏิบัติชอบและการอยู่สงัด ด้วย
ถ้อยคำอันเป็นบุคคลาธิษฐาน จึงได้ภาษิตคาถานี้ใจความว่า
ภิกษุมีใจฟุ้งซ่าน กลับกลอก คบหาแต่มิตรที่เลวทราม ถูกคลื่นซัดให้
จมอยู่ในห้วงน้ำ คือ สงสาร ส่วนภิกษุมีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กลับกลอก
มีปัญญารักษาตัวรอด สำรวมอินทรีย์ คบหากัลยาณมิตร เป็นนักปราชญ์
พึงทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ นรชนผู้ซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็นดัง
เถาหญ้านาง เป็นผู้รู้จักประมาณในข้าวและน้ำ มีใจไม่ย่อท้อ ถูกเหลือบ
ยุงทั้งหลายกัดอยู่ในป่าใหญ่ ย่อมเป็นผู้มีสติอดกลั้น ได้อยู่ในป่านั้น
เหมือนช้างที่อดทนต่อศาตราวุธในยุทธสงครามฉะนั้น เราไม่ยินดีความ
ตาย ไม่เพลิดเพลินความเป็นอยู่ เรารอเวลาตาย เหมือนลูกจ้างรอให้
หมดเวลาทำงาน ฉะนั้น เราไม่ยินดีความตาย ไม่เพลิดเพลินความเป็น
อยู่ แต่เรามีสติสัมปชัญญะรอเวลาตาย พระศาสดาเราได้คุ้นเคยแล้ว
เราทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว
ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นแล้ว ได้บรรลุถึงประโยชน์ที่กุลบุตรทั้ง
หลายออกบวชเป็นบรรพชิตต้องการแล้ว เพราะฉะนั้น จะมีประโยชน์
อะไรด้วยสัทธิวิหาริก ผู้ว่ายากแก่เรา.
๑. ความสงสัยและความโกรธความไม่พอใจ ๒. ความไม่รู้ในทุกข์เป็นต้น
ฐิตา:
อุทายีเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระอุทายีเถระ
[๓๘๔] เราเคยได้ฟังมาจากพระอรหันต์ทั้งหลายว่า มนุษย์ทั้งหลายย่อมนอบน้อม
บุคคลใด ผู้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เอง มีตนอันได้
ฝึกฝนแล้ว มีจิตตั้งมั่น ดำเนินไปในทางของพรหม ยินดีในการสงบ
ระงับจิต ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง แม้เทวดาทั้งหลายก็พากันนอบน้อม
บุคคลนั้น เทวดาและมนุษย์ย่อมนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์
ใด ผู้ก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง ออกจากป่า คือ กิเลสมาสู่นิพพาน
ออกจากกามมายินดีในเนกขัมมะ เหมือนทองคำอันพ้นแล้วจากหินฉะนั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นแล เป็นนาครุ่งเรือง พ้นโลกนี้
กับทั้งเทวโลก เหมือนขุนเขาหิมวันต์รุ่งเรืองล่วงภูเขาเหล่าอื่นฉะนั้น
เราจักแสดงช้างอันประเสริฐ ซึ่งเป็นช้างมีชื่อโดยแท้จริง เป็นเยี่ยมกว่า
บรรดาผู้มีชื่อว่าช้างทั้งหมด แก่ท่านทั้งหลาย เพราะผู้ใดไม่ทำบาป ผู้นั้น
ชื่อว่า นาค ความสงบเสงี่ยมและการไม่เบียดเบียน ๒ อย่างนี้ เป็น
เท้าหน้าทั้งสองของนาค สติสัมปชัญญะเป็นเท้าหลัง ช้างตัวประเสริฐ
ควรบูชา มีศรัทธาเป็นงวง มีอุเบกขาเป็นงาอันขาว มีสติเป็นคอ มี
ปัญญาเครื่องพิจารณาค้นคว้าธรรมเป็นศีรษะ มีธรรม คือ สัมมาวาจา
เป็นท้อง มีวิเวกเป็นหาง ช้างตัวประเสริฐ คือ พระพุทธเจ้านั้น เป็น
ผู้มีปกติเพ่งฌาน ยินดีในนิพพาน มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในภายใน คือ เมื่อ
เดินก็มีจิตตั้งมั่น เมื่อยืนก็มีจิตตั้งมั่น นอนก็มีจิตตั้งมั่น แม้เมื่อนั่งก็มี
จิตตั้งมั่น เป็นผู้สำรวมในที่ทั้งปวง อันนี้เป็นคุณสมบัติของช้างผู้
ประเสริฐ คือ พระพุทธเจ้า ช้างตัวประเสริฐ คือ พระพุทธเจ้านั้น
บริโภคของอันหาโทษมิได้ ไม่บริโภคของที่มีโทษ ได้อาหารและเครื่อง
นุ่งห่มแล้ว ก็ไม่สั่งสมไว้ ตัดเครื่องเกาะเกี่ยวผูกพันน้อยใหญ่ทั้งสิ้น
ไม่มีความห่วงใยเลย เที่ยวไปในที่ทุกแห่ง เปรียบเหมือนดอกบัวขาบ
มีกลิ่นหอมหวานชวนให้รื่นรมย์ เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ย่อมไม่ติดอยู่
ด้วยน้ำ ฉันใด พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก อยู่ในโลกไม่ติดอยู่
ด้วยโลก เหมือนดอกปทุมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ ฉันนั้น ไฟกองใหญ่ลุกโชน
เมื่อหมดเชื้อก็ดับไป ก็เมื่อเถ้ายังมีอยู่ เขาก็เรียกว่ากันว่า ไฟดับแล้ว
ฉันใด อุปมาอันทำให้รู้เนื้อความแจ่มแจ้งนี้ วิญญูชนทั้งหลายแสดงไว้
แล้ว ก็ฉันนั้น มหานาคทั้งหลายจักรู้แจ้งนาค อันพระพุทธเจ้าทรงแสดง
แล้ว พุทธนาคเป็นผู้ปราศจาก ราคะ โทสะ และโมหะ หมดอาสวะ
เมื่อละสรีระร่างกายนี้แล้ว ก็จักไม่มีอาสวะปรินิพพาน.
