แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

@ นิทานเซ็น @ รวมหลายเรื่องจากเวบไซต์ อกาลิโก

<< < (16/31) > >>

ฐิตา:



๖๓. ๒ สุดท้ายของชีวิต กายไม่ได้มีไว้เพื่อตัวเอง

ฉันคือน้ำ ที่ไหลมาจากบนยอดเขาลงมาสู่ด้านล่าง
ผ่านป่าเขาลำเนาไพร ผ่านโขดหิน
บางครั้งคดเคี้ยว บางครั้งก็ราบเรียบ
บางครั้งก็เป็นน้ำขุ่น บางครั้งก็เป็นน้ำใส
บางครั้งนอนนิ่งๆอยู่กลางหุบเขา แล้วก็ไหลเอื่อยๆไปอย่างช้าๆ

เมื่อมีอุปสรรค ฉันก็อดทนที่จะรอคอย
เมื่อไม่มีสิ่งกีดขวาง ฉันก็มุ่งไปข้างหน้าอย่างไม่หวาดหวั่น
ไม่รู้ผ่านวันเดือนปีไปแล้วเท่าไหร่
สุดท้ายก็กลับไปที่ทะเลชีวิต
นึกว่าจะกลับถึงบ้านแล้ว

แต่ใครจะคิดว่า กลับโดนแสงแดดแผดเผาจนกลายเป็นไอน้ำ
กลายเป็นเมฆขาวลอยอยู่บนท้องฟ้า
แล้วต้องล่องลอยไปตามลม ไปยังที่ๆไม่รู้จัก
กายฉันเหน็ดเหนื่อย ใจฉันอ่อนล้า
ไม่รู้ไปถึงไหนถึงจะได้เจอแหล่งพักพิง



แล้วช่วงเวลานั้น ฟ้ามืดมิด หมอกแน่นหนา
ก้อนเมฆเปลี่ยนจากสีขาวกลายเป็นสีดำ
ทำให้ฉัน ซึ่งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอยู่แล้ว
กลายเป็นอ่อนแอลงไปยิ่งกว่า

ฉับพลันนั้น เมฆดำเริ่มจะรั่วไหลไปอย่างบ้าคลั่ง
ฝนนั้นคือน้ำตา ฝนนั้นคือความทุกข์ ฝนนั้นส่งเสียงร้องไห้
คร่ำครวญกลางสายลม สายฝนเทกระหน่ำ พรั่งพรูอย่างไม่ยอมหยุด
พื้นโลกได้รับความชุ่มชื้น สรรพสิ่งงอกงามเติบโต



ที่แท้ ……
นั่นไม่ใช่ความทุกข์ยากอุปสรรค
แต่เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทำให้เกิดความชุ่มฉ่ำ
สลายตัวเองเพื่อให้ผู้อื่นเติบโตและมีความสุข

ฉันรู้แล้วว่า …….
สุดท้ายของชีวิต ไม่ได้อยู่ที่กายของตนเอง
แต่อยู่ที่เพื่อสรรพสิ่งที่มี


ฐิตา:


   

๖๓. ๓ นิทานไม่จำเป็นต้องมีตอนจบตามมาตรฐาน

สมัยเมื่อเรายังเรียนหนังสือ เวลาเรียนต้องให้อาจารย์บอกคำตอบที่ถูกต้อง
เวลาสอบ ก็ย่อมจะต้องมีคำตอบที่ถูกต้อง
ดูหนัง ดูละคร ก็จะต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคนไหนเป็นคนดี
หรือคนร้าย สุดท้ายนางเอกหรือพระเอกจะได้อยู่ด้วยกันหรือเปล่า?
คนร้ายจะตายหรือเปล่า? ไม่มีตอนจบ ก็คือไม่มีคำตอบ พวกเราก็จะไม่เข้าใจ
นี่คือธรรมเนียมที่เป็นมาตรฐานที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ

ดังนั้นสิ่งที่น่าเสียดายที่สุดคือ พวกเราจะต้องได้คำตอบที่ถูกต้องและสะใจตัวเองที่สุด
คนดีย่อมจะดีถึงที่สุด คนร้ายไม่มีจิตใจ ใจดำชนิดที่ไม่มีสีอื่นผสมอยู่เลย
คนร้ายต้องลงเอยอย่างเลวร้าย คนดีจะต้องได้รับผลดีตอบสนอง
มีคำตอบมาอย่างชัดเจน ไม่ต้องเปลืองสมองคิดแต่อย่างไร
แต่จริงๆแล้ว ชีวิตจริงของคนเรามีเรื่องราวมากมายที่มักจะไม่ได้คำตอบ

คนที่น่ารำคาญในบริษัท เมื่อกลับถึงบ้านอาจจะเป็นพ่อที่ดีของลูก
เพราะว่าเขาต้องให้สิ่งดีที่สุดแก่ลูกของเขา เลยจำเป็นต้องชิงดีชิงเด่นกับ
ผู้อื่นในบริษัท เพื่อจะได้นำเงินเดือนที่สูงขึ้นไปซื้อของที่ดีให้กับลูกของเขา
แล้วคุณจะบอกว่าเขาเป็นคนดีหรือคนชั่ว?

คนสูงอายุคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบ แต่ก็เป็นมะเร็ง
แล้วคุณจะบอกว่า นี่คือการลงเอยของคนดีหรือคนร้าย?

เรื่องราวเหล่านี้เกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิตคน
นิสัยคนเรามีมากมายสับสน วุ่นวายไปหมด
พวกเราต้องผ่านประสบการณ์ ผ่านเรื่องราวมาร้อยแปด
จึงจะเข้าใจสิ่งต่างๆได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ชีวิตที่แท้จริงจะต้องเดินไปประสบพบเห็นเองถึงจะเข้าใจถึงแก่นแท้
คนอื่นจะพูดอย่างไร ก็คงอยู่ในของเขตที่จำกัด
นี่คือชีวิต บางเรื่องราวเราไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือก บางสิ่งเราก็อาจจะควบคุมได้
นิทานก็เหมือนกับชีวิต ซึ่งตอนจบไม่จำเป็นจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่คนตั้งไว้

           

ฐิตา:


     

๖๓. ๔ เมล็ดพันธุ์ที่สลายไป

เมล็ดพันธุ์ของต้นไม้ต้นหนึ่ง บังเอิญหล่นลงมายังพื้นดิน
แล้วเมล็ดนั้นก็เงยหน้าขึ้นมา เห็นแม่ของตัวเอง
เป็นต้นไม้พันปีต้นหนึ่ง ลำต้นยืนอยู่อย่างมั่นคงสง่าผ่าเผย
ตัดกับด้านหลังซึ่งเป็นฟ้าสีครามอันกว้างใหญ่ไพศาล
ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของแม่ตัวเอง

“แม่ แม่ ทำไมแม่ถึงยืนได้อย่างยิ่งใหญ่บนพื้นโลก? เมล็ดพันธุ์ถาม
ต้นไม้ผู้เป็นแม่พูดกับลูกอย่างปรานีว่า
“นี่ไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ แต่มันเป็นสิ่งที่เติบโตขึ้นมาเองตามธรรมชาติ
เมล็ดพันธุ์ทุกเม็ดของเรา เพียงแค่มีความสมบูรณ์แข็งแรง
ดูดน้ำ รับฝน และรับแสงแดด ก็จะเติบโตได้เองตามธรรมชาติ
แต่ก็ต้องทนผ่านประสบการณ์จากลมแรงฟ้าคะนอง ผ่านฤดูกาลต่างๆ
ลูกเอ๋ย วันหนึ่งเจ้าก็จะเติบโต และสูงใหญ่เท่าแม่”
เมล็ดพันธุ์นั้นยังรู้สึกงงงวยต่อชีวิตในอนาคต

“ แต่ แม่ครับทำอย่างไรลูกถึงจะตั้งลำต้นได้อย่างมั่นคง ลูกต้องทำอย่างไร?”
“ลูกรักของแม่ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเจ้าจะต้องย่อยสลายตัวเองก่อน
ทำตัวเองให้หลอมละลายอยู่ในดิน หลังจากนั้นก็แตกยอดอ่อนออกมา
กลายเป็นต้นไม้ต้นหนึ่ง ขอให้เป็นต้นไม้ วันหนึ่งเจ้าก็จะเหมือนแม่เอง
รับรู้ความสุขจากท้องฟ้า สายลมและแสงแดด”

“แม่ครับ ลูกต้องย่อยสลายไป มันน่ากลัวนะแม่ และถ้าหากลูกหลอมละลาย
ปนอยู่ในดินแล้ว ไม่ได้โตมาเป็นต้นไม้ แล้วกลายเป็นดิน แล้วลูกจะทำอย่างไรครับ?
แล้วไม่ต้องอยู่ในดินที่มืดมิดเปียกชื้นตลอดไปหรือ?
อย่างนี้เป็นการเสี่ยงภัยเกินไปแล้ว เอาอย่างนี้ดีกว่า ขอให้ลูกเหลือเมล็ดพันธุ์สักครึ่ง อีกครึ่งโตเป็นต้นไม้ดีกว่า”
ผู้เป็นลูกตั้งใจว่าจะทำอย่างนั้น ขอเลือกครึ่งหนึ่งสลายไป อีกครึ่งหนึ่ง
หลอมรวมลงดิน เพื่อความสบายใจในความปลอดภัยของตัวเอง

ผู้เป็นแม่ถอนใจยาว ทุกๆปีนางจะเกิดเมล็ดพันธุ์ขึ้นมากมาย แต่มีเพียง
เมล็ดพันธุ์เม็ดสองเม็ดเท่านั้นที่จะยอมย่อยสลาย แล้วเติบโตเป็นต้นไม้
ส่วนพวกที่บังเอิญหล่นลงมา ปล่อยให้ตัวเองเน่าเปื่อย แล้วก็กลายเป็นดิน
สูญสลายหายไปจริงๆ

         

ฐิตา:

         

๖๔. หาตัวตนของตัวเองที่หายไป

มีพระรูปหนึ่งบวชเรียนผ่านไป 20 พรรษาแล้ว ก็ยังไม่บรรลุธรรม
จิตใจจึงรู้สึกว้าวุ่นและกระวนกระวาย

วันหนึ่งพระอาจารย์ ใช้ให้ไปทำธุระที่ข้างนอกที่ต้องใช้เวลาถึง 1 ปี
เขาคิดในใจว่า “ต้องใช้เวลานานขนาดนี้ ตัวเองก็ปฏิบัติธรรมไม่มี
ความก้าวหน้าอะไร นี่ไม่ใช่เป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
หรือ “ เลยทำให้จิตใจมีแต่ความทุกข์กังวล

พระอีกรูปหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนกัน ได้ยินเพื่อนมาปรับทุกข์
เลยพูดปลอบว่าข้าจะไปเป็นเพื่อนเจ้า ขณะที่เดินทางไปนั้น
ข้าอาจจะพอแนะนำอะไรที่เกี่ยวกับการภาวนาได้บ้าง”
พระรูปนั้นได้ยินแล้วดีใจมาก แล้วทั้งสองก็เดินทางไปด้วยกัน

ขณะที่เดินทางไปด้วยกัน พระที่ไปเป็นเพื่อนมักจะคุยและมีเรื่องสนุกทั้งวัน
เหมือนกับจะลืมปณิธานที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น พระรูปนั้นรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก
จึงร้องขอให้เพื่อนช่วยเหลือเรื่องการปฏิบัติธรรม



“ไม่ใช่ข้าไม่ช่วยเหลือเจ้า แต่ข้าช่วยเจ้าไม่ได้จริงๆ ตลอดการเดินทาง สิ่งที่
เจ้าจะต้องทำเอง มี 5 อย่าง”
“5 อย่าง มีอะไรบ้าง?”
“ฉัน ดื่ม ถ่ายหนัก ถ่ายเบา นอน”

ขณะที่เพื่อนพูดจบ พระรูปนั้นเข้าใจได้โดยฉับพลัน ที่สุดเขาก็รู้แจ้งแล้ว
จากคำพูดไม่กี่คำทำให้รู้จัก “ตัวตนของตัวเอง”
ดังนั้นเขาจึงเดินทางต่อไปตามลำพัง ไม่ต้องการเพื่อนไปด้วยอีกแล้ว

หนึ่งปีผ่านไป เมื่อเขากลับมาถึงวัด ทันทีที่พระอาจารย์เห็นหน้าก็พูดกับเขาว่า
“ในที่สุดเจ้าก็หาตัวตนที่แท้จริงของเจ้าได้แล้ว”

นึกถึงตลอด 20 ปีที่ผ่านมาตัวเองช่างไม่เดียงสาเสียจริงๆ
ทุกอย่างก็คิดจะพึ่งพิงแต่อาจารย์ นึกว่าหากห่างไกลจากอาจารย์แล้ว
จะภาวนาไม่ได้ จนทำให้การรู้แจ้งล่าช้าไปมาก
หลังจากการชี้แนะของกัลยาณมิตร จนได้ค้นพบตัวตนของตนเอง
และเมื่อรู้ว่ารากเหง้าของการภาวนาล้วนแต่ต้องอาศัย
“รู้เอง ทำเอง เห็นเอง” ตนเองถึงได้เริ่มต้นเดินไปสู่
“วิถีแห่งการรู้แจ้ง”

         

ฐิตา:



๖๔. ๑ หมั่นพิจารณาถึงอนิจจัง

มีชายหนุ่มคนหนึ่งอยากจะเข้าใจชีวิตให้แจ่มแจ้ง
ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจจะเดินทางออกไปดูโลกกว้าง
ขณะที่เดินไปถึงอีกหมู่บ้านหนึ่ง เจอเพื่อนและภรรยาของเพื่อน
ซึ่งตั้งครรภ์อยู่ จากการคะยั้นคะยอด้วยความมีน้ำใจของเพื่อน
จึงตัดสินใจอยู่พักชั่วคราว

แต่ใครจะรู้ว่า เพียงแค่ชั่วข้ามคืน เมื่อเพื่อนของเขาออกไปทำงานข้างนอก
ก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทำให้ภรรยาของเพื่อนต้องเศร้าโศก เสียใจ
ไม่เป็นอันกินอันนอน และตรอมใจจนทำให้ต้องคลอดลูกก่อนกำหนด

ชั่วเวลา “การเกิด กับ การตาย” ที่ได้เห็น ทำให้ชายหนุ่มนั้นเห็นถึงความไม่
เที่ยง ความไม่เที่ยงทำให้คนต้องตาย และก็เป็นความไม่เที่ยงที่ทำให้เกิด
อนิจจังทำให้คนเป็นทุกข์ แล้วก็เป็นอนิจจังที่พาความสุขมาให้
วินาทีนี้ ไม่รู้ว่า อนิจจังนี้ พาความทุกข์หรือพาความสุชมาให้เขา

เมื่อจัดการงานศพให้เพื่อนแล้ว เขาก็เดินทางต่อไป
และเมื่อเดินทางถึงเมืองๆหนึ่ง เห็นพี่น้องคู่หนึ่ง
คนพี่ซึ่งเดินนำหน้าอยู่ มีใบหน้าที่เต็มไปด้วยความสุขสมหวัง
เหมือนกับประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน
ส่วนคนน้องที่เดินตามมา ใบหน้าเต็มไปด้วยความผิดหวัง
เหมือนกับถูกบีบคั้นจากโชคชะตาอย่างน่าสงสาร
ชายหนุ่มเห็นฉากชีวิต ลักษณะนี้แล้ว รู้สึกขำอยู่ในใจ

แล้วก็ตัดสินใจพำนักอยู่ในเมืองนี้
เพื่อจะได้พินิจพิจารณาลักษณะของบุคคลต่างๆ
หลังจากเวลาผ่านไปสิบปี ชายหนุ่มนั้นก็เข้าสู่วัยกลางคนแล้ว

และพี่น้องคนที่เขาเคยพบเมื่อเดินเข้าเมืองครั้งแรก
คนพี่เนื่องจากเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง และ เจ้าสำราญ
ผ่านไปไม่นาน กิจการก็ล้มเหลว
ส่วนคนน้อง เป็นคนจริงจังและซื่อตรง ทำงานทำการด้วยความระมัดระวัง
และรักษาสัจจะ ที่สุดก็ประสบความสำเร็จในชีวิต



ช่วงเวลา “แห่งความสำเร็จและความพ่ายแพ้” ทำให้ชายคนนั้นรู้สึกถึง
การเปลี่ยนแปลงของชีวิต อนิจจัง นำพาความสมหวังมาให้
และอนิจจังก็นำพาความผิดหวังมาให้มนุษย์เรา
วินาทีนี้ เขาไม่รู้ว่า อนิจจังเป็นสิ่งที่ดีหรือเลว

เวลาผ่านไปไม่รู้อีกนานเท่าไหร่ จากวัยกลางคนก็ล่วงเลยเข้าสู่วัยชรา
เขาคิดในใจว่า ถึงเวลาแล้วที่จะกลับไปสู่บ้านเกิด
ช่วงเวลาแห่งการ “จากมา แล้ว กลับไป” ทำให้เขารู้สึกถึงความ
ไม่เป็นแก่นสารของชีวิต ความอนิจจังทำให้คนเป็นหนุ่ม
แล้วก็เป็นความอนิจจัง ที่ทำให้คนแก่ ความไม่เที่ยงทำให้เกิดวันพรุ่งนี้
และเพราะความไม่เที่ยงอาจจะทำให้คนไม่มีวันพรุ่งนี้
วินาทีนั้น เขาไม่รู้ว่า ความไม่เที่ยงเป็นกุศลหรือเลวร้าย

ท่านล่ะ เข้าใจคำว่า ”อนิจจัง” หรือเปล่า? มีความคิดเห็นว่าอย่างไร?
พระท่านกล่าวว่า “ทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง” ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นย่อม
จะต้องมีเหตุมีปัจจัยมารวมกันจึงทำให้มีการเกิดและดับ
พวกเราเคยมองเห็นกันบ้างหรือเปล่า? หรือยังคงจะยึดมั่นถือมั่นอยู่กับ
เกียรติยศ ชื่อเสียง ความอยากมีอยากได้อยู่อีก

หากเรามั่นนึกถึงความไม่เที่ยง จิตของเราจะคลายความยึดมั่นถือมั่น
จิตจะไม่พยายามปรุงแต่ง เพ้อฝัน
หมั่นพยายามนึกถึงอนิจจัง จิตจะไม่แข็งทื่อ
จิตจะอ่อนโยน นุ่มนวลควรค่าแก่การใช้งาน
และจะคลายความยึดติดว่านั่นเป็น “ ตัวเราของเรา “
และที่สุดจิตจะ สะอาด สว่าง และ สงบ อย่างไร้ของเขต

ที่มา สมาชิกเว็บบอร์ดชาวเซน ของไต้หวัน


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version