ผู้เขียน หัวข้อ: พระสูตรล่องหน :เท็ตสุเง็น  (อ่าน 6046 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
พระสูตรล่องหน :เท็ตสุเง็น
« เมื่อ: มีนาคม 27, 2013, 12:08:33 pm »


พระสูตรล่องหน
เท็ตสุเง็น นักบวชเซนผู้มีศรัธาแรงกล้า เขาตั้งใจจะพิมพ์พระสูตรซึ่งเวลานั้นมีเฉพาะฉบับภาษาจีน ยังไม่มีใครพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่น การพิมพ์หนังสือต้องพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้จำนวน ๗๐๐๐ ชุด ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก

เท็ตสุเง็นเริ่มเดินทางเพื่อหาทุนและสะสมเงินบริจาคสำหรับงานนี้ มีผู้เห็นอกเห็นใจเพียงสองสามคนที่ให้เงิน ๑๐๐ เหรียญทอง แต่ส่วนมากเขามักได้เพียงเศษเงินเหรียญเล็กๆ เขาขอบคุณผู้บริจาคด้วยอาการที่เหมือนๆ กัน

๑๐ ปีผ่านไป เท็ตสุเง็นมีเงินพอที่จะเริ่มพิมพ์พระสูตร แต่เวลานั้นเกิดอุทกภัยจากแม่น้ำอูจิ ทุพภิกขภัยจึงเกิดตามมา เท็ตสุเง็นจึงนำเงินที่เขาสะสมเอาไว้เพื่อพิมพ์หนังสือ ออกมาใช้ช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับความอดอยากจนหมด

ดังนั้น เท็ตสุเง็นจึงเริ่มต้นการสะสมเงินทุนอีกครั้ง หลายปีต่อมา เกิดโรคระบาดทั่วประเทศ เท็ตสุเง็นก็ใช้เงินที่เขาสะสมใช้ช่วยเหลือประชาชนจนหมด

เท็ตสุเง็น เริ่มต้นใหม่เป็นครั้งที่สาม เขาเริ่มหาทุนและสะสมทุน ๒๐ ปีต่อมาเขาก็ประสบความสำเร็จ พระสูตรภาษาญี่ปุ่นถือกำเนิดขึ้นมาเพราะ ‘เท็ตสุเง็น’

แม่พิมพ์ที่ใช้พิมพ์พระสูตรฉบับแรก ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดโอบากุ ในเมืองเกียวโต ชาวญี่ปุ่นบอกกับเด็กๆ ลูกๆหลานๆของเขาว่า
“เท็ตสุเง็นทำพระสูตรออกมาสามชุด สองชุดแรกเป็นพระสูตรล่องหน ดีกว่าชุดที่สามเสียอีก”

               
: http://www.facebook.com/tongrak.s?notif_t=friend_confirmed

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 13, 2017, 08:48:38 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: “จิตก่อนการคิด" Zen Smile Zen Wisdom
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 08, 2013, 02:20:46 pm »

                     

“จิตก่อนการคิด" Zen Smile Zen Wisdom
“...ละทิ้งความคิดเห็นทั้งปวง ทั้งความชอบและความชัง และรักษาจิตอันไม่รู้ไว้ นี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง จิตอันไม่รู้นี้เองเป็นจิตที่ตัดความคิดทั้งหลายออกไป และเมื่อการคิดทั้งหลายถูกตัดออก เธอก็จะกลายเป็นจิตอันว่างเปล่า นี่คือสิ่งที่มีก่อนการคิด

“จิตก่อนการคิดของเธอ จิตก่อนการคิดของฉัน และจิตก่อนการคิดของทุกผู้คนนั้นเหมือนกัน มันคือแก่นแท้ของเธอ ซึ่งแก่นแท้ของเธอ แก่นแท้ของฉัน และแก่นแท้ของจักรวาลทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้น ต้นไม้ ภูเขา เมฆ และเธอ ล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน

“เอาล่ะ ฉันของถามเธอว่า ภูเขาและตัวเธอนั้นเหมือนหรือแตกต่างกัน?
“ถ้าเธอตอบว่า ‘เหมือน’ ฉันจะตีเธอสามสิบที ถ้าเธอตอบว่า ‘แตกต่าง’ ฉันก็ยังจะตีเธอสามสิบที ทำไมล่ะ?

“จิตที่เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลนั้นมีอยู่ก่อนการคิด และก่อนการคิดนั้นไร้คำพูดใดๆ ‘เหมือน’ หรือ ‘แตกต่าง’ นั้นเป็นคำตรงกันข้ามอันเกิดจากจิตไปแบ่งแยกสิ่งทั้งหลาย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมฉันจึงจะตีเธอ ถ้าเธอตอบแม้อันใดอันหนึ่ง
“ดังนั้น จะตอบอะไรดีล่ะ? ถ้าเธอไม่เข้าใจ เพียงรักษาจิตไว้แค่สักครู่หนึ่ง ไม่ช้าเธอจะมีคำตอบที่ดี ถ้าเธอทำเช่นนั้นแล้ว โปรดบอกให้ฉันรู้ด้วย
“เธอถามฉันว่า แล้วทำไมฉันถึงใช้ถ้อยคำในการสอน ถ้าการทำความเข้าใจด้วยถ้อยคำเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