ในโสฬสกนิบาตนี้ พระเถระผู้มีมหิทธิฤทธิ์ ๒ รูป คือ พระโกณฑัญญ-
เถระ กับ พระอุทายีเถระ ได้ภาษิตคาถาไว้องค์ละ ๑๖ คาถา รวมเป็น
๓๒ คาถา ฉะนี้แล.
ฐิตา:
อธิมุตตเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระอธิมุตตเถระ
[๓๘๕] พระอธิมุตตเถระถูกพวกโจรจับไว้ มิได้มีความกลัวหวาดเสียว มีหน้าผ่องใส
เมื่อหัวหน้าโจรเห็นดังนั้น เกิดความอัศจรรย์ใจ จึงได้กล่าวคาถาสรรเสริญ ๒ คาถาว่า
เมื่อก่อน เราจะฆ่าสัตว์เหล่าใดเพื่อบูชายัญ หรือเพื่อทรัพย์ ความกลัว
ก็ย่อมเกิดแก่สัตว์เหล่านั้นทั้งสิ้น สัตว์เหล่านั้นย่อมพากันหวาดหวั่น
และบ่นเพ้อ แต่ความกลัวมิได้มีแก่ท่านเลย สีหน้าของท่านผ่องใสยิ่ง
นัก เมื่อภัยใหญ่เห็นปานนี้ปรากฏแล้ว เหตุไรท่านจึงไม่คร่ำครวญเล่า.
พระเถระเมื่อจะแสดงธรรม โดยมุ่งการตอบคำถามของนายโจรนั้น จึงได้กล่าวคาถา
เหล่านี้ความว่า
ดูกรนายโจร ทุกข์ทางใจย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ห่วงใยในชีวิต ความกลัวทั้ง
ปวงอันเราผู้สิ้นสังโยชน์ล่วงพ้นได้แล้ว เมื่อตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพสิ้น
ไปแล้ว ความกลัวตายในปัจจุบันมิได้มีด้วยประการใดประการหนึ่งเลย
ดุจบุรุษไม่กลัวความหนัก เพราะวางภาระแล้วฉะนั้น พรหมจรรย์เรา
ประพฤติดีแล้ว แม้มรรคเราก็อบรมดีแล้ว เราไม่มีความกลัวตายเหมือน
บุคคลไม่กลัวโรคเพราะโรคสิ้นไปแล้วฉะนั้น พรหมจรรย์เราประพฤติดี
แล้ว แม้มรรคเราก็อบรมดีแล้ว ภพทั้งหลายอันไม่น่ายินดีเราได้เห็นแล้ว
เหมือนบุคคลดื่มยาพิษแล้วคายทิ้งฉะนั้น บุคคลผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ไม่มี
ความถือมั่น เสร็จกิจแล้ว หมดอาสวะ ย่อมยินดีต่อความสิ้นอายุเหมือน
บุคคลพ้นแล้วจากการถูกประหารฉะนั้น บุคคลผู้บรรลุธรรมอันสูงสุด
แล้ว ไม่มีความต้องการอะไรในโลกทั้งหมด ย่อมไม่เศร้าโศกในเวลา
ตาย ดุจบุคคลออกจากเรือนที่ถูกไฟไหม้ฉะนั้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมีอยู่
ในโลกนี้ก็ดี ภพที่สัตว์ย่อมได้ในโลกนี้ก็ดี พระพุทธเจ้าแสวงหาคุณ
อันใหญ่ยิ่งได้ตรัสไว้ว่า สิ่งทั้งหมดนี้ไม่เป็นอิสระ ผู้ใดรู้แจ้งธรรมข้อนั้น
เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ผู้นั้นย่อมไม่ยึดถือภพอะไร ดัง
บุคคลผู้ไม่จับก้อนเหล็กแดงอันร้อนโชน ฉะนั้น เราไม่มีความคิดว่า
ได้เป็นมาแล้ว จักเป็นต่อไป จะไม่เป็น หรือสังขารจักฉิบหายไป จะ
คร่ำครวญไปทำไมในเพราะสังขารนั้นเล่า ดูกรนายโจร ความกลัว
ย่อมไม่มีแก่ผู้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิดขึ้นแห่งธรรม
อันบริสุทธิ์ และความสืบต่อแห่งสังขารอันบริสุทธิ์ เมื่อใดบุคคล
พิจารณาเห็นโลกเสมอด้วยหญ้าและไม้ด้วยปัญญา เมื่อนั้น บุคคลนั้น
ย่อมไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมไม่เศร้าโศกว่า ของเราไม่มี เรากลัด
กลุ้มด้วยสรีระ ไม่ต้องการด้วยภพ ร่างกายนี้จักแตกไป และจักไม่มี
ร่างกายอื่น ถ้าท่านทั้งหลายปรารถนาจะทำกิจใดด้วยร่างกายของเรา ก็จง
ทำกิจนั้นเถิด ความขัดเคืองและความรักใคร่ในสรีระนั้น จักไม่มีแก่เรา
เพราะเหตุที่ท่านทั้งหลาย ทำกิจตามปรารถนาด้วยร่างกายของเรานั้น.
โจรทั้งหลายได้ฟังคำของท่าน อันอัศจรรย์อันทำให้ขนลุกชูชันดังนั้น
แล้ว จึงพากันวางศาตราวุธ แล้วกล่าวดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ความ
ไม่เศร้าโศกที่ท่านได้นี้ เพราะท่านได้ทำกรรมอะไรไว้ หรือใครเป็น
อาจารย์ของท่าน หรือเพราะอาศัยคำสั่งสอนของใคร?
พระเถระได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงได้กล่าวตอบว่า
พระศาสดาผู้เป็นสัพพัญญู รู้เห็นธรรมทั้งปวง ชนะหมู่มารมีพระกรุณา
ใหญ่ผู้รักษาพยาบาลชาวโลกทั้งปวง เป็นอาจารย์ของเรา ธรรมเครื่องให้
ถึงความสิ้นอาสวะอันยอดเยี่ยมนี้ พระองค์ทรงแสดงไว้แล้ว ความไม่
เศร้าโศก เราได้เพราะอาศัยคำสั่งสอนของพระองค์ พวกโจรฟังถ้อยคำ
อันเป็นสุภาษิตของพระเถระผู้เป็นฤาษีแล้ว พากันวางศาตราและอาวุธ
บางพวกก็งดเว้นจากโจรกรรม บางพวกก็ขอบรรพชา โจรเหล่านั้นครั้นได้
บรรพาในศาสนาของพระสุคตแล้ว ได้เจริญโพชฌงค์และพลธรรมเป็น
บัณฑิต มีจิตเฟื่องฟูเบิกบาน มีอินทรีย์อันอบรมดีแล้ว ได้บรรลุสันตบท
คือ นิพพานอันหาปัจจัยปรุงแต่งมิได้.
ฐิตา:
ปาราสริยเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระปาราสริยเถระ
[๓๘๖] ความคิดได้มีแล้วแก่ภิกษุผู้ชื่อว่าปาราสริยะ ผู้เป็นสมณะนั่งอยู่แล้วแต่
ผู้เดียว มีจิตสงบสงัด เพ่งฌาน บุรุษพึงทำอะไรโดยลำดับ พึงประพฤติ
วัตรอย่างไร ประพฤติมารยาทอย่างไร จึงชื่อว่าเป็นผู้ทำกิจของตน และ
ชื่อว่าไม่เบียดเบียนใครๆ อินทรีย์ทั้งหลายย่อมมีเพื่อประโยชน์และ
ไม่ใช่ประโยชน์ แก่มนุษย์ทั้งหลาย อินทรีย์ที่ไม่รักษา ย่อมไม่เป็นไป
เพื่อประโยชน์ อินทรีย์ที่รักษา ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ บุรุษผู้รักษา
และคุ้มครองอินทรีย์นั่นแล จึงชื่อว่าเป็นผู้กระทำกิจของตน และชื่อว่า
ไม่เบียดเบียนใครๆ ถ้าผู้ใดไม่ห้ามจักขุนทรีย์ อันไปอยู่ในรูปทั้งหลาย
ไม่เห็นโทษผู้นั้นย่อมไม่พ้นจากทุกข์ได้เลย อนึ่ง ผู้ใดไม่ห้ามโสตินทรีย์
อันเป็นไปอยู่ในเสียงทั้งหลาย ไม่เห็นโทษ ผู้นั้นย่อมไม่พ้นจากทุกข์ได้
เลย ถ้าผู้ใดไม่เห็นอุบายเครื่องสลักออก ซ่องเสพในกลิ่น ผู้นั้นเป็น
ผู้หมกมุ่นอยู่ในกลิ่นย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ ผู้ใดมัวแต่คำนึงถึงรสเปรี้ยว
รสหวานและรสขมเป็นผู้กำหนัดยินดีด้วยตัณหาในรส ไม่รู้สึกถึงความ
คิดในใจอันเกิดขึ้นในขณะบรรพชาว่า จักทำที่สุดทุกข์ ผู้นั้นย่อมไม่พ้น
ไปจากทุกข์ ผู้ใดมัวนึกถึงโผฏฐัพพะอันสวยงาม ไม่ปฏิกูล ยินดีแล้ว
ผู้นั้นย่อมได้ประสบทุกข์มีประการต่างๆ อันมีราคะเป็นเหตุ ก็ผู้ใดไม่
อาจจะรักษาใจจากธรรมเหล่านี้ ทุกข์อันเกิดจากกระแสอารมณ์ทั้ง ๕ นั้น
ย่อมติดตามผู้นั้นไป เพราะการไม่รักษาใจนั้น ร่างกายนี้เต็มไปด้วยหนอง
เลือดและซากศพเป็นอันมาก เป็นของอันนายช่างผู้ฉลาดทำไว้ เป็นของ
เกลี้ยงเกลาวิจิตรงดงามแต่ภายนอก ภายในเต็มไปด้วยของไม่สะอาด มี
คูถเป็นต้น ดังสมุคฉะนั้น คนพาลย่อมไม่รู้สึกว่า ร่างกายนี้เป็นของ
เผ็ดร้อน มีรสหวานเป็นที่ยินดี เกี่ยวพันด้วยความรัก เป็นทุกข์ เป็น
ของฉาบไล้ไว้ด้วยสิ่งที่น่าชื่นใจ เหมือนมีดโกนอันทาแล้วด้วยน้ำผึ้ง
ฉะนั้น บุคคลผู้กำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
ของหญิง ย่อมต้องประสบทุกข์มีประการต่างๆ กระแสตัณหาในหญิง
ทั้งปวงย่อมไหลไปในทวารทั้ง ๕ ของบุรุษ ผู้ใดมีความเพียร อาจทำการ
ป้องกันกระแสตัณหาเหล่านั้นได้ ผู้นั้นตั้งอยู่ในอรรถ ตั้งอยู่ในธรรม
เป็นผู้ขยันมีปัญญาเครื่องพิจารณา ก็บุคคลควรเป็นผู้ยินดีทำกิจอันประ-
กอบด้วยอรรถและธรรม การประกอบด้วยกามารมณ์ย่อมทำให้จมอยู่ใน
โลกบุคคลพึงเว้นกิจอันไร้ประโยชน์เสีย เมื่อรู้ว่า สิ่งนั้นไม่ควรทำแล้ว
พึงเป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาสอดส่องในสิ่งนั้น บุคคลพึงยึดเอาแต่กิจที่
ประกอบด้วยประโยชน์ และความยินดีอันประกอบด้วยธรรม แล้วพึง
ประพฤติ เพราะว่าความยินดีในธรรมนั้นแล เป็นความยินดีสูงสุด
ผู้ใดปรารถนาจะชิงเอาสิ่งของของผู้อื่นด้วยอุบายใหญ่น้อย ฆ่าผู้อื่น
เบียดเบียนผู้อื่น ทำคนอื่นให้เศร้าโศก ฉกชิงเอาสิ่งของของคนอื่น
ด้วยความทารุณร้ายกาจ การกระทำของผู้นั้น เป็นการกระทำอาศัยความ
ยินดีในการประกอบด้วยความฉิบหาย บุคคลผู้มีกำลัง เมื่อผ่าไม้ ย่อม
ตอกลิ่มด้วยลิ่ม ฉันใด ภิกษุผู้ฉลาดย่อมกำจัดอินทรีย์ ด้วยอินทรีย์
ฉันนั้น บุคคลผู้อบรมศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา กำจัด
อินทรีย์ ๕ ด้วยอินทรีย์ ๕ แล้ว เป็นพราหมณ์ผู้ไม่มีทุกข์ไป บุคคลนั้น
เป็นผู้ตั้งอยู่ในอรรถตั้งอยู่ในธรรม ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ทั้งปวง โดยประการทั้งปวง ย่อมได้รับความสุข.
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version