อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 26 : พราหมณวรรค

<< < (4/5) > >>

ฐิตา:



29. เรื่องพระเรวตเถระ
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในบุพพาราม  ทรงปรารภพระเรวตเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  โยธ  ปุญญญฺจเป็นต้น

วันหนึ่ง  ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาว่า  “น่าอัศจรรย์  สามเณร(เรวตะ)มีลาภมาก  น่าอัศจรรย์สามเณร(เรวตะ) มีบุญมาก  รูปเดียวแท้ๆ  สามารถสร้างเรือนยอด  500 หลังสำหรับภิกษุ  500 รูปได้”   พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามถึงหัวข้อที่สนทนากันนั้น  แล้วตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย บุญย่อมไม่มีแก่บุตรของเรา  บาปก็มิได้มี  บุญบาปทั้ง 2 เธอละได้แล้ว”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

โยธ  ปุญฺญญฺจ  ปาปญฺจ
อุโภ  สงฺคํ  อุปจฺจคา
อโสกํ  วิรชํ  สุทฺธํ
ตมหํ  พฺรูมิ พฺราหฺมณํ ฯ

ผู้ใดล่วงบุญและบาปทั้ง 2
และกิเลสเครื่องข้องเสียได้  ในโลกนี้
เราเรียกผู้นั้น  ซึ่งไม่มีความโศก  มีธุลีไปปราศแล้ว
ผู้บริสุทธิ์แล้ว  ว่าเป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดปัตติผลเป็นต้น.
                       
30. เรื่องพระจันทาภเถระ
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระจันทาภเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  จนฺทํว  เป็นต้น

พระจันทาภเถระ  เมื่อครั้งในอดีตชาติ  เคยได้ถวายผงแก่นจันทน์แดงบูชาพระสถูปเจดีย์  ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระกัสสปพุทธเจ้า ด้วยผลานิสงส์นั้น  ทำให้ได้ไปเกิดในเทวโลกเป็นเวลาหนึ่งพุทธันดร  ในพุทธุปบาทกาลนี้  ได้มาเกิดที่โลกมนุษย์ในตระกูลพราหมณ์กรุงราชคฤห์  ตั้งแต่คลอดออกมาจากครรภ์ของมารดา ทารกคนนี้มีแสงสว่างเป็นรูปวงกลมดุจจันทร์เพ็ญแผ่ออกจากสะดือ  เพราะฉะนั้นจึงมีชื่อว่า จันทาภะ  พวกพราหมณ์เห็นว่าสิ่งแปลกประหลาดในตัวของเขาเป็นจุดขาย ก็จึงนำเขาขึ้นเกวียนพาตระเวนไปตามที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้คนได้ชมและใครที่จ่ายเงินจำนวน 100 กหาปณะ  หรือ 1000 กหาปณะก็จะได้รับอนุญาตให้จับเนื้อต้องตัวของเขาได้

อยู่มาวันหนึ่ง  เมื่อคณะของจันทาภะเดินทางถึงสถานที่กึ่งกลางระหว่างกรุงราชคฤห์กับพระเชตวัน ได้เห็นพระอริยะทั้งหลายเดินทางไปเฝ้าพระศาสดาที่วัดพระเชตวัน  ก็ได้กล่าวกับครนเหล่านั้นว่า  จะมีประโยชน์อะไรกับการไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้านั้น  เพราะว่าไม่มีใครมีอานุภาพเสมอเหมือนจันทาภะนี้อีกแล้ว  ใครก็ตามที่สัมผัสถูกเนื้อต้องตัวของเขาแล้ว  คนนั้นก็จะได้อิสริยยศและทรัพย์สมบัติ  ไม่เชื่อก็มาลองพิสูจน์ดูก็ได้  แต่พระอริยบุคคลเหล่านั้นได้กล่าว่า “พระศาสดาของพวกเราเท่านั้น มีอานุภาพมาก”