“ถ้อยคำเหล่านั้นไม่จำเป็น แต่มันก็จำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเธอยึดติดกับถ้อยคำ เธอก็ไม่อาจหวนคืนสู่ตัวตนที่แท้จริงของเธอ ถ้าเธอไม่ยึดติดถ้อยคำ ในไม่ช้าเธอก็จะลุซึ่งความรู้แจ้ง
“ดังนั้น ถ้าเธอกำลังคิด ถ้อยคำก็จะเลวร้ายมาก แต่ถ้าเธอไม่ได้ยึดติด ถ้อยคำทั้งหลาย และสิ่งทั้งปวง ที่เธอสามารถ เห็น ได้ยิน ลิ้มรส หรือสัมผัส จะเกื้อหนุนเธอ ด้วยเหตุนี้มันจึงสำคัญมากสำหรับเธอที่จะตัดการคิด และการยึดติดในถ้อยคำของเธอ”



ที่มา: Zen Smile Zen Wisdom
>>> F/B Sathid tongrak.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เหมือนลาหรือเหมือนพระ
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤษภาคม 08, 2013, 02:46:55 pm »



เหมือนลาหรือเหมือนพระ
กวงเหยิ่งเป็นคนฉลาดหลักแหลม ชอบอ่านหนังสือและบทกลอน แม้จะเป็นฆราวาสแต่ก็ใฝ่ธรรมะ และชอบปฏิบัติธรรม
วันหนึ่งได้ไปเยี่ยมคารวะพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังท่านหนึ่ง พระอาจารย์เห็นกวงเหยิ่งมาจึงถามว่า “เจ้ามาที่นี่ทำไม?”

“มาเยี่ยมคารวะและถามไถ่ทุกข์สุข” กวงเหยิ่งตอบ
“ในเมื่อเจ้ามาถามทุกข์สุขอาจารย์ เจ้าเห็นอาจารย์หรือเปล่า?”

“เห็นซี” กวงเหยิ่งตอบ
“เจ้าเห็นอาจารย์เหมือน ‘ลา’ หรือเปล่า?”

กวงเหยิ่งตอบว่า “ไม่เหมือนทั้งลา แต่ว่าก็ไม่เหมือนพระ”
“เมื่อไม่เหมือนลา และไม่เหมือนพระ แล้วจะเหมือนอะไร?”

กวงเหยิ่งย้อนกลับไปว่า “ทำไมถึงจะต้องให้เหมือนอะไรสักอย่าง? ถึงจะเหมือนลาหรือเหมือนพระ แล้วจะแตกต่างกันอย่างไร? ถ้าอยากจะเหมือนอะไร คิดเอาเองแล้วกันว่าจะให้เหมือนอะไร”

พระอาจารย์ฟังแล้วรู้สึกทึ่ง คิดว่าเจ้าหมอนี่ไม่ธรรมดา แม้ว่าจะเป็นแค่ฆราวาส แต่สามารถเข้าถึงหลักธรรมที่ลึกๆได้ ตามปกติเคยใช้คำถามเหล่านี้กับคนทั่วไป หลายสิบปีที่ผ่านไป ไม่มีใคร ตอบคำถามได้เป็นที่น่าพอใจอย่างนี้ มีแต่เจ้าหมอนี้เท่านั้นที่ตอบได้ครบถ้วนที่สุด คนนี้ไม่ธรรมดาจริงๆ

“อาจารย์ใช้คำถามนี้ถามคนมายี่สิบกว่าปีแล้ว แต่ไม่มีใครผ่านด่านนี้ไปได้ มีแต่เจ้าเท่านั้นที่ตอบได้ หายากจริงๆ เจ้าต้องขยันฝึกให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ รักษาความคิดที่ไม่มีทั้งปุถุชนหรืออริยชนไว้


>>> F/B Sathid tongrak.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: จาก... บทเพลงแห่งเซน
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤษภาคม 08, 2013, 06:33:49 pm »





จากหนังสือ บทเพลงแห่งเซน
จิตแห่งความเชื่อมั่น
(บทกวีเกี่ยวกับต้นตออันสมบูรณ์ของชีวิต)




หนทางอันยิ่งใหญ่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากลำบากอะไร
สำหรับบุคคลผู้ไม่มีความรู้สึกเปรียบเทียบ

เมื่อรักและชังไม่มีอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างก็แจ่มแจ้ง
และเปิดเผยตัวเองออก
แต่ถ้ามีการแยกความแตกต่างแม้เพียงเล็กน้อยที่สุด
ฟ้าและดินก็จะถูกแยกห่างกันอย่างหาประมาณมิได้

ถ้าเธอปรารถนาจะเห็นความจริง จงอย่าได้
ยึดถือความเห็นที่คล้อยตามหรือขัดแย้ง
การดิ้นรนระหว่างสิ่งที่ตนเองชอบกับสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ
เป็นเชื้อโรคร้ายแห่งจิตใจ
เมื่อไม่เข้าใจความหมายอันล้ำลึกของสรรพสิ่ง
สันติสุขอันแท้จริงของจิตใจ ก็ถูกรบกวนไม่ให้มีอยู่

หนทางนั้นเป็นสิ่งสมบูรณ์เหมือนที่ว่างอันกว้างใหญ่
ซึ่งไม่มีสิ่งใดขาดและไม่มีสิ่งใดเกิน
แท้จริงแล้วนั้นเป็นเพราะการเลือกของเรา
ที่จะยอมรับและการปฏิเสธต่างหาก
ที่ทำให้เราไม่เห็นธรรมชาติอันแท้จริงของสิ่งทั้งปวง



อย่าได้อยู่ทั้งในความยุ่งเหยิงของสิ่งภายนอก
และในความรู้สึกภายในแห่งความว่าง
จงสงบอยู่ในความเป็นหนึ่งของสรรพสิ่ง
และความเห็นที่ผิดทั้งหลายก็จะหมดไปโดยตัวของมันเอง

เมื่อเธอพยายามที่จะ..
..หยุดการกระทำเพื่อจะได้ให้ถึงความหยุดนิ่ง
ความพยายามของเธอนั้นแหละ
ที่ทำให้เธอเต็มไปด้วยการกระทำ
ตราบใดที่เธอยังอยู่ในภาวะสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง
เธอจะไม่มีวันรู้จักภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง

ผู้ที่มิได้อยู่บนหนทางอันเป็นหนึ่ง ย่อมตกลงไปสู่
ทั้งการกระทำและความหยุดนิ่ง ทั้งการยืนยันและปฏิเสธ
การปฏิเสธความจริงของสรรพสิ่ง..
.. เป็นการพลาดไปจากความจริงนั้น
การยืนยันถึงความว่างของสรรพสิ่ง..
.. ก็เป็นการพลาดไปจากความจริงนั้นเช่นกัน



ยิ่งเธอพูดและคิดมากเท่าใด
เธอก็ยิ่งห่างไกลความจริงมากเท่านั้น
จงหยุดการพูดและคิด
และจะไม่มีสิ่งใดที่เธอจะไม่รู้

การกลับคืนสู่รากเหง้าคือการค้นพบความหมาย
แต่การเดินตามสิ่งปรากฏภายนอก
เป็นการพลาดไปจากต้นตอ
ในชั่วขณะแห่งความเห็นแจ้งภายใน
มีการข้ามพ้นสิ่งภายนอกและความว่าง

ความเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนเกิดขึ้นในโลกที่ว่างนี้
เราบอกว่าเป็นจริงเพราะอวิชชาของเรานั่นเอง
อย่าได้ค้นหาสัจธรรม ให้เพียงแต่..
..... หยุดยึดถือความเห็นต่างๆ เท่านั้น

อย่าได้ดำรงอยู่ในภาวะความเป็นคู่
จงหลีกเลี่ยงหนทางนั้นด้วยความระมัดระวัง
ถ้ามีเพียงร่องรอยของสิ่งนี้และสิ่งนั้น ของความถูกและผิด
จิตเดิมแท้ก็จะสูญเสียไปในความยุ่งเหยิง

แม้ภาวะของความเป็นคู่ทั้งหมดจะมาจากความเป็นหนึ่ง
ก็จงอย่าได้ยึดติดแม้ในความเป็นหนึ่งนี้

เมื่อจิตดำรงอยู่โดยไม่ถูกรบกวน ก็ไม่มีสิ่งใดในโลก
จะสามารถทำให้ขุ่นเคืองได้
และเมื่อสิ่งต่างๆ ไม่สามารถทำให้ขุ่นเคืองได้ต่อไป มันจึงไม่มี



เมื่อปราศจากความคิดแบ่งแยก จิตก็ไม่มี
เมื่อความคิดหายไป ตัวที่ทำหน้าที่คิดก็หายไป
เช่นเดียวกับเมื่อจิตหายไป วัตถุก็หายไปด้วย

สิ่งทั้งหลายมีอยู่เพราะว่ามีตัวรับรู้
จิตมีอยู่ก็เพราะว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่
ขอจงได้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งสองนี้
และความจริงพื้นฐาน
นั่นคือความเป็นหนึ่งแห่งความว่าง

ในความว่างนี้ สิ่งทั้งสองแยกกันไม่ได้
และแต่ละสิ่งในตัวของมันเองก็ได้รวมโลกทั้งหมดเข้าไว้ด้วย
ถ้าเธอไม่แบ่งแยกระหว่างความหยาบและความละเอียด
เธอก็จะไม่ถูกลวงล่อให้ตกอยู่ในทิฐิและความคิดเห็นต่างๆ



การดำเนินอยู่ในหนทางอันยิ่งใหญ่
มิใช่สิ่งที่ง่ายหรือยาก
แต่บุคคลที่มีความเห็นอันจำกัดมักจะกลัวและลังเล
ยิ่งเขารีบร้อนเท่าใด เขาจะยิ่งไปช้าเท่านั้น
และจะยิ่งยึดติดอย่างไม่สิ้นสุด

แม้การยึดติดต่อความคิดในเรื่องการตรัสรู้ ก็เป็นสิ่งที่พลาด
ออกนอกทาง
เพียงแต่ปล่อยให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามวิถีทางของมัน
และก็จะไม่มีการมาหรือการไป

จงเชื่อฟังธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย และเธอจะเดินได้อย่างอิสระ
และไม่ถูกรบกวน
เมื่อความคิดถูกพันธนาการ ความจริงก็ถูกซ่อนเร้น
เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะมืดดำและคลุมเครือ
และการเที่ยวเป็นภาระไปตัดสินสิ่งต่างๆ นั้น
มีแต่จะทำให้น่าเวียนหัวและเหนื่อยอ่อน
จะมีประโยชน์อะไรจากการแยกแยะและแบ่งแยก



