ฤๅษีวยาส.. ผู้รจนามหาภารตะยุทธ ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควันสมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง)
บทที่สาม อรชุนถามว่า
กฤษณะ!ก็หากท่านเห็นว่าปัญญาเป็นตัวนำสำคัญในการกระทำทุกอย่างแล้ว เหตุใดท่านจึงชักนำเราให้ทำสงครามอันเป็นบาปมหันต์เล่า
ถ้อยคำอันวกวนของท่านทำให้เราสับสน ขอจงไขความให้กระจ่างหน่อยได้ไหม เอาให้แน่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
กฤษณะตอบว่า
อรชุน! หนทางสำหรับเดินไปสู่นิรันดรของชีวิตนั้นประกอบด้วยส่วนหนุนส่งอยู่สองส่วน คือ
ความรู้แจ้งด้วยปัญญาหนึ่ง, กับการลงมือปฏิบัติตามความรู้แจ้งนั้นอีกหนึ่ง ผู้ละเว้นการปฏิบัติย่อมไม่อาจข้ามพ้นห้วงแห่งกรรมออกไปสู่ความเป็นอิสระและความสมบูรณ์ของชีวิตได้
ไม่มีใครในโลกนี้จะอยู่เฉยๆ
โดยไม่กระทำสิ่งที่เรียกว่ากรรมได้แม้เพียงชั่วอึดใจเดียวก็ตาม ทุกขีวิตล้วนแต่ถูกสร้างมาเพื่อให้ทำสิ่งนี้
ผู้ใดแสร้งเป็นคนสำรวมตนต่อหน้าคนอื่น แต่ภายในใจกลับว้าวุ่นด้วยอารมณ์อันปั่นป่วน ผู้นั้นชื่อว่าลวงทั้งตนเองและคนอื่น
ส่วนผู้ใดควบคุมอารมณ์ให้มั่นคงได้ด้วยใจโดยที่การสำรวมนั้นมิได้เป็นไป เพราะการแสร้งเส ผู้นั้นนับว่าเป็นคนประเสริฐแท้ จงรีบขวนขวายทำความดีเถิด การทำความดีย่อมประเสริฐกว่าการหายใจทิ้งเปล่าๆ โดยไม่ได้ทำสิ่งอันเป็นคุณประโยชน
แก่ตนและคนอื่น ร่างกายของคนเราเมื่อวันเวลาล่วงผ่าน
ย่อมทรุดโทรมชำรุด ถึงเวลานั้นแล้ว
แม้อยากจะกระทำความดีก็ยากที่จะทำได้ดังใจนึก
ทุกชีวิตในโลกถูกลิขิตให้เดินไปตามแรงบันดาลของกรรม แต่การกระทำที่มุ่งความหลุดพ้นจากห้วงกรรมไม่จัดเป็นกรรม เพราะฉะนั้นเมื่อจะกระทำกรรมขอจงอุทิศการกระทำนั้นเพื่อความหลุดพ้นเถิด อรชุน เมื่อแรกที่พระประชาบดีพรหมทรงเนรมิตโลก พระองค์ได้สร้างมนุษย์ขึ้นพร้อมกับทรงบัญญัติพิธีให้เป็นแบบแห่งการดำเนิน ชีวิตของมนุษย์ว่า
“ด้วยยัญกรรมนี้ สูเจ้าทั้งหลายจะรุ่งเรืองและสมบูรณ์พูนสุข ด้วยสิ่งอันตนปรารถนาทุกประการ”
เพราะเหตุนี้แล มนุษย์จึงควรเกื้อหนุนเหล่าเทพยดาด้วยยัญพิธี* (
ยัญพิธีหรือการบูชายัญคือการเซ่นไหว้เทพเจ้าตามความเชื่อของชาวฮินดู จากความตอนนี้เราจะเห็นได้ชัดว่า
เดิมทีเดียวการบูชายัญมีจุดประสงค์จะให้
มนุษย์ระลึกถึงคุณของธรรมชาติฟ้าดินอันเป็นการปลูกสำนึกที่ดีงามตามหลัก ศาสนา แต่ภายหลังคำสอนนี้ได้ถูกบิดเบือนจนการบูชายัญกลายเป็นพิธีกรรมที่โหดร้าย ป่าเถื่อนถึงขนาดมีการเซ่นสรวงยัญด้วยการสังเวยชีวิตมนุษย์ เมื่อพุทธศาสนาอุบัติขึ้น พระพุทธองค์ก็ทรงพยายามชี้ให้ผู้คน
หันกลับไปหาความหมายที่แท้ของยัญกรรมอัน บริสุทธิ์แต่ดั้งเดิมอีกครั้ง แต่ความพยายามนั้นก็ประสบผลเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจขจัดความเข้าใจผิดของคนรุ่นต่อมาได้อย่างสิ้นเชิง-
ผู้แปล)ด้วยว่าเทพ ทั้งหลายเมื่อได้รับการบำรุงอุปถัมภ์จากมนุษย์เช่นนั้นแล้วก็จักอำนวยผลตอบแทนแก่ผู้ที่เซ่นไหว้ตน เมื่อต่างฝ่ายต่างก็จุนเจือกันและกันเช่นนั้น ทั้งสองฝ่ายย่อมจะประสบสิ่งดีงามร่วมกัน
สิ่งใดที่มนุษย์ปรารถนา สิ่งนั้นหากเป็นความดีงาม มนุษย์ก็อาจได้มาสมประสงค์ เพราะการบันดาลของเหล่าเทพที่ตนอุทิศยัญพิธีถวาย
ผู้ใดได้รับการหนุนส่งจากเทพยดาแล้วลืมตนไม่ตอบแทนการเกื้อกูลจากสวรรค์นั้น ผู้นั้นนับว่าเป็นมหาโจรแท้
สาธุชนผู้มี
ใจเผื่อแผ่เมื่อบริโภคของเซ่นไหว้อันเหลือจากยัญกรรมแล้ว
ย่อมพ้นจากบาปทั้งมวล แต่สำหรับทุรชนผู้เห็นแก่ตัว ไม่ปรารถนาจะเผื่อแผ่อานิสงส์แห่งยัญกรรมของตนแก่คนข้างเคียง การบริโภคของเซ่นไหว้นั้นก็คือการ
บริโภคบาปของตนเอง ทุกชีวิตในโลกอยู่ได้ด้วยอาหาร อาหารเกิดมีเพราะน้ำฝน ฝนตกต้องตามฤดูกาลเพราะการประกอบยัญพิธี ส่วนยัญพิธีนั้นเล่าก็เกิดมีด้วยการกระทำของมนุษย์
การลงมือกระทำสิ่งดีงามเป็นคำสอนที่มีมาแต่คัมภีร์พระเวทและพระเวทนั้นแท้ก็ คือคำสั่งสอนอันกำเนิดมาแต่ปรมาตมันอันสูงสุด ด้วยเหตุนี้ พระเวทจึงไม่ใช่คัมภีร์ หากแต่เป็นสภาวะที่ดำรงอยู่ในทุกอณูของสรรพสิ่งตลอดจนดำรงอยู่ชั่วนิจนิรันดรในยัญกรรม อรชุน! โลกเรานี้นับวันก็มีแต่จะหมุนไปข้างหน้า ผู้ใดจมชีวิตตนเองไว้กับกระแสโลกียสุขไม่ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับการเปลี่ยนแปรของวันคืน ชีวิตของคนผู้นั้นนับว่าสูญเปล่าปราศจากแก่นสารแท้
แต่สำหรับบุคคลผู้มีใจเอิบอิ่มในอาตมัน พอใจในอาตมัน และยินดีในอาตมันอันสูงสุดนั้น
กรรมอันได้แก่หน้าที่ที่จะพึงปฏิบัติอย่างอื่นของบุคคลนั้นย่อมเป็นอันจบสิ้นไม่อีกแล้ว
บุคคลเช่นนั้นย่อมข้ามพ้นทั้งกรรมและอกรรม เขาไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งใดเพื่อให้ลุถึงประโยชน์ของตน เพราะฉะนั้น จงปฏิบัติใน
สิ่งอันพึงปฏิบัติโดย
ไม่ยึดมั่นเถิด บุคคลผู้กระทำกรรม
โดยไม่หวังผลตอบแทนจากการกระทำนั้นย่อมบรรลุถึงปรมัตถภาวะ อันสูงสุด
เพราะกระทำกรรมโดยไม่ยึดติดในผลแห่งกรรมนี่เอง บรรพชนของเราในอดีตเป็นต้นว่าชนกราชา*(ชนกราชา
ในโศลกนี้หมายถึงท้าวชนก เจ้ากรุงมิถิลาราชบิดาของนางสีดาในมหากาพย์รามายณะ-
ผู้แปล)จึงได้บรรลุถึงความ บริสุทธิ์และสมบูรณ์ชีวิต
เพื่อเห็นแก่เพื่อนมนุษย์ จงกระทำคุณความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเถิดอรชุน
เมื่อ
ผู้มีอำนาจในแผ่นดิน
ปฏิบัติอย่างไร คนทั้งหลายที่อยู่ใต้ปกครอง
ย่อมจะปฏิบัติตามกฎระเบียบนั้น
อรชุน! สำหรับเราเองนั้นกรรมอันพึงกระทำไม่มีอีกแล้วในไตรโลกนี้ เราไม่มีสิ่งที่ยังไม่ได้บรรลุอันจะต้องพยายามบรรลุถึงอีกแล้ว กระนั้นก็ดี เราก็ยังเอาตัวเข้าคลุกคลีกับเพื่อนมนุษย์ แปดเปื้อนอยู่กับการกระทำกรรมเพราะเราเห็นแก่เพื่อนร่วมแผ่นดินเหล่านั้น
แม้นว่าเรามีใจวางเฉย ไม่เอาตัวเข้าแปดเปื้อนกับการกระทำกรรม มุ่งเสวยสุขเพียงอย่างเดียว มนุษย์ทั้งหลายก็จะพากันหันไปหาการเสพสุขด้วยเข้าใจว่านั่นคือความถูกต้อง ของชีวิต เมื่อเป็นเช่นนั้น โลกทั้งโลกจะพลันวุ่นวายจนถึงพินาศแตกดับ ตัวเราเล่าก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำลายความเป็นระเบียบของโลกและเป็น ผู้ล้างผลาญ ประชานิกรทั้งหมดให้ฉิบหายล่มจม อรชุน!
คนโง่เมื่อกระทำกรรมย่อมยึดมั่นในการกระทำนั้น ส่วนผู้รู้กระทำกรรมแล้วหาได้ยึดติดในการกระทำนั้นไม่ ปราชญ์ทำกรรมเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ไม่ได้กระทำเพื่อตนเอง ปราชญ์ย่อมไม่ตัดหนทางในการก้าวไปสู่ความดีงามของคนเขลาผู้ยังติดข้องอยู่ใน
วังวนแห่งกรรม หากแต่หาโอกาสให้คนเขลานั้นได้กระทำกรรมดี อันจะ
ส่งผลเป็นความสุขสงบแก่ชีวิตของเขาเอง
กรรมทั้งปวงมนุษย์ไม่ใช่ผู้กระทำ กรรมทั้งหลายเหล่านั้นถูก
ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งธรรมชาติ*(คำ ว่า “
พลังแห่งธรรมชาติ”นี้แปลมาจากศัพท์เดิมในภาษสันสกฤตว่า
ปฺรกฺฤติ คำนี้ในภาษาไทยเรามักแปลทับศัพท์ว่า ประกฤติ ส่วนในภาษาอังกฤษท่านมักแปลเป็น Nature หรือ Forces of Nature ครูอาจารย์ที่สอนภาษาสันสกฤตให้ผู้แปล เคยอธิบายให้ฟังว่า ปฺรกฺฤติ นี้
เป็นพลังลึกลับอย่างหนึ่งที่ชาวฮินดูเชื่อกันว่าเป็นสิ่งผลักดันให้ชีวิต ทุกชีวิตในจักรวาลหมุนเหวี่ยงไป ซึ่งนั่นก็หมายความว่าชีวิตของคนเราต่างก็ล้วนดำเนินไปตาม
การลิขิตของ
ปฺรกฺฤติ ชีวิตหาได้เป็นอิสระในตัวมันเองไม่ ความเชื่อเช่นนี้เองที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางความคิดอันแตกออกมา
เป็นศาสนา หรือลัทธิที่ปฏิเสธคัมภีร์พระเวทในยุคต่อมา เพราะคนรุ่นนั้นเริ่มสงสัยกันแล้วว่า
ชีวิตไม่มีอิสระในตัวมันเองจริงหรือ พุทธศาสนาถึงกำเนิดมาก็ด้วยแรงหนุนส่งจากปฏิกิริยาดังกล่าวด้วยเช่นกัน-
ผู้แปล)คนโง่เขลาไม่เข้าใจความเป็นจริงอันนี้ย่อม
หลงผิดว่าตนคือผู้กระทำกรรม
ส่วนผู้ฉลาดย่อมรู้จัก
แยกแยะกรรมกับพลังแห่งธรรมชาติ
อันผลักดันกรรมนั้นว่า ปรากฏการณ์อันเรียกว่า
กรรมแท้ก็คือ
การแสดงตนของพลังธรรมชาติ คนเช่นนั้นย่อม
ไม่ยึดติดในกรรม
คนเขลาไม่เข้าใจถึง
พลังธรรมชาติอันอยู่เบื้องหลังกรรม ย่อมเข้าใจสับสนว่า
กรรมกับพลังแห่งธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ปราชญ์ควรชี้แนะให้บุคคลผู้หลงผิดเช่นนั้นเข้าใจความเป็นจริง
เพราะเหตุนี้แลอรชุน จงสลัดกรรมทั้งปวงของท่านมาไว้ที่เราแล้วประสานใจอันบริสุทธิ์เข้ากับอาตมัน จงขจัดความกังวลแล้วจับอาวุธขึ้นรบเถิด
ผู้ใดเชื่อมั่นในคำสอนของเรา รับเอาคำสอนนี้ไปปฏิบัติด้วยใจบริสุทธิ์ ผู้นั้นย่อมพ้นจากการเวียนว่ายในห้วงแห่งกรรม ส่วนบุคคลใดดูแคลนคำสอนของเรา ไม่รับเอาคำสอนนี้ไปปฏิบัติ เพราะมานะอันแข็งกร้าวในใจ บุคคลนั้นคือคนเขลา ปัญญามืดบอด คนเช่นนั้นจะต้องประสบกับความฉิบหายเพราะความโง่ของตนเอง
แม้แต่ปราชญ์ที่ฉลาดหลักแหลมก็ยังต้องปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติ อนึ่งเล่า ทุกชีวิตในโลกก็ล้วนแต่ต้องดำเนินชีวิต
ให้คล้อยตามธรรมชาติ อย่างนี้แล้วเรายังจะคิดดื้อรั้นฝืนกฎแห่งธรรมชาติอยู่หรือ
ความดีใจกับความเสียใจเกิดจากการกระทบกันระหว่างอารมณ์ภายนอกกับความรู้สึก คนเราไม่พึงตกอยู่ในอำนาจของมัน เพราะไม่ว่าความดีใจหรือความเสียใจ ทั้งสองอย่างล้วนแต่เป็นอุปสรรคในการก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์แห่งชีวิตเหมือน กัน
จงปฏิบัติหน้าที่ของตนไป
เท่าที่ความสามารถจะอำนวยให้ แม้จะกระทำได้เพียงเล็กน้อย การกระทำนั้นก็นับว่าประเสริฐกว่าการปฏิบัติหน้าที่ของคนอื่นที่เขากระทำได้ อย่างสมบูรณ์ไม่มีขาดตก
คนที่ตายเพราะทำหน้าที่ของตนย่อมชื่อว่ามีชีวิตยืนนานเป็นอมตะ ส่วนบุคคลผู้ตกเป็นทาสอาณัติของคนอื่น แม้จะมีชีวิตอยู่ก็เสมือนหนึ่งคนที่ตายแล้ว อรชุนถามว่า
กฤษณะ! อำนาจอะไรหนอที่ผลักดันให้คนเรากระทำบาปทั้งที่โดยความเป็นเหตุเป็นผลแล้วคง ไม่มีใครในโลกประสงค์จะกระทำความชั่ว การกระทำของเขาน่าจะมีอะำำำไรสักอย่างเป็นเครื่องชักนำใช่หรือไม่
กฤษณะตอบว่า
ถูกแล้วอรชุน
สิ่งที่กระตุ้นให้คนกระทำความชั่วคือความกระหายอยากอันจะแปรเป็นความเคียดแค้นเมื่อไม่ได้สมอยากในทันที สิ่งนี้นี่เองที่เป็นศัตรูของความดี
ควันบดบังความโชติช่วงของเปลวไฟ ฝุ่นธุลีบดบังความสดใสของกระจก รกหุ้มห่อทารกเอาไว้ด้วยอาการฉันใด
ความกระหายอยากหุ้มห่อจิตใจให้เศร้าหมองมืดมัวด้วยอาการดังของสามอย่างที่ กล่าวฉันนั้น
อรชุน! เหตุที่คนเราไม่อาจประจักษ์แจ้งซึ่ง
สัจจะก็เพราะอำนาจการครอบงำของกิเลสดัง กล่าวนี่เอง กิเลสทำให้คนไม่รู้จักอิ่มพอ เหมือนไฟไม่เคยอิ่มเชื้อฉันใดก็ฉันนั้น
ความรู้สึก, จิตใจ และความรู้ ท่านกล่าวว่าเป็นทางเล็ดลอดเข้ามาของกิเลสหากว่าเราไม่รู้เท่าทันมัน เมื่อ
กิเลสอันได้แก่ความทะยานอยากอันไม่รู้จักจบสิ้นเข้าครอบงำการรู้แจ้ง คนเราย่อมจะหลงทางไม่อาจเข้าถึงอาตมันได้เป็นของธรรมดา
เพราะเหตุนี้แลอรชุน จงควบคุมความรู้สึกเอาไว้ให้มั่นเมื่อมีอารมณ์ภายนอกมากระทบ จากนั้นจึงพยายามขจัดบาปอันเป็นสิ่งปิดกั้นการรู้แจ้งออกไปจากจิตใจ
ท่านกล่าวว่าอำนาจของความรู้สึกเป็นสิ่งมีพลัง แต่ที่มีพลังเหนือความรู้สึกนั้นได้แก่พลังแห่งจิตใจ จิตใจที่ว่ามีพลังก็ยังพ่ายแพ้อำนาจแห่งปัญญา กระนั้นก็ดีปัญญาก็ยังด้อยอำนาจกว่าอาตมัน
อรชุน! เมื่อประจักษ์ชัดว่าความทะยานอยากเป็นศัตรูของการเข้าหาความดี ทำไมท่านไม่รีบขจัดมันเสียด้วยปัญญาเล่า