อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 26 : พราหมณวรรค

<< < (2/5) > >>

ฐิตา:



09.เรื่องพระสารีบุตรเถระ
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระสารีบุตรเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ยมฺหา  ธมฺมํ  วิชาเนยฺย  เป็นต้น

พระสารีบุตรเถระ   มีบิดามารดาเป็นพราหมณ์และนางพราหมณี  ที่หมู่บ้านอุปติสสะ  ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมีนามว่า อุปติสสะ  มีมารดาชื่อว่า นางสารี  มีเพื่อนที่ใกล้ชิดนามว่า โกลิตะ  ซึ่งป็นพราหมณ์หนุ่ม บุตรชายของนางโมคคัลลี  พราหมณ์หนุ่มทั้งสองคน  แสวงหาสัจธรรม ที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นจากวัฏฏสังสาร  และมีความต้องการจะบวชมาก  ในครั้งแรกทั้งสองคนได้ไปบวชอยู่กับท่านสญชัย  แต่ไม่พึงพอใจกับคำสอนของท่าน  จึงได้ออกตระเวนไปทั่วชมพูทวีปเพื่อแสวงหาครูอาจารย์ที่จะช่วยชี้หนทางสู่ความไม่ตาย  แต่ไม่สามารถหาครูอาจารย์เช่นนั้นได้  ดังนั้นทั้งสองคนจึงแยกกันแสดงหาสัจธรรมโดยได้ตกลงกันว่า  เมื่อสามารถค้นพ้นสัจธรรมก็ให้บอกแก่กันและกัน

ในช่วงเดียวกันนั้น  พระศาสดาได้เสด็จมายังกรุงราชคฤห์   พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย  รวมทั้งพระอัสสชิ  หนึ่งในพระปัญจวัคคีย์  ในขณะที่พระอัสสชิกำลังเดินบิณฑบาตอยู่นั้น  อุปติสสะเห็นพระเถระก็เกิดความประทับใจเป็นอย่างยิ่งในความสง่างามและสงบเสงี่ยมของพระเถระ  จึงได้เข้าไปหาแล้วเรียนถามว่าใครเป็นครูของท่าน  คำสอนของครูของท่านว่าอย่างไร  และได้ขอให้แสดงคำสอนนั้นโดยย่นย่อให้ฟังด้วย   พระอัสสชิเถระได้กล่าวกับอุปติสสะด้วยพระคาถาว่า  “เย ธมฺมา  เหตุปฺปภวา,  เตสํ  เหตํ   ตถาคโต  (อาห),  เตสญฺจ  โย  นิโรโธ  จ  เอวํวาที  มหาสมโณ” (ธรรมเหล่าใดเกิดขึ้นแต่เหตุ   พระศาสดาตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น  และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น  พระตถาคตมีปกติตรัสอย่างนี้)  เมื่ออุปติสสะได้ฟังก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล  จากนั้นอุปติสสะได้ทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับเพื่อนโกลิตะโดยไปแจ้งว่าว่าได้พบสัจธรรมแล้ว  และทั้งสองคนก็ได้เดินทางไปเฝ้าพระศาสดา ที่พระเวฬุวัน  พร้อมด้วยบริวารจำนวน 250  คน  และได้ขอบวชเป็นภิกษุ  อุปติสสะซึ่งเป็นบุตรของนางสารีจึงมีชื่อว่าสารีบุตร  ส่วนโกลิตซึ่งเป็นบุตรของนางโมคคัลลีจึงมีชื่อว่าโมคคัลลานะ  หลังจากอุปสมบทเป็นภิกษุแล้วไม่นาน พระบริวารทั้ง 250 รูปเมื่อได้ฟังธรรมจากพระศาสดาแล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์  แต่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์หลังอุปสมบทได้  7 วัน  และ 15 วันตามลำดับ

พระสารีบุตรนั้น  รำลึกอยู่เสมอว่าที่ท่านได้พบพระศาสดาและได้บรรลุเป็นพระโสดาบันนั้นก็เพราะพระอัสสชิ  ดังนั้น  ท่านจึงมีความกตัญญูรู้คุณของพระอัสสชิเป็นอย่างมาก  ในเวลาท่านจำวัดท่านก็จะหันศีรษะไปทางทิศที่พระอัสสชิอยู่  พวกภิกษุทั้งหลายคิดว่าท่านปฏิบัติผิด  จึงนำเรื่องนี้ขึ้นกราบทูลพระศาสดา ว่า “พระสารีบุตรเป็นมิจฉาทิฏฐิ  ถึงวันนี้ก็เที่ยวนอบน้อมทิศทั้งหลายอยู่ “  พระศาสดาตรัสว่า   “ภิกษุทั้งหลาย  สารีบุตร  ย่อมไม่นอบน้อมทิศทั้งหลาย  แต่เพราะความที่เธอฟังธรรมจากสำนักของพระอัสสชิเถระแล้วบรรลุโสดาปัตติผล  จึงนอบน้อมอาจารย์ของตน  เพราะว่า ภิกษุอาศัยอาจารย์ใด  ย่อมรู้ธรรม  ภิกษุนั้น  พึงนอบน้อมอาจารย์นั้นโดยเคารพ  เหมือนพราหมณ์นอบน้อมไฟอยู่ฉะนั้น”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ยมฺหา  ธมฺมํ  วิชาเนยฺย
สมฺมาสมฺพุทฺธเทสิตํ
สกฺกจฺจํ  ตํ  นมสฺเสยฺย
อคฺคิหฺตํว  พฺราหฺมโณ  ฯ

บุคคลพึงรู้แจ้งธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงแสดงแล้ว   จากอาจารย์ใด
พึงนอบน้อมอาจารย์นั้นโดยเคารพ
เหมือนพราหมณ์นอบน้อมการบูชาเพลิงอยู่ ฉะนั้น.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


                         

10.เรื่องชฎิลพราหมณ์
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพราหมณ์ผู้มีความเลื่อมใสมาก  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ชฏาหิ  เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง  ชฏิลพราหมณ์  คิดว่า  “เราเกิดดีแล้วทั้งฝ่ายมารดาทั้งฝ่ายบิดา  เกิดในตระกูลพราหมณ์  ถ้าสมณโคดมตรัสเรียกพระสาวกทั้งหลายของพระองค์ว่า  พราหมณ์  การที่พระองค์ตรัสเรียกเราอย่างนั้นบ้าง  ก็เป็นการสมควร”  จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา  ทูลถามความข้อนี้

พระศาสดาตรัสกับพราหมณ์นั้นว่า  “พราหมณ์  เราไม่เรียกว่า พราหมณ์  ด้วยเหตุเพียงสวมใส่ชฎา  ไม่เรียกด้วยเหตุเพียงชาติและโคตร  แต่เราเรียกผู้มีสัจจะอันแทงตลอดแล้วเท่านั้นว่า   เป็นพราหมณ์”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

น  ชฏาหิ  โคตฺเตน
น  ชจฺจา  โหติ  พฺราหฺมโณ
ยมฺหิ  สจฺจญฺจ  ธมฺโม  จ
โส  สุจิ  โส  จ  พฺราหฺมโณ ฯ

บุคคลย่อมเป็นพราหมณ์  ด้วยชฎา
ด้วยโคตร  ด้วยชาติ  หามิได้
สัจจะ  และธรรมมีอยู่ในผู้ใด
ผู้นั้น  เป็นผู้สะอาด
และผู้นั้นเป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:



11.เรื่องกุหกพราหมณ์
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา  ทรงปรารภกุหกพราหมณ์  ผู้มีวัตรดังค้างคาว ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  กินฺเต  เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง  พราหมณ์หลอกลวงคนหนึ่ง  ปีนขึ้นต้นไม้ต้นหนึ่ง   ที่อยู่ใกล้ประตูเมืองไพศาลี   แล้วเอาเท้าสองข้างเกี่ยวกิ่งไม้แล้วห้อยศีรษะลงมา  ปากก็พร่ำบอกคนที่ผ่านไปผ่านมาว่า “ ท่านทั้งหลายจงให้โคแดง 100 ตัวแก่เรา  จงให้กหาปณะแก่เรา  จงให้หญิงบำเรอแก่เรา  ถ้าทั้งหลายไม่นำมาให้  เราตกจากต้นกุ่มนี้ตาย  บ้านเมืองนี้ก็จะวายวอด ” พวกชาวเมืองกลัวว่าเขาจะตกมาตาย  ก็พากันนำสิ่งของทั้งปวงที่เขาร้องขอนั้นไปให้  ภิกษุทั้งหลายเห็นพฤติกรรมของพราหมณ์ผู้นี้แล้ว  ก็ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระศาสดา  พระศาสดาตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลาย  พราหมณ์นั้น  เป็นโจรหลอกลวงในกาลนี้เท่านั้นหามิได้  ถึงในกาลก่อน  ก็เป็นโจรหลอกลวงแล้วเหมือนกัน  ก็บัดนี้  พราหมณ์นั้นย่อมหลอกลวงพาลชนได้  แต่ในกาลนั้น  ไม่อาจหลอกลวงบัณฑิตทั้งหลายได้ ”  และได้ทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่า  ซึ่งมีเนื้อความกล่าวถึงฤาษีติดใจในรสของเนื้อเหี้ยที่มีคนนำมาถวาย  จึงได้ลืมภาวะความเป็นฤาษีจะฆ่าเหี้ยเพื่อจะนำมาปรุงเป็นอาหารรับประทาน  แต่เหี้ยพระโพธิสัตว์รู้ทัน  จึงไม่สามารถฆ่าได้สำเร็จ   จากนั้นพระศาสดา  ได้ตรัสประมวลชาดกว่า  ฤาษีเมื่อครั้งอดีตคือพราหมณ์หลอกลวงในบัดนี้  ส่วนเหี้ยในอดีตนั้นก็คือพระองค์เอง
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

กินฺต  ชฏาหิ  ทุมฺเมธ
กินเต  อชินสาฏิยา
อพฺภนฺตรนฺเต  คหนํ
พาหิรํ  ปริมชฺชสิ  ฯ

ผู้มีปัญญาทราม
ประโยชน์อะไรด้วยชฎาทั้งหลายของเธอ
ประโยชน์อะไรด้วยผ้าที่ทำด้วยหนังเนื้อชื่ออชินะของเธอ
ภายในของเธอรกรุงรัง
เธอย่อมเกลี้ยงเกลาแต่ภายนอก.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.


                     

12.เรื่องนางกิสาโคตมี
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ  ทรงปรารภนางกิสาโคตมี  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  ปํสุกูลธรํ  เป็นต้น

มีอยู่คราวหนึ่ง   ท้าวสักเทวราช  จอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ได้เสด็จมาเฝ้าพระศาสดา  พร้อมด้วยเทพบริวาร  ในช่วงปลายปฐมยาม  ถวายบังคมแล้ว ประทับนั่งสนทนาธรรมอยู่กับพระศาสดา  ในขณะเดียวกันนั้นนางกิสาโคตรมี  มีความประสงค์จะมาเฝ้าพระศาสดา  จึงได้เหาะมาทางอากาศ   เมื่อมาเห็นท้าวสักการะกำลังเฝ้าพระศาสดาอยู่  ก็จึงได้รีบถวายบังคมแล้วเหาะกลับ

ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นนางท่าทางรีบกลับเช่นนั้น  ก็ได้กราบทูลถามพระศาสดาว่า  ภิกษุณีรูปนั้นชื่อว่าอะไร  พระศาสดาตรัสตอบว่า “ มหาบพิตร  ภิกษุณีนั่น  ชื่อกีสาโคตรมี  เป็นธิดาของอาตมภาพ   เป็นยอดแห่งภิกษุณีผู้ทรงผ้าบังสุกุลทั้งหลาย”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

ปํสุกูลธรํ  ชนฺตํ
กิสํ  ธมนิสนฺถตํ
เอกํ  วนสฺมึ  ฌายนฺตํ
ตมหํ  พฺรูหิ  พฺราหฺมณํ ฯ

เราเรียกชนผู้ทรงผ้าบังสุกุล 
ผู้ผอม  สะพรั่งด้วยเอ็น
ผู้เพ่งอยู่ผู้เดียวในป่านั้น
ว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:



13. เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  น  จาหํ  เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง  มีพราหมณ์คนหนึ่ง   คิดว่า  “พระสมณโคดม  ตรัสเรียกสาวกทั้งหลายของพระองค์ว่า  พราหมณ์  ส่วนเราก็เป็นผู้เกิดในกำเนิดพราหมณ์  การที่พระองค์ตรัสเรียกเราอย่างนั้นบ้าง  ก็เป็นการสมควร”  เข้าไปเฝ้าพระศาสดา  ทูลถามความข้อนี้  พระศาสดาตรัสว่า  “พราหมณ์  เราย่อมไม่เรียกว่า พราหมณ์  ด้วยเหตุพียงเกิดในกำเนิดพราหมณ์เท่านั้น  ส่วนผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวล  ไม่ถือมั่น  เราเรียกผู้นั้นว่า  เป็นพราหมณ์”
จากนั้น  พระศาสดาตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

น  จาหํ  พฺราหฺมณํ   พฺรูมิ
โยนิชํ  มตฺติสมฺภวํ
โภวาที  นาม  โส  โหติ
ส  เว  โหติ  สกิญฺจโน
อกิญฺจนํ  อนาทานํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

เราไม่เรียกบุคคลผู้เกิดแต่กำเนิด
ผู้มีมารดาเป็นแดนเกิดว่า  เป็นพราหมณ์
เขาย่อมเป็นผู้ชื่อว่าโภวาที
เขาย่อมเป็นผู้มีกิเลสเครื่องกังวล
เราเรียกผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ผู้ไม่ถือมั่นว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  พราหมณ์นั้น  บรรลุโสดาปัตติผล  พระธรรมเทศนา  มีประโยชน์  แม้แก่มหาชนผู้มาประชุมกัน.


                               

14.เรื่องอุคคเสน
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน  ทรงปรารภเศรษฐีบุตร ชื่ออุคคเสน  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  สพฺพสญฺโญชนํ  เป็นต้น

นายอุคคเสน  บุตรเศรษฐี  หลังจากจากแต่งงานกับบุตรสาวของคณะแสดงกายกรรมแล้ว  ก็ได้รับการฝึกฝนจากพ่อตาซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านกายกรรม  วันหนึ่งขณะที่เขากำลังแสดงกายกรรมอยู่นั้น  พระศาสดาได้เสด็จบิณฑบาตผ่านมาทางนั้น  พระศาสดาทรงแสดงธรรมโปรด   และอุคคเสนก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในขณะที่นั่งอยู่บนปลายไม้ที่ตนขึ้นไปแสดง  เมื่อลงมาจากปลายไม้นั้นแล้ว  เขาก็ได้ไปขออุปสมบทจากพระศาสดา  และพระศาสดาได้ประทานให้ด้วยวิธีอุปสมบทที่เรียกว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทา
 
อยู่มาวันหนึ่ง  เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ถามพระอุคคเสนว่า  ท่านไม่กลัวหรือตอนที่ไต่ลงมาจากปลายไม้ที่มีความสูงมากถึงขนาดนั้น  ท่านตอบว่า  ไม่กลัว    จึงนำเรื่องนี้ขึ้นกราบทูลพระศาสดาว่า “พระเจ้าข้า  พระอุคคเสน  ย่อมกล่าวว่า  เราไม่กลัว  ชะรอยว่าจะอ้างตนว่าเป็นพระอรหันต์ด้วยคำไม่จริง”  พระศาสดาตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  บุคคลผู้เช่นกับบุตรของเรา  มีสังโยชน์อันตัดได้แล้ว  ย่อมไม่กลัวเลย”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

สพฺพสญฺโญชนํ  เฉตฺวา
โย  เว  น  ปริตสฺสติ
สงฺคาติคํ  วิสํยุตฺตํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

ผู้ใดแล  ตัดสังโยชน์ทั้งปวงได้แล้ว
ย่อมไม่สะดุ้ง   เราเรียกผู้นั้น
ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องได้
ผู้หลุดพ้นแล้วว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:



15.  เรื่องพราหมณ์ 2 คน
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพราหมณ์ 2 คน  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  เฉตฺวา  นทฺธึ เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง   ในกรุงสาวัตถี   มีพราหมณ์ 2 คน   มีโคอยู่คนละตัว  พราหมณ์แต่ละคนก็อ้างว่าโคของตัวแข็งแรงกว่าของอีกคนหนึ่ง  ในที่สุดก็จะพิสูจน์ความแข็งแรงของโคทั้งสองตัวนี้  โดยพราหมณ์ทั้งสองได้ไปกันที่ฝั่งแม่น้ำอจิรวดีและช่วยกันนำทรายมาบรรจุลงในเกวียนเล่มหนึ่งจนเต็ม  แล้วก็ผลัดกันให้โคของแต่ละฝ่ายลากเกวียนเล่มนั้น  แต่ไม่มีโคตัวใดลากเกวียนเล่มนั้นให้ขยับเขยื้อนจากที่ได้  และชะเนาะกับเชือกเกวียนก็ถึงกับขาดสะบั้น  ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งไปอาบน้ำกันอยู่ในบริเวณที่สองพราหมณ์แข่งกันลากเกวียน  ก็ได้นำความกราบเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระศาสดา  พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  ชะเนาะและเชือกนั่นเป็นแต่ของภายนอก  คนใดคนหนึ่งก็ตัดชะเนาะและเชือกเหล่านั้นได้ทั้งนั้น  ฝ่ายภิกษุตัดชะเนาะคือความโกรธ  และเชือกคือตัณหาอันเป็นการภายใน  ย่อมเป็นการสมควร”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

เฉตฺวา  นทฺธึ  วรตฺตญฺจ
สนฺธานํ  สหนุกฺกมํ
อุกฺขิตฺตปลิฌํ  พุทฺธํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

เราเรียกบุคคลผู้ตัดชะเนาะ  เชือก
และเครื่องต่อพร้อมทั้งสาย
ผู้มีลิ่มสลักอันถอนขึ้นแล้ว
ผู้รู้แล้ว  นั้นว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ภิกษุ  500  รูป  บรรลุพระอรหัตตผล   พระธรรมเทศนา  มีประโยชน์  แม้แก่ชนผู้มาประชุมกัน.


                         

16. เรื่องอักโกสภารทวาชพราหมณ์
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน  ทรงปรารภอักโกสกภารทวาชพราหมณ์  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อกฺโกสํ   เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง  นางพราหมณีชื่อธนัญชานี  ของภารทวาชพราหมณ์  เป็นพระโสดาบัน  และติดนิสัยชอบหลุดคำพูดออกมาโดยมิได้ตั้งใจ เมื่อตอนไอ  ตอนจาม หรือตอนเกิดทำของหลุดมือ ว่า  “นโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ”(ความนอบน้อม  จงมีแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า  ผู้เป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้เองโดยชอบ  พระองค์นั้น)  มีอยู่วันหนึ่ง  ภารทวาชพราหมณ์เชื้อเชิญพวกเพื่อนๆมารับประทานอาหารที่บ้าน  และในขณะที่ทุกคนกำลังรับประทานอาหารกันอยู่นั้น  นางพราหมณีเกิดทำของหลุดมือจึงหลุดคำพูดเดิมนั้นออกมา  เนื่องจากคำที่หลุดออกมานั้นเป็นคำแสดงความนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า

พราหมณ์ผู้สามีจึงโกรธมาก  ดุด่าว่ากล่าวนางพราหมณีว่า “ อีหญิงถ่อย  ทำอะไรพลาดเป็นไม่ได้  ต้องกล่าวสรรเสริญพระสมณะหัวโล้นนั้นอย่างนี้ทุกที”  พราหมณ์นั้นจึงไปเฝ้าพระศาสดา  โดยหวังว่าจะไปโต้วาทีเพื่อให้พระองค์จนมุมตอบไม่ได้  แล้วได้ตั้งคำถามที่ท้าทายว่า “บุคคลฆ่าอะไรสิ  จึงอยู่เป็นสุข  ฆ่าอะไรสิ  จึงไม่เศร้าโศก  ข้าแต่พระสมณโคดม  พระองค์ย่อมชอบใจซึ่งการฆ่าธรรมอะไรสิ  ซึ่งเป็นธรรมอันเอก”  พระศาสดาตรัสตอบว่า  “บุคคลฆ่าความโกรธได้แล้ว  จึงอยู่เป็นสุข  ฆ่าความโกรธได้แล้ว  จึงไม่เศร้าโศก  พราหมณ์  พระอริยเจ้าทั้งหลาย  ย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธอันมีรากเป็นพิษ   มียอดหวาน  เพราะบุคคลนั้นฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว  ย่อมไม่เศร้าโศก”  เมื่อได้ฟังดำรัสนี้ของพระศาสดาแล้ว  พราหมณ์นั้นเกิดความเลื่อมใส  ขออุปสมบทเป็นภิกษุ  และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

