ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต (ป. อ. ปยุตฺโต)  (อ่าน 19816 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


                               


พุทธธรรม :พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)
 ๑๔ กันยายน ๒๕๔๔
ส่วนนำ ความนำ
พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต

ความนำ สิ่งที่ควรเข้าใจก่อน

พระพุทธศาสนานั้น เมื่อมองในทัศนะของคนสมัยใหม่ มักเกิดปัญหาขึ้นบ่อยๆ
ว่าเป็นศาสนา (religion) หรือเป็นปรัชญา (philosophy)
หรือว่าเป็นเพียงวิธีครองชีวิตแบบหนึ่ง (a way of life) เมื่อปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว
ก็เป็นเหตุให้ต้องถกเถียงหรือแสดงเหตุผล ทำให้เรื่องยืดยาวออกไป
อีกทั้งมติในเรื่องนี้ก็แตกต่างไม่ลงเป็นแบบเดียวกัน ทำให้เป็นเรื่องฟั่นเฝือ ไม่มีที่สิ้นสุด

ในที่นี้ แม้จะเขียนเรื่องพุทธธรรมไว้ในหมวดปรัชญาก็จะไม่พิจารณา
ปัญหานี้เลย มุ่งแสดงแต่ในขอบเขตว่า พุทธธรรมสอนว่าอย่างไร มีเนื้อหา
อย่างไรเท่านั้น ส่วนที่ว่าพุทธธรรมจะเป็นปรัชญาหรือไม่
ให้เป็นเรื่องของปรัชญาเองที่จะมีขอบเขตครอบคลุมหรือสามารถตีความให้ครอบคลุมถึง
พุทธธรรมได้หรือไม่ โดยที่ว่าพุทธธรรม ก็คือพุทธธรรม และยังคงเป็น
พุทธธรรมอยู่นั่นเอง มีข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวว่า หลักการหรือคำสอนใดก็ตาม
ที่เป็นเพียงการคิดค้นหาเหตุผลในเรื่องความจริงเพื่อสนองความต้องการ
ทางปัญญา โดยมิได้มุ่งและแสดงแนวทางสำหรับประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริง
อันนั้น ให้ถือว่า ไม่ใช่พระพุทธศาสนา เฉพาะอย่างที่ถือว่า
เป็นคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งในที่นี้เรียกว่าพุทธธรรม


การประมวลคำสอนในพระพุทธศาสนามาวางเป็นข้อสรุปลงว่า พุทธธรรมที่
พระพุทธเจ้าทรงสอนและทรงมุ่งหมายแท้จริง เป็นอย่างไรนั้น
เป็นเรื่องยาก แม้จะยกข้อความในคัมภีร์ซึ่งถือกันว่าเป็นพุทธพจน์มาอ้าง
เพราะคำสอนในคัมภีร์มีปริมาณมากมาย มีแง่ด้านระดับความลึกซึ้งต่างๆ กัน
และขึ้นต่อการตีความของบุคคล โดยใช้สติปัญญาและความสุจริตใจหรือไม่เพียงไรด้วย
ในบางกรณี ผู้ถือความเห็นต่างกันสองฝ่าย อาจยกข้อความในคัมภีร์มา
สนับสนุนความคิดเห็นของตนได้ด้วยกันทั้งคู่ การวินิจฉัยความจริงจึงขึ้นต่อ
ความแม่นยำในการจับสาระสำคัญ และความกลมกลืนสอดคล้องแห่งหลัก
การและหลักฐานที่แสดงทั้งหมดโดยหน่วยรวม
เป็นข้อสำคัญ แม้กระนั้น
เรื่องที่แสดงและหลักฐานต่างๆ ก็มักไม่กว้างขวางครอบคลุมพอ จึงหนีไม่พ้นจากอิทธิพล
ความเห็นและความเข้าใจพื้นฐานต่อพุทธธรรมของบุคคลผู้แสดงนั้น


ในเรื่องนี้ เห็นว่ายังมีองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งที่ควรนำมาเป็นเครื่องวินิจฉัยด้วย
คือ ความเป็นไปในพระชนมชีพ  และพระปฏิปทาของ
องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ผู้เป็นแหล่งหรือที่มาของคำสอนเอง บุคลิกและ
สิ่งที่ผู้สอนได้กระทำ อาจช่วยแสดงความประสงค์ที่แท้จริงของผู้สอนได้ดีกว่า
คำสอนเฉพาะแห่งๆ ในคัมภีร์ หรืออย่างน้อยก็เป็นเครื่องประกอบ
ความเข้าใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถึงหากจะมีผู้ติงว่า องค์ประกอบข้อนี้ก็ได้จาก
คัมภีร์ต่างๆเช่นเดียวกับคำสอน และขึ้นต่อการตีความได้เหมือนกัน
แม้กระนั้น ก็ยังต้องยอมรับอยู่นั่นเองว่า เป็นเครื่องประกอบการพิจารณาที่มีประโยชน์มาก

จากหลักฐานต่างๆ ทางฝ่ายคัมภีร์และประวัติศาสตร์ พอจะวาดภาพ
เหตุการณ์และสภาพสังคมครั้งพุทธกาลได้คร่าวๆ ดังนี้

 พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในชมพูทวีป เมื่อประมาณ ๒,๖๐๐ ปีล่วงมา
แล้ว ทรงประสูติในวรรณะกษัตริย์ พระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เป็น
โอรสของพระเจ้าสุทโธทนะผู้ครองแคว้นศากยะ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออก
เฉียงเหนือของชมพูทวีป ติดเชิงเขาหิมาลัย ในฐานะโอรสกษัตริย์และเป็น
ความหวังของราชตระกูล พระองค์จึงได้รับการปรนเปรอด้วยโลกียสุขต่างๆ
อย่างเพียบพร้อม และได้ทรงเสวยความสุขอยู่เช่นนี้เป็นเวลานานถึง ๒๙ ปี
ทรงมีทั้งพระชายาและพระโอรส

 ครั้งนั้น ในทางการเมือง รัฐบางรัฐที่ปกครองแบบราชาธิปไตยกำลัง
เรืองอำนาจขึ้น และกำลังพยายามทำสงครามแผ่ขยายอำนาจและอาณาเขต
ออกไป รัฐหลายรัฐ โดยเฉพาะที่ปกครองแบบสามัคคีธรรม  (หรือแบบสาธารณรัฐ)
กำลังเสื่อมอำนาจลงไปเรื่อยๆ บางรัฐก็ถูกปราบรวมเข้าในรัฐอื่นแล้ว บาง
รัฐที่ยังเข้มแข็งก็อยู่ในสภาพตึงเครียด สงครามอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ แม้รัฐ
ใหญ่ที่เรืองอำนาจ ก็มีการขัดแย้งรบพุ่งกันบ่อยๆ

 ในทางเศรษฐกิจ การค้าขายกำลังขยายตัวกว้างขวางขึ้น เกิดคน
ประเภทหนึ่งมีอิทธิพลมากขึ้นในสังคม คือ พวกเศรษฐี ซึ่งมีสิทธิ มีเกียรติยศ
และอิทธิพลมากขึ้นแม้ในราชสำนัก

ในทางสังคม คนแบ่งออกเป็น ๔ วรรณะตามหลักคำสอนของศาสนา
พราหมณ์ มีสิทธิ เกียรติ ฐานะทางสังคม และอาชีพการงาน  แตกต่างกัน
ไปตามวรรณะของตนๆ แม้นักประวัติศาสตร์ฝ่ายฮินดูจะว่าการถือวรรณะใน
ยุคนั้นยังไม่เคร่งครัดนัก แต่อย่างน้อยคนวรรณะศูทร  ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟัง
หรือกล่าวความในพระเวทอันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ได้
ทั้งมี
กำหนดโทษไว้ (เท่าที่ทราบจากมานวธรรมศาสตร์ต่อมา ถึงกับให้ผ่าร่างกาย
เป็น ๒ ซีก) และคนจัณฑาลหรือพวกนอกวรรณะก็ไม่มีสิทธิได้รับการศึกษา
เลย การกำหนดวรรณะก็ใช้ชาติกำเนิดเป็นเครื่องแบ่งแยก โดยเฉพาะพวก
พราหมณ์พยายามยกตนขึ้น ถือตัวว่าเป็นวรรณะสูงสุด

 ส่วนในทางศาสนา พวกพราหมณ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นผู้รักษาศาสนา
พราหมณ์สืบต่อกันมา ก็ได้พัฒนาคำสอนในด้านลัทธิพิธีกรรมต่างๆ ให้ลึกลับ
ซับซ้อนใหญ่โตโอ่อ่าขึ้น พร้อมกับที่ไร้เหตุผลลงโดยลำดับ การที่ทำดังนี้ มิใช่
เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนาเท่านั้น แต่มุ่งสนองความต้องการของผู้มี
อำนาจ ที่จะแสดงถึงเกียรติยศความยิ่งใหญ่ของตนประการหนึ่ง และด้วย
มุ่งหวังผลประโยชน์ตอบแทนที่จะพึงได้จากผู้มีอำนาจเหล่านั้นอย่างหนึ่ง พิธี
กรรมเหล่านี้ล้วนชักจูงให้คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากขึ้น เพราะหวังผล
ตอบแทนเป็นทรัพย์สมบัติและกามสุขต่างๆ พร้อมกันนี้ ก็ก่อความเดือดร้อน
แก่คนชั้นต่ำ พวกทาสกรรมกรที่ต้องทำงานหนัก และการทารุณต่อสัตว์ด้วย
การฆ่าบูชายัญครั้งละเป็นจำนวนมากๆ

 ในเวลาเดียวกันนี้ พราหมณ์จำนวนหนึ่งได้คิดว่าพิธีกรรมต่างๆ ไม่
สามารถทำให้ตนประสบชีวิตนิรันดรได้ จึงได้เริ่มคิดเอาจริงเอาจังกับปัญหา
เรื่องชีวิตนิรันดร และหนทางที่จะนำไปสู่สภาวะเช่นนั้น ถึงกับยอมปลีกตัว
ออกจากสังคมไปคิดค้นแสวงคำตอบอาศัยความวิเวกอยู่ในป่า และคำสอน
ของศาสนาพราหมณ์ในยุคนี้ ซึ่งเรียกว่า ยุคอุปนิษัท ก็มีความขัดแย้งกัน
เองมาก บางส่วนอธิบายเพิ่มเติมเรื่องพิธีกรรมต่างๆ บางส่วนกลับประณาม
พิธีกรรมเหล่านั้น และในเรื่องชีวิตนิรันดรก็มีความเห็นต่างๆ กัน มีคำสอน
เรื่องอาตมันแบบต่างๆ ที่ขัดกัน จนถึงขั้นสุดท้ายที่ว่า อาตมัน คือพรหมัน
เป็นที่มาและแทรกซึมอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง มีภาวะที่อธิบายไม่ได้อย่างที่เรียก

ว่า “เนติ เนติ” (ไม่ใช่นั่น ไม่ใช่นั่น) เป็นจุดหมายสูงสุดของการบำเพ็ญเพียร
ทางศาสนา และพยายามแสดงความหมายโต้ตอบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสภาพ
ของภาวะเช่นนี้ พร้อมกับที่หวงแหนความรู้เหล่านี้ไว้ในหมู่พวกตน
 พร้อมกันนั้น นักบวชอีกพวกหนึ่ง ซึ่งเบื่อหน่ายต่อความไร้สาระแห่ง
ชีวิตในโลกนี้ ก็ได้ไปบำเพ็ญเพียรแบบต่างๆ ตามวิธีการของพวกตนๆ ด้วย
หวังว่าจะได้พบชีวิตอมตะหรือผลสำเร็จอันวิเศษอัศจรรย์ต่างๆ ที่ตนหวัง
บ้างก็บำเพ็ญตบะ ทรมานตนด้วยประการต่างๆ ตั้งต้นแต่อดอาหารไปจนถึง
การทรมานร่างกายแบบแปลกๆ ที่คนธรรมดาคิดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้ บ้างก็
บำเพ็ญสมาธิจนถึงกล่าวว่าทำปาฏิหาริย์ได้ต่างๆ บ้างก็สามารถบำเพ็ญฌาน
จนได้ถึงรูปสมาบัติ อรูปสมาบัติ

 อีกด้านหนึ่ง นักบวชประเภทที่เรียกว่าสมณะอีกหลายหมู่หลายพวก ซึ่ง
ได้สละเหย้าเรือนออกบวชแสวงหาจุดหมายชีวิตเช่นเดียวกัน ก็ได้เร่ร่อนท่อง
เที่ยวไปในบ้านเมืองต่างๆ ถกเถียงถามปัญหากันบ้าง ตั้งตนเป็นศาสดาแสดง
ทัศนะของตนต่างๆ กันหลายแบบหลายอย่าง จนปรากฏว่า เกิดมีลัทธิต่างๆ
ขึ้นเป็นอันมาก  เฉพาะที่เด่นๆ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา ถึง ๖ ลัทธิ
 สภาพเช่นนี้ จะสรุปสั้นๆ คงได้ความว่า ยุคนั้น คนพวกหนึ่งกำลังรุ่ง
เรืองขึ้นด้วยอำนาจ ร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติ และเพลิดเพลินมัวเมาอยู่กับ
การแสวงหาความสุขทางวัตถุ พร้อมกับที่คนหลายพวกก็มีฐานะและความ
เป็นอยู่ด้อยลงๆ ไป ไม่ค่อยได้รับความเหลียวแล ส่วนคนอีกพวกหนึ่ง ก็ปลีก
ตัวออกไปเสียจากสังคมทีเดียว ไปมุ่งมั่นค้นหาความจริงในทางปรัชญา โดย
มิได้ใส่ใจสภาพสังคมเช่นเดียวกัน

 เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงได้รับการบำรุงบำเรอด้วยโลกียสุขอยู่เป็นเวลา
นานถึง ๒๙ ปี และมิใช่เพียงปรนปรือเอาใจเท่านั้น ยังได้ทรงถูกปิดกั้นไม่ให้
พบเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่ระคนด้วยความทุกข์ของสามัญชนทั้งหลายด้วย
แต่สภาพเช่นนี้ไม่สามารถถูกปิดบังจากพระองค์ได้เรื่อยไป ปัญหาเรื่องความ
ทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆ ของมนุษย์ อันรวมเด่นอยู่ที่ความแก่ เจ็บ และ
ตาย เป็นสิ่งที่ทำให้พระองค์ต้องครุ่นคิดแก้ไข


 ปัญหานี้ คิดสะท้อนออกไปในวงกว้างให้เห็นสภาพสังคม ที่คนพวก
หนึ่งได้เปรียบกว่า ก็แสวงหาแต่โอกาสที่จะหาความสมบูรณ์พูนสุขใส่ตน
แข่งขันแย่งชิงเบียดเบียนกัน หมกมุ่นมัวเมาอยู่ในความสุขเหล่านั้น ไม่ต้อง
คิดถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของใครๆ ดำรงชีวิตอยู่อย่างทาสของวัตถุ
ยามสุขก็ละเมอมัวเมาอยู่ในความคับแคบของจิตใจ ถึงคราวถูกความทุกข์
เข้าครอบงำก็ลุ่มหลงไร้สติเหี่ยวแห้งคับแค้นเกินสมควร แล้วก็แก่เจ็บตายไป
อย่างไร้สาระ ฝ่ายคนที่เสียเปรียบ ไม่มีโอกาส ถูกบีบคั้นกดขี่อยู่อย่างคับ
แค้น แล้วก็แก่เจ็บตายไปโดยไร้ความหมาย

 เจ้าชายสิทธัตถะทรงมองเห็นสภาพเช่นนี้แล้ว ทรงเบื่อหน่ายใน
สภาพความเป็นอยู่ของพระองค์ มองเห็นความสุขความปรนเปรอเหล่านั้น
เป็นของไร้สาระ ทรงคิดหาทางแก้ไขจะให้มีความสุขที่มั่นคง เป็นแก่นสาร
ทรงคิดแก้ปัญหานี้ไม่ตก และสภาพความเป็นอยู่ของพระองค์ท่ามกลาง
ความเย้ายวนสับสนวุ่นวายเช่นนั้น ไม่อำนวยแก่การใช้ความคิดที่ได้ผล

 ในที่สุด ทรงมองเห็นภาพพวกสมณะ ซึ่งเป็นผู้ได้ปลีกตัวจากสังคม
ไปค้นคว้าหาความจริงต่างๆ โดยมีความเป็นอยู่ง่ายๆ ปราศจากกังวล และ
สะดวกในการแสวงหาความรู้และคิดหาเหตุผล สภาพความเป็นอยู่แบบนี้น่า
จะช่วยพระองค์ให้แก้ปัญหานี้ได้ และบางทีสมณะพวกนั้น ที่ไปคิดค้นหา
ความจริงกันต่างๆ บางคนอาจมีอะไรบางอย่างที่พระองค์จะเรียนรู้ได้บ้าง

 เมื่อถึงขั้นนี้ เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จออกบรรพชาอย่างพวกสมณะที่
มีอยู่แล้วในสมัยนั้น พระองค์ได้เสด็จจาริกไปศึกษาหาความรู้เท่าที่พวกนัก
บวชสมัยนั้นจะรู้และปฏิบัติกัน ทรงศึกษาทั้งวิธีการแบบโยคะ ทรงบำเพ็ญ
สมาธิจนได้ฌานสมาบัติ ถึงอรูปสมาบัติชั้นสูงสุด ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้
อย่างเชี่ยวชาญยิ่ง และทรงบำเพ็ญตบะทรมานพระองค์จนแทบสิ้นพระชนม์

 ในที่สุดก็ทรงตัดสินได้ว่า วิธีการของพวกนักบวชเหล่านี้ทั้งหมด ไม่
สามารถแก้ปัญหาดังที่พระองค์ทรงประสงค์ได้ เมื่อเทียบกับชีวิตของพระ
องค์ก่อนเสด็จออกบรรพชาแล้ว ก็นับว่าเป็นการดำรงชีวิตอย่างเอียงสุดทั้ง
สองฝ่าย จึงทรงหันมาดำเนินการคิดค้นของพระองค์เองต่อมา จนในที่สุดได้
ตรัสรู้  ธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบนี้
ต่อมาเมื่อทรงนำไปแสดงให้ผู้อื่นฟัง
ทรงเรียกว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา” หรือ หลักธรรมสายกลาง และทรง
เรียกข้อปฏิบัติอันเป็นระบบที่พระองค์ทรงจัดวางขึ้นว่า “มัชฌิมาปฏิปทา
หรือ ทางสายกลาง


 จากความท่อนนี้ จะมองเห็นทัศนะตามแนวพุทธธรรมว่า การดำรง
ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างลุ่มหลงหมกมุ่นปล่อยตัวไปเป็นทาสตามกระแสกิเลส 
ก็ดี การหลีกหนีออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่เกี่ยวข้องรับผิดชอบอย่างใดต่อสังคม
อยู่อย่างทรมานตนก็ดี นับว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิดเอียงสุดด้วยกันทั้งสองอย่าง
ไม่สามารถให้มนุษย์ดำรงชีวิตอย่างมีความหมายแท้จริงได้

 เมื่อตรัสรู้แล้วเช่นนี้ พระองค์จึงเสด็จกลับคืนมาทรงเริ่มต้นงานสั่ง
สอนพุทธธรรมเพื่อประโยชน์แก่สังคมของชาวโลกอย่างหนักแน่นจริงจัง
และทรงดำเนินงานนี้จนตลอด ๔๕ ปี แห่งพระชนมชีพระยะหลัง

 แม้ไม่พิจารณาเหตุผลด้านอื่น มองเฉพาะในแง่สังคมอย่างเดียว ก็จะ
เห็นว่า พุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคมสมัยนั้น
จะสำเร็จผลดีที่สุดก็ด้วยการทำงานในบรรพชิตเพศเท่านั้น พระองค์จึงได้
ทรงชักจูงคนชั้นสูงจำนวนมากให้ละความมั่งมีศรีสุข ออกบวช ศึกษา และ
เข้าถึงธรรมที่ทรงสอนแล้ว ร่วมทำงานอย่างเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์
สุขของประชาชน ด้วยการจาริกไปเข้าถึงคนทุกชั้นวรรณะ และทุกถิ่นที่จะ
ไปถึงได้ ทำให้บำเพ็ญประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง

 อีกประการหนึ่ง คณะสงฆ์เองก็เป็นแหล่งแก้ปัญหาสังคมได้อย่าง
สำคัญ เช่นในข้อว่า ทุกคน ไม่ว่าจะเกิดในวรรณะใด เมื่อบวชแล้วก็มีสิทธิ
เสมอกันทั้งสิ้น ส่วนเศรษฐี คฤหบดี ผู้ยังไม่พร้อมที่จะเสียสละได้เต็มที่ ก็ให้
คงครองเรือนอยู่เป็นอุบาสก คอยช่วยให้กำลังแก่คณะสงฆ์ในการบำเพ็ญ
กรณียกิจของท่าน และนำทรัพย์สมบัติของตนออกบำเพ็ญประโยชน์
สงเคราะห์ประชาชนไปด้วยพร้อมกัน

 การบำเพ็ญกรณียกิจ ทั้งของพระพุทธเจ้าและของพระสาวก มีวัตถุ
ประสงค์และขอบเขตกว้างขวางเพียงใด จะเห็นได้จากพุทธพจน์ แต่ครั้งแรก
ที่ทรงส่งสาวกออกประกาศพระศาสนาว่า

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุข ของชนเป็นอันมาก
เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและ ความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 01, 2013, 08:01:49 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


 พุทธธรรมนั้นมีขอบเขตในทางสังคมที่จะให้ใช้ได้และเป็นประโยชน์แก่
บุคคลประเภทใดบ้าง พึงเห็นได้จากพุทธพจน์ในปาสาทิกสูตร ซึ่งสรุปความ
ได้ว่า

 พรหมจรรย์ (คือพระศาสนา) จะชื่อว่าสำเร็จผลแพร่หลายกว้างขวาง
เป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เป็นปึกแผ่น ถึงขั้นที่ว่า เทวดาและมนุษย์
ประกาศไว้ดีแล้ว ต่อเมื่อมีองค์ประกอบต่อไปนี้ครบถ้วน คือ

 ๑. องค์พระศาสดา เป็นเถระ รัตตัญญู ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ
 ๒. มีภิกษุสาวก ที่เป็นเถระ มีความรู้เชี่ยวชาญ ได้รับการฝึกฝนอบรม  อย่างดี แกล้วกล้าอาจหาญ บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ
  สามารถแสดงธรรมให้เห็นผลจริงจัง กำราบปรัปวาท (ลัทธิที่ขัดแย้ง วาทะฝ่ายอื่น หรือคำสอนนอกรีตผิดเพี้ยน) ที่เกิดขึ้น ให้สำเร็จเรียบร้อยโดยถูกต้องตามหลักธรรม และมีภิกษุสาวกชั้นปูนกลาง และชั้นนวกะ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น
 ๓. มีภิกษุณีสาวิกา ชั้นเถรี ชั้นปูนกลาง และชั้นนวกะ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น
 ๔. มีอุบาสก ทั้งประเภทพรหมจารี และประเภทครองเรือนเสวยกามสุข ซึ่งมีความสามารถเช่นเดียวกันนั้น
 ๕. มีอุบาสิกา ทั้งประเภทพรหมจารินี และประเภทครองเรือนเสวยกามสุข ซึ่งมีความสามารถเช่นเดียวกันนั้นเพียงแต่ขาดอุบาสิกาประเภทครองเรือนเสียอย่างเดียว พรหมจรรย์ ก็ยังไม่ชื่อว่าเจริญบริบูรณ์เป็นปึกแผ่นดี

ความตอนนี้แสดงว่า พุทธธรรมเป็นคำสอนที่มุ่งสำหรับคนทุกประเภท ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ คือ ครอบคลุมสังคมทั้งหมด
และลักษณะทั่วไปของพุทธธรรมนั้น สรุปได้ ๒ อย่าง คือ

 ๑. แสดงหลักความจริงสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชเฌนธรรม” หรือเรียกเต็มว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา” ว่าด้วยความจริงตามแนว
ของเหตุผลบริสุทธิ์ตามกระบวนการของธรรมชาติ นำมาแสดง เพื่อประโยชน์ทางปฏิบัติในชีวิตจริงเท่านั้น ไม่ส่งเสริมความพยายาม ที่จะเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีถกเถียงสร้างทฤษฎีต่างๆ ขึ้นแล้วยึดมั่น ปกป้องทฤษฎีนั้นๆ ด้วยการเก็งความจริงทางปรัชญา
 ๒. แสดงข้อปฏิบัติสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” อันเป็นหลักการครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน ผู้รู้เท่าทันชีวิต ไม่หลงงม
งาย มุ่งผลสำเร็จคือความสุข สะอาด สว่าง สงบ เป็นอิสระ ที่สามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ในชีวิตนี้ ในทางปฏิบัติ ความเป็นสายกลางนี้ เป็นไปโดยสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น สภาพชีวิตของบรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ เป็นต้น

 การสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้า ทรงมุ่งผลในทางปฏิบัติ ให้ทุกคนจัดการกับชีวิตที่เป็นอยู่จริงๆ ในโลกนี้ และเริ่มแต่บัดนี้ ความรู้ในหลักที่เรียกว่า มัชเฌนธรรมเทศนา ก็ดี การประพฤติตามมรรคาที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ก็ดี เป็นสิ่งที่ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพและระดับชีวิตอย่างใด สามารถเข้าใจและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตามสมควรแก่สภาพและระดับชีวิตนั้นๆ ถ้าความห่วงใยในเรื่องชีวิตหลังจากโลกนี้มีอยู่ ก็จงทำชีวิตแบบที่ต้องการนั้นให้เกิดมีเป็นจริงเป็นจังแน่นอนขึ้นมาเสียในชีวิตนี้ทีเดียว จนมั่นใจในตนเองโดยไม่ต้องกังวลห่วงใยในโลกหน้านั้นเลย

 ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ ที่จะเข้าถึงผลสำเร็จเหล่านี้ แม้ว่าความสามารถจะต่างกัน ทุกคนจึงควรได้รับโอกาสเท่าเทียมกันที่จะสร้างผลสำเร็จนั้นตามความสามารถของตน และความสามารถนั้น ก็เป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มพูนได้ จึงควรให้ทุกคนมีโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถของตนอย่างดีที่สุด และแม้ว่าผลสำเร็จที่แท้จริง ทุกคนจะต้องทำด้วยตัวเอง โดยตระหนักในความรับผิดชอบของตน ที่จะต้องขวนขวายพากเพียรอย่างเต็มที่ แต่ทุกคนก็เป็นอุปกรณ์ในการช่วยตนเองของคนอื่นได้ ดังนั้น
หลักอัปปมาทธรรม และหลักความมีกัลยาณมิตร จึงเป็นหลักธรรมที่เด่น และเป็นข้อที่เน้นหนักทั้งสองอย่าง ในฐานะความรับผิดชอบต่อตนเองฝ่ายหนึ่ง กับปัจจัยภายนอกที่จะช่วยเสริมอีกฝ่ายหนึ่ง
 
หากยกเอาผลงานและพระจริยาของพระพุทธเจ้าขึ้นมาเป็นหลักพิจารณา จะมองเห็นแนวทางการบำเพ็ญพุทธกิจที่สำคัญหลายอย่าง เช่น  ทรงพยายามล้มล้างความเชื่อถืองมงายในเรื่องพิธีกรรมอันเหลวไหลต่างๆ โดยเฉพาะการบูชายัญ ด้วยการสอนย้ำถึงผลเสียหายและความไร้ผลของพิธีกรรมเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะยัญพิธีเหล่านั้น ทำให้คนมัวแต่คิดหวังพึ่งเหตุปัจจัยภายนอก อย่างหนึ่ง ทำให้คนกระหายทะยานและคิดหมกหมุ่นในผลประโยชน์ทางวัตถุเพิ่มพูนความเห็นแก่ตน ไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์และสัตว์ อย่างหนึ่ง ทำให้คนคิดหวังแต่เรื่องอนาคต จนไม่คิดปรับปรุงปัจจุบัน อย่างหนึ่ง แล้วทรงสอนย้ำหลักแห่ง “ทาน” คือการให้เสียสละแบ่งปันและสงเคราะห์กันในสังคม

 สิ่งต่อไปที่ทรงพยายามสอนหักล้าง คือระบบความเชื่อถือเรื่องวรรณะ ที่นำเอาชาติกำเนิดมาเป็นขีดขั้นจำกัดสิทธิและโอกาสทั้งในทางสังคมและทางจิตใจของมนุษย์ ทรงตั้ง “สังฆะ” คือชุมชนแห่งสงฆ์ ที่เปิดรับคนจากทุกวรรณะให้เข้าสู่ความเสมอภาคกัน เหมือนทะเลที่รับน้ำจากแม่น้ำทุกสายกลมกลืนเข้าเป็นอันเดียวกัน  ทำให้เกิดสถาบันวัด ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางเผยแพร่วัฒนธรรมและการศึกษาที่สำคัญยิ่ง จนศาสนาฮินดูต้องนำไปจัดตั้งขึ้นบ้างในศาสนาของตน เมื่อหลังพุทธกาลแล้วราว ๑,๔๐๐ หรือ ๑,๗๐๐ ปี
 
ทรงให้สิทธิแก่สตรีที่จะได้รับประโยชน์จากพุทธธรรม เข้าถึงจุดหมายสูงสุดที่พุทธธรรมจะให้เข้าถึงได้ เช่นเดียวกับบุรุษ แม้ว่าการให้สิทธินี้ จะต้องทรงกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ที่จะเตรียมการวางรูปให้สภาพการได้สิทธิของสตรีนี้ดำรงอยู่ด้วยดีในสภาพสังคมสมัยนั้น เพราะสิทธิของสตรีในการศึกษาอบรมทางจิตใจ ได้ถูกศาสนาพระเวทค่อยๆ จำกัดแคบลงมาจนปิดตายแล้วในสมัยนั้น

 ประการต่อไป ทรงสั่งสอนพุทธธรรมด้วยภาษาสามัญที่ประชาชนใช้ เพื่อให้คนทุกชั้น ทุกระดับการศึกษา ได้รับประโยชน์จากธรรมนี้ทั่วถึง ตรงข้ามกับศาสนาพราหมณ์ที่ยึดความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท และจำกัดความรู้ชั้นสูงไว้ในวงแคบของพวกตนด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะด้วยการใช้ภาษาเดิมของสันสกฤต ซึ่งรู้จำกัดในหมู่พวกตน เป็นสื่อถ่ายทอดและรักษาคัมภีร์ แม้ต่อมาจะมีผู้ขออนุญาตพระพุทธเจ้าให้ยกพุทธพจน์ขึ้นสู่ภาษาพระเวท พระองค์ก็ไม่ทรงอนุญาต ทรงยืนยันให้ใช้ภาษาของประชาชนตามเดิม

 ประการต่อไป ทรงปฏิเสธโดยสิ้นเชิงที่จะทำเวลาให้สูญเสียไปกับการถกเถียงปัญหาที่เกี่ยวกับการเก็งความจริงทางปรัชญา ซึ่งไม่อาจนำมาพิสูจน์ให้เห็นได้ด้วยวิธีแสดงเหตุผลทางคำพูด ถ้าใครถามปัญหาเช่นนี้ พระองค์จะทรงยับยั้งเสีย แล้วดึงผู้นั้นกลับมาสู่ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่เขาจะต้องเกี่ยวข้องและปฏิบัติได้ในชีวิตจริงโดยทันที  สิ่งที่จะพึงรู้ได้ด้วยคำพูด ทรงแนะนำด้วยคำพูด สิ่งที่จะพึงรู้ด้วยการเห็น ทรงให้เขาดู มิใช่ให้ดูสิ่งที่จะต้องเห็นด้วยคำพูด

 ทั้งนี้ ทรงสอนพุทธธรรมโดยปริยายต่างๆ เป็นอันมาก มีคำสอนหลายระดับ ทั้งสำหรับผู้ครองเรือน ผู้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคม และผู้สละเรือนแล้ว ทั้งคำสอนเพื่อประโยชน์ทางวัตถุ และเพื่อประโยชน์ลึกซึ้งทางจิตใจ เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากพุทธธรรมทั่วถึงกัน พุทธกิจที่กล่าวมานี้ เป็นเครื่องยืนยันข้อสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับพุทธธรรมที่พูดมาแล้วข้างต้น
 การที่ได้ประสูติและทรงเติบโตมาท่ามกลางวัฒนธรรมแบบพราหมณ์ และความเชื่อถือตามลัทธิต่างๆ ของพวกสมณะสมัยนั้น ทำให้พระองค์ต้องทรงเกี่ยวข้องและคุ้นกับถ้อยคำตามที่มีใช้กันในลัทธิความเชื่อถือเหล่านั้น จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องทรงใช้ถ้อยคำเหล่านั้นในการสื่อสารทั่วไป แต่เมื่อทรงมีคำสอนใหม่ให้แก่สังคม ปัญหาก็เกิดขึ้นว่าจะทรงปฏิบัติต่อถ้อยคำเหล่านั้นอย่างไร
ปรากฏว่า พระองค์ทรงมีวิธีปฏิบัติต่อถ้อยคำทางศาสนาเหล่านี้ เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ ไม่ทรงนิยมหักล้างความเชื่อถือเดิมในรูปถ้อยคำที่ใช้ ถ้าถ้อยคำนั้นๆ มีความหมายของศัพท์ในทางที่ดีงาม ทรงหักล้างเฉพาะตัวความเชื่อถือผิดที่แฝงอยู่กับความหมายของถ้อยคำเหล่านั้น กล่าวคือ ไม่ทรงขัดแย้งด้วยวิธีรุนแรง แต่ทรงนำคนเข้าสู่ปัญญาด้วยเมตตากรุณา ให้เขาเกิดความรู้เข้าใจอย่างใหม่ มองเห็นความจริง จากถ้อยคำที่เขาเคยเข้าใจอย่างอื่น

 โดยนัยนี้ พระองค์จึงทรงนำคำบัญญัติที่ใช้กันอยู่ในศาสนาเดิมมาใช้ในความหมายใหม่ตามแนวของพุทธธรรมโดยเฉพาะบ้าง ทรงสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ถ้อยคำที่ใช้อยู่เดิมบ้าง เช่น ใช้ “พรหม” เป็นชื่อของสัตวโลกที่เกิดตายประเภทหนึ่งบ้าง หมายถึงบิดามารดาบ้าง ทรงเปลี่ยนความเชื่อถือเรื่องกราบไหว้ทิศ ๖ ในธรรมชาติ มาเป็นการปฏิบัติหน้าที่และรักษาความสัมพันธ์รูปต่างๆ ในสังคม เปลี่ยนความหมายของการบูชาไฟศักดิ์สิทธิ์สำหรับยัญพิธี ๓ อย่างของพราหมณ์มาเป็นความรับผิดชอบทางสังคมต่อบุคคล ๓ ประเภท เปลี่ยนการตัดสินความเป็นพราหมณ์และอารยะโดยชาติกำเนิด มาเป็นตัดสินด้วยการประพฤติปฏิบัติ
 บางครั้งทรงสอนให้ดึงความหมายบางส่วนในคำสอนของศาสนาเดิมมาใช้แต่ในทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์ คำสอนใดในศาสนาเดิมถูกต้องดีงาม ก็ทรงรับรอง โดยถือความถูกต้องดีงามเป็นของสากลโดยธรรมชาติ
ในกรณีที่หลักความประพฤติปฏิบัติในศาสนาเดิมมีความหมายหลายอย่าง ทรงชี้แจงว่าแง่ใดถูก แง่ใดผิด ทรงยอมรับและให้ประพฤติปฏิบัติแต่ในแง่ที่ดีงามถูกต้อง
 บางครั้งทรงสอนว่า ความประพฤติปฏิบัติที่ผิดพลาดเสียหายบางอย่างของศาสนาเดิมสมัยนั้น เป็นความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นในศาสนานั้นเอง ซึ่งในครั้งดั้งเดิมทีเดียว คำสอนของศาสนานั้นก็ดีงามถูกต้อง และทรงสอนให้รู้ว่า คำสอนเดิมที่ดีของศาสนานั้นเป็นอย่างไร ตัวอย่างในข้อนี้ มีเรื่อง ตบะ การบูชายัญ หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง และเรื่อง พราหมณธรรม  เป็นต้น


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 25, 2013, 05:30:24 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


ข้อความที่กล่าวมานี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นความใจกว้างของพุทธธรรม และการที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระทัยสอนแต่ความจริงและความดีงามถูกต้องที่เป็นกลางๆ แล้ว ยังเป็นเรื่องสำหรับเตือนให้รู้จักแยกความหมายของคำบัญญัติทางศาสนาที่ใช้ในพุทธธรรม กับที่ใช้ในศาสนาอื่นๆ ด้วย
 อนึ่ง เมื่อสิ้นยุคขององค์พระศาสดาแล้ว เวลาล่วงไป และคำสอนแผ่ไปในถิ่นต่างๆ ความเข้าใจในพุทธธรรมก็แปรไปจากเดิมและแตกต่างกันไปหลายอย่าง เพราะผู้ถ่ายทอดสืบต่อมีพื้นความรู้การศึกษาอบรมสติปัญญาแตกต่างกัน ตีความหมายพุทธธรรมแผกกันไปบ้าง นำเอาความรู้ความเชื่อถือเดิมจากลัทธิศาสนาอื่นเข้ามาผสมแทรกแซงบ้าง อิทธิพลศาสนาและวัฒนธรรมในท้องถิ่นเข้าผสมผสานบ้าง คำสอนบางแง่เด่นขึ้น บางแง่เลือนลางลง เพราะการย้ำและเลี่ยงความสนใจตามความโน้มเอียงและความถนัดของผู้รักษาคำสอนบ้าง ทำให้เกิดการแตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ เช่น ที่แยกเป็นเถรวาท กับมหายาน ตลอดจนนิกายย่อยๆ ในสองนิกายใหญ่นั้น
 พระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น เป็นที่ยอมรับของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาทั่วโลก ว่าเป็นนิกายที่รักษาแบบแผนและคำสอนดั้งเดิมไว้ได้แม่นยำ แม้แต่ปราชญ์ฝ่ายมหายานยุคปัจจุบันก็เห็นความสำคัญนี้ ดังที่ในประเทศญี่ปุ่นได้ถือลงกันทั่วไปว่า การที่จะศึกษาพระพุทธศาสนามหายานให้ทั่วตลอด ต้องศึกษาพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม (คือเถรวาท) ด้วย เพราะมีพระสูตรบาลี ที่เป็นรากฐานของพระพุทธศาสนา พระสูตรของมหายานเพียงแต่อธิบายสาระที่บรรยายไว้โดยย่อในพระสูตรบาลี ให้ละเอียดกว้างขวางออกไป

 แม้กระนั้นก็ตาม ในพระพุทธศาสนาเถรวาทเอง เนื้อความบางแห่งในพระคัมภีร์ ที่เป็นส่วนเพิ่มเข้าในสมัยต่อมา ได้ระบุกาลเวลาไว้ชัดเจน ก็มี ไม่ได้ระบุไว้ ก็มี ถึงจะรู้กันว่าอยู่ในระยะแรกๆ ก่อนยุคอรรถกถา ก็ยังเป็นปัญหาที่คนรุ่นปัจจุบันนำมาถกเถียงคิดค้นหาความชัดเจนแน่นอน
เนื่องจากพระพุทธศาสนาเน้นการใช้ปัญญา การปฏิบัติให้ถูกต้องจึงขึ้นต่อการศึกษา และคัมภีร์พระพุทธศาสนา แม้นับเพียงพระไตรปิฎกบาลี ที่เป็นแหล่งแห่งพุทธพจน์ ก็ใหญ่โตมีเนื้อหามากมาย ยากที่จะศึกษาให้ทั่วถึง
 ยิ่งในบางยุคบางสมัย พุทธศาสนิกชนยังเหินห่างจากการศึกษาหลักธรรมอีกด้วย ความรู้ความเข้าใจที่ประชาชนส่วนมากเชื่อถือและปฏิบัติ จึงอาศัยเพียงการฟังบอกเล่าและทำตามๆ กันมา เมื่อกาลเวลาล่วงผ่านไปนานๆ ความคลาดเคลื่อนก็มีมากขึ้นและชัดเจนยิ่งขึ้น จนกระทั่งบางกรณีถึงกับเสมือนเป็นตรงข้ามกับคำสอนเดิม หรือเกือบจะกลายไปเป็นลัทธิอื่นที่คำสอนเดิมคัดค้านไปแล้วก็มี

 ยกตัวอย่างในประเทศไทยนี้ เมื่อพูดถึงคำว่า “กรรม” ความเข้าใจของคนทั่วไปก็จะเพ่งไปยังกาละส่วนอดีต เจาะจงเอาการกระทำในชาติที่ล่วงแล้วหรือชาติก่อนๆ บ้าง เพ่งไปยังปรากฏการณ์ส่วนผล คือนึกถึงผลที่ปรากฏในปัจจุบันของการกระทำในอดีตบ้าง เพ่งไปยังแง่ที่เสียหายเลวร้ายคือการกระทำชั่วฝ่ายเดียวบ้าง เพ่งไปยังอำนาจแสดงผลร้ายของการกระทำความชั่วในชาติก่อนบ้าง และโดยมากเป็นความเข้าใจตามแง่ต่างๆ เหล่านี้รวมๆ กันไปทั้งหมด ซึ่งเมื่อพิจารณาตัดสินตามหลักกรรมที่แท้จริงในพุทธธรรมแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าเป็นความเข้าใจที่ห่างไกลจากความหมายที่แท้จริงเป็นอันมาก
 
แม้ข้อธรรมอื่นๆ ตลอดจนคำบัญญัติทางธรรมแต่ละคำๆ เช่น อารมณ์ วิญญาณ บารมี สันโดษ อุเบกขา อธิษฐาน บริกรรม ภาวนา วิปัสสนา กาม โลกิยะ โลกุตตระ บุญ อิจฉา ฯลฯ ก็ล้วนมีความหมายพิเศษในความเข้าใจของประชาชน ซึ่งผิดแปลกไปจากความหมายดั้งเดิมในพุทธธรรม โดยตัวความหมายเองบ้าง โดยขอบเขตความหมายบ้าง มากน้อยต่างกันไปในแต่ละคำนั้นๆ
 ในการศึกษาพุทธธรรม จำเป็นต้องแยกความหมายในความเข้าใจของประชาชนส่วนที่คลาดเคลื่อนนี้ออกไปต่างหาก จึงจะสามารถเข้าใจความหมายที่แท้จริงได้
 ในการแสดงพุทธธรรมต่อไปนี้ ผู้แสดงถือว่าได้พยายามที่จะแสดงตัวพุทธธรรมแท้ อย่างที่องค์พระบรมศาสดาทรงสอนและทรงมุ่งหมาย
 ในการนี้ ได้ตัดความหมายอย่างที่ประชาชนเข้าใจออกโดยสิ้นเชิง ไม่นำมาพิจารณาเลย เพราะถือว่าเป็นเรื่องข้างปลาย ไม่จำเป็นต่อการเข้าใจตัวพุทธธรรมที่แท้แต่ประการใด

 แหล่งสำคัญอันเป็นที่มาของเนื้อหาและความหมายของพุทธธรรมที่จะแสดงต่อไปนี้ ได้แก่คัมภีร์พุทธศาสนา ซึ่งในที่นี้ ถ้าไม่มีกรณีเกี่ยวข้องเป็นพิเศษ จะหมายถึงพระไตรปิฎกบาลีอย่างเดียว เพราะเป็นคัมภีร์ที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า เป็นแหล่งรวบรวมรักษาพุทธธรรมที่แม่นยำและสมบูรณ์ที่สุด แม้กระนั้น ก็ได้เลือกสรรเอาเฉพาะส่วนที่เห็นว่าเป็นหลักการดั้งเดิมเป็นความหมายแท้จริงมาแสดง โดยยึดเอาหลักความกลมกลืนสอดคล้องกันในหน่วยรวมเป็นหลัก และเพื่อให้มั่นใจยิ่งขึ้น จึงได้นำพุทธจริยาและพุทธกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญมาประกอบการพิจารณาตัดสินแนวทางและขอบเขตของพุทธธรรมด้วย
 เมื่อได้หลักการพิจารณาเหล่านี้มาเป็นเครื่องกำกับการแสดงแล้ว ก็มั่นใจว่าจะสามารถแสดงสาระแห่งพุทธธรรมได้ใกล้เคียงตัวแท้เป็นอย่างยิ่งอย่างไรก็ตาม ในขั้นพื้นฐาน การแสดงนี้ก็ยังต้องขึ้นกับกำลังสติปัญญาของผู้แสดง และความโน้มเอียงบางอย่างที่ผู้แสดงเองอาจไม่รู้ตัวอยู่นั่นเอง ฉะนั้น จึงขอให้ถือว่าเป็นความพยายามครั้งหนึ่ง ที่จะแสดงพุทธธรรมให้ถูกต้องที่สุดตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนและมุ่งหมาย โดยอาศัยวิธีการและหลักการแสดง พร้อมทั้งหลักฐานต่างๆ ที่เชื่อว่าให้ความมั่นใจมากที่สุด
 ถ้าแยกพุทธธรรมออกเป็น ๒ ส่วน คือ สัจธรรม ส่วนหนึ่ง กับ จริย-ธรรม ส่วนหนึ่ง แล้วกำหนดความหมายขึ้นใช้ในที่นี้โดยเฉพาะ โดยกำหนดให้สัจธรรมเป็นส่วนแสดงสภาวะหรือรูปลักษณะตัวความจริง และให้จริย-ธรรมเป็นฝ่ายข้อประพฤติปฏิบัติทั้งหมด ก็จะเห็นว่า
 สัจธรรม ในพุทธศาสนา หมายถึงคำสอนเกี่ยวกับสภาวะของสิ่งทั้งหลาย หรือธรรมชาติและความเป็นไปโดยธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย หรือกฎธรรมชาตินั่นเอง ส่วน จริยธรรม ก็หมายถึงการถือเอาประโยชน์จากความรู้ความเข้าใจในสภาพและความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย หรือการรู้กฎธรรมชาติแล้วนำมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์
 
 อีกนัยหนึ่ง สัจธรรม คือธรรมชาติและกฎธรรมดา จริยธรรม คือความรู้ในการประยุกต์สัจธรรม
 หลักการทั้งหมดนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับตัวการนอกเหนือธรรมชาติ เช่น พระผู้สร้าง เป็นต้น แต่ประการใดเลย
 ด้วยเหตุนี้ ในการแสดงพุทธธรรมเพื่อความรู้ความเข้าใจที่มุ่งในแนวทฤษฎี คือ มุ่งให้รู้ว่าเป็นอะไร จึงควรแสดงควบคู่กันไปทั้งสัจธรรมและจริยธรรม คือแสดงหลักคำสอนในแง่สภาวะ แล้วชี้ถึงคุณค่าที่จะนำมาใช้ในทางปฏิบัติไว้ด้วย ให้เสร็จไปแต่ละอย่างๆ
 วิธีแสดงอย่างนี้เหมือนจะตรงข้ามกับเทศนาแบบอริยสัจ ๔ ซึ่งมุ่งผลในทางปฏิบัติคือการดับทุกข์หรือแก้ปัญหา จึงเริ่มด้วยปัญหาที่ปรากฏก่อน แล้วดำเนินไปสู่วิธีปฏิบัติในการแก้ไขให้ถึงจุดหมายโดยลำดับ ส่วนในที่นี้ เริ่มด้วยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิต ในแง่ของสภาวะตามธรรมชาติ ให้เห็นหลักความจริงทีละแง่ทีละอย่างก่อน แล้วกล่าวถึงความหมายหรือคุณค่าทางปฏิบัติของหลักความจริงแต่ละอย่างนั้น ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตหรือแก้ปัญหาต่อไป แม้เมื่อมองหนังสือพุทธธรรมหมดทีเดียวตลอดทั้งเล่ม ก็จะเห็นภาพรวมอย่างเดียวกันนี้ คือ หนังสือทั้งเล่มมี ๒ ภาค เริ่มด้วยภาค ๑ แสดงธรรมฝ่ายสภาวะที่เป็นหลักความจริงกลางๆ ตามธรรมชาติ คือ มัชเฌน-ธรรมเทศนา แล้วจากนั้น ภาค ๒ แสดงธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ โดยสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้น ตามมรรคาที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา
 
อย่างไรก็ตาม ในที่สุด เมื่อมองกว้างครอบคลุมทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง ก็จะเห็นว่า พุทธธรรม ที่บรรยาย ณ ที่นี้ มีโครงสร้างใหญ่ซ้อนอยู่ในหลักอริยสัจ ๔ นั่นเอง ดังจะเห็นได้ต่อแต่นี้ไป
อนึ่ง ในข้อเขียนนี้ ได้ตกลงใจแสดงความหมายภาษาอังกฤษของศัพท์ธรรมที่สำคัญๆ ไว้ด้วย โดยเหตุผลอย่างน้อย ๓ อย่าง คือ
ประการแรก ในภาษาไทยปัจจุบัน ได้มีผู้นำศัพท์ธรรมบางคำมาใช้เป็นศัพท์บัญญัติ สำหรับคำในภาษาอังกฤษที่มีความหมายไม่ตรงกันกับศัพท์ธรรมนั้น อันอาจทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ จึงนำความหมายในภาษาอังกฤษมาแสดงควบไว้ด้วย เพื่อไม่ให้ผู้อ่านถือไปตามความหมายที่มีผู้บัญญัติใช้ใหม่ในภาษาไทย
ประการที่สอง จำต้องยอมรับความจริงว่า นักศึกษาวิชาการสมัยใหม่จำนวนไม่น้อย เข้าใจความหมายในภาษาไทยได้ชัดเจนขึ้นในเมื่อเห็นคำภาษาอังกฤษควบอยู่ด้วย
ประการที่สาม ตำราภาษาต่างประเทศที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ มีจำนวนมาก การรู้ความหมายศัพท์ธรรมที่นิยมใช้ในภาษาอังกฤษ ย่อมเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาที่ต้องการค้นคว้าอย่างกว้างขวางต่อไป


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธธรรม :ภาค ๑ มัชเฌนธรรมเทศนา (ป. อ. ปยุตฺโต)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2013, 01:15:18 pm »



ภาค ๑ มัชเฌนธรรมเทศนา
หลักความจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือธรรมที่เป็นกลาง
ชีวิตคืออะไร...?
ชีวิตเป็นอย่างไร ?
ชีวิตเป็นไปอย่างไร ?


ภาค ๒ มัชฌิมาปฏิปทา
บทเพิ่มเติม

ชีวิตคืออะไร ?
ก. ขันธ์ ๕ ส่วนประกอบห้าอย่างของชีวิต
ข. อายตนะ ๖ แดนรับรู้และเสพเสวยโลก

ก. ขันธ์ ๕ ส่วนประกอบห้าอย่างของชีวิต
ตัวสภาวะ

 พุทธธรรมมองเห็นสิ่งทั้งหลายในรูปของส่วนประกอบต่างๆ ที่มาประชุมกันเข้า ตัวตนแท้ๆ ของสิ่งทั้งหลายไม่มี เมื่อแยกส่วนต่างๆ ที่มาประกอบกันเข้านั้นออกไปให้หมด ก็จะไม่พบตัวตนของสิ่งนั้นเหลืออยู่ ตัวอย่างง่ายๆ ที่ยกขึ้นอ้างกันบ่อยๆ คือ “รถ” เมื่อนำส่วนประกอบต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามแบบที่กำหนด ก็บัญญัติเรียกกันว่า “รถ”  แต่ถ้าแยกส่วนประกอบทั้งหมดออกจากกัน ก็จะหาตัวตนของรถไม่ได้ มีแต่ส่วนประกอบทั้งหลาย ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กันจำเพาะแต่ละอย่างอยู่แล้ว คือ ตัวตนของรถมิได้มีอยู่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านั้นมีแต่เพียงคำบัญญัติว่า “รถ” สำหรับสภาพที่มารวมตัวกันเข้าของส่วนประกอบเหล่านั้น

 แม้ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ นั้นเอง ก็ปรากฏขึ้นโดยการรวมกันเข้าของส่วนประกอบย่อยๆ ต่อๆ ไปอีก และหาตัวตนที่แท้ไม่พบเช่นเดียวกัน เมื่อจะพูดว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่ ก็ต้องเข้าใจในความหมายว่า มีอยู่ในภาวะของส่วนประกอบต่างๆ ที่มาประชุมเข้าด้วยกัน
 เมื่อมองเห็นสภาพของสิ่งทั้งหลายในรูปของการประชุมส่วนประกอบเช่นนี้ พุทธธรรมจึงต้องแสดงต่อไปว่า ส่วนประกอบต่างๆ เหล่านั้นเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง อย่างน้อยก็พอเป็นตัวอย่าง และโดยที่พุทธธรรมมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องชีวิต โดยเฉพาะในด้านจิตใจ การแสดงส่วนประกอบต่างๆ จึงต้องครอบคลุมทั้งวัตถุและจิตใจ หรือทั้งรูปธรรมและนามธรรม และแยกแยะเป็นพิเศษในด้านจิตใจ
 การแสดงส่วนประกอบต่างๆ นั้น ย่อมทำได้หลายแบบ สุดแต่วัตถุประสงค์จำเพาะของการแสดงแบบนั้นๆ  แต่ในที่นี้ จะแสดงแบบขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในพระสูตร

 โดยวิธีแบ่งแบบ ขันธ์ ๕ (the Five Aggregates) พุทธธรรมแยกแยะชีวิตพร้อมทั้งองคาพยพทั้งหมด ที่บัญญัติเรียกว่า “สัตว์” “บุคคล” ฯลฯ ออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ ๕ ประเภท หรือ ๕ หมวด เรียกทางธรรมว่า เบญจขันธ์ คือ
 ๑. รูป  (Corporeality) ได้แก่ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด ร่างกายและพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกาย หรือ สสารและพลังงานฝ่ายวัตถุ พร้อมทั้งคุณสมบัติ และพฤติการณ์ต่างๆ ของสสารพลังงานเหล่านั้น
 ๒. เวทนา  (Feeling หรือ Sensation) ได้แก่ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ
 ๓. สัญญา  (Perception) ได้แก่ความกำหนดได้ หรือหมายรู้ คือ กำหนดรู้อาการเครื่องหมายลักษณะต่างๆ อันเป็นเหตุให้จำอารมณ์  (object) นั้นๆ ได้
 ๔. สังขาร  (Mental Formations หรือ Volitional Activities) ได้แก่องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต ที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่ว หรือเป็นกลางๆ โดยมีเจตนาเป็นตัวนำ พูดง่ายๆ ว่า ความนึกคิดดีชั่วต่างๆ เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา  ปัญญา โมหะ โทสะ โลภะ มานะ ทิฏฐิ อิสสา มัจฉริยะ เป็นต้น
 ๕. วิญญาณ  (Consciousness) ได้แก่ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส  การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ
ขันธ์ ๕ กับอุปาทานขันธ์ ๕ หรือชีวิตกับชีวิตซึ่งเป็นปัญหา
 ในพุทธพจน์แสดงความหมายของอริยสัจ ๔   ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ประมวลใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา มีข้อความที่น่าสังเกตเป็นพิเศษเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ปรากฏอยู่ในอริยสัจข้อที่ ๑ คือ ข้อว่าด้วยทุกข์

 ในอริยสัจข้อที่ ๑   นั้น ตอนต้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงความหมายหรือคำจำกัดความของทุกข์ ด้วยวิธียกตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆ ที่มองเห็นได้ง่ายและมีอยู่เป็นสามัญในชีวิตของบุคคล ขึ้นแสดงว่าเป็นความทุกข์แต่ละอย่างๆ แต่ในตอนท้าย พระองค์ตรัสสรุปลงเป็นข้อเดียวว่า อุปาทาน-ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดังพุทธพจน์ว่า

 ภิกษุทั้งหลาย นี้คือ ทุกขอริยสัจ: ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

 พุทธพจน์นี้ นอกจากแสดงถึงฐานะของขันธ์ ๕ ในพุทธธรรมแล้ว ยังมีข้อสังเกตสามัญ คือ ความหมายของ “ทุกข์” นั้น จำง่ายๆ ด้วยคำสรุปที่สั้นที่สุดว่า คือ อุปาทานขันธ์ ๕ หรือเบญจอุปาทานขันธ์เท่านั้น และคำว่าขันธ์ในที่นี้มี “อุปาทาน” นำหน้าด้วย

 สิ่งที่ควรศึกษาในที่นี้ ก็คือคำว่า “ขันธ์” กับ “อุปาทานขันธ์” ซึ่งขอให้พิจารณาตามพุทธพจน์ต่อไปนี้
 ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ เธอทั้งหลายจงฟัง
 ขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตาม...เหล่านี้ เรียกว่า ขันธ์ ๕

 อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป...เวทนา…สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตาม ที่ประกอบด้วยอาสวะ เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน...เหล่านี้ เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕

 รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ คือธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน  ฉันทราคะ (ความกระสันอยาก)  ในรูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นั้นคือ อุปาทานใน (สิ่ง) นั้นๆ
 หลักดังกล่าวนี้ เป็นพื้นฐานความเข้าใจที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการศึกษาพุทธธรรมต่อไป
 
คุณค่าทางจริยธรรม
 ตามปกติ มนุษย์มีความโน้มเอียงที่จะยึดถืออยู่เสมอว่า ตัวตนที่แท้ของตนมีอยู่ในรูปใดรูปหนึ่ง บ้างก็ยึดเอาจิตเป็นตัวตน  บ้างก็ยึดว่า มีสิ่งที่เป็นตัวตนอยู่ต่างหากแฝงซ้อนอยู่ในจิตนั้น ซึ่งเป็นเจ้าของ และเป็นตัวการที่คอยควบคุมบังคับบัญชากายและใจนั้นอีกชั้นหนึ่ง

การแสดงขันธ์ ๕ นี้ มุ่งให้เห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า “สัตว์” “บุคคล” “ตัวตน” เป็นต้นนั้น เมื่อแยกออกไปแล้วก็จะพบแต่ส่วนประกอบ ๕ ส่วนเหล่านี้เท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นเหลืออยู่ที่จะมาเป็นตัวตนต่างหากได้ และแม้ขันธ์ ๕ เหล่านั้นแต่ละอย่าง ก็มีอยู่เพียงในรูปที่สัมพันธ์อิงอาศัยกัน ไม่เป็นอิสระ ไม่มีโดยตัวของมันเอง ดังนั้นขันธ์ ๕ แต่ละอย่างๆ นั้นก็ไม่ใช่ตัวตนอีกเช่นกัน

 รวมความว่า หลักขันธ์ ๕ แสดงถึงความเป็น อนัตตา ให้เห็นว่าชีวิตเป็นการประชุมเข้าของส่วนประกอบต่างๆ หน่วยรวมของส่วนประกอบเหล่านี้ ก็ไม่ใช่ตัวตน ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ นั้นเอง ก็ไม่ใช่ตัวตน และสิ่งที่เป็นตัวตนอยู่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านี้ก็ไม่มี เมื่อมองเห็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะถอนความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัวตนได้ ความเป็นอนัตตานี้จะเห็นได้ชัดต่อเมื่อเข้าใจกระบวนการของขันธ์ ๕ ในวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาทที่จะกล่าวต่อไป

 อนึ่ง เมื่อมองเห็นว่า ขันธ์ ๕ มีอยู่อย่างสัมพันธ์และอาศัยซึ่งกันและกัน ก็จะไม่เกิดความเห็นผิดว่าขาดสูญ ที่เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ และความเห็นผิดว่าเที่ยง ที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ นอกจากนั้นเมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตนและมีอยู่อย่างสัมพันธ์อาศัยกันและกันเช่นนี้แล้ว ก็จะเข้าใจหลักกรรมโดยถูกต้องว่าเป็นไปได้อย่างไร กระบวนการแห่งความสัมพันธ์และอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายนี้มีคำอธิบายอยู่ในหลักปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกัน

 อีกประการหนึ่ง การมองสิ่งทั้งหลายโดยวิธีแยกส่วนประกอบออกไปอย่างวิธีขันธ์ ๕ นี้ เป็นการฝึกความคิด หรือสร้างนิสัยที่จะใช้ความคิดแบบวิเคราะห์ความจริง คือ เมื่อประสบหรือเข้าเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ความคิดก็ไม่หยุดตันตื้อ ยึดถือเฉพาะรูปลักษณะภายนอกเท่านั้น เป็นการสร้างนิสัยชอบสอบสวนสืบค้นหาความจริง และที่สำคัญยิ่งคือ ทำให้รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามภาวะล้วนๆ ของมัน หรือตามแบบสภาววิสัย (objective) คือมองเห็นสิ่งทั้งหลาย “ตามที่มันเป็น” ไม่นำเอาตัณหาอุปาทานเข้าไปจับ อันเป็นเหตุให้มองเห็นตