อิ่มกาย อิ่มใจ > สุขภาพกับชีวิต

รวมเคล็ดไม่ลับ กับการใช้ยา

<< < (3/5) > >>

sithiphong:
ยาแก้ปวด ‘ทรามาดอล’ - คุณหมอขอบอก
วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2556 เวลา 00:00 น.
-http://www.dailynews.co.th/article/1490/229733-



จากกรณีที่มีวัยรุ่นนำยาแก้ปวด “ทรามา ดอล” มาผสมน้ำอัดลม หรือผสมเหล้าดื่ม เพื่อให้เกิดอาการมึนเมา ล่าสุดมีข่าวนักเรียน ม.2 ใน จ.สมุทรปราการ ดื่มแล้วช็อกหมดสติ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตื่นตัว คุมเข้มไม่ให้มีการนำยานี้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จนเกิดอันตราย

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า  “ทรามาดอล” เป็นยาแก้ปวดอย่างแรง จัดอยู่ในประเภท “ยาอันตราย” ที่ต้องควบคุมการขายโดยเภสัชกร ร้านขายยาต้องมีการจัดทำบัญชีควบคุมการครอบครอง การจำหน่ายให้ชัดเจน เมื่อมีการนำไปใช้ผิดวัตถุ ประสงค์คงต้องเข้มงวดร้านขายยามากขึ้น

ยานี้เพิ่งมีปัญหาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะมีการยกระดับยาหลายชนิดทำให้หาซื้อไม่ได้ในร้านขายยา เช่น ซูโดอีเฟดรีน อัลปราโซแลม  คนที่เสพก็เลยเปลี่ยนไปหายาตัวใหม่อยู่เรื่อย ๆ พอคุมทรามาดอลก็คงจะไปหายาตัวอื่นมาใช้อีกเช่นกัน

หลังจากเกิดปัญหาขึ้นมา  อย. ได้เชิญ 5 หน่วยงาน ได้แก่ สภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน สมาคมร้านขายยา ชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย และผู้รับอนุญาต ผลิต นำเข้า มาร่วมประชุมปรึกษาหารือ

ปกติ อย.ขอให้ผู้ผลิตรายงานยอดการจำหน่ายยาทุก 4 เดือนเพื่อจะได้รู้ปริมาณการใช้  แต่ระยะเวลา 4 เดือนอาจช้าไป ดังนั้นคงต้องดูว่าควรรายงานทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน และต้องแจ้งด้วยว่าส่งไปที่ไหนบ้าง จะทำให้รู้จังหวัด หรือร้านขายยาที่รับยาไป จากนั้นก็แจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รับทราบเพื่อตรวจสอบการนำไปใช้ ในปัจจุบันมีผู้ผลิตประมาณ 20-30 แห่ง โดยปริมาณการผลิตยานี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างผิดสังเกต

ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือให้สภาเภสัชกรรมย้ำกับเภสัชกรเรื่องการจำหน่ายยาดังกล่าวแก่คนไข้ที่จำเป็นต้องใช้ยา  ไม่จ่ายยาให้กับคนที่จะนำยาไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะเยาวชน ห้ามจำหน่ายให้แก่ผู้ที่ไม่มีอาการปวดรุนแรง และต้องจ่ายยาในปริมาณที่เหมาะสม

คิดว่ามาตรการดังกล่าวคงคุมได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้ผลก็ต้องมาคุยกันว่าจะจำกัดการขายเฉพาะในร้านยาคุณภาพซึ่งผ่านการรับรองจาก อย.และสภาเภสัชกรรมเท่านั้น ขณะนี้ร้านยาคุณภาพมีอยู่ประมาณ 600-7,000 แห่งจากกว่า 1 หมื่นแห่ง

หรืออาจพิจารณาว่าจะยกระดับเป็น “ยาควบคุมพิเศษ”หรือไม่ ความจริงยานี้ยังมีประโยชน์อยู่  คนที่มีอาการปวดกินพาราเซตามอลแล้วเอาไม่อยู่ อาจใช้ยานี้ ดังนั้นการยกระดับจาก “ยาอันตราย” เป็น “ยาควบคุมพิเศษ” อาจไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม  เพราะจะทำให้การเข้าถึงยายากขึ้น ดังนั้นต้องชั่งน้ำหนักให้ดี  แม้ในบางประเทศจะจัดเป็นยาควบคุมพิเศษแล้วก็ตาม

ภก.วินิต อัศวกิจวิรี  ผอ.สำนักยา กล่าวว่า “ทรามาดอล” เป็นยาแก้ปวดที่ค่อนข้างจะได้ผลกับอาการปวดมาก ๆ หากกินยานี้ในปริมาณที่มากจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้มึนงง ระยะหลังพบว่ามีการนำยานี้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะร้านขายยาบางแห่งเห็นแก่ได้มุ่งขายยาไปในปริมาณมาก ๆ การกินยาในปริมาณมาก ๆ อาจเป็นอันตรายได้ แม้ยานี้จะมีความปลอดภัยไม่ค่อยมีฤทธิ์เสพติด แต่ฤทธิ์ของมันไปกดประสาทส่วนกลาง  ถ้ากินมาก ๆ อาจไปกดการหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้

ขอเตือนไปยังวัยรุ่นว่า ยาพวกนี้ไม่ใช่ว่ากินแล้วไม่เป็นอันตรายอะไร ถ้ากินมาก ๆ อาจไปกดการหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้  นอกจากนี้ยังไปทำอันตรายต่อตับ ไต ดังนั้นอย่าเห็นแก่ความสนุกชั่ววูบ

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด  กล่าวว่า  “ทรามาดอล”  มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เรียกว่ายากลุ่มโอปิออยด์ โครงสร้างทางเคมีคล้ายกับยาเสพติดประเภทมอร์ฟีน ใช้แล้วทำให้มึน ๆ เมา  ๆ  เหมือนคนเมาเหล้า  บางคนกินแล้วรู้สึกเคลิ้ม หากใช้นาน ๆ จะเสพติด   วัยรุ่นที่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อาจผสมกับยาตัวอื่น หรือเครื่องดื่ม มีหลายสูตรด้วยกันแล้วแต่ใครอยากกินอะไรก็ใส่ลงไป เช่น ผสมกับยาแก้แพ้  ผสมน้ำอัดลม

สำหรับอาการไม่พึงประสงค์เมื่อกินเข้าไปแล้ว  อาจไปกดศูนย์การหายใจ คนแพ้ยาตัวนี้อาจทำให้เกิดอาการชักได้ ขณะเดียวกันยาจะสะสมในร่างกาย ขับออกได้ช้า  อย่างน้อยต้องใช้เวลาขับออก 5-6 ชม. ถ้ากินเข้าไปมาก ๆ ร่างกายขับออกไม่ทัน ฤทธิ์ยาจะสะสมไปเรื่อย ๆ เป็นอันตราย  ทั้งนี้การนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้เกิดความเชื่อที่ผิด ๆ แล้วนำไปเผยแพร่ต่อ ๆ กัน พอมีปัญหาทำให้คนจำเป็นต้องใช้ยาพลอยลำบากไปด้วย ร้านขายยาบางร้านตัดสินใจไม่ขายยาตัวนี้เลย ทั้งที่ยานี้ยังมีประโยชน์สำหรับคนไข้ที่ต้องใช้ยา.

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน

sithiphong:
วัคซีน สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์  23 ตุลาคม 2556 06:14 น.
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000132432-

 รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์
       ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
       
        ปัจจุบันมีวัคซีนอยู่หลายชนิดด้วยกัน ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อยโดยปกติคุณแม่ตั้งครรภ์ ทุกรายควรได้รับวัคซีนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ แต่มีบางรายที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อนที่จะตั้งครรภ์ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะติดโรค

     ซึ่งวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดมีดังนี้
        1.วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นวัคซีนที่จำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ทุกคน ถึงแม้ว่า
       หญิงตั้งครรภ์ผู้นั้นจะเคยได้รับวัคซีนมาก่อนก็ตาม โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการฉีดเพื่อให้ภูมิคุ้มกันไปสู่ลูกได้มากที่สุดคือ ขณะอายุครรภ์ 27 - 36 สัปดาห์ เป็นวัคซีน 3 ชนิด ที่ฉีดพร้อมกันใน 1 เข็ม สาเหตุที่ต้องฉีด เพราะขณะนี้โรคคอตีบได้กลับมาระบาดอีก ในรายที่รุนแรงอาจทำให้แม่และลูกในท้องเสียชีวิตได้ ส่วนโรคไอกรน พบว่าลูกที่ป่วยเป็นโรคไอกรนจะติดเชื้อมาจากแม่ ถ้าฉีดให้แม่ก็จะป้องกันให้ลูกที่คลอดออกมาได้ประมาณ 6 เดือน และวัคซีนป้องกันบาดทะยัก จะช่วยป้องกันการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตรด้วย
        2.วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากเป็นโรคที่ทำอันตรายกับคนท้องมากกว่าคนธรรมดา หากเป็นแล้วจะ
       ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หัวใจวาย วัคซีนนี้ฉีด 1 เข็ม ป้องกันได้ 1 ปี
        3. วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ในรายที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่เคยฉีดวัคซีนดังกล่าว หรือเจาะเลือดแล้วไม่มีภูมิต้าน ทาน โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ที่มีโอกาสเสี่ยง เช่น สามีเป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบี ก็อาจจะรับการฉีดวัคซีนนี้ได้
        4. หากคุณแม่ตั้งครรภ์ถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ถ้าไม่แน่ใจว่าสุนัขจะบ้าหรือไม่ ให้ฉีดวัคซีนทันที
       นอกจากนี้ยังมีวัคซีนหลายชนิดที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทราบ โดยเฉพาะวัคซีนที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ได้แก่ วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ไข้สมองอักเสบ หัด คางทูม หัดเยอรมัน โปลิโอ วัณโรค เพราะวัคซีนเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถสอบถามรายละเอียดได้จากแพทย์ที่ดูแลการตั้งครรภ์

sithiphong:
อันตรายจากการใช้ยา
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 ตุลาคม 2556 08:04 น.
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000129499-


อ.พญ.พิณพิไล จูทะ สมพากร
       ภาควิชาเภสัชวิทยา
       
       ยาจัดเป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิต แต่การใช้ยาพร่ำเพรื่อ ก็เป็นอันตายได้เช่นกัน กล่าวว่า อันตรายจากการใช้ยาพบได้ทุกเพศทุกวัย อาจเกิดจากการใช้ยาเกินขนาด ผลข้างเคียงของยา การแพ้ยา รวมถึงการดื้อยาด้วย

   
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
อันตรายจากการใช้ยาในเด็ก พบได้แม้ในยาที่ใช้บ่อยและหาซื้อง่าย เช่น ยาแก้แพ้ชนิดที่ทำให้ง่วง ซึ่งนิยมใช้สำหรับบรรเทาอาการหวัด นอกจากไม่ช่วยให้หายเร็วขึ้น อาจกดการหายใจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และได้รับยาเกินขนาด นอกจากนี้การใช้ยาแอสไพรินลดไข้ในเด็กที่เป็นไข้หวัด ยังอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น เป็นพิษต่อตับและสมอง
       
       ส่วนผู้ใหญ่ก็อาจได้รับอันตรายเช่นกัน หากใช้ยาไม่ถูกต้อง เช่น ยาพาราเซตามอล เป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่นิยมใช้มากที่สุด เพราะมีความปลอดภัยสูง แต่หากใช้ยาเกินขนาดก็อาจเกิดพิษต่อตับได้ โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มสุราปริมาณมากร่วมด้วย อาจเกิดพิษต่อตับได้แม้กินยาในขนาดปกติ ยาฆ่าเชื้อหรือยาต้านจุลชีพ (antimicrobial) ที่มักเรียกกันผิดว่า ยาแก้อักเสบ เป็นยาอีกกลุ่มที่ใช้กันแพร่หลาย แต่มักใช้อย่างไม่เหมาะสม เช่น ใช้ยาฆ่าเชื้อในการรักษาไข้หวัด (common cold) ซึ่งไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อ ทำให้เสี่ยงต่อการแพ้ยา และเพิ่มโอกาสต่อการดื้อยาอีกด้วย
       
       ในผู้สูงอายุนั้น ร่างกายเสื่อมถอยลง มีโรคภัยมากขึ้น อาจจำเป็นต้องกินยาหลายชนิด จึงมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาได้บ่อยและรุนแรงกว่าวัยอื่น เช่น ยาแก้ปวดลดอักเสบ (NSAID) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย อาจทำให้เกิดแผลและเลือดออกในทางเดินอาหาร หรืออาจทำให้เกิดไตวายได้ในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีโรคประจำตัว ฉะนั้นก่อนใช้ยาทุกชนิดจึงต้องปรึกษาแพทย์
       
       สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ หรือให้นมลูก ยาหลายชนิดสามารถผ่านรก ผ่านน้ำนม ทำให้เกิดอันตรายกับเด็กได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ก่อนใช้ยาทุกครั้ง
       
       เรื่องของการใช้ยาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทั้งวัย โรคประจำตัว หรืออาจมีการทำงานของตับ ไตบกพร่อง เหล่านี้มีผลต่อการใช้ยาทั้งสิ้น ดังนั้นควรกินยาตามที่แพทย์สั่งและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสเกิดอันตรายจากการใช้ยา

sithiphong:
กิน “ยา” แบบไหน ให้มีคุณภาพ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    24 ตุลาคม 2556 17:13 น.
-http://www.manager.co.th/Food/ViewNews.aspx?NewsID=9560000130083-

 เวลาป่วยแล้วต้องกินยา บางครั้งก็มียาหลายขนานมาให้กิน ทั้งก่อนอาหาร หลังอาหาร บางครั้งก็มียาก่อนนอน ซึ่งยาที่จะต้องกินเหล่านี้ก็มีกำหนดเวลาที่จะต้องกินตามที่แพทย์สั่ง เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของยานั้นทำงานได้อย่างเต็มที่ ช่วยรักษาอาการป่วยต่างๆ ได้ดี
       
       แต่หลายคนคงจะสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ยาก่อนอาหารนั้นต้องกินก่อนอาหารนานแค่ไหน แล้วหลังอาหารจะกินอย่างไร ยาก่อนนอนนั้นกินแล้วต้องนอนเลยหรือไม่ “108 เคล็ดกิน” ได้ไปหาคำตอบมาให้จาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
       
       ยาก่อนอาหาร เป็นยาที่กินในช่วงที่ท้องว่าง คือ กินยาก่อนกินอาหารอย่างน้อย 30 นาที (จะกินก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมงก็ได้) เนื่องมาจากการกินยาประเภทนี้ในช่วงที่ท้องว่าง จะทำให้ประสิทธิภาพของยาไม่ลดลง เนื่องจากกรดในกระเพาะอาหาร อาหาร และส่วนประกอบอื่นๆ อาจจะไปลดการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย แต่ถ้าหากลืมกินยาก่อนอาหาร ก็ให้กินอาหารไปก่อนได้เลย แล้วรอให้กระเพาะย่อยให้เสร็จก่อน (ประมาณ 2 ชั่วโมง) จึงค่อยกินยานั้นทีหลัง
       
       ยาหลังอาหาร สามารถกินได้พร้อมกับอาหาร หรือก่อนกินอาหารคำแรก หรือกินหลังอาหารทันทีก็ได้ แต่ไม่ควรกินหลังอาหารเกิน 15 นาที เนื่องจากว่ายาชนิดนี้ต้องการกรดในกระเพาะไปช่วยในการดูดซึมตัวยา สำหรับใครที่ลืมกินยาหลังอาหาร ควรจะรอกินหลังอาหารในมื้อถัดไป หรืออาจจะกินอาหารว่างไปรองท้องก่อนแล้วค่อยกินยาตามก็ได้
       
       ยาก่อนนอน ควรกินก่อนนอนประมาณ 15-30 นาที เนื่องจากยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอนหรือเวียนหัวมากๆ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที จึงจะออกฤทธิ์
       
       ยารับประทานเวลามีอาการ ก็ควรจะกินเวลาที่มีอาการจริงๆ เท่านั้น โดยในฉลากยามักระบุไว้ว่า ให้กินยาทุก 4-6 ชั่วโมง หรือทุก 8 ชั่วโมง เวลามีอาการ ซึ่งเมื่อมีอาการก็สามารถกินยาได้เลยโดยไม่ต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร สามารถกินยาซ้ำได้หากยังมีอาการอยู่โดยมีระยะเวลาห่างกันตามที่ฉลากระบุไว้ และเมื่อหายจากอาการแล้วสามารถหยุดยาได้เลย
       