คณะพราหมณ์นั้นจึงได้นำจันทาภะไปที่พระเชตวันเพื่อพิสูจน์ว่ามีอานุภาพมากกว่าพระศาสดา  เมื่อจันทาภะเข้าไปอยู่เบื้องหน้าของพระศาสดา  รัศมีวงกลมดังพระจันท์วันเพ็ญที่เคยแผ่ออกมาจากสะดือของเขาก็หายไปสิ้น  เมื่อลองให้จันทาภะออกไปจากเบื้องหน้าของพระศาสดา  รัศมีนั้นก็กลับมาดังเดิม  เมื่อได้ทำการทดลองถึง  3 ครั้ง  พวกพราหมณ์จึงเชื่อว่า  พระศาสดาจะต้องมีมนต์วิเศษ ที่สามารถทำให้รัศมีหายไปได้อย่างแน่นอน  จึงต้องการได้มนต์วิเศษนี้   แต่พระศาสดาตรัสว่า  พระองค์จะประทานมนต์นี้ก็เฉพาะแก่บุคคลที่เป็นภิกษุเท่านั้น  จันทาภพราหมณ์จึงบอกให้คณะพราหมณ์ของเขารอไปก่อนในขณะที่เขาเรียนมนต์นี้ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จากนั้นพระศาสดาได้ให้การอุปสมบทแด่จันทาภพราหมณ์  และได้บอกพระกัมมัฏฐานที่มีอาการ 32 เป็นอารมณ์ให้พระจันทาภะนำไปปฏิบัติ  โดยตรัสว่า  จงนำมนต์นี้ไปท่องบ่นสาธยาย   เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 2-3 วันเท่านั้น พระจันทาภะก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์   เมื่อพวกพราหมณ์ในคณะมาชวนให้ไปออกตระเวนหาเงินต่อ  พระจันทาภะกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงไปเถิด  เดี๋ยวนี้ฉันเป็นผู้มีธรรมเครื่องไม่ไปเสียแล้ว”  ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ยินท่านพูดเช่นนั้น  ก็คิดว่าท่านอวดอ้างตนว่าเป็นพระอรหันต์ด้วยความไม่จริง  จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระศาสดา  พระศาสดาตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้  จันทาภะบุตรของเรา  มีอาสวะสิ้นแล้ว  ย่อมกล่าวแต่คำจริงเท่านั้น”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

จนฺทํว  วิมลํ  สุทฺธํ
วิปฺปสนฺนมนาวิลํ
นนฺทิภวปริกฺขีณํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

เราเรียกผู้บริสุทธิ์  ผ่องใส  ไม่ขุ่นมัว
มีภพเครื่องเพลิดเพลินสิ้นแล้ว
เหมือนพระจันทร์ที่ปราศจากมลทิน
นั้นว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:



31. เรื่องพระสีวลีเถระ
พระศาสดา  เมื่อทรงอาศัยเมืองกุณฑิโกฬิยะ  ประทับอยู่ในป่าชื่อกุณฑธาน    ทรงปรารภพระสีวลีเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  โย  อิมํ  เป็นต้น

ในสมัยหนึ่ง  พระธิดาของเชื้อพระวงศ์สายโกลิยวงศ์  พระนามว่าสุปปวาสา  ทรงครรภ์อยู่   ปี 7  โดยไม่ยอมมีพระประสูติกาล  ต่อมา  พระนางเกิดความเจ็บพระครรภ์อยู่นานถึง 7 วันก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีพระประสูติกาลอีก  พระนางมีพระอาการเจ็บพระครรภ์มาก ทรงบรรเทาความเจ็บปวดนั้น ด้วยการระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ว่า “ 1. พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด  ทรงแสดงธรรมเพื่อละทุกข์แห่งรูปนี้แหละ  พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น  เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบหนอ  2. พระสงฆ์สาวกใดปฏิบัติเพื่อละทุกข์แห่งรูปนี้แหละ  พระสงฆ์สาวกนั้น  ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น  เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วหนอ  3. ทุกข์เห็นปานนี้  ไม่มีในพระนิพพานใด  พระนิพพานนั้น  เป็นสุขดีหนอ”

พระนางจึงได้ให้พระสวามีไปเฝ้าพระศาสดา  แล้วให้กราบทูลเรื่องที่พระนางกำลังเจ็บพระครรภ์อยู่นี้  พระศาสดาตรัสว่า “พระธิดาโกลิยวงศ์พระนามว่าสุปปวาสา  จงเป็นผู้มีสุข  ไม่มีโรค  ประสูติพระโอรสซึ่งหาโรคมิได้เถิด” ขณะพระศาสดาตรัสนั้นประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน แต่พระนางสุปปวาสาก็ทรงหายจากการเจ็บพระครรภ์ในทันใด  ประสูติพระโอรสอย่างง่ายดาย  และในวันนั้นเอง  หลังจากมีพระประสูติกาลพระโอรสแล้ว  พระนางก็ได้กราบทูลพระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่วังของพระนาง โดยมีพระโอรสน้อยที่เกิดใหม่แต่สามารถเดินได้ในทันที ทำหน้าที่กรองน้ำถวายพระศาสดาและพระสงฆ์  และเพื่อเป็นการฉลองการเกิดของพระโอรส  พระนางและพระสวามีได้ทูลอาราธนาพระศาสดาและพระสงฆ์มาฉันภัตตาหารที่วังเป็นเวลาติดต่อกัน 7 วัน

เมื่อพระโอรสซึ่งมีพระนามว่า สีวลี  เติบโตขึ้น  ก็ได้เสด็จออกบรรพชาเป็นสามเณร  และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  อยู่มาวันหนึ่ง  ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย  พวกท่านจงดู  ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหัตเห็นปานนี้   ยังเสวยทุกข์ในท้องของมารดาตลอดกาล  ประมาณเท่านี้  จะป่วยกล่าวไปใยเล่าถึงชนเหล่าอื่น  ทุกข์เป็นอันมากหนออันภิกษุนี้ถอนแล้ว”

