ผู้เขียน หัวข้อ: สาราณียธรรม ๖  (อ่าน 1331 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
สาราณียธรรม ๖
« เมื่อ: พฤษภาคม 13, 2014, 02:03:09 pm »



"สาราณียธรรม ๖"
ซึ่งมีความหมายว่า หลักธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงเป็นหลักธรรมที่จะเสริมสร้างความรู้สึกที่ดีให้เกิดขึ้น
ต่อกันและกันอยู่เสมอในยามที่ระลึกถึงกัน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความสามัคคีมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้เกิดขึ้นด้วยหากสังคมใดต้องการที่จะเสริมสร้างความสามัคคีและความ เป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นก็ควรที่จะต้องนำเอาหลักธรรมธรรมทั้ง ๖ ประการ ไปใช้อยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ:-

๑. เมตตามโนกรรม
หมายถึง การคิดดี การมองกันในแง่ดี มีความหวังดีและปรารถนาดีต่อกันรักและเมตตาต่อกัน คิดแต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ต่อกันไม่อิจฉาริษยา ไม่คิดอคติ ไม่พยาบาท ไม่โกรธแค้นเคืองกันรู้จักให้โอกาสและให้อภัยต่อกันและกันกันอยู่เสมอ

๒. เมตตาวจีกรรม
หมายถึง การพูดแต่สิ่งที่ดีงาม พูดกันด้วยความรักความปรารถนาดีรู้จักการพูดให้กำลังใจกันและกันในยามที่มีใครต้องพบกับความทุกความผิดหวังหรือความเศร้าหมองต่างๆโดยที่ไม่พูดจาซ้ำเติมกัน ในยามที่มีใครต้องหกล้มลงไม่นินทาว่าร้ายทั้งต่อหน้าและลับหลังพูดแนะนำในสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ พูดอย่างใดก็ทำอย่างนั้น ไม่โกหกมดเท็จ

๓. เมตตากายกรรม
หมายถึง การทำความดีต่อกัน สนับสนุนช่วยเหลือกันทางด้านกำลังกายมีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่เบียดเบียนหรือรังแกกันไม่ทำร้ายกัน ให้ได้รับความทุกขเวทนา ทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้องต่อกันอยู่ตลอดเวลา

๔. สาธารณโภคี
หมายถึง การรู้จักแบ่งปันผลประโยชน์กันด้วยความยุติธรรมช่วยเหลือกัน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนไม่เอารัดเอาเปรียบ และมีความเสมอภาคต่อกัน เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

๕. สีลสามัญญตา
หมายถึง การปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อบังคับหรือวินัยต่างๆอย่าง เดียวกันเคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กันไม่อ้างอำนาจบาตรใหญ่ ไม่ถืออภิสิทธิ์ใดๆทั้งปวง

๖. ทิฏฐิสามัญญตา
หมายถึง มีความคิดเห็นเป็นอย่างเดียวกัน คิดในสิ่งที่ตรงกันปรับมุมมองให้ตรงกัน รู้จักแสงหาจุดร่วม และสงวนไว้ซึ่งจุดต่าง ของกันและกันไม่ยึดถือ? ความคิดของตนเป็นใหญ่ รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นอยู่เสมอ

หลักธรรมทั้ง ๖ ประการข้างต้น เป็นหลักธรรมสำหรับการเสริมสร้างความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในสังคมอันจะนำมาซึ่งความสุข ความสันติ ความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าทั้งทั้งหลายทั้งปวงดั่งพระพุทธวจนะบทที่ว่า "สมคฺคยานํ ตโป สุโข ความสามัคคีของหมู่คณะเป็นเหตุนำความสุขมาให้"

    สังคมที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้คงจะมีความสงบสุขและน่าอยู่มากกว่านี้ยิ่งนัก ถ้าหากว่าสมาชิกในสังคมแต่ละคนได้นำเอาหลักธรรมที่กล่าวข้างต้นมาใช้แต่ที่สังคมดูเหมือนมีปัญหา มีความแตกแยก และวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นเพราะว่าทุกคนละเลยหลักธรรมเหล่านี้ และกระทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกล่าวคือ ขาดความรักความเมตตาอิจฉาริษยากันนินทาว่าร้ายกัน เบียดเบียนและรังแกกัน เห็นแก่ตัวถืออภิสิทธิ์ อ้างอำนาจบาตรใหญ่ และมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันต่างคนต่างก็ถือความคิดของตนเป็นใหญ่อยู่ตลอดเวลาคนไทยได้ชื่อว่าเป็นคนที่ใจดีมีความรักความเมตตาใจบุญสุนทาน ? ยิ้มเก่ง โอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือซึ่งกันและกันซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นนิสัยปกติทั่วไปของคนไทยเกือบทุกคนและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนไทย

    ซึ่ง อาจจะเรียกว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของไทยเลยก็ว่าได้ สังคมคนไทยคงจะมีความสงบสุข มีความเจริญก้าวหน้ามีความอบอุ่นและน่าอยู่มากกว่าทุกวันนี้มากมายนัก ถ้าหากว่าคนไทยทุกคนเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกันช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และรู้จักการให้อภัยกันอยู่ตลอดเวลา. เรามาร่วมมือกันพัฒนาสังคมของเรา ให้มีความอบอุ่นและน่าอยู่กันเถอะโดยการเสริมสร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันใ ห้เกิดขึ้นในสังคมของเราแล้วเราจะได้พบกับ? สันติภาพและความอบอุ่นที่เราแต่ละคนต่างก็ปรารถนาและใฝ่ฝันหากันอยู่ตลอดมา.

