ผู้เขียน หัวข้อ: "คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"  (อ่าน 26218 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: บทที่ 10 เข้าสู่กระแสธรรมอันคือ ธรรมชาติ
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 07, 2014, 03:22:09 pm »


หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 10 เข้าสู่กระแสธรรมอันคือ ธรรมชาติ

ธรรมที่ตถาคตเจ้าได้ตรัสไว้ เพื่อเป็นเครื่องชำระล้างจิตใจที่แปดเปื้อน ไปด้วยมลทิน ตัณหา อุปาทานต่างๆนั้น เป็นธรรมอันคือหนทางไปสู่ความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้ นั่นคือ อริยมรรค หรือ หนทางอันยิ่งใหญ่นั่นเอง มรรคหรือหนทางที่นำพาเราออกจากทุกข์ได้ ก็คือ มรรคหนทางเดียวกันกับ "มรรคหนทางที่ทำให้เราได้ซึมซาบ กลมกลืนกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั่นเอง" มันเป็นธรรมชาติแห่งทุกๆสรรพสิ่งที่อยู่รวมกัน ด้วยความเสมอภาคในเนื้อหาอันเดียวกัน คือความว่างเปล่าไร้ตัวตนอยู่อย่างนั้น

ก็ด้วยความเป็นมนุษย์ที่ไม่เข้าใจในธรรมชาติแห่งตน มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาความเป็นตัวตนของตนเองเป็นที่ตั้ง ในการดำเนินชีวิตไปบนเส้นทางแห่งความประมาท เหตุและปัจจัยที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นรูปกายของมนุษย์ มนุษย์ก็หลงผิดล้วนแต่จับฉวยจับกุมเข้าไปยึดสิ่งต่างๆเหล่านี้ ที่เข้ามาแล้วก่อให้เกิดความรู้สึกต่างๆ จนกลายเป็นความคิดไปในทาง ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมนุษย์ผู้นั้น ก็เพราะ ตัณหา อุปาทาน ความอยาก ที่มนุษย์ผู้หันหลังให้กับธรรมชาติ ยึดเอาเป็นสรณะว่า "นี่คือตนนี่คือของตน" อยู่ตลอดเวลา ความคิดต่างๆที่เกิดขึ้นล้วนแต่นำมาปรนเปรอ ความเป็นตัวตนของตนเองอยู่ร่ำไป



ตถาคตเจ้าจึงตรัสว่า แท้จริงมันเป็นเพียงสักกายทิฐิ หรือความเห็นอย่างมืดมัว ในความเป็นตัวเป็นตนของตนเองอยู่ตลอดเวลา แท้จริงสิ่งเหล่านี้หามีไม่ มันเป็นเพียงมายามาหลอกล่อ ให้เราติดกับดักในความเป็นตัณหาอุปาทานแห่ง "ความเป็นเรา" พาเราทั้งหลายไปเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น มันเป็นเพียงเหตุและปัจจัยที่ทำให้เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เป็นความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา มันเป็นเพียง "จิต" เท่านั้นที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ในความเป็นจริงจิตต่างๆที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมันหามีไม่ แท้จริงความเป็นเราก็ไม่มีแม้แต่น้อย ตถาคตจึงย่อยสลายความเป็นตัวเป็นตนของมนุษย์ "ความเป็นเรา" เหลือเป็นเพียงส่วนประกอบที่ประกอบเข้ากันเป็นมนุษย์ขึ้น แบ่งออกเป็นห้าส่วน คือ ขันธ์ทั้งห้า กล่าวคือ ย่อยเหลือเพียง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้น ก็เพราะขันธ์ทั้งห้านี่เองที่ทำให้มนุษย์หลงเข้าไปยึด ว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นตนเองขึ้นมา และในความเป็นจริงขันธ์ทั้งห้าก็หามีไม่ แท้ที่จริงธรรมชาติมันคือความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวตนของมันอยู่อย่างนั้น มันไม่เคยมีขันธ์ทั้งห้าเกิดขึ้นมาก่อนเลย



ก็เมื่อพวกเธอเข้าใจแล้วว่า แท้จริงทุกๆสิ่งในความคิดที่พวกเธอผลิตออกมา มันล้วนแต่เป็นเพียงจิตที่ถูกปรุงแต่งขึ้นไปในความหมายว่า นี่คือความเป็นตัวตนของพวกเธอเอง และแท้ที่จริงจิตนั้นมันก็เป็นเพียงสิ่งที่พวกเธอเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ในขันธ์ทั้งห้า จนก่อให้เกิดตัณหา อุปาทาน และกลายเป็น "จิต" และเมื่อพวกเธอเข้าใจในความเป็นจริงตามธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ที่มันเป็นธรรมชาติของมันในความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ซึ่งหมายความว่า มันคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า เป็นความว่างเปล่าโดยที่มันไม่เคยมีขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นมาก่อนเลย อันจะทำให้พวกเธอเข้าไปยึดมั่นถือมั่นได้ ก็ความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ตามธรรมชาติดั้งเดิมแท้ของมันนั่นเอง ที่พวกเธอเข้าใจอย่างชัดแจ้งหมดซึ่งความลังเลสงสัยในธรรมทั้งปวง


 ซึ่งความลังเลสงสัยนั้น มันอาจจะทำให้พวกเธอหันเหไปสู่ข้อวัตรอื่นๆ ที่พวกเธอผลิตขึ้นมาเอง หรือเป็นข้อวัตรที่พวกเธอจดจำมาจากสำนักอื่นหรือศาสดาอื่นๆ ซึ่งพวกเธอเข้าใจผิดว่ามันจะเป็นข้อวัตร อันทำให้พวกเธอพ้นจากความทุกข์ได้ ความเข้าใจอย่างชัดแจ้งหมดจดไร้ความเป็นตำหนิ ในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ อย่างที่ไม่มีความคลอนแคลนไปในทางหนทางอื่นที่ว่านี้ มันเป็นความ "ตระหนักชัด" อย่างชัดแจ้ง ในเนื้อหาธรรมชาติ เป็นความตระหนักชัดอันนำพาพวกเธอเข้าถึงกระแสธรรม ในธรรมชาติดั้งเดิมแท้ได้นี่เอง คือหลักธรรมเดียวอันเป็นหลักธรรมสำคัญยิ่ง ที่ตถาคตเจ้าได้ประกาศธรรมชนิดนี้ล่วงมาเป็นเวลา 2,500 กว่าปีแล้ว ก็ขอให้พวกเธอเข้าใจธรรมอันคือธรรมชาติตามนี้



   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   6 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 19, 2014, 08:32:02 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ 時々होशདང一རພຊຍ๛

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 1011
  • พลังกัลยาณมิตร 1119
  • แสงทองส่องฟ้าคือชีวิต
    • ดูรายละเอียด
Re: "คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 07, 2014, 06:43:31 pm »



:46: :46: :46:

ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก ครับ พี แป๋ม :46:

ผมมัวแต่ไปทำเว็บ ฯ ของตัวเอง ครับ ไม่มีใคร POST



<a href="http://www.youtube.com/v/jhGI0X6jhSQ?version=3&amp;amp;hl=th_TH" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">http://www.youtube.com/v/jhGI0X6jhSQ?version=3&amp;amp;hl=th_TH</a>
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 07, 2014, 07:00:10 pm โดย กัลยา »
ชิเน กทริยํ ทาเนน


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 11 ความทุกข์ยาก คือ เมล็ดพันธุ์พืชแห่งพุทธะ

ผ่านมาเป็นกัปเป็นกัลป์โดยนับไม่ถ้วนแห่งอสงไขยเวลา ที่กาลเวลาเหล่านั้นได้พาเราเองไปเวียนว่ายตายเกิดบนโลกใบนี้ ความที่ต้องทนถูกบีบคั้นกับภาวะต่างๆในชีวิตประจำวัน ในแต่ละภพแต่ละชาติที่ผ่านมาทุกภพทุกชาติไป มันเหมือนประสบการณ์ที่เป็นครูสอนเรา ให้ได้เรียนรู้กับชีวิตที่เดินไปบนหนทางอันมืดมน และไม่มีจุดจบบนเส้นทางนี้ ใจเมื่อหากหวังสิ่งใด หากได้มามันก็อยู่กับเราไม่นาน ยึดในสิ่งที่คิดว่าสมหวัง ท้ายที่สุดก็ต้องมานั่งเสียใจภายหลังว่า "มันจากไปแล้ว" มันจากไปด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง ซึ่งคือความหมายแห่งความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นการพลัดพรากจากไปเป็นของธรรมดาตามแบบสามัญทั่วไป แห่งการไม่มีสิ่งสิ่งนั้นอยู่แล้วโดยความหมายโดยสภาพในตัวมันเอง หรือใจเมื่อหากหวังสิ่งใด แล้วไม่ได้สิ่งนั้นมา ก็เป็นความทุกข์ใจแบบซึ่งหน้า ณ เดี๋ยวนั้นอยู่แล้วนั่นเอง



ชีวิตของมนุษย์ ผู้ที่มีความต้องการอยู่ในกมลสันดานอยู่ตลอดเวลา มันก็เป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา ที่แสดงกรรมของตนเองต่อสิ่งรอบข้าง และต้องจำยอมรับผลกรรมนั้นอยู่ตลอดไป ด้วยอำนาจแห่งกรรมวิสัยนั้น ก็ในความเป็นมนุษย์ที่ต้องอยู่ร่วมกับสังคมมนุษย์ด้วยกัน เป็นสังคมที่ดำเนินไปในทางความมีความเป็นแต่ถ่ายเดียว มนุษย์จึงมีความระมัดระวังในการแสดงออกต่อกัน ได้กระทำถูกบ้างกระทำผิดบ้าง มีความสุขใจบ้างมีความทุกข์ใจบ้าง แต่โดยเนื้อหาแล้วภาวะที่เข้ามาและแบกรับไว้ มันล้วนกลั่นกรองออกมาแสดงเป็นผลแห่งความทุกข์ที่เข้ามาบีบคั้น ให้ใจมนุษย์ต้องทนรับผลของมันอยู่ตลอดไป บางครั้งความทุกข์ยากที่ได้ก่อตัวขึ้น มันมากเสียจนกระทั่งให้หัวใจอ่อนๆของมนุษย์ ผู้ที่ไม่มีปัญญาแก้ไขปัญหาของตนเองได้ถูกวิธี ได้ผุพังกลายเป็นหัวใจที่แตกสลายยับเยิน ไม่อาจทนยินดีรับความทุกข์นั้นไว้ได้ ขาดความเป็นจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ตามที่มันควรจะเป็นไป

                   

แต่ด้วยผลบุญซึ่งคือสภาพที่เป็นเหตุปัจจัยหนึ่ง ซึ่งบัณฑิตทั้งหลายได้สร้างสมไขว่คว้าเอาไว้ ด้วยอำนาจแห่งบุญนั้น ก็ทำให้บัณฑิตทั้งหลายได้เรียนรู้ว่า สิ่งต่างๆทั้งหลายที่เข้ามาบีบคั้นและต้องทนแบกรับไว้ แท้ที่จริงมันคือ "ทุกข์" มันเป็นสภาพแห่งความทุกข์ และทุกข์นี้เองมันทำให้บัณฑิตเหล่านี้ ได้พึงพิจารณาเห็นตามความเป็นจริง ว่ามันเป็นเหตุที่ทำให้ต้องหาทางออกจากมัน ถึงแม้ว่าทุกข์นั้นมันจะเป็นโทษ แต่ทุกข์นั้นโดยสภาพมันเอง มันก็คือ เมล็ดพันธุ์พืชแห่งพุทธะ ที่มันทำหน้าที่เป็นเหตุและปัจจัย "อย่างแท้จริง" ที่ทำให้เราได้มีสติมีกำลังใจกระตุ้นเตือนตนเองว่า เราควรหนีห่างออกจากมันโดยฉับพลัน นี่คือ "ความทุกข์" แห่งพุทธะ


   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   7 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน



ออฟไลน์ noppaknam

  • เกล็ดเมล็ด
  • *
  • กระทู้: 13
  • พลังกัลยาณมิตร 23
    • ดูรายละเอียด
Re: "คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 08, 2014, 05:29:20 am »
 :45: :45: :45: :  13:

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: บทที่ 12 ความเงียบบนเส้นทางนั้น
« ตอบกลับ #14 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 12, 2014, 04:55:31 pm »



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 12 ความเงียบบนเส้นทางนั้น

พวกเราต่างก็ถูกปกคลุมให้อยู่ในฐานะ เป็นบรรดาสรรพสัตว์ที่เกิดมาแล้วต้องตาย ตายแล้วก็ต้องเกิด หมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายภพชาติกันไปแบบไม่มีวันจบสิ้น แถมยังล้วนแต่เป็นสรรพสัตว์ที่โง่เขลาอ่อนด้อยทางปัญญา มีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงำจิตใจเราอยู่ตลอดเวลา ความหลงผิดดังกล่าวทำให้เรามีแต่ความยินดียินร้าย เมื่อมีเหตุและปัจจัยเข้ามากระตุ้น ให้เข้าไปยึดในความมีขันธ์ทั้งห้าเกิดขึ้น ตามโมหะแห่งสรรพสัตว์เราทั้งหลาย


ก็ขอให้พึงสำเหนียกเอาไว้เลยว่า ความสุขและทุกข์ที่เราได้รับอยู่ตลอดเวลานั้น มันล้วนเกิดจากอวิชชาความไม่รู้ของเราเอง พาเข้าไปมองเห็นแบบเข้าใจผิดว่า "มีขันธ์ทั้งห้าเกิดขึ้น" และอวิชชาความไม่รู้อีกเช่นกัน ก็พาเข้าไปยึดขันธ์ทั้งห้าที่เกิดขึ้นนั้น คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จนปรุงแต่งกลายมาเป็น "จิต" เป็นจิตที่มีแต่เนื้อหายินดียินร้ายไปในทางสรรพสิ่งแห่งมายาของตน ซึ่งเป็นผลพวงจากที่ตนเองเข้าใจผิดต่อความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ก็ทั้งหมดนี้มันเป็นเพียงสังขารการปรุงแต่งไปตามเหตุและปัจจัย ที่เข้ามาเพียงเท่านั้น

 แท้จริงแล้วเหตุปัจจัยที่เข้ามา "มันก็หามีไม่" "ความมี" แห่งเหตุและปัจจัยนั้นมันก็หาคงตัวคงที่ถาวรไม่ มันย่อมแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เพราะโดยสภาพตามธรรมชาติของมันแห่งเหตุและปัจจัยที่เข้ามานั้น โดยตัวมันเองมันก็ย่อมไม่มีย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมันอยู่แล้ว เมื่อมันเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติอันคือคุณลักษณะของมัน มันก็ย่อม "หมดเหตุ" ในเหตุและปัจจัยนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงควร ไม่ต้องเข้าไปรู้สึกดีใจหรือเสียใจในสิ่งที่เข้ามา ก็ในเมื่อสิ่งที่เราคิดและอาจประสบพบเจอ มันอาจเป็นเพียงความสำเร็จหรือความล้มเหลว แต่ทั้งสองทางมันก็ล้วนเกิดจาก "จิตที่เราปรุงแต่งขึ้น"




 เมื่อมันล้วนแต่เป็นเพียงมายาแห่งการปรุงแต่ง สรรพสัตว์ผู้ที่เข้าใจในธรรมชาติแห่งทุกสรรพสิ่งว่า แท้ที่จริงหามีสิ่งใดไม่ ธรรมชาติมันคงปรากฏแต่เนื้อหา แห่งความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน มาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีอันหาจุดเริ่มต้นของมันไม่ได้ และไม่มีวันที่จะมีจุดจบสลายหายไป มันเป็นธรรมชาติที่ว่างเปล่าแบบคงตัวถาวร ตลอดสายถ้วนทั่วทุกอณูธรรมธาตุ ตามเนื้อหาตามสภาพของมันแบบธรรมชาติอยู่อย่างนั้น สรรพสัตว์ผู้ที่มีความตระหนักชัดในความหมายแห่งธรรมชาตินี้ และสามารถซึมซาบกลมกลืนกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมัน "ได้แบบมั่นคง" หามีความหวั่นไหวไปตามมายาอันคือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ก็ขึ้นชื่อได้ว่าสรรพสัตว์ผู้นั้นกำลังได้ปฏิบัติธรรม และกำลังเดินไปบนเส้นทางอริยมรรค อันคือหนทางไปสู่ความหลุดพ้น แบบเงียบๆอยู่คนเดียว ในท่ามกลางการใช้ชีวิตประจำวันของตน ต่อสังคมรอบข้างได้อย่างเหมาะสมลงตัว


   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   8 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน



.

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: บทที่ 13 วิถีที่เรียบง่าย
« ตอบกลับ #15 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 12, 2014, 06:29:23 pm »



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 13 วิถีที่เรียบง่าย

โลกตามความเป็นจริง มิได้หมายถึงผืนแผ่นดินที่มีรูปทรงกลมและมีมหาสมุทรโดยรอบ แต่โลกตามความหมายแห่งตถาคตเจ้า คือโลกที่ถูกรับรู้ด้วยอายตนะและขันธ์ธาตุอันประกอบเป็นร่างกายขึ้น คือโลกในความเป็นมโนภาพในโครงสร้างแห่งความเข้าใจ แห่งมนุษย์ทั้งหลายตามความรับรู้แห่งตน ก็โดยสรรพสัตว์ทั่วไปย่อมใช้ชีวิตตามอำเภอใจ ดำรงชีวิตไปตามที่ใจของตนปรารถนา จึงเป็นความปกติที่พื้นฐานของชีวิตมนุษย์ทุกตัวตน ย่อมดิ้นรนแสวงหาความสุขมาปรนเปรอบำเรอให้กับชีวิตของตน ตามที่ตนเองตั้งความหวังเท่าที่ตนจะหวังได้อยู่ร่ำไป


 แต่ด้วยลักษณะกรรมที่ตนเองเคยประกอบทำไว้ในอดีตชาติที่ผ่านมา ด้วยความมืดมัวแต่เก่าก่อนที่เคยทำไปแบบผสมปนเป เป็นเนื้อหากรรมที่เป็นไปในทางความสุขบ้างความทุกข์บ้าง คละเคล้ากันไปตามอำนาจแห่งความมืดแห่งหัวใจตน ก็ด้วยการเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้มันเป็นการใช้กรรมและการสร้างกรรม ด้วยเหตุผลดังกล่าวทั้งหมดข้างต้น มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ทุกคนจะประสบแต่ความสุขแต่ฝ่ายเดียว ความสุขที่ได้เสพนั้น เมื่อวาระแห่งกาลเวลาที่ต้องใช้กรรมชนิดนี้หมดไป ด้วยเหตุผลที่ว่ามีกรรมชนิดใหม่ๆต้องเข้ามาแทนที่ ตามหน้าที่แห่งความเป็นไปตามระบบกรรมวิสัยนั้น และอีกทั้งโดยสภาพตามความเป็นจริงตามธรรมชาติ ย่อมไม่มีสิ่งใดๆที่จะตั้งอยู่ในสภาพนั้นๆในความรู้สึกนั้น แบบคงที่ถาวรได้ตลอดไป เพราะธรรมชาติคือความว่างเปล่า ไม่อาจมีรูปทรงใดๆหรือสิ่งไหนตั้งอยู่ในสภาพของมัน ได้อยู่อย่างนั้นได้ตลอดไปในความว่างเปล่าได้เลย



 เมื่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มิใช่ปรากฏการณ์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงตามธรรมชาติ ปรากฏการณจึงย่อมมิใช่ปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์ทั้งหลายนั้นจึงย่อมเป็นมายา เสมือนเป็นพยับแดดที่ระเหือดระเหยหายไป ในชั่วพริบตาแห่งความรู้สึก ความสุขที่ไขว่คว้าจึงมิได้มีความจีรังยั่งยืนแต่อย่างใด แต่เมื่อเหตุและผลตามความเป็นจริงแห่งธรรมชาตินี้ ถูกกลบไปด้วยความรู้สึกที่ยึดมั่นบนพื้นฐานแห่งความไม่เข้าใจ สรรพสัตว์ในคราบมนุษย์ทั้งหลาย จึงดำเนินชีวิตของตนไปในบรรดาความรู้สึกต่างๆที่ตนเองเคยชิน เป็นความเคยชินในความชอบที่หมกอยู่ในกมลสันดานแห่งจิตตน ความเคยชินที่เป็นความสั่งสมแบบแนบแน่น ชนิดที่เรียกว่า เราคือมัน มันคือเรา ก็จะพาให้เรากลายเป็นหนึ่งเดียวกับโลกแห่งมายาในสามภพ คือ มนุษย์ สวรรค์ นรก ความแนบแน่นดังกล่าวก็จะดลบันดาลด้วยอำนาจแห่งมัน พาเราไปเวียนว่ายตายเกิดในภพในเรือนทั้งสามนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด


แท้จริงความเป็นเราย่อมไม่มี แท้จริงความเป็นขันธ์ธาตุย่อมไม่มี ขันธ์ธาตุนั้นโดยตัวมันเองย่อมเป็นความว่างเปล่า ไม่มีอะไรที่จะเข้าไปยึดถือจนก่อให้เกิดความเป็นตัวตนได้ ความเป็นจริงไม่เคยมีขันธ์ธาตุเกิดขึ้นมาก่อน หากกล่าวว่ามีขันธ์ธาตุเกิดขึ้น มันก็เป็นการเกิดขึ้นแห่งขันธ์ธาตุด้วยความมีโมหะแห่งเราเอง จึงปรากฏความเป็นขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นในความรับรู้ และยึดเอาขันธ์ธาตุนั้นคือเรา มีความหมายในความเป็นตัวเป็นตนแห่งเรา เพราะความเข้าไปยึดด้วยเหตุแห่งอวิชชาความไม่รู้ แต่ด้วยความเป็นจริงขันธ์ธาตุที่เราเข้าไปอาศัยและยึดมั่นถือมั่นมัน มันมีความเสื่อมโทรมมีความแก่ชรา มีความแปรเปลี่ยนไปในรูปทรงของมัน แปรเปลี่ยนไปในลักษณะที่จะพลัดพรากจากไป ด้วยความคงตัวรูปทรงเดิมของมันเอาไว้ไม่ได้ ขันธ์ธาตุหรือกายนี้ จึงเปรียบประดุจเรือนที่เราได้พักพิงอาศัยชั่วคราว ความแปรปรวนของมันเปรียบเสมือนเรือนที่กำลังถูกไฟไหม้ ให้สูญสลายมอดหายไปในทุกกาลเวลานาที

                 

 เมื่อถึงเวลาที่ต้องอำลาจากกันไป ขันธ์ธาตุที่มาประชุมกันเป็นรูปกายเราเป็นอวัยวะต่างๆ มันก็พร้อมทำหน้าที่แห่งมัน เป็นหน้าที่ที่ต้องแยกย้ายสลายออกจากกัน ไปสู่ความเป็นธาตุเดิมของมัน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แม้กระทั่ง ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ย่อมสลายหายไปอีกเช่นกันหามีตัวตนไม่ จึงเป็นการจากไปเพื่อกลับคืนสู่ฐานะดั้งเดิมตามธรรมชาติอย่างแท้จริง เป็นธรรมชาติที่คงปรากฏการณ์ "ความว่างเปล่า" ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน อยู่อย่างนั้นมาเป็นเวลานานแสนนานแล้ว เมื่อความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติมันเป็นเช่นนี้ สรรพสัตว์มนุษย์ผู้มืดบอดและไม่ยอมเข้าใจในกฎธรรมชาตินั้น จึงเอาความเคยชินซึ่งเป็นความทะยานอยากแห่งตน วิ่งไล่จับคว้าเงาของตนเองในความมืดอยู่อย่างนั้น เมื่อทุกสรรพสิ่งย่อมไม่มีตัวตนโดยตัวมันเองอยู่แล้ว การได้มาหรือการจากไป บนพื้นฐานความรู้สึกนั้นๆในความยึดมั่น จึงย่อมเป็นการกระทำที่เหนื่อยเปล่าและหาสาระอะไรไม่ได้เลย

เพราะธรรมชาติคือความเป็นจริงที่ไม่ซับซ้อน เป็นความเรียบง่ายในวิถีแห่งมัน ในความว่างเปล่าไร้ตัวตน สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงละทิ้งความซับซ้อนยุ่งเหยิงและความเหนื่อยหน่าย แห่งความมีความเป็นที่นำพาชีวิตของสรรพสัตว์ ให้โลดแล่นไปตามความทะยานอยากทั้งหลายเสีย แล้วหันหน้ามาทำความเข้าใจกับความจริงให้ตรงต่อความเป็นธรรมชาติ ซึ่งมันเป็นเหตุและผล แบบเรียบง่ายไม่ซับซ้อนในความเป็นจริงแห่งตัวมันเอง แล้วธรรมชาตินั้น ก็จะพาท่านดำรงชีวิตไปบนวิถีที่เรียบง่ายแห่งมัน แต่ความเรียบง่ายนี้กลับเป็นความสุขที่ยืนยาวอย่างแท้จริง ตราบชั่วนิจนิรันดรในอมตธรรมนั้น

   

   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   9 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

                     
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 22, 2014, 06:40:22 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 14 "ตถตา" มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น

เมื่อพวกเธอตัดสินใจเดินบนเส้นทางธรรมชาติ ด้วยความมั่นใจของพวกเธอเองที่คือความเข้าใจในเนื้อหาธรรมชาตินั้นอันจะทำให้พวกเธอไม่หันหลังกลับไปในหนทางที่มืดมัวอีก ซึ่งจะพาให้พวกเธอหลงทางไปในทิฐิอื่นๆที่ไม่ใช่สัมมาทิฐิ ศรัทธาที่ออกมาจากหัวใจอันแกร่งกล้าเด็ดเดี่ยวของพวกเธอ ซึ่งทำให้พวกเธอร้องอุทานออกมาว่า "นี่ใช่หนทางอันแท้จริงแล้ว" แล้วรีบก้าวเดินรุดไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง กำลังใจทั้งมวลที่ออกมาจากใจของพวกเธอนั้น คือพลังแห่งธรรมธาตุต่างๆซึ่งมันอยู่ในฐานะเป็นอินทรีย์แห่งธรรม ที่ช่วยผลักดันให้พวกเธอได้ทำความเข้าใจตระหนักชัด ในเนื้อหาธรรมชาติได้อย่างชัดแจ้ง

 และมันจะช่วยผลักดันให้พวกเธอได้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน แบบกลมกลืนกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้นด้วยการ "ซึมซาบ" ซึ่งหมายถึง ความเป็นแบบเดียวกัน ซึ่งหมายถึง ความเป็นเนื้อหาเดียวกัน ชนิดที่ไม่อาจแบ่งแยกออกได้เป็นสองสิ่ง หรือ หลายๆสิ่งมากกว่านั้น ซึ่งมันไม่สามารถแบ่งแยกออกได้ว่า นี่คือ พวกเธอ นี่คือ ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ในเนื้อหานั้น แต่มันทำให้ซึมซาบแบบกลมกลืนไปในทาง ไม่มีความแตกต่างใดๆเลยอย่างเด็ดขาด ในเนื้อหาธรรมชาติดั้งเดิมแท้ เพราะว่ามันก็เป็นของมันเช่นนั้นเองอยู่อย่างนั้น เป็นการซึมซาบที่ไม่อาจจะใช้ "เหตุและผลใดๆทั้งปวง" เข้ามาวิเคราะห์เพื่อรองรับเนื้อหาการซึมซาบในธรรมชาตินี้ได้อีก เมื่อสามารถซึมซาบกับมันแล้วด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ก็ปล่อยมันไว้อย่างนั้นตามธรรมชาติของมัน ตามที่มันจะเป็นไปตามเนื้อหาของมันเอง มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว



ธรรมชาติดั้งเดิมแท้นี้ มันเป็นธรรมชาติที่แสดงเนื้อหาแห่ง "ความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวตน" มาก่อนอยู่แล้วตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีแห่งมัน มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่แบบนั้น ความเป็นธรรมชาติของมัน ซึ่งมีความหมายถึง มันมิได้เป็นเนื้อหาที่เกิดจากอะไรกับอะไร หรือเกิดจากที่มีใครอะไรที่ไหนสักคนที่มีความสามารถมาทำให้มันเกิด แต่มันเป็นธรรมชาติที่มีเนื้อหาสมบูรณ์แบบอยู่แล้วของมันมาตั้งแต่ต้น มันสมบูรณ์แบบขนาดที่ว่า ไม่ต้องมีใครมาเสริมเติมแต่งในเนื้อหาของมันอีก มันเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าไร้ความเป็นตัวเป็นตน "แบบเสร็จสรรพเด็ดขาด" ในเนื้อหาของมันมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีของมันเอง

 มันเป็นความว่างเปล่าไร้ความเป็นตัวตน "แบบตลอดสาย" ถ้วนทั่วทุกอณูธรรมธาตุอยู่แล้วโดยตัวมันเอง โดยไม่ต้องมีใครเอามือส่วนที่เกินแห่งตน มาพยายามทำความปะติดปะต่อให้กับความว่าง ให้มันว่างไปตลอดสายถ้วนทั่วสมดั่งที่ใจของเขาคนนั้นปรารถนา มันเป็นความว่างแบบบริบูรณ์อย่างเต็มเปี่ยมอยู่แล้วโดยไม่มีความพร่อง ดังนี้มันจึงไม่ต้องการให้ใครมาเติมเต็มอะไรให้มันเต็มจนล้นออกมาอีก ดังนี้ไม่ว่าด้วยเหตุอะไรถ้าจะก่อให้เกิดความพยายามใดๆ และความพยายามนั้นมันจะก่อให้เกิดไปในทางความหมายอื่น ซึ่งมันเป็นความพยายามที่จะทำให้ ความหมายของธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้น มันปรากฏเด่นชัดขึ้นมาในความเข้าใจผิด และตามความต้องการของพวกเธอเอง "ความพยายาม" เหล่านี้ที่พวกเธอพยายามผลิตออกมา ล้วนเป็น "จิตปรุงแต่ง" ของพวกเธอทั้งสิ้น มันเป็นความพยายามที่เข้ามา "บดบัง" ความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้เสียแต่เพียงเท่านั้น ก็ด้วยธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันบริบูรณ์สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว โดยเนื้อหามันเองอยู่อย่างนั้น มันจึงปราศจากทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องกับมัน ในทุกทางและทุกแง่ทุกมุม



เมื่อพวกเธอมีความเข้าใจตระหนักชัด ในธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าไร้ความเป็นตัวตน ก็เพียงแค่พวกเธอปล่อยให้ธรรมชาติดั้งเดิมแท้ มันทำหน้าที่ของมันเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นการที่เธอ "ได้ซึมซาบและกลมกลืน" กับมันแล้ว ธรรมชาติดั้งเดิมแท้นี้ มันก็จะทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยที่ไม่มีความตกบกพร่องเลย มันก็จะปรากฏเนื้อหาของมันตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้น "ไม่เป็นอื่น" มันเป็นความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวตน แบบเสร็จเด็ดขาดอยู่อย่างนั้น มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น "อยู่แล้ว" นี่คือ ตถตา ซึ่งคือ ธรรมชาติแห่งความหลุดพ้นจากภาวะการปรุงแต่งทั้งปวง ได้อย่างอิสระเด็ดขาดโดยเนื้อหาตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น

                   

เมื่อพวกเธอตระหนักชัดและสามารถซึมซาบ กลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ได้อย่างกลมกลืน ก็เท่ากับว่าพวกเธอทั้งหลายได้ทำหน้าที่ของพวกเธอเอง ในความที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์บนโลกใบนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว พวกเธอได้ทำหน้าที่ "มนุษย์" ได้สมความภาคภูมิอย่างไม่มีที่ตำหนิ หลังต่อจากนี้ไป สิ่งใดๆที่พวกเธอจะหายใจและมีชีวิตอยู่ ก็เป็นการใช้ชีวิตอยู่แบบไม่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน ทนแบกความทุกข์ระทมอีกต่อไป ลมหายใจนั้นก็กลายเป็นลมหายใจแบบอุ่นๆกรุ่นละมุน ที่มันถูกฟอกออกมาจาก "หัวใจแห่งพุทธะ" อันบริสุทธิ์ของพวกเธอเอง ขาสองข้างของพวกเธอที่ยืนเหยียบบนโลกใบนี้ มันก็จะกลายเป็นการยืนได้อย่างมั่นใจ ในการที่พวกเธอจะดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้แบบถูกทิศถูกทาง "เหมาะสมลงตัว" ตามที่มันควรจะเป็นไป ในฐานะที่พวกเธอเป็น "มนุษย์" ผู้มีใจสูงและประเสริฐ

   

   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   10 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

                     

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: บทที่ 15 วิถีธรรมชาติสู่ความเป็นธรรมชาติ
« ตอบกลับ #17 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 14, 2014, 08:55:55 pm »



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 15 วิถีธรรมชาติสู่ความเป็นธรรมชาติ

ณ โคนต้นศรีมหาโพธิ์ ในราตรีแห่งการตรัสรู้คืนนั้น เพื่อไปสู่ฐานะความเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก่อนใครอื่นในห้วงเวลานี้ตามวาระกรรมแห่งตน ท่านสิทธัตถะได้ละทิ้งหนทางอันทำให้ท่านหลงผิดไป ในความเข้าใจว่าการกระทำของท่าน ณ เวลานั้น มันคือหนทางอันจะทำให้ท่านพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ ก็ด้วยบุญกุศลที่เป็นเหตุปัจจัยเดียวอันสูงสุดที่รอท่านอยู่เบื้องหน้า กำลังจะแสดงเนื้อหากรรมแห่งมัน ซึ่งเป็นบุญกุศลที่สั่งสมถึงพร้อมแล้ว อันเนื่องมาจากความตั้งใจมั่นอย่างยิ่งยวด ในความประพฤติดำรงตนของตนเองในฐานะมนุษย์ ผู้ที่ได้ชื่อว่า "บรมมหาโพธิสัตว์" ในเส้นทางแห่งความดีนั้น เพื่อมาช่วยรื้อขนหมู่สัตว์ข้ามฝั่งห้วงโอฆะในกลุ่มกรรมวิสัยของท่าน เหตุในบุญกุศลเหล่านี้จึงช่วยดลบันดาลให้ท่านสิทธัตถะ ละทิ้งวิธีทรมานตนอันเป็นมิจฉาทิฐิ ซึ่งเป็นที่ยอมรับนำมาปฏิบัติทั่วไปในยุคนั้น มาสู่หนทางความเป็นจริงตามที่มันควรจะเป็นไปในเส้นทางสัมมาทิฐิ

 ก็หลังจากที่ท่านได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาด เพื่อละทิ้งข้อวัตรอันเป็นไปด้วยความงมงายเหล่านั้นไปเสีย ท่านจึงได้หันมาพิจารณาถึงสภาพทุกข์ที่แท้จริง และวิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเกิดความทุกข์นั้นอย่างตรงไปตรงมา ท่านสิทธัตถะจึงรู้ว่าปัญหาทั้งปวง เกิดจากความไม่รู้ของท่านเองที่เข้าไปยึดความเป็นขันธ์ทั้งหลาย จนก่อให้เกิด ตัณหา อุปาทาน ปรุงแต่งเป็นตัวตนของท่าน และปรากฏเป็นสิ่งอื่นๆในความคิดที่ปรุงขึ้นนั้น การจดจำและการบันทึกเรื่องราวที่ปรุงแต่งเกิดขึ้น และได้แสดงกระทำออกมาในทุกๆภพ ทุกๆชาตินั้น เป็นความยึดมั่นถือมั่นบนพื้นฐานแห่งอุปนิสัยของท่านเอง ในความชอบ ความชัง ที่สั่งสม อุปนิสัยที่สั่งสมมาจนเป็นสัญลักษณ์ในเชิง "อัตวิสัย" ว่าท่านเป็นคนคนนี้ เป็นคนแบบนี้ อนุสัยที่หมักดองมานานในกมลดวงจิต ในการกระทำซ้ำตามความชอบความชังแห่งตน ก็ได้กลายเป็นอวิชชาที่หนาแน่น พาท่านไปเวียนว่ายตายเกิดมานับไม่ถ้วนแห่งอนันตอสงไขยเวลา


และด้วยปัญญาแห่งพุทธวิสัยของท่านที่สั่งสมมาเนิ่นนาน ซึ่งเป็นปัญญาที่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างลุล่วงตามความเป็นจริง จึงทำให้ท่านสิทธัตถะมองเห็นว่า แท้จริงก็เพราะความไม่รู้ของท่านเองที่ยังมองเห็นว่า มีขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นอยู่ การเกิดขึ้นแห่งขันธ์ด้วยความไม่รู้นี่เอง เป็นการเกิดขึ้นที่พร้อมจะเป็นเหตุปัจจัยเป็นสายทอดยาว เพื่อไปสู่ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์เหล่านี้ จนก่อให้เกิดการปรุงแต่งและกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา ท่านจึงได้พิจารณาเล็งเห็นด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ณ เวลานั้นว่า แท้จริงโดยธรรมชาติมันมีแต่ความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ย่อมไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะก่อเกิดขึ้นในธรรมชาตินี้ได้เลย มันย่อมไม่มีแม้กระทั่งความเป็นขันธ์ทั้งห้าเกิดขึ้น เพื่อจะเข้าไปยึดให้เป็นตัวเป็นตนเป็นท่านขึ้นมาได้อีก

 เพราะท่านได้เข้าใจในความหมายแห่งธรรมชาติอย่างแท้จริงว่า ธรรมชาตินั้นมันได้ทำหน้าที่ของมันมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ไม่เคยเปลี่ยนแปลงความเป็นมันไปเป็นอย่างอื่น ความมีความเป็นตัวตนที่ก่อเกิดในความหลงว่ามีขันธ์ทั้งห้าเกิดขึ้น มันเป็นความหลงในอวิชชาของสัตว์ผู้มืดบอด อย่างท่านเองแต่ผู้เดียวเท่านั้น ซึ่งความมืดบอดของท่านมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้ที่มันเป็นของมันอย่างนั้นอยู่แล้ว มาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที เมื่อท่านได้ตระหนักชัดและซึมซาบ กลายเป็นเนื้อหาเดียวกันแบบกลมกลืนในธรรมชาตินั้น การรู้อย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหา และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างหมดจด ในวิถีธรรมชาติซึ่งเป็นการรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมธาตุทั้งหลาย ก็ทำให้ท่านสิทธัตถะได้อยู่ในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า นาม "พุทธโคดม" ผู้ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในธรรมธาตุแห่งธรรมชาตินั้นก่อนใครอื่น

               

จึงเป็นเรื่องปกติในความเป็นไปแบบนั้นอยู่แล้ว เมื่อพระพุทธองค์ทรงออกประกาศธรรม และทรงอบรมสั่งสอนบรรดาสรรพสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลาย ท่านทรงเลือกที่จะชี้ตรงไปยังธรรม อันคือความเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นแต่ถ่ายเดียว ซึ่งเป็นหนทางอันหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงอย่างแท้จริง ในพระสูตรทุกๆพระสูตร ที่ปรากฏมาในพระไตรปิฎกที่พระองค์ทรงตรัสสอนไว้ และทำให้เหล่าพราหมณ์นักบวชนอกศาสนาทั้งหลายในยุคนั้น ได้มองเห็นแสงสว่างแห่งธรรมธาตุอันบริสุทธิ์ ก็ล้วนแต่มีเนื้อหาไปในทางเดียวกัน ในความที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแต่เพียงเฉพาะ ธรรมอันคือเนื้อหาธรรมชาติเท่านั้น ท่านทรงตรัสเพียง ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้น หามีตัวตนไม่ หาใช่ตัวใช่ตนไม่ ความอนิจจังไม่เที่ยงแห่งขันธ์ทั้งหลายเหล่านี้ มีความหมายไปในทางที่ว่า มันไม่เคยมีขันธ์ทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นมาก่อน

 ซึ่งหมายความถึง มันไม่เคยมีความปรากฏแห่งขันธ์เกิดขึ้น เพื่อเป็นเหตุปัจจัยอันอาจจะทำให้เข้าไปยึดมั่นถือมั่น จนกลายเป็น ตัณหา อุปาทาน ขึ้นมาได้ ซึ่งหมายความถึง ความไม่ปรากฏอะไรเลยสักสิ่งเดียว มันคงไว้แต่ความเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมัน ที่มันทำหน้าที่แสดงเนื้อหาของมันเองตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ซึ่งหมายถึง ธรรมชาตินั้นมันเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความเป็นตัวเป็นตนแบบเสร็จสรรพเด็ดขาดถ้วนทั่ว โดยตัวมันเองอยู่อย่างนั้นอยู่แล้วมาตั้งแต่แรกเริ่ม มันเป็นธรรมชาติที่มีความอิสระเด็ดขาด ไม่อยู่ภายใต้การดำริริเริ่ม หรือ ความครอบครองครอบคลุม ของภาวะใดๆแม้สักอณูธรรมธาตุเดียว มันเป็นความเกลี้ยงเกลาในความว่างเปล่าปราศจากความเป็นตัวเป็นตน ของมันอยู่แบบนั้นโดยความเป็นธรรมชาติ พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนหมู่เวไนยสัตว์แต่เพียงเท่านี้

             

 การสอนเพื่อชี้ทางมุ่งไปสู่วิถีธรรมชาติที่มันมีอยู่แล้วนั้น มันเป็นเพียงการทำความเข้าใจในปัญหาแห่งตนเอง และลุกหนีออกจากสภาพปัญหาไปสู่ความเป็นธรรมชาติแต่เพียงเท่านั้น วิถีธรรมชาตินี้จึงไม่ใช่รูปแบบที่จะต้องประกอบขึ้นด้วยอะไรกับอะไร มันจึงไม่ต้องมีอะไรตระเตรียมกับสิ่งใด เพื่อเป็นเหตุปัจจัยให้ธรรมชาตินี้เกิดขึ้น การปฏิบัติธรรมที่แท้จริง มันจึงเป็นเพียงการทำความเข้าใจอย่างตระหนักชัดแจ้ง จนหมดความลังเลสงสัยในธรรมทุกภาวะธรรม ซึ่งเป็นการรู้แจ้งแทงตลอดในทุกอณูธรรมธาตุ เพื่อคลายตัวเองออกจากภาวะการปรุงแต่งทั้งปวง ได้อย่างแนบเนียนตามวิถีธรรมชาตินั้น เป็นการคลายเพื่อความเป็นไปในธรรมชาตินั้นๆอย่างกลมกลืน ไม่มีส่วนต่างที่อาจจะแบ่งแยกออกมาเป็นสิ่งๆตามความไม่รู้ได้อีก

ด้วยวิถีธรรมชาติที่พระพุทธองค์ทรงชี้สอน เพื่อให้บรรดาสรรพสัตว์ผู้มืดบอดได้เดินไปในหนทางธรรมชาตินั้น มันจึงเป็นความหมายแห่ง วิถีธรรมชาติสู่ความเป็นธรรมชาติ มันจึงเป็นความหมายแห่ง วิถีพุทธะสู่ความเป็นพุทธะ มันจึงเป็นความหมายแห่ง วิถีแห่งจิตสู่จิต เป็นวิถีจิตสู่จิตที่เหล่าคณาจารย์แห่งเซนทั้งหลายในอดีต ได้กล่าวเรียกขานในวิถีธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่คณาจารย์ได้หยิบยกขึ้นมา เพื่อคุ้ยเขี่ยธรรมให้แก่ลูกศิษย์ของตน มายาวนานตราบจนถึงทุกวันนี้

   

   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   11 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

                     

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: บทที่ 16 เข้ามาได้เลย
« ตอบกลับ #18 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 14, 2014, 09:54:19 pm »



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 16 เข้ามาได้เลย

ครั้งเมื่อพระโพธิธรรมหรือปรมาจารย์ตั๊กม้อ ได้เดินทางมาเมืองจีนตามคำพยากรณ์ของตถาคต สิ่งที่เป็นอุปสรรคและรุงรังขวางกั้นการเผยแผ่ธรรมของท่าน ก็คือพวกนักบวชของประเทศจีนในยุคนั้น ไม่รู้จักธรรมซึ่งเป็นคำสอนอันแท้จริงของตถาคตเจ้าเลย นักบวชส่วนใหญ่ล้วนแต่ศึกษาในคัมภีร์ซึ่งแต่งไว้เป็นพระสูตร แต่การศึกษานั้นมิได้เป็นไปในความเข้าใจข้ออรรถข้อธรรมในพระสูตรได้อย่างลึกซึ้งถูกต้องตรงตามธรรมธาตุแต่อย่างใด และที่แย่ไปกว่านั้น นักบวชเหล่านี้ได้เอาแต่นั่งอยู่ต่อหน้ารูปปั้นพระพุทธองค์ และนั่งสวดอ้อนวอนเพื่อหวังผลให้ได้ไปเกิด ในดินแดนที่มีความเป็นพระพุทธเจ้าปรากฏอยู่อย่างนั้น นักบวชและอุบาสกอุบาสิกา ผู้ที่มุ่งมั่นในการฝึกปฏิบัติ ยังมีความคิดและกระทำไปในทางที่ว่า การที่ตนเองได้หมั่นทำบุญ บริจาคทาน และก่อสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา การกระทำเหล่านี้มันเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้พวกตน ได้บรรลุธรรมอันคือความหลุดพ้นได้ในภายภาคหน้า


แต่ความเป็นจริงตามธรรมธาตุ พุทธะก็คือพุทธะที่มันเป็นจริงตามเนื้อหาของมัน พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ หมายความว่า เป็นการรู้ตามความเป็นจริง ตามสัจธรรมที่มันปรากฏอยู่บนโลกใบนี้ตามธรรมชาติของมันอยู่แล้ว เป็นการรู้ชนิดที่เรียกว่าไม่ทำให้เราเป็นคนโง่หลงงมงาย หลงทางไปในข้อวัตรปฏิบัติอันเป็นความเข้าใจผิด และเสียเวลาไปกับมันเป็นกัปเป็นกัลป์ โดยไม่มีประโยชน์สูงสุดที่แท้จริงเกิดขึ้นแต่อย่างใด เป็นการรู้ที่ทำให้เราเข้าใจในธรรมชาติอันคือความเป็นจริง ที่มันดำรงเนื้อหาของมันอยู่อย่างนั้นมานานแสนนาน อันหาเบื้องต้นและที่สุดไม่ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจในสภาพความรู้ที่เป็นความจริงแท้ ตรงแน่วอยู่ในเนื้อหาแห่งธรรมชาติอันเป็นพุทธะนั้น โดยหามีความคลอนแคลนลังเลสงสัยไม่แน่ใจ ไปในทางความหมายอื่นแม้แต่น้อย เป็นการรู้ชนิดที่ทำให้เราปักใจและเต็มใจ ที่จะอยู่กับความรู้ชนิดนี้ตลอดไปตราบชั่วกัลปาวสาน มันเป็นการรู้ที่เป็นเนื้อหาพิเศษด้วยคุณสมบัติเฉพาะของมัน เป็นคุณสมบัติที่หากใครได้เข้ามารู้แล้ว จะทำให้ผู้นั้นสลัดทิ้งเสียทั้งหมด ซึ่งความรู้ในเนื้อหาชนิดอื่นๆอันทำให้เดินไปในหนทางอื่น

                      

พุทธะ แปลว่า ผู้ตื่น หมายความถึงเป็นการตื่นออกจากภวังค์แห่งความมืดหลง ในอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่ถูกมันครอบงำพาเท้าทั้งสองข้างของเรา เดินไปในหนทางที่ลดเลี้ยวเคี้ยวคดในสามโลกมาเป็นเวลานาน เป็นการตื่นขึ้นเพื่อพบแสงสว่างแห่งรุ่งอรุณในยามเช้าของชีวิตใหม่ เป็นชีวิตใหม่ที่เริ่มต้นด้วยคุณงามความดีถูกต้อง ตรงต่อความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะที่แท้จริง และมันเป็นแสงสว่างในยามเช้ารุ่ง ที่สาดส่องออกมาได้อย่างเจิดจ้าไม่มีวันอ่อนแสง เป็นแสงแห่งพุทธิปัญญาที่ส่องทางนำพาชีวิตเรา ให้เดินไปบนมรรคาแห่งธรรมชาติโดยไม่มีวันเดินถอยหลังกลับ เป็นการตื่นเพื่อลืมตามาดูธรรมชาติแห่งความเป็นจริง ที่มันปรากฏอยู่ต่อหน้า และเป็นการตื่นโดยที่ไม่มีวันจะได้หลับใหลอีกแล้ว เป็นการตื่นเพื่อเป็นสภาพเดียวกันกับความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั้นโดยไม่มีความแตกต่างไปในทางความหมายอื่น เป็นการตื่นเพื่อดำรงชีวิตของตนไปตามปกติอยู่อย่างนั้น ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงอะไรไปจากเดิมแต่อย่างใด เป็นการตื่นเพื่อดำรงชีวิตของตนไปตามหน้าที่ของตนเอง เท่าที่ตนเองพึงมีและเต็มใจทำ เป็นการตื่นเพื่อดำรงชีวิตของตนเองไปตามเหตุปัจจัย ที่เคยประกอบมาและตนยังต้องรับกรรมนั้นอยู่



พุทธะ แปลว่า ผู้เบิกบาน หมายความถึงเป็นผู้ที่มีความโชคดีอย่างมาก เป็นผู้ที่มีบุญมีวาสนาอย่างแท้จริง ที่สามารถนำพาชีวิตของตนเองก้าวพ้นออกมา จากห้วงแห่งความทุกข์ระทมได้ เป็นความเบิกบานต่อความสุขที่ยั่งยืน ในความที่ธรรมชาติแห่งพุทธะได้หยิบยื่นให้กับเรามา เป็นความเบิกบานต่อธรรมธาตุแห่งพุทธะ ที่มันมีแต่ความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ซึ่งมันหมดเชื้อหมดเหตุหมดปัจจัย อันจะทำให้เข้าไปยึดมั่นปรุงแต่งขึ้นมาเป็นความทุกข์ได้อีก เป็นความเบิกบานที่ได้กลับมาสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ที่สามารถดำรงชีวิตของตนได้อย่างอิสรเสรี ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้ความเป็นทาสของใจตน ที่คอยดิ้นรนไปในทางไขว่คว้าทะยานอยาก เป็นความเบิกบานซึ่งเป็นความสุขในทุกก้าวย่าง ที่เรากำลังดำเนินชีวิตก้าวไปข้างหน้า

               

เพราะฉะนั้นเมื่อสามารถทำความเข้าใจตระหนักได้แล้วว่า พุทธะที่แท้จริงนั้น ก็คือธรรมชาติที่มันเป็นสิ่งเดียวกันกับเรามาตั้งแต่ต้น เราก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือเรา ก็ในเมื่อธรรมชาติคือความเป็นพุทธะ ความเป็นพุทธะก็คือความเป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเราก็คือความเป็นพุทธะมาตั้งแต่ต้นนั่นเอง การค้นหาพุทธะก็คือการค้นหาความเป็นธรรมชาติแห่งตนเอง การดิ้นรนไปด้วยความไม่เข้าใจซึ่งเป็นความคิดผิดอย่างใหญ่หลวง การดิ้นรนแสวงหาค้นหาความเป็นพุทธะจากภายนอกนั้น จึงเป็นเพียงการปรุงแต่งไปในการค้นหาความเป็นพุทธะแต่เพียงเท่านั้น มันจึงเป็นเพียงการใช้จิตแสวงหาจิต มันเป็นเพียงการใช้จิตอันคือความคิดของตน แสวงหาจิตอันปรุงแต่งความเป็นพุทธะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นจิตของตนอีกเช่นกัน มันจึงเป็นได้แค่เพียงเกลียวเชือกที่ยิ่งพันเข้าหาตนเอง แน่นหนามากขึ้นกว่าเดิม มันเป็นพันธนาการที่เกิดจากความไม่เข้าใจ และความมิได้ตั้งใจของนักปฏิบัติทั้งหลาย ที่หลงผูกปมปัญหาให้มันมากขึ้นกว่าเดิมด้วยความไม่จำเป็น เนื้อหาแห่งความเป็นพุทธะที่แท้จริง จึงเป็นอะไรที่ผู้ด้อยปัญญาคาดไม่ถึง เพียงแค่หยุดแสวงหามันในหนทางอื่น แล้วกลับมาทำความเข้าใจต่อเนื้อหาสภาพของมัน ตามความเป็นจริงตามธรรมชาติ มันไม่ใช่และไม่มีวิธีใดๆที่เราต้องแสวงหา และไม่ใช่วิธีอะไรเลยที่เราต้องทำให้ปรากฏ หรือประกอบทำสิ่งต่างๆเพื่อให้มันเกิดขึ้น


ความเข้าใจในเนื้อหาธรรมชาติ ซึ่งเป็นความดั้งเดิมแท้ของมันนั้น ความเข้าใจดังกล่าวนี้มันจะนำพาท่าน มายืนอยู่ตรงปากประตูแห่งธรรมชาตินี้ และก็ไม่มีวิธีใดๆอีกเช่นกัน ความเข้าใจอันหมดจดไม่มีตำหนิไร้ความสงสัย อันเป็นความลังเลใจที่จะพาให้ไปในหนทางอื่น ความเข้าใจนี้ก็จะพาเอามือของท่านผลักประตูธรรมชาตินั้น ให้เปิดออกมา มันมีแต่วิธีนี้เท่านั้น "วิธีผลักประตูธรรมชาติออก" เมื่อผลักประตูเปิดออกแล้ว ก็เอาขาของตนก้าวข้ามมาสิ ก้าวข้ามมาได้เลย มันไม่มีวิธีอะไรให้ซับซ้อนยุ่งยาก เมื่อเดินมาถึงประตูก็เปิดเข้ามาได้เลย เข้ามาอยู่กับความเป็นพุทธะตามธรรมชาติที่แท้จริง แล้วอย่าลืมหันหลังไปปิดประตูบานนั้นให้สนิท แล้วจงลืมเรื่องการก้าวข้ามประตูและลืมเรื่องประตูนี้เสีย ก็ขอให้ท่านดำเนินชีวิตไปเหมือนว่า ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตของท่านมาก่อน มันเสมือนเป็นการใช้ชีวิตในความเป็นหนึ่งเดียว กับธรรมชาติแห่งพุทธะนี้มาตั้งแต่ต้น มันเป็นมาตั้งแต่ต้นนานแล้วอย่าไปจำอะไรกับมันเลย เพราะมันไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน ก็เท่านั้น

   

   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   12 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน

                     

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: "คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
« ตอบกลับ #19 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 15, 2014, 01:15:04 pm »



หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร

บทที่ 17 โลกแห่งความสมบูรณ์

การปรากฏแห่งภาวะ มันจะต้องเป็นไปในทางด้านใดด้านหนึ่งอยู่เสมอ เพราะภาวะทุกภาวะแห่งการปรากฏขึ้น มันล้วนคือการปรุงแต่งที่เป็นผลมาจากการยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นความยึดมั่นที่ออกมาจากอุปนิสัยความเคยชิน ที่หมักหมมจนกลายเป็นอนุสัยแห่งกมลสันดาน ตามความชอบความชังของบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ถ้าไม่แสดงออกมาทางด้านหนึ่ง ก็ต้องแสดงออกไปในอีกทางด้านหนึ่งเสมอ ทั้งนี้เป็นเพราะอวิชชาความไม่รู้ผู้เป็นนายเรา มันสามารถเข้ามาแทรกซึมสิงสู่บังคับบัญชาใจของเรา ให้เป็นไปในทางอำนาจแห่งเนื้อหาของมันได้อยู่เสมอทุกเมื่อเชื่อวัน นายซึ่งมีเราเป็นทาสที่คอยก้มหัวให้มันอยู่ตลอดเวลา



 ทั้งนี้เพราะความหอมหวานในมายา แห่งความเป็นตัณหา อุปาทาน ความทะยานอยาก ซึ่งมันบังคับให้เราเดินไปตามทางแห่งมันทุกฝีก้าวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนเหรียญซึ่งมีอยู่สองด้าน เมื่อคุณกลับเหรียญด้านแห่งความรัก ความเกลียดชังก็จะปรากฏตัวขึ้นมาอย่างทันทีทันใด มันคือโลกแห่งปรากฏการณ์ความเป็นมายา เป็นโลกแห่งการเกิดขึ้นของทวิภาวะหรือภาวะแห่งความเป็นของคู่ มีความแปรเปลี่ยนจากภาวะหนึ่งสู่ความเป็นภาวะหนึ่งอยู่อย่างนั้น ก็ด้วยอาศัยเหตุปัจจัยในเหตุปัจจัยหนึ่ง เมื่อหมดในเหตุปัจจัยนั้นๆแล้ว เหตุปัจจัยใหม่จึงเข้ามาแทนที่อยู่อย่างสม่ำเสมอ มันเป็นภาวะที่มาแล้วต้องจากไป


 มันไม่เคยมีความคงทนไม่เคยมีความสมบูรณ์แบบ ที่จะอยู่กับเราได้ตลอดไป โลกแห่งปรากฏการณ์จึงเป็นโลกที่มีแต่ความพร่องอยู่เป็นนิจ และในความพร่องนี้เองที่ทำให้มนุษย์ปุถุชนผู้มีความมืดบอด พยายามหาทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาเติมเต็มในความพร่องนั้น ด้วยความไม่รู้และความอยากแห่งตน ซึ่งแท้จริงมันก็ไม่มีวันที่จะทำความพร่องซึ่งอยู่ในสภาพถาวรนี้ ให้เต็มเปี่ยมขึ้นมาได้ มันไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย ก็โดยรูปลักษณ์ของตัวมันเองในทวิภาวะ หรือความเป็นภาวะแห่งความเป็นคู่ ไม่ว่าจะเป็น ดีหรือชั่ว มืดหรือสว่าง สมหวังหรือผิดหวัง สะอาดหรือสกปรก ความร้อนหรือความเย็น ปฏิบัติหรือไม่ได้ปฏิบัติ รู้แจ้งหรือมืดมัว บรรลุหรือไม่บรรลุ มันย่อมไม่สามารถคงความเป็นสภาพของมันให้อยู่อย่างนั้นได้ตลอดไป เพราะโดยแท้จริงสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นมายาหามีตัวมีตนไม่ เมื่อหมดเหตุปัจจัยที่ทำให้มันได้แสดงปรากฏการณ์ของมันออกมา มันก็หยุดการทำหน้าที่ของมันโดยสภาพของมันเองอยู่แล้ว มันจึงเป็นความพร่องที่พร่องอยู่เป็นนิจโดยสภาพมันเองอยู่อย่างนั้น ก็โดยเนื้อหามันมันจึงไม่มีทางที่จะกลายเป็นอื่นไปได้



หากเราหยั่งลึกลงไปให้ถึงความเป็นจริงตามธรรมชาติ ที่มันมีแต่เนื้อหาตามความเป็นจริงของมันอยู่อย่างนั้นในทางด้านเดียว และไม่มีวันที่จะเป็นไปในทางด้านอื่น ธรรมชาติมันจึงมิใช่ปรากฏการณ์ ธรรมชาติไม่ใช่เป็นอะไรที่มันหมายถึงความเป็นสิ่งสิ่งหนึ่ง และสิ่งสิ่งนั้นเราสามารถที่จะมีความรู้สึกกับมัน และจับฉวยมันเอามาเป็นส่วนส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา ตามความต้องการและความปรารถนาของเราได้ ธรรมชาติมิใช่เป็นสิ่งที่เราต้องมีความต้องการ และมิใช่เป็นสิ่งที่จะต้องได้มันมา ธรรมชาติมันเป็นเนื้อหาที่เป็นความเป็นมันเองอยู่อย่างนั้น โดยมิใช่ความเป็นเนื้อหาที่ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยใดๆ จึงจะมีความเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติเกิดขึ้น ก็ธรรมชาตินั่นแหละคือธรรมชาติ


มันเป็นแต่เพียงเท่านี้ ไม่สามารถเป็นอย่างอื่นไปได้เช่นเดียวกัน เมื่อมันมิได้อาศัยอะไร มิได้อาศัยเหตุปัจจัยใดๆ มันจึงมิได้เกิดจากอะไรกับอะไร มันจึงไม่มีรูปลักษณ์เกิดขึ้นที่จะสามารถเรียกมันได้ว่า "ธรรมชาติ" ตามมโนภาพแห่งความเข้าใจของใครคนใดคนหนึ่ง ธรรมชาติมันเป็นของมันเองอยู่อย่างนั้น ธรรมชาติมันจึงเป็นเนื้อหาเดียวกับมันเองมาโดยตลอด โดยไม่สามารถหาจุดเริ่มต้นแห่งความเป็นเนื้อหานี้ไปได้ โดยไม่สามารถหาความเป็นที่สิ้นสุดแห่งความเป็นเนื้อหานี้ไปได้เช่นกัน เมื่อมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นโดยไม่มีความแปรผันเป็นอย่างอื่น มันจึงเป็นความสมบูรณ์พร้อมโดยตัวมันเองแต่ถ่ายเดียว มันเปรียบเสมือนเป็นเหรียญที่ไม่ว่าจะพลิกไปทางไหน ก็จะเจอแต่เหรียญด้านที่มีความเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น เป็นเหรียญที่ทุกด้านล้วนแต่มีความเสมอภาคกัน มีความเหมือนกันไม่แตกต่างในเนื้อหาในคุณลักษณะของมันเอง ธรรมชาติจึงเป็นโลกแห่งความสมบูรณ์พร้อม เป็นความสมบูรณ์ในความเสมอต้นเสมอปลาย ในความเป็นเนื้อหาของมันอยู่อย่างนั้น เป็นโลกแห่งธรรมชาติที่มีพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ และเหล่าบัณฑิตทั้งหลายผู้ที่มีความสามารถและมีสติปัญญาอันรู้แจ้ง ได้สถิตอยู่ในทุกอณูธรรมธาตุ แห่งผืนแผ่นดินในความเป็นพุทธะนั้น

   

   หนังสือ "คำสอนเซน
   ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"

   ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
   13 กุมภาพันธ์ 2557
   >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน