คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ
"คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ฐิตา:
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 18 ความบริบูรณ์แห่งมรรค
ด้วยความที่มรรค ซึ่งแปลว่าหนทาง อาจจะเป็นเพียงปรากฏการณ์แห่งรูปลักษณ์ที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพียงอัตตาตัวตนแห่งมรรคเกิดขึ้น หากเราไม่เข้าใจในความหมายที่แท้จริงแห่งมัน ความไม่เข้าใจของเราดังกล่าว อาจทำให้เรานึกมโนภาพขึ้นมาอย่างชัดเจน แห่งหนทางที่จะไปสู่ความหลุดพ้นนั้น เป็นภาพแห่งระยะทางที่เสมือนว่ามีความห่างไกลกัน ระหว่างจุดที่คุณกำลังยืนอยู่ในความมืดมัวนี้ กับจุดที่พวกคุณมุ่งหวังว่ามันเป็นที่ที่ทำให้พวกคุณ พ้นจากการปรุงแต่งทั้งปวงอันเป็นจุดแสงสว่างที่มันรอคุณอยู่ แต่ความเป็นจริงแล้วมันเป็นเพียง ระยะทางที่ห่างไกลอันเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาแต่เพียงเท่านั้น
และความเป็นตัวตนแห่งระยะทาง มันก็พลอยทำให้พวกคุณเกิดความคิดขึ้นมาในทันทีทันใดว่า พวกคุณจะต้องปฏิบัติและลงมือลงแรงอะไรสักอย่าง เพื่อให้พวกคุณได้เข้าไปใกล้จุดหมายปลายทาง อันเป็นเส้นชัยที่คุณได้ตั้งใจไว้ และหวังต่อไปอีกว่าสักวันพวกคุณจะไปยืนอยู่ตรงนั้นให้ได้ ด้วยความสามารถและความมั่นใจของพวกคุณเอง แล้วความคิดผิดดังกล่าวนี้มันจะเร่งรีบให้พวกคุณ หยิบฉวยวิธีอะไรสักอย่างขึ้นมา ซึ่งมันไม่ตรงต่อความเป็นจริง แต่พวกคุณกลับคิดไปแบบจริงจัง และตกลงใจกับมันว่า "ใช่วิธี" นี้แล้ว แล้วพวกคุณก็ใช้ความพยายาม ซึ่งมันไม่ใช่เป็นความเพียรอย่างแท้จริง แต่มันเป็นเพียง "การดันทุรัง" ลงมือทำในสิ่งที่ขัดต่อความเป็นจริงอันคือธรรมชาติ
แต่มรรค ซึ่งแปลว่า หนทางตามความเป็นจริงนั้น มันมิใช่หนทางที่จะต้องเอาการปรุงแต่ง ซึ่งมันคือความเป็นตัวเป็นตนของพวกคุณก้าวเดินไป แต่มันเป็นเพียงการปรับมุมมองปรับความรู้ความเข้าใจของพวกคุณเอง มันเป็นเพียงปรับความคิดเห็น ซึ่งเป็นความเห็นผิดของพวกคุณเองมาตั้งแต่ต้น เป็นความคิดความเห็นที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ตามความเป็นไปของธรรมชาติ ที่พวกคุณเคยได้สั่งสมเป็นอนุสัยมาตั้งแต่ชาติปางไหน เมื่อพวกคุณเข้าใจในความเป็นจริงแล้วว่า แท้ที่จริงธรรมชาตินั้น มันมีแต่ความว่างเปล่าหาความมีตัวมีตนไม่ แท้ที่จริง "จิต" ที่พวกคุณปรุงแต่งเรื่องมรรคหรือหนทาง ที่พวกคุณได้ผลิตขึ้นมา มันหาใช่ตัวใช่ตนไม่ มันคงมีแต่ธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น โดยที่ธรรมชาติมันไม่เคยมี "จิตที่พวกคุณปรุงแต่งเรื่องมรรคหรือหนทางขึ้น" เกิดขึ้นมาก่อนเลย
แท้ที่จริง "ขันธ์ทั้งห้า" ที่พวกคุณมองเห็นว่ามันมีและมันเกิดขึ้น อันอาจจะทำให้พวกคุณเข้าไปยึดมั่นถือมั่นกลายเป็นจิตชนิดนี้ขึ้นมา ขันธ์ทั้งห้าเหล่านี้ความจริงมันหาใช่ตัวใช่ตนไม่ ความเป็นจริงมันคงมีแต่ธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น โดยที่ธรรมชาติมันไม่เคยมี "ขันธ์ทั้งห้า" เกิดขึ้นมาก่อนเลย ธรรมชาติมันก็ทำหน้าที่ของมันในความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น อย่างแท้จริงแล้วโดยตัวของธรรมชาติเอง ความเข้าใจและถูกต้องในความเป็นจริง ซึ่งตรงต่อความเป็นธรรมชาติเหล่านี้ ด้วยธรรมธาตุแห่งความเข้าใจอย่างแท้จริงแล้ว โดยหมดความลังเลสงสัยของพวกคุณนั้น มันก็จะทำให้พวกคุณละทิ้งข้อวัตรปฏิบัติทั้งหลาย อันเป็นการประพฤติปฏิบัติด้วยความงมงาย ไปในการปรุงแต่งเส้นทางแห่งมรรคของคุณ
มาสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างไม่ผิดเพี้ยน ความเข้าใจในธรรมชาตินี้ก็จะทำให้พวกคุณทำลายทิฐิต่างๆ ที่ไปในทางเห็นผิดไปต่อความเป็นธรรมชาติ(มิจฉาทิฐิ) ซึ่งมันเป็นทิฐิที่ทำให้ พวกคุณเข้าไปยึดถือในความเป็นตัวเป็นตนของพวกคุณเอง ทำให้พวกคุณเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งหลายอย่างเหนียวแน่น โดยไม่มีวันที่จะเห็นไปในทางความหมายอื่นๆได้เลยสักนิดเดียว ว่าขันธ์ทั้งห้านี้มันคือความเป็นตัวเป็นตนของพวกคุณ ด้วยความแนบแน่นอยู่อย่างนั้น(สักกายทิฐิ) เมื่อคุณได้ปรับมุมมองความเข้าใจและปรับทิฐิความคิดเห็น มาในทางที่ชอบที่ควร ในฐานะที่พวกคุณได้เป็นมนุษย์ผู้มีใจประเสริฐแท้จริง เมื่อพวกคุณเข้าใจอย่างแท้จริงหมดความลังเลสงสัยในทุกทาง โดยไม่มีความคลอนแคลนไปในหนทางที่ผิดอีก ธรรมธาตุแห่งความเข้าใจอย่างตระหนักชัดแจ้ง ที่เกิดด้วยความศรัทธาในความเป็นพุทธะของพวกคุณเองนี้ มันจะทำให้พวกคุณมีความดำริตัดสินใจหันหลังออกมา จากจุดที่มืดมัวที่คุณยืนอยู่นั้นทันที และพาพวกคุณหันหน้ามาเผชิญกับความเป็นจริงแท้ ที่มันกำลังปรากฏแสดงเนื้อหามันอยู่ต่อหน้าพวกคุณนั่นเอง
ก็ด้วยทิฐิซึ่งเป็นความเข้าใจอย่างถูกต้องอันคือธรรมชาตินี้ มันเป็นปฐมบททำให้พวกคุณสามารถตะเกียกตะกายขึ้นมา จากบ่อโคลนตมแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ซึ่งมันเป็นความหนาแน่นไปด้วยความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น และกลับมามีสติระลึกได้ตามธรรมชาติอย่างแท้จริงว่า แท้จริงแล้วธรรมชาติมันย่อมปรากฏเนื้อหาแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น และด้วยธรรมชาติแห่งความระลึกได้อยู่ทุกขณะเรื่อยไป ในความตระหนักอย่างชัดแจ้งในความเข้าใจในทิฐิที่ถูกต้อง มันก็ทำให้พวกคุณได้กลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาตินั้น แต่แล้วในบางขณะ ก็ด้วยอนุสัยที่สั่งสมมาในความเป็นตัวตนของพวกคุณเอง มานานมากแล้ว ความเคยชินที่ชอบปรุงแต่งจิตไปในเรื่องราวต่างๆ ด้วยอวิชชาที่อาจยังคงมีอยู่ มันก็อาจทำให้พวกคุณมองเห็นไปตามสภาพความเคยชินเดิมๆ และก็อาจจะเผลอเข้าไปยึดมั่นถือมั่นกลายเป็นจิตต่างๆขึ้นมาอีก
ก็ขอให้พวกคุณอย่าท้อใจถอยใจ ก็ขอให้พวกคุณได้เร่งความเพียรพยายาม ที่จะซึมซาบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาตินั้นให้ได้ เป็นความเพียรพยายามไปในทาง "ความเป็นธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ได้อยู่เสมอ" ว่า แท้จริงธรรมชาตินั้น มันคงมีแต่เพียงความว่างเปล่า ไร้ความเป็นตัวเป็นตนของมันอยู่อย่างนั้น หามี "จิต" ที่พวกคุณพึ่งปรุงแต่งขึ้นมาไม่ (มีความหมายว่า จิตที่พึ่งปรุงแต่งขึ้นมานั้น เสมือนว่ามันไม่เคยถูกปรุงแต่งขึ้นมาก่อนเลย) ก็ด้วยทิฐิความคิดเห็นที่พวกคุณปักใจมั่นว่า จะดำเนินไปในทิฐิแห่งธรรมชาติ อันคือสัมมาทิฐินี้แต่ถ่ายเดียวแล้วนั้น มุมมองความเข้าใจที่ไม่อาจจะแปรเปลี่ยนไปเป็นอื่น ตามศรัทธาแห่งหัวใจพวกคุณ
มันจะกลายเป็นเส้นทางที่เอื้อให้พวกคุณ ได้เดินไปตามทางอันคือความเป็นเนื้อหาแห่งธรรมชาตินั้น ด้วยความซึมซาบไปในความ "ไม่มีความแตกต่าง" ในความเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน "อยู่อย่างนั้น" และเมื่อคุณได้ตระหนักอย่างชัดแจ้ง จนเป็นความรู้แจ้งแทงตลอดถ้วนทั่วทุกอณูธรรมธาตุว่า แท้จริงธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน มันก็คือความว่างเปล่าแบบเสร็จสรรพเด็ดขาดโดยธรรมชาติของมันเองมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีโดยสภาพมันเองอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว มันเป็นธรรมชาติที่ย่อมไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันจะเกิดขึ้นตั้งอยู่ในความเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา ในธรรมชาตินี้ได้เลย "อยู่แล้ว"
มันเป็นธรรมชาติที่เป็นความว่างเปล่า แบบถ้วนทั่วอยู่อย่างนั้นทุกอณูธรรมธาตุ เป็นความว่างแบบตลอด ไม่ขาดสายของมันอยู่อย่างนั้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว ด้วยความเข้าใจอย่างตระหนักชัดแจ้งเช่นนี้ มันจึงเป็นเหตุผลเดียวที่เข้ามาตัดเหตุและปัจจัย อันเป็นเชื้อที่จะทำให้พวกคุณกลับไปปรุงแต่งขึ้นมาเป็นจิตต่างๆได้อีก มันจึงเป็นเหตุผลเดียวที่จะทำให้คุณสามารถ ซึมซาบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความเป็นธรรมชาติของมัน ได้อย่าง"แนบเนียนในความเป็นธรรมชาตินั้น" นี่คือมรรคที่เป็นความบริบูรณ์ถึงพร้อม ในความเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น เป็นมรรคที่เป็นธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ได้อยู่อย่างนั้นแบบบริบูรณ์ เป็นธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อขณะว่า...
ธรรมชาติมันคงทำหน้าที่แห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมันอยู่อย่างนั้น เป็นมรรคที่เป็นเนื้อหาแห่งความรู้ความเข้าใจ อย่างถูกต้องชัดแจ้งอยู่อย่างนั้น เป็นมรรคที่นำพาชีวิตเราดำเนินไปบนเส้นทางตามความเป็นจริง แห่งความเป็นธรรมชาตินั้นโดยไม่เป็นอื่น เป็นมรรคที่ทำให้เราซึมซาบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติ ได้อย่างมั่นคงไม่มีความแปรผันผิดเพี้ยน ไปจากเนื้อหาแห่งความเป็นธรรมชาตินั้นได้เลย เป็นมรรคที่เป็นความสำเร็จสมดั่งตั้งใจ ที่ทำให้เราได้กลายเป็นเนื้อหาเดียวกัน กับความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั้น ตามความศรัทธาแห่งการดำริริเริ่มของเราตั้งแต่แรก
เป็นมรรคที่ทำให้เราเข้าใจในธรรมชาติแห่งความเป็นตนเอง ได้อย่างตรงและถูกต้อง และทำให้เรามีมุมมองมีความเข้าใจ ในความเป็นไปอย่างแท้จริง ต่อสรรพสิ่งทั้งมวลที่อยู่รอบข้าง เป็นมรรคที่ทำให้เรามีทิฐิความคิดเห็น ได้ตรงต่อความเป็นจริงตามธรรมชาติ ซึ่งความคิดเห็นอันตรงแน่วในสัจธรรมนั้น มันส่งผลทำให้คำพูดคำจาและการกระทำของเรา เป็นไปในทางที่ที่ควรจะเป็น ในฐานะที่เราได้รู้จักตนเองอย่างแท้จริงแล้วว่า ตนได้ทำหน้าที่ในความที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้อย่างสมบูรณ์แบบแท้จริงแล้วโดยไม่มีที่ติ และสัมมาทิฐิซึ่งมันได้เข้าไปซึมซาบในหัวใจของเราแบบแนบแน่นนี้ ทำให้เราไม่หันกลับไปในทิฐิเดิมที่เป็นความเห็นผิด
ซึ่งเป็นเชื้อเป็นเหตุเป็นปัจจัย ซึ่งอาจจะทำให้เราก่อกรรมเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นได้อีก การดำเนินชีวิตไปด้วยมุมมองความเข้าใจ ตามอำนาจแห่งธรรมชาติ ทิฐิที่ถูกต้องแท้จริงนี้ก็ทำให้เรา ซึ่งมีความเป็นบัณฑิตทั้งหลาย มีความระมัดระวังตน ในการดำรงชีวิตของเราเองในสังคมแห่งความเป็นมนุษย์นี้ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมลงตัว เป็นการดำรงชีวิตประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนและครอบครัว ไปในทางสุจริตไม่เบียดเบียนใคร
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
14 กุมภาพันธ์ 2557
>>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน
ฐิตา:
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 19 จิต
จิตก็คือความคิดที่เป็นการปรุงแต่งขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงเนื้อหารายละเอียดอันสามารถบ่งบอกได้ ถึงทัศนคติโดยรวมแห่งความเป็นอัตตาตัวตนแห่งเรา จิตต่างๆเกิดจากการปรุงแต่งในความที่เห็นว่า ขันธ์ทั้งห้าที่เกิดขึ้นนั้นคือเรา เป็นการปรุงแต่งเพื่อความเป็นไปแห่งความเป็นตัวตน ของตนเองอยู่อย่างนั้น เป็นการปรุงแต่งในความเป็นตัวตนของตนเองต่อสิ่งรอบข้าง ที่เรายังมองเห็นอยู่ว่าสิ่งสิ่งนั้น "มีความเป็นตัวเป็นตนอยู่เช่นกัน" ก็ด้วยอวิชชาความไม่รู้ที่พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ย่อมทำให้เรามีทิฐิเห็นว่ากายนี้คือเรา ย่อมทำให้เห็นว่าส่วนประกอบที่เป็นส่วนๆและเข้ามาประชุมกัน อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้น มันคือความเป็นเราอย่างเหนียวแน่น
แต่ในความเป็นจริงธรรมชาติย่อมว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว ย่อมไม่เคยมีอะไรเลยสักสิ่งหนึ่งหรือทุกๆสิ่งเลย ที่สามารถเกิดขึ้นตั้งอยู่แสดงความเป็นตัวตนของมันปรากฏขึ้นมาได้ ตถาคตเจ้าจึงตรัสว่า จิตต่างๆที่ถูกปรุงแต่งขึ้นทุกชนิด ล้วนไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เพราะแท้จริงสิ่งต่างๆซึ่งเป็นจิตเหล่านี้ย่อมไม่มีตัวตนอยู่แล้ว เพราะแท้จริงธรรมชาติอันแท้จริงมันย่อมว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว ตามเนื้อหาตามสภาพมันเองอยู่อย่างนั้น เมื่อนักปฏิบัติเผลอเข้าไปยึดปรุงแต่งเป็นจิตเกิดขึ้น เพราะความขาดไป ซึ่ง "ธรรมชาติแห่งการระลึกได้ในทิฐิที่ถูกต้อง" ในขณะนั้น ก็ขอให้นักปฏิบัติทำความเข้าใจ ให้ตรงต่อความเป็นจริงในขณะนั้นเลยว่า มันไม่เคยมี "จิต" ชนิดนี้(ที่พึ่งปรุงแต่งขึ้น)เกิดขึ้นมาก่อนเลย
Kinkakuji Temple, Kyoto.
และก็ขอให้นักปฏิบัติทั้งหลายทำความเข้าใจด้วยความตระหนักชัด ในขณะนั้นเช่นกันว่า แท้จริงธรรมชาติมันย่อมมีแต่ความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น มาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ซึ่งเป็นความดั้งเดิมแท้ แห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว หามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือจิตใดๆปรุงแต่งเกิดขึ้นไม่ มันจึงจะถือว่าเป็นการปฏิบัติตรงเป็นการปฏิบัติชอบ ด้วยธรรมชาติแห่งการระลึกได้ตามทิฐิความเห็นที่ถูกต้องได้ ในขณะนั้นอยู่แล้วนั้นเอง เป็นการปฏิบัติเพื่อความเห็นชัดตามความเป็นจริง โดยปล่อยให้ธรรมชาติมันทำหน้าที่ตามสภาพเดิมๆของมันอยู่อย่างนั้น นั่นแหละการปฏิบัติตามธรรมชาติอย่างแท้จริง ตรงตามพุทธประสงค์ เป็นการปฏิบัติเพื่อความเป็นไปในการตระหนักชัดและซึมซาบ กลมกลืนกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้อยู่อย่างนั้น
แต่ก็ด้วยอนุสัยความเคยชินเดิมๆของนักปฏิบัติทั้งหลาย และด้วยเพราะเหตุที่ยังไม่สามารถเข้าใจตระหนักอย่างชัดแจ้ง ในความเป็นไปในธรรมชาตินั้นได้อย่างแท้จริง จึงอาจมีความพลั้งเผลอทำให้นักปฏิบัติทั้งหลาย เผลอขาดสติหลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นปรุงแต่งจิตของตนขึ้นมา ตามอนุสัยความเคยชินตั้งแต่ครั้งเก่าก่อน จึงกลายเป็นจิตมี ราคะ โทสะ โมหะ ขึ้นมาอยู่เนืองๆ
ก็ด้วยความที่พึ่งจะทำความเข้าใจในเนื้อหาธรรมชาติ และยังไม่สามารถมีความเข้าใจอย่างถึงที่สุดในความตระหนักชัดแจ้งและยังไม่สามารถกลมกลืนกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันได้อย่างแนบสนิทในความเป็นธรรมชาตินั้น นักปฏิบัติทั้งหลายจึงอาจมีความพลั้งเผลอขาดสติ หลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นปรุงแต่งจิตของตนขึ้นมา ตามสภาพที่กำลังดำเนินไปในเส้นทางธรรมชาติ ที่ยังไม่ถึงที่สุดแห่งเส้นทาง โดยยังมีอวิชชาความหลงเข้าไปยึดปรุงแต่งเป็นจิตต่างๆนานา ขึ้นมา "อย่างมากมาย" ในชั่วขณะหนึ่ง ด้วยความที่ยังไม่สามารถตั้งมั่นในความซึมซาบ เป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาตินั้นได้ จึงกลายเป็น จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ เกิดขึ้นมาได้อย่างเนืองๆ
ก็ด้วยแท้จริงความเป็นธรรมชาติ มันคงเนื้อหาแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน อยู่อย่างนั้นของมันเองอยู่แล้ว มันเป็นธรรมชาติในความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น ในความว่างที่มันว่างตลอดแบบไม่ขาดสายของมันอยู่อย่างนั้น เป็นความบริบูรณ์พรั่งพร้อมโดยสภาพแห่งมันอยู่แล้ว มันเป็นความสมบูรณ์แบบโดยไม่จำเป็นต้องให้ใคร เข้ามาเสริมเติมแต่งแก้ไขในความเป็นมัน ในสภาพธรรมชาติที่เต็มบริบูรณ์ของมันอยู่อย่างนี้เองอยู่แล้ว ดังนั้นความเป็นธรรมชาติ มันจึงไม่ต้องการให้ภาวะหรือความเป็นปรากฏการณ์ใดๆที่เกิดขึ้น มาเป็นเครื่องยืนยันถึงฐานะแห่งความสมบูรณ์ของความเป็นเนื้อหา หรือสภาพสมบูรณ์ของความว่างเปล่าของมันอีกเลย
เพราะฉะนั้นความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนตามธรรมชาติ จึงมิใช่ภาพแห่งความที่จะต้องมีความชัดเจน ที่นักปฏิบัติทั้งหลายจะเข้าไปกระทำจัดแจง ให้ความว่างเปล่าเกิดขึ้น "ตามความรู้สึก" อันเกิดจากความเข้าใจผิดไปเองแต่ฝ่ายเดียวของนักปฏิบัติ ว่าความว่างเปล่านั้น ต้องเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ ต้องเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น ต้องมีการแก้ไขตรงโน้น ต้องเข้าไปทำเพิ่มตรงนี้ และก็ด้วยความเข้าใจผิดเหล่านี้ ก็อาจทำให้นักปฏิบัติทั้งหลาย เข้าไปรื้อค้นตรวจสอบและเข้าไปกระทำการใดๆ เพื่อให้ความว่างเปล่า ซึ่งมันมีสภาพที่แท้จริงตามธรรมชาติของมันอยู่แล้วนั้น ให้มัน "มีภาพออกมา" ตรงกับความรู้สึกความเข้าใจของนักปฏิบัติเอง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดๆต่อเนื้อหา ความเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่านั้น
ด้วยความเป็นไปดังกล่าวนี้ จึงอาจทำให้นักปฏิบัติเผลอเข้าไปปรุงแต่งจิตของตนขึ้นมา เพื่อเข้าไปรื้อค้นและเพื่อยืนยันฐานะการปฏิบัติธรรมแห่งตน จนกลายเป็น การปรุงแต่งเพื่อตรวจสอบว่าจิตปราศจากราคะ การปรุงแต่งเพื่อตรวจสอบว่าจิตปราศจากโทสะ การปรุงแต่งเพื่อตรวจสอบว่าจิตปราศจากโมหะ การปรุงแต่งเพื่อตรวจสอบว่าจิตเป็นสมาธิ การปรุงแต่งเพื่อตรวจสอบว่าจิตไม่เป็นสมาธิ การปรุงแต่งเพื่อตรวจสอบว่าจิตไม่หลุดพ้น การปรุงแต่งเพื่อตรวจสอบว่าจิตหลุดพ้น เกิดขึ้นมาได้อย่างเนืองๆ
ก็เมื่อเข้าใจว่ามันเป็นเพียงแค่ "จิต" ที่เป็นการปรุงแต่งขึ้นมาแต่เพียงเท่านั้น ไม่ว่ามันจะเป็นจิตที่ชื่อว่าอะไรก็ตาม ไม่ว่ามันจะเป็นจิตที่ปรุงแต่งไปในทางความหมายใดๆก็ตาม มันก็ล้วนเป็นเพียงสิ่งที่หามีความเป็นตัวเป็นตนเกิดขึ้นไม่ มันก็ล้วนเป็นเพียงจิตที่ไม่เคยมีความเกิดขึ้นมาก่อนเลยในวินาทีนี้ คือวินาทีแห่งความเข้าใจอย่างตระหนักชัดแจ้งแห่งเรา ว่าในความเป็นธรรมชาตินั้น มันก็ล้วนแต่เป็นเพียงความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนแบบเสร็จสรรพเด็ดขาด ตามสภาพธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น มาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีแห่งความเป็นมัน อันคือการหาจุดเริ่มต้นในสภาพแห่งความเป็นมันนั้นไม่ได้ และอันหาจุดสิ้นสุดในสภาพความเป็นมันนั้นก็มิได้เช่นกัน ซึ่งเป็นความแรกเริ่มของมันมาอยู่แบบนั้นมานานแสนนานแล้ว
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
15 กุมภาพันธ์ 2557
>>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน
ฐิตา:
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 20 การเกิดขึ้นแห่งธรรม
ธรรมอันไม่ใช่สัมมาทิฐิ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดจากความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งห้า แล้วก่อให้เกิดเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกลายเป็นจิตซึ่งเป็นทิฐิความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งไม่ตรงต่อความเป็นจริง ก็โดยตัวมันเองแล้วแห่งการที่เราเข้าไปยึด มันก็ล้วนแต่เป็นการเข้าไปจับฉวยจับกุมในเนื้อหาธรรมนั้นๆ ให้เกิดขึ้นในความรู้สึกในความเข้าใจของเรา ไปในทางความหมาย แห่งความเป็นตัวเป็นตนของธรรมนั้นๆอยู่ตลอดเวลา การที่เราตกไปสู่ห้วงลึกแห่งการถูกครอบงำอยู่ตลอดเวลา ในทิฐิความเห็นซึ่งไม่ตรงต่อเนื้อหาความเป็นธรรมชาตินั้น มันก็กลายเป็นการเกิดขึ้นแห่งธรรม (เป็นตัวตนแห่งธรรมขึ้นมา) อันอยู่บนพื้นฐานแห่งทิฐินั้นอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
ก็มาในบัดนี้ เมื่อเราเกิดมีความศรัทธาที่จะก้าวเดินเข้ามาสู่เส้นทางสัมมาทิฐิ ซึ่งเป็นความเห็นที่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงตามธรรมชาติ ตถาคตเจ้าจึงได้ทรงตรัสชี้ทางอันเป็นหนทางที่แท้จริงถูกต้อง โดยท่านทรงชี้ให้ "พิจารณาเห็น" ถึง สภาพธรรมอันคือธรรมชาติ ที่มันดำรงเนื้อหาของมันเองตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว เป็นการพิจารณาในเนื้อหาธรรมนั้นๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ้งชัด โดยไม่มีอะไรเป็นความลังเลสงสัยให้เหลือแม้แต่นิดเดียว อันจะทำให้เราพลัดหลงไปในเส้นทางอื่นอันเป็นความหลงผิดได้อีก เมื่อเราได้พิจารณาและมีความเข้าใจอย่างตระหนักชัดแจ้ง ในความเข้าใจในธรรมอย่างชัดเจนแล้ว ก็โดยเนื้อหาแห่งความเป็นจริง การพิจารณาธรรม "จนเกิดภาพในความเป็นรูปลักษณ์แห่งธรรมนั้นๆ" จนทำให้เราเข้าใจในความเป็นไปในลักษณะหน้าตาแห่งมัน มันจึงเป็นการ "เข้าไปยึดมั่นถือมั่น" ในสภาพธรรมนั้นๆขึ้นมา
มันจึงเป็นเพียงปรากฏการณ์ แห่งการเกิดขึ้นของธรรมนั้นๆที่เป็นอัตตาเป็นตัวเป็นตน เพื่อมารองรับความเข้าใจแห่งเราในการที่ได้พิจารณาไป ก็การพิจารณาธรรม ซึ่งเนื้อหามันก็เป็นการเกิดขึ้นในความเป็นตัวเป็นตนแห่งธรรมนี้ มันจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะอำนาจแห่งการเข้าไป ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งห้าที่เกิดขึ้น ในการปรุงแต่งไปในการพิจารณาธรรม มันเป็นความหมายแห่งความเป็นอัตตาตัวตนแห่งการเข้าไปพิจารณานั้น การพิจารณาธรรมก็เป็นไปเพียงแค่ประโยชน์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในธรรมอย่างถ้วนทั่ว ในความเป็นจริงแห่งเนื้อหาของมันแต่เพียงเท่านั้น แต่ความเป็นธรรมชาติแห่งธรรมอันแท้จริง มันคือความเป็นไปในเนื้อหาของมันเอง "ตามธรรมชาติ" อยู่อย่างนั้นแต่เพียงเท่านั้น ธรรมชาติมันเป็นความนอกเหนือทุกสรรพสิ่ง ด้วยความหมายแห่งตัวมันเอง มันเป็นความหมายที่อยู่นอกเหนือความเป็นเหตุและผลทั้งปวง มันเป็นความหมายที่อยู่นอกเหนือการพิจารณาใดๆทั้งปวงเช่นกัน
เพราะฉะนั้นการปรุงแต่งเพื่อพิจารณาธรรมสัมมาทิฐิ อันคือปรากฏการณ์การที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งๆ เป็นอัตตาเป็นตัวเป็นตนแห่งธรรมในสัมมาทิฐิทั้งหลายนั้น มันเป็นเพียงมายาแห่งจิตที่กระทำขึ้น การเกิดขึ้นเช่นนี้มันจึงหาใช่ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ตามความเป็นจริงตามธรรมชาติไม่ เพราะธรรมชาติมันคงเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น จึงถือว่ามันไม่เคยมีการเกิดขึ้นแห่งธรรมซึ่งเป็นอัตตาตัวตนต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาก่อนเลย มันคงมีแต่ความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นของมันเอง ตามสภาพธรรมชาติอยู่อย่างนั้น
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
16 กุมภาพันธ์ 2557
>>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน
ฐิตา:
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 21 ธรรมชาติยังคงอยู่
สรรพสัตว์ทั้งหลาย การมาสู่ด้วยความยินดีของท่านในภพชาติ แท้ที่จริงมันเป็นการมาเพื่อที่จะต้องจากไปอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว มันเป็นการมาที่ถูกตรึงไปด้วย "เหตุและผล" เหตุและผลแห่งการที่จะต้องมาๆไปๆ ไปๆมาๆ บนเส้นทางที่ไม่มีจุดจบแห่งการถูกบังคับพาไป ในเนื้อหาแห่งการ "ต้องเกิด" ด้วยอำนาจแห่งอวิชชาแต่เพียงเท่านั้น การดำรงอยู่ด้วยความเกี่ยวพันอยู่ตลอดเวลาแห่งความมีความเป็น มันจึงถูกบรรจุซึ่งเต็มไปด้วยรสชาติความรู้สึกต่างๆ ในความเป็นไปแห่งการดำรงชีวิต ที่เรียกมันว่า "ประสบการณ์" ความทุกข์ที่ได้รับก็ล้วนแต่ไม่เคยมีใครสักคน เข็ดหลาบในรสชาติความร้อนรนแห่งมัน
เพราะด้วยความทะยานอยากอย่างมากมายในใจแห่งมนุษย์เป็นที่ตั้ง ความมุ่งหวังเหล่านี้จึงกลบหน้าตาอันแท้จริงของธรรมชาติไป ความทุกข์จึงเป็นครูสอนปุถุชนผู้มืดบอดได้แต่เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น ทุกชีวิตล้วนแต่มีความตายรออยู่เบื้องหน้า อันเป็นจุดสุดท้ายในภพนั้นๆอยู่เสมอ เมื่อกระบอกม่านตาจะต้องปิดลงเป็นครั้งสุดท้าย ในปลายทางเส้นชัยแห่งความตายนั่นเอง ความมืดมิดในดวงตาของท่าน มันทำให้ไม่รู้ความจริงเลยว่า ในความตายที่กำลังจะมาเยือน ในความหมายของชีวิตที่กำลังจะถูกพลัดพรากไป แท้ที่จริงแล้ว ในความตาย "ชีวิตที่แท้จริง" ก็ยังคงอยู่
ในบางครั้งในบางขณะ การได้ถอนหายใจแรงๆให้กับตนเองสักเฮือกหนึ่ง เพื่อหาพื้นที่แห่งเสี้ยวเวลา ปลดปล่อยใจตนเองออกจากความรู้สึกตรงนั้น มันบ่งบอกได้ว่าชีวิตนี้ได้ตกระกำลำบากมามากแล้วเพียงไหน ความถูกอัดแน่นไปด้วยความรู้สึกที่ถูกบีบคั้น ที่มีสาเหตุมาจากมุมมองในชีวิตแห่งตน ได้มองผิดไปจากความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ อสัจธรรมซึ่งคือธรรมอันไม่ใช่ความจริงทั้งหลาย ที่เราหลงเป็นเนื้อหาเดียวกับมันอย่างไม่ตั้งใจ "ความไม่จริง" ที่เรามองว่ามันเป็นความจริงแท้ จึงทำให้เราหลงติดกับดัก เข้าไปยื้อแย่งความจริงอันเป็นสิ่งลวงนั้นมาเป็นของเราอยู่อย่างนั้น
ก็ในความที่มันหามีตัวมีตนไม่ ซึ่งมันตกอยู่ในสภาพที่จะต้องพลัดพรากจากเราไปอยู่เสมอๆ ความเหนื่อยล้าที่จับฉวยคว้าเอาสิ่งที่ไม่เคยมีตัวมีตนอย่างแท้จริง ซึ่งมันไม่มีวันที่จะอยู่กับเราไปได้ตลอดเลย ความพยายามในความล้มเหลวที่รออยู่ในผลของมันเองอยู่แล้วนั้น ก็อาจทำให้เราหมดกำลังใจในการที่จะใช้ชีวิตต่อไป ด้วยความท้อแท้ที่จะพยายามเติมเต็มชีวิตของตนให้ได้ตามที่มุ่งหวัง ก็อยากจะบอกว่า ในความเป็นจริงแล้ว ในความปรากฏแห่งอสัจนั้น สัจจะความเป็นจริงก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หนีหายจากเราไปไหนเลย
ในความมืด อันดำดิ่งจมลึกลงไปในห้วงแห่ง อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ความทะยานอยาก ที่เราไม่รู้และเลือกเอามาเป็นเข็มทิศนำทางชีวิตของเรา การก้าวเดินไปแต่ละก้าว จึงเป็นการก้าวเดินที่ปราศจากความมุ่งหมายในทุกทิศทาง เมื่อมืดจนมองไม่เห็น มันจึงเป็นการก้าวไปที่อาจจะทำให้เรา ก้าวไปเพื่อกลับมาสู่จุดจุดเดิม ที่เราพึ่งก้าวออกมาจากมัน เป็นจุดต้องทนอยู่ด้วยความทุกข์ใจด้วยความโง่เขลา ขาดความมีปัญญาเข้าไปแก้ไขให้กับชีวิตของตนเองอย่างแท้จริง การวนเวียนที่พาให้เรากลับมาสู่ความรู้สึกเดิมๆแบบซ้ำๆอยู่อย่างนั้น
มันจึงเป็นความเบื่อหน่ายที่ต้องทนรับความรู้สึกนั้นไว้ และโยนมันออกไปจากใจเราก็ไม่ได้ ก็จงอย่าพึ่งท้อแท้ใจ เพราะความเป็นจริงตามธรรมชาติ ในความมืดมิดแห่งหัวใจ ก็ยังคงมีแสงสว่างแห่งปัญญา ที่ยังฉายแสงเจิดจ้าของมันอยู่อย่างนั้น มันรอเพียงให้เราหยิบไขว่คว้ามันมา เป็นกระบอกไฟฉายที่สามารถส่องทิศทาง ให้เราก้าวเดินไปในหนทางที่ถูกต้อง และเป็นจุดหมายปลายทางอันแท้จริง ที่มนุษย์ทุกคนต้องทำหน้าที่แห่งตน ก้าวไปยังจุดนั้นอยู่แล้ว
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
17 กุมภาพันธ์ 2557
>>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน
ฐิตา:
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ 22 ความเพียรพยายาม
ด้วยความมีดำริไปในทางที่ชอบแห่งตน ที่จะหนีห่างจากสภาพความทุกข์ หนีห่างจากสภาพการปรุงแต่งทั้งหลาย อันเกิดจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ทั้งปวง อันเป็นเหตุให้เราเข้ามาศึกษาทำความเข้าใจในความเป็นตัวเอง แห่งสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้น การปรับมุมมองความเข้าใจให้ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งเป็นทิฐิโดยชอบนั้น ด้วยการศึกษาจนเกิดความเข้าใจอย่างแจ้งชัดนั้น มันเป็นความสว่างไสวแห่งปัญญาที่มันเจิดจ้าอยู่อย่างนั้นไม่มีที่ติ มันเป็นแสงสว่างแห่งความเข้าใจถ้วนทั่ว ครบถ้วนตามกระบวนความ ในการเข้าใจปัญหาและในการแก้ไขปัญหาเป็นได้อย่างถูกต้อง และตรงต่อหนทาง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่นำพาเรา ไปสู่ความเป็นกลางที่แท้จริงของธรรมชาติ ซึ่งมันเป็นธรรมชาติที่ปราศจาก ความเคลื่อนไหวใดๆแห่งจิตในลักษณะทั้งปวง แต่การที่นำพาตนเองมาสู่ความเป็นสัมมาทิฐิอย่างเต็มตัวได้นี้ ยังถือว่าไม่ใช่เป็นความเพียรพยายาม แต่มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นแห่งเส้นทาง ที่จะนำไปสู่ความเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติได้แต่เพียงเท่านั้น มันจึงเป็นเพียงแต่การดำริชอบ
แต่ด้วยการที่ไม่เข้าใจในความเป็นสัมมาทิฐิที่แท้จริง ว่าแท้จริงมันเป็นทิฐิมุมมองความเห็นที่ตรงต่อความเป็นธรรมชาติ ด้วยความเข้าใจที่ว่า ความเป็นธรรมชาตินั้นมันคือความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้วอยู่อย่างนั้น แบบถ้วนทั่วเสร็จสรรพเด็ดขาด มันไม่เคยมีแม้กระทั่งขันธ์ธาตุหรือความเป็นขันธ์ทั้งห้า เกิดขึ้นได้เลยในความเป็นธรรมชาตินี้ มันเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าที่บริบูรณ์เต็มพร้อม มันเป็นความว่างเปล่าที่สมบูรณ์แบบโดยตัวมันเอง โดยเนื้อหามันเองอยู่แล้ว เมื่อยังไม่มีความเข้าใจในความหมายอันแท้จริง ก็ด้วยอวิชชายังปิดบังครอบงำ
ให้เรามองเห็นความหมายที่แท้จริงนี้ ไปในทางความหมายอื่นซึ่งมันไม่ตรงต่อความเป็นจริง ก็ด้วยความเข้าใจแบบผิดๆนั้น จึงทำให้นักปฏิบัติทั้งหลายเร่งรีบขวนขวาย นำมาซึ่งวิธีปฏิบัติ ซึ่งมันสามารถจูงใจทำให้นักปฏิบัติทั้งหลาย คล้อยตามมันไปในวิธีดังกล่าว ก็ในเมื่อความเป็นจริง ความเป็นธรรมชาติอันคือสัมมาทิฐินั้น มันเป็นธรรมชาติโดยสภาพเนื้อหาของมันเองอยู่แล้วอยู่อย่างนั้น ความเป็นธรรมชาติโดยสภาพของมันเอง มันจึง "ไม่ใช่วิธี" แต่เมื่อนักปฏิบัติทั้งหลายหลงไปว่ามันควรมีวิธีปฏิบัติ ที่ทำให้ผลแห่งการปฏิบัติ (ซึ่งแท้ที่จริงมันคือความเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น)
มันเกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงการลงมือไป ในความเพียรพยายามของนักปฏิบัติเองนั้น การเข้าใจผิดในความหมายแห่งธรรมชาติ และการมุ่งทะยานไปข้างหน้า ที่หาเส้นชัยจุดหมายปลายทางไม่เจอ เพราะวิธีต่างๆที่นักปฏิบัติเข้าใจและน้อมนำมาเป็นทิศทางให้กับตนนั้น มันไม่ใช่การปฏิบัติที่แท้จริงตามวิถีหนทางแห่งธรรมชาติ แต่มันล้วนคือ ความหมายแห่งการปรุงแต่งของนักปฏิบัติเอง มันเป็นการปรุงแต่งขึ้นมาเป็นจิต เป็นจิตที่ปรุงแต่งไปในการปฏิบัติที่ผิดวิธีอยู่อย่างนั้น การปฏิบัติไปโดยไร้เป้าหมายทิศทาง และออกนอกเส้นทางธรรมชาตินี้ มันจึงเป็นเพียงการปรุงแต่งเป็นจิต ที่พัวพันนำพาให้ตนเองเป็นส่วนหนึ่ง แห่งการก่อปัญหาขึ้นมาใหม่ต่างหากจากความทุกข์เดิมของตน ด้วยความโง่เขลาแห่งตนเองด้วยอย่างหนึ่ง การปฏิบัติด้วย "การมีวิธี" นี้ มันจึงไม่ใช่ความหมายของความเพียรพยายามแต่อย่างใดเลย
ก็ด้วยความเป็นเราแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้นี้ มันเป็นธรรมชาติแห่ง "ความเป็นจริง" ของมันอยู่แล้ว มันเป็น "ความเป็นจริง" ที่ไม่ต้องอาศัยเหตุและผลใดๆ มาสนับสนุนในความเป็นจริงของมันได้อีกเลย และมันเป็น "ความเป็นจริง" ที่คงสภาพมันอยู่อย่างนั้น มันเป็น "ความเป็นจริง" ที่ไม่ได้แสดงเนื้อหาของมัน เพื่อรองรับเหตุผลของใครคนใดคนไหน ว่า "ความเป็นจริงตามธรรมชาตินี้" คือการรู้แจ้ง คือการหลุดพ้น ซึ่งเป็นผลของการปฏิบัติของเขาคนนั้นเอง ความเพียรพยายามที่พยายามอธิบายให้กับตนเองว่า "ความเป็นจริงตามธรรมชาตินี้" คือภาวะแห่งการรู้แจ้งการหลุดพ้นของตน ซึ่งตนได้มองเห็นธรรมชาตินี้ได้อย่างทะลุปรุโปร่งถ้วนถี่แล้ว
แต่การเข้าใจอย่างไม่มีที่สงสัยแห่งตน อันเกิดจากความเพียรพยายาม และภาพแห่งความชัดเจนหมดจดที่ตนเองเรียกว่า นี่คือการรู้แจ้งและหลุดพ้นแล้วนั้น มันจึงเป็นเพียงปรากฏการณ์แห่ง "อัตตาตัวตนในความเป็นธรรมชาติ" ที่เกิดขึ้น มันเป็นเพียงจิตที่ปรุงแต่งเกี่ยวกับ "การที่ตนมีความเข้าใจแล้ว" ในเนื้อหาธรรมชาติ ที่มันเป็นของมันเองอยู่อย่างนั้น มันเป็นเพียงการปรุงแต่งชนิดที่เรียกว่าเส้นผมบังภูเขา มันไม่ใช่ความเพียรพยายามที่แท้จริง
แต่ความเพียรพยายามที่จะทำความเข้าใจอย่างตระหนักชัดแจ้ง และ "สามารถ" ซึมซาบกลมกลืน กลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ที่มันว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน แบบเสร็จสรรพเด็ดขาดโดยตัวมันเองอยู่อย่างนั้น เมื่อธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันสามารถทำหน้าที่แห่งมัน ได้อย่างคล่องแคล่วไม่ติดขัด เมื่อเราสามารถเป็นหนึ่งเดียวกับมันได้แล้ว และสามารถดำรงชีวิตของตนเองได้อย่างมีอิสรภาพอย่างแท้จริง ไม่ตกอยู่ภายใต้ความมืดมิดใดๆอีก เป็นความสะดวกในการไปและการมา ในท่ามกลางอิริยาบถทั้งสี่ สามารถดำรงตนเองในสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และไม่เบียดเบียนใคร มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สำหรับผู้ที่อยู่รอบข้างและเขายังมีความขาดแคลน
ก็ด้วยชีวิตที่ประกอบไปด้วยความเมตตากรุณาแห่งคุณธรรม อันเป็นธรรมชาติในความเป็นตนเองนั้น ที่นำพาชีวิตของตนได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งบวรพระพุทธศาสนาได้สืบไป นี่คือความเพียรพยายามที่แท้จริงอย่างยิ่งยวด
หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"
ครูสอนเซน: อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
17 กุมภาพันธ์ 2557
>>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version