การเสพความงามของชาวญี่ปุ่น ก่อนอื่นเราจะต้องพิจารณาถึงวิธีการเสพความงามของชาวญี่ปุ่นกัน
ก่อน เพราะเขามีวิธีเลือกเสพแตกต่างกับไทยเรา
ไฮกุ คือ บทกวีที่มีความกำหนดสำนึก อันได้จากการมองดูความ
ละเอียดอ่อนของธรรมชาติทุกระดับและทุกมุม
เมื่อเราสัมผัสธรรมชาติ เราสัมผัสและเลือกชื่นชมในแง่ที่ธรรมชาติ
ให้ความสุขทางใจ ทางกายแก่เรา เมื่อเราพรรณนาแสงเดือน
แสงแดด เราจะพรรณนาสีเงินสีทองอันอร่ามตา ดอกไม้ที่เราพรรณนา
มีกลิ่นหอม มีนามอันสอดคล้องกันและกัน เมื่อเราพูดถึงความเศร้า
เราพรรณนาความเศร้าอยู่อย่างเดียว คือความเศร้าโศกที่จากกับคน
รัก ความไม่สมหวังในรัก อกหัก
คำพรรณนาทั้งหมดนี้ กวีเราวาดไว้จบสมบูรณ์สุดสิ้นและจบแบบปิด
หน้าหนังสือกัน
แต่ไฮกุ มิใช่เช่นนั้น มันไม่จบเมื่อสิ้นบรรทัด ผู้อ่านเป็นผู้ต่อ และจะ
จบลงเมื่อไรอยู่ที่จินตนาการและปัญญาอารมณ์ของผู้อ่านแต่ละคนไป
เช่นเดียวกับภาพเขียนของญี่ปุ่น อันปรากฏความเว้นว่างอยู่ในองค์
ประกอบของภาพ เพื่อให้จินตนาการของผู้ดู สร้างต่อ หรือเช่นเดียวกับ
ท่า “นิ่งค้าง” ของละคร “โนะ” ซึ่งทิ้งไว้ให้ผู้ดูละครต่อ “การเคลื่อนไหว”
เอา เองในจินตนาการของตน เราจะเห็นว่า การชื่นชมศิลปะของไทย
กับญี่ปุ่น แตกต่างกันในแง่สำคัญ คือ การไม่เสร็จ (ของญี่ปุ่น ) และ
จบสิ้นเชิง (ของไทย)
อีกประการหนึ่ง ซึ่งไทยไม่มี คือ การที่ญี่ปุ่นเห็นความไม่น่าชื่นชมเป็น
ของที่ชื่นชม ไทยเราชอบดูแสงทองอร่ามของตะวัน แสงเงินสกาวของ
พระจันทร์ แต่ความว้าเหว่ ความทอดทิ้งเปล่าเปลี่ยว ความหนาวเหน็บ
ความผุกร่อนของเวลา ความสลดรันทด ความเงียบสงัดเหล่านี้ เรามอง
ข้าม ซึ่งญี่ปุ่นนิยมนักหนา สนิมที่กร่อนอันเป็นร่องรอยของเวลา ญี่ปุ่น
เห็นว่าเป็นของมีค่าเท่า ๆ กับความโปนปูดของเนื้อไม้ซึ่งถูกเวลาที่ล่วงไป
ชะล้างขัดถู ดังปรากฏในบ้านของชาวญี่ปุ่น เท่า ๆ กับไม้ทาสีทับหรือพ่น
มันวาบวับด้วยแลคเคอร์ของไทย ความชื่นชมในความงาม ตามแง่ของ
ญี่ปุ่น คือ การยอมรับสภาพอันแท้จริงของธรรมชาติที่มีความเสื่อม
เมื่อเจริญถึงขีดสุดแล้ว และแสดงความปรารถนาในความความงามอัน
เป็นเนื้อแท้ นี่คือข้อแตกต่างกันของการเสพและสัมผัสความงามของเรา
และญี่ปุ่น
ขอย้อนกลับไปที่ บทกวีไฮกุ ของบาโช ข้างต้นอีกครั้ง
ไฮกุบรรทัดแรกของบาโช นำเราไปที่สระโบราณเก่าแก่สระหนึ่ง บาโช
สร้างจินตนาการให้แก่ผู้อ่านถึงความหลัง สนิมของเวลาที่ขึ้นจับอยู่กับสระ
เก่าแห่งนี้สนิมที่คนญี่ปุ่นรัก พร้อมกับสระเก่าโบราณ บาโชสร้างความสงัด
เงียบขึ้นพร้อมกัน ไม่มีคำว่าเงียบในบรรทัดแรกของไฮกุ แต่เราสัมผัส
ความเงียบนั้นได้ เพราะคำว่าโบราณนั้นเองสร้างขึ้นคู่กับตัวเอง เช่นเดียว
กับเมื่อเราแวะเที่ยวไปเมืองโบราณหรือสัมผัสของเก่า หรืออ่านเรื่องของอดีต
เรารู้สึกถึงความสงัดของอดีตนั้น อดีตที่ถอยออกไปจากเราและยืนสงบเงียบ
สระน้ำนั้นสะท้อนเงาสรรพสิ่งที่ล้อมรอบมันอยู่ เป็นภาพที่สงัดและสมบูรณ์ดุจ
กระจกแผ่นใหญ่ที่ดีที่สุดที่จะหาได้บนโลกมนุษย์ จินตนาการและอารมณ์เริ่ม
เคลื่อนที่และไหว เมื่อมาถึงบรรทัดที่ 2 คือ กบกระโดดลงไปในสระน้ำ นี่เป็น
พลังงานซึ่งเกิดอย่างทันที และบรรทัดที่ 3 ของไฮกุบทนี้ คือผลลัพธ์เสียงที่
ทำลายความสงัด ภาพที่แตกกระจัดกระจายคุมกันไม่ติดเพราะละลอกที่เกิด
จากกบกระโจนลงไป
การเปลี่ยนแปลงจากความสมบูรณ์มาสู่ความระส่ำระสาย และแล้วใน
จินตนาการอันสืบต่อไป ภาพนั้นจะค่อย ๆ คืนไปสู่ความสมบูรณ์อีกครั้ง
เมื่อละลอกคลื่นในสระสงบลง อารมณ์แบบนี้เป็นความรู้สึกเศร้าระคนสุข
มีคำญี่ปุ่นที่ใช้เฉพาะอารมณ์ชนิดนี้ คือ วาบิ และ ซาบิ อันหาคำไทย
เทียบยังไม่ได้
การเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งนั้นมีทั้งความงามและเศร้า ความงามให้
ความสุขเมื่อเราได้สัมผัสมัน ทำให้เกิดความปรารถนา เมื่อความปรารถนา
นั้นต้องสุดสิ้นลงเพราะการเปลี่ยนสภาวะลงสู่ความเสื่อมโทรม ย่อมเกิดความ
รู้สึกตอนที่รันทดขึ้น ผู้อ่านทุกคนคงเคยได้รับรสสัมผัสของมันมาบ้างไม่มาก
ก็น้อย แต่สำหรับคนญี่ปุ่นซึ้งรสแบบนี้มากกว่าเรา เขาจึงจับรสนี้ได้ถนัดกว่า
บาโช ได้วางแนวการรจนาไฮกุว่า ควรประกอบด้วย คุณสมบัติดังนี้ คือมี
ซาบิ ชิโอริ โฮโซมิ และความเบา (Lightness) และเทคนิคของการรจนา
ไฮกุ บาโช ได้กล่าวว่า จะสำเร็จได้ผลก็โดยอาศัย ความดลใจ (Inspiration)
เยื่อใยหรือกลิ่นอาวรณ์ (Fragrance) การไหวรับ
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งตกใจ ว่ายากจังเลย เราค่อย ๆ ศึกษา
ไปจะดีกว่าครับ เริ่มต้นเอาง่าย ๆ หรือเบื้องต้นก่อน