แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

@ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก

<< < (11/31) > >>

ฐิตา:


               

๕๑. บทเรียนบทสุดท้ายของพระอาจารย์

ขณะที่เหล่าลูกศิษย์ที่กำลังรายล้อมพระอาจารย์ เพื่อรอพระอาจารย์พูดถึงเรื่อง
ชีวิตและจักรวาลอันลึกล้ำ พระอาจารย์ได้แต่หลับตานิ่งๆไม่พูดอะไร
แต่อยู่ๆก็ถามขึ้นว่า “ทำอย่างไรถึงจะกำจัดต้นหญ้าที่ขึ้นอยู่ตามที่รกร้างนั้นได้”
ลูกศิษย์รู้สึกผิดคาดที่นึกไม่ถึงว่าพระอาจารย์ทำไมถึงถามเรื่องง่ายๆอย่างนี้

ลูกศิษย์บางกลุ่มตอบว่า “ใช้ไฟเผาให้หมด”
บางกลุ่มก็ตอบว่า “ใช่พร้าฟันออกให้หมด”
บางกลุ่มก็ตอบว่า “ใช้ผงปูนโรยให้ทั่วก็ขจัดหญ้าให้หมดได้”
บางกลุ่มก็ตอบว่า “ต้องตัดรากถอนโคน ขุดออกให้หมด”

เมื่อฟังลูกศิษย์ตอบเสร็จ พระอาจารย์จึงพูดต่อว่า “พวกเจ้าทุกคนตอบได้ดี
ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป พวกเจ้าจงแบ่งที่รกร้างเหล่านี้ออกเป็นส่วนๆ
แล้วใช้วิธีการต่างๆของพวกเจ้าที่จะกำจัดวัชพืชเหล่านั้น ปีหน้าเวลานี้
พวกเราค่อยมาพบกันที่นี่อีกครั้งหนึ่ง

หนึ่งปีผ่านไป ณ ที่เก่าเวลาเดิม เหล่าลูกศิษย์มารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง
แต่เวลานี้ไม่เห็นต้นหญ้าเหล่านั้นอีกแล้ว มีแต่ทุ่งรวงทองเหลืองอร่าม
ของเหล่าธัญพืชเต็มท้องทุ่ง

หนึ่งปีที่ผ่านไป เหล่าลูกศิษย์พยายามทุกวิถี
ทางที่จะกำจัดวัชพืชเหล่านั้น แต่ก็ใช้ไม่ได้สักวิธี มีอยู่วิธีเดียวที่ทำได้คือ
ปลูกธัญพืชให้เต็มท้องทุ่ง ซึ่งขณะนี้ธัญพืชเหล่านั้นกำลังให้ผลผลิตแล้ว

แต่ว่าพระอาจารย์ของพวกเขาได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว และนั่นก็เป็นบทเรียน
บทสุดท้ายที่พระอาจารย์สอนไว้

         

ฐิตา:


           

๕๒. หยดน้ำ

พระอาจารย์ท่านหนึ่งขณะที่จะอาบน้ำ น้ำที่ลูกศิษย์ผสมให้อาบร้อนเกินไป
จึงเรียกให้ลูกศิษย์นำน้ำเย็นมาเติม ลูกศิษย์เติมแล้วมีน้ำเหลือก็เททิ้งทันที

พระอาจารย์จึงบอกว่า “ เจ้าทำไมถึงเทน้ำทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์
สิ่งต่างๆที่อยู่ในโลกนี้ย่อมมีประโยชน์อยู่ในตัวของมันเอง
เพียงแต่มีคุณค่า และราคาต่างกันเท่านั้น เจ้าทำไมถึงเทมันทิ้งไปอย่างง่ายดาย

แม้จะเป็นน้ำเพียงหยดเดียว หากเอาไปรดลงที่ต้นไม้ใบหญ้า
ไม่แต่ต้นไม้ใบหญ้าจะชอบ ตัวของน้ำเองก็ไม่เสียคุณค่าของตัวมันเอง
ทำไมต้องเททิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ แม้จะเป็นน้ำเพียงหยดเดียว
แต่คุณค่าราคาของมันยิ่งใหญ่มหาศาล “

ศิษย์ฟังแล้วจึงเข้าใจถึงอะไรบางอย่าง เลยตั้งชื่อตัวเองใหม่ว่า
“ พระหยดน้ำ “ ซึ่งต่อมากลายเป็นพระที่มีผู้เคารพนับถือมากรูปหนึ่ง

วันหนึ่งหลังจากที่ท่านเทศน์เสร็จแล้ว มีผู้ถามท่านว่า
“ ในโลกนี้สิ่งใดมีคุณงามความดีมากที่สุด “
“ หยดน้ำ “ พระหยดน้ำตอบ
“ ความว่างเปล่าสามารถห่อหุ้มสรรพสิ่ง อะไรสามารถหุ้มห่อความว่างเปล่า “
“ หยดน้ำ “

ตั้งแต่นั้นพระหยดน้ำ นำจิตกับหยดน้ำสมานรวมเป็นหนึ่ง
จิตห่อหุ้มความว่างเปล่า ภายในหยดน้ำก็มีความว่างเปล่าที่ไม่มีสิ้นสุด

       

ฐิตา:




๕๓. เจ้าโทสะตั้งแต่เกิด

พระอาจารย์ท่านหนึ่ง เป็นพระที่เทศน์เก่งมาก ท่านเทศน์ด้วยธรรมะ
ที่ฟังง่ายและเข้าใจไม่ยาก และทุกครั้งที่เทศน์เสร็จแล้ว มักจะให้ผู้ฟัง
ซักถามปัญหาต่างๆ มีอุบาสกคนหนึ่งถามว่า

อุบาสก : “ ข้าพเจ้าเกิดมาก็เจ้าโทสะแล้ว โกรธง่าย ฉุนเฉียวง่าย
โมโหง่าย ทำยังไงถึงจะแก้ไขได้”
พระอาจารย์ : “ไหนเจ้าเอาอะไรที่ว่า “เกิดมาก็มี” มาให้ดูหน่อย
จะได้ช่วยแก้ไขให้”

อุบาสก : “ไม่ใช่ ตอนนี้ไม่มี แต่เมื่อเวลาที่เจอกับเรื่องต่างๆ ไอ้เจ้า
เกิดมาเจ้าโทสะถึงจะวิ่งออกมา”
พระอาจารย์ : “ถ้าตอนนี้ไม่มี ต้องเจอสิ่งที่มากระทบถึงจะมี ก็แปลว่า
เวลาเจ้ามีเรื่องกับคนอื่น เจ้าถึงสร้างมันขึ้นมา
แล้วก็บอกว่าเป็นมาตั้งแต่เกิด ยกเป็นความผิดของพ่อแม่
ดูช่างไม่ยุติธรรมจริงๆ”

อุบาสกนั้นได้ฟังแล้วจึงเกิดความรู้ตัวขึ้นมาว่า “ความโกรธเป็นสิ่งที่จิตสร้าง
ขึ้นมาเอง ตั้งแต่นั้นจึงไม่โกรธอะไรง่ายๆอีก”

         

ฐิตา:

                 

๕๔. มีตัวเราไว้ทำไม

มีพระอาจารย์ท่านหนึ่งเข้านิโรธสมาบัติไปหลายวัน จนเหล่าลูกศิษย์
นึกว่าท่านมรณภาพไปแล้ว เลยนำร่างของท่านไปเผา

ผ่านไปอีกหลายวันเมื่อท่านออกจากนิโรธสมาบัติ ท่านหาร่างตัวเองไม่เจอ
รู้สึกเศร้าโศกเสียใจมาก พร้อมกับพึมพำไปว่า “ข้าล่ะ ข้าอยู่ที่ไหน?”
พอตกกลางคืนท่านก็ยังร้องอีกว่า ข้าล่ะ ทำไมถึงหาร่างของข้าไม่เจอ”
เสียงร้องนั้นยิ่งร้องยิ่งเสียใจหนักขึ้นทุกที เหล่าลูกศิษย์ฟังแล้วก็รู้สึก
ไม่สบายใจไปตามๆกัน

เหล่าลูกศิษย์จึงไปเชิญพระอาจารย์จิ้งคง มาช่วยแก้ไขให้ พระอาจารย์จิ้งคงสั่งว่า
คืนนี้ให้เตรียมไฟมาหนึ่งเตา และน้ำหนึ่งถัง อาจารย์จะไปนอนในห้องพระอาจารย์นั้น
เมื่อท่านมาหากายเนื้อ ข้าจะคุยกับเขาให้เข้าใจว่า “อะไรคือตัวเรา”

พอถึงกลางดึก พระอาจารย์ท่านนั้นมาหากายอีก พลางพูดอย่างเศร้าสร้อยว่า
“ข้าล่ะ กายของข้าอยู่ที่ไหนแล้ว” พระอาจารย์จิ้งคงตอบว่า “อยู่ในดิน”
วิญญาณนั้นจึงมุดเข้าไปในดิน หาจนทั่ว สุดท้ายก็ยังหาร่างของตัวเองไม่เจอ

วิญญาณนั้นกลับมาพูดอย่างเศร้าสร้อยอีกว่า “ในดินไม่มีข้า”
พระอาจารย์จิ้งคงตอบว่า “งั้นคงอยู่ในความว่างเปล่ากระมัง เจ้าลองไปหาดูให้ทั่วซี”
วิญญาณนั้นไปหาอีกจนทั่วก็ไม่เจอ กลับมาต่อว่า หาจนทั่วแล้วไม่เจอ

พระอาจารย์จิ้งคงชี้ไปที่ถังน้ำแล้วพูดว่า “ร่างของท่านคงจะอยู่ในน้ำกระมัง”
วิญญาณนั้นจึงเข้าไปในน้ำ สักครู่วิญญาณนั้นก็ออกมาพูดว่า
“ในน้ำก็ไม่มีข้า ที่แท้ท่านซ่อนข้าไว้ที่ไหน?”

พระอาจารย์จิ้งคงชี้ไปที่เตาไฟแล้วพูดว่า “ถ้าอย่างนั้นท่านต้องอยู่ในไฟแน่นอน
วิญญาณนั้นก็เข้าไปในไฟ ที่สุดก็หาตัวเองไม่เจอ

ก่อนที่วิญญาณนั้นจะพูดอะไร พระอาจารย์จิ้งคงพูดก่อนว่า “ในเมื่อท่านสามารถ
ไปในดิน ที่ว่าง น้ำ ไฟ และทุกแห่งได้อย่างอิสระเสรี ไม่มีที่ไหนที่ท่านไปไม่ได้
แล้วท่านยังจะยึดเอาเปลือกว่างเปล่านั้นมาทำไม?”
วิญญาณนั้นได้คิดขึ้นมา ตั้งแต่นั้นจึงไม่มาหา ”ข้า “ อีกต่อไป

                 

ฐิตา:

                 

๕๕. ความโลภไม่มีสิ้นสุด

ฮ่องเต้องค์หนึ่งถามท่านราชครูว่า “ทำอย่างไรถึงจะได้รับธัมมะของพุทธะ”
“พุทธะอยู่ในใจของตัวเอง ผู้อื่นไม่สามารถที่จะให้ได้ มหาบพิตรเห็นก้อนเมฆ
ที่อยู่ด้านนอกวังนั้นหรือเปล่า? สามารถที่จะให้เหล่าองครักษ์สอยมาไว้ในวัง
ได้หรือเปล่า?”
“ไม่ได้แน่นอน”

ท่านราชครูกล่าวต่อว่า “ผู้คนในโลกที่ศรัทธาในพระพุทธ บางคนศรัทธาเพราะอยาก
ให้พระคุ้มครองให้ได้เกียรติยศชื่อเสียง บางคนเพื่ออยากจะวิงวอนขอให้ได้ทรัพย์สินเงินทอง
บางคนเพื่ออยากจะให้หลุดพ้นจากปัญหาต่างๆที่รุมเร้าทางจิตใจ จะมีสักกี่คนที่จะตามหาแก่นแท้แห่งพุทธะ”

“ทำอย่างไรถึงจะเป็นตัวแทนของพระพุทธ?”
“กิเลสทำให้มหาบพิตรมีความคิดเช่นนี้ อย่าให้ชีวิตหมดไปกับความคิดในเรื่อง
ที่ไม่มีความหมายอะไร กี่สิบปีที่หลงวนมัวเมาอยู่กับความไม่จริง ที่สุดแล้วก็เป็น
เพียงแค่ซากที่เน่าเปื่อยและโครงกะโหลกสีขาวเท่านั้น ทำอย่างนั้นให้ลำบากทำไม?”

“หากว่าไม่มีความวุ่นวายความกังวล?”
“ท่านเหยียบเศียรพระแล้วเดินผ่านไปเถอะ”

“หมายความว่าอย่างไร?”
“คนที่ไม่มีความกังวล จะเห็นตัวเองอย่างชัดเจน แม้จะบำเพ็ญจนกลายเป็นพุทธะ
ก็จะไม่หลงตัวเองว่าเป็นกายของพุทธะที่บริสุทธิ์

มีแต่คนที่จิตมีแต่ความกังวลวุ่นวายถึงคิดแต่จะให้หลุดพ้นจากความวุ่นวายเหล่านั้น
หนทางแห่งการภาวนาเป็นหนทางของคนที่มีจิตสะอาดและสว่าง ไม่สามารถให้คนอื่นทดแทนได้
ปล่อยวางกิเลสของตัวเอง ปล่อยวางทุกสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ก็จะเป็นความจริงที่ว่า
ท่านจะได้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้”

“แม้ว่าจะได้ทุกสิ่งในโลกนี้ก็มีประโยชน์อะไร? ก็ยังไม่ได้เป็นพระพุทธ
“ทำไมถึงจะอยากเป็นพระพุทธ?”
“เพราะว่าข้าอยากจะเป็นพระพุทธที่มีพลังที่ไม่มีใครเหนือกว่าได้”

“ตอนนี้ท่านได้เป็นถึงฮ่องเต้ ยังไม่พออีกหรือ?
ความโลภของคนยากที่จะรู้จักพอ แล้วจะกลายเป็นพระพุทธได้อย่างไร?”


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version