อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 26 : พราหมณวรรค

<< < (3/5) > >>

ฐิตา:



-http://hoahaotanchau.forumotion.com/t11-topic
19. เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  โย  ทุกฺขสฺส  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  ทาสของพราหมณ์คนหนึ่ง  ได้หนีออกจากบ้านพราหมณ์ไปบวช  และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์   อยู่มาวันหนึ่ง  ขณะที่พระอดีตทาสรูปนี้กำลังออกเดินบิณฑบาตอยู่นั้น  พราหมณ์นั้นได้มาพบเข้า จึงเข้าไปยึดจีวรเอาไว้  เมื่อพระศาสดา เสด็จกลับมาตรัสถาม   ก็ได้กราบทูลว่า  พระภิกษุรูปนี้เป็นอดีตทาสของเขามาก่อน   เมื่อพระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุนี้ปลงภาระ(คือขันธ์ 5) ได้แล้ว”  พราหมณ์ตีความว่า ว่าพระภิกษุอดีตทาสรูปนี้ได้เป็นพระอรหันต์แล้ว  ดังนั้น  เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าตนเข้าใจถูกต้องจึงกราบทูลถามว่า เป็นความจริงหรือไม่ที่พระภิกษุหนุ่มรูปนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว   พระศาสดาตรัสว่า “ถูกแล้ว  พราหมณ์  พระภิกษุรูปนี้  เป็นผู้มีภาระอันปลงแล้ว”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

โย  ทุกฺขสฺส  ปชานาติ
อิฌธว  ขยมตฺตโน
ปนฺนภารํ   วิสํยุตฺตํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

ผู้ใด  ในศาสนานี้แล
รู้ชัดความสิ้นไปแห่งทุกข์ของตน
เราเรียกผู้นั้น  ซึ่งมีภาระอันปลงแล้ว
ผู้พรากได้แล้วว่า   เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  พราหมณ์นั้นบรรลุโสดาปัตติผล  พระธรรมเทศนา  มีประโยชน์  แม้แก่ชนผู้มาประชุมกัน.


                       

20. เรื่องพระเขมาภิกษุณี
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ  ทรงปรารภพระเขมาภิกษุณี  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  คมฺภีรปญฺญํ เป็นต้น

ในวันหนึ่ง  ท้าวสักกเทวราช  เสด็จมากับเทพบริวาร  ในระหว่างปฐมยาม  ประทับนั่งสดับธรรมกถาอยู่กับพระศาสดา  ในขณะนั้น  พระเขมาภิกษุณี  มาด้วยมีวัตถุประสงค์จะเฝ้าพระศาสดา  เห็นท้าวสักกะ  จึงหยุดยืนอยู่ในอากาศ  ถวายบังคมพระศาสดาแล้วก็เหาะกลับไป  ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นพระเขมานั้นแล้ว  กราบทูลถามว่า “พระเจ้าข้า  ภิกษุณีนั่นชื่ออะไร? มายืนอยู่ในอากาศ  ถวายบังคมแล้วก็กลับไป”  พระศาสดาตรัสว่า “มหาบพิตร  ภิกษุนั่น  เป็นธิดาของอาตมภาพ  เป็นผู้มีปัญญามาก  ฉลาดในทางและมิใช่ทาง”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

คมฺภีรปญฺญํ  เมธาวึ
มคฺคามคฺคสฺส  โกวิทํ
อุตฺตมตฺถํ  อนุปฺปตฺตํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

เราเรียกผู้มีปัญญาลึกซึ้ง  เป็นปราชญ์
ฉลาดในทางและมิใช่ทาง
บรรลุประโยชน์สูงสุด
นั้นว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:



21. เรื่องพระติสสเถระผู้อยู่ในเงื้อมเขา
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระติสสเถระผู้อยู่ในเงื้อมเขา  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อสํสฏฺฐํ เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  พระติสสเถระ  เรียนพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้ว  เข้าป่าไปพบสถานที่แห่งหนึ่งเป็นที่สัปปายะอยู่ที่เงื้อมเขา  ท่านได้ลองนั่งทดสอบดู  ก็เห็นว่าจิตสงบดี  ซึ่งจะทำให้บรรลุถึงที่สุดแห่งกิจของบรรพชิตคือเข้าถึงพระนิพพานได้  ท่านจึงตัดสินใจจะจำพรรษาอยู่ในถ้ำแห่งนั้น  เทพยดาซึ่งสิงสถิตอยู่ในถ้ำแห่งนั้นคิดว่าพระภิกษุรูปนี้คงจะพำนักอยู่แค่คืนเดียวก็จะจากไป  ก็ได้พาพวกลูกๆของตนออกไปจากถ้ำนั้น  แต่ในวันรุ่งขึ้นพระภิกษุนี้ได้เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน  ได้รับอาราธนาจากหญิงผู้หนึ่งให้เข้าจำพรรษาอยู่ในถ้ำนั้นเป็นเวลา 3 เดือน   พระภิกษุนั้นจึงได้สนองศรัทธา  เทวดาที่สิงสถิตอยู่ในถ้ำเกิดความเดือดร้อน  เพราะจะอยู่ในถ้ำกับพระภิกษุผู้มีศีลบริสุทธ์ก็อยู่ไม่ได้  จะไปบอกท่านให้ออกไปจากถ้ำก็ยิ่งไม่กล้า  จึงได้วางแผนจะจับผิดพระภิกษุนั้นเพื่อหาเหตุให้ท่านออกไปจากถ้ำนั้นให้ได้

เทวดาอยู่ในถ้ำตนนั้น จึงได้ไปเข้าสิงที่ร่างของบุตรของหญิงที่นิมนต์พระภิกษุไปรับอาหารบิณฑบาตเป็นประจำทุกวันนั้น  เมื่อถูกเทวดาเข้าสิงเด็กชายคนนั้นก็เกิดอาการคอบิด น้ำลายฟูมปาก  ข้างมารดาของเด็กเห็นเช่นนั้นก็ตกใจ กอดบุตรร้องไห้  ร่างของเด็กที่ถูกเทวดาเข้าสิงได้กล่าวว่า   “เราเข้าสิงที่ร่างของบุตรท่าน  เราไม่ต้องการเครื่องเซ่นสังเวยใดๆ  แต่อยากจะให้ท่านไปขอสมุนไพร “ชะเอมเครือ”จากพระเถระที่เข้ามาบิณฑบาตที่บ้านท่านเป็นประจำมาทอดน้ำมัน  แล้วนำมาให้เด็กคนนี้หยอดเข้าไปทางจมูก”  แต่หญิงนั้นไม่กล้าไปขอสิ่งนั้นจากพระภิกษุเพราะจะทำให้ท่านมีศีลด่างพร้อยในข้อที่ปรุงยารักษาโรค  จึงได้ต่อรองกับเทวดา  จนตกลงกันว่า ให้นางไปขอน้ำล้างเท้าของพระภิกษุนั้น  เมื่อได้มาแล้วก็ให้นำมารดลงที่ศีรษะของเด็กนี้

ในวันรุ่งขึ้น  เมื่อพระภิกษุรูปนี้เข้ามาบิณฑบาตที่บ้าน  นางก็ได้ถวายอาหารบิณฑบาตตามปกติ  แต่ที่พิเศษก็คือขอให้พระเอาน้ำล้างเท้าและขอน้ำนั้นไว้  และนางได้นำน้ำนั้นรดลงที่ศีรษะของบุตร  เด็กนั้นก็มีสภาพกลับคืนสู่ปกติ  ส่วนเทวดาก็ได้กลับไปที่ถ้ำเพื่อรอการกลับคืนสู่ถ้าของภิกษุนั้น  เมื่อภิกษุนั้นกลับมาแล้ว  เทวดานั้นก็ได้แสดงตัวออกมาให้ภิกษุนั้นเห็น  กล่าวว่า “ท่านผู้เป็นหมอใหญ่  ท่านอย่าได้เข้ามาในถ้ำนี้”  พระภิกษุนั้นรู้ตัวว่าตั้งแต่บวชพระมาไม่เคยประกอบยารักษาโรคให้แก่ผู้ใด จึงได้ตอบไปว่า ท่านไม่เคยทำยารักษาโรคให้ใครมาก่อนเลย  เทวดาจึงบอกว่าเมื่อเช้านี้พระภิกษุนี้ได้ทำการรักษาเด็กที่ถูกอมนุษย์เข้าสิงที่บ้านที่ท่านเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตเป็นประจำนั่นไง  พระเถระตอบว่าไม่ได้ประกอบยารักษาเด็กดังที่เทวดากล่าวหา  เทวดาบอกว่าที่เอาน้ำล้างเท้าไปรดให้เด็กก็ถือว่าเป็นการรักษาโรคได้เหมือนกัน  แต่พระภิกษุนั้นตอบว่าไม่เป็น  และท่านก็มีความภาคภูมิใจว่าท่านยังมีศีลบริสุทธิ์ เกิดความปีติอย่างเหลือล้น  เมื่อข่มปีติได้แล้ว  ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในขณะยืนอยู่ที่ปากถ้ำนั่นเอง

เมื่อท่านรู้ตัวว่าท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว  ก็ได้บอกให้เทวดาออกจากถ้ำนั้นไป  ในขณะที่ท่านก็จำพรรษาอยู่ที่นั่นต่อไปจนครบไตรมาส  เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ได้เดินทางกลับไปเฝ้าพระศาสดา  เมื่อถูกภิกษุทั้งหลายถามว่า  บรรลุถึงกิจสูงสุดของการเป็นบรรพชิตแล้วหรือยัง ? ท่านก็ได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ภิกษุเหล่านี้ฟัง  เมื่อภิกษุทั้งหลายถามว่า “  ท่านถูกเทวดาว่ากล่าวอย่างนั้น  ไม่โกรธหรือ?”  ท่านตอบว่า “ไม่โกรธ”  พวกภิกษุทั้งหลายจึงตีความคำพูดของท่านว่าเป็นการอวดอ้างตนว่าบรรลุเป็นพระอรหันต์  จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระศาสดา  พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  บุตรของเราย่อมไม่โกรธเลย  เพราะขึ้นชื่อว่าความเกี่ยวข้องด้วยคฤหัสถ์หรือด้วยบรรพชิตทั้งหลาย  ย่อมไม่มีแก่บุตรของเรานั่น  บุตรของเรานั่น  ไม่เกี่ยวข้อง  ปรารถนาน้อย  สันโดษ”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อสํสฏฺฐํ  คหฏฺเฐหิ
อนาคาเหิ  จูภยํ
อโนกสารึ  อปฺปิจฺฉํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

เราเรียกบุคคล  ผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยชน 2  จำพวก
คือ คฤหัสถ์  1  บรรพชิต 1
ผู้ไม่มีความอาลัยเที่ยวไป
ผู้ปรารถนาน้อยนั้นว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศฯจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


                         

22. เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  นิธาย เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง   ภิกษุรูปหนึ่ง  เรียนพระกัมมัฏฐานจากพระศาสดาแล้ว  ได้เดินทางเข้าไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง  หลังจากที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว  ก็ได้กลับมาเฝ้าพระศาสดา  เพื่อจะกราบบังคมทูลถึงคุณธรรมที่ตนได้บรรลุถึงแล้ว  ในระหว่างทาง  ได้เดินทางผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ขณะที่กำลังจะผ่านพ้นหมู่บ้านนั้นไป  ก็มีหญิงคนหนึ่งทะเลาะกับสามีหนีออกจากบ้านจะกลับไปที่บ้านของบิดามารดา  นางจึงเดินตามหลังพระรูปนี้มา  ข้างสามีก็ได้เดินตามหาภรรยาเห็นนางเดินตามหลังพระภิกษุนี้อยู่  ก็ตะโกนให้พระภิกษุหยุดแล้วข่มขู่คุกคามจะเอาชีวิตพระภิกษุให้ได้