       แต่ที่สำคัญ ไม่ว่าจะกินยาชนิด หรือประเภทไหนก็ตาม เมื่อได้รับการแจกยามาแล้วควรสอบถามวิธีการกินยาชนิดนั้นๆ จากเภสัชกรอย่างละเอียด เพราะยาบางชนิดอาจมีวิธีการกินนอกเหนือไปจากยาทั่วไป เพื่อจะให้การกินยาแต่ละเม็ดนั้นได้ประสิทธิภาพสูงสุด

http://www.manager.co.th/Food/ViewNews.aspx?NewsID=9560000130083

.

sithiphong:
6 เรื่องควรรู้วิธีดูฉลาก ไม่ตกเป็นเหยื่อ “ยาเถื่อน-เครื่องสำอางปลอม”
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    7 พฤศจิกายน 2556 23:20 น.
-http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000139120-




    เห็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาแถลงข่าวการจับกุมสินค้าผิดกฎหมายคราใด ก็ให้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตแทบทุกครั้ง เพราะสินค้าผิดกฎหมายที่อยู่ในความดูแลของ อย.นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของคนไทยเราแทบทั้งสิ้น ไล่ตั้งแต่อาหาร ยา เครื่องสำอาง ไปจนถึงเครื่องมือทางการแพทย์

       ล่าสุด ก็เพิ่งมีข่าวบุกทลายโรงงานยาเถื่อนย่านสายไหม มูลค่ารวมราว 10 ล้านบาท พบว่า ไม่มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาตามกฎหมาย รวมไปถึงจับกุมฝรั่งชาวเดนมาร์กนำเข้ายาฮอร์โมนเพิ่มกล้ามเนื้อ ที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยาเช่นกัน และเวย์โปรตีนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร และที่ผ่านๆ มา ก็มีทั้งเครื่องสำอางที่มีสารพิษอย่างพวก สารตะกั่ว สารไฮโดรควิโนน เป็นส่วนประกอบ รวมถึงไม่มีเครื่องหมาย อย.มีการสวมเลขทะเบียน เป็นต้น ซึ่ง อย.ก็ทำได้แค่ออกเตือนให้ระวังสินค้าเหล่านี้ ด้วยวิธีการดูฉลาก เพราะหากซื้อมาอุปโภคหรือบริโภคก็คงจะอันตรายมิใช่น้อย
       
       แม้ อย.พยายามแนะนำให้ประชาชนดูฉลากผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีระบุถึงเครื่องหมาย อย.ข้อมูลต่างๆ ของสินค้าไปจนถึงผู้ผลิต เพื่อช่วยสกรีนเบื้องต้นว่าสินค้านั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร ถึงกระนั้นก็ยังคงมีการสวมเลขทะเบียน หรือทำทะเบียนปลอมขึ้นมาหลอกลวง แล้วประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่าฉลากแบบไหนคือของจริง เพราะที่ผ่านมา อย.ก็แทบไม่เคยออกมาให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าว หรือมีแหล่งค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อเป็นความรู้ให้แก่ประชาชน
       
       อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้ อย.จะสร้างแอปพลิเคชันให้ตรวจสอบเลขทะเบียนสินค้าได้ แต่ก็เป็นเพียงในส่วนของเครื่องสำอางเท่านั้น ดังนั้น การสร้างความรู้ติดอาวุธให้สมองด้วยตัวเราเอง ก็น่าจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เราไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของสินค้าอันตรายและหลอกลวงผู้บริโภคอีกต่อไป
       
       ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับฉลากผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในความดูแลของ อย.ก่อนว่า สินค้าเหล่านั้นมันมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เพราะสมัยนี้ก็ไว้ใจไม่ได้ มีการเอาเครื่องหมาย อย.สำหรับอาหาร มาใส่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางก็มี ทั้งนี้ในคู่มือ “กินดี ใช้เป็น คนไทยไกลโรค” จัดทำโดย อย.ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้
       
       
       
       1.ฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร
       
       หากได้รับอนุญาตจาก อย.แล้ว จะต้องแสดงเครื่องหมาย อย.บนฉลาก เรียกว่า “เลขสารบบอาหาร” ซึ่งจะมีตัวเลข 13 หลัก อยู่ในกรอบเครื่องหมาย อย.เช่นนี้ xx-x-xxxxx-x-xxxx ส่วนข้อความอื่นๆ ในฉลาก ได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือแบ่งบรรจุ หรือสำนักงานใหญ่ของสถานที่ผลิตหรือแบ่งบรรจุ วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ น้ำหนักสุทธิ ส่วนประกอบที่สำคัญ เลขสารบบอาหาร คำเตือน คำแนะนำในการเก็บรักษา และวิธีปรุงเพื่อรับประทาน
       