-http://watpanonvivek.com/index.php/2013-12-10-21-32-04/category-table/957--m-m-s

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สาราณียธรรมสูตร
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 13, 2014, 02:36:10 pm »

สาราณียธรรมสูตร
เอวัม เม สุตัง,                                                   ข้าพเจ้า(พระอานนทเถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า
เอกัง สะมะยัง ภะคะวา,                                   สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า
สาวัตถิยัง วิหะระติ,                                         ประทับอยู่ ณ นครสาวัตถี
เชตะวะเน อะนาถะปิณฑิกัสสะ ,อาราเม.         ในพระวิหารชื่อว่าเชตวันอันเป็นอารามของท่านอานาถปิณฑิกเศรษฐี
ตัตฺระ โข ภะคะวา ภิกขู                                    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
อามันเตสิ ภิกขะโวติ.                                       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดังนี้
ภะทันเตติ เต ภิกขู                                           ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นทูลรับว่า พระเจ้าข้า ดังนี้
ภะคะวะโต ปัจจัสโสสุง,                                   พร้อมกับตั้งใจฟังภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ภะคะวา เอตะทะโวจะ,                                     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสภาษิตนี้ว่า
ฉะยิเม ภิกขะเว ธัมมา สาราณียา                      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาราณียะรรม ๖ เหล่านี้ เป็น
ปิยะกะระณา คะรุกะระณา,                              ที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน ทำให้มีความเคารพกัน
สังคะหายะ อะวิวาทายะ สามัคคิยา                 ช่วยเหลือกัน และสามัคคีพร้อมเพรียงกัน
เอกีภาวายะ สังวัตตันติ,                                   โดยส่วนเดียว
กะตะเม ฉะ?                                                    สาราณียธรรม ๖ เป็นอย่างไร?

1 อิธะ ภิกขะเว ภิกขุโน,                                    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เข้า
เมตตัง กายะกัมมัง ปัจจุปัฏฐิตัง โหติ,              ไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนสหธรรมิก
สะพฺรัมหฺมะจารีสุ  อาวิ เจวะ ระโห จะ,            ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
อะยัมปิ ธัมโม สาราณีโย ปิยะกะระโณ              สาราณียธรรมนี้แล เป็นเหตุก่อให้เกิดความระลึกถึงกัน
คะรุกะระโณ                                                     ความเคารพกันและกัน
สังคะหายะ อะวิวาทายะ สมามัคคิยา               สงเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามัคคีกัน
เอกีภาวายะ สังวัตตะติ.                                    ไม่มีวิวาทกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

2 ปุนะ จะปะรัง ภิกขะเว ภิกขุโน,                     ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเข้าไป
เมตตัง วะจีกัมมัง ปัจจุปัฏฐิตัง โหติ,                ตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนสหพรหมจารี
สะพฺรัหฺมะจารีสุ อาวิ เจวะ ระโห จะ,                (เพื่อนภิกษุสามเณร) ทั้งหลาย ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
อะยัมปิ ธัมโม สาราณีโย ปิยะกะระโณ              สาราณียธรรมนี้แล เป็นเหตุก่อให้เกิดความระลึกถึงกัน
คะรุกะระโณ                                                     ความเคารพกันและกัน
สังคะหายะ อะวิวาทายะ สมามัคคิยา               สงเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามัคคีกัน ไม่มี
เอกีภาวายะ สังวัตตะติ.                                    วิวาทกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

3  ปุนะ จะปะรัง ภิกขะเว ภิกขุโน,                    ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเข้าไปตั้ง
เมตตัง มะโนกัมมัง ปัจจุปัฏฐิตัง โหติ,             มโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนสหพรหมจารี
สะพฺรัหฺมะจารีสุ อาวิ เจวะ ระโห จะ,                ทั้งหลาย(ภิกษุและสามเณร) ทั้งในทีแจ้งและในที่ลับ
อะยัมปิ ธัมโม สาราณีโย ปิยะกะระโณ              สาราณียธรรมนี้แล เป็นเหตุก่อให้เกิดความระลึกถึงกัน
คะรุกะระโณ                                                     ความเคารพกันและกัน
สังคะหายะ อะวิวาทายะ สมามัคคิยา               สงเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามัคคีกัน ไม่มี
เอกีภาวายะ สังวัตตะติ.                                    วิวาทกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

4 ปุนะ จะปะรัง ภิกขะเว ภิกขุโน,                     ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเข้าไปตั้ง
เย เต ลาภา ธัมมิกา ธัมมะลัทธา,                       ได้ของสิ่งใดมาก็แบ่งปันกัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมา
อันตะมะโส ปัตตะปะริยาปันนานะมัตตัมปิ,    โดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว
ตะถารูเปหิ ลาเภหิ อัปปะฏิวิภัตตะโภคี โหติ,   นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน
สีละวันเตหิ สะพฺรัหฺมะจารีหิ                            ให้ได้มีส่วนร่วม
สาธาระณะโภคี,                                               ใช้สอยบริโภคทั่วกัน
สะพฺรัหฺมะจารีสุ อาวิ เจวะ ระโห จะ,                ทั้งในทีแจ้งและในที่ลับ
อะยัมปิ ธัมโม สาราณีโย ปิยะกะระโณ              สาราณียธรรมนี้แล เป็นเหตุก่อให้เกิดความระลึกถึงกัน
คะรุกะระโณ                                                     ความเคารพกันและกัน
สังคะหายะ อะวิวาทายะ สมามัคคิยา               สงเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามัคคีกัน
เอกีภาวายะ สังวัตตะติ.                                    ไม่มีวิวาทกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

5 ปุนะ จะปะรัง ภิกขะเว ภิกขุโน,                     ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ยานิ ตานิ สีลานิ อะขัณฑานิ อะฉิททนิ                        ภิกษุเข้าไปตั้งความมีศีลบริสุทธิ์
อะสะพะลานิ อะกัมมาสานิ,                             เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
ภุชิสสานิ วิญญูปะสัตถานิ                               ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
อะปะรามัฏฐานิ สะมาธิสังวัตตะนิกานิ,           คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม
ตะถารูเปสุ สีเลสุ สีละสามัญญะคะโต             ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตน
วิหะระติ,                                                          ให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ
สะพฺรัหฺมะจารีสุ อาวิ เจวะ ระโห จะ,                ทั้งในทีแจ้งและในที่ลับ
อะยัมปิ ธัมโม สาราณีโย ปิยะกะระโณ              สาราณียธรรมนี้แล เป็นเหตุก่อให้เกิดความระลึกถึงกัน
คะรุกะระโณ                                                     ความเคารพกันและกัน
สังคะหายะ อะวิวาทายะ สมามัคคิยา               สงเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามัคคีกัน
เอกีภาวายะ สังวัตตะติ.                                    ไม่มีวิวาทกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

6 ปุนะ จะปะรัง ภิกขะเว ภิกขุโน,                     ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเข้าไปตั้ง
ยายัง อะริยา นิยยานิกามมีทิฏฐิ                       ความดีงามเสมอกันเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อ
นิยาติ ตักกะรัสสะ สัมมาทุกขักขะยายะ,          หน้าและลับหลัง คือ มีความเห็นชอบร่วมกัน
ตถารูปายะ ทิฏฐิยา ทิฏฐิสามัญญะคะโต         ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญที่จะนำไปสู่
วิหะระติ,                                                          ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา
สะพฺรัหฺมะจารีสุ อาวิ เจวะ ระโห จะ,                ทั้งในทีแจ้งและในที่ลับ
อะยัมปิ ธัมโม สาราณีโย ปิยะกะระโณ              สาราณียธรรมนี้แล เป็นเหตุก่อให้เกิดความระลึกถึงกัน
คะรุกะระโณ                                                     ความเคารพกันและกัน
สังคะหายะ อะวิวาทายะ สมามัคคิยา               สงเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามัคคีกัน
เอกีภาวายะ สังวัตตะติ.                                    ไม่มีวิวาทกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
อิเม โข ภิกขะเว ฉะ ธัมมา สาราณียา                ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาราณียธรรม ๖ เหล่านี้แล
ปิยะกะระณา คะรุกะระณา,                              ความระลึกถึงกัน ทำให้มีความเคารพกัน
สังคะหายะ อะวิวาทายะ สามัคคิยา                 ช่วยเหลือกัน และสามัคคีพร้อมเพรียงกัน
เอกีภาวายะ สังวัตตันตีติ.                                 โดยส่วนเดียว
อิทะมะโวจะ ภะคะวา,                                      พระผู้มีพระภาคตรัสภาษิตนี้แล้ว
อัตตะมานา เต ภิกขู ภะคะวะโต ภาสิตัง,          ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น มีใจยินดีภาษิตของ
อภินันทุนติ .                                                    พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแล

--http://watpradhammajak.blogspot.com/2012/02/blog-post_6303.html

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ๘. อุปักกิเลสสูตร (๑๒๘)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤษภาคม 13, 2014, 02:47:46 pm »



พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๔
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๘.  อุปักกิเลสสูตร  (๑๒๘)

   [๔๓๙]  ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
   สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารโฆสิตาราม  เขตพระนคร  โกสัมพี
สมัยนั้นแล  พวกภิกษุในพระนครโกสัมพีเกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกันเสียดสีกันและกันด้วย
ฝีปากอยู่  ฯ

   [๔๔๐]  ครั้งนั้นแล  ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับครั้นแล้วถวาย
อภิวาทพระผู้มีพระภาค  ยืนอยู่  ณ  ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  พอยืน  เรียบร้อยแล้ว  ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พวกภิกษุในพระนครโกสัมพีนี้  เกิดขัดใจทะเลาะ
วิวาทกัน  เสียดสีกันและกันด้วยฝีปากอยู่  ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอาศัยความอนุเคราะห์
เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของ  ภิกษุเหล่านั้นเถิด  พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ  ต่อนั้น  ได้เสด็จ
เข้าไปยังที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้น  ครั้นแล้วได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า 

ดูกรภิกษุทั้งหลายอย่าเลย  อย่าขัดใจ  อย่าทะเลาะ  อย่าแก่งแย่ง  อย่าวิวาทกันเลยเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัส
แล้วอย่างนี้  ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ขอพระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นเจ้าของธรรม  ทรงยับยั้งก่อนขอได้โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย  ทรงประกอบเนืองๆ
แต่สุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด  พวกข้าพระองค์ยังจักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ  ทะเลาะ
แก่งแย่งวิวาทกันเช่นนี้  ฯ

   [๔๔๑]  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นแม้ในวาระที่  ๒  ดังนี้ว่า  ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย  อย่าเลย  อย่าขัดใจ  อย่าทะเลาะ  อย่าแก่งแย่ง  อย่าวิวาทกันเลย  ภิกษุรูปนั้นก็ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาค  แม้ในวาระที่  ๒  ดังนี้ว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ขอพระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นเจ้าของธรรม  ทรงยับยั้งก่อน  ขอได้โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย  ทรงประกอบเนืองๆ
 แต่สุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิด  พวกข้าพระองค์ยังจักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ  ทะเลาะ  แก่งแย่ง
วิวาทกันเช่นนี้  ฯ

[๔๔๒]  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นแม้ในวาระที่  ๓  ดังนี้ว่า  ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย  อย่าเลย  อย่าขัดใจ  อย่าทะเลาะ  อย่าแก่งแย่ง  อย่าวิวาทกันเลย  ภิกษุรูปนั้นก็ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคแม้ในวาระที่  ๓  ดังนี้ว่า  ข้าแต่พระ  องค์ผู้เจริญ  ขอพระผู้มีพระภาคผู้
เป็นเจ้าของธรรม  ทรงยับยั้งก่อน  ขอได้โปรดทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อย  ทรงประกอบเนืองๆ
แต่สุขวิหารธรรมในปัจจุบันอยู่เถิดพวกข้าพระองค์ยังจักปรากฏอยู่ด้วยการขัดใจ  ทะเลาะ
แก่งแย่ง  วิวาทกันเช่นนี้  ฯ

   [๔๔๓]  ครั้งนั้นแล  พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งสบง  ทรงบาตร  จีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาต
ยังพระนครโกสัมพีในเวลาเช้า  ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต  ภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว  ทรง
เก็บเสนาสนะ  กำลังประทับยืนอยู่นั่นแหละ  ได้  ตรัสพระคาถาดังนี้ว่า
                          ภิกษุมีเสียงดังเสมอกัน ไม่มีใครๆ สำคัญตัวว่าเป็นพาล เมื่อ
                          สงฆ์แตกกัน ต่างก็มิได้สำคัญตัวกันเองให้ยิ่ง พวกที่เป็น-
                          บัณฑิต ก็พากันหลงลืม มีปากพูด ก็มีแต่คำพูดเป็นอารมณ์
                          พูดไป เท่าที่ปรารถนาแสดงฝีปาก ไม่รู้เหตุที่ตนนำไป ก็ชน
                          เหล่าใดผูกโกรธเขาว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ประหารเรา
                          คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่า

                          นั้นย่อมไม่สงบ ส่วนชนเหล่าใดไม่ผูกโกรธเขาว่า คนโน้นได้
                          ด่าเรา คนโน้นได้ประหารเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้
                          ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมเข้าไปสงบได้ เวรใน
                          โลกนี้ ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวรเลย ในกาลไหนๆ แต่จะระงับ
                          ได้ด้วยไม่มีเวรกัน นี้เป็นธรรมดามีมาเก่าแก่ ก็คนพวกอื่นย่อม
                          ไม่รู้สึกว่า พวกเราจะย่อยยับในที่นี้ แต่ชนเหล่าใดในที่นั้น
                          รู้สึก ความมาดร้ายกัน ย่อมสงบแต่ชนเหล่านั้นได้ คนพวกอื่น
                          ตัดกระดูกกัน ผลาญชีวิตกัน ลักโค ม้า ทรัพย์กัน แม้ชิง
                          แว่นแคว้นกัน ยังมีคืนดีกันได้ เหตุไร พวกเธอจึงไม่มีเล่า

                          ถ้าบุคคลได้สหายที่มีปัญญารักษาตัวร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์
                          มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่ คุ้มอันตรายทั้งปวงได้ พึงชื่นชม
                          มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด ถ้าไม่ได้สหายที่มีปัญญารักษาตัว
                          ร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์ มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่
                          พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไป เหมือนพระราชาที่ทรงสละราชสมบัติ
                          และเหมือนช้างมาตังคะในป่า ฉะนั้นการเที่ยวไปคนเดียวประ-
                          เสริฐกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกันในคนพาล พึงเป็น
                          ผู้เดียวเที่ยวไป และไม่พึงทำบาป เหมือนช้างมาตังคะมีความ
                          ขวนขวายน้อยในป่าฉะนั้น ฯ

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  บรรทัดที่ ๖๐๑๗ - ๖๓๑๑.  หน้าที่  ๒๕๕ - ๒๖๖.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=6017&Z=6311&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=439
โดย nathaponson >> madchima.org

*************************************************



G+ Suchart Good
Shared publicly  -  10:52 AM  #พระพุทธภาษิต
ทางแห่งความดี
โดย อ.วศิน อินทสระ
เรื่อง โทษแห่งการวิวาท

#พระพุทธภาษิต
ปเร จ น วิชานนฺติ
มยเมตฺถ ยมามฺหเส
เย จํ ตตฺถ วิชานนฺติ
ตโต สมฺมนฺติ เมธคา

คำแปล คนพวกอื่นไม่รู้ดอกว่า เราทั้งหลายย่อยยับอยู่ (เพราะการทะเลาะวิวาทกัน) ส่วนพวกใดรู้เห็นโทษของการทะเลาะวิวาท ความหมายมั่นซึ่งกันและกันก็ย่อมระงับลง
      อธิบายความ การทะเลาะวิวาทนั้นมาจากเหตุ 2 ประการ เป็นอย่างน้อย คือ 1. ผลประโยชน์ขัดกัน และ 2. มีทิฏฐิมานะเข้าหากัน
      สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "คฤหัสถ์ทะเลาะกันด้วยเรื่องกาม (ผลประโยชน์)บรรพชิตทะเลาะกันด้วยเรื่องทิฏฐิ คือความเห็นอันขัดแย้งกัน"

      .เมื่อการทะเลาะเกิดขึ้นย่อมต้องย่อยยับไปทั้งสองฝ่าย พึงเห็นตัวอย่างคนเป็นความ ทั้งฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะต้องเสียอย่างยุบยับ ได้ไม่คุ้มเสีย
      นอกจากนี้ การทะเลาะยังเป็นที่มาแห่งการดูหมิ่นจากผู้อื่น พี่น้องผัวเมีย ทะเลาะกันก็เป็นที่ดูหมิ่นของชาวบ้าน พระทะเลาะกันก็เป็นที่ดูหมิ่นของคฤหัสถ์ และเป็นเหตุให้ชาวบ้านแตกแยกกันด้วย ดังเช่นการทะเลาะวิวาทของภิกษุชาวโกสัมพี

      เรื่องประกอบ เรื่องภิกษุชาวโกสัมพี ที่โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี มีพระคณาจารย์ใหญ่อยู่ 2 คณะ คือ คณะพระวินัยธร (ผู้ทรงวินัย-ผู้เชี่ยวชาญทางวินัย) กับคณะพระธรรมกถึก (ผู้กล่าวธรรม-ผู้เชี่ยวชาญทางแสดงธรรม) อาจารย์ใหญ่ทั้งสองนี้มีศิษย์คนละประมาณ 500

      .วันหนึ่ง พระธรรมกถึกเข้าไปในถาน (ส้วม) ทำสรีรกิจแล้ว เหลือน้ำชำระไว้ในภาชนะแล้วออกมา พระวินัยธรเข้าไปภายหลัง เห็นน้ำนั้นจึงกล่าวแก่พระธรรมกถึกว่าการเหลือน้ำไว้ด้วยเจตนานั้นเป็นอาบัติ แต่ถ้าทำเพราะไม่มีสติ อาบัติก็ไม่มี

      .ด้วยคำพูดตอนหลังของพระวินัยธรนี้ พระธรรมกถึกจึงมิได้แสดงอาบัติ คงปล่อยไว้อย่างนั้น แต่พระวินัยธรมิได้นิ่งเฉย กลับนำเรื่องนั้นมาพูดกับศิษย์ของตนว่า "พระธรรมกถึกแม้ต้องอาบัติก็ไม่รู้"

      .เมื่อศิษย์ของพระวินัยธรเจอศิษย์ของพระธรรมกถึกก็พูดใส่หูเป็นเชิงดูหมิ่นอุปัชฌาย์ของกันและกัน ทั้งสองฝ่ายต่างทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก แล้วการทะเลาะก็แผ่วงกว้างออกไปด้วยประการฉะนี้

      .ต่อมาภายหลัง พระวินัยธรได้โอกาส จึงได้ทำอุกเขปนียกรรม แก่พระธรรมกถึก เพราะการไม่เห็นอาบัติ ตั้งแต่นั้นมา พระสงฆ์ในโฆสิตารามก็แตกกันเป็น 2 พวก แม้อุบาสก อุบาสิกาก็แตกกันเหมือนกัน ตำรากล่าวว่า แม้พวกเทวดาก็แตกกัน

      .ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลความที่ภิกษุสองพวกแตกกัน พวกพระวินัยธรถือว่า การที่พระวินัยธรประกาศอุกเขปนียกรรมแก่พระธรรมกถึกนั้นสมควรแล้ว ส่วนพวกพระธรรมกถึกถือว่าอุปัชฌาย์ของตนไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น การแตกร้าวได้แผ่ไปอย่างกว้างขวาง

      .พระผู้มีพระภาคทรงส่งพระโอวาทไปถึง 2 ครั้งว่า "ขอให้ภิกษุทั้งสองฝ่ายจงพร้อมเพรียงกัน" ทรงสดับว่าภิกษุทั้งหลายไม่ปรารถนาจะพร้อมเพรียงกัน ครั้นครั้งที่สามทรงทราบว่าภิกษุทั้งหลายแตกกันแล้ว เสด็จไปสู่ที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้น ตรัสโทษในการทำอุกเขปนียกรรมของภิกษุผู้ทำอุกเขปนียกรรม และตรัสโทษของการไม่เห็นอาบัติของภิกษุผู้ต้องอาบัติ แต่ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ภิกษุทั้งหลายยังพอใจจะแตกแยกกัน แม้พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว ทรงสั่งสอนแล้วก็ไม่ปรารถนาฟังและทำตาม

      .พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทานุศาสน์เป็นอันมาก เพื่อประสานรอยร้าวให้หาย เช่นว่า
      ."ภิกษุทั้งหลาย! การแตกร้าว แตกแยก และแก่งแย่งกันนั้น นำมาแต่ความพินาศ ไม่เป็นไปเพื่อความดีแก่ใครเลย"

ดังนี้แล้ว ตรัสชาดกเป็นอันมาก มีลฏกิกชาดก เป็นต้น
      .ครั้งนี้ มีภิกษุผู้เป็นธรรมวาที (พูดเป็นธรรม) รูปหนึ่งไม่ประสงค์ให้พระตถาคตเจ้าทรงลำบาก ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

      ."ข้าแต่พระผู้มีพระภาค! ขอพระองค์จงทรงขวนขวายน้อย ขอพระองค์จงอยู่เป็นสุขในปัจจุบันเถิด ข้าพระองค์ทั้งหลายจักปรากฏด้วยกรรมของตนเอง"

      .พระผู้มีพระภาค ทรงมีพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพและไม่มีทั้สิ้นสุดได้ตรัสเล่าเรื่องพระเจ้าฑีฆีติโกศล ซึ่งพระเจ้าพรหมทัตให้ปลงพระชนม์พร้อมทั้งพระอัครมเหสี ต่อมา ฑีฆาวุกุมาร โอรสพระเจ้าโกศลจับพระเจ้าพรหมทัตได้ เพราะฑีฆาวุกุมารยกพระชนม์ให้แก่พระเจ้าพรหมทัต กษัตริย์ทั้งสองได้สมานสามัคคีกันต่อมา พระศาสดาตรัสย้ำว่า

      ."ภิกษุทั้งหลาย! กษัตริย์ทั้งสอง คือ ฑีฆาวุ และพระเจ้าพรหมทัต เป็นผู้มีศาสตราวุธ ยังมีความอดกลั้นและความสงบเสงี่ยมให้อภัยกันได้ ทำไมเล่าเธอทั้งหลายจักปรองดองสามัคคีกันไม่ได้ ภิกษุทั้งหลาย! จักเป็นความงามหาน้อยไม่ หากเธอทั้งหลายผู้บวชในธรรมวินัยอันเรากล่าวดีแล้ว จะพึงเป็นผู้อดกลั้นและสงบเสงี่ยมเรียบร้อย"
      .แต่พระองค์ไม่สามารถให้ภิกษุทั้งหลายพร้อมเพรียงกันได้เลย

      .เช้าวันหนึ่ง จึงเสด็จไปบิณฑบาตในเมืองโกสัมพี ทรงถือจีวรและบาตรด้วยพระองค์เอง มิได้ตรัสบอกภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเลย เสด็จไปทางพาลกโลณการาม ตรัสเอกจาริกวัตร คือ วัตรแห่งภิกษุอยู่ผู้เดียวแก่พระภคุเถระที่พาลกโลณการามนั้น ตรัสอานิสงส์แห่งสามัคคีแก่กุลบุตร 3 คน ในมิคทายวัน ชื่อปาจีนวังสะ แล้วเสด็จไปทางหมู่บ้านชื่อ ปาริเลยยกะ

      .ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอยู่อาศัยบ้านปาริเลยยกะเสด็จจำพรรษาอยู่ที่ใต้ต้นสาละใหญ่ในราวป่ารักขิตวัน ได้รับอุปฐากจากช้างชื่อปาริเลยยกะ เสด็จอยู่จำพรรษาอย่างผาสุก

      .พวกชาวบ้านไปสู่โฆสิตารามไม่เห็นพระศาสดา จึงถามภิกษุทั้งหลาย ทราบความโดยตลอดแล้ว คิดว่า เพราะภิกษุพวกนี้เราจึงมิได้เห็นพระศาสดา ภิกษุพวกนี้บวชในสำนักพระศาสดา แม้เมื่อพระองค์ทรงพยายามเพื่อให้สามัคคีกันอยู่ ก็หาสามัคคีกันไม่ พวกเราจักลงโทษภิกษุพวกนี้โดยการไม่ถวายอาสนะ (ที่นั่ง) ไม่ทำสามีจิกรรม มีการไหว้ เป็นต้น และไม่ยอมถวายอาหารบิณฑบาต

      .ภิกษุพวกนั้นซูบซีดลง เพราะมีอาหารน้อย สองสามวันต่อมา ก็คลายพยศ กลับเป็นคนตรง ต่างก็ขอโทษซึ่งกันและกัน และตั้งใจจะไปกราบขอขมาพระศาสดา แต่ติดที่อยู่ในระหว่างพรรษา จึงอดทนอยู่ จำพรรษด้วยความยากลำบากในเรื่องอาหารเป็นอย่างยิ่ง

      .ได้กล่าวแล้วว่า ในพรรษานั้น พระศาสดาประทับจำพรรษา ณ ป่ารักขิตวัน ใกล้หมู่บ้านปาริเลยยกะ ได้ช้างชื่อปาริเลยยกะอุปฐากอยู่
      .ช้างปาริเลยยกะนั้น หลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เพราะระอิดระอาในความ เกลื่อนกล่นด้วยหมู่คณะ ด้วยช้างพลาย ช้างพัง ช้างสะเทิ้น และลูกช้าง ต้องกินหญ้าที่ปลายขาด เพราะพวกลูกช้างแย่งกินเสียก่อน พวกช้างทั้งหลายคอยแย่งกินซึ่งกิ่งไม้ตนหักลง ต้องดื่มน้ำขุ่น เมื่อลงสู่ท่าน้ำ หรือขึ้นจากท่าน้ำ ก็ต้องเดินเสียดสีกับลูกช้างและช้างทั้งหลาย จึงหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว
      .เมื่อได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงถวายบังคมแล้วเข้าไปหา ปัดกวาดบริเวณใต้ต้นสาละให้สะอาดเรียบ เอางวงจับหม้อตักน้ำเสวยและน้ำใช้มาตั้งไว้ เมื่อพระศาสดามีพระประสงค์น้ำร้อนก็ถวายน้ำร้อน

#วิธีการทำน้ำร้อนของช้าง เป็นดังนี้
      .มันเอางวงจับไม้แห้งสองอันแล้วสีกันให้เกิดไฟ ใส่ฟืนให้ไฟลุกขึ้น เผาศิลาในกองไฟนั้น แล้วเอาท่อนไม้กลิ้งศิลาให้ลงไปในแอ่งน้ำ เมื่อต้องการจะรู้ว่าน้ำร้อนแล้วหรือไม่ มันก็เอางวงหย่อนลงไปในน้ำ เมื่อรู้ว่าน้ำอุ่นแล้ว มันก็ไปถวายบังคมพระศาสดา เป็นทำนองทูลให้ทรงใช้น้ำร้อนได้ มันได้นำผลไม้ประเภทต่างๆ มาถวายพระศาสดาด้วยเหมือนกัน

      .เวลาพระศาสดาเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ช้างได้วางบาตรและจีวรของพระองค์ไว้บนตระพอง ตามเสด็จพระศาสดาไป เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงเขตบ้านจึงรับสั่งว่า "ปาริเลยยกะ ตั้งแต่นี้ไป เจ้าจะเข้าไปไม่ได้ จงเอาบาตรและจีวรของเรามา"
      .ช้างจะยืนอยู่ที่นั่นเองจนกว่าพระพุทธองค์จะเสด็จกลับ ทำการต้อนรับ ถือบาตรและจีวรไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว ไปวางไว้ ณ ที่ประทับ แล้วนำกิ่งไม้มาต่างพัด ยืนพัดพระศาสดาอยู่
      .เวลากลางคืน ช้างนั้นจะถือท่อนไม้ท่อนใหญ่ เดินวนเวียนอยู่ในบริเวณอันเป็นที่ประทับของพระศาสดา และที่ใกล้เคียง เพื่อป้องกันอันตรายให้พระผู้มีพระภาค จนรุ่งอรุณ เมื่อรุ่งอรุณแล้วก็ทำกิจอย่างอื่น อย่างที่เคย ทำมาทุกวัน มีการถวายน้ำสรงพระพักตร์ เป็นต้น

      .กาลนั้น มีลิงตัวหนึ่ง เห็นช้างทำอยู่เช่นนั้นก็อยากจะทำอะไรบ้าง วันหนึ่งเห็นรังผึ้งที่กิ่งไม้ไม่มีตัวผึ้ง จึงหักกิ่งไม้นั้นไปถวาย พระผู้มีพระภาค นั่งจ้องมองดุจว่าพระผู้มีพระภาคจะเสวยหรือไม่ พระศาสดารับแล้ว ทรงเฉยอยู่ ลิงคิดว่า ทำไมหนอพระองค์จึงไม่เสวย จึงจับกิ่งไม้พิจารณาดูอีกทีหนึ่งเห็นตัวอ่อน จึงค่อยๆ นำตัวอ่อนเหล่านั้นออกแล้วถวายใหม่ พระศาสดาเสวยแล้ว

      .เมื่อเห็นดังนั้น ลิงมีความยินดีอย่างยิ่ง ยืนฟ้อนอยู่ไปมาบนกิ่งไม้ มันกระโดดไปมาด้วยความยินดี บังเอิญกิ่งไม้หัก มันตกลงมาตรงตอไม้แหลมอันหนึ่ง ถูกตอนั้นแทงสิ้นใจตาย มันมีจิตเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ไปเกิดในภพดาวดึงส์

      .การที่พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกเร้นไปอยู่ในป่ารักขิตวันนั้น เป็นข่าวอันแพร่สะพัดไปเกือบทั่วชมพูทวีป ทางเมืองสาวัตถี ท่านอนาถปิณฑิกะ และ วิสาขามหาอุบาสิกาได้จัดการส่งสาส์น ไปถึงพระอานนท์ ว่า ขอให้นำเสด็จพระศาสดาไปสู่สาวัตถี

      .ฝ่ายภิกษุจำนวนมากผู้จำพรรษาอยู่ในทิศต่างๆ เมื่อออกพรรษาแล้ว ต้องการได้เฝ้าและฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ จึงไปหาพระอานนท์ วอนขอว่า "ท่านผู้เจริญนานนักหนาแล้วที่ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมจากพระศาสดา ขอท่านได้โปรดให้พวกข้าพเจ้าได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์อีกเถิด"

      .พระอานนท์พาภิกษุเหล่านั้นไปเฝ้าพระศาสดา ณ ป่ารักขิตวัน เมื่อไปถึงชายป่า ท่านคิดว่าการนำภิกษุทั้งหมดเข้าเฝ้ายังไม่สมควรก่อน ควรให้ภิกษุเหล่านั้นพักรออยู่ภายนอก ส่วนตัวท่านเองเข้าไปรูปเดียวก่อน นี่เป็นความรอบคอบของพระอานนท์ คิดดังนี้แล้วจึงเข้าไปเฝ้าเพียงรูปเดียว

      .ช้างปาริเลยยกะ เห็นพระอานนท์มาแต่ไกล จับท่อนไม้ได้วิ่งไปเพื่อไล่พระอานนท์ พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นจึงตรัสว่า "ปาริเลยยกะ! หลีกไปก่อน อย่าห้ามภิกษุนั้น, เธอเป็นอุปฐากของเรา"

      .ช้างรู้เช่นนั้นจึงรีบทิ้งท่อนไม้ แล้วแสดงอาการเอื้อเฟื้อในการรับบาตรและจีวร แต่พระอานนท์ไม่ยอมให้ช้างยืนมองดูอยู่ คิดว่า "ถ้าภิกษุรูปนี้ เป็นผู้มีวัตรจริยามรรยาทดี จะต้องไม่วางบริขารของตนไว้บนแผ่นศิลาอันเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาค"

      .พระอานนท์ได้วางบาตรและจีวรของตนไว้ที่พื้น ช้างได้เห็นดังนั้นก็มีจิตเลื่อมใส จริงอยู่ศิษย์ผู้มีมรรยาทดีย่อมไม่วางเครื่องใช้ของตนไว้บนที่นั่งที่นอนของครู

      .พระอานนท์ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่อันควรแก่ตนแห่งหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามว่า
"อานนท์! เธอมาเพียงผู้เดียวหรือ?"
"มีภิกษุมาด้วยเป็นอันมาก พระเจ้าข้า"

"เธอเหล่านั้นอยู่ที่ไหน?"
"ข้าพระพุทธเจ้า ไม่ทราบน้ำพระทัยของพระองค์ จึงพักภิกษุเหล่านั้นไว้ภายนอกก่อน พระเจ้าข้า"
"ไปนำมาเถิด"

      .พระอานนท์ นำภิกษุเหล่านั้นเข้าเฝ้า พระศาสดาทรงปฏิสันถารกับเธอทั้งหลายด้วยพระอัธยาศัยอันนุ่มนวล ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า
"พระเจ้าข้า! พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นพระพุทธเจ้าอันสุขุม (ละเอียดอ่อน) ทรงเป็นกษัตริย์อันสุขุม พระองค์เสด็จอยู่พระองค์เดียวตลอดไตรมาส ชื่อว่ากระทำกิจอันทำได้โดยยาก ผู้ปฏิบัติพระองค์ คงมิได้มี ฯ ที่นี้"

พระศาสดาตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ช้างปาริเลยยกะได้ทำกิจทั้งปวงอันควรทำแก่เรา การอยู่ร่วมกับสหายเห็นป่านนี้สมควรแท้ หากไม่ได้สหายอย่างนี้ การเที่ยวไปผู้เดียว อยู่ผู้เดียวเป็นสิ่งประเสริฐกว่า" ดังนี้แล้ว ตรัสพระพุทธพจน์ดังนี้:

"ถ้าบุคคลได้สหายผู้มีปัญญา มีคุณธรรม มุ่งประโยชน์อันดี ไว้เป็นมิตรสำหรับไปมาด้วยกันไซร้ ก็ควรมีใจยินดีมีสติ ตั้งใจบำบัดอันตรายแก่สหายนี้ ถ้าไม่ได้สหายเช่นนั้น ก็ควรเที่ยวไปคนเดียว เหมือนพระราชาทรงสละราชบัลลังก์เที่ยวไปผู้เดียว หรือเหมือนช้างชื่อมาตังคะเที่ยวไปแต่ผู้เดียวในป่า การเที่ยวไปผู้เดียวนั้นประเสริฐกว่า เพราะความเป็นสหายไม่มีในคนพาล เมื่อไม่ได้สหายที่มีปัญญาคุ้มครองตนก็ควรเที่ยวไปแต่ผู้เดียว และไม่ควรทำบาปทั้งหลาย"

      .เมื่อพระศาสดาตรัสจบ ภิกษุ 500 รูป ได้สำเร็จพระอรหัตตผลพระอานนท์ทูลสาส์นที่ตระกูลใหญ่ๆ มีท่านอนาถปิณทิกะ เป็นต้น ส่งมาทูลเชิญเสด็จพระศาสดาสู่นครสาวัตถี พระศาสดาตรัสกับพระอานนท์ว่า "ถ้าอย่างนั้นเธอจงรับบาตรและจีวรไป" ดังนี้แล้วเสด็จออกไป

      .ช้างได้ยืนขวางทางไว้ ภิกษุทั้งหลายได้เห็นแล้วทูลถามพระพุทธองค์ว่า ทำไมช้างจึงยืนขวางทาง พระศาสดาตรัสตอบว่า "ช้างมีความประสงค์จะถวายอาหาร ช้างนี้มีอุปการต่อเรามานาน การทำให้จิตใจของเขาขัดเคือง ไม่ควรเลยภิกษุทั้งหลายพวกเราอย่าเพิ่งไปเลย กลับกันก่อนเถิด" ดังนี้แล้ว พระศาสดาได้พาภิกษุทั้งหลายกลับมาประทับที่เดิม

      .ฝ่ายช้างรีบเข้าไปในป่า รวบรวมผลไม้ต่างๆ มีผลขนุนและกล้วยเป็นต้นมากองไว้ วันรุ่งขึ้นพระศาสดาได้เสวยและภิกษุทั้งหลายได้ฉันผลไม้เหล่านั้น แต่ฉันไม่หมด เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว พระศาสดาทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เองเสด็จออกไปก่อน ช้างได้ติดตามไปและยืนขวางพระพักตร์ไว้ เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลถาม พระศาสดาตรัสว่า ช้างประสงค์จะให้พวกเธอทั้งหลายกลับไป แต่จะให้พระองค์เสด็จกลับ

      .พระศาสดาตรัสกับพญาช้างปาริเลยยกะว่า "ปาริเลยยกะเอย ในอัตตภาพนี้ เธอเป็นดิรัจฉาน ไม่อาจบรรลุฌาณ หรือวิปัสสนา หรือมรรคผลได้ เจ้าจงอยู่ที่นี่เถิด อย่าติดตามไปเลย"
      .ช้างฟังแล้วเอางวงเข้าปากร้องไห้ และติดตามไปเบื้องหลัง ยังมีความประสงค์จะอัญเชิญพระศาสดาให้เสด็จกลับ

เมื่อเสด็จถึงเขตบ้านปาริเลยยกะ พระศาสดาผิน พระพักตร์มาตรัสกับช้างว่า
"ปาริเลยยกะ! ต่อไปนี้เป็นแดนของมนุษย์ มิใช่ถิ่นของเจ้า มีภัยอยู่รอบด้านสำหรับเจ้า จงหยุดอยู่เพียงแค่นี้เถิด อย่าเดินต่อไปอีกเลย"
      .ช้างไม่อาจติดตามไปอีกได้, ยืนร้องไห้อยู่ตรงนั้น ยืนมองดูพระศาสดา พอพระองค์ลับคลองจักษุไป ใจของช้างก็แตกด้วยอำนาจแห่งความรัก
      .ช้างนั้นสิ้นชีพแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทพบุตรชื่อปาริเลยยกะ

      .ฝ่ายภิกษุชาวเมืองโกสัมพีได้ทราบข่าวว่า บัดนี้พระศาสดาเสด็จถึงเมืองสาวัตถีแล้ว ได้พากันไปยังสาวัตถีเพื่อทูลขอให้พระศาสดาประทานอภัย
      .พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงทราบว่า พวกภิกษุชาวโกสัมพีมา จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลว่าจะไม่ยอมให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าเมือง ฝ่ายอนาถปิณทิกะเศรษฐีก็เหมือนกัน กราบทูลพระศาสดาว่าจะไม่ยอมให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าวัดเชตวันของตน แต่พระศาสดาทรงชี้แจงว่า ภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นผู้มีศีล แต่ไม่เชื่อคำของพระองค์ เพราะการทะเลาะกัน บัดนี้ภิกษุเหล่านั้นชวนกันมาเพื่อขอขมาพระองค์ ขอให้พวกเธอมาเถิด

      .เมื่อภิกษุเหล่านั้นถึงสาวัตถีแล้ว พระศาสดารับสั่งให้จัดเสนาสนะแห่งนึ่งเป็นที่สงัดให้เป็นที่อยู่ของพวกเธอ ไม่ให้ภิกษุเหล่าอื่นปะปนอยู่

      .ในการประชุมก็ทรงให้ภิกษุชาวโกสัมพีรวมอยู่ด้วยกันที่หนึ่ง ประชาชนที่มาประชุมกันก็ถามพระศาสดาว่า พวกไหนคือภิกษุชาวโกสัมพี พระศาสดาตรัสชี้ให้ดูว่า "พวกนั้นๆ" ใครมาก็ถามจนภิกษุพวกนั้นละอาย นั่งก้มหน้าวิ่งไม่อาจเงยหน้าได้ ฟุบลงแทบพระบาทแห่งพระผู้มีพระภาคทูลขอขมา

พระศาสดา ทรงเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย! เธอทั้งหลายทำกรรมหนักเสียแล้ว เธอทั้งหลายบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าเช่นเรา เมื่อเราสมานสามัคคี เธอทั้งหลายก็หาทำตามไม่ ส่วนบัณฑิตในกาลก่อนสดับโอวาทของมารดาบิดาผู้ต้องถูกประหารชีวิตแล้ว มิได้ขัดขืนโอวาทของมารดาบิดา ปฏิบัติตามโอวาทของท่านภายหลังได้ประสบโชคดี ได้ครองแคว้นถึง 2 แคว้น คือกาสีและโกศล" ดังนี้แล้ว ตรัสทีฆาวุกุมารชาดก และตรัสต่อไปว่า

"คนพวกอื่น ไม่รู้ดอกว่า เราทั้งหลายย่อยยับอยู่ (เพราะการทะเลาะวิวาท) ส่วนพวกใดรู้ เห็นโทษของการทะเลาะวิวาท ความหมายมั่นซึ่งกันและกันย่อมระงับลง"
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 14, 2014, 11:35:27 pm โดย ฐิตา »