อักโกสกภารทวาชพราหมณ์  ซึ่งเป็นน้องชาย   เมื่อได้ทราบว่าพี่ชายบวชไปแล้ว  ก็โกรธและได้ไปด่าพระศาสดาด้วยวาจาหยาบคาย  พระศาสดาได้ตรัสถามเขาว่า “ พราหมณ์  สมมุติว่ามีแขกมาที่บ้านของท่าน  และท่านได้ยกสำรับกับข้าวมาให้เขารับประทาน  แต่เขาไม่ยอมรับประทานอาหารนั้น  ได้ลุกออกจากบ้านท่านไป  สำรับับข้าวนั้นจะตกเป็นของใคร”  เมื่อเขาตอบว่าก็ตกเป็นของเขาเอง  พระศาสดาจึงตรัสว่า “ ในทำนองเดียวกัน  พราหมณ์   เมื่อตถาคตไม่รับคำด่านั้น  คำด่านั้นก็จะย้อนกลับไปหาท่าน”  เมื่อถึงตอนนี้  อักโกสกภารทวาชพราหมณ์  ก็เกิดความสำนึก  เสื่อมใสในพระศาสดา  ขออุปสมบทและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ฝ่ายน้องชายอีก  2  คน  คือ  สุนทริกภารทวาชพราหมณ์  และพิลังคกภารทวาชพราหมณ์  ก็ได้ไปด่าพระศาสดาเหมือนกัน  และได้ถูกพระศาสดาอบรมสั่งสอน  ขออุปสมบทเป็นภิกษุ  และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
อยู่มาวันหนึ่ง  ภิกษุสนทนากันในธรรมสภาว่า  “ผู้มีอายุทั้งหลาย   คุณของพระพุทธเจ้าน่าอัศจรรย์หนอ  เมื่อพราหมณ์พี่น้องทั้ง 4 ด่าอยู่  พระศาสดาไม่ตรัสอะไรๆ  กลับเป็นที่พึ่งของพราหมณ์เหล่านั้น”

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถาม   ถึงหัวข้อสนทนาของภิกษุเหล่านั้น  แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  เราไม่ประทุษร้าย  ในชนทั้งหลายผู้ประทุษร้าย  เพราะความที่เราประกอบด้วยกำลังคือขันติ  ย่อมเป็นที่พึ่งของมหาชนโดยแท้”
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อกฺโกสํ  วธพนฺธญฺจ
อทุฏฺโฐ  โย  ติติกฺขติ
ขนฺติพลํ  พลานีกํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺรหฺมณํ  ฯ

ผู้ใด  ไม่ประทุษร้าย  อดกลั้นซึ่งคำด่า
และการตีและการจองจำได้
เราเรียกผู้นั้น  ซึ่งมีกำลังคือขันติ
มีหมู่พล  ว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

ฐิตา:



17. เรื่องพระสารีบุตรเถระ
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน  ทรงปรารภพระสารีบุตรเถระ  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  อกฺโกธนํ เป็นต้น

พระสารีบุตร  พร้อมด้วยภิกษุจำนวน  500  รูป  ได้เข้าไปในหมู่บ้านนาลกะ  และได้ไปยืนบิณฑบาตอยู่ที่ประตูบ้านของโยมมารดาของท่าน  และโยมมารดาของท่านก็ได้นิมนต์ท่านพร้อมด้วยภิกษุเหล่านั้นเข้าไปในบ้าน  ในขณะที่ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระลูกชาย   นางได้ด่าว่าและพูดกระแทกแดกดันลูกชาย   ว่าเป็นพวกชอบกินเดน  ทิ้งทรัพย์ 80 โกฏิออกไปบวช  ทำให้นางได้รับความเสียหาย   และเมื่อถวายอาหารบิณฑบาตแก่ภิกษุทั้งหลายนางก็ได้พูดกระแนะกระแหนในทำนองว่าเป็นพวกที่ทำลูกชายของนางให้เป็นคนรับใช้   พระสารีบุตรไม่พูดโต้ตอบอะไรสักคำ  เมื่อรับอาหารบิณฑบาตจากมารดาแล้ว  ก็เดินกลับวัดพระเวฬุวัน   เมื่อกลับถึงวัดแล้ว  ภิกษุทั้งหลาย  ได้สนทนากันในธรรมสภาว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย  คุณของพระสารีบุตรน่าอัศจรรย์หนอ  เมื่อมารดาของท่านด่าว่า  จะโกรธแม้สักนิดหนึ่งก็ไม่มี”   พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามถึงหัวข้อสนทนาของภิกษุเหล่านั้นแล้ว  ตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  ธรรมดาพระขีณาสพทั้งหลาย  เป็นผู้ไม่โกรธเลย”
จากนั้น  พระศาสดาตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

อกฺโกธนํ  วตฺตวนฺตํ
สีลวนฺตํ   อนุสฺสทํ
ทนฺตํ  อนฺติมสารีรํ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ  ฯ

เราเรียกผู้ไม่โกรธ  มีวัตร
มีศีล  ไม่มีตัณหาเครื่องฟูขึ้น
ผู้ฝึกแล้ว  มีสรีระในที่สุด
นั้นว่า  เป็นพราหมณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง   ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.



18. เรื่องพระอุบลวัณณาเถรี
พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระอุบลวัณณาเถรี  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  วาริ  โปกฺขรปตฺเตว  เป็นต้น

ในกาลครั้งหนึ่ง   ภิกษุสนทนากันในเรื่องที่พระอุบลวัณณาเถรี ถูกนันทมาณพข่มขืนกระทำชำเรา  และนันทมาณพนั้นได้ถูกแผ่นดินสูบ  โดยตั้งข้อสังเกตว่า “ถึงพระขีณาสพทั้งหลาย  ชะรอยจะยังเสพกาม  ทำไมจักไม่เสพ  เพราะท่านเหล่านั้น  ไม่ใช่ไม้ผุ  ไม่ใช่จอมปลวก  ยังมีเนื้อและสรีระสดๆอยู่เทียว  เหตุนั้น  แม้พระขีณาสพเหล่านั้น  จึงยังยินดีกามสุขอยู่”

พระศาสดา เสด็จมาตรัสถามถึงหัวข้อสนทนาของภิกษุเหล่านี้ แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  พระขีณาสพทั้งหลาย  ย่อมไม่ยินดีซึ่งกามสุข  ไม่เสพกาม  เหมือนอย่างว่าหยาดน้ำที่ตกลงบนใบบัว  ย่อมไม่ติด  ไม่ค้างอยู่  ย่อมกลิ้งตกไปทีเดียว  ฉันใด  อนึ่ง  เหมือนเมล็ดพันธ์ผักกาด  ย่อมไม่ติด  ไม่ตั้งอยู่  บนปลายเหล็กแหลม  ย่อมกลิ้งตกไปทีเดียว  ฉันใด  แม้กามทั้ง 2  อย่าง  ย่อมไม่ติด  ไม่ตั้งอยู่  ในจิตของพระขีณาสพ  ฉันนั้น “
จากนั้น  พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท  พระคาถานี้ว่า

วาริ  โปกฺขรปตฺเตว
อารคฺเคริว  สาสโป
โย  น  ลิปปติ  กาเมสุ
ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ ฯ

ผู้ใด  ไม่ติดอยู่ในกามทั้งหลาย
เหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว
เหมือนเมล็ดพันธ์ผักกาด
ไม่ตั้งอยู่ปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า  เป็นพราหมณ์ณ์.

เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version