พระศาสดา  เสด็จมาตรัสถามถึงหัวข้อการสนทนานั้น  แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  ใช่สิ  บุตรของเราพ้นจากทุกข์ประมาณเท่านี้แล้ว  บัดนี้  ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้วอยู่”
จากนั้น  พระศาสดา  ได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

โย  อิมํ  ปลิปถํ ทุคฺคํ
สํสารํ  โมหมจฺจคา
ติณฺโณ  ปารคโต  ฌายี
อเนโช  อกถํกถี
อนุปาทาย  นิพฺพุโต
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

ผู้ใด  ล่วงทางอ้อม  หล่ม  สงสาร
และโมหะนี้ไปแล้ว  เป็นผู้ข้ามไปได้
ถึงฝั่ง  มีปกติเพ่ง  หากิเลสเครื่องหวั่นไหวมิได้
ไม่มีความสงสัย  เป็นเหตุกล่าวว่าอย่างไร
ไม่ถือมั่น  ดับแล้ว
เราเรียกผู้นั้นว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


                     

32. เรื่องพระสุนทรสมุทรเถระ
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระสุนทรสมุทรเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  โยธ  กาเม  เป็นต้น

ในกรุงสาวัตถี  มีชายคนหนึ่งชื่อสุนทรสมุทร  เป็นบุตรของเศรษฐี  มีทรัพย์สมบัติ  40 โกฏิ  ต่อมาสุนทรสมุทรนี้ได้ออกบวช  และได้ออกเดินทางไปปฏิบัติธรรมในกรุงราชคฤห์  ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงสาวัตถีประมาณ  45  โยชน์
อยู่มาวันหนึ่ง  มีการจัดงานเทศกาลอย่างหนึ่งขึ้นในกรุงสาวัตถี  บิดามารดาของพระสุนทรสมุทรคิดถึงบุตรชายมากถึงกับร้องไห้ออกมา  เพราะนึกเสียดายว่าคิดว่าหากบุตรยังไม่บวชก็จะออกไปเที่ยวสนุกสนานในงานเทศกาลนี้  ขณะที่คนทั้งสองนั่งร้องไห้อยู่นั้น  ก็มีหญิงแพศยานางหนึ่งเข้ามาถามถึงสาเหตุที่คนทั้งสองร้องไห้  เมื่อได้ฟังว่าร้องไห้ถึงบุตรชายที่ออกบวชนั้น นางก็ถามขึ้นว่า  หากนางสามารถสึกพระลูกชายออกมาครองชีวิตเป็นฆราวาสได้  ทั้งสองคนจะให้อะไรเป็นสิ่งตอบแทนแก่นาง  ทั้งสองคนได้บอกกับนางว่า   จะยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้   นางแพศยาก็จึงขอเงินจำนวนหนึ่งจากคนทั้งสองแล้วก็ออกเดินทางไปที่กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง 
 
เมื่อเดินทางถึงกรุงราชคฤห์แล้ว  นางก็ได้เช่าปราสาท  7  ชั้นหลังหนึ่ง  ซึ่งตั้งอยู่ในเส้นทางที่พระสุนทรสมุทรจะบิณฑบาตผ่าน  นางได้ตระเตรียมอาหารดีๆไว้รอพระสุทรสมุทรเถระมาบิณฑบาต  ใน 2-3  วันแรกนางได้ยกอาหารมาถวายพระเถระตรงที่ประตูบ้าน  แต่ต่อมานางได้นิมนต์พระเถระเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตข้างในบ้าน  ในช่วงนี้  นางได้ไปว่าจ้างพวกเด็กๆให้พากันมาเล่นอยู่ข้างนอกบ้านในช่วงเวลาที่พระเถระมารับบิณฑบาต เพื่อที่ว่านางจะหาเลศนัยใช้เป็นข้ออ้างว่ามีพวกเด็กๆมาเล่นกันฝุ่นฟุ้งและส่งเสียงอื้ออึงเมื่อนั่งอยู่ชั้นล่างของบ้าน สมควรที่พระเถระจะขึ้นไปนั่งอยู่เสียที่ชั้นที่สองของบ้าน   เมื่อพระเถระยอมปฏิบัติตามคำนิมนต์นั้นแล้ว  หญิงแพศยานั้นก็รีบเข้ามาปิดประตูสั่นดาล  แล้วนางก็เริ่มยั่วยวนพระเถระด้วยมารยาหญิง  นางได้กล่าวกับพระเถระว่า ท่านก็ยังหนุ่ม  ส่วนดิฉันก็ยังสาว  เราควรมาเป็นสมีภรรยากัน  เอาไว้เมื่อตอนชราจึงค่อยมาบวชเถิด

เมื่อพระเถระได้ยินคำพูดของนางแพศยา  ก็เกิดความสังเวชใจ  ว่าตนหลวมตัวทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงเพราะความประมาทเลินเล่อ  ในขณะนั้นเอง  พระศาสดาประทับนั่งอยู่ในพระเชตวัน  ทีห่างไกลจากจุดนั้นประมาณ 45  โยชน์  ทรงเห็นเหตุการณ์ด้วยพระญาณวิเศษ     ได้ทรงกระทำความยิ้มแย้มออกมา  เมื่อพระอานนทเถระกราบทูลถามถึงสาเหตุของการที่ทรงยิ้มแย้มนั้น  ได้ตรัสว่า “อานนท์  สงครามระหว่างภิกษุชื่อสุนทรสมุทร  กับหญิงแพศยา  กำลังเปิดฉากขึ้น  บนปราสาท 7 ชั้น  ในกรุงราชคฤห์”  พระอานนทเถระทูลถามว่า  “ใครจะชนะ  ใครจะแพ้”  พระศาสดาตรัสว่า “ฝ่ายสุนทรสมุทรจะชนะ  ฝ่ายหญิงแพศยาจะแพ้”  จากนั้น  พระศาสดาได้เปล่งรัศมีไปปรากฏอยู่เบื้องหน้าของพระสุนทรเถระ  แล้วตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

โยธ  กาเม  ปหนฺตฺวาน
อนาคาโร  ปริพฺพเช
กามภวปริกฺขีณํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

บุคคลใดละกามทั้งหลายในโลกนี้แล้ว
เป็นผู้ไม่มีเรือน  งดเว้นเสียได้
เราเรียกบุคคลนั้น  ผู้มีกามและภพสิ้นแล้ว
ว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   พระเถระ  บรรลุพระอรหัตตผล.

ฐิตา:



33.เรื่องพระโชติกเถระ
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน  ทรงปรารภพระโชติกเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  โยธ  ตณฺหํ  เป็นต้น

โชติกเศรษฐี   เป็นเศรษฐีที่มีชื่อเสียงมาก ในกรุงราชคฤห์   เขาพำนักอยู่ในปราสาท 7 ชั้น  มีกำแพงแก้ว  7  ประการล้อมรอบ มีซุ้มประตูทางเข้าประสาทอยู่ 7 ซุ้ม  และมีขุมทรัพย์ในบริเวณประสาท 4  ขุม  ในเวลาจะหุงหาอาหารโชติกเศรษฐีก็มิได้ใช้เตาและหม้อธรรมดาเหมือนคนอื่น   แต่ใช้เตาและหม้อหุงต้มอาหารอัตโนมัติเรียกเป็นภาษาในสมัยนั้นว่า “ปาสาณา”  เตาหุงข้าวชนิดนี้ไฟจะติดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ  และเมื่อข้าวหรืออาหารสุกแล้ว  ไฟก็จะดับเอง  เมื่อไฟดับก็แสดงว่าข้าวหรืออาหารนั้นสุกแล้ว  นอกจากนั้นแล้ว  โชติกเศรษฐีก็ยังมีภรรยาที่งดงามมาก  ซึ่งได้มาจากอุตตรกุรุทวีป  ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศจะนิยมเข้าไปชมปราสาทของโชติกเศรษฐีเพราะต่างต้องการเห็นความร่ำรวย  ความมีทรัพย์มาก  และความมีชีวิตที่ฟุ่มเฟือยของเศรษฐีผู้นี้

อยู่มาวันหนึ่ง  พระเจ้าพิมพิสาร ได้เสด็จมาทอดพระเนตรปราสาทของเศรษฐีนี้  และพระองค์ได้นำเจ้าชายอชาตศัตรูพระโอรสตามเสด็จมาด้วย  เมื่อเจ้าชายอชาตศัตรูทอดพระเนตรเห็นความอลังการของปราสาท เห็นสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย  และเห็นทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าในปราสาท  ก็ได้มีความริษยาดำริว่า  เมื่อใดก็ตามที่พระองค์ได้เสวยราชสมบัติ  ก็จะไม่ยอมให้โชติกเศรษฐีผู้นี้มีชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยอยู่ในปราสาทหลังนี้ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารเสด็จออกจากปราสาท  โชติกเศรษฐีได้ทูลเกล้าถวายเพชรนิลจินดาที่มีค่ามากแด่พระราชา  ตามประเพณีที่เศรษฐีโชติกทำเป็นประจำแก่แขกที่เข้ามาเยี่ยมเยียนปราสาทของเขา