ถ้าเธอปรารถนาจะเข้าสู่หนทางของความเป็นหนึ่ง
อย่าได้เกลียดแม้โลกแห่งผัสสะและความคิด
แท้จริงแล้วนั้นการยอมรับมันอย่างเต็มที่
เป็นสิ่งเดียวกับการตรัสรู้อันถูกตรง

ผู้มีปัญญามิได้มุ่งหวังเพื่อจะลุถึงผลใดๆ
แต่ผู้ไร้ปัญญาใส่โซ่ตรวนให้แก่ตนเอง
ธรรมนั้นมีเพียงหนึ่ง มิได้มีมากมาย
การแบ่งแยกเกิดจากความยึดถือของผู้โง่หลง

การใช้จิตแสวงหาจิต เป็นความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงที่สุด
ความสงบและไม่สงบเกิดจากความหลงผิด

ในความรู้แจ้ง ไม่มีความชอบและความไม่ชอบ
ภาวะของความเป็นคู่ทั้งหลายนั้นเกิดจากความเห็นที่ผิด
มันเหมือนกับความฝันหรือดอกไม้ในอากาศ
ซึ่งจะเป็นความเขลาที่จะไขว่คว้ามัน
การได้และการเสีย ความถูกและความผิด
ความคิดเหล่านี้ในที่สุดแล้วจะต้องทำให้หายไปในทันที

ถ้าดวงตาไม่เคยหลับใหล
ความฝันทั้งหมดก็จะหยุดลงโดยธรรมชาติ
ถ้าจิตไม่สร้างการแบ่งแยก
สรรพสิ่งทั้งหลายก็จะเป็นเช่นที่มันเป็น
อันมีสาระดั้งเดิมแต่เพียงอย่างเดียว



การเข้าใจในความเร้นลับของสาระแห่งความเป็นหนึ่งนี้
เป็นการพ้นจากความยุ่งเหยิงทั้งปวง
เมื่อสรรพสิ่งถูกเห็นอย่างเดียวกันหมด
ย่อมเข้าถึงสาระอันแท้จริงที่อยู่เหนือกาล
ไม่มีข้อเปรียบเทียบหรือข้ออุปมาใดๆ จะเป็นไปได้
ในภาวะแห่งความปราศจากเหตุผลและเกี่ยวพันใดๆ นี้

จงพิจารณาความเคลื่อนไหวในความนิ่ง..
.. และความนิ่งในความเคลื่อนไหว
และทั้งภาวะแห่งความเคลื่อนไหว กับภาวะแห่งความสงบนิ่งก็จะหายไป
เมื่อความเป็นคู่ไม่มี ความเป็นหนึ่งที่จะให้ยึดถือก็ไม่มีด้วย
ผลบั้นปลายสุดท้ายนี้ ไม่มีกฎหรือคำอธิบายใดๆ ที่จะนำมาใช้ได้
สำหรับจิตที่เป็นหนึ่งตามหนทางนั้น

การดิ้นรนที่เกิดจากตัวตนทั้งหมดจะหยุดลง
ความสงสัยและความลังเลจะหายไปได้
และชีวิตแห่งความเชื่อมั่นอันแท้จริงก็เป็นไปได้
ชั่วขณะแห่งความเห็นแจ้ง เราเป็นอิสระจากเครื่องจองจำ
ไม่มีสิ่งใดมายึดเกาะเรา และเราก็ไม่ยึดเกาะในสิ่งใด



ทุกสิ่งว่าง ชัดเจน และแจ่มแจ้งในตัวของมันเอง
โดยที่จิตไม่ต้องใช้พละกำลังแต่อย่างใด
ณ ที่นี้ ความคิด ความรู้สึก ความรู้ และจินตนาการไร้คุณค่าโดยสิ้นเชิง

ในโลกแห่งความเป็นเช่นนั้น
ไม่มีตัวตนหรือสิ่งที่นอกเหนือตัวตน
เพื่อที่จะรวมเป็นหนึ่งกับความจริงนี้โดยตรง
เมื่อความสงสัยเกิดขึ้น เพียงแต่กล่าวว่า “ไม่ใช่สอง”

ในความ “ไม่ใช่สอง” นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ถูกแบ่งแยก
ไม่มีสิ่งใดที่ถูกจำแนกออกต่างหาก
ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไรหรือที่ไหน

การตรัสรู้หมายถึงการเข้าสู่ความจริงนี้
และความจริงนี้อยู่เหนือการขยายหรือการย่นย่อในเรื่องเวลาหรือสถานที่
ในความจริงนี้ความคิดเพียงชั่วแวบคือเวลานับพันปี



ความว่างที่นี่ ความว่างที่นั่น
แต่จักรวาลอันไร้ขอบเขตจำกัดได้ปรากฏอยู่ต่อหน้าเธอ
สิ่งที่ใหญ่เหลือคณากับสิ่งที่เล็กเหลือประมาณ ไม่มีความแตกต่าง
เพราะคำจำกัดความต่างๆ ได้หายไป
และขอบเขตต่างๆ ก็ไม่มีให้เห็น
ความมีกับความไม่มีก็เช่นเดียวกัน
อย่าได้เสียเวลาในการสงสัยและโต้แย้ง
ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความจริงนี้

สิ่งหนึ่งและสิ่งทั้งหมดต่างก็เคลื่อนไหว
อยู่ในกันและกันโดยปราศจากการแบ่งแยก การอยู่ในความเห็นแจ้งนี้
เมื่อการอยู่ที่ปราศจากความวิตกกังวลต่อความไม่สมบูรณ์
การดำเนินอยู่ในความเชื่อมั่นนี้คือหนทางที่อยู่เหนือความเป็นคู่
เพราะว่าการอยู่เหนือความเป็นคู่นี้เป็นสิ่งเดียวกับจิตแห่งความเชื่อมั่น

คำพูด!
หนทางนั้นอยู่เหนือภาษาใดๆ
เพราะว่าในหนทางนั้น
ไม่มีเมื่อวานนี้
ไม่มีพรุ่งนี้
ไม่มีวันนี้

จากหนังสือ บทเพลงแห่งเซน


>>> F/B Sathid tongrak.