เพราะเข้าใจว่าภิกษุนี้นัดแนะให้ภรรยาตนหนีตามกันมา  พระภิกษุนี้ถูกชายผู้สามีของหญิงนั้นทุบตีจนร่างกายฟกช้ำดำเขียวทั่วตัว  ข้างภรรยาก็ได้เข้าห้ามไม่ให้ทุบตี  โดยนางบอกว่ามาเองโดยที่พระภิกษุมิได้นัดหมายแต่อย่างใด  แต่คำอธิบายนั้นก็ยิ่งกระพือไฟแห่งความโกรธให้แก่สามีมากยิ่งขึ้น  เมื่อได้ทุบตีภิกษุนั้นจนหนำใจแล้ว  ผู้สามีก็ได้พาภรรยากลับบ้าน  ส่วนพระภิกษุก็เดินทางต่อไป

เมื่อเดินทางไปถึงวัดพระเชตวันแล้ว  ภิกษุทั้งหลายมาช่วยกันนวดเฟ้นร่างกายให้ท่าน  และเห็นร่างกายฟกช้ำ  จึงถามท่านว่าไปถูกใครทุบตีมา  ท่านก็ได้เล่าให้ฟัง  พระเหล่านั้นจึงถามว่า  “เมื่อท่านถูกชายผู้นั้นทุบตี  ท่านได้พูดอะไรออกไปหรือไม่ ? หรือว่าท่านเกิดความโกรธหรือไม่ ?”   เมื่อท่านบอกว่า “ภิกษุทั้งหลาย  ความโกรธย่อมไม่เกิดขึ้นแก่เรา”

ภิกษุเหล่านั้นจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระศาสดา   พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  ธรรมดาพระขีณาสพทั้งหลาย  มีอาชญาอันวางแล้ว  พระขีณาสพเหล่านั้น  ย่อมไม่ทำความโกรธ  ในชนทั้งหลาย  แม้ผู้ประหารอยู่”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

นิธาย  ทณฺฑํ  ภูเตสุ
ตเสสุ  ถาวเรสุ  จ
โย  น  หนฺติ  น  ฆาเตติ
ตมหํ   พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ  ฯ

ผู้ใด วางอาชญาในสัตว์ทั้งหลาย
ผู้สะดุ้งและผู้มั่นคง
ไม่ฆ่าเอง  ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
เราเรียก  ผู้นั้น  ว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง    ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:


  23. เรื่องสามเณร
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภสามเณรทั้งหลาย  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อวิรุทฺธํ เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  นางพราหมณีคนหนึ่ง  ได้มอบหมายให้พราหมณ์ผู้สามีไปที่วัดพระเชตวัน  เพื่อทำการนิมนต์พระภิกษุ 4 รูปมารับอาหารบิณฑบาตที่บ้าน   นางบอกถึงคุณสมบัติว่าพระที่จะนิมนต์มานั้นต้องเป็น “พราหมณ์แก่ 4 คน”  เมื่อพราหมณ์ไปที่วัดและแจ้งความประสงค์ว่าต้องการพราหมณ์แก่ 4 คนไปรับอาหารบิณฑบาตที่บ้านตามที่นางพราหมณีต้องการ   แต่เวลาจัดให้จริงๆ  กลับเป็นว่าผู้ที่ถูกส่งไปที่บ้านของพราหมณ์และนางพราหมณีเป็นสามเณรน้อยอายุ   7 ขวบจำนวน  4  รูป  คือ 1.สังกิจจสามเณร  2.บัณฑิตสามเณร  3.โสปากสามเณร  และ 4.เรวตสามเณร  ซึ่งสามเณรน้อยทั้ง 4 รูปนี้ล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์

เมื่อนางพราหมณีผู้ภรรยาเห็นเป็นสามเณรแทนที่จะเป็นพราหมณแก่  นางก็รู้สึกผิดหวังได้ต่อว่าต่อขานพราหมณ์ผู้สามีว่าไปนิมนต์สามเณรที่มีอายุอ่อนกว่าเด็กคราวหลานมาได้อย่างไร  นางจึงบอกสามีให้กลับไปที่วัดใหม่เพื่อนิมนต์พราหมณ์มาแทนสามเณรน้อย 4 รูปนี้  ในขณะเดียวกันนั้น  นางก็ปฏิเสธที่จะให้สามเณรนั่งบนอาสนะสูงๆที่นางจัดไว้สำหรับพราหมณ์ชรา  ได้ให้สามเณรทั้ง 4 รูปนั่งบนอาสนะที่ต่ำๆและก็ไม่ยอมถวายอาหารบิณฑบาตแก่สามเณรเหล่านี้ด้วย