เมื่อเจ้าชายอชาตศัตรู  ขึ้นครองราชย์สมบัติภายหลังปลงพระชนม์พระบิดาคือพระเจ้าพิมพิสารแล้ว ก็ได้ทรงนำกองทหารจะไปยึดปราสาทของโชติกเศรษฐี  แต่เนื่องจากประตูทางเข้าปราสาททุกด้านมียักษ์รักษาการอยู่  พระเจ้าอชาตศัตรูจึงมิอาจจะนำกองทหารเข้าไปในปราสาทได้  พระองค์ต้องรีบถอนกำลังทหารออกมา  แล้วเสด็จไปที่วัดพระเชตวัน  เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นโชติกะเศรษฐีกำลังนั่งฟังธรรมของพระศาสดาอยู่  จึงได้ตรัสว่า “คฤหบดี  ท่านให้คนของท่านออกมาสู้รบกับกองทหารของข้าพเจ้าแล้ว ก็รีบมาทำทีว่านั่งฟังธรรมอยู่แบบนี้หรือ”  พอได้ฟังเช่นนี้  โชติกเศรษฐีก็รู้ได้ในทันทีว่าพระเจ้าอชาตศัตรูยกกองกำลังไปเพื่อจะยึดปราสาทของตน แต่ต้องถอยร่นออกมาเพราะต้านทานกับฝ่ายยักษ์ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่ไหว

ในพระคัมภีร์กล่าวว่า  ในอดีตชาติ  โชติกเศรษฐีผู้นี้  ได้ทำบุญทำกุศลไว้มาก และได้เคยอธิษฐานจิตตั้งความปรารถนาไว้ว่า ขออย่าให้ใครสามารถมาแย่งชิงสมบัติใดๆของเขาไปได้   หากเขาไม่เต็มใจที่จะยกให้  ดังนั้น  โชติกเศรษฐีจึงกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรูว่า  “ข้าแต่สมมติเทพ  แม้พระราชาตั้งพัน  ก็ไม่สามารถเพื่อจะยึดเอาปราสาทของข้าพระองค์ได้  หากข้าพระองค์ไม่เต็มใจจะยกให้”  เมื่อกราบทูลเช่นนี้แล้ว  โชติกเศรษฐีก็ได้ยื่นนิ้วมือทั้ง 10 นิ้วที่มีแหวนสวมอยู่ 10 วงให้พระราชาทรงทดลองรูดออกมาจากนิ้วดู  พระราชาแม้จะทรงพยายามอย่างไรก็ไม่สามารถจะรูดแหวนออกมาจากนิ้วมือของเศรษฐีได้   คราวนี้โชติกเศรษฐีทดลองใหม่  โดยกราบทูลพระราชาให้ทรงปูผ้าไว้  แล้วเศรษฐีก็วางมือลงที่ผ้าผืนนั้นและแบมือออก ปรากฏว่า แหวนทุกวงก็ลื่นไหลออกมาจากนิ้วของเศรษฐีอย่างง่ายดาย  หลังจากที่ได้ถวายแหวนแด่พระเจ้าอชาตศัตรูแล้ว  โชติกเศรษฐีได้กราบทูลขอบวชจากพระศาสดา  เมื่ออุปสมบทเป็นภิกษุแล้วไม่นาน  ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

อยู่มาวันหนึ่ง  ภิกษุทั้งหลาย  เรียกพระโชติกเถระมาถามว่า “ท่านโชติกะ  ตัณหาในปราสาทหรือในหญิงนั้นของท่านยังมีอยู่หรือ”  เมื่อท่านบอกว่า  “ไม่มีแล้วท่าน”  จึงกราบทูลพระศาสดาว่า  “พระเจ้าข้า  พระโชติกะนี้  กล่าวไม่จริง  อวดอ้างว่าเป็นพระอรหันต์”
พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  บุตรของเรา  ไม่มีตัณหาในปราสาทหรือในหญิงนั้นแล้ว”  จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

โยธ  ตณฺหํ  ปหนฺตฺวาน
อนาคาโร  ปริพฺพเช
ตณฺหาภวปริกฺขีณํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

ผู้ใด ละตัณหาในโลกนี้ได้แล้ว
เป็นผู้ไม่มีเรือน  เว้นเสียได้
เราเรียกผู้นั้น  ซึ่งมีตัณหาและภพอันสิ้นแล้ว
ว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


  34.  เรื่องภิกษุผู้เคยเป็นนักฟ้อนรูปที่ 1
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน  ทรงปรารภภิกษุผู้เคยเป็นนักฟ้อนรูปที่ 1  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  หตฺวา  มานุสกํ  เป็นต้น

