สมัยก่อนเจ้าอาวาสชอบใช้ไม้เท้า เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือ แต่ตอนนี้นอกจากแสดงความน่าเชื่อถือแล้วยังใช้ไม้เท้าเพื่อตีลูกศิษย์ด้วย คำตวาดของอาจารย์ก็เหมือนไม้เท้า
ลูกศิษย์สองคนไปเรียนฌานกับอาจารย์ แต่ไม่ว่าทั้งสองคนจะหลบหลีกเร็วขนาดไหน ก็ถูกอาจารย์ตีอยู่ดี วันหนึ่งอาจารย์พูดกับลูกศิษย์สองคนว่า “เรียนที่นี่แต่ถูกตี อาตมาจะหาอาจารย์ใหม่ให้”
สองคนเมื่อมาถึงห้องอาจารย์ใหม่ นึกว่ายืนไกลๆ อาจารย์จะตีไม่ถึง แต่เวลาตอบคำถามไม่ถูก อาจารย์ก็ตวาดลูกศิษย์ทั้งสอง ลูกศิษย์ทั้งสองกลัวจนตัวสั่น เดินไม่ไหว
22 ตุลาคม 2013
แม่น้ำคด ส่วนน้ำนั้นไม่คด
ไม่แกล้งปดดูให้ดีมีเหตุผล
กายกับใจไม่ลามกไม่วกวน
แต่กิเลสแสนกลนั้นเหลือคด
จิตล้วนล้วนนั้นเป็นประภัสสร
กิเลสจรครอบงำทำยุ่งหมด
กิเลสเปรียบลำน้ำที่เลี้ยวลด
จิตเปรียบน้ำตามกฎไม่คดงอ
อันจิตว่างมีได้ในกายวุ่น
ในน้ำขุ่นมีน้ำใสไม่หลอกหนอ
ในสงสารมีนิพพานอยู่มากพอ
แต่ละข้องวยงงชวนสงกา
พระตรัสให้ตัดป่าอย่าตัดไม้
ไม่เข้าใจตัดได้อย่างไรหนา
รู้แยกน้ำจากแม่น้ำตามว่ามา
จึงนับว่าผู้ฉลาดสามารถเอย ฯ
:จิตเดิมนั้นประภัสสรอยู่ปรกติเป็นกลาง ๆ มิได้คด มิได้มีกิเลส
"กิเลสต่างหากคด" และคนเข้าใจผิดคิดว่า "จิตคด"
เหมือนน้ำซึ่งไม่คด แต่แม่น้ำหรือคลองต่างหากคด.
ข้อนี้หมายถึง
ต้องกำจัดกิเลสที่จู่เข้ามาเป็นครั้งคราว
ไม่ใช่ไปทรมานจิตเดิมแท้ที่ประภัสสรอยู่เองแล้ว.
15 ตุลาคม 2013
ศิษย์วอนถามอาจารย์ฐานร้อนใจ
"ทำอย่างไรไปนิพพานอาจารย์ขา?"
"อ๋อ มันง่ายนี่กระไรบอกให้นา
คือคำว่าฝนอิฐเป็นกระจกเงา"
"อาจารย์ครับเขาคงว่าเราบ้าใหญ่
แม้ฝนไปฝนไปก็ตายเปล่า"
"นั่นแหล่ะเน้อมันสอนให้แล้วไม่เบา
ว่าให้เรา หยุดหา หยุดบ้าไป
ไม่มีใครฝนอิฐเป็นกระจก
ไม่ต้องยกมากล่าวเข้าใจไหม
นิพพานนั้นถึงได้เพราะไม่ไป
หมดตนไซร้ว่างเห็นเป็นนิพพาน
ถ้าฝนอิฐก็ฝนให้ไม่มีเหลือ
ไม่มีเชื้อเวียนไปในสงสาร
ฝนความวุ่นเป็นความว่างอย่างเปรียบปาน
ฝนอิฐด้านให้เป็นเงาเราบ้าเอง" ฯ
:ยิ่งวิ่งไล่ยิ่งยืดไกลออกไป นี่คือ ตัณหา ล่ะ ให้เหนื่อยหอบ.
ยิ่งอยาก "ยิ่ง" ไม่ได้หยุด แม้อยากเป็นพระอรหันต์;
เพราะพระอรหันต์ คือ ผู้ "หมดอยาก" และเป็นผู้หยุดสนิทแล้ว.
เอา ธาตุอยาก วิ่งไล่ ธาตุหยุดอยาก ฉันใด,
ฝนอิฐเป็นกระจกก็เหนื่อยเปล่าฉันนั้น.
ถ้าจะฝนต้องฝนให้หมด
ไม่มีเหลือ ไม่เป็นอิฐ ไม่เป็นกระจกอีกเลย.
ขอขอบคุณ ท่านพุทธทาส
15 ตุลาคม 2013
เจ้านั่นล่ะบาป
พระอาจารย์เซนรูปหนึ่งออกธุดงค์พร้อมกับศิษย์
ในขณะที่เดินผ่านแม่น้ำ
ผู้เป็นศิษย์เห็นเรือโดยสารที่เจ้าของเรือกำลังเข็นออกจากฝั่ง
ซึ่งระหว่างทางที่เข็นจากฝั่งเพื่อลงไปในแม่น้ำ
ได้ทับกุ้งหอยปูปลาตายเป็นอันมาก
ผู้เป็นศิษย์เกิดความสังเวชขึ้นในใจ จึงได้เปรยขึ้นว่า
"ช่างไม่กลัวบาปกลัวกรรมกันเลยหรืออย่างไร ถึงได้พรากชึวิต
ให้แตกดับไปเป็นอันมากเช่นนั้น"
"นายเรือไม่บาป" พระอาจารย์แย้งขึ้นด้วยเสียงที่เรียบเฉย
"เช่นนั้นเป็นบาปของผู้โดยสารหรือขอรับพระอาจารย์
เพราะเป็นต้นเหตุให้นายเรือต้องทำเช่นนั้น"
"ผู้โดยสารไม่บาป"
"แล้วบาปในครั้งนี้ตกอยู่ที่ใครละขอรับ"
"เจ้านั่นล่ะบาป"
ได้ยินเช่นนั้นความสงสัยก็เกิดขึ้นในใจของผู้เป็นศิษย์ทันที
เพราะเขาไม่เข้าใจเลยว่าอยู่ๆ บาปทำไมถึงมาตกที่เขาได้
"พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า กรรมต้องมีเจตนาเป็นที่ตั้ง
เมื่อไม่มีเจตนากรรมย่อมไม่เกิด
แต่เจ้ากลับชี้ถูกผิดในสิ่งที่ไม่มีตัวตน
แล้วบาปจะตกอยู่ที่ใครถ้าไม่ใช่เจ้า"
"เหตุบางอย่างเราก็ไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้
อย่างเรื่องของเจตนา คนที่รู้ดีก็คือตัวของผู้กระทำ
เจ้าสามารถชี้ชัดได้หรือไม่
หากเขาไม่มีเจตนาแต่เจ้ากลับชี้ชัดลงไปว่าเขามีเจตนา เจ้าถึงได้บาป"
และการที่เจ้าจะหาคนที่จะรับผลของบาปก็เช่นเดียวกัน
กุ้งหอยปูปลาเหล่านั้นซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นทราย
นายเรือรู้หรือไม่ ผู้โดยสารรู้หรือไม่
นายเรือประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงครอบครัว
ผู้โดยสารมีเหตุจำเป็นต้องไปยังฝั่งตรงข้าม
เช่นนี้แล้ว หากโทษว่าใครบาป ใครไม่บาป
มิต้องโทษไปถึงสาเหตุเหล่านั้นอีกหรือ
เช่นนี้ เจ้านั่นล่ะบาป
::: แง่คิด :::
ผิดไม่ผิด บาปไม่บาป ผู้กระทำเท่านั้นที่จะรู้เจตนาดีที่สุด
7 ตุลาคม 2013
>>> F/B นิทานเซนPics :Pebble Art of NS by :Sharon Nowlan