เมื่อพราหมณ์นั้นกลับไปที่วัด  ก็ได้พบกับพระสารีบุตรเถระและได้นิมนต์พระเถระไปที่บ้าน  เมื่อพระเถระเดินทางไปถึงที่บ้านแล้ว  ก็ได้เห็นสามเณรขีณาสพทั้ง 4  รูป ท่านจึงได้ถามสามเณรขีณาสพเหล่านั้นว่า ได้ฉันอาหารบิณฑบาตแล้วหรือยัง  เมื่อได้ทราบว่าสามเณรขีณาสพยังไม่ได้ฉันอาหารบิณฑบาตและอาหารบิณฑบาตเหล่านั้นตระเตรียมไว้สำหรับเพียงพอบุคคล 4 คนเท่านั้น  พระเถระก็ได้กลับวัดโดยที่ไม่รับอาหารบิณฑบาตจากบ้านของพราหมณ์  นางพราหมณ์จึงได้ส่งพราหมณ์ผู้สามีกลับไปที่วัดเพื่อนิมนต์พราหมณ์ชราคนอื่นมา  คราวนี้ไปได้พระมหาโมคคัลลานเถระมา  พระมหาโมคคัลลานเถระเมื่อมาถึงแล้วก็กลับวัดไปอีกรูปหนึ่งเมื่อรู้ว่าสามเณรทั้ง 4  รูปยังไม่ได้ฉันภัตตาหาร  และอาหารตระเตรียมไว้สำหรับคน 4 คนเท่านั้น

พอถึงช่วงนี้  สามเณรทั้ง 4 รูป ยังไม่มีอะไรตกถึงท้องตั้งแต่เช้า  ก็มีความรู้สึกหิวขึ้นมามาก  และในขณะนั้น  ทิพอาสน์ของท้าวสักกะเทวราชแสดงอาการร้อน  ท้าวเธอได้สอดส่องทิพยเนตรมาดู  ได้ทรงทราบว่าสามเณรทั้ง 4 รูปกำลังหิวโหยอาหาร  จึงทรงแปลงร่างเป็นพราหมณ์ชรามาที่บ้านของพราหมณ์และนางพราหมณีนั้น   พราหมณ์และนางพราหมณีก็ได้เข้าไปไหว้พราหมณ์ชรานั้นและได้เชิญให้ขึ้นนั่งบนอาสนะที่สูงๆ  แต่ท้าวสักกะแปลงร่างนั้นกลับนั่งลงที่พื้นบ้านและได้ก้มลงทำความเคารพสามเณรทั้ง 4 รูป  จากนั้นท้าวเธอก็ยังได้ทรงเปิดเผยพระองค์ว่าเป็นท้าวสักกะแปลงร่างมา เมื่อเห็นท้าวสักกะทำความเคารพสามเณรทั้ง 4 รูป  พราหมณ์และนางพราหมณีก็จึงยอมนำอาหารไปถวายสามเณรทั้ง 4 รูป  หลังจากเสร็จภัตตกิจแล้ว  ท้าวสักกะและสามเณรทั้ง 4 รูปได้แสดงอิทธิฤทธิ์  เหาะทะลุผ่านทางหลังคาสู่อากาศ  โดยท้าวสักกะเหาะขึ้นสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ส่วนสามเณรทั้ง 4 รูปก็เหาะกลับวัดพระเชตวัน

เมื่อภิกษุทั้งหลายสอบถามสามเณรทั้ง 4 รูปว่ามีความโกรธหรือไม่เมื่อตอนที่พราหมณ์และนางพราหมณียังไม่ยอมถวายอาหารบิณฑบาต  สามเณรทั้ง 4 รูปตอบว่าไม่โกรธ  ภิกษุเหล่านั้นไม่เชื่อ  และได้นำเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลพระศาสดาว่า  สามเณรทั้ง 4 รูปโกหกและอวดอ้างตนว่าเป็นอรหันต์
พระศาสดา  ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  ธรรมดาพระขีณาสพทั้งหลาย  ย่อมไม่เคียดแค้น  ในชนทั้งหลาย  แม้ผู้เคียดแค้นแล้วเลย”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อวิรุทฺธํ  วิรุทฺเธสุ
อตฺตทณฺเฑสุ  นิพฺพุตํ
สาทาเนสุ  อนาทานํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

เราย่อมเรียก บุคคลผู้ไม่เคียดแค้น
ในบุคคลผู้เคียดแค้น
ผู้ดับเสียได้ในบุคคลผู้มีอาชญาในตน
ผู้ไม่ถือมั่นในบุคคลผู้ถือมั่น  นั้น
ว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


                       

24. เรื่องพระมหาปันถกเถระ
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน  ทรงปรารภพระมหาปันถก  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ยสฺส  ราโค  จ  เป็นต้น

พระมหาปันถกเถระ  เป็นพระอรหันต์แล้ว   ในตอนที่น้องชายของท่านที่ชื่อว่าจูฬปันถกเข้ามาบวช  พระจูฬปันถกเป็นคนมีปัญญาทึบเพราะในอดีตชาติเคยล้อเลียนพระที่เล่าเรียนไม่เก่งรูปหนึ่ง  พระจูฬปันถกไม่สามารถจดจำพระคาถาที่พระมหาปันถกพี่ชายมอบให้ไปท่องแม้จะใช้เวลาท่องอยู่ถึง 4 เดือนก็ตาม  พระมหาปันถกรู้สึกผิดหวังกับพระน้องชายเป็นอย่างมากจึงขับไล่ออกไปจากวัดเพราะเป็นคนไม่มีคุณค่าที่จะบวชอยู่ต่อไป  “เธอเป็นผู้อาภัพแม้ในพระศาสนา  ทั้งเป็นผู้เสื่อมแล้วจากโภคะของคฤหัสถ์  ประโยชน์อะไรของเธอด้วยการอยู่ในวัดนี้  เธอจงออกไปเสียจากวัดนี้” พระมหาปันถกกล่าว  แล้วปิดประตู

ภิกษุทั้งหลาย  สนทนากันว่า “ท่านทั้งหลาย  พระมหาปันถกเถระทำแบบนี้  ชะรอยความโกรธจะยังคงเกิดขึ้นกับพระขีณาสพทั้งหลายได้เป็นแน่”
พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามถึงหัวข้อสนทนานั้น  แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น  ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพทั้งหลาย  แต่บุตรของเราทำเช่นนั้น  เพราะความที่ตนเป็นผู้มุ่งประโยชน์เป็นเป้าหมายสำคัญ  และเพราะเป็นผู้มุ่งธรรมเป็นเป้าหมายสำคัญ”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ยสฺส  ราโค จ  โทโส  จ
มาโน  มกฺโข  จ  ปาติโต
สาสโปริว  อารคฺคา
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ  ฯ

ราคะ  โทสะ  มานะ  และมักขะ
อันผู้ใดให้ตกไปแล้ว
เหมือนเมล็ดพันธ์ผักกาด
ตกไปจากปลายเหล็กแหลม ฉะนั้น
เราเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย    มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:



25. เรื่องพระปิลินทวัจฉเถระ
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน  ทรงปรารภพระปิลินทวัจฉเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อกกฺกสํ เป็นต้น

พระปิลินทวัจฉเถระ  ติดนิสัยพูดคำไม่สุภาพกับคนอื่น เช่น พูดว่า  “มานี่  คนถ่อย  ไปนั่น  คนถ่อย”  เป็นต้น จะใช้คำว่า “คนถ่อย”นี้ทั้งกับคฤหัสถ์แลละบรรพชิต   ภิกษุทั้งหลายได้นำความนี้ขึ้นกราบบังคมพระศาสดาว่า  “พระเจ้าข้า  ท่านปิลินทวัจฉะ  ย่อมเรียกภิกษุด้วยถ้อยคำไม่สุภาพว่า  คนถ่อย”  พระศาสดารับสั่งให้พระเถระนั้นมาเฝ้า  แล้วตรัสถามถึงเรื่องนี้  เมื่อพระเถระยอมรับว่าได้พูดอย่างนั้นจริง

พระศาสดาทรงใช้อตีตังสญาณย้อนรำลึกถึงอดีตชาติของพระเถระ  ทรงทราบว่าเมื่อ 500 ที่ผ่านมา  พระเถระเคยเกิดในวรรณะพราหมณ์มาตลอด  ซึ่งพวกพราหมณ์ถือว่าพวกตนมีฐานะสูงส่งกว่าพวกคนวรรณะอื่น  คำว่า “คนถ่อย“ นี้พระเถระเคยพูดมาจนติดเป็นนิสัย   ดังนั้นพระศาสดาจึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า พระเถระไม่ได้จงใจที่จะพูดกระทบกระทั่งคนอื่น  เพราะปกติแล้วพระขีณาสพจะไม่พูดคำระคายหู  หรือคำหยาบใดๆ
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อกกฺกสํ  วิญฺญาปนึ
คิรึ  สจฺจํ  อุทีรเย
ยาย  นาภิสเช  กญฺจิ
ตมหํ  พฺรูหิ  พฺราหฺมณํ ฯ

ผู้ใด  พึงกล่าวถ้อยคำอันไม่ระคายหู
อันให้รู้กันได้เป็นคำจริง
อันเป็นเหตุไม่ยังใครๆให้ขัดใจ
เราเรียกผู้นั้นว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


                       

26. เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  โยธ  ทีฆํ  เป็นต้น

วันหนึ่ง   พราหมณ์คนหนึ่งในกรุงสาวัตถี  เปลื้องผ้าห่ม  วางผึ่งลมไว้นอกบ้าน  พระอรหันต์ขีณาสพรูปหนึ่ง  กำลังจะเดินกลับวัด   เห็นผ้านั้น  มองไปมองมาไม่เห็นใคร  ก็เลยคิดว่าเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ  จึงได้อธิษฐานผ้าเป็นบังสุกุล  ถือเอาไป  พราหมณ์มองลงมาทางหน้าต่างเห็นพระเถระหยิบเอาผ้าของคนไปก็ได้วิ่งไล่ตาม   ด่าพลางเข้าไปหา กล่าวว่า “ สมณะโล้น  ท่านเอาผ้าของข้าพเจ้าไปทำไม” พระเถระ  กล่าวว่า   “ฉันไม่เห็นใคร จึงฉวยเอาผ้านี้มาด้วยสำคัญว่าเป็นผ้าบังสุกุล  ท่านจงรับผ้านี้คืนเถิด”ว่าแล้ก็คืนผ้าผืนนั้นให้แก่พราหมณ์ในทันที

เมื่อกลับไปถึงวัดแล้ว  พระเถระได้เล่าเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายฟัง  พระภิกษุเหล้านั้นได้ถามท่านในเชิงเยาะเย้ยว่า”ผ้าผืนนั้น  ยาวหรือสั้น  หยาบหรือละเอียด”  พระเถระกล่าวว่า  “ท่านทั้งหลาย  ผ้านั้นจะยาวหรือสั้น หยาบหรือละเอียดก็ช่างเถิด  ความอาลัยในผ้านั้นของผมไม่มี  ผมหยิบเอามาด้วยความสำคัญว่าผ้าบังสุกุลต่างหาก”

ภิกษุทั้งหลายฟังคำนั้นแล้ว  นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระศาสดาว่า “พระเจ้าข้า  ภิกษุนั่น  กล่าวคำไม่จริง  อวดอ้างว่าเป็นพระอรหันต์  พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุนั่น  กล่าวคำจริง  ธรรมดาพระขีณาสพทั้งหลาย   ย่อมไม่ถือเอา  สิ่งของๆคนเหล่าอื่น”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

โยธ  ทีฆํ  วา  รสฺสํ  วา
อณํ  ถูลํ  สุภาสุภํ
โลเก  อทินฺนํ  นาทิยติ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหมณํ ฯ