       แต่หากเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย อาหารทั่วไป เช่น กะปิ พริกไทย เครื่องปรุงรส เป็นต้น สถานที่ผลิตต้องผ่านหลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่กำหนดให้ต้องขอเลขสารบบอาหาร แต่หากต้องการแสดงเครื่องหมาย อย.บนฉลาก ก็สามารถยื่นขอได้ ตามสมัครใจ
       
       
       
       
       2.ฉลากผลิตภัณฑ์ยา
       
       ผลิตภัณฑ์ยาทุกชนิดทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ จะไม่มีเครื่องหมาย อย.แสดงบนฉลาก แต่จะแสดงเลขที่รหัสใยบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือที่เรียกว่า “เลขทะเบียนตำรับยา” เช่น 1A12/35 G 99/55 โดยฉลากยาและเอกสารกำกับยาจะต้องแสดงรายละเอียดดังนี้ ชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา ชื่อและปริมาณ หรือความแรงของสารออกฤทธิ์ที่เป้นส่วนประกอบ (กรณียาแผนปัจจุบัน) เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตหรือวิเคราะห์ หรือ Lot. Number ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร วันเดือนปีที่หมดอายุ เช่น Exp. หรือ Exp date หรือข้อความว่า “ยาสิ้นอายุ” แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่หมดอายุ นอกจากนี้ ยังมี คำว่า “ยาอันตราย” “ยาควบคุมพิเศษ” “ยาใช้เฉพาะที่” “ยาใช้ภายนอก” ตามแต่กรณี คำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” “ยาแผนโบราณ” “ยาสำหรับสัตว์” ตามแต่กรณี วิธีใช้ และคำเตือน
       
       ทั้งนี้ ตัวเลขที่นำหน้าตัวอักษรจะมีเฉพาะยาแผนปัจจุบันเท่านั้น มีความหมายดังนี้ เลข 1 หมายถึง ยาที่มีตัวยาสำคัญที่ออกฤทธิ์เพียงตัวเดียว เลข 2 หมายถึงยาที่มีตัวยาสำคัญออกฤทธิ์ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป
       
       ตัวอักษร A-F เป็นตัวอักษรสำหรับยาแผนปัจจุบัน มีความหมายดังนี้ A คือ ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ B คือ ยามนุษย์แบ่งบรรจุ C คือ ยามนุษย์น้ำหรือสั่งเข้า D คือ ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ E คือ ยาสัตว์แบ่งบรรจุ F คือ ยาสัตว์น้ำหรือสั่งเข้า ส่วนตัวอักษร G-N เป็นตัวอักษรสำหรับยาแผนโบราณ โดย G คือ ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ H คือ ยามนุษย์แบ่งบรรจุ K คือ ยามนุษย์น้ำหรือสั่งเข้า L คือ ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ M คือ ยาสัตว์แบ่งบรรจุ N คือ ยาสัตว์น้ำหรือสั่งเข้า
       
       
       
       3.ฉลากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
       
       ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทุกชนิดจะไม่มีเครื่องหมาย อย.แสดงบนฉลาก แต่จะต้องแสดงเลขที่ใบรับแจ้ง เป็นตัวเลข 10 หลัก เช่น 10-1-5512345 พร้อมทั้งฉลากภาษาไทยมีรายละเอียดดังนี้ ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง ชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง (ต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่น) ชื่อสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม เรียงลำดับจากสารที่มีปริมาณมากไปสารที่มีปริมาณน้อย วิธีใช้ คำเตือน ชื่อ-ที่ตั้งของผู้ผลิต ปริมาณสุทธิ เลขที่แสดงครั้งที่ผลิตเครื่องสำอาง เดือน/ปีที่ผลิต เดือน/ปีที่หมดอายุ (กรณีมีอายุการใช้งานน้อยกว่า 30 เดือน) และเลขที่ใบรับแจ้ง
       
       
       
