ผู้เขียน หัวข้อ: นิกายธรรมลักษณะ หรือฮวบเซียงจง  (อ่าน 1050 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

นิกายธรรมลักษณะ หรือฮวบเซียงจง

ประวัติความเป็นมา
นิกายธรรมลักษณะ เป็นชื่อที่เรียกกันในภาษาจีนหมายถึงปรัชญาโยคจาร หรือวิชญาณวาทินนั่นเอง มีคุณลักษณะทั้งทางหลักคำสอนกับการปฏิบัติใกล้เคียงกับพระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยานที่สุด จัดได้ว่าเป็นปรัชญาฝ่ายอภิธรรมมหายานเลยทีเดียว การสำเร็จแห่งปรัชญา โยคาจารได้รับอิทธิพลจากหลักธรรมในนิกายเถรวาท มหาสังฆิกะ สรวาสติวาทิน และเสาตรันติกะ รวมกันปรุงขึ้นเป็นโยคาจาร โยคาจารได้ถูกประกาศให้แพร่หลายขึ้นโดยอาจารย์อสังคะ (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๙ ) ซึ่งกล่าวกันว่าท่านได้รับการอรรถาธิบายจากพระศรีอารยเมตไตรย ณ กรุงอโยธยาในอินเดียภาคกลาง พระศรีอารยเมตไตรยนี้ มีผู้เชื่อกันว่า คือ พระโพธิสัตว์อารยเมตไตรยที่จักมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตนั้นเอง

 แต่ก็มีปราชญ์เป็นอันมากถือว่าเป็นเพียงพระมหาเถระรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเผอิญมีนามตรงกันกับพระเมตไตรยโพธิสัตว์เท่านั้น พระอารยเมตไตรยได้แสดงศาสตร์ทั้ง ๕ เป็นหลักของปรัชญาโยคาจาร ต่อมาอสังคะได้นิพนธ์คัมภีร์อารยวาจาปกรณ์ศาสตร์ และมหายานสัมปริครหศาสตร์เผยแผ่ปรัชญาสายนี้ต่อมา อย่างไรก็ดี ปรัชญาโยคาจารได้เจริญรุ่งโรจน์ขึ้นก็ด้วยอาศัยอาจารย์วสุพันธุ ผู้ซึ่งเป็นน้องชายของอสังคะ วสุพันธุเดิมเลื่อมใสในนิกายสรวาสติวาทิน และเสาตรันติกะ ได้เขียนปกรณ์วิเศษทางอภิธรรมฝ่ายสาวกยานไว้มาก กล่าวกันว่ามีจำนวนถึง ๕๐๐ ปกรณ์ ต่อมาได้รับการตักเตือนสั่งสอนจากพี่ชายจนเกิดความเลื่อมใสในมหายานขึ้น วสุพันธุจึงได้แต่งคัมภีร์ประกาศปรัชญาโยคาจารเป็นอันมาก ว่ากันว่ามีจำนวนถึง ๕๐๐ ปกรณ์เหมือนกัน เล่มที่สำคัญที่สุดก็คือ วิชญาณปติมาตราตรีทศศาสตร์

 ต่อมามีคณาจารย์อีกเป็นอันมากที่สงเสริมเทศนาสั่งสอนปรัชญาโยคาจาร มีมหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นสนามประกาศลัทธิ คณาจารย์องค์สำคัญๆ มีอาทิ เช่น ทินนาคะ สานุศิษย์ของวสุพันธุผู้แต่งคัมภีร์ประมาณ สมุจจัย คุณมติ สถิรมติ ธรรมปาละ นันทะ ศุทธิจันทร พันธุศิริ (องค์นี้ร่วมยุคกับวสุพันธุ) ชินตราต วิชัยมิตร ชินบุตร ญาณจันทระ ศีลภัทระ ชัยเสน ธรรมกีรติ ศานติเทวะ คณาจารย์เหล่านี้ มีทั้งภิกษุและฆราวาส คณาจารย์ภิกษุองค์ที่มีบทบาทสำคัญ คือ ธรรมปาละ อธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยนาลันทา และศีลภัทระ ผู้สาวก

คัมภีร์สำคัญ
ฝ่ายโยคาจารถือว่ามีพระสูตรอยู่ ๖ สูตร ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเมศนาถึงหลักธรรมโยคาจารไว้ และมีศาสตร์อีก ๑๑ ปกรณ์ เป็นหลักลัทธิ คือ

หลักธรรมสำคัญ
สูตรทั้ง ๖
๑. อวตํสกสูตร (ฮั่วเงี่ยมเก็ง) มีฉบับแปลอยู่ถึง ๓ ฉบับ ของพุทธภัทระ ศิกษานันทะ และปรัชญา
๒. สันธินิรโมจนวยูหสูตร (เกยชิมมิกเก็ง) ภิกษุเฮี่ยงจังแปลเป็นฉบับที่ถูกต้อง นอกนั้นมีของโพธิรุจิ และปรมัตถะ และคุณภัทระ
๓. ตถาคตวิสภวคุณสูตร (ยู่ไล้ชุกฮิ่งกงเต๊กเก็ง) ยังไม่มีในฉบับจีน
๔. อภิธรรมสูตร (อาพีตับม๊อเก็ง) ยังไม่มีในฉบับจีน
๕. ลังกาวตารสูตร (เลงแคเก็ง) มีฉบับแปล ๓ ฉบับของคุณภัทระ โพธิรุจิ ศิกษานันทะ
๖. ฆนวยูหสูตร (เก่าเงียมเก็ง) ทิวากรแปล

ศาสตร์ ๑๑
๑. โยคาจารภูมิศาสตร์ (ยู่แคซือหลุง) ของพระอารยเมตไตรย เฮี่ยงจังแปล
๒. มัธยานตวิภังคศาสตร์ (เปี้ยงตงเปียงหลุง) ของพระอารยเมตไตรย เฮี่ยงจังแปล
๓. อารยวาจาปกรณ์ศาสตร์ (เฮี่ยงเอี๋ยงเซียก้าหลุง) ของพระอสังคะ เฮี่ยงจังแปล
๔. มหายานสัมปริครหศาสตร์ (เนียบไต้เสงหลุง) ของพระอสังคะ เฮี่ยงจังแปล มีฉบับแปลอีก ๒ ของปรมัตถะ และพุทธคุปตะ

๕. อาลัมพนปริกศาสตร์ (กวงซออ้วงอ่วงหลุง) ของทินนาค เฮี่ยงจังแปล
๖. อภิธรรมสังยุกตสังคีติศาสตร์ (อาพีตับม๊อจับจิบหลุง) ของอสังคะ เฮี่ยงจังแปล
๗. วีศติกวิชญาณมาตราศาสตร์ (ยี่จับยุ่ยเซกหลุง) ของวสุพันธุ เฮี่ยงจังแปล
๘. ทศภูมิศาสตร์ (จับตี้หลุง) ของวสุพันธุ โพธิรุจิแปล
๙. มหายานอลังการศาสตร์ (ไต้เสงจังเงียมหลุง) ของพระอารยเมตไตรย ปอล่อพัวมิกตอล้อ แปล
๑๐. ประมาณสมุจจัย (จิบเหลียงหลุง) ของทินนาคยังไม่มีในฉบับจีน
๑๑. โยควิภังคศาสตร์ (ฮุงเปี๋ยกยู่แคหลุง) ของพระอารยเมตไตรย ยังไม่มีในฉบับจีน
นอกจากศาสตร์ทั้ง ๑๑ นี้ ยังเพิ่มคัมภีร์วิชญาณมาตราสิทธิตรีทศศาสตร์ ซึ่งเฮี่ยงจังรวบรวม และบรรดาฎีกาต่างๆ ของศาสตร์นี้ด้วย

ปรัชญา
ปรัชญาโยคาจารได้สอนหนักไปทางลัทธิมโนภาพนิยม (Idealism) ด้วยการสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าสังขตะ อสังขตะ ล้วนแต่ออกจากจิตทั้งสิ้น จิตนี้เรียกว่า อาลยวิชญาณ หรืออาลยวิญญาณ วิญญาณนี้ แท้จริงก็คือ ตัวภวังคจิตในอภิธรรมปิฎกของฝ่ายเถรวาทนั่นเอง เป็นจิตที่เกิดดับอยู่ทุกขณะ สืบภพสืบชาติแลรับอารมณ์ เสวยวิบากอยู่เรื่อยจนกว่าจะเข้าถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ จิตนี้ก็จักดับสุดรอบ มูลการณะของสรรพสิ่งอยู่ที่อาลยวิญญาณๆ นี้เป็นปทัฏฐาน
ปรัชญาโยคาจารได้สอนถึงวิญญาณทั้ง ๘ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ กลิศตมโนวิญญาณ และอาลยวิญญาณ

ปัญจวิญญาณ
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจถึงเรื่องวิญญาณทั้ง ๘ ก่อน ปัญจวิญญาณทั้งย่อมไม่มีปัญหาว่าจะแตกต่างกับเถรวาทอย่างไร คือ เมื่อจักขุเห็นรูป ก็เกิดจักขุวิญญาณ หูฟังเสียงก็เกิดโสตวิญญาณ ฯลฯ ดังนี้ ตามแนวแห่งโยคาจรถือว่าปัญจวิญญาณจะเกิดขึ้นโดยลำพัง อินทรีย์กับวิสัยมากระทบกันอย่างเดียวก็หาไม่ ต้องอาศัยปัจจัย ๙ อย่าง มีที่ว่าง แสงสว่าง อินทรีย์ คือ จักขุปสาทรูป รูปวิสัย มนสิการ จิต มโนธาตุ มโนวิญญาณ และพีชะ ส่วนผู้ที่ได้ทิพย์จักขุไม่ต้องอาศัยที่ว่างกับแสงสว่าง ๒ อย่าง นอกนั้นคงต้องอาศัย โสตวิญญาณเกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยปัจจัย ๘ ยกแสงสว่างออกเสียอันหนึ่ง เปลี่ยนโสตประสาทและศัพทวิสัยเสีย ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณเกิดก็ต้องอาศัยปัจจัย ๗ อย่าง คือ ยกแสงสว่างและที่ว่างเสีย นอกนั้นเปลี่ยนเป็นฆานปสาทรูป คันธวิสัย ชิวหาปสาทรูป ชิวหาวิสัย กับกายปสาทรูป กายวิสัยเท่านั้น ปัญจวิญญาณทั้ง ๕ รับอารมณ์ใกล้ไกลหาเหมือนกันไม่ คือ จักขุ โสตะ เป็นอสัมปัตตะ เพราะรับอารมณ์ที่ห่างไกลออกไปได้ ส่วนฆานะ ชิวหา กาย เป็นสัมปัตตะ เพราะต้องรับอารมณ์ที่มาถึงตน ต่างกันอย่างนี้แลปัญจวิญญาณ

มโนวิญญาณ
มโนวิญญาณความรู้ทางใจ มี ๒ พฤติการณ์ คือ มโนวิญญาณที่เป็นไปในปัญจทวารขณะรับรู้อารมณ์ทั้ง ห้า ๑ แลมโนวิญญาณที่รับรู้อารมณ์ขณะปัญจทวารมิได้ทำการรับอารมณ์ ๑ มโนวิญญาณนี้พิจารณาทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ต่างจากปัญจวิญญาณซึ่งเป็นได้แต่ปัจจุบัน มโนวิญญาณมีหน้าที่สำคัญในการที่เป็นต้นเหตุแห่งการประกอบกรรมดีกรรมชั่ว มโนวิญญาณเป็นได้ทั้งกุศล อกุศล และอัพยากฤต เช่นเดียวกับปัญจวิญญาณ มโนวิญญาณจะขาดตอนไม่มีก็ต่อเมื่อเข้าสู่อสัญญีภพ เข้าสัญญีสมาบัติ เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ คนที่หลับสนิท และคนสลบไม่มีฝัน

มโนหรือมนินทรีย์
ปัญจวิญญาณ ๕ ย่อมต้องอาศัยอินทรีย์ ๕ เป็นที่อาศัยจึงเกิดได้ คือ จักขุวิญญาณก็ต้องอาศัยจักขุนทรีย์ เป็นต้น ฉันใด มโนวิญญาณจะบังเกิดพฤติการณ์ได้ ก็ต้องมีที่อาศัยกล่าว คือ มนินทรีย์ฉันนั้น ผิดกันแต่อินทรีย์ของปัญจวิญญาณเป็นรูปธรรม ส่วนอินทรีย์ของมโนวิญญาณเป็นนามธรรม ฝ่ายโยคาจารได้ให้อรรถาธิบายถึงมนินทรีย์ ผิดแผกจากมโนวิญญาณว่า มโนธาตุหรือมนินทรีย์นี้เป็นวิญญาณที่ ๗ สภาพเป็นอัพยากฤต มีหน้าที่ยึดถืออาลยวิญญาณว่าเป็นตัวตน เป็นตัวอุปทานที่ไปยึดครองอาลยวิญญาณ ซึ่งอาลยวิญญาณนี้เป็นสภาพที่ถูกยึดโดยมนินทรีย์หรือมโน ไม่มีหน้าที่พิจารณารับรู้อารมณ์ภายนอก รับรู้ยึดติดแต่อารมณ์ภายใน แต่เนื่องด้วยมโนธาตุเป็นตัวทำการยึดถือในอาลยวิญญาณ จึงมีอิทธิพลสามารถกระเทือนไปถึงมโนวิญญาณ

 ให้มีความรู้สึกไปในทางกุศลากุศลได้ เพราะฉะนั้น แม้ธรรมชาติจะเป็นอัพยากฤตก็นับเป็นอาสวะ ฉะนี้ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลิศตมโนวิญญาณ มีการคิดพิจารณาในอาลยวิญญาณ ว่าเป็นตัวตนเสมอ ไม่ขาด สืบสันตติเนื่องกันไปจนกว่าจะสิ้นภพชาติพ้นกิเลส มโนวิญญาณขาดตอนได้ด้วยเหตุผล ๕ ประการ แต่กลิศตมโนนี้จะขาดก็ต่อเมื่อบรรลุพระอรหัตผล หรือเข้าสู่สัญญานิโรธสมาบัติเท่านั้น ฝ่ายโยคาจารให้เหตุผลที่จะต้องมีกลิศตมโนนี้ว่า ในอสัญญีภพ ซึ่งเป็นพรหมลูกฟักมีแต่รูป แม้จนกระทั่งนามธาตุก็ดับแล้ว กิเลสอาสวะทั้งหลายก็ไม่มีที่เกิดมิสูญหายไปหรือ ถ้ากิเลสอาสวะนั้นมีอยู่ มันไปอยู่ที่ไหน ฝ่ายโยคาจารไม่เห็นด้วยกับมติที่ว่า อสัญญีสัตว์ดับนามธาตุ แต่ถึงว่าเป็นปัญจวิญญาณ และมโนวิญญาณดับหมดได้ แต่กลิศตมโนหาดับไม่มีอยู่ มิฉะนั้นแล้วอสัญญีสมาบัติกับนิโรธสมาบัติก็มีข้อแตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะทั้ง ๒ สมาบัติต่างดับสัญญาเวทนาด้วยกันเหลือแต่ร่างกายไว้เท่านั้น (ฝ่ายเถราวทก็ถือว่าอสัญญีสัตว์ นามธาตุดับหมดไม่เหลือ จึงถูกฝ่ายโยคาจารค้านด้วย)

อาลยวิญญาณ
วิญญาณที่ ๘ ชื่อว่า อาลยวิญญาณ ที่ได้ชื่อดังนี้ก็เพราะเป็นสภาพถูกยึดจากกลิศตมโนว่าเป็นตัวตน อาลยวิญญาณก็คือ ตัวภวังคจิต ในบาลีอภิธรรมนั่นเอง มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น จิต สรวพีชวิญญาณ อทานวิญญาณ ปัจจุบันวิญญาณ มูลวิญญาณ วิปากวิญญาณ เป็นต้น ฝ่ายโยคาจารได้สร้างปรัชญาวิชญาณวาทิน (Idealism) ขึ้นจากอาลยวิญญาณนี้ คือ สอนว่า ทุกสิ่งอย่างล้วนแต่เป็นจิต แลออกมาจากจิตทั้งสิ้น อาลยวิญญาณนี้ เป็นมูลกรณะของโลกแลสรรพสิ่งในอภิธรรมสูตร มีคาถาโศลกหนึ่งว่า “อนาทิกาลิโก ธาตุ สรฺวธรฺมสมาศฺรยะ ตสฺมินฺ สติ คติ สรฺวา นิรฺวาณาธิคโมปิ วา” ธาตุที่ไม่มีกาลเบื้องต้น ( คือ อาลยวิญญาณ) เป็นที่อาศัยแห่งธรรมทั้งปวง เมื่อธาตุนั้นมี ก็มีคติทั้งปวง กับทั้งการบรรลุพระนิรวาณด้วย

อาลยวิญญาณเป็นมูลฐานแห่งสรรพสิ่ง ถ้าไร้อาลยวิญญาณนี้แล้ว สรรพสิ่งก็ไม่มี ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยสรรพสิ่งเป็นเงาสะท้อนออก หรือพฤติภาพของอาลยวิญญาณนั่นเอง ปรัชญาโยคาจารยุคแรก มีอสังคะ วสุพันธุ ถือว่า สิ่งทั้งปวงเป็นแต่ความคิดของเรา สิ่งทั้งปวงอยู่ในจิตของเรา ครั้นมาถึงยุคหลังสมัยธรรมปาละ ทินนาค ได้สอนต่างๆ ออกไปหน่อย คือ สอนว่า สิ่งที่ดำรงอยู่ภายนอกใจก็เหมือนกัน แต่มูลกำเนิดของมันก็ไม่พ้นไปจากใจได้
พีชในอาลยวิญญาณ

หลักปฏิจจสมุปบาท หรือกฎปัจจยาการถือว่าสิ่งที่เป็นเหตุย่อมมีผล หรือผลย่อมไหลมาแต่เหตุมาแต่เหตุ เป็นหลักพุทธศาสนาทั่วไป ปรัชญาโยคาจารสอนว่า ผลทั้งหลายที่ปรากฏแก่เรา รวมทั้งตัวเราด้วย หรือสังสารวัฏนี้ย่อมไหลมาแต่เหตุของมัน เหตุอันนี้เรียกว่า พีชะ (พืช) มีอยู่ในอาลยวิญญาณ แลเนื่องด้วยสิ่งทั้งหลายในโลกมีผิดแผกแตกต่างไปตามสภาพ เช่น มีกุศลธรรม อกุศลธรรม สาสวธรรม อนาสวธรรม นามธรรม รูปธรรม พีชะก็มีมากมายหลายประเภทตามไปด้วย สิ่งๆ หนึ่งก็มีพีชะของตนหาเหมือนกันไม่ แต่สรุปแล้วคงได้ตามสภาพ คือ กุศลพีชะ อกุศลพีชะ และอัพยากฤตพีชะ หรือจัดเป็นสอง คือ สาสวพีชะกับอนาสวะพีชะ พีชะเทียบได้กับพลังงานที่สามารถก่อให้เกิดผล ไม่ใช่มีรูปลักษณะเช่นกับเม็ดพืชของพันธ์ไม้ พลังงานเหล่านี้เก็บอยู่ในวิญญาณทั้ง ๖ เช่น รูปวิสัย เป็นต้น

ปัญจโคตร
ปรัชญาโยคาจารได้แบ่งสภาวะของสัตว์ทั้งปวงออกเป็นโคตร เรียกว่า ปัญจโคตร ปัญจโคตรนี้เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม มีอยู่โดยธรรมชาติ นับแต่การเบื้องต้นไม่ปรากฏ คือ
๑. สาวกโคตร สัตว์ผู้มีสาวกโคตรมีสาวกพีชะอยู่บรรลุได้ก็เพียงแต่อรหันตภูมิเป็นอย่างสูง
๒. ปัจเจกโคตร สัตว์ผู้มีปัจเจกพีชะ บรรลุได้แต่เพียงปัจเจกภูมิ ทั้ง ๒ พวกนี้ละได้แค่กิเลสสารวณะ แต่ยังละธรรมาวรณะไม่ได้
๓. โพธิสัตวโคตร สัตว์ผู้มีโพธิสัตว์พีชะหรืออนุตตรสัมโพธิพีชะ บรรลุถึงโพธิสัตว์ภูมิ พุทธภูมิ ละกิเลสาวรณะ และธรรมาวรณะได้เด็ดขาด
๔. อนิยตโคตร สัตว์ผู้มีทั้งสาวกพีชะ ปัจเจกพีชะ โพธิสัตวพีชะ อาจบรรลุสาวกภูมิ ปัจเจกภูมิ สัมมาสัมพุทธภูมิได้ สุดแล้วแต่ปณิธาน
๕. อิจฉันติกโคตร สัตว์ผู้ไม่มีพีชะแห่งการบรรลุอริยภูมิทั้ง ๓ เพราะไม่มีอนาสวพีชะเลย จึงไม่อาจละกิเลสวรณะ ธรรมาวรณะได้ บรรลุได้ก็แต่โลกิยสมบัติมีสวรรค์ มนุษย์ เป็นต้น จะบรรลุโลกุตตรภูมิไม่ได้เลย

ปัจจัย ๔
๑. เหตุปัจจัย ได้แก่ พีชะของธรรมๆ หนึ่งเป็นเหตุโดยตรงก่อนเกิดธรรมนั้นๆ ขึ้น
๒. อนันตรปัจจัย ได้แก่ จิต เจตสิก ย่อมเกิดดับสืบเนื่องเป็นขณะ ขณะหน้าดับ ขณะหลังเกิดติดต่อกันเรื่อยไปไม่มีระหว่าง
๓. อารัมณปัจจัย ได้แก่ ทัศนภาคของจิต ถือเอาลักษณภาคของจิตเป็นอารมณ์
๔. อธิปติปัจจัย ได้แก่ ธรรมที่ส่งเสริมแก่กัน และกันให้ยิ่งๆ ขึ้นไปให้สำเร็จ เช่น พีชะเป็นเหตุปัจจัยแก่ต้นไม้ แสงแดดการรดน้ำพรวนดินให้ปุ๋ย ก็เป็นอธิปติปัจจัยแก่ต้นไม้นั้น
ทั้ง ๔ ปัจจัยนี้ รูปธรรมบังเกิดขึ้น อาศัยเหตุปัจจัย และอธิปติปัจจัย ๒ อย่าง ส่วนนามธรรม มีจิตเจตสิกเกิดขึ้นต้องอาศัยปัจจัยครบทั้ง ๔ ( บาลีอภิธรรมสอนปัจจัย ๒๔ )

ปฏิจจสมุปบาท ๑๒
โยคาจารจัดระเบียบปฏิจจสมุปบาทออกเป็นเหตุและผลดังนี้ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา อุปาทาน ภพ = เหตุ ชาติ ชรามรณะ = ผล
ไตรสภาวะ
ทฤษฎีไตรภาวะ นับเป็นหลักการสำคัญยิ่งของฝ่ายโยคาจาร และเป็นปัญหาข้อโต้เถียงกับฝ่ายมาธยมิกที่เผ็ดร้อนยิ่ง สภาวะทั้ง ๔ คือ

๑. ปริกัลปิตลักษณะ คือ สภาวะที่หลงผิด ยึดถือในสิ่งทั้งหลายที่ปราศจากตัวตนว่าเป็นตัวตน ที่ไม่เที่ยงแท้ว่า เที่ยงแท้ ที่ไม่มีอยู่จริงว่ามีอยู่จริง อุปมาดังบุคคลเดินไปในที่มืด เหยียบถูกเชือกเข้าสำคัญว่างู ความสำคัญผิดคิดว่าเชือกเป็นงูนี้ เรียกว่า ปริกัลปิตลักษณะ

๒. ปรตันตรสภาวะ ได้แก่ สังขตธรรมต่างๆ มีจิต เจตสิก รูป เป็นต้น ย่อมเกิดมาจากเหตุปัจจัยเป็นปัจจัยนั้น คือ เหตุปัจจัย อนันตรปัจจัย อารัมมณปัจจัย อธิปติปัจจัย นั่นเอง

๓. ปริณิษปันนสภาวะ ได้แก่ อสังขตธรรมมีพระนิวารณ สภาพปรมัตถ์ของสรรพสิ่ง คือ สภาพของสังขตธรรมที่ต้องเป็นทุกขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ( เป็นทุกข์ คือ ต้องแปรปรวน ไม่เที่ยงคงทน และไม่มีตัวตน ) กับสภาพของอสังขตธรรมที่เป็นอนัตตาอย่างเดียว ( ทั้งนี้เพราะอสังขตธรรมพ้นจากการปรุงแต่ง จึงไม่เป็นทุกขํ และไม่เป็นอนิจฺจํ แต่เป็นอนัตตา ) สภาพสัจจปรมัตถ์ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี้ เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ไม่มีใครก่อตั้งหรือมีสิ่งใดมาปรุงแต่ง ไม่อาจกลับกลายเปลี่ยนเป็นอื่นไปได้

จตุรญาณ
ฝ่ายโยคาจารสร้างทฤษฎีจตุรญาณ คือ ญาณทั้ง ๔ มี
๑. กฺฤตยานุษฺฐานชฺญาณ (เซ้าซอจักตี) ได้แก่ ญาณของบุคคลผู้สามารถเปลี่ยนปัญจวิญญาณ ที่ประกอบด้วยสาสวธรรม ให้เป็นอนาสวธรรมขึ้น
๒. ปฺรตฺยเวกฺษณชฺญาณ (เมี่ยวกวงฉักตี่) ได้แก่ ญาณของบุคคลผู้สามารถเปลี่ยนมโนวิญญาณ ที่ประกอบด้วยสาสวธรรม ให้เป็นอนาสวธรรมขึ้น
๓. สมตาชฺญาณ (เพ่งเต้งแส่ตี่) ได้แก่ ญาณของบุคคลผู้สามารถเปลี่ยนกลิศตมโนวิญญาณ ที่ประกอบด้วย สาสวธรรม ให้เป็นอนาสวธรรมขึ้น
๔. อาทรฺศนชฺญาณ (ไต้อี้เกี้ยตี่) ได้แก่ ญาณของบุคคลผู้สามารถเปลี่ยนอาลยวิญญาณ ที่ประกอบด้วยสาสวธรรม ให้เป็นอนาสวธรรมขึ้น
ญาณทั้ง ๔ บังเกิดขึ้นแล้ว กิเลสอวิชชาทั้งหลายที่เป็นไปในวิญญาณทั้ง ๘ ก็ไม่มี บุคคลนั้นได้บรรลุวิมุตติแล้ว
ฝ่ายโยคาจารได้จัดระเบียบแสดงธรรมของพระพุทธองค์ออกเป็น ๓ กาล คือ

๑. ปฐมกาล พระพุทธองค์เทศนาอัสติธรรม คือ เทศนาอริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ เทศนาหลักธรรมฝ่ายสาวกยาน
๒. มัชฌิมกาล พระพุทธองค์เทศนาศูนยตธรรม คือ เทศนาคติศูนยตาตามนัยมาธยมิกแก่ฝ่ายมหายาน
๓. ปัจฉิมกาล พระพุทธองค์เทศนาหลักธรรมขั้นอันติมะที่แท้จริง คือ เทศนาหลักธรรมในฝ่ายโยคาจาร ซึ่งถือว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ติดทั้งอัตถิตา และนัตถิตา คือ ไม่ติดในความมีหรือความมีหรือความไม่มี ฉะนั้น ปรัชญาโยคาจารจึงสูงกว่าฝ่ายมาธยมิก นี่เป็นวาทะของสาวกฝ่ายโยคาจาร

เสถียร โพธินันทะ.
ปรัชญามหายาน, พิมพ์ครั้งที่ ๕ , กรุงเทพฯ
:มหากุฏราชวิทยาลัย,๒๕๔๘.นาคารชุน
พระจิตติเทพ ฌานวโร เขียน ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๓,๒๒.๐๓ น.
หลักธรรมและคัมภีร์ที่สำคัญของนิกายมหายาน
-http://nikayamahayan2010.blogspot.com/2010/06/blog-post_23.html