ผู้ใด  ไม่ถือเอาของยาวของสั้น
น้อยหรือใหญ่ งามหรือไม่งาม
อันเขาไมได้ให้แล้ว  ในโลกนี้
เราเรียกผู้นั้นว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:



27. เรื่องพระสารีบุตรเถระ
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระสารีบุตรเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อาสา  ยสฺส   เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  พระสารีบุตรเถระ พร้อมด้วยภิกษุบริวาร  500 รูป  ได้ไปเข้าจำพรรษาที่วัดแห่งหนึ่ง  ใกล้หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง   เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว   พระสารีบุตรเถระต้องการมอบจีวรแก่ภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลาย   ท่านจึงบอกกับภิกษุทั้งหลายว่า  หากมีคนมาถวายจีวร  ก็ให้ส่งจีวรเหล่านั้นไปให้ท่าน  หรือว่าแจ้งได้ท่านได้รู้   แล้วก็ออกจากวัดแห่งนั้นไปเข้าเฝ้าพระศาสดา  ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า  “ถึงทุกวันนี้ ตัณหาของพระสารีบุตรเถระ   ชะรอยจะยังมีอยู่  เพราะพระเถระสั่งไว้แบบนั้น”  พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามถึงหัวข้อสนทนานั้น  แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  ตัณหา  ย่อมไม่มีแก่บุตรของเรา  แต่เธอกล่าวอย่างนั้น ก็ด้วยคิดว่า พวกมนุษย์จะได้ทำบุญกัน  และพวกภิกษุหนุ่มและสามเณรจะได้มีจีวรใช้”  จากนั้น  พระศาสดาตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อาสา  ยสฺส  น  วิชฺชนฺติ
อสฺมึ  โลเก  ปรมฺหิ  จ
นิราสาสํ  วิสํยุตฺตํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ  ฯ

ความหวังของผู้ใด  ไม่มี
ในโลกนี้และโลกหน้า
เราเรียกผู้นั้นว่า  ซึ่งไม่มีความหวัง
พรากกิเลสได้แล้ว
ว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง    ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
 


28. เรื่องพระมหาโมคคัลลานเถระ
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระมหาโมคคัลลานเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ยสฺสาลยา    เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  พระโมคคัลลานเถระ พร้อมด้วยภิกษุบริวาร  500 รูป  ได้ไปเข้าจำพรรษาที่วัดแห่งหนึ่ง  ใกล้หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง   เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว   พระโมคคัลลาถเถระต้องการมอบจีวรแก่ภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลาย   ท่านจึงบอกกับภิกษุทั้งหลายว่า  หากมีคนมาถวายจีวร  ก็ให้ส่งจีวรเหล่านั้นไปให้ท่าน  หรือว่าแจ้งได้ท่านได้รู้   แล้วก็ออกจากวัดแห่งนั้นไปเข้าเฝ้าพระศาสดา  ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า  “ถึงทุกวันนี้ ตัณหาของพระโมคคัลานเถระ   ชะรอยจะยังมีอยู่  เพราะพระเถระสั่งไว้แบบนั้น”  พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามถึงหัวข้อสนทนานั้น  แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  ตัณหา  ย่อมไม่มีแก่บุตรของเรา  แต่เธอกล่าวอย่างนั้น ก็ด้วยคิดว่า พวกมนุษย์จะได้ทำบุญกัน  และพวกภิกษุหนุ่มและสามเณรจะได้มีจีวรใช้”  จากนั้น  พระศาสดาตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ยสฺสาลยา  น  วิชฺชนฺติ
อญฺญาย  อกถํกถี
อมโตคธํ  อนุปฺปตฺตํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

ความอาลัยของบุคคลใดไม่มี
บุคคลใดรู้ชัดแล้ว
เป็นผู้ไม่มีความสงสัยเป็นเหตุกล่าวว่าย่างไร
เราเรียกบุคคลนั้น
ผู้หยั่งลงอมตะ  ตามบรรลุแล้ว
ว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version