ภควัทคีตา
บทเพลงแห่งองค์ภควัน
สมภาร พรมทา แปลและเรียบเรียง
บทที่สิบเจ็ด อรชุนถามว่า
คนบางคนมีศรัทธาแต่ประกอบยัญกรรมโดยมิได้ดำเนินไปตามครรลองที่ท่านผู้รู้กล่าวไว้
ข้าแต่องค์กฤษณะ! คนประเภทนี้จะว่าพื้นฐานทางจิตใจของเขาประกอบด้วยธรรมชาติส่วนไหนในบรรดาธรรมชาติทั้งสามกล่าวคือ
สัตตวะ รชะ และตมะ** [สัตตวะคือความดีและความบริสุทธิ์สะอาด รชะคือความกระหายอยากอันไม่รู้จักสิ้นสุด ส่วนตมะนั้นได้แก่ความลุ่มหลงมืดบอด ] กฤษณะตอบว่า
อรชุน! ศรัทธาของคนนั้นพอจำแนกออกได้ตามสภาพของมันเป็นสามจำพวกคือ ศรัทธาอันประกอบด้วย
สัตตวะหนึ่ง, ศรัทธาอันประกอบด้วย
รชะหนึ่ง, และศรัทธาอันประกอบด้วย
ตมะอีกหนึ่ง
จงฟัง! เราจะกล่าวถึงรายละเอียดแห่งศรัทธาทั้งสามประเภทนี้แก่ท่าน
ศรัทธากล่าวคือความเชื่อนี้ย่อมโน้มเอียงไปตามธรรมชาติพื้นฐานของคนผู้นั้น นั่นคือมนุษย์ย่อมเชื่อถือสิ่งต่างๆ ตามพื้นฐานทางจิตใจ ใครเชื่ออย่างไร ก็จะปฏิบัติตัวไปตามที่เชื่อนั้น
ผู้มีศรัทธาอันเจือด้วยสัตตวะ ย่อมบูชาเทพเจ้าที่ตนเชื่อว่าเป็นตัวแทนแห่งความดีงาน
ผู้มีศรัทธาเจือด้วยรชะ ย่อมบูชายักษ์และรากษส
* (รากษสได้แก่ยักษ์จำพวกหนึ่ง
อาศัยอยู่ในน้ำทำนองพวกผีเสื้อสมุทรในวรรณคดีไทย -ผู้แปล) ส่วนผู้มีศรัทธาอันเจือด้วยตมะ ย่อมบูชาเหล่าเปรตและภูตผีปีศาจทั้งหลาย
ผู้บำเพ็ญตบธรรมอย่างเคร่งครัด หากแต่ภายในใจยังเต็มไปด้วยความถือตัว เย่อหยิ่ง และใจนั้นก็ยังชุ่มอยู่ด้วยกามราคะ การบำเพ็ญตบะของเขาชื่อว่ามิได้ดำเนินไปตามครรลองของโบราณธรรม
คนเช่นนั้นย่อมไม่มีปัญญาหยั่งเห็นเราผู้สถิตอยู่ในร่างของตน และเพราะความไร้ปัญญานั้นเขาย่อมจมอยู่ในอสูรภาวะชั่วกาลนาน
อรชุน! อาหารหนึ่ง, การประกอบยัญกรรมหนึ่ง, การบำเพ็ญตบะหนึ่ง, และการให้ทานอีกหนึ่ง, สิ่งสี่ประการนี้ ก็อาจจำแนกให้เห็นอุปนิสัยของคนได้เช่นกัน
คนที่มีพื้นฐานทางจิตใจโน้มเอียงไปในสัตตวะ ย่อมนิยมบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ถูกอนามัย และปรุงรสด้วยความพิถีพิถัน ไม่จืดหรือจัดจนเกินไป
คนที่มีพื้นฐานทางจิตใจโน้มเอียงไปในรชะ ย่อมนิยมบริโภคอาหารที่มีรสจัด และไม่ค่อยคำนึงว่าอาหารนั้นจะมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายหรือไม่
ส่วนคนที่มีพื้นฐานทางจิตใจโน้มเอียงไปในตมะ ย่อมนิยมบริโภคอาหารหมักดองและของมึนเมา
คนที่มีพื้นฐานทางจิตใจโน้มเอียงไปในสัตตวะ ย่อมประกอบยัญกรรมโดยไม่หวังผลตอบแทน หากแต่กระทำลงไปด้วยถือว่านั่นคือหน้าที่ที่ตนพึงปฏิบัติ
คนที่มีพื้นฐานทางจิตใจโน้มเอียงไปในรชะย่อมประกอบยัญกรรมเพื่อเอาหน้า
ส่วนคนที่มีพื้นฐานทางจิตใจโน้มเอียงไปในตมะ ย่อมประกอบยัญกรรมเป็นการเฉพาะตน ไม่ชักชวนเพื่อนบ้าน ไม่มีของแจกจ่างให้ทานในพิธี
การบูชาเทพเจ้า สมณะ พราหมณ์ ครู และปราชญ์หนึ่ง, ความเป็นผู้มีกายกรรมอันสะอาดหนึ่ง, ความซื่อตรงหนึ่ง, การควบคุมตนเองให้อยู่ภายในกรอบแห่งวัตรหนึ่ง, และการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอีกหนึ่ง, เหล่านี้คือตบธรรมที่แสดงออกทางกาย
การพูดวาจาที่ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นหนึ่ง, พูดคำสัตย์หนึ่ง, พูดคำที่ไพเราะอ่อนหวานหนึ่ง, และพูดคำอันประกอบด้วยประโยชน์อีกหนึ่ง, เหล่านี้คือตบธรรมที่แสดงออกทางวาจา
การทำใจให้ผ่องใสหนึ่ง, ความเป็นผู้มีจิตใจอ่อนโยนหนึ่ง, ความเป็นผู้มีใจสงบเยือกเย็นหนึ่ง, และการข่มใจให้เป็นปกติเมื่อกระทบกับอารมณ์อีกหนึ่ง, เหล่านี้คือตบธรรมที่มีอยู่ในใจ
บุคคลผู้มีพื้นฐานทางใจโน้มเอียงไปสัตตวะ ย่อมบำเพ็ญตบธรรมทั้งสามนี้โดยไม่หวังผลตอบแทน หากแต่ปฏิบัติด้วยความศรัทธาว่านั่นคือข้อปฏิบัติที่ดีที่ชอบ
บุคคลผู้มีพื้นฐานทางใจโน้มเอียงไปในรชะย่อมบำเพ็ญตบธรรมทั้งสามนี้ด้วยหวังผลว่าจะมีคนยกย่อง
ส่วนบุคคลผู้มีพื้นฐานทางใจโน้มเอียงไปในตมะ ย่อมบำเพ็ญตบธรรมทั้งสามนี้ด้วยความรู้สึกอันงมงาย จนการบำเพ็ญเพียรนั้นกลายมาเป็นสิ่งทรมานตนให้เดือดร้อน
บุคคลผู้มีพื้นฐานทางใจโน้มเอียงไปในสัตตวะ ย่อมให้ทานโดยไม่หวังผลตอบแทน หากแต่กระทำไปด้วยเห็นว่าการเจือจานเช่นนั้นเป็นหน้าที่ที่สาธุชนพึงกระทำ อนึ่งการให้นั้นก็ให้อย่างถูกกาล ถูกสถานที่ และถูกบุคคล บุคคลผู้มีพื้นฐานทางใจโน้มเอียงไปในรชะ ย่อมให้ทาน
ด้วยหวังว่าการให้นั้นจะกลับคืนสนองตนในวันข้างหน้า หรือบางครั้งให้แล้วเกิด
เสียดายขึ้นในภายหลัง
ส่วนบุคคลผู้มีพื้นฐานทางใจโน้มเอียงไปในตมะ ย่อมให้ทานโดย
ไม่พิจารณาว่าทานนั้นเหมาะแก่กาล เหมาะแก่สถานที่ และเหมาะแก่บุคคลหรือไม่
สักแต่ว่าให้เท่านั้น
อรชุน! จงฟังคำพูดสามคำต่อไปนี้!
“โอม! ตัต! สัต!”
ทั้งสามคำนี้คือสัญลักษณ์ของพรหม เพราะฉะนั้นผู้ใดก็ตามที่ศรัทธาในพรหม, ในเวลาประกอบยัญพิธีก็ดีให้ทานก็ดีหรือบำเพ็ญตบะก็ดี ผู้นั้นพึงบริกรรมวาจาว่า “โอม!”อยู่ตลอดเวลาเถิด และขณะที่ประกอบยัญพิธี ให้ทาน หรือบำเพ็ญตบะนั้น
หากผู้ใดปรารถนาความหลุดพ้น ผู้นั้นพึงเปล่งวาจาว่า
“ตัต!”เถิด
ส่วนคำว่า
“สัต!”นั้น หมายถึง
ความจริง ความดี และความถูกต้อง การประกอบยัญกรรม ให้ทาน และบำเพ็ญตบะ
ด้วยใจอันบริสุทธิ์ล้วนแล้วแต่
เป็น “สัต”ทั้งนั้น
ส่วนการประกอบยัญกรรม ให้ทาน และบำเพ็ญตบะด้วยใจอันเคลือบแฝงด้วยความไม่บริสุทธิ์ การกระทำนั้นแม้จะดูเป็นความดีในภายนอก แต่ภายในล้วนแล้วแต่เป็น
“อสัต”ทั้งสิ้น