ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์ ภควัทคีตา.. บทเพลงแห่งองค์ภควัน.. (บทเพลงของพระเจ้า)  (อ่าน 24919 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ภควัทคีตา

บทเพลงแห่งองค์ภควัน
(สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง)

บทที่แปด

                อรชุนถามว่า
                กฤษณะ! พรหมผู้สูงสุดนั้นเป็นอย่างไร อาตมันคืออะไร กรรมคือสิ่งใด ผู้เป็นใหญ่เหนือแผ่นดินและสวรรค์คือใคร โปรดตอบข้อสงสัยเหล่านี้ของเราที
                ในบรรดาสิ่งอันประกอบขึ้นเป็นร่างกายของคน ส่วนใดเป็นผู้รับผลของความดีที่คนผู้นั้นกระทำลงไปและได้รับโดยวิธีใด
                เราจะแน่ใจด้อย่างไรว่าหากควบคุมใจให้แน่วแน่ต่อท่านในชาตินี้แล้ว เมื่อตายไปจะได้พบท่านในทิพยโลกโปรดตอบ!
                กฤษณะตอบว่า
                ธรรมชาติอันหนึ่งไม่รู้จักเสื่อมสลายไปตามกาล เป็นใหญ่เหนือทุกสิ่งในจักรวาล นั่นล่ะพรหมอันสูงสุด
                สภาวะรู้รูปอย่างหนึ่งสถิตอยู่ในร่างกายของมนุษย์ เป็นตัวรับรู้อารมณ์และคิดนึก สภาวะนี้เรียกว่าอาตมัน
                มีพลังลึกลับชนิดหนึ่งเป็นตัวผลักดันให้เกิดชีวิตใหม่ สิ่งมีชีวิตทุกอย่างในจักรวาลต่างเวียนว่ายตายแล้วเกิดตามแรงผลักดันของพลัง อันนี้ พลังที่ว่านี้เรียกว่ากรรม

                สสาร* เป็นใหญ่ในแผ่นดิน จิต* เป็นใหญ่ในสวรรค์
                *(สสาร Matter นี้ในภาษาสันสกฤตใช้ว่า กฺษรภาวะ หมายถึงสิ่งที่ถูกต้องสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า และเป็นสิ่งสูญสลายไปได้ตามกาลเวลา -ผู้แปล)
                * (จิต Spirit ในโศลกสันสกฤตท่านใช้ว่า บุรุษ ได้แก่ สภาวะ นิรันดรอย่างหนึ่งที่เวียนว่ายอยู่ในห้วงจักรวาล จิตสามารถดำรงอยู่ได้ทั้งในร่างมนุษย์และในสภาพล่องลอยเป็นอิสระ และจะสถิตอยู่ในร่างคนสลับกับการล่องลอยไปจนกว่าจะเข้าถึงพรหม -ผู้แปล)
                เมื่อบุคคลกระทำกรรมดีลงไป ผู้รับผลของกรรมดีนั้นได้แก่อาตมัน
                ดังนั้น ความดีที่กระทำลงไปจึงไม่มีทางสูญเปล่า เพราะอาตมันเป็นสภาวะนิรันดร์ไม่รู้จักแตกทำลาย ถึงผู้กระทำความดีจะตายไป อาตมันที่จะคอบรับผลของกรรมดีก็ยังคงอยู่
                แน่ใจได้เลยว่าผู้ที่มีใจแนบแน่นในเรา เมื่อเขาละโลกนี้ไปแล้วเขาจักได้พบเรา ณ ทิพยสถานอันเป็นบรมสุข

                อรชุน! เมื่อจิตใจของคนยึดเหนี่ยวสิ่งใดเป็นพิเศษในเวลาก่อนตาย สิ่งที่ใจของเขาหน่วงดึงเอาไว้นั้นย่อมจะชักพาเขาไปสู่สภาวะของสิ่งนั้น
                เพราะฉะนั้นอย่าวิตกไปเลยอรชุน! จงรบ! แล้วพยายามระลึกถึงเราเอาไว้ตลอดเวลา! หาท่านตายเพราะการสู้รบในขณะที่ใจยึดเหนี่ยวเอาเราเป็นสรณะ ท่านก็จักได้ไปเสวยสุข ณ ทิพยสถานกับเรา!
                อรชุน! บุคคลผู้มีใจแนบแน่นใน “สิ่งสูงสุด” บำเพ็ญเพียรเพื่อ “สิ่งสูงสุด” นั้น ย่อมลุถึง “สิ่งสูงสุด” สมประสงค์เพราะความพากเพียร

                “สิ่งสูงสุด” นี้รอบรู้ทุกสิ่งอย่างในจักรวาล หยั่งทราบอดีตและอนาคต เป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองโลก เป็นสภาวะที่อยู่เหนือการคาดหวัง เป็นแสงสว่างแห่งจักรวาลประดุจดวงตะวันที่สาดส่องขจัดความมืดมน
                ใครก็ตามยึดเหนี่ยวเอา “สิ่งสูงสุด” นี้เป็นสรณะแห่งชิวิต บำเพ็ญเพียรด้วยใจที่ศรัทธามั่นคงต่อ “สิ่งสูงสุด” นั้น เขาเมื่อละร่างนี้ไปแล้วย่อมเข้าถึง “สิ่งสูงสุด” ณ ทิพยสถานแดนสงบชั่วนิรันดร์
                อรชุน! ท่านผู้รู้เรียก "สิ่งหนึ่ง" ว่าเป็นสภาวะอมตะ ไม่รู้จักเสื่อมสลาย สภาวะนั้นจะบรรลุถึงได้ก็เฉพาะบุคคลผู้ประพฤติพรหมจรรย์ปฏิบัติด้วยใจอันบริสุทธิ์สะอาดเท่านั้น
                ณ บัดนี้เราจะหยิบยกเอาสภาวะนั้นมาแสดงให้ท่านฟังโดยสังเขป

                อรชุน! ผู้ใดสำรวมกาย วาจา ใจให้มั่นคง ปฏิบัติโยคธรรมด้วยใจที่ตั้งมั่นในเรา ผู้นั้นเมื่อละร่างนี้ไปสู่ปรโลก เขาจะได้บรรลุถึงบรมศานติ
                ผู้ใดมีใจยึดเหนี่ยวในเรา และหน่วงเหนี่ยวเอาเราเป็นอารมณ์ ในการบำเพ็ญสมาธิธรรม ผู้นั้นย่อมเข้าถึงเราได้เร็วพลัน
                เมื่อบรรลุถึงเราแล้วเขาจะ
กลายเป็นหนึ่งเดียวกับเรา ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายในห้วงสังสารวัฏฏ์อันเต็มไปด้วยความทุกข์เข็ญเจ็บปวดนั้นอีก
                อรชุน! การเวียนว่ายตายเกิดนี้
เป็นกฎของชีวิต ทุกคน ทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป้นมนุษย์หรือเทพล้วนแล้วแต่ต้องเวียนว่ายไปตามกฎของชีวิตอันนี้
                ยกเว้นแต่ผู้เข้าถึงเราเท่านั้นที่
อยู่เหนือกฎการเวียนว่ายนี้               
                แม้แต่เหล่าพรหมในพรหมโลกที่ว่าอายุยืนยาวนักก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเมื่อถึงกาลอันสมควร*
                (* หมายถึงพรหมชั้นต่ำลงมายกเว้นมหาพรหมที่ดำรงภาวะแห่งปรมาตมัน พรหมเหล่านี้ก็คือเทพประเภทหนึ่งแต่เป็นเทพชั้นสูง ที่มีอายุการเสวยสุขในทิพยโลกยาวนานกว่าเทพอื่นๆ -ผู้แปล)

                ในพรหมโลกนั้น วันหนึ่งของเหล่าพรหมเท่ากับพันกัปในโลกมนุษย์ และคืนหนึ่งในพรหมโลกก็เป็นเวลาพันกัปของมนุษย์เช่นกัน
                ในเวลากลางวันพรหมทั้งหลายจะแสดงร่างออกมาให้ปรากฏ ครั้นล่วงเข้าสู่ราตรีร่างเหล่านั้นก็จะกลับประลัยละลายหายไปสู่ความว่าง เปล่าอีกครั้ง
                การปรากฏและการประลัยของเหล่าพรหมก็คือการที่ภาวะก่อเกิดจากอภาวะ แล้วภาวะนั้นก็กลับคืนสู่อภาวะอีกที
                อภาวะอันอยู่เบื้องหลังภาวะ และเป็นแดนกำเนิดของเหล่าพรหมตลอดจนสรรพสิ่งในจักรวาลนี้มีเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อักษรภาวะ*
                (* อักษรภาวะ The Imperishable
มาจากคำว่า อ+กฺษร+ภาว, อ-แปลว่าไม่, กฺษร-แปลว่าสิ้นไปได้, อักษรภาวะจึงแปลได้ความว่าสภาพหรืออานุภาพชีวิตหนึ่งที่เป็นอมตะ ไม่มีวันพินาศเสื่อมสลาย -ผู้แปล)

                อักษรภาวะนี้โดยเนื้อแท้ก็คือสิ่งสิ่งเดียวกับบรมศานติสถานที่เราพูดถึง เป็นอมตสถานที่เสวยสุขชั่วนิรันดร์ของผู้หลุดพ้น และเป็นสถานที่ที่เราดำรงอยู่               
                อรชุน! อักษรภาวะนี้เป็นชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด บุคคลจะเข้าอักษรภาวะนี้ได้ก็ด้วยความภักดีอันมั่นคงไม่คลอนแคลนในเราเท่านั้น
                ทางเดินของชีวิตมีอยู่สองสาย สายหนึ่งตรงไปสู่ความสว่างไสวรุ่งเรือง ส่วนอีกสายตรงไปหาความมืดมิดตกต่ำ
                อรชุน! ผู้ฉลาดย่อมรู้จักเลือกทางเดินชีวิตให้ตนเอง ผู้เลือกทางถูกย่อมจะเข้าถึงความสงบแห่งชีวิต ไม่ตกต่ำอับจนเพราะการเลือกที่ผิดพลาดของตนเอง


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 08, 2014, 11:30:45 pm โดย แก้วจ๋าหน้าร้อน »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง

บทที่เก้า

                กฤษณะตรัสว่า
                อรชุน! เราจะบอกสิ่งลึกลับอย่างยิ่งสามประการแก่ท่าน เมื่อท่านทราบรหัสยภาวะสามประการนี้แล้ว ท่านจะพ้นจากบาปทั้งปวง
                สิ่งลึกลับอย่างยิ่งที่เราจะบอกแก่ท่านนี้ได้แก่ อธิปัญญา หนึ่ง, อธิรหัสยภาพ หนึ่ง, และอธิวิสุทธิ อีกหนึ่ง
                สามสิ่งนี้เป็นทางแห่งการเข้าสู่ความหลุดพ้นโดยตรง
                อรชุน! ผู้ใดไม่เชื่อมั่นในทางสามสายนี้ ผู้นั้นย่อมไม่อาจเข้าถึงเรา เขาจักต้องเวียนว่ายทุกข์ทนอยู่ในห้วงสังสารวัฏฏ์อีกต่อไป
                สรรพสิ่งอันปรากฏเป็นรูปเป็นร่างในจักรวาลล้วนแต่ต้องพึ่งพิงเรา! เราเป็นเจ้าและเป็นนายของสรรพสิ่งไม่มียกเว้น!
                อุปมาดังอากาศที่แทรกซึมอยู่ทั่วทุกอณูของที่ว่าง อากาศนั้นจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตทั้งปวงฉันใด เราก็จำเป็นต่อการพึ่งพาสำหรับสรรพสัตว์ฉันนั้น

                อรชุน! เมื่อถึงเวลาที่กัลป์ประลัย จักรวาลถูกไฟประลัยกัลป์แผดเผาเป็นผุยผงสิ้น ชีวะของสัตว์ทั้งปวงจะเข้าไปรวมอยู่กับเรา จนเมื่อถึงเวลาเริ่มต้นกัลป์ใหม่ เราถึงจะส่งสัตว์เหล่านั้นลงมาจุติอีครั้ง
                เราคือผู้สร้างสรรพสิ่งขึ้นใหม่ในจักรวาลเมื่อกัลป์ใหม่เริ่มต้น! เราเนรมิตทุกสิ่งอันอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าไม่มีที่จบสิ้น! สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนแต่เกิดขึ้น, ดำรงอยู่, และพินาศไปภายใต้การควบคุมของเราทั้งสิ้น!
                เราสร้างสรรพสัตว์ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบกรรมของสัตว์ทั้งหลาย
                กรรมใดใครก่อ! ผู้นั้นต้องรับผลของกรรมนั้น!
                คนเขลาไม่หยั่งทราบอานุภาพของเราก็พากันลบหลู่เราผู้อยู่ในร่างมนุษย์สามัญ หารู้ไม่ว่านี่คือเจ้าชีวิตของมันเอง!
                คนผู้ด้อยความคิดเหล่านั้นเมื่อไม่เข้าใจภาวะของเราเสียแล้วจะคิดจะหวังหรือจะกระทำสิ่งใดก็มีแต่พลาดแต่ผิดวิบัติไปหมดสิ้น

                ผู้ฉลาดสามารถมองผ่านร่างมนุษย์ที่หุ้มห่อเราเข้าไปเห็นทิพยภาวะ ย่อมหยั่งทราบว่าเราคือแหล่งกำเนิดของสรรพสิ่งรวมทั้งตัวเขาเองด้วย เมื่อหยั่งรู้เช่นนั้น เขาย่อมมีใจภักดีต่อเรา หมั่นเพียรบำเพ็ญคุณความดี เพื่อเข้าถึงเราด้วยจิตใจที่มั่นคงหนักแน่น

                อรชุน! ภาวะแห่งเรานี้เป็นได้ทั้งเอกภาวะและพหุภาวะ
                การที่เราเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งหรืออีกนัยหนึ่ง สรรพสิ่งทั้งหลายก่อกำเนิดมาจากเราผู้เดียว นี่เรียกว่าเอกภาวะของเรา
                ส่วนการที่เราเป็นธรรมชาติในสรรพสิ่ง นั่นคือพหุภาวะของเรา
                เราเป็นหัวใจของการประกอบยัญพิธี! เป็นมรรคาสู่ความหลุดพ้น! เป็นผู้ให้กำเนิดโลก! เป็นผู้ปกป้องโลก! และเป็นผู้ทำลายโลก!
                เราเป็นสักขีพยานในการทำความดี! เป็นที่พึ่งพิงของคนทุกข์!
เป็นเพื่อนของผู้ต้องการเพื่อน!

                เราเป็นความร้อนในแสงตะวัน! เป็นความฉ่ำเย็นในสายฝน!
                เราเป็นชีวิตของสิ่งมีชีวิต! และเป็นความตายของสิ่งที่วงจรชีวิตเดินมาครบเงื่อนไขการดำรงอยู่แล้ว!
                เราเป็นทั้งสิ่งที่มีอยู่และที่ไม่มีอยู่! เป็นภาวะและอภาวะ!
                ผู้ใดหยั่งทราบภาวะแห่งเราทั้งที่เป็นเอกภาวะและพหุภาวะอย่างนี้แล้ว มีใจภักดีหมั่นเพียรประกอบกรรมดีเพื่อนบูชา ผู้นั้นย่อมจะได้รับความเกษมศานดิ์จากเราเป็นเครื่องตอบแทน

                แม้เหล่าชนที่บูชาเทพเจ้าเหล่าอื่นนอกเหนือจากเราก็เช่นกัน เพราะเหตุที่เขาไม่เข้าใจถึงภาวะของเรา ที่ครอบคลุมทุกสิ่งอย่างไม่เว้นกระทั่งเทพเหล่านั้น พวกเขาจึงพากันกราบไหว้เทพที่ตนเข้าใจว่าเป็นสิ่งสูงสุด แต่เพราะความที่พวกเขาเซ่นไหว้เทพด้วยใจบริสุทธิ์ แม้จะยังเดินไปไม่ตรงทางนัก พวกเขาก็จะได้รับผลแห่งความดีนั้นตามสมควรแก่การกระทำจากเรา
                นั่นคือผู้ใดเซ่นไหว้เทพองค์ใด เมื่อสิ้นชีวิตลง ผู้นั้นย่อมจะได้ไปร่วมเสวยสุขกับเทพองค์นั้น
                ผู้ใดกราบไหว้ผีบรรพบุรุษก็จะได้ปอยู่ร่วมภพเดียวกันกับบรรพบุรุษนั้น
                ผู้เซ่นสรวงภูตผีระดับใดก็จะได้ไปร่วมเป็นสมาชิกของภูตผีระดับนั้น

                บุคคลที่กล่าวมาทั้งหมดแม้จะได้รับผลของกรรมในทางที่ดี แต่นั่นก็
ไม่ใช่ทางหลุดพ้น!
                ผู้บูชาเราด้วยการปฏิบัติโยคธรรมจนจิตใจบริสุทธิ์สะอาจากมลทินทั้งปวงเท่านั้นจึงจะพบกับความหลุดพัน!
                การบูชาเรา เราถือเอาความบริสุทธิ์ใจและแรงศรัทธาเป็นประการสำคัญ ดังนั้นหากใครมีใจเชื่อมั่นในเราแม้ทานวัตถุของเขาจะด้อยราคาแค่เพียงเป็นใบไม้, ดอกไม้, ผลไม้ หรือน้ำเปล่าๆ ทานนั้นเราก็ถือว่าเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ จงทราบว่าเรารับเอาทานนั้นไว้ด้วยใจที่เบิกบานและชื่นชมยิ่งแล้ว

                ดังนี้แลอรชุน! เมื่อท่านจะทำ, จะกิน, จะประกอบยัญกรรม, จะให้ทาน, หรือจะบำเพ็ญเพียร ขอจงอุทิศการกระทำทั้งหมดนั้นมาที่เรา
                หากทำได้เช่นนั้น ท่านจะหลุดพ้นจากบุญและบาป อันจะให้ผลเป็นการเวียนว่ายในสังสารวัฏฏ์ต่อไป
                จงสลัดกรรมทั้งปวงออกจากจิตใจให้หมดสิ้น
                เมื่อสลัดกรรมทิ้งได้ ท่านย่อมได้ชื่อว่าเข้าถึงเราแล้ว
                อรชุน! เราเป็นผู้วางตนเสมอในทุกสิ่งบนผืนแผ่นดินนี้ เราไม่เลือกชอบหรือชัง
                ผู้ใดศรัทธาในเรา ปฏิบัติตนให้ดีเพื่อเข้าถึงเรา ผู้นั้นย่อมจะได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับเรา
                แม้แต่ผู้เคยประกอบกรรมชั่วมาก่อน ต่อภายหลังจึงกลับใจเลิกละความชั่วนั้นเพื่ออุทิศแก่เรา คนเช่นนั้นก็ควรแก่การยกย่องสรรเสริญเสมอสาธุชนคนดีทั้งหลาย

                อรชุน! บุคคลผู้มีใจตั้งมั่นในธรรมและยึดมั่นในเราย่อมได้รับศานติ ไม่มีความเสื่อมตลอดนิรันดรกาล

                คนบาป, สตรี, แพศย์, และศูทร แม้คนสี่ประเภทนี้จะถือกันว่าเป็นคนชั้นต่ำ แต่เมื่อเขามีความเพียรพยายามประกอบคุณความดีอุทิศเพื่อเรา เขาก็สามารถบรรลุบรมศานติร่วมเสวยทิพยสุขกับเราเยี่ยงสาธุชนอื่นๆ ได้เช่นกัน
                ทั้งนี้ไม่ต้องจำเอ่ยถึงบรรดาพราหมณ์และกษัตริย์ชั้นสูงที่ภักดีในเรา เพราะขนาดชนชั้นต่ำที่ภักดีในเรายังอาจบรรลุถึงความสุขอันสูงสุดนั้นได้ ไฉนชนในวรรณะสูงจะไม่ได้รับสุขอันเป็นอมตะเล่า
                อรชุน! โลกนี้เป็นอนิจจังผันแปรไม่แน่นอนหลากรายด้วยทุกข์โศกนานาประการ ทราบเช่นนี้แล้วใยท่านไม่น้อมยึดเอาเราเป็นสรณะเสียเล่า


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 08, 2014, 11:34:39 pm โดย แก้วจ๋าหน้าร้อน »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปล
และเรียบเรียง

บทที่สิบ
                   กฤษณะตรัสว่า   
                   อรชุน! จงฟังบรมวจนะของเราอีกครั้ง! เราปรารถนาสิ่งอันเป็นประโยชน์ต่อท่านดอกนะจึงได้พูดถึงสิ่งเหล่านี้ให้ท่านฟัง!   
                   ภาวะของเราเป็นสิ่งลึกลับ แม้กระทั่งพวกเทวดาหรือเหล่าฤาษีก็ไม่อาจหยั่งรู้ได้ ทั้งๆ ที่เรานี่เองคือผู้ให้กำเนิดเทวดาและฤาษีเหล่านั้น   
                   ดังนั้น ผู้ใดหยั่งรู้ภาวะของเราซึ่งเป็นอมตะ ไม่มีเกิด ไม่มีตาย และไม่มีการเริ่มต้นใหม่ ทั้งยังเป็นมหานุภาวะที่อยู่เหนือโลก ผู้นั้นชื่อว่ามีปัญญารู้แจ้งไม่หลงในภาวะแห่งมายา ย่อมพ้นจากบาปทั้งปวง

   
                   พุทธิอันได้แก่ปัญญาความรอบรู้ หนึ่ง, ชญาอันได้แก่ความประจักษ์แจ้งในสัตยภาวะ หนึ่ง, อสัมโมหะอันได้แก่ความไม่ลุ่มหลงในมายาอันปกปิดมิให้เห็นความจริงของโลกและชีวิต หนึ่ง, กษมาอันได้แก่ความอดกลั้นต่อความเย้ายวนของสิ่งเลวร้าย หนึ่ง, สัตยะอันได้แก่ความจริงของโลกและชีวิต หนึ่ง, ทมะอันได้แก่การควบคุมกายวาจาและใจให้มั่นคงเยือกเย็นเวลากระทบกับอารมณ์ต่างๆ หนึ่ง, ศมะอันได้แก่การฝึกฝนจิตให้มีดุลยภาพต่อสรรพสิ่ง หนึ่ง, อหิงสาอันได้แก่ การไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น หนึ่ง, สมตาอันได้แก่การปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอต่อทุกสิ่งอย่าง หนึ่ง, ดุษฎีอันได้แก่ความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ไม่ทะเยอทะยานเกินวิสัย หนึ่ง, ตบะอันได้แก่การบำเพ็ญเพียรเพื่อขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใสจากบาป หนึ่ง, ทานอันได้แก่การเสียสละ เพื่อผู้อื่นอีก หนึ่ง
   
                   ภาวะทั้งหลายเหล่านี้มีอยู่ในสัตว์ทั้งหลายก็เพราะเราทั้งสิ้น!   
                   ผู้รู้ความจริงย่อมประจักษ์แจ้งในมหานุภาพของเรา และเมื่อประจักษ์แล้วย่อมยึดมั่นในเรา หมั่นประกอบความเพียรในโยคธรรมเพื่อบรรลุถึงเราโดยไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก
   
                   อรชุนกล่าวว่า   
                   กฤษณะ! ท่านเป็นพรหมผู้ประเสริฐ! เป็นที่พึ่งอันสูงสุดของเหล่าสัตว์! และเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง!   
                   ท่านเป็นนิรันดรภาวะ! เป็นทิพยภาวะ! เป็นปฐมเทพของโลก เป็นอมตภาพที่ไม่เกิดไม่ตาย! และเป็น
มหานุภาวะที่แทรกอยู่ทุกอณูของจักรวาล!

   
                   กฤษณะ! ทุกสิ่งอย่างที่ท่านกล่าวแก่เรา เราเชื่อว่าเป็นความจริง ไม่ว่าความจริงอันนี้จะมีใครยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ตาม!   
                   ท่านได้แสดงทิพยภาวะของท่านแก่เราอย่างแจ่มชัดยิ่ง บัดนี้เรามั่นใจแล้วว่าท่านคือต้นกำเนิดของโลกและจักรวาล ตลอดทุกอณูของจักรวาลและผืนแผ่นดินนี้ไม่มีเลยสถานที่ที่ท่านไม่ได้สถิตอยู่   
                   แต่ทำอย่างไรเล่าเราจึงจะเข้าใจถึงภาวะของท่านได้แจ่มแจ้งยิ่งกว่านี้ การบำเพ็ญโยคธรรมจะช่วยให้เราเกิดความประจักษแจ้งในสิ่งนี้ไหม
   
                   กฤษณะ! ขอท่านจงแสดงนัยแห่งมหานุภาวะและทิพยภาวะของท่านโดยละเอียดแก่เราอีกสักครั้ง เรายังกระหายที่จะได้สดับสิ่งลี้ลับเหล่านี้อีก

   
                   กฤษณะตรัสตอบว่า   
   ได้ซิอรชุน! เราจักแสดงความละเอียดของมหานุภาวะและทิพยภาวะของเราแก่ท่านอีกครั้ง อันความลี้ลับของภาวะแห่งเรานี้มีนัยพิสดารกว้างไกลนัก แสดงอย่างไรก็ไม่รู้จบสิ้น   
                   อรชุน! จงจำเอาไว้ประการหนึ่งว่าเราเป็นอาตมันที่สถิตอยู่กลางหัวใจของมนุษย์และสัตว์ทั้งปวง!   
                   เราเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตแก่มนุษย์และสัตว์ตลอดจนสิ่งมีชีวิตอื่นและเป็นผู้เนรมิตวัตถุที่ไร้ใจครองทั้งปวงขึ้นไว้ในโลกและจักรวาล ดังนั้นเราจึงชื่อว่าเป็นปฐมกำเนิดของสรรพสิ่ง
   
                   เราเป็นผู้ควบคุมสรรพสิ่งให้หมุนเดินหรือหยุดนิ่ง ดังนั้นเราจึงชื่อว่าเป็นมัธยภาวะของสรรพสิ่ง   
                   และสุดท้ายเมื่อถึงคราวที่ต้องล้างกัลป์ให้พินาศย่อยยับ เราก็คือผู้ทำลายโลก จักรวาล และสรรพสิ่ง ดังนั้นเราจึงชื่อว่าเป็นอันตภาวะของสรรพสิ่ง   
                   อรชุน! เราเป็นปฐมกำเนิดอันหมายถึงเบื้องต้น, เป็นมัธยภาวะอันหมายถึงท่ามกลาง, และเป็นอันตภาวะอันหมายถึงที่สิ้นสุดของสรรพสิ่งด้วยประการฉะนี้!
   
                   ในจำนวนอาทิตยเทพสิบสององค์ เราคือวิษณุมหาเทพผู้เป็นจอมแห่งอาทิตยเทพเหล่านั้น   
                   ในบรรดาแสงสว่าง เราคือดวงตะวันที่แผดจ้ากลบแสงสว่างทั้งมวล   
                   ในหมู่มรุตเทพอันเป็นเทพแห่งสายลม เราคือมรีจิเทพที่ทรงอานุภาพควบคุมเทพแห่งสายลมเหล่านั้น   
                   ในหมู่ดาริกาที่ทอแสงยามราตรีเราคือดวงจันทิมาที่ส่องสกาวเหนือเหล่าดาราทั้งหลาย

   
                   ในจำนวนคัมภีร์พระเวททั้งหมด เราคือสามเวทอันประเสริฐลึกซึ้ง   
                   ในเหล่าเทพที่ผู้คนกราบไหว้ เราคือวาสวอินทรเทพผู้ยิ่งใหญ่   
                   ในจำนวนอินทรีย์อันได้แก่องค์ประกอบของชีวิตทั้งหมด เราคือใจที่มีอำนาจบงการอินทรีย์อื่น

   
                   ในบรรดาสิ่งมีชีวิตครอง เราคือชีวะอันครองครองร่างของสิ่งเหล่านั้น   
                   ในหมู่รุทรเทพทั้งหลาย เราคือศังกรเทพผู้เป็นใหญ่เหนือมวลรุทรเทพนั้น   
                   ในหมู่ยักษ์และรากษสทั้งปวง เราคือกุเวรเทพผู้เป็นจอมแห่งยักษ์และรากษสทั้งหลาย
   
                   ในเหล่าวสุเทพทั้งหมด เราคืออัคนีเทพผู้ยิ่งใหญ่เหนือหมู่วสุเทพนั้น   
                   และในบรรดาขุนเขาน้อยใหญ่ทั้งหลาย เราคือสุเมรุบรรพตอันยิ่งใหญ่เหนือเหล่าสิงขรทั้งมวล   
                   อรชุน! แม้ในหมู่ปุโรหิตสอนธรรมทั้งหลาย เราก็คือพฤหัสบดีปุโรหิตผู้ฉลาดหลักแหลมเหนือหมู่ปุโรหิตทั้งหลาย   

                   ในบรรดานักรบทั้งปวง เราคือสกันทมาณพผู้กร้าวแกร่งในเชิงยุทธ์   
                   ในบรรดาลำน้ำน้อยใหญ่ เราคือสาครห้วงสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล   
                   ในหมู่มหาฤาษี
เราคือภฤคุจอมฤาษี
   
                   ในบรรดาถ้อยคำที่คนเปล่งออกมา เราคือถ้อยวจนะว่า “โอม” อันศักดิ์สิทธิ์   
                   ในบรรดายัญกรรมทั้งหลาย เราคือชปยัญอันได้แก่การบริกรรมเงียบที่มีอำนาจการให้ผลลึกล้ำเหนือยัญกรรมทั้งปวง   
                   ในหมู่พฤกษาน้อยใหญ่ เราคืออัศวัตถพฤกษ์
 
                   ในบรรดาเทพฤาษีทั้งหลาย เราคือนารทเทพฤาษี   
                   ในหมู่คนธรรพ์ เราคือจิตรรถผู้เป็นจอมแห่งคนธรรพ์ทั้งหลาย   
                   และในเหล่าสิทธาจารย์ เราก็คือกปิลมุนีผู้บริสุทธิ์สมบูรณ์ยิ่งกว่าหมู่สิทธาทั้งปวง   



มีต่อค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 01, 1970, 07:00:00 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ต่อค่ะ
                   อรชุน! ในบรรดาอัศวชาติ เราคืออุจไจศรวัส เทพอาชาที่เกิดจากน้ำอมฤต*
                  (อุจไจศรวัส เป้นม้าที่เกิดจากน้ำอมฤต
ในคราวที่เทวดาและอสูรร่วมกันกวนเกษียรสมุทรให้เป็นน้ำอมฤต ชาวฮินดูถือว่าม้าอุจไจศรวัสเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ -ผู้แปล)   
                   ในหมู่คชชาติ เราคือเอราวัณเทพพาหนะแห่งองค์อินทร์   
                   ในหมู่มนุษย์ เราคือนราธิปผู้เป็นจอมแห่งมนุษย์
   
                   ในบรรดาอาวุธ เราคือวัชราวุธอันได้แก่สายฟ้า   
                   ในบรรดาโคนม เราคือกามธุกโคนมมงคล   
                   ในบรรดาเทพผู้เป็นต้นกำเนิดแห่งโลกมนุษย์ เราคือเทพแห่งความรัก
   
                   ในบรรดางูทั้งหลาย เราคือพระยางูวาสุกี
                   ในบรรดานาคทั้งหลาย เราคืออนันตนาคราช   
                   ในหมู่สัตว์น้ำทั้งหลายเล่า เราก็คือวรุณเทพผู้เป็นเจ้าปกครองห้วงมหาสุมทร
   
                   ในหมู่เทพที่เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ เราคืออรรยมเทพ 
                   ในหมู่ผู้เป็นเจ้าปกครองสรรพสิ่ง เราคือยมเทพผู้เป็นเจ้าแห่งความตาย
   
                   ในหมู่ไทตยะ* เราคือประหลาทะ
                   (ไทตยะ คืออสูรตระกูลหนึ่ง
ตามตำนานเล่าว่าอสูรตระกูลนี้เกิดจากนางทิติ (คำว่า ไทตยมีรากคำมาจากทิติ, แปลว่าบุตรของนางทิติ) พวกไทตยะเป็นศัตรูของพระกฤษณะยกเว้นประหลาทะ อสูรกุมารคนเดียวที่มีใจภักดีในพระกฤษณะผิดไปจากพี่น้อง ชาวฮินดูจึงถือกันว่าประหลาทะเป็นฝ่ายธรรมะแม้จะเกิดและเติบโตมาในสกุลอสูรที่ถือเป็นฝ่ายอธรรมก็ตาม -ผู้แปล)
                   ในบรรดาผู้กำหนดความเที่ยงตรง เราคือกาลเทพอันได้แก่เวลาที่กำหนดความเป็นไปของสรรพสิ่ง
   
   ในบรรดาสัตว์ป่าทั้งหลาย เราคือราชสีห์ผู้เป็นเจ้าแห่งสัตว์ป่านั้น   
   ในบรรดาสกุณชาติทั้งหลาย เราคือพญาครุฑผู้เป็นจอมแห่งปักษีทั้งหลาย   
   ในบรรดาสิ่งชำระล้างสรรพสิ่งให้บริสุทธิ์ เราคือวายุเทพผู้มีมหิทธานุภาพในการชำระล้างทุกสิ่งอย่าง
   
   ในบรรดานักรบที่กล้าหาญทั้งหลาย เราคือรามะ* (หมายถึงพระรามในมหากาพย์รามายณะ -ผู้แปล) กษัตริย์นักรบผู้กร้าวแกร่งเกินนักรบทั้งหลาย   
   ในบรรดามัจฉชาติทั้งหลาย เราคือจระเข้   
   และในบรรดาน่านนทีทั้งมวล เราก็คือแม่คงคามหานทีอันศักดิ์สิทธิ์

                                
   
   อรชุน! สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งในจักรวาลล้วนก่อกำเนิดมาจากเรา เราเป็นผู้รักษาสรรพสิ่งให้ดำรงอยู่ และเราก็คือผู้ทำลายสรรพสิ่งให้พินาศเมื่อเงื่อนไขแห่งการสิ้นสุดของสิ่งสิ่งนั้นดำเนินมาถึง   
   ในบรรดาความรู้ทั้งปวง เราคือความรู้แจ้งในปรมาตมันอันสูงสุด* (หมายถึงอัธยาตมวิทยา The Science of Self -ผู้แปล)   
   ในแวดวงผู้ถกเถียงกันด้วยเหตุผล เราคือคำสรุปอันถูกต้องของการโต้เถียงนั้น
   
   ในบรรดาอักขระทั้งหลาย เราคือ “อ” อักษร*
   (“อ” อักษรถือเป็นอักขระ
ตัวแรกในภาษาสันสกฤต ถือกันวา “อ” อักษรนี้เป็นต้นกำเนิดของอักขระอื่นๆ และเป็นอักขระประกอบให้อักขระตัวอื่นสามารถอ่านออกเสียงได้ “อ” อักษรจึงประเสริฐกว่าอักขระทั้งมวล-ผู้แปล)
   
   ในบรรดาสมาสทั้งหลาย เราคือทวันทวสมาส*
   (สมาสคือการเชื่อมคำ
ตั้งแต่สองคำขึ้นไปเข้าด้วยกันตามอักขรวิธีสันสกฤตในบรรดาสมาสทั้งหลายนั้น ทวันทวสมาสเป็นสมาสที่มีอำนาจเชื่อมคำได้มากและกว้างขวางกว่าสมาสอื่น ท่านจึงถือว่าทวันทวสมาสเป็นสมาสที่สำคัญที่สุดกว่าสมาสทั้งหมด -ผู้แปล)   
   เราเป็นกาลเวลาที่ไม่รู้จักดับสูญหรือหมดสิ้น เป็นธาดาคือสภาพอันทรงอยู่ในสรรพสิ่ง   
   เราเป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรี เป็นคำพูด เป็นสติปัญญา เป็นความตั้งมั่นแห่งอารมณ์ และเป็นความอดกลั้นของสตรีเพศ
   
   ในบรรดาบทสวดทั้งหลายอันบรรจุอยู่ในสามเวท เราเป็นบทสวดชื่อพฤหัตสามอันไพเราะล้ำลึก*
   (สามเวท เป็นคัมภีร
ที่บรรจุบทสวดเอาไว้มากมาย ในบรรดาบทสวดทั้งหมดนั้นมีอยู่บทหนึ่งชื่อพฤหัตสาม ใช้สวดตอนเที่ยงคน บทสวดนี้ถือกันว่าสำคัญและมีท่วงทำนองไพเราะมาก -ผู้แปล)
   
   ในบรรดาฉันท์ทั้งหลาย เราคือคายตรีฉันท์*
   (คายตรีฉันท์ ถือกันว่า
เป็นที่มีลีลาและท่วงทำนองไพเราะน่าอัศจรรย์และเป็นฉันท์ที่มีกฎเกณฑ์ในการอ่านออกเสียงเคร่งครัดซับซ้อน นักบวชฮินดูที่ด้รับการฝึกฝนให้มีความช่ำชองในการสวดบทสวดที่ร้อยกรองด้วยคายตรีฉันท์ ถือกันว่าเป็นบุคคลพิเศษ การสวดบทสวดที่ร้อยกรองด้วยฉันท์ชนิดนี้ ในพิธีสวดจะมีการคัดเลือกพราหมณ์ผู้สวดกันอย่างพิถีพิถัน นอกจากนั้นชาวฮินดูยังเชื่อกันว่าคายตรีฉันท์นี้หากใครสามารถทำความเข้าใจถึงท่วงทำนองอย่างลึกซึ้งแล้ว คนผู้นั้นจะสามารถเข้าถึงความลี้ลับแห่งพรหม คายตรีฉันทจึงเป็นเสมือนประตูเปิดไปสู่พรหมภาวะ -ผู้แปล)
   
   ในบรรดาเดือนทั้งสิบสองเดือน เราคือเดือนมารคศีรษะ*
   (เดือนมารคศีรษะคือช่วงเวลา
ระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนธันวาคม คนอินเดียโบราณถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนแห่งความเบิกบาน เพราะเป็นช่วงเวลาที่พืชผลในไร่นาได้รับการเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นแล้วใหม่ๆ -ผู้แปล)
   
   ในบรรดาฤดูที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปร เราคือฤดูกุสุมากระ*
   (ฤดูกุสุมากระคือ
ฤดูดอกไม้บาน(กุสุมา-ดอกไม้, กร-กระทำ, กุสุมากร-ผู้กระทำดอกไม้ หมายถึงฤดูที่มีดอกไม้ผลิบาน) บางท่านแปลว่า ฤดูใบไม้ผลิหรือฤดู spring -ผู้แปล)
   
   ในบรรดาคนโกงทั้งหลาย เราคือนักเลงการพนัน*
   (การเล่นการพนันตาม
ความรู้สึกของคนอินเดียถือเป็นการต่อสู้กันด้วยเล่ห์เหลี่ยมและชั้นเชิงที่เป็นธรรมที่สุด เพราะคู่ต่อสู้ได้เผชิญหน้ากัน เป็นการใช้เล่ห์เหลี่ยมและกลโกงที่มีเกียรติเมื่อเทียบกับการใช้กลโกงประเภทอื่น -ผู้แปล)   
   เราเป็นเดชะ ของผู้มีเดชบารมี   
   เราเป็นชัยของผู้ชนะ
   
   เราเป็นความพยายามของผู้บากบั่น   
   เราเป็นความดีงามของคุณธรรม   
   ในวงศ์วฤษณี เราคือวาสุเทพ
   
   ในวงศ์ปาณฑุ เราคืออรชุน   
   ในบรรดามุนีทั้งหลาย เราคือวยาสมุนี   
   ในบรรดากวีทั้งหลาย เราคืออุศนามหากวี
   
   ในการพิพากษาความผิด เราคืออาญาที่ใช้ลงทัณฑ์ผู้กระทำความผิดนั้น
 
   ในการแสวงหาชัยชนะ เราคือกโลบายอันชาญฉลาดที่จะนำไปสู่ชัยชนะนั้น   
   ในบรรดาสิ่งลี้ลับปกปิด เราคือความเงียบอันเป็นความลับยิ่งกว่าความลับทั้งมวล
   
   เราคือความรอบรู้ของผู้มีปัญญา   
   เราคือพืชพันธุ์สำหรับสืบต่อชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง   
   อรชุน! หากปราศจากเราเสียแล้ว จะไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่ได้ภายในจักรวาลนี้
   
   ภาวะแห่งเราที่แสดงออกในรูปต่างๆ เหล่านี้ ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะเป็นภาวะที่เป็นทิพย์ และทั้งหมดที่เรากล่าวแก่ท่านนี้ก็เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับทิพยภาวะอันยิ่งใหญ่ทั้งหมดของเรา
   
   อรชุน! สิ่งใดก็ตามที่เป็นความงาม ความดี และความเข้มแข็งในโลก จงทราบเถิดว่าสิ่งนั้นทั้งหมดคือตัวแทนของเรา!





« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 01, 1970, 07:00:00 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปล
และเรียบเรียง

บทที่สิบเอ็ด
                     อรชุนกล่าวว่า     
                     ความลี้ลับแห่งอาตมันที่ท่านแสดงไขแก่เรานั้นช่วยให้เราเข้าใจชีวิตและจักรวาลมากทีเดียว     
                     กฤษณะ! ท่านได้ชี้ให้เราเข้าใจถึงเบื้องหลังการเกิดและการตายของมนุษย์และสัตว์ทั้งมวล คำชี้บอกนั้นแจ่มแจ้งแก่เราโดยไม่มีข้อกังขา     
                     นอกแต่นั้น ท่านยังเปิดเผยภาวะลี้ลับแห่งตัวท่านแก่เรา     
                     ณ บัดนี้เราประสงค์จะได้ชมรูปทิพย์ของท่านเป็นบุญตาสักครั้ง     
                     ได้โปรดเถิดกฤษณะ! โปรดแสดงรูปทิพย์ของท่านแก่เรา!
                   
                     กฤษณะตอบว่า     
                     ได้ซิอรชุน! อันรูปกายของเรานั้นประกอบด้วยทิพยภาวะวิจิตรซับซ้อนหลากหลายด้วยชนิดและสีพรรณ!     
                     นี่คือสิ่งมหัศจรรย์อันท่านไม่อาจพบเห็นมาก่อนตลอดชีวิต!     
                     กายทิพย์ของเรานี้ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อธรรมดา เพราะเหตุนั้นจะเนรมิตตาทิพย์แก่ท่านด้วยอำนาจแห่งโยคะอันศักดิ์สิทธิ์ของเรา     
                     กล่าวจบกฤษณะก็พลันเนรมิตกายทิพย์ของตนให้ปรากฏแก่สายตาของอรชุน
     
                     กายนั้นประกอบด้วยร่างหลายหลากสุดคณนา ประดับประดาด้วยทิพยอาภรณ์ ในมือชูศัสตรากวัดแกว่งสลอนเรียง     
                     บางร่างคล้องมาลัย บางร่างสวมผ้าทิพย์ บางร่างลูบไล้ด้วยคันธชาติของหอมอันเป็นทิพย์ และทุกๆ ร่างต่างเปล่งประกายเป็นรัศมีรุ่งโรจนระยับตา                   
                     ดวงพักตร์อันมิอาจคาดนับจำนวนแห่งกายทิพย์นั้นต่างหันไปรอบสารทิศ     
                     มาตรว่าจู่ๆ บนท้องนภาพลันปรากฏดวงตะวันพันดวงอุทัยขึ้นพร้อมกัน แสงสว่างจ้าจัดแห่งดวงทิวากรพันดวงรวมกันนั้นคงพอเปรียบเทียบได้กับรังสี บรรเจิดที่พวยพุ่งออกมาจากร่างขององค์มหาตมันนั้น
     
                     จักรวาลทั้งสิ้นต่างประมวลมาเป็นภาพหนึ่งเดียวรวมปรากฏในร่างทิพย์นั้น
     
                     อรชุนเห็นภาพอันวิจิตรพิสดารนั้นแล้ว ก็พลันเกิดอาการสั่นสะท้าน ขนลุกชูชันไปทั้งร่าง รีบก้มเศียรประนมกรกราบทูลองค์ปรมาตมันว่า     
                     เทวะ! ข้าได้เห็นแล้ว! ในร่างของพระองค์นั้น ปรากฏทั้งรูปแห่งหมู่เทพและรูปแห่งเหล่าภูต!                   
                     แม้แต่รูปแห่งพรหมผู้สถิตอยู่บนบัลลังก์ดอกบัวก็ปรากฏอยู่ในนั้น พร้อมๆ กับการปรากฏของรูปแห่งเหล่ามหาฤาษีและหมู่ทิพยนาคา
     
                     ข้าได้เห็นรูปอันแสดงถึงอนันตภาวะของพระองค์แล้ว! รูปนั้นช่างมหัศจรรย์และซับซ้อนพิสดารเหลือเกิน!     
                     ข้าได้เห็นร่างมีจำนวนมากมายสุดคะเนนับ และเพราะความหลากลานแห่งรูปนั้น ข้าจึงมองไม่เห็นเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งอนันตภาวะของพระองค์!     
                     ข้าได้เห็นรูปพระองค์ทรงมงกุฎ พระหัตถ์ทรงคฑาและกงจักรเปล่งประกายรัศมีโชติช่วงออกจากพระวรกาย รังสีนั้นพวยพุ่งไปตลอดสกลจักรวาลแผ่ซ่านประหนึ่งลำแสงแห่งดวงทิพากรอันส่อง สว่างแรงโลด!     
                     นี่คือสิ่งแสดงว่าพระองค์คือองค์อักษรพรหมผู้เที่ยงแท้ไม่รู้จักแปรเปลี่ยนสิ้นสลายไปตามกระแสแห่งวันเวลา!


                     

                     พระองค์คือองค์ปรมาตมันผู้สูงสุด! เป็นที่พึ่งของโลกและจักรวาล! และเป็นองค์ธรรมธาดาที่คอยปกป้องโลกและจักรวาลจากภัยพิบัติ!      
                     ข้าได้เห็นดวงเนตรของพระองค์อันได้แก่ดวงเดือนและดวงตะวันส่องสกาวเด่นอยู่ กลางห้วงเวลา ได้เห็นดวงพักตร์อันทอประกายวาวโรจน์ดุจแสงเพลิง ด้วยดวงเนตรและวงพักตร์นั้นพระองค์ได้ส่องโลกและจักรวาลให้รุ่งเรืองอยู่ ชั่วนิจนิรันดร์!
     
                     ระหว่างผืนปฐพีกับโลกสวรรค์ย่อมมีช่องว่างและอากาศแทรกคั่นอยู่ในระหว่าง
ช่องว่างนั้น อักษรภาวะแห่งพระรูปของพระองค์ได้ซึมซ่านอยู่ทั่วทุกอณูด้วยอานุภาพแห่งวิศวรูป*นั้นเมื่อฝูงสัตว์ตลอดไตรโลกได้ประจักษ์ พวกมันจึงพากันลนลานกลัวเกรงนัก

(*วิศวรูป Cosmic Form คือรูปทิพย์ของปรมาตมันที่ซึมซ่านอยู่ทุกอณูของจักรวาล เป็นรูปที่มองไม่เห็นด้วยตาธรรมดา สามัญชนตลอดจนเทพหรืออสูรจะมองเห็นรูปทิพย์นี้ได้ก็ต่อเมื่อมีตาทิพย์ที่ องค์ปรมาตมันเนรมิตให้สามารถมองทะลุผ่านโยคมายาเท่านั้น-ผู้แปล)
     
                     ในรูปทิพย์อันประมวลเอาจักรวาลทั้งหมดมาให้เห็นนั้น ข้าได้เห็นภาพของเทพบางพวกที่มีจิตหวั่นหวาดในอานุภาพของพระองค์ เทพเหล่านั้นต่างพากันประนมกรก้มเศียรลงกราบกรานพระองค์ด้วยความกลัวเกรงในพระบารมี ข้างฝ่ายเหล่าฤาษีชีไพรเล่าก็พากันแซ่ซ้องสดุดีพระองค์เสียงกระหึ่มกึกก้อง     
                     ปวงเทพทั้งหลาย อาทิ รุทรเทพ, อาทิตยเทพ, วสุเทพ, สาธยเทพ, วิศวเทพ, อัศวินเทพ, มรุตเทพ, และอุษมปเทพ ตลอดจนเหล่าคนธรรพ, ยักษ์, และอสูร ฯลฯ ต่างพากันผันหน้าจ้องตรงไปที่พระองค์ด้วยจิตพิศวงในมหานุภาพนั้น
     
                     ข้าเห็นรูปอันมหึมาของพระองค์แล้วอดหวาดหวั่นไม่ได้ รูปนั้นใหญ่โตมโหฬารมองเห็นรายเรียงซ้อนสลับกันไปจนสุดสายตาพระพักตร์, พระเนตร, พระกร, พระบาท, พระทนต์, และส่วนประกอบแห่งร่างส่วนอื่นๆ เล่าก็ล้วนแต่ใหญ่โตมหึมาน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก     
                     ข้าเห็นร่างของพระองค์สูงใหญ่เสียดฟ้า รุ่งเรืองด้วยสีสันหลากชนิดส่องสว่างวาววามช่วงโชติ     
                     พระโอษฐ์ของพระองค์เปิดกว้าง ฝ่ายดวงเนตรก็ลุกวาวประหนึ่งดวงเพลิง ข้าเห็นแล้วก็สุดจะหักห้ามความครั่นคร้ามในใจเอาไว้ได้!

                     พระโอษฐ์ของพระองค์ยามที่เผยอ้าออกช่างน่ากลัวเสียนี่กระไร พระทนต์ที่เรียงรายอยู่ในพระโอษฐ์นั้นมีขนาดอันมหึมา แต่ละซี่ต่างก็ฉายรัศมีเป็นแสงเพลิงปานไฟประลัยกัลป์!     
                     ได้โปรดเถิดท่านเทเวศ! ข้ากลัวเหลือเกิน! โปรดเป็นที่พึ่งของข้าด้วย!
     
                     อา! นั่น! บรรดาราชบุตรของธฤตราษฎรราชาทั้งหมดและเหล่ากษัตริย์นิกรทั้งหลายตลอดจนภีษมะ, อาจารย์โทรณะ, กรรณะ พร้อมแม่ทัพและไพร่พลของข้า พวกเขาทั้งหมดก็เข้าไปปรากฏรูปอยู่ในรูปทิพย์ของพระองค์ด้วย!     
                     พวกเขาเข้าไปอยู่ในระหว่างโอษฐ์ของพระองค์ บางพวกถูกทนต์อันมหึมานั้นขบศีรษะแตกละเอียดโลหิตไหลโทรมแดงฉาน!
     
                     ประหนึ่งสายนทีอันไหลเชี่ยวที่รวมไหลลงสู่มหาสมุทร บรรดาคนกล้าบนผืนดินนี้ก็ฉันนั้น ต่างมุ่งตรงเข้าสู่พระโอษฐ์อันลุกโพลงของพระองค์ด้วยอาการอันมิต่างจากสายน้ำที่เชี่ยวกรากนั้น     
                     แต่การรี่เข้าสู่พระโอษฐ์ของพระองค์ของพวกมันมิได้ต่างกันเลยกับอาการรี่ เข้าสู่กองเพลิงของฝูงแมลง! รี่เข้าเท่าใด ก็พินาศฉิบหายเท่านั้น!     
                     ด้วยพระโอษฐ์อันลุกโพลงประหนึ่งไฟล้างกัลป์นั้น พระองค์ย่อมอาจจะกลืนกินโลกทั้งโลกให้พินาศวอดวายได้ในชั่วพริบตา ข้าแต่องค์วิษณุ! รัศมีอันร้อนแรงของพระองค์จะแผดเผาโลกให้มอดไหม้เป็นเถ้าธุลีเมื่อใดก็ได้
     
                     โปรดประทานคำอธิบายแก่ข้าด้วยเถิดว่าอานุภาพอันน่าสะพรึงกลัวนี้เกิดมีได้ อย่างไร และพระองค์ประสงค์จะใช้อานุภาพอันยิ่งใหญ่นี้เพื่อสิ่งใด
     
                     กฤษณะตอบว่า     
                     อรชุน! เราเป็นกาลเวลา! เป็นผู้ทำลายโลก! เป็นผู้สร้างโลก! และเป็นผู้ปราบยุคเข็ญของโลก!



มีต่อค่ะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 01, 1970, 07:00:00 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


ต่อค่ะ
                     เราขอร้องท่าน จงจับอาวุธขึ้นปราบยุคเข็ญร่วมกับเราเถิด ประดาคนทั้งหลายที่เผชิญหน้ากันอยู่กลางสมรภูมิรบ ณ บัดนี้ล้วนแล้วแต่จะต้องตายด้วยกันทั้งสิ้น ท่านเองก็มิได้อยู่ในข่ายยกเว้น ก็เมื่อจะตายกันอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่ฉกฉวยโอกาสประกอบกรรมดีก่อนตายเล่า     
                     ลุกขึ้น! อรชุน! จงลุกขึ้นรับเกียรติอันยิ่งใหญ่นี้! ลุกขึ้นซิ! ลุกขึ้นจับอาวุธเข้าเข่นฆ่าศัตรู! เมื่อปราบพวกมันลงได้แล้ว ราชไอศูรย์ในแผ่นดินจักไปไหนเสียเล่าหากไม่ตกแก่ท่าน!
     
                     ฝ่ายข้าศึกไม่ว่าจะเป็นอาจารย์โทรณะ, ภีษมะ, ชยัทรถะ, กรณะ, ตลอดจนแม่ทัพและไพร่พลทั้งหมดถูกเราสะกดเอาไว้ด้วยฤทธิ์แล้ว!* (ความตอนนี้มีปัญหาในการตีความมาก ในฉบับภาษาอังกฤษก็แปลไม่ค่อยจะตรงกัน กระทั่งฉบับแปลภาษาไทยเท่าที่มีก็แปลกันไปคนละทิศละทาง รูปความในพากย์สันสกฤตินั้นแปลตรงตัวได้ว่า ข้าศึกทั้งหมดที่เป็นฝ่ายตรงข้ามถูกกฤษณะฆ่าตายหมดแล้ว ความข้อนี้อาจตีความได้ว่าเพราะกฤษณะคือองค์ปรมาตมันที่ทำลายทุกสิ่ง ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นแม้ว่าคนเหล่านั้นจะดูยังมีชีวิตอยู่

แต่โดยสัจจภาวะคนเหล่านั้นชื่อว่าตายแล้วในความหมายของสิ่งที่อยู่ภายใต้กฎ ของชีวิต
ดังที่กฤษณะยืนยันให้อรชุนฟังตอนต้น เหตุนั้นเมื่ออรชุนจับอาวุธเข้าเข่นฆ่าคนพวกนั้นอีก บาปจึงไม่มีแก่อรชุนเพราะเป็นการฆ่าคนที่ตายแล้ว ที่ผมแปลเอาความให้อ่อนลงมาว่าข้าศึกถูกกฤษณะสะกดเอาไว้ด้วยฤทธิ์ก็เพื่อ ให้สอดคล้องกับความท่อนต่อมาที่กฤษณะย้ำแก่อรชุนว่าอรชุนจะต้องชนะ* (ท่านราธกฤษณันก็แปลให้อ่อนลงมาว่าฝ่ายข้าศึกถูกกำหนดให้พ่ายแพ้) เพราะถ้าแปลตามนัยต้นว่าข้าศึกถูกฆ่าแล้ว ความจริงอันนี้ก็ไม่อาจนำำมายืนยันได้ว่าอรชุนจะต้องชนะ เพราะอรชุนก็ตกอยู่ในกฎอันเดียวกับฝ่ายข้าศึก
คือเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งเป็น “สิ่งที่ตายแล้ว”เหมือนกัน -ผู้แปล)
     
                     เพราะฉะนั้นจงเข้ารบเถิดอรชุน! ไม่ต้องกลัว! ท่านจะไม่มีวันแพ้มีแต่ทางชนะเท่านั้น!

                         เมื่อได้ฟังถ้อยคำของกฤษณะดังนั้น อรชุนก็ลนลานก้มเศียรประนมกรแสดงอัญชลีแก่กฤษณะด้วยกายอันสั่นสะท้าน พลางละล่ำละลักกล่าวแก่กฤษณะว่า         
                         ข้าแต่องค์หฤษีเกศ! ช่างมหัศจรรย์จริงหนอ! มหัศจรรย์เหลือเกินที่บรรดาฝูงชนบนผืนแผ่นดินต่างพากันชื่นชมในอิทธิบารมี ของพระองค์         
                         พระองค์คือที่รวมแห่งศรัทธาสำหนับคนดีเป็นต้นว่าเหล่านักพรต ส่วนคนชั่วดังเช่นเหล่ารากษสผีร้ายเป็นต้นนั้นเล่า พระองค์ก็คือที่ต้องแห่งความเกรงกลัวของพวกมัน
         
                         ข้าแต่องค์มหาตมัน! ก็ทำไมคนทั้งหลายจะไม่เคารพและกลัวเกรงพระองค์เล่า ในเมื่อพระองค์คือองค์ปรเมศวรมหาพรหมผู้สูงสุดที่ได้สร้างโลกนี้ขึ้นมา พระองค์คืออักษรภาวะอันได้แก่สภาพที่ไม่รู้จักสิ้นสลายไปตามกาลเวลา เป็นทั้งสัตภาวะและอสัตภาวะ อันหมายความถึงสภาพอันดำรงอยู่โดยความเป็นรูปและสภาพอันดำรงอยู่โดยความเป็น อรูป
         
                         พระองค์ คือเทพองค์แรกของโลก เป็นปุราณบุรุษอันได้แก่ปฐมบุคคลที่เกิดขึ้นในโลกและเป็นที่พึ่งพิงอันประเสริฐสุด ในบรรดาที่พึ่งของมนุษย์ทั้งหลายบนผืนแผ่นดินนี้         
                         พระองค์คือผู้รู้แจ้งทุกสิ่งอย่าง ทั้งยังเป็นผู้ที่มนุษย์ควรเข้าหาเพื่อให้รู้แจ้งถึงสภาวะอันสูงส่งของพระองค์         
                         พระองค์คือจุดหมายอันสูงสุดในชีวิตที่มนุษย์ดั้นด้นไปให้ถึง         
                         พระองค์คือวายุเทพผู้เป็นเจ้าแห่งลม เป็นยมเทพผู้เป็นเจ้าแห่งความตาย เป็นอัคนีเทพผู้เป็นเจ้าแห่งไฟ เป็นวรุณเทพผู้เป็นเจ้าแห่งทะเล เป็นศศางกเทพผู้เป็นเทพประจำดวงจันทร์และเป็นประชาบดีเทพผู้อยู่เหนือประชา นิกรของโลก         
                         ข้าขอนอบน้อมแด่พระองค์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

         
                         เมื่อก่อนนั้นข้าเคยเรียกพระองค์ว่าสหายบ้าง เรียกออกชื่อเฉยๆ บ้าง ก็ด้วยถือวิสาสะว่าเป็นเพื่อนโดยไม่ได้ล่วงรู้ถึงสภาวะที่แท้จริงของพระองค์ เลยสักนิด         
                         ความประพฤติล่วงเกินอันใดที่ข้าเคยปฏิบัติต่อพระองค์ ไม่ว่าจะในที่ลับตาคนอื่นหรืออยู่ต่อหน้าคนทั้งหลาย ข้าขอขมาผิด โปรดยกโทษให้แก่อาการล่วงเกินเพราะความเขลาของข้านั้นด้วย         
                         ข้าได้มีโอกาสเห็นสิ่งมหัศจรรย์อันไม่เคยประสบมาก่อนในชีวิต เมื่อได้เห็นแล้วความรู้สึกของข้าก็ทั้งตื่นเต้นและเกรงกลัว
         
                         เทวะ! ณ บัดนี้ข้าปรารถนาเหลือเกินที่จะได้เห็นรูปของพระองค์ในลักษณาการอื่นๆ อีก โปรดเนรมิตรูปทรงมงกุฎ ในหัตถ์ทรงคฑาและจักรประกอบด้วยพระกรทั้งสี่ให้ข้าได้ยลบ้างเถิด
         
                         กฤษณะตอบว่า         
                         อรชุน! เรายินดีจะแสดงรูปทิพย์ของเราแก่ท่านด้วยอำนาจแห่งเทวฤทธิ์ เราจะให้ท่านทัศนารูปอันโชติช่วงด้วยไฟอันเป็นวิศวรูปซึมซ่านอยู่ทั้งทุกอณูของจักรวาล เป็นรูปที่ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด อนึ่งเล่ารูปนี้นอกจากท่านแล้วไม่มีใครเลยในโลกนี้เคยได้พบเห็นมาก่อน         
                         อรชุน! วิศวรูปอันลี้ลับของเรานี้มิอาจมองเห็นได้ด้วยการศึกษาพระเวท การประกอบยัญกรรมก็ไม่อาจช่วยให้มองเห็น การให้ทานก็ช่วยไม่ได้ กระทั้งการบูชาเซ่นสรวงหรือการบำเพ็ญตบะก็ไม่อาจช่วยให้บุคคลผู้ปฏิบัติเช่นนั้น มองเห็นรหัสยรูปของเรานั้น

         
                         ผู้จะมองเห็นได้มีเพียงบุคคลพิเศษที่เราเจาะจงให้เห็นอย่างเช่นท่านนี้เท่านั้น         
                         และเมื่อเห็นรูปทิพย์ของเราแล้ว จงอย่ากลัว! อย่าหลงใหล! จงสลัดความกลัวและความหลงใหลออกจากจิตแล้วเพ่งมองวิศวรูปของเราด้วยใจอันเบิกบานแช่มชื่น         
                         กล่าวจบกฤษณะก็พลันแสดงรูปกายของตนให้ปรากฎแก่สายตาของอรชุน                         
                         รูปนั้นสง่างามและอ่อนโยน เป็นรูปที่กฤษณะเนรมิตขึ้นเพื่อขจัดความหวั่นกลัวของอรชุน ที่ได้พบเห็นรูปอันน่ากลัวมาก่อน
         
                         อรชุนเห็นรูปนั้นแล้วก็กล่าวขึ้นว่า         
                         ข้าแต่องค์กฤษณะ! ข้าเห็นแล้ว! รูปที่พระองค์เนรมิตเป็นมานุษยรูปนั้นช่างงดงามเปี่ยมด้วยแววแห่งเมตตาเหลือเกิน!         
                         ข้าสามารถทำใจให้เป็นปกติได้แล้ว! เวลานี้ใจข้าเยือกเย็นลงแล้ว!         
                         กฤษณะตอบว่า         
                         อรชุน! รูปที่ท่านกำลังชมอยู่นี้ยากนักที่ใครจะมีโอกาสได้เห็นแม้กระทั่งเหล่าเทวาก็ปรารถนาจะได้ชมเป็นบุญตา
         
                         ทิพยรูปแห่งเรานี้ไม่อาจเห็นได้โดยอาศัยการร่ำเรียนหรือสาธยายพระเวท ไม่อาจเห็นได้ด้วยการบำเพ็ญตบธรรมและให้ทานตลอดจนประกอบยัญพิธี
         
                         ผู้ภักดีในเรามั่นคงไม่คลอนแคนเท่านั้นจึงจะมีโอกาสได้เห็นรหัสยรูปของเรา         
                         อรชุน! ใครก็ตามทำกรรมเพื่อเข้าถึงเรา ยึดถือเอาเราเป็นเป้าหมายแห่งการกระทำกรรม ภักดีในเราโดยปราศจากข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น ผู้นั้นย่อมอาจที่จะเข้าถึงเราได้โดยไม่ยากเย็นเลย


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 01, 1970, 07:00:00 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปล
และเรียบเรียง

บทที่สิบสอง
                   อรชุนกล่าวว่า   
                   บุคคลสองประเภทต่อไปนี้คือ บุคคลผู้ปฏิบัติโยคธรรมเพื่อบูชาพระองค์อยู่เป็นนิจกาลหนึ่ง, บุคคลผู้โน้มเหนี่ยวเอาพระองค์เป็นที่ยึดพิงทางใจแต่มิได้ปฏิบัติโยคะเพื่อ บูชาพระองค์หนึ่ง, บุคคลสองจำพวกนี้ฝ่ายใดชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อหลักโยคธรรมมากกว่ากัน
   
                   กฤษณะตอบว่า   
                   ผู้มีใจภักดีในเราและปฏิบัติโยคะอันได้แก่การชำระจิตให้บริสุทธิ์เป็นนิจ เพื่อเข้าถึงเรานั่นแลชื่อว่าผู้ปฏิบัติตรงต่อหลักโยคธรรม   
                   กระนั้นก็ดี บุคคลผู้ยึดเหนี่ยวเอาเราเป็นที่พึ่งพิงทางใจรู้จักควบคุมอารมณ์ความรู้สึก เวลากระทบกับเหตุการณ์ต่างๆ มีใจเสมอในสรรพสิ่ง ยินดีในการบำเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น คนเช่นนี้ก็ชื่อว่าอาจเข้าถึงเราด้วยเช่นกัน
   
                   เหตุที่ผู้ยึดเหนี่ยวเอาเราเป็นที่พึ่งเพียงอย่างเดียว แต่มิได้ปฏิบัติโยคธรรมพร้อมกันไปด้วยชื่อว่าปฏิบัติไม่ค่อยตรงต่อหลักแห่งโยคะ ก็เพราะคนเช่นนั้นมักสำคัญผิดในภาวะแห่งเราซึ่งเป็นภาวะที่ปราศจากตัวตน ว่าเป็นตัวเป็นตน การจะเข้าถึงเราผู้เป็นอรูปสภาวะย่อมจะเป็นไปได้ยากสำหรับคนผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเราคือสิ่งที่เป็นตัวเป็นตน
   
                   แต่สำหรับบุคคลผู้วางใจในเรา กระทำกรรมอันใดก็อุทิศกรรมนั้นเพื่อบูชาเรา เพียรชำระจิตใจให้สะอาดอยู่เสมอ คนเช่นนั้นย่อมเข้าถึงเราได้ง่าย   
                   ผู้ใดภักดีในเรา เราย่อมช่วยฉุดผู้นั้นขึ้นจากห้วงทะเลแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้เสมอ   
                   เพราะเหตุนี้แลอรชุน ท่านจงมั่นใจในเราเถิด จงมอบความภักดีของท่านให้แก่เราแล้วท่านจะข้ามพ้นจากห้วงสังสารวัฏฏ์และชีวาตมันของท่านก็จักผสานเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับเรา
   
                   แต่ถ้าว่าการตั้งจิตให้มั่นในเราอยู่ทุกเวลาจะเป็นความลำบากแก่ท่านไซร้ ท่านจะใช้วิธีฝึกฝนจิตให้สะอาดจากสิ่งเศร้าหมองแทนการรำลึกถึงเราก็ได้ นั่นก็เป็นวิธีทางเข้าสู่เราเช่นกัน   
                   หรือหากว่าการเพียรชำระจิตอย่างนั้นเป็นสิ่งที่เกินเลยวิสัยที่ท่านจะกระทำได้ ก็ขอให้กระทำกรรมดีอุทิศเป็นสักการะแก่เราแทน กรรมดีที่ท่านกระทำนั้นจักส่งผลให้ท่านระลึกถึงเราให้มั่น แล้วแปรเอาพลังรำลึกนั้นเป็นเครื่องสกัดกรรมชั่วทั้งมวลออกไปจากจิตใจ
   
                   ปัญญา ย่อมประเสริฐกว่าสมาธิ ความรู้แจ้งประเสริฐกว่าปัญญา แต่ความรู้แจ้งนั้นก็ยังไม่ประเสริฐเท่าการสละผลของกรรม ผู้สละผลของกรรมเสียได้ย่อมประสบสุขชั่วนิรันดร์   
                   บุคคลใดปราศจากความมุ่งร้ายต่อผู้อื่น จิตใจประกอบด้วยไมตรีและความการุณย์ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนและสิ่งของของตน สามารถวางใจให้เป็นกลางได้ทั้งในคราวที่ประสบกับสุขและทุกข์ เป็นผู้พร้อมที่จะให้อภัยต่อผู้อื่น มีความสันโดษ ตั้งมั่นอยู่เสมอในสมาธิ อารมณ์เยือกเย็น ควบคุมความรู้สึกได้และมีใจภักดีในเรา บุคคลนั้นย่อมเป็นที่รักของเรา
   
                   บุคคลใดไม่ก่อความวุ่นวายให้แก่โลก ทั้งโลกเองก็ไม่อาจทำให้เขาวุ่นวายได้ เป็นผู้ไม่ยินดียินร้ายต่อความสมหวังและผิดหวังในชีวิต อยู่ในโลกอย่างปราศจากความหวั่นกลัว บุคคลเช่นนี้ก็เป็นที่รักของเราเช่นกัน   
                   บุคคลใดกระทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน มีกายวาจาและใจบริสุทธิ์สะอาด อดทนต่อความยากลำบากในชีวิต ผู้นั้นก็เป็นที่รักของเราเหมือนกัน   
                   บุคคลใดวางใจให้แสมอทั้งในมิตรและศัตรู ทั้งในเสียงสรรเสริญและคำด่าว่า ทั้งในร้อนและหนาว ทั้งในสุขและทุกข์ได้เท่าเทียมกัน ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งด้วยความพอใจหรือขัดใจ บุคคลนั้นก็เป็นที่โปรดปรานของเราเช่นกัน
   
                   และสำหรับบุคคลผู้บำเพ็ญอมฤตธรรมเป็นการบูชาเรา บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นยอดแห่งผู้ที่เราโปรดปราน!



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 01, 1970, 07:00:00 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปล
และเรียบเรียง

บทที่สิบสาม
                      อรชุนกล่าวว่า       
                      ข้าแต่องค์เกศวะ! ข้าประสงค์จะทราบความหมายของคำต่อไปนี้คือ ประกฤติหนึ่ง, ปุรุษะหนึ่ง, เกษตระหนึ่ง, เกษตรชญะหนึ่ง, ชญาหนึ่ง, และเชญยะอีกหนึ่ง, ขอพระองค์โปรดอธิบายความหมายแก่ข้าด้วย       
                      กฤษณะตอบว่า       
                      อรชุน! ร่างกายคือเกษตระ* ส่วนผู้รู้เกษตรภาวะแห่งร่างกายนี้ชื่อว่าเกษตรชญะ* (คำ ว่าเกษตระนี้แปลตามตัวว่า ที่นา field โดยความหมายได้แก่สภาวะอันเป็นเครื่องรองรับผลของกรรมเสมือนหนึ่งที่นาเป็น ที่รองรับเมล็ดพืชให้เจริญเติบโต ที่ว่าร่างกายคือเกษตระก็คือร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งรองรับผลของกรรม หากไม่มีร่างกายแล้วกรรมก็ไม่มี การให้ผลของกรรมก็ไม่มี จากความเชื่ออันนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าศาสนาฮินดูก็ยอมรับความสำคัญของวัตถุธรรม Matter ไม่ใช่ศาสนาที่ปฏิเสธความมีอยู่ของวัตถุธรรมแล้วยอมรับเพียงจิตธรรม Spirit อย่างที่เข้าใจกัน -ผู้แปล)
       
                      อรชุน! เราคือเกษตรชญะผู้หยั่งรู้ถึงความลี้ลับแห่งเกษตรภาวะอย่างทะลุปรุโปร่ง และการรู้แจ้งถึงเกษตรภาวะกับเกษตรชญะนี้แลคือ ชญาน       
                      จงฟังอรชุน! ณ บัดนี้เราจะอธิบายความหมายของสิ่งที่เรียกว่าเกษตระนี้ให้ท่านฟังว่ามันมีธรรมชาติเป็นเช่นไร มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและมีต้นกำเนิดมาจากไหน และพร้อมกันนี้เราจะสาธยายถึงเกษตรชญะว่าคือใครและมีอานุภาพยิ่งใหญ่เพียงใด
       
                      เรื่องราวของเกษตระและเกษตรชญะนี้บรรดาฤาษีทั้งหลายได้ร้อยกรองเป็นเพลงขับ เอาไว้เป็นมากมายและมีนัยอันแตกต่างกัน กระทั่งในบทสวดก็มีกล่าวเอาไว้เป็นอเนกปริยาย หรือในพรหมสูตรท่านก็วินิจฉัยเอาไว้อย่างมีเหตุมีผลเป็นที่พิสดารยิ่ง       
                      มหาภูตกล่าวคือส่วนประกอบของร่างกายที่เป็นวัตถุธรรมทั้งห้าอันได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศหนึ่ง       
                      อหังการอันได้แก่ความรู้สึกว่าเป็นตัวของตัวหรือความรู้สึกว่าตัวตนนั้นมีอยู่หนึ่ง       
                      พุทธิอันได้แก่ความรู้แจ้งหนึ่ง
                      อัพยักตะอันได้แก่นามธรรมที่ไม่ปรากฏรูปหนึ่ง
       
                      อินทรีย์ กล่าวคือส่วนประกอบของร่างกายที่เป็นตัวรับความรู้สึกและเป็นตัวความรู้สึก เองทั้งสิบซึ่งแบ่งเป็นญาเณนทรีย์ห้าและกรรเมนทรีย์อีกห้านี้หนึ่ง* (ญาเณนทรีย์คือส่วนของประสาทสัมผัสที่ทำหน้าที่รับรู้ความรู้สึกมีอยู่ห้าประการคือ ประสาทตา, ประสาทหู, ประสาทจมูก, ประสาทลิ้น, และประสาทกาย ส่วนกรรเมนทรีย์ได้แก่ส่วนของประสาทสัมผัสที่ทำหน้าที่ใช้งานหรือควบคุมการทำงานของอวัยวะในร่างกายมีอยู่ห้าประการเช่นกันคือ ประสาทควบคุมการทำงานของปาก ประสาทควบคุมการทำงานของมือ, ประสาทควบคุมการทำงานของเท้า, ประสาทควบคุมการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ และประสาทควบคุมการทำงานของท้อง -ผู้แปล)
       
                      อินทรีย์โคจร กล่าวคืออารมณ์อันเข้ามากระทบประสาทสัมผัสทั้งห้าได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ หนึ่ง       
                      อิจฉา กล่าวคือความปรารถนาในสิ่งอันพึงปรารถนาหนึ่ง       
                      เทวษะ อันได้แก่ความเคียดแค้นเมื่อไม่ได้สมปรารถนาหนึ่ง       
                      สุขและทุกข์หนึ่ง
       
                      สังฆาตะ กล่าวคือระบบความสัมพันธ์กันแห่งอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายหนึ่ง       
                      เจตนา กล่าวคือความจงใจเวลากระทำกรรมหนึ่ง       
                      ธฤติ อันได้แก่ความตั้งมั่นแห่จิตใจหนึ่ง
       
                      ทั้งหมดที่กล่าวมาโดยย่อนี้รวมแล้วเรียกว่า "เกษตระ” * (ความตอนนี้เป็นการแสดงรายละเอียดของร่างกายมนุษย์โดยท่านจำแนกให้เห็นย่อๆ ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง องค์ประกอบของชีวิตตามที่แสดงมานี้อาจจะเข้าใจได้ยากสักหน่อยสำหรับคนรุ่นปัจจุบันที่ไม่ชินกับการจัดระบบและองค์ประกอบของชีวิตตามคัมภีร์ศาสนา การจัดระบบชีวิตกันในลักษณะนี้ดูจะเป็นความเชื่อทั่วไปของคนอินเดียโบราณ ไม่เฉพาะแต่คนที่นับถือศาสนาฮินดูเท่านั้น แม้พุทธศาสนาก็เชื่อคล้ายๆ กันนี้ ดังที่ท่านจำแนกร่างกายส่วนที่เป็นวัตถุธรรมออกเป็นดิน(องค์ประกอบของร่างกายส่วนที่ดำรงสถานะของแข็งเช่นกล้ามเนื้อ กระดูกและเส้นเอ็นเป็นต้น), น้ำ(ส่วนที่ดำรงสถานะของเหลวเช่นเลือด เหงื่อ หนอง น้ำเหลือง ตลอดจนน้ำที่ประกอบอยู่ในเซลล์เป็นต้น), ไฟ(ส่วนที่เป็นพลังงานหรือความอบอุ่นในร่างกาย), ลม(ส่วนที่เป็นอากาศซึ่งเคลื่อนที่ไปมาระหว่างช่องว่างในร่างกายและอวัยวะ ต่างๆ), และอากาศ(ส่วนที่เป็นอากาศอันหยุดนิ่งอยู่กับที่โดยแทรกตัวอยู่ในช่องว่าง ระหว่างอวัยวะและในตัวอวัยวะนั้น) การจัดระบบอวัยวะและร่างกายแบบนี้จะเห็นได้ว่าใกล้เคียงกันกับ ที่จัดกันในความของ ภควัทคีตา ตอนนี้มาก -ผู้แปล)
       
                      เกษตระ กล่าวคือร่างกายนี้ย่อมแปรเปลี่ยนเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา       
                      อมานิตวะ กล่าวคือความไม่ถือตัวหนึ่ง       
                      อทัมภิตวะ กล่าวคือความไม่ดื้อรั้นเจ้าทิฐิหนึ่ง       
                      อหิงสา กล่าวคือความไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นหนึ่ง
       
                      กษานติ กล่าวคือความอดทนต่อความยากลำบากหนึ่ง
                      อารชวะ กล่าวคือความซื่อตรงหนึ่ง
     
                      อาจารโยปาสนะ กล่าวคือความเคารพยำเกรงในครูอาจารย์หนึ่ง       
                      เศาจะ กล่าวคือความบริสุทธิ์แห่งกายวาจาและใจหนึ่ง       
                      สไถรยะ กล่าวคือความมั่นคงเยือกเย็นหนึ่ง       
                      อาตมวินิครหะ กล่าวคือการควบคุมตนเองได้หนึ่ง       
                      ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “ชญาน
       
                      ความไม่หลงใหลอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกายหนึ่ง       
                      ความไม่ยึดมั่นตัวตนหนึ่ง       
                      การมองเห็นทุกข์และโทษของการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตายหนึ่ง       
                      ความไม่มัวเมาในอารมณ์อันน่าพอใจหนึ่ง
       
                      ความไม่ยึดมั่นในบุตรภรรยาและเคหสถานหนึ่ง       
                      ความเป็นผู้มีใจเป็นกลางทั้งในสิ่งที่ก่อให้เกิดความพอใจและในสิ่งอันก่อให้เกิดความเคืองใจหนึ่ง       
                      ความภักดีในเราอย่างมั่นคงด้วยอำนาจแห่งโยคะอันแน่วแน่หนึ่ง       
                      การหลีกเร้นจากความวุ่นวายไปสู่วิเวกสถานหนึ่ง
       
                      ความไม่ยินดีในการคลุกคลีกับฝูงชนที่สมาคมกันโดยเปล่าประโยชน์หนึ่ง       
                      การตั้งมั่นอยู่เป็นนิตย์ในอัธยาตมชญาณ กล่าวคือ ความรู้แจ้งจนถึงที่สุดของความจริงหนึ่ง       
                      การประจักแจ้งถึงตัตตวชญานารถะ กล่าวคือการมองทะลุไปจนถึงที่สุดของความจริงหนึ่ง
                      ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่เป็นคำอธิบายความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “ชญานอันหมายถึงความรู้แจ้งทั้งสิ้น       
                      สิ่งใดตรงข้ามจากที่เรากล่าวมาทั้งหมดนี้ สิ่งนั้นย่อมเป็น “อัชญาน”กล่าวคือ ความมืดบอดงมงายมองไม่เห็นสัตยธรรม




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 01, 1970, 07:00:00 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


ต่อค่ะ
                 อรชุน! ต่อไปนี้เราจะกล่าวถึง “เชญยะ”อันได้แก่สิ่งที่บุคคลพึงรู้ เชญยะกล่าวคือสิ่งควรรู้นี้เมื่อใครได้รู้แล้ว เขาผู้นั้นย่อมประสบชีวิตอมตะ

                 อรชุน! สิ่งที่บุคคลพึงรู้สูงสุดในโลกนี้คือพรหม!
                 พรหมนี้เป็นสภาวะอันสูงสุด! ไม่มีเบื้องต้น! ไม่เป็นทั้งสิ่งที่มีอยู่และสิ่งที่ไม่มีอยู่* (คำ ว่า “ไม่มีเบื้องต้น”Beginingless หมายถึงเป็นสภาพที่ไม่มีใครสร้างขึ้นมา หากแต่เกิดมีเอง, คำว่า “สิ่งที่มีอยู่” Existent ภาษาสันสกฤต ท่านใช้ว่า “สัต”หมายถึงสิ่งที่มีตัวตน สามารถสัมผัสพิสูจน์ความมีอยู่ได้ด้วยประสาทสัมผัส. ส่วน "สิ่งที่ไม่มีอยู่" Non-Existent ภาษาสันสกฤตเรียกว่า "อสัต" หมายถึงสิ่งที่ไม่มีตัวตน สัมผัสและพิสูจน์ไม่ได้ บางครั้งคำว่า “สัต”กับ “อสัต” ท่านก็ใช้คำว่า “ภาวะ กับ “อภาวะ” แทน ทั้งสัตและอสัตเป็นคำนิยามเรียกสิ่งที่อยู่ในวิสัยการรับรู้ของสามัญมนุษย์ พรหมเป็นโลกุตตรภาวะที่อยู่เหนือการนิยามด้วยตรรกะอันนี้ พรหมจึงไม่เป็นทั้งสัตและอสัต -ผู้แปล)
 
                 พรหม เป็นประดุจพัสตราที่หุ้มห่อโลกทั้งโลกเอาไว้! ไม่มีสถานที่แห่งใดในโลกที่หัตถ์ บาท ดวงเนตร เศียร พักตร์ และกรรณของพรหมจะไม่แผ่ไปถึง!
                 พรหมหยั่งรู้ถึงสรรพารมณ์ เช่น ความโลภ ความโกรธ และความหลง เป็นต้น แต่พรหมปราศจากอารมณ์เหล่านั้น
                 พรหมไม่มีความยึดมั่นในสรรพสิ่ง
                 พรหมคือผู้ค้ำจุนสิ่งดีงามทั้งปวง

                 พรหมเป็นสภาวะที่อยู่เหนือความดีและความชั่ว แต่พรหมก็ยังต้องเกลือกกลั้วอยู่กับสิ่งเหล่านี้เพื่อปกป้องโลก
                 พรหมอยู่ทั้งภายนอกและภายในสรรพสิ่ง
                 พรหมเป็นทั้งสิ่งที่เคลื่อนไหวและและหยุดนิ่ง และเป็นสิ่งที่ใครๆ ไม่อาจหยั่งรู้ด้วยการขบคิดหรือใช้เหตุผล
                 พรหมเป็นทั้งสิ่งที่อยู่ไกลห่างและใกล้ชิดโลก
 
                 พรหมเป็นสภาวะที่ไม่อาจแยกแยะออกมาจากสรรพสิ่ง แต่บางครั้งพรหมก็ปรากฏเสมือนสิ่งที่อาจจำแนกออกมาได้
                 พรหมคือผู้ดูแลความเป็นไปของสรรพสิ่ง
                 พรหมคือผู้ทำลายสรรพสิ่ง
                 พรหมคือผู้สร้างสรรพสิ่งขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่เลี้ยงดูและทำลายมันแล้ว
 
                 พรหมคือแสงสว่างเหนือแสงสว่างทั้งมวล และเป็นสภาวะที่ไม่มีความมืดใดบังอาจเข้ามากร้ำกรายได้
                 พรหมดังที่เราแสดงมานี้คือ “เชญยะ อันได้แก่สิ่งที่บุคคลพึงรู้แจ้งในชีวิต
                 การรู้แจ้งสภาวะแห่งพรหมเรียกว่า “ชญาน”
                 อรชุน! คำว่าเกษตระ, ชญาน, และเชญยะ เราแสดงมาโดยย่อด้วยประการฉะนี้ ผู้ใดภักดีต่อเรา ผู้นั้นย่อมหยั่งทราบถึงความหมายของสิ่งเหล่านี้ และด้วยการประจักษ์แจ้งนั้น เขาย่อมบรรลุถึงพรหมภาวะแห่งเรา
 
                 ส่วนประกฤติกับปุรุษะนั้น จงทราบเอาไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า เป็นสภาวะที่เกิดมีขึ้นเอง ไม่มีใครสร้างขึ้นมา
                 ประกฤติคือต้นกำเนิดของวิการและคุณ* (“วิการ ”transfotmation ได้แก่การแปรเปลี่ยนไม่หยุดนิ่งของสรรพสิ่งในจักรวาล ส่วน “คุณ modes of matter ได้แก่สภาวะที่จำแนกให้เห็นความแตกต่างของสรรพสิ่งนั้น ตัวอย่างของวิการก็เช่นการที่สัตว์และพืชมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เริ่มจากเกิดขึ้นมาแล้วก็เติบโต จากนั้นก็ร่วงโรยจนสิ้นสลายไปในที่สุด ส่วนตัวอย่างของคุณก็เช่นการที่พืชและสัตว์นั้นมีชาติพันธุ์ที่ต่างกัน ต้นมะม่วงกับต้นขนุนย่อมมีลักษณะต่างกัน สภาพที่เป็นความต่างกันนั้นคือคุณ นอกจากนั้นวิการและคุณนี้ ยังครอบคลุมไปถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิตด้วยการที่ก้อนหินเปื่อยละลายกลายเป็นดิน ก็คือตัวอย่างของวิการ หรือการที่ดินกับหินมีลักษณะเฉพาะ ตัวบ่งบอกความเป็นหินและดิน นั่นก็คือคุณ ทั้งคุณและวิการนี้มีประกฤติเป็นตัวหกระทำให้เกิดขึ้น ประกฤติ (ซึ่งก็คือภาคหนึ่งของปรมาตมันนั่นเอง) จึงเป็นสิ่งอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเหล่านี้ -ผู้แปล)
 
                 ประกฤติคือผู้สร้างร่างกาย ส่วนปุรุษะเป็นผู้สร้างความรู้สึก
                 ปุรุษะอาศัยประกฤติเป็นที่อิงอาศัยพร้อมกันนั้นก็รับรู้สิ่งปรุงแต่งต่างๆ เช่น ความงามหรือความน่าเกลียดที่ประกฤติแต่งสร้างขึ้นในโลก
                 การที่ปุรุษะยึดเหนี่ยวเอามายาของประกฤติเข้าไว้นี้ หากมายานั้นเป็นฝ่ายกุศลก็จะส่งผลให้ผู้ยึดเหนี่ยวมีชาติกำเนิดที่ดีเป็น เบื้องหน้า ในทางกลับกันหากว่ามายานั้นเป็นฝ่ายอกุศล ผลสนองของการยึดมั่นนั้นก็จะส่งให้เขาเข้าสู่ชาติกำเนิดที่ต่ำทรามต่อไป
                 ปุรุษะอันอิงอาศัยร่างกายนี้ก็คือสิ่งสิ่งเดียวกับสิ่งที่เรียกว่าปรมาตมัน
 
                 ผู้ใดรู้แจ้งประกฤติและปุรุษะอย่างทะลุปรุโปร่ง ผู้นั้นกระทำกรรมอันใดลงไป ผลกรรมก็ไม่อาจส่งสนองให้เขาต้องมาเวียนว่ายตายเกิดเพื่อรับผลกรรมอีก
 
                 ปุรุษะหรือปรมาตมันนี้บางคนอาจประจักษ์แจ้งได้ด้วยการบำเพ็ญสมาธิ บางคนอาจประจักษ์แจ้งด้วยการปฏิบัติสางขยโยคะ บางคนอาจประจักษ์แจ้งด้วยการปฏิบัติกรรมโยคะ
 
                 คนบางคนไม่เคยทราบถึงความลี้ลับแห่งปรมาตมันนี้มาก่อน หากแต่ได้ยินได้ฟังมาจากผู้อื่น อาศัยความศรัทธาในปรมาตมันเพียรขยันกระทำคุณความดีเป็นการบูชาปรมาตมันนั้น คนเช่นนี้ก็อาจข้ามพ้นห้วงสังสารวัฏฏ์ได้เช่นกัน
 
                 อรชุน! จงทราบไว้ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกไม่ว่าจะเคลื่อนไหวได้หรือเคลื่อน ไหวไม่ได้ก็ตาม สรรพสิ่งเหล่านั้นล้วนแต่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้เพราะความสัมพันธ์อันพอ เหมาะระหว่างเกษตระและเกษตรชญะ* (หมายความว่าประกฤติหรือธรรมชาติส่วนที่เป็นต้นกำเนิดของชีวิตด้านกายภาพ physical กับปุรุษะหรือธรรมชาติส่วนที่เป็นต้นกำเนิดของชีวิตด้านจิตภาพ spiritual ประสมประสานกันพอเหมาะ อีกนัยหนึ่งตามคติของศาสนาฮินดูนั้นถือว่าเมื่อมนุษย์และสัตว์ตายลง อาตมันของมนุษย์และสัตว์จะเข้าไปรวมกับปรมาตมันก่อนชั่วระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นอาตมันนั้นจึงจะถูกปรมาตมันส่งไปถือกำเนิดในร่างใหม่ การที่อาตมันเข้าไปรวมกับปรมาตมันชั่วคราวนี้เรียกว่า "สังโยคะ" ด้วยความเชื่อนี้ สรรพสิ่งที่ถือกำเนิดในโลกนี้จึงเกิดและดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจของสังโยคะนั้น อันอาจตีความได้ในอีกแง่หนึ่งว่า เป็นความสัมพันธ์กลมกลืนกันระหว่างอาตมัน (เกษตระ) กับปรมาตมัน (เกษตรชญะ) คำว่า "ความสัมพันธ์อันพอเหมาะ" ในโศลกนี้ผมแปลจากคำว่า "สังโยคะ" ที่กล่าวมานี้ -ผู้แปล)
 
                 ปรมาตมันนั้นแทรกอยู่ในทุกอณูของสรรพสิ่ง เมื่อสิ่งอาศัยสิงสถิตแตกสลายไป ปรมาตมันหาได้พินาศไปด้วยไม่
                 ผู้ใดหยั่งเห็นปรมาตมันดังกล่าวมานี้ ผู้นั้นนับว่าเห็นชอบ
                 เมื่อมองเห็นปรมาตมันซึ่งดำรงอยู่ในสรรพสิ่ง เขาย่อมอาจปฏิบัติตนเพื่อเข้าสู่บรมศานติได้
                 ประกฤติคือผู้รับผิดชอบในการกระทำกรรมทุกอย่าง! อาตมันหาใช่ผู้รับผิดชอบไม่ ผู้ใดหยั่งเห็นได้เช่นนี้ ผู้นั้นนับว่าเห็นถูกอย่างยิ่ง!
                 ผู้ใดมองเห็นว่าสรรพสิ่งในจักรวาลล้วนก่อกำเนิดมาจากพรหม ผู้นั้นย่อมอาจเข้าถึงพรหมได้
 
                 ปรมาตมัน ไม่รู้จักสิ้นสูญ เป็นสภาวะอมตะ ไม่ได้เกิดมาจากอะไร ไม่มีใครทำให้ปรมาตมันเกิด แม้ว่าปรมาตมันนั้นจะตั้งอยู่ในร่างของคนที่กระทำกรรม ผลของกรรมก็มิได้แปดเปื้อนมาถึงปรมาตมัน!
                 อุปมา ดังอากาศที่ซึมแทรกอยู่ทั่วทุกอณูของสรรพสิ่ง อากาศนั้นก็หาได้แปดเปื้อนด้วยสิ่งที่ตนซึมซ่านอยู่ไม่ ข้อนี้ฉันใด อาตมันก็ฉันนั้น แม้สิงสถิตอยู่ในร่างของคน ก็หาได้แปดเปื้อนด้วยกรรมที่คนผู้นั้นกระทำไม่!
 
                 เปรียบเสมือนดวงตะวันเพียงดวงเดียวก็สามารถแผ่รัศมีส่องสว่างครอบคลุมโลก ตลอดโลกได้ อาตมันก็เช่นกัน อาศัยอยู่ในร่างย่อมแผ่อานุภาพให้ร่างทั้งร่างนั้นตกอยู่ในอำนาจดุจกัน!
                 อรชุน! ผู้ใดหยั่งเห็นความแตกต่างระหว่างเกษตระและเกษตรชญะ ดังกล่าวมานี้ด้วยจักษุคือความรู้แจ้งและสามารถแยกอิสรภาพทางจิตออกจากอำนาจ แห่งวัตถุได้ ผู้นั้นย่อมบรรลุโมกษะ!



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 09, 2014, 04:09:27 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปล
และเรียบเรียง

บทที่สิบสี่
                    กฤษณะตรัสว่า   
                    เราจักกล่าวซ้ำถึงความรู้แจ้งอันประเสริฐกว่าความรู้แจ้งทั้งปวงแก่ท่านอีกครั้ง ความรู้แจ้งอันนี้นี่เองที่ส่งผลให้บรรดาเหล่ามุนี ที่ลุถึงประจักษ์แจ้ง ข้ามพ้นจากห้วงสังสารวัฏฏ์เข้าสู่บรมศานติชั่วนิรันดร์   
                    ผู้ใดรู้แจ้งชญานอันประเสริฐที่เราจะกล่าวต่อไปนี้ ผู้นั้นย่อมกลายเป็นหนึ่งเดียวกับเรา เขาจะไม่เกิดอีกเมื่อมีการสร้างโลกและจักรวาลขึ้นใหม่ในต้นกัลป์ และจะไม่พินาศเมื่อมีการล้างโลกและจักรวาลให้ประลัยในคราวจะสิ้นกัลป์
   
                    อรชุน! มหาพรหมคือต้นกำเนิดของโลกและจักรวาล อนึ่งมหาพรหมนั้นที่แท้ก็คือครรภสถานที่เราได้หยอดเมล็ดพันธุ์ลงไว้สำหรับ ให้เป็นแดนกำเนิดของสรรพสิ่ง
   
                    สรรพสัตว์ที่ถือกำเนิดในครรภ์ทั้งปวงล้วนแล้วแต่มีมหาพรหมเป็นครรภ์รองรับ โดยมีเราเป็นบิดาผู้ประทานเชื้อพันธุ์เข้าผสม* (หมายถึงความว่าสัตว์ทุกชนิดแม้จะเกิดจากครรภ์มารดาตนเอง แต่ก็ต้องได้รับการปกป้องรักษาจากมหาพรหม(ประกฤติ) อันเป็นเสมือนครรภ์หุ้มเลี้ยงสรรรพชีวิต ความเชื่อนี้เป็นคติของชาวฮินดูซึ่งถือกันว่าทุกชีวิตจะก่อเกิดมาก็ต่อเมื่อ เชื้อพันธุ์ซึ่งเรียกกันในภาษาสันสกฤตว่า พีชะ ได้เข้าผสมกับไข่ในมดลูก(มดลูกนี้เรียกกันในภาษาสันสกฤตว่าโยนี) มหาพรหมหรือประกฤติ ชาวฮินดูถือว่าเป็นมดลูกหรือครรภ์ของโลกและจักรวาล เมื่อปรมาตมันหรือพรหมประทานเชื้อ(พีชะ) ลงผสมในครรภสถานนแห่งมหาพรหมนั้น สรรพชีวิตจึงก่อเกิด พรหมหรือปรมาตมันจึงเป็นเสมือนบิดาของสรรพสิ่ง -ผู้แปล)
   
                    อรชุน! ธรรมชาติสามประการต่อไปนี้คือ สัตตวะหนึ่ง, รชะหนึ่ง, และตมะอีกหนึ่ง เป็นธรรมชาติตัวคนเรามาตั้งแต่เกิด   
                    สัตตวะคือความดีและความบริสุทธิ์สะอาด   
                    รชะคือความกระหายอยากอันไม่รู้จักสิ้นสุด   
                    ส่วนตมะนั้นได้แก่ความลุ่มหลงมืดบอด   
                    สัตตวะย่อมส่งผลให้เกิดความสุข รชะย่อมส่งผลให้กระทำกรรมตามความกระหายอยากนั้น ส่วนตมะย่อมชักนำให้เกิดความมืดมนและประมาท
   
                    อรชุน! ในบรรดาธรรมชาติทั้งสามประการนี้ บางครั้งสัตตวะก็มีอำนาจเหนือรชะกับตมะ บางคราวรชะก็มีอำนาจเหนือสัตตวะกับตมะ บางขณะตมะก็อาจมีอำนาจเหนือสัตตวะกับรชะ สุดแท้แต่ว่าช่วงเวลาใดธรรมชาติส่วนไหนจะมีพลังมากกว่าส่วนอื่นๆ   
                    เมื่อใดปรากฏความรู้แจ้งขึ้นในทางเข้าแห่งประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย เมื่อนั้นพึงทราบเถิดว่าสัตตวะได้ปรากฏแล้ว   
                    อรชุน! เมื่อใดที่รชะปรากฏขึ้น เมื่อนั้นความโลภ ความกระวนกระวาย และความกระหายอยาก อันจะชักนำไปสู่การกระทำกรรมย่อมปรากฏตามมา
   
                    และเมื่อใดที่ตมะปรากฏขึ้น เมื่อนั้นความมืดมน ความท้อแท้ ความเลินเล่อ และความมัวเมาย่อมปรากฏตามมาเช่นกัน
   
                    ผู้ใดร่างแตกดับไปในขณะที่สัตตวะเจริญขึ้นในดวงจิต ผู้นั้นย่อมจะไปสู่วิสุทธิสถานอันเป็นบรมสุข   
                    ผู้ใดร่างแตกดับขณะจิตถูกรชะหุ้มห่ออยู่ ผู้นั้นย่อมไปสู่คติภพตามผลแห่งกรรมที่ตนเองกระทำลงไปด้วยอำนาจแห่งรชะนั้น
   
                    ส่วนบุคคลใดตายไปในขณะจิตจมดิ่งลงสู่ห้วงแห่งตมะ บุคคลนั้นย่อมไปสู่ภพภูมิที่มืดมน   
                    สัตตวะย่อมอำนวยผลเป็นความดี ความบริสุทธิ์และความสุข   
                    รชะย่อมอำนวยผลเป็นความทุกข์ร้อนเจ็บปวด   
                    ส่วนตมะย่อมอำนายผลเป็นความมืดมนลุ่มหลง

   
                    ผู้ดำรงอยู่ในสัตตวะ ย่อมมีชีวิตที่รุ่งโรจน์สูงส่ง ผู้ดำรงอยู่ในรชะย่อมมีชีวิตปานกลางไม่สูงไม่ต่ำ ส่วนผู้ดำรงอยู่ในตมะชีวิตของเขาย่อมตกต่ำมืดมน   
                    บุคคล ใดหยั่งเห็นว่าธรรมชาติแห่งชีวิตทั้งสามนี้คือสิ่งหน่วงเหนียวชีวิตเอาไว้ใน ห้วงแห่งมายาแล้วเพียรยกจิตใจให้ข้ามพ้นบ่วงชีวิตทั้งสามนี้เพื่อเข้าสู่ ปรมาตมันอันประเสริฐ บุคคลนั้นย่อมเข้าถึงเรา* (สัต ตวะ รชะ และตมะ เป็นเพียงโลกียธรรมซึ่งส่งผลให้บุคคลเสวยสุขและทุกข์ในห้วงสังสารวัฏฏ์เหมือน กุศลกับอกุศลในพุทธศาสนา การจะเข้าถึงชีวิตนิรันดร์ต้องยกระดับจิตใจให้อยู่เหนือธรรมชาติแห่งชีวิตสามประการนี้ ข้อนี้เทียบได้กับการละกุศลและอกุศลเพื่อเข้าถึงนิพพานของชาวพุทธ -ผู้แปล)   
                    บุคคล ผู้ข้ามพ้นจากมายาของสัตตวะ รชะ และตมะ เสียได้ ย่อมพ้นจากการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย ชีวิตเขาย่อมประสบสุขอันเป็นอมตะชั่วนิรันดร์
   
                    อรชุนถามว่า   
                    ข้าแต่องค์กฤษณะ! โปรดแสดงแก่ข้าด้วยเถิดว่าบุคคลเช่นใดจึงสามารถข้ามพ้นธรรมชาติแห่งชีวิตสามประการนี้ได้ และในการพาตนข้ามพ้นจากสิ่งเหล่านี้ บุคคลจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง
   
                    กฤษณะตอบว่า   
                    อรชุน! ผู้ใดมีปัญญาประจักษ์ชัด หมั่นเพียรชำระจิตให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อประสบสิ่งมุ่งหวังก็ไม่ดีใจจนลืมตน เมื่อพลาดหวังในสิ่งที่มุ่งหมายก็ไม่เสียใจจนลืมตัว ดำรงตนอยู่อย่างมั่นคงท่ามกลางมายาแห่งชีวิต เมื่อประสบสุข-ทุกข์ก็รู้เท่ากันว่านั่นเป็นธรรมดาของชีวิต ต่อเสียงนินทาหรือสรรเสริญเขาวางใจให้เป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยอำนาจแห่งความชอบหรือความชัง ปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลายกับคนที่ดูแคลนหรือยกย่องตนและไม่ว่าจะเป็นมิตร หรือศัตรู เขาจะปฏิบัติต่อคนเหล่านี้อย่างเท่าเทียมกัน บุคคลเช่นนี้และอรชุนชื่อว่าผู้ข้ามพ้นจากสัตตวะ รชะ และตมะ อันรวมเรียกว่าคุณะหรือธรรมชาติพื้นฐานของชีวิตสามประการดังว่ามา