ผู้เขียน หัวข้อ: ไซอิ๋ว..ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว :คอลัมน์ รู้โลก ไม่สู้รู้ตน  (อ่าน 1307 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

                 

ไซอิ๋ว..ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว

สมัยเด็กเคยอ่านนิยายไซอิ๋ว ได้ความเพลิดเพลินจำนวนมากมาย แต่ก็มีคำถามเยอะแยะ เช่น ทำไมพญาวานรเห้งเจียเก่งกาจขนาดนั้นต้องโดนพระยูไลสยบง่ายๆ และทำไมคิดอะไรถูกต้อง แต่กลับโดนพระถังซัมจั๋งปรามตลอด แต่ก็สนุกดีเพราะยังไงเสียก็เป็นฮีโร่ที่ปราบมารโดยตลอด

โตขึ้นมาหน่อย รู้มาว่า ไซอิ๋วคือนิยายที่เป็นหนึ่งในสี่วรรณกรรมแห่งชาติจีน เคียงคู่กับ สามก๊ก วีรบุรุษแห่งเขาเหลียงซาน ความฝันในหอแดง ก็ถามเสมอว่า ทำไมนิยายอิทธิปาฏิหาริย์ เป็นนิยายเด็กนั้นมาติดหนึ่งในสี่ของวรรณกรรมของมหาอำนาจทางวัฒนธรรมอย่างจีน สามก๊ก และวีรบุรุษแห่งเขาเหลียงซานนั้นเข้าใจได้ แต่ไซอิ๋วนี่ งง

หลายครั้งที่นิยายที่เราอ่านตอนเด็ก เป็นนิยายที่แฝงไปด้วยปรัชญาที่อาศัยการตีความ หรืออย่างน้อยอาศัยประสบการณ์ของการเป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมาระยะหนึ่ง มาเป็นกุญแจไขใจความสำคัญของนิยายเหล่านั้น

ไซอิ๋ว เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หลายๆ คนได้อ่านกันตอนเด็ก ได้ดูภาพยนตร์ในตอนเด็ก แต่เมื่อโตแล้ว เราปฏิเสธที่จะดู ที่จะอ่าน ทั้งๆ ที่จริงๆ นิยายอิงพุทธธรรมเรื่องนี้ แฝงไปด้วยปรัชญาพุทธที่ล้ำลึก และเข้าใจง่าย กระแทกใจมนุษย์ที่เริ่มเป็นบัวพ้นน้ำ อย่างน่าอัศจรรย์ใจทีเดียว

หากใครจำไม่ได้ คงขอเล่าเรื่องย่อสุดๆ ตรงนี้สั้นๆ ว่า ไซอิ๋วเริ่มจากการกำเนิดของพญาวานรเห้งเจีย ที่เติบโตมามีพลานุภาพมหาศาลจนอยากสถาปนาตนเป็นเจ้าสวรรค์ “ฉีเทียนต้าเซิ่ง” บุกขึ้นไปอาละวาดบนแดนสวรรค์ จนเทพต่างๆ กระเจิดกระเจิง ต้องอัญเชิญองค์ยูไล ขึ้นมากำราบ แต่ยังเมตตาให้สำนึกผิด อยู่ใต้ภูเขาห้านิ้วอยู่เป็นเวลา ๕๐๐ ปี

เพื่อรอเวลาให้ได้รับใช้พระถังซัมจั๋ง พระภิกษุวัยหนุ่มผู้ทรงภูมิธรรม และเป็นธรรมฑูตจากราชสำนักถังที่เดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากชมพูทวีป เพื่อกลับมาแปลเป็นภาษาจีน ระหว่างทาง เห้งเจีย (หรือนามใหม่ว่า “หงอคง”) และศิษย์น้องอีกสองตน นอกจากจะต้องต่อสู้กับปิศาจที่จะกินเนื้ออาจารย์แล้ว ก็ยังต้องมีปากมีเสียงกับพระถังซัมจั๋ง ด้วยแนวการเจริญชีวิตที่ต่างกันลิบลับ แต่ที่สุด ทั้ง ๔ รวมถึงม้าขาวพาหนะของพระถังซัมจั๋ง บรรลุธรรมร่วมกันในที่สุด พระถังซัมจั๋งถอดมงคลที่ใช้ควบคุมศิษย์ขี้โมโห อย่างเห้งเจีย ในที่สุด

ในฐานะเด็กและผู้ใหญ่ จะไม่เข้าใจว่าทำไมไม่เริ่มแสวงบุญเลย แต่เริ่มที่กำเนิดพญาวานร จากการอาละวาดสวรรค์ แสดงอาการหยาบกร้าน ก้าวร้าว อวดอ้างฤทธานุภาพมหาศาล เอาชนะเทพต่างๆ ด้วยความกระด้าง แต่แล้วหนังหักมุมหัวทิ่มด้วยการยอมสยบอย่างไม่เต็มใจต่อองค์พระยูไลพิจารณาให้แยบยล การเริ่มต้นเรื่องนี้ เหมือนเป็นการดึงเอาอุปนิสัยของคนโลกโลกีย์ มาตีแผ่อย่างสุดโต่งนั่นเอง เก่งกล้าสามารถ มีโลภะ โมหะ โทสะ หนาเตอะ อยากมี อยากเป็น (เป็นเจ้าสวรรค์ ฉีเทียนต้าเซิ่ง) อยากร่วมงาน สมโภชลูกท้อของเฮ่งบ่อเนี่ยเนี้ย จักรพรรดินีแห่งสวรรค์ (งานไฮโซของสวรรค์ผู้มีตบะแก่กล้า) อยากเหนือเทพทั้งปวงด้วยฤทธานุภาพ มีโทสะเป็นอีกหนึ่งเจ้าเรือน โมโหโกรธาทุกครั้งที่ไม่สมหวัง ไม่สบอารมณ์ และมีโมหจริต ถือดีในฝีมือตน ว่าเก่งกาจพรั่งพร้อม ไม่มีเทพสวรรค์องค์ใด ปราบมันลงได้

แม้ว่านิยายเรื่องนี้จะแต่งกันมายาวนานแล้ว แต่อุปนิสัยแบบนี้ ยังปรากฏให้เห็นอยู่ใน ปุถุชนยุคดิจิทัลนี้อย่างต่อเนื่อง เผลอๆ จะหนักขึ้นทุกทีการดูปฐมบทของไซอิ๋วหากดูด้วยปัญญา จะเป็นเหมือนกระจกสะท้อนมนุษย์โลก ผู้ที่มีจิตใจที่พร้อมจะไหลลงต่ำ สนองโลภ โกรธหลงของตนเอง ด้วยสันดานดิบๆ แบบ พญาวานรผู้ทรงฤทธานุภาพนี่เองแล

แม้ว่าจะถูกสยบเบื้องแรกด้วยฝีมือของเทพสามตา เอ้อร์หลางเสิน แต่นิยายเรื่องนี้สอนเราว่า การสยบมารด้วยความรุนแรงก้าวร้าวแต่อย่างเดียว ไม่สามารถสยบจิตวิญญาณที่หนาเตอะไปด้วยอวิชชาได้ที่สุด องค์ยูไลผู้เมตตาสยบเห้งเจียได้และยังไว้ชีวิต ให้สำนึกตัวอยู่ใต้อุ้งมือแห่งธรรม (แทนสัญลักษณ์ด้วย ภูเขาห้านิ้ว อู๋จื่อซาน) เพื่อให้เห้งเจียทบทวนว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นผิดมหันต์อย่างไร ก่อนที่จะรอให้พระถังซัมจั๋งมาโปรด ๕๐๐ ปีผ่านไป เห้งเจีย ไม่เคยสำนึก หากแต่ยังใช้กระบวนทรรศน์เดิมในการมองโลก โกรธแค้น คับข้องใจ ที่ทหารสวรรค์รุมตนเอง และอาศัยองค์ยูไล มากำราบตน สิ่งนี้ไม่ต่างจากการมองโลกของคนพาลที่คับข้องใจ มองว่าโลกนี้ไม่เคยยุติธรรมกับตนเอง แทนที่จะมองว่า ความอันธพาลของตนเองนั้นคือ ต้นเหตุของความวุ่นวายแห่งสังคม

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน, คอลัมน์ รู้โลก ไม่สู้รู้ตน
เดลินิวส์ออนไลน์, พุธที่ 17 เมษายน 2556
http://www.dailynews.co.th/article/630/197687
F/B สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ามด