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 30, 2013, 06:41:59 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ถ้าฉันตาย ใครคืออาจารย์ของเจ้า?
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กันยายน 19, 2013, 05:30:47 pm »




ถ้าฉันตาย ใครคืออาจารย์ของเจ้า?

ครั้งหนึ่ง อาจารย์เซน โกบุน ชิโนะ โอโตโกวะ
ถามเหล่าลูกศิษย์ว่า “ถ้าอาจารย์ทั้งหลาย
สิ้นไปหมดแล้ว ใครจะเป็นผู้สอนเจ้า?”

ศิษย์ตอบว่า “ทุกสรรพสิ่ง”

อาจารย์โกบุนบอกให้หยุด แล้วตอบว่า
“ไม่ใช่ เจ้าต่างหาก”



>>> F/B Sathid tongrak.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ทาง ที่ไร้ทาง
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: กันยายน 19, 2013, 05:40:31 pm »



ทาง ที่ไร้ทาง

ท่านอาจารย์นินากาวะ เป็นอาจารย์ของท่านอิคกุยุ
ในวาระที่ท่านอาจารย์นินากาวะใกล้จะสิ้นลมหายใจ
ท่านอาจารย์อิคกุยุ ก็ได้ไปเยี่ยม และถามท่านนินากาวะว่า
“ท่านอาจารย์ต้องการให้ผมนำทางให้ไหม?”

ท่านอาจารย์นินากาวะ ตอบว่า
“ท่านจะช่วยอะไรผมได้ เวลามาผมมาตัวคนเดียว
เวลาผมจะไป ผมก็ต้องไปคนเดียว”

ท่านอิคกุยุได้ยินดังนั้นจึงตอบว่า
“ถ้าท่านอาจารย์ยังคิดว่า ท่านมาคนเดียว และไปคนเดียวอยู่ละก้อ
แสดงว่าท่านหลงทางแล้ว ให้ผมนำทางท่านดีกว่า
เพราะความจริงแล้ว ไม่มีการมาและการไปเลยต่างหาก”

ด้วยคำแนะนำของท่านอิคกุยุเพียงเท่านี้ ท่านนินากาวะก็ถึงซึ่ง..
..ความหลุดพ้น และมรณภาพไปด้วยความสงบ



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: อัตตลักษณ์แห่งเซ็น
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: พฤษภาคม 12, 2014, 04:59:16 pm »


อัตตลักษณ์แห่งเซ็น
เซ็นเชื่อในมนุษย์ทุกคน คือเชื่อว่าทุกคนมีธรรมชาติแห่งพุทธะอยู่ด้วยกันทุกคน มีโอกาสตรัสรู้ได้ทุกคนและแจ่มแจ้งในตัวเองหรือการเข้าถึงพุทธะนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยรูปแบบใดๆทางภายนอกเลยด้วย

เซ็นชี้อีกว่า การตรัสรู้นี้ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเพศใด เป็นผู้คงแก่เรียนหรือไม่ อายุหรือวัยเท่าใด ฯลฯ เพราะไม่ว่าจะเป็นใคร ต่างก็มีธรรมชาติเดิมแท้อันบริสุทธิ์ อยู่ด้วยทุกคน เมื่อสิ่งที่มาครอบคลุมปกปิดถูกรื้อถอนออกไป ความสว่า่งไสวจะปรากฎออกมาทุกคน ไม่เว้นใครเลย

เซ็นไม่เน้นเรื่องอื่น เช่นพระเจ้ามีจริงหรือไม่ นรก-สวรรค์มีจริงหรือไม่ บุญกุศลคืออะไร ฯลฯ เซ็นจะหลีกเลี่ยงเรื่องเหล่านี้ โดยเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ หากแต่มุ่งในการทำตัวเองให้แจ่มแจ้งในปัจจุบันขณะนั้นก็พอ ไม่ปรารถนาอะไรอื่น โดยการถกเถียง หรือการเรียนในเชิงปรัชญาเพ้อเจ้อไปนั้น เซ็นถือว่าไม่ใช่เรื่องของเซ็นเอาเลยทีเดียว

เซ็นคือทางและเป็นทางอันตรงแน่วที่นำพาเราไปให้พ้นจากปัญญาในระนาบเหตุผลสามัญ หมายความว่าเซ็น ไม่ใช่เรื่องตรรก เราไม่อาจใช้ตรรกหรือเหตุผลตามธรรมดามาจับเซ็นได้ และเราไม่อาจอาศัยตรรกเพื่อเข้าสู่วิมุตติได้อีกด้วย

เซ็นจะจัดการในเรื่องความคิดรวบยอด หรือที่เรียกว่าความคิดปรุงแต่ง (คือความคิดที่ก่อให้เกิดการจำแนกสิ่งต่างๆออกเป็น 2 ขั้ว ต่างกัน เช่น ดี-ชั่ว ผิด-ถูก พอใจ-ไม่พอใจ) ซึ่งเซ็นถือว่าความคิดนี้เป็นเรื่องผูกมัดมนุษย์ไว้ในกรงแห่งความทุกข์และอวิชชา ถ้าหากทำลายความคิดปรุงแต่งเหล่านี้เสียได้จะเป็นอิสระ และจะเห็นสิ่งต่างๆตามที่เป็นจริงของมัน ไม่ใช่ผ่านแว่นแห่งตรรกหรือผ่านความคิดรวบยอดต่างๆนานา
___________________
ที่มา: http://zixzen.blogspot.com/2007/10/blog-post.html
..
..

30 เมษายน 57
ศิษย์โง่ ไปเรียนเซ็น
>>> F/B Sathid tongrak.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 12, 2014, 06:02:22 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เหมือนคนถูกยิงด้วยลูกศร
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: พฤษภาคม 12, 2014, 05:00:54 pm »



เหมือนคนถูกยิงด้วยลูกศร
ประเทศญี่ปุ่นในยุคคะมะกุระ มีนักศึกษาผู้หนึ่งชื่อ ชินกัน ได้ศึกษาพุทธปรัชญาตามแนวของนิกายเท็นได เป็นเวลาถึง ๖ ปี แล้วไปศึกษาตามแนวของเซ็นอีก ๗ ปี จากนั้นได้เดินทางไปประเทศจีนและได้ศึกษาเซ็นตามแนวของจีนอีก ๑๓ ปี เมื่อเขากลับมาประเทศญี่ปุ่น จึงมีผู้สนใจสนทนาซักถามปัญหาธรรมต่างๆ แต่ท่านชินกันก็ไม่ค่อยจะยอมตอบคำถาม วันหนึ่ง มีนักศึกษาเฒ่าจากสำนักเท็นไดมาหาท่านชินกันแล้วกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าได้ศึกษาอยู่ในสำนักเท็นไดมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ได้รับฟังคำสอนมาก็มาก แต่มีสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าไม่สามารถเข้าได้ใจจนทุกวันนี้ คือทางสำนักได้สอนว่า ในโลกนี้แม้แต่ต้นหญ้าและต้นไม้ก็อาจบรรลุธรรมหรือตรัสรู้ได้ เป็นสิ่งที่น่าประหลาดสำหรับข้าพเจ้ามาก”

“มันมีประโยชน์อะไรหรือเปล่า ที่เราจะมานั่งถกเถียงกันว่าต้นหญ้าและต้นไม้ตรัสรู้ได้หรือไม่อย่างไร แต่ปัญหามันควรจะอยู่ที่ว่า ตัวท่านเองนั่นแหละจะสามารถบรรลุถึงการตรัสรู้ได้อย่างไร ท่านเคยคิดถึงเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า” ท่านชินกันถาม
“จริงสินะ ข้าพเจ้าไม่เคยคิดมาก่อนเลย” นักศึกษาเฒ่าตอบ

ท่านชินกันจึงบอกว่า
“ถ้าอย่างนั้นก็กลับบ้าน และลงมือคิดได้แล้ว”

พระพุทธองค์เคยตรัสสอนพราหมณ์ที่มาถามปัญหาภาคอภิปรัชญาทั้งหลาย เช่น ชาตินี้ ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ว่าไม่มีประโยชน์อะไร ทรงเปรียบเทียบให้ฟังว่า
“เหมือนคนถูกยิงด้วยลูกศร แทนที่จะรีบรักษา กลับจะมัวหาคำตอบให้ได้เสียก่อนว่า ใครเป็นผู้ยิง ลูกศรทำด้วยอะไร คันศรทำด้วยอะไร เช่นนี้ก็คงไม่ทันการ”
..
..

30 เมษายน 57
ศิษย์โง่ ไปเรียนเซ็น
>>> F/B Sathid tongrak.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ศิษย์โง่ ไปเรียนเซ็น
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: พฤษภาคม 12, 2014, 05:03:39 pm »



ศิษย์โง่ ไปเรียนเซ็น
...เซ็นยังไม่สอนธรรมอีกด้วย เพราะไม่มีอะไรที่จะสอนมากไปกว่าสิ่งที่มีอยู่เองแล้วตามธรรมชาติ ยิ่งไปสอนธรรมยิ่งคับแคบ, ยิ่งจำกัด, ยิ่งเล็กลง แทนที่จะเปิดกว้างให้รับรู้, รู้เห็น, เรียนรู้เองตามธรรมชาติที่แสนกว้างใหญ่ไม่มีจำกัดนั้น กลับมานั่งสอนธรรมะให้ ป้อนให้ทีละน้อย ทีละคำ นั้นไม่ใช่วิถีเซ็น

ดังนั้น เซ็นจึงไม่มีการสอนธรรมะ แต่อาศัยธรรมชาติรอบตัวนั่นแหละสอนตัวเอง เพราะอย่างนี้จึงมีธรรมะเต็มไปหมดโดยไม่ต้องสอนธรรมะเลย กล่าวอย่างนี้แล้ว ศิษย์โง่จะไปเรียนอะไรในเซ็นเล่า ก็ในเมื่อธรรมะก็ไม่มีสอน สมาธิก็ไม่มีสอน อะไรๆ ก็ไม่มีสอน ศิษย์โง่ยังไปเรียนอะไรกับเซ็นอีกเล่า แปลว่าเราก็ไม่ต้องเรียน ไม่ต้องไปหาครูบาอาจารย์กันแล้วใช่ไหม ถ้าใช่ แสดงว่าฉลาดแล้ว ไม่ต้องไปเรียนเพราะเขาไม่สอน ไม่ต้องไปหาครูบาอาจารย์เพราะมันไม่ใช่ นี่แสดงว่าฉลาดแล้ว ก็ไม่ใช่ “ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น” อีกต่อไป ก็จะเป็นเหมือนปุถุชนทั่วไป เริงโลกีย์ไปนั่นแหละ

ดังนี้ “ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น” จึงเป็นคนโง่ที่ยอมไปเป็นศิษย์ของคนที่ไม่มีอะไรจะสอน ไม่มีอะไรจะให้เรียน รอจนกว่ามันจะเริ่มเห็นความโง่ของตัวเอง แล้ววันนั้น อาจารย์ก็จะบอกถึงความโง่เง่าของมัน วันนั้นเองมันก็ได้รู้ตัวถึงความโง่ ที่สุดแห่งโง่ แล้วก็ดับสูญไปแค่นี้ ถ้าคิดว่าฉลาดแล้วก็เป็นปุถุชนไป แต่ถ้าคิดว่าตนเองยังโง่อยู่ ก็โง่เข้ามาแล้วเอาความโง่มาเผาผลาญเสียให้หมดไป หมดโง่แล้วก็เห็นธรรมชาติที่มันมีอยู่เองแล้ว ก็เท่านั้น...


30 เมษายน 57
ศิษย์โง่ ไปเรียนเซ็น
>>> F/B Sathid tongrak.
***********


เซนไร้เหตุผล

คนมีเหตุผล เก่งใช้เหตุผล ย่อมไม่ถึงเซน
คนดีแต่ใช้อารมณ์ ก็ไม่ถึงเซนเช่นกัน
ทั้งเหตุผลหรืออารมณ์ ไม่ช่วยให้ถึงเซน
ออกจากอารมณ์และเหตุผลก่อนจึงมาเรียนเซน

คนฉลาดมัวแต่อธิบายเชิงตรรกะ เหตุและผล
เมื่อเหตุนี้มี เหตุนี้จึงเกิด เมื่อผลนี้มี ผลนี้จึงเกิด
แต่เซนกล่าวถึงการดับเสียแล้วซึ่งเหตุและผล
เมื่อดับแล้วยังจะมีเหตุผลใดมากล่าวได้อีกเล่า?

คนเหลี่ยมจัดนิยมใช้อารมณ์โน้มน้าวใจคน
เมื่อคนชอบจึงยอมรับ เมื่อคนไม่ชอบก็ปฏิเสธ
แต่เซนกล่าวถึงภาวะหลังจากอารมณ์ดับแล้ว
เมื่ออารมณ์ดับไปแล้ว ยังจะอธิบายอะไรได้อีกเล่า?

เมื่อสมมุติทั้งปวงดับไป จักหาสมมุติใดอธิบายได้
เซนกล่าวถึงภาวะ การดับไปของสมมุติทั้งปวงนั้น
ภาวะหลังการดับไปของสมมุติทั้งหลาย คือ เซน
ดังนี้แล้ว จักหาเหตุผลหรืออารมณ์ใดอธิบายได้เล่า?

เมื่อเหตุยังเกิดอยู่ เหตุก็ยังดับลงได้
เมื่อเหตุดับลงแล้ว ผลย่อมเกิดตามมา
การเกิดดับของเหตุและผลเป็นวัฏฏะอย่างนี้
เหตุและผลจึงไม่หลุดพ้น ไม่ใช่เรื่องนิพพาน

เหนือเหตุ พ้นผล ด้วยดับเสียแล้วซึ่งเหตุและผล
ดับเสียแล้วซึ่งทุกข์และกิเลส ทั้งเหตุและผล
นิโรธฉับพลันอย่างนี้ จึงไม่อาจอธิบายได้
หากยังอธิบายได้ด้วยเหตุผล ย่อมยังไม่ถึงนิโรธ

บุคคลเดินตามอริยมรรค ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค
ครบองค์สมบูรณ์แล้วจึงนับได้ว่าเป็นอริยบุคคล
ผู้บรรลุธรรมนอกพุทธศาสนาไม่เดินตามนี้
แม้ปัญญาบารมีมากรู้ถึงนิพพาน แต่ไม่นับเป็นอริยบุคคล

เซียนเต๋าอยู่นอกพระพุทธศาสนา ก็รู้ถึงนิพพานได้
แต่ยังไม่นิพพาน เพราะยังไม่บรรลุเป็นอริยบุคคล
ปัญญามีพร้อมแล้วที่จะรอลงมาตรัสรู้เป็นพระปัจเจกฯ
การบรรลุธรรมของเซียน จึงไม่ใช่การบรรลุอริยบุคคล

เซียนเต๋าเข้าถึงนิโรธได้เอง จึงไม่ถูกทำลายสักกายทิฏฐิ
นิโรธเกิดได้ แต่ไม่ใช่อริยมรรค เพราะยังเหลือสักกายทิฏฐิ
พระอริยบุคคลทั้งหลายล้วนผ่านนิโรธและสิ้นสักกายทิฏฐิ
ดับสนิททั้งเหตุและผลแล้ว เข้าถึงเซนได้เช่นกัน
..
..

ไม่โง่อย่าเรียนเซน

สุภาษิตว่าไว้ “ศิษย์โง่ไปเรียนเซน”
ศิษย์ไม่โง่ ฝึกได้ ปฏิบัติได้ ไม่ต้องเรียนเซน
คนที่จะเรียนเซนได้ ล้วนโง่มาก่อนทั้งนั้น
จริงดังสุภาษิตว่า “ศิษย์โง่มาเรียนเซน”

ไม่โง่อย่าเรียนเซน โง่แล้วจึงมาเรียนเซน
ฉลาดแล้วไม่ถูกหลอกล่อด้วยอุบาย
เรียนเซนก็ไม่ได้มรรคผลอันใด
ดังนี้จึงว่า “ไม่โง่อย่ามาเรียนเซน”

ศิษย์ไม่โง่ สอนอะไรก็ฝึกได้ ปฏิบัติได้ ครูชอบ
ไปได้ดีกับการเรียนการสอนอย่างมีระบบ
พอขาดระบบ ก็เหมือนว่าวสายขาด
ศิษย์ไม่โง่เรียนเซนแล้วอันตราย

ศิษย์โง่ สอนอะไรก็ทำไม่ได้ ฝึกไม่ได้ ยากเย็น
ครูเขาด่าเขาว่า เรียนแล้วเรียนอีกไม่จบเสียที
เพื่อนล้อ เพื่อนหลอก ก็ถูกเขาหลอกเอาได้
ศิษย์โง่แบบนี้ จึงเรียนเซนได้มรรคได้ผล

บอกให้ศิษย์ฉลาดโดดหน้าผา มันไม่โดด
เพราะมันฉลาดเกินไป เรียนเซนไม่ได้
บอกศิษย์โง่ให้โดดหน้าผา มันก็โง่โดดเสียจริงๆ
แท้แล้วเป็นอุบายของอาจารย์สอนโดยไม่สอน

อาจารย์เซนย่อมรู้อย่างแจ้งชัดถึงอินทรีย์ของศิษย์
แม้สั่งให้ศิษย์ทำสิ่งใด ย่อมทราบกำลังความสามารถ
ดังนั้น แม้เป็นคำสั่งที่โง่เง่า ก็เหมาะสมกับศิษย์โง่
ศิษย์โง่แบบนี้ จึงจะสำเร็จเซนได้ในที่สุด

ศิษย์โง่ ครูที่ไหนก็สอนไม่ได้แล้ว
เพราะครูไม่มีบุญบารมีพอที่จะสอนได้
สอนศิษย์เท่าไรก็รู้สึกว่าศิษย์โง่เหลือเกิน
เพราะไม่ทราบศักยภาพที่ซ่อนลึกเฉพาะตัวของศิษย์

อาจารย์เซนเล็งเห็นศักยภาพที่ซ่อนลึกนั้น
ท่านมีวิธีดึงเอาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ออกมา
ด้วยวิธีการอันประหลาดเกินที่จะอธิบาย
จึงต้องอาศัยศิษย์ที่โง่พอที่จะทดลองปฏิบัติ

ศิษย์ฉลาดเก่งที่จะเรียนรู้สิ่งภายนอก
แต่ภายในไม่มีความพิเศษซ่อนอยู่
เพราะไม่มีดีในตัว จึงรับเอาแต่ของนอกตัว
ดังนี้ จึงกล่าวว่า “ศิษย์ไม่โง่ อย่าเรียนเซน”

3 .9.2014
สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ามด
>>> F/B พระพุทธศาสนา นิกายเซ็น - Zen
..
..

พระพุทธศาสนา นิกายเซ็น - Zen
7 เมษายน 2013
"ปราศจากความคิดปรุงแต่งนั่นแหละเซ็น
ถ้าเธอทำได้เช่นนี้ การเดิน นั่ง หรือนอน และทุกๆสิ่งที่เธอทำก็เป็นเซ็น"

- โพธิธรรม ตั๊กม้อ -
https://www.facebook.com/ZenTheWayOfLife
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 24, 2014, 02:59:22 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความจริงเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: พฤษภาคม 12, 2014, 06:19:12 pm »



ความจริงเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้

ความจริงเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้ แต่คนเรา
ก็พยายามใช้ความคิดและคำพูดมาอธิบายความจริง

ความคิดหรือคำพูด กับความจริง ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ยกตัวอย่างเรื่องไฟ
ไฟจริงๆ กับคำว่าไฟก็ไม่เหมือนกัน ถ้าคำว่าไฟเป็นความจริงเองละก็
ทุกครั้งที่คุณพูด ปากก็คงไหม้
หรือพอเขียนคำว่าไฟลงไปที่กระดาษ กระดาษก็คงไหม้หมด

แต่เห็นได้ว่า ทุกครั้งที่คุณคิด พูด หรือเขียนถึงไฟ มันไม่เคยมีอะไร
ลุกไหม้ขึ้นมาสักอย่าง เพราะมันเป็นแค่ความคิด ไม่ใช่ความจริง

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรอธิบายความจริง เราสามารถคิด
และอธิบายความจริงจนถึงขีดจำกัดที่ภาษาจะใช้อธิบายได้
เพียงอย่าลืมว่าความคิดหรือคำพูด ไม่ใช่ตัวความจริง เปรียบได้กับนิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์


ภิกษุณี ชุนโด อาโอยาม่า
___________________
ที่มา: รายการ พื้นที่ชีวิต ตอน เซ็น


25 มีนาคม 57
>>> F/B Sathid tongrak.