ในสมัยหนึ่ง  ดารานักแสดงคนหนึ่ง  ออกตระเวนไปเปิดแสดงร้องรำทำเพลงไปตามถนนหนทาง  แล้วได้มีโอกาสได้ไปฟังธรรมของพระศาสดา  หลังจากได้ฟังธรรมแล้วก็ได้เข้าอุปสมบทเป็นภิกษุ  และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  เมื่อพระอดีตดารานักแสดงนั้นออกไปบิณฑบาตกับภิกษุสงฆ์  มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข  ภิกษุทั้งหลายเห็นบุตรของดารานักแสดงคนหนึ่ง จึงได้ถามพระอดีตดารานักแสดงนั้นว่า  ยังมีความเยื่อใยในอาชีพการแสดงอยู่หรือไม่  เมื่อพระอดีตดารานักแสดงตอบว่า “ไม่มีแล้ว”  จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระศาสดาว่า  พระอดีตดารานี้อวดอ้างตนว่าเป็นพระอรหันต์ด้วยความไม่จริง  พระศาสดาได้ตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย   บุตรของเราก้าวล่วงกิเลสเครื่องประกอบทั้งปวงได้แล้ว”   จากนั้น   พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

หิตฺวา  มานุสกํ  โยคํ
ทิพฺพํ  โยคํ  อุปจฺจคา
สพฺพโยควิสํยุตฺตํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ  ฯ

ผู้ใด ละกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์
ล่วงกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของทิพย์ได้แล้ว
เราเรียกผู้นั้น  ซึ่งพรากกิเลสเครื่องประกอบทั้งปวงได้แล้ว
ว่า เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


ฐิตา:



35. เรื่องภิกษุผู้เคยเป็นนักฟ้อนรูปที่ 2
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภภิกษุผู้เคยเป็นนักฟ้อนรูปที่ 2  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  หิตฺวา  รติญฺจ  เป็นต้น

ในสมัยหนึ่ง  ดารานักแสดงคนหนึ่ง  ออกตระเวนไปเปิดแสดงร้องรำทำเพลงไปตามถนนหนทาง  แล้วได้มีโอกาสได้ไปฟังธรรมของพระศาสดา  หลังจากได้ฟังธรรมแล้วก็ได้เข้าอุปสมบทเป็นภิกษุ  และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  เมื่อพระอดีตดารานักแสดงนั้นออกไปบิณฑบาตกับภิกษุสงฆ์  มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข  ภิกษุทั้งหลายเห็นบุตรของดารานักแสดงคนหนึ่ง จึงได้ถามพระอดีตดารานักแสดงนั้นว่า  ยังมีความเยื่อใยในอาชีพการแสดงอยู่หรือไม่  เมื่อพระอดีตดารานักแสดงตอบว่า “ไม่มีแล้ว”  จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระศาสดาว่า  พระอดีตดารานี้อวดอ้างตนว่าเป็นพระอรหันต์ด้วยความไม่จริง  พระศาสดาได้ตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย   บุตรของเราละความยินดีและความไม่ยินดีได้แล้ว  ดำรงอยู่” จากนั้น   พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

หิตฺวา  รติญจ  อรติญฺจ
สีติภูตํ  นิรูปธึ
สพฺพโลกาภิภุ   วีรํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

เราเรียกบุคคลนั้น
ซึ่งละความยินดีและความไม่ยินดีได้แล้ว
ผู้เย็น  ไม่มีอุปธิ
ครอบงำโลกทั้งปวง  ผู้แกล้วกล้า 
ว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ขนเป็นอันขาด  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


                       

36.เรื่องพระวังคีสเถระ
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระวังคีสเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  จุตึ  โย  เวทิ
 เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง   พราหมณ์ในกรุงราชคฤห์คนหนึ่งชื่อวังคีสะ   แค่เคาะกะโหลกศีรษะของพวกมนุษย์ที่ตายแล้ว  ก็รู้ได้ในทันทีว่า  “นี้เป็นศีรษะของคนผู้เกิดในนรก  นี้เป็นศีรษะของคนผู้เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน  นี้เป็นศีรษะของผู้เกิดในเปรตวิสัย  นี้เป็นศีรษะของผู้เกิดในมนุษยโลก  นี้เป็นศีรษะของผู้เกิดในเทวโลก”  พวกพราหมณ์ทั้งหลายถือเอาเรื่องนี้เป็นจุดขาย  จึงได้นำวังคีสพราหมณ์ขึ้นเกวียนออกตระเวนไปตามที่ต่างๆ  และก็มีคนเป็นจำนวนมากมาขอรับบริการจากเขาให้เคาะศีรษะของพวกญาติๆที่ตายไปแล้ว  โดยทั้งนี้คนที่มารับบริการจะต้องจ่ายเงินเป็นค่าบริการคนละ 10  กหาปณะบ้าง  20 กหาปณะบ้าง  30 กหาปณะบ้าง

อยู่มาวันหนึ่ง   วังคีสพราหมณ์และคณะได้มาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง  ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระเชตวัน  เมื่อพวกพราหมณ์ในคณะเห็นประชาชนจะเดินทางไปเฝ้าพระศาสดา  จึงได้ร้องเชื้อเชิญให้พวกเขามาใช้บริการเคาะกะโหลกศีรษะของญาติเพื่อรู้ที่เกิดของพวกเขา    แต่ประชาชนเหล่านั้นตอบว่า “วังคีสะจะรู้อะไร  บุคคลผู้ทัดเทียมกับพระศาสดาของเราย่อมไม่มี”  พวกพราหมณ์เหล่านั้น  ต้องการจะพิสูจน์ว่าระหว่างวังคีสะกับพระศาสดาใครจะเก่งกว่ากัน  จึงได้พาวังคีสะร่วมเดินทางไปเฝ้าพระศาสดา  พระศาสดาเมื่อทรงทราบวัตถุประสงค์ของคนเหล่านั้นแล้ว  จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายนำกะโหลกศีรษะของคนตายที่ไปเกิดในนรก   คนตายที่ไปเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน  คนตายที่ไปเกิดในกำเนิดมนุษย์   คนตายที่ไปเกิดเป็นเทวดา   และคนตายที่เป็นพระอรหันต์   มาเรียงกันไว้ตามลำดับ  แล้วให้วังคีสะเคาะ

วังคีสะเคาะแล้วสามารถบอกที่กำเนิดของกะโหลกคนตายของ  4  คนแรกได้อย่างถูกต้อง  แต่พอมาเคาะกะโหลกของพระอรหันต์  วังคีสะบอกไม่ได้ว่าไปเกิดที่ใด  พระศาสดาตรัสถามว่า “ท่านไม่รู้หรือ”  เมื่อเขากราบทูลว่า  “พระเจ้าข้า  ข้าพระองค์ไม่รู้”  พระศาสดาตรัสว่า “ฉันรู้”  วังคีสะได้กราบทูลมนต์ที่จะทำให้ล่วงรู้กะโหลกศีรษะของพระอรหันต์นั้น  แต่พระศาสดาตรัสว่าพระองค์จะประทานมนต์นั้นเฉพาะแก่บุคคลที่เป็นภิกษุเท่านั้น   วังคีสะจึงได้บอกกับพราหมณ์ทั้งหลายในคณะให้ออกไปรออยู่นอกวัดในขณะที่เขาเรียนมนต์อยู่กับพระศาสดา  จากนั้น  พระศาสดาได้ทำพิธีอุปสมบทแก่วังคีสะ    และเมื่ออุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว  พระศาสดาทรงประทานพระกัมมัฏฐานที่มีอาการ 32 เป็นอารมณ์แก่พระวังคีสเถระ  แล้วตรัสว่า “เธอจงสาธยายบริกรรมมนต์”  เมื่อได้บริกรรมอาการ 32  นั้นผ่านไปเพียง  2-3 วัน วังคีสเถระก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  เมื่อพวกพราหมณ์ในคณะมาชวนให้ออกไปตระเวนเคาะกะโหลกคนตายอีก  พระวังคีสเถระก็ได้ตอบปฏิเสธไปว่า  “ฉันไม่ควรไปแล้ว”

ภิกษุทั้งหลาย  ได้ยินคำนั้นแล้ว  เข้าใจว่าพระวังคีสะอวดอ้างตน  ว่าเป็นพระอรหันต์ด้วยความไม่จริง  จึงนำความนั้นกราบบังคมทูลพระศาสดา   พระศาสดาตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  พวกเธออย่ากล่าวอย่างนั้น  ภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้  บุตรของเราฉลาดในการจุติและปฏิสนธิแล้ว”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  สองพระคาถานี้ว่า

จุตึ  โย  เวทิ  อตฺตานํ
อุปฺปตฺติญฺจ  สพฺพโส
อสตฺตํ  สุคตํ  พุทฺธํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ  ฯ

ยสฺส  คตึ  น  ชานนฺติ
เทวา  คนฺธพฺพมานุสา
ขีณาสวํ  อรหนฺตํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

ผู้ใด  รู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
โดยประการทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นซึ่งไม่ข้องไปดี  รู้แล้ว
ว่า  เป็นพราหมณ์.
 
เทพดา  คนธรรพ์  และหมู่มนุษย์
ย่อมไม่รู้คติของผู้ใด
เราเรียกผู้นั้น  ซึ่งมีอาสวะสิ้นแล้ว
ผู้ไกลจากกิเลส  ว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:



37.เรื่องพระธรรมทินนาเถรี
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน  ทรงปรารภภิกษุณีชื่อธรรมทินนา  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ยสฺส  ปุเร จ  เป็นต้น

ในวันหนึ่ง  ในกรุงราชคฤห์  วิสาขอุบาสกสามีของนางธรรมทินนา  ไปฟังธรรมของพระศาสดาแล้วได้บรรลุพระอนาคามิผล   เมื่อกลับมาบ้าน  ได้กล่าวกับภรรยาว่า   นางจงรับทรัพย์สมบัติทั้งปวงในบ้านนี้ไว้ดูแลเถิด ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเขาจะไม่บริหารจัดการเรื่องใดๆทั้งสิ้น  นางธรรมทินนาได้ยินสามีกล่าวเช่นนั้นจึงตอบไปว่า “ใครจักรับน้ำลายที่ท่านบ้วนทิ้ง” นางได้ขออนุญาตสามีบวชเป็นนางภิกษุณี   เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว  ก็ได้เข้าไปบวชอยู่ในสำนักของนางภิกษุณี   หลังจากที่นางบวชเป็นภิกษุณีได้ไม่นาน  นางก็ได้ติดตามพวกภิกษุณีทั้งหลายไปปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งหนึ่งในชนบท  ต่อมาไม่นานนางก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  แล้วเดินทางกลับมาที่กรุงราชคฤห์

เมื่อวิสาขอุบาสก ทราบว่าภิกษุณีธรรมทินนากลับมาแล้ว  ก็ได้ไปพบและได้สอบถามปัญหาทางธรรมด้วย  เมื่อวิสาขอุบาสกสอบถามในเรื่องที่อยู่ในขอบข่ายของโสดาปัตติมรรค  สกทาคามิมรรค  และอนาคามิมรรค  นางก็สามารถตอบได้อย่างฉะฉาน  แต่พอวิสาขอุบาสกสอบถามธรรมในส่วนที่เกินเลยไปจากนั้น  พระธรรมทินนาเถรีตอบว่า เป็นการถามปัญหาที่เลยวิสัยสามารถของเขาไปเสียแล้ว  และได้แนะนำให้ไปกราบทูลถามพระศาสดาโดยตรง  จากนั้นวิสาขอุบาสกได้ลุกจากที่สนทนา เข้าไปกราบทูลเรื่องที่สนทนากันนี้กับพระศาสดา  พระศาสดาตรัสว่า  “ธรรมทินนาธิดาของเรากล่าวดีแล้ว  ด้วยเราเมื่อจะแก้ปัญหานั่น  ก็พึงแก้อย่างนั้นเหมือนกัน”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ยสฺส  ปุเร  จ  ปจฺฉา  จ
มชฺเฌ  จ  นตฺถิ  กิญฺจนํ
อกิญฺจนํ  อนาทานํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

ความกังวลในก่อน  ในภายหลัง
และในท่ามกลาง  ของผู้ใด  ไม่มี
เราเรียกผู้นั้น  ซึ่งไม่มีความกังวล
ไม่มีความยึดมั่นว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.



38.เรื่องพระอังคุลิมาลเถระ
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระอังคุลิมาลเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อุสภํ   เป็นต้น

ในสมัยหนึ่ง  พระเจ้าปเสนทิโกศล  และพระนางมัลลกาเทวี ได้ทรงถวาย  อสทิสทาน (ทานที่หาทานใดเสมอเหมือนมิได้)  แด่พระศาสดาและภิกษุทั้งหลาย 500  รูป  โดยในพีธีถวายทานในครั้งนี้  ภิกษุแต่ละรูปจะมีช้างยืนถือเศวตฉัตรกั้นอยู่เหนือศีรษะ  แต่ช้างที่นำมาเข้าพิธีที่ผ่านการฝึกมาอย่างดีแล้วมีทั้งสิ้นจำนวน 499 ตัว  จึงจำเป็นต้องนำช้างตัวที่ 500 ซึ่งเป็นช้างที่ยังมิได้รับการฝึกมากั้นฉัตรถวายพระอังคุลิมาลเถระ  หลังจากเสร็จพิธีนั้นแล้ว  ภิกษุทั้งหลาย  ถามพระอังคุลิมาลเถระว่า  “ผู้มีอายุ  ท่านเห็นช้างดุร้าย  ยืนกั้นฉัตรอยู่นั้น  ไม่กลัวหรือหนอ”  เมื่อพระอังคุลิมารเถระตอบว่า  “ไม่กลัวหรอก ท่าน”  ก็ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระศาสดา  โดยกล่าวหาว่า  พระเถระนั้นอวดอ้างตนว่าบรรลุเป็นพระอรหันต์   พระศาสดาตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  อังคุลิมาลบุตรของเรา  ย่อมไม่กลัว  เพราะว่า  ภิกษุทั้งหลายเช่นกับบุตรของเรา   ผู้องอาจที่สุดในระหว่างพระขีณาสพผู้องอาจทั้งหลาย  ย่อมไม่กลัว”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อุสภํ  ปวรํ  วีรํ
มเหสึ  วิชิตาวินํ
อเนชํ  นหาตกํ  พุทฺธํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ  ฯ

เราเรียกบุคคลผู้องอาจ  ประเสริฐ
แกล้วกล้า  แสวงหาคุณอันใหญ่
ผู้ชนะโดยวิเศษ   ไม่หวั่นไหว  ผู้ล้างแล้ว  ผู้รู้
นั้นว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version