       4.ฉลากเครื่องมือแพทย์
       
       เครื่องมือแพทย์ มี 3 ประเภท มีการแสดงเครื่องหมาย อย.ที่แตกต่างกัน
       
       -เครื่องมือแพทย์ที่ต้องมีใบอนุญาต ได้แก่ ถุงยางอนามัย ถุงมือสำหรับศัลยกรรม ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี คอนแทกต์เลนส์ เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องแสดงข้อความบนฉลากเป็นภาษาไทย เช่น ชื่อเครื่องมือแพทย์ ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิต ปริมาณที่บรรจุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต เลขที่ใบอนุญาตหรือเลขที่ใบรับแจ้งรายละเอียด ข้อบ่งใช้ วิธีการใช้ และวิธีการเก็บรักษา ให้แสดงข้อความว่า “ใช้ได้ครั้งเดียว” คำเตือนและข้อควรระวัง อายุการใช้งาน และเครื่องหมาย อย.บนฉลาก โดยตัวอย่างเครื่องหมายจะมีข้อความ ผ 999/2550 ในเครื่องหมาย อย ซึ่งหมายถึงผลิต หรือ น 999/2550 ในเครื่องหมาย อย หมายถึงนำเข้า
       
       -เครื่องมือแพทย์ที่ต้องแจ้งรายการละเอียด ได้แก่ เครื่องใช้หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อกายภาพบำบัด เครื่องตรวจวัดระดับหรือปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย เป็นต้น เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องแสดงฉลากเหมือนกัน แต่ไม่ต้องแสดงเครื่องหมาย อย.ให้แสดงเลขที่ใบรับแจ้งบนฉลาก
       
       -เครื่องมือแพทย์ทั่วไป ได้แก่ เตียงผ่าตัด เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เครื่องตรวจวัดความดันโลหิต เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ไม่มีการบังคับให้แสดงฉลากภาษาไทย และไม่ต้องแสดงเครื่องหมาย อย.หรือเลขที่รับแจ้งบนฉลาก
       
       
       
       5.ฉลากผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน
       
       ผลิตภัณฑ์นี้จะมีการแสดงฉลาก 3 แบบ โดย วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน ที่ฉลากต้องมีเลขทะเบียนในกรอบเครื่องหมาย อย. เช่น วอส.999/2550 เช่น ผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัด/ไล่แมลง ผลิตภัณฑ์กำจัดหนู ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นผิวประเภท กรด-ด่าง ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่ใช้ในบ้านเรือน ผลิตภัณฑ์ลบคำผิด เป็นต้น
       
       ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องมีเครื่องหมาย อย.แต่ต้องมีเลขที่รับแจ้งข้อเท็จจริง ตัวอย่าง 999/2550 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ฝาผนัง เครื่องสุขภัณฑ์และวัสดุต่างๆ ที่มีเฉพาะสารลดแรงตึงผิวบางชนิดเป็นสารสำคัญ ผลิตภัณฑ์ประเภทคลอรีนที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคหรือกำจัดกลิ่นในสระว่ายน้ำ เป็นต้น
       
       สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องแสดงเครื่องหมาย อย.ได้แก่ ก้อนดับกลิ่น/ลูกเหม็น
       
       
       
       และ 6.ตรวจผ่านแอปพลิเคชัน Oryor Smart Application
       
       แอปพลิเคชันนี้มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะสามารถเข้ามาเช็กข้อมูลได้ว่า ผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่ขึ้นทะเบียนรับรองจาก อย.หรือผลิตภัณฑ์ใดปลอมเลขทะเบียน โดยการคีย์ตัวเลขสารบบว่า ถูกต้องกับระบบของ อย.หรือไม่ ก็จะทราบทันที โดย นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย.กล่าวว่า อย.เตรียมพัฒนาแอปพลิเคชันเวอร์ชัน 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพให้มากขึ้น ซึ่งเวอร์ชันแรกจะเน้นตรวจสอบเลขที่ใบรับแจ้งกลุ่มเครื่องสำอางเป็นหลัก แต่เวอร์ชัน 2 จะครอบคลุมทั้งเลขทะเบียนตำรับยา เลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย เป็นต้น เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการตรวจสอบข้อมูลมากขึ้น เพราะปัจจุบันสินค้าแม้จะมีเลข อย.แต่ก็อาจเป้นการสวมทะเบียนหรือเป็นเลขปลอมก็ได้ จึงต้องมีช่องทางในการตรวจสอบให้รับรู้ ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถตรวจเช็กข้อมูลได้รวดเร็ว ตลอด 24 ชั่วโมง

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version