ผู้เขียน หัวข้อ: องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๖. สัมมาวายามะ)  (อ่าน 1584 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


                 

องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๖. สัมมาวายามะ)
ความหมาย และประเภท

 องค์มรรคข้อนี้ เป็นข้อแรกในหมวดสมาธิ หรือ อธิจิตตสิกขา มีคำจำกัดความแบบพระสูตรดังนี้
 ภิกษุทั้งหลาย สัมมาวายามะ เป็นไฉน? นี้เรียกว่าสัมมาวายามะ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
 ๑) สร้างฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่นเพื่อ (ป้องกัน) อกุศลธรรมอันเป็นบาป ที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น
 ๒) สร้างฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อละอกุศลธรรมอันเป็นบาป ที่เกิดขึ้นแล้ว
 ๓) สร้างฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่นเพื่อ (สร้าง) กุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น
 ๔) สร้างฉันทะ พยายาม ระดมความเพียร คอยเร้าจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย เพื่อภิญโญภาพ เพื่อความไพบูลย์ เจริญเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว

 ส่วนในอภิธรรม มีคำจำกัดความเพิ่มอีกแบบหนึ่ง ดังนี้
 สัมมาวายามะ เป็นไฉน ? การระดมความเพียร (วิริยารัมภะ) ทางใจ ความก้าวหน้า ความบากบั่น ความขะมักเขม้น ความพยายาม ความอุตสาหะ ความอึดสู้ ความเข้มแข็ง ความมั่นคง ความก้าวหน้าไม่ลดละ ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ การแบกทูนเอาธุระไป วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ วิริยสัมโพชฌงค์ ที่เป็นองค์มรรค นับเนื่องในมรรค นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ

 สัมมาวายามะ อย่างที่แยกเป็น ๔ ข้อ ตามคำจำกัดความแบบพระสูตร นั้น เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า สัมมัปปธาน  หรือ ปธาน ๔  และมีชื่อเรียกเฉพาะสำหรับความเพียรแต่ละข้อนั้นว่า
๑. สังวรปธาน เพียรป้องกัน หรือเพียรระวัง (อกุศลที่ยังไม่เกิด)
 ๒. ปหานปธาน เพียรละ หรือเพียรกำจัด (อกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว)
 ๓. ภาวนาปธาน เพียรเจริญ หรือเพียรสร้าง (กุศลที่ยังไม่เกิด)
 ๔. อนุรักขนาปธาน เพียรอนุรักษ์ หรือเพียรรักษาและส่งเสริม (กุศลที่เกิดขึ้นแล้ว)



 บางแห่งมีคำอธิบายแบบยกตัวอย่างความเพียร ๔ ข้อนี้ เช่น
 ๑. สังวรปธาน ได้แก่ ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต (ไม่คิดเคลิ้มหลงติดในรูปลักษณะทั่วไป) ไม่ถืออนุพยัญชนะ (ไม่คิดเคลิ้มหลงติดในลักษณะปลีกย่อย) ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะพึงเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม คืออภิชฌาและโทมนัส ครอบงำเอาได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู สูดกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ (ก็เช่นเดียวกัน)
 ๒. ปหานปธาน ได้แก่ ภิกษุไม่ยอมให้กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก และบาปอกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วตั้งตัวอยู่ได้ ย่อมละเสีย บรรเทาเสีย กระทำให้หมดสิ้นไปเสีย ทำให้ไม่มีเหลืออยู่เลย
 ๓. ภาวนาปธาน ได้แก่ ภิกษุเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการ ซึ่งอิงวิเวก อิงวิราคะ อิงนิโรธ โน้มไปเพื่อการสลัดพ้น
 ๔. อนุรักขนาปธาน ได้แก่ ภิกษุคอยถนอมสมาธินิมิตอันดี คือ สัญญา ๖ ประการที่เกิดขึ้นแล้วความสำคัญพิเศษของความเพียร

 ความเพียรเป็นคุณธรรมสำคัญยิ่งข้อหนึ่งในพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากการที่สัมมาวายามะ เป็นองค์มรรคประจำ ๑ ใน ๓ ข้อ (สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ) ซึ่งต้องคอยช่วยหนุนองค์มรรคข้ออื่นๆ ทุกข้อเสมอไป ดังกล่าวแล้วข้างต้น  และในหมวดธรรมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติแทบทุกหมวด จะพบความเพียรแทรกอยู่ด้วย ในชื่อใดชื่อหนึ่ง การเน้นความสำคัญของธรรมข้อนี้ อาจพิจารณาได้จากพุทธพจน์ เช่น

 ธรรมนี้ เป็นของสำหรับผู้ปรารภความเพียร มิใช่สำหรับคนเกียจคร้าน
 ภิกษุทั้งหลาย เรารู้ชัดถึงคุณของธรรม ๒ ประการ คือ
๑) ความเป็นผู้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย
  (อสนฺตุฏฺ€ิตา กุสเลสุ ธมฺเมสุ)
 ๒) ความเป็นผู้ไม่ยอมถอยหลังในการบำเพ็ญเพียร
  (อปฺปฏิวาณิตา ปธานสฺมึ)


 ...เพราะฉะนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาดังนี้ว่า –เราจักตั้งความเพียรอันไม่ถอยหลัง ถึงจะเหลือแต่หนัง เอ็นและกระดูก เนื้อและเลือดในสรีระจะแห้งเหือดไปก็ตามที ยังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงลุถึงได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว ที่จะหยุดยั้งความเพียรเสีย เป็นอันไม่มี ? เธอทั้งหลายพึงศึกษาฉะนี้แล การที่ต้องเน้นความสำคัญของความเพียรนั้น นอกจากเหตุผลอย่างอื่นแล้ว ย่อมสืบเนื่องมาจากหลักพื้นฐานของพระพุทธศาสนาที่ว่า สัจธรรมเป็นกฎธรรมชาติ หรือหลักความจริงที่มีอยู่โดยธรรมดา พระพุทธเจ้าหรือศาสดามีฐานะเป็นผู้ค้นพบหลักความจริงนั้น แล้วนำมาเปิดเผยแก่ผู้อื่น การได้รับผลจากการปฏิบัติ เป็นเรื่องของความเป็นไปอันเที่ยงธรรมตามเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ศาสดามิใช่ผู้บันดาล เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกคนจึงจำเป็นต้องเพียรพยายามสร้างผลสำเร็จด้วยเรี่ยวแรงของตน ไม่ควรคิดหวังและอ้อนวอนขอผลที่ต้องการโดยไม่กระทำ หลักพุทธศาสนาในเรื่องนี้ จึงมีว่า

 ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา
ความเพียร ท่านทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตทั้งหลาย เป็นแต่ผู้บอก(ทาง) ให้
 ความเพียรที่พอดี ด้วยความสมดุลแห่งอินทรีย์


 อย่างไรก็ตาม การทำความเพียร ก็เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรมข้ออื่นๆ จะต้องเริ่มก่อตัวขึ้นในใจให้พร้อมและถูกต้องก่อน แล้วจึงขยายออกไปเป็นการกระทำภายนอก ให้ประสานกลมกลืนกัน มิใช่คิดอยากทำความเพียร ก็สักแต่ว่าระดมใช้กำลังกายเอาแรงเข้าทุ่ม ซึ่งอาจกลายเป็นการทรมานตนเอง ทำให้เกิดผลเสียได้มาก
 โดยนัยนี้ การทำความเพียรจึงต้องสอดคล้องกลมกลืนกันไปกับธรรมข้ออื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะสติสัมปชัญญะ มีความรู้ความเข้าใจ ใช้ปัญญาดำเนินความเพียรให้พอเหมาะ อย่างที่เรียกว่าไม่ตึง และไม่หย่อนเกินไป
ดังเรื่องต่อไปนี้

 ครั้งนั้น ท่านพระโสณะพำนักอยู่ในป่าสีตวัน ใกล้เมืองราชคฤห์ ท่านได้ทำความเพียรอย่างแรงกล้า เดินจงกรมจนเท้าแตกทั้งสองข้าง แต่ไม่สำเร็จผล คราวหนึ่ง ขณะอยู่ในที่สงัด จึงเกิดความคิดขึ้นว่า
 “บรรดาสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่เป็นผู้ตั้งหน้าทำความเพียร เราก็เป็นผู้หนึ่ง ถึงกระนั้นจิตของเราก็หาหลุดพ้นจากอาสวะหมดอุปาทานไม่ ก็แหละ ตระกูลของเราก็มีโภคะ เราจะใช้จ่ายโภคสมบัติ และทำความดีต่างๆ ไปด้วยก็ได้ อย่ากระนั้นเลย เราจะลาสิกขา ไปใช้จ่ายโภคสมบัติ และบำเพ็ญความดีต่างๆ

 พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของท่านพระโสณะ และได้เสด็จมาสนทนาด้วย
พระพุทธเจ้า   : โสณะ เธอเกิดความคิด (ดังกล่าวแล้ว) มิใช่หรือ ?
โสณะ   : ถูกแล้ว พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า  : เธอคิดเห็นอย่างไร? ครั้งก่อน เมื่อเป็นคฤหัสถ์ เธอเป็นผู้ชำนาญในการดีดพิณมิใช่หรือ?
โสณะ   : ถูกแล้ว พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า  : เธอคิดเห็นอย่างไร?  คราวใดสายพิณของเธอตึงเกินไปคราวนั้นพิณของเธอมีเสียงเพราะ หรือเหมาะที่จะใช้การกระนั้นหรือ?
โสณะ   : หามิได้ พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า  : เธอคิดเห็นอย่างไร? คราวใด สายพิณของเธอหย่อนเกินไป คราวนั้นพิณของเธอ มีเสียงเพราะ หรือเหมาะที่จะใช้
    การ กระนั้นหรือ?
โสณะ   :  หามิได้ พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า  : แต่คราวใด สายพิณของเธอ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไปตั้งอยู่ในระดับพอดี คราวนั้นพิณของเธอ จึงจะมีเสียงไพเราะ หรือเหมาะที่จะใช้การ ใช่ไหม?
พระโสณะ  : ถูกแล้ว พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า  : ฉันนั้นเหมือนกัน โสณะ ความเพียรที่ระดมมากเกินไปย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่หย่อนเกินไปย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้งใจกำหนดความเพียรให้เสมอพอเหมาะ จงเข้าใจความเสมอพอดีกัน แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย  และจงถือนิมิตในความเสมอพอดีกันนั้น