สองศิลป์แสดง แฝงธรรม ′พุทธมณฑลทราย-เครื่องบูชาสักการะเนย′ น้อมสักการะสมเด็จพระสังฆราชสวรรค์ นรก โลก จักรวาล" เรื่องราวของการศึกษาจากสองศาสตร์ที่ไม่เข้ากัน อันได้แก่ วิทยาศาสตร์และเทววิทยา เช่นการให้ความหมายของ "ชีวิต" ทางวิทยาศาสตร์บอกว่า ชีวิตคือการดับสูญของเซลล์และเนื้อหนัง ในขณะที่ทางเทววิทยามองว่า ชีวิตมีการ
′เวียนว่ายตายเกิด′ สำหรับพุทธศาสนา ในส่วนของนิกาย
′วัชรยาน′ ยังถ่ายทอดเรื่องราวของการศึกษาจักรวาลผ่านงานศิลปะด้วย ใช้วิธีการสรรค์สร้างงานด้วยเม็ดทรายเป็นแผนภาพจักรวาลที่แสดงถึงที่อยู่อาศัยหรือที่สถิตของเทพสวรรค์ ซึ่งเรียกกันว่า
"พุทธมณฑลทราย" (Sand Mandala) พิธีกรรมสำคัญที่ "พระลามะ" แห่งนิกายวัชรยาน ใช้ฝึกฝนตนเพราะถือเป็นการบำเพ็ญเพียรอย่างหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเพื่อการบูชาพระพุทธเจ้า และเพื่อความเป็นสิริมงคลในพิธีสำคัญ
พระลามะค่อยๆ เติมทรายลงในมันดาลาทราย
"พุทธมณฑลทราย" หรือ "มันดาลา" ได้รับการยอมรับว่าเป็นสิ่งบริสุทธิ์ที่แสดงถึงจิตที่รู้แจ้งทั้งหมดของพระพุทธเจ้า สร้างโดยพระผู้มีปัญญาอันบริสุทธิ์ ในขณะที่สร้างได้อัญเชิญพลังศักดิ์สิทธิ์มาสถิตในมันดาลานี้
สำหรับภาพที่เลือกมาทำนั้นเป็นรูปวาดในคติพุทธแบบทิเบต กล่าวกันว่าสืบทอดมาจากอินเดียโบราณ เพื่อสื่อหลักปรัชญาและคติธรรม หรือเป็นธรรมเจดีย์ของชาวพุทธที่เชื่อมโยงในขอบเขตวงกลม เพราะคำว่า "มันดาลา" มาจากคำสันสกฤตว่า มณฑล หมายถึง ขอบเขต โดยเป็นการแสดงภาพพระโพธิญาณ หรือบางทีก็รวมจักรวาลเข้าด้วยกัน
ขั้นตอนในการทำนั้นพระลามะจะต้องทำพิธีสวดมนต์ก่อนที่จะเริ่มสร้าง จากนั้นจะใช้พิมพ์เขียวที่ออกแบบไว้ร่างเป็นโครงร่างขึ้นมา โดยจะเริ่มสร้างจากศูนย์กลางออกไปก่อน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ชั้นด้วยกัน ได้แก่ "ชั้นนอก" เป็นตัวแทนของโลกในรูปแบบของพระเจ้า "ชั้นใน" เป็นตัวแทนของแผนที่จิตมนุษย์ธรรมดาที่กลายเป็นจิตที่รู้แจ้ง และสุดท้าย "ชั้นความลับ" เป็นการพยากรณ์ความสมดุลที่สมบูรณ์แบบในชั้นต้นของพลังงานที่สำคัญในร่างกายและมิติความสว่างของจิตใจที่ชัดเจน
(บน) อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำมันดาลาทราย (ล่าง) มันดาลาทรายที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว
สำหรับวิธีการใส่ทรายนั้น จะกระทำผ่านช่องโลหะของอุปกรณ์ที่เรียกว่า "ชัคปอร์" (Chakpu) และเครื่องขูดที่ทำจากไม้เรียกว่า Shing-ga แล้วก็ค่อยๆ ขูดชัคปอร์เพื่อให้ทรายไหลออกมา โดยที่ตัวชัคปอร์นั้นมีรูหลายขนาด ขนาดเล็กเพื่อให้ได้งานที่ละเอียด และรูขนาดใหญ่หากต้องการปล่อยให้ทรายไหลออกมาได้มาก ส่วนการขูดนั้นก็เพื่อจับจังหวะให้การไหลออกมาเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ตัวของชัคปอร์จะมีร่องริ้วถี่ห่างไม่เท่ากัน หากต้องการให้ไหลเร็วก็ใช้ช่องถี่ แต่ถ้าต้องการให้ไหลช้าก็จะใช้ช่องที่ห่างออกไป
อย่างไรก็ตาม การสร้างมันดาลาสามารถสร้างจากสิ่งอื่น เช่น ดอกไม้ เมล็ดข้าวแห้ง หรือการแกะสลักก็ได้ แต่การใช้ทรายถือว่าเป็นสื่อที่ยอดเยี่ยมที่สุด เนื่องจากเม็ดทรายมีความละเอียดและสีสันสวยงาม
ทว่า ความสวยงามวิจิตรนี้ก็ต้องถูกทำให้สลายมลายในพริบตา!! เพราะเหตุใดนั้น พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ขยายความว่า มันคือปริศนาธรรมที่แฝงว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรยั่งยืน ′สังขารไม่เที่ยง′ ตรงกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องอนิจธรรม เนื่องจากตามธรรมเนียมแล้วเมื่อสร้างเสร็จก็จะต้องมีการทำลายทิ้ง ซึ่งเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ สื่อถึงความไร้แก่นสาร และความไม่จีรังยั่งยืน
"เพียงแค่ได้เห็นมันดาลาก็จะก่อให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่ และทำให้จิตใจของเราสงบสุข การทำความเข้าใจมันดาลาก็หมายถึงการทำความเข้าใจหนทางในการรู้แจ้ง แต่ละส่วนของมันดาลาเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ และย้ำเตือนผู้ปฏิบัติสมาธิเข้าถึงความจริงอันถ่องแท้ ′มันดาลาทราย′ คือวัตถุศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างสมคุณความดีและความบริสุทธิ์ขึ้นจากพลังในตัวเอง ทั้งยังสร้างสมบุญให้แก่ผู้ทำ ผู้สนับสนุนการสร้าง และผู้ที่ได้เห็นอีกด้วย" พระศากยวงศ์วิสุทธิ์กล่าว
เครื่องบูชาสักการะเนยเต็มรูปแบบ
ศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่น่าสนใจคือ
"การปั้นเครื่องบูชาสักการะเนย" (Butter Sculpture) เป็นพุทธศิลปะโบราณทางทิเบตและหิมาลัย มีประวัติความเป็นมายาวนาน ย้อนไปถึงศตวรรษที่ 15 โดยเป็นการปั้นตามประเพณี ใช้เนยสีต่างๆ ปั้นเป็นรูปทรงสวยงาม
เครื่องบูชาเนยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น เป็นรูปแบบการบูชาอันเก่าแก่ตามคติความเชื่อของพุทธนิกายวัชรยาน มักปั้นจากเรื่องราวชาดกและวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นบทสอนให้ชาวพุทธปฏิบัติสืบต่อ
ปกติการปั้นเครื่องบูชาสักการะเนย จะมีขึ้นในวันที่ 15 หรือวันพระจันทร์เต็มดวงของเดือนจันทรคติที่ 1 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ (Losar) หรือการเฉลิมฉลองปีใหม่ และเป็นการถวายสักการะแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานเฉลิมฉลองนี้จะมีการปั้นเครื่องบูชาสักการะเนยให้ชมกัน และปิดท้ายด้วยพิธีแบบดั้งเดิมในการถวายเครื่องบูชาสักการะเนยที่ได้ปั้นเสร็จแล้ว
ขั้นตอนในการทำนั้น พระลามะจะใช้วิธีนำเนยที่ผลิตจากน้ำนมของจามรีตัวเมีย (gyag) ผสมกับสีน้ำมัน (ในอดีตผสมจากสีธรรมชาติ) ปั้นเป็นก้อนสีสันสวยงาม จากนั้นจึงนำมาปั้นเป็นรูปต่างๆ ตามที่ได้ร่างเอาไว้ ก่อนจะประกอบกันอีกครั้งเพื่อสร้างเป็นเครื่องบูชาสักการะใหญ่อันวิจิตร โดยมีเคล็ดลับที่สำคัญคือการใช้น้ำเย็นเป็นตัวหล่อเลี้ยง เพื่อไม่ให้เนยแข็งแห้งหรือละลายเร็วเกินไป แล้วจึงนำเครื่องบูชาสักการะนั้นไปตกแต่งในพิธีสำคัญๆ
สำหรับการแสดงศิลปะทั้งสองแขนงนี้ รัฐบาลอินเดีย โดย มร.ฮัรสะ วารธัน ชริงลา เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย นำคณะพระลามะกว่า 10 รูปจากรัฐอรุณาจัลประเทศ ดินแดนใต้การปกครองของประเทศอินเดีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือติดกับชายแดนภูฏานและพม่า เรียกอีกอย่างว่าทิเบตใต้ นำโดย ท่านเกชิ จัมเบ ดอร์จี หัวหน้าคณะ มาเป็นผู้รังสรรค์ผลงานให้
เพื่อถวายสักการะแด่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อเป็นการระลึกถึงพระเมตตากรุณาที่พระองค์มีต่อประเทศอินเดียและนิกายวัชรยาน โดยได้จัดสร้างมันดาลาทรายเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในขณะที่การปั้นเครื่องบูชาสักการะเนยได้ปั้นถวายเป็นรูปพระพุทธเจ้า ช้างเผือก และดอกไม้ เป็นเครื่องสักการะวางบูชาอยู่หน้าพระโกศ ภายในพระตำหนักเพ็ชร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ให้ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสชื่นชมกัน
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากผลงานศิลปะทั้งสองชิ้น คือความงดงามภายนอก แม้จะวิจิตรพิสดารเพียงใด หรือพากเพียรสรรหามารังสรรค์แค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่จีรังยั่งยืน
ดังเช่นการศึกษาชีวิตของวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าเมื่อเซลล์ตายชีวิตก็มลาย ถ้าเช่นนั้นแล้ว...หรือการศึกษาศาสตร์ทั้งสองด้านนี้ อาจจะกำลังบอกเราในเรื่องเดียวกันก็เป็นได้
หน้า 17 มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2557
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1395913965&grpid=&catid=08&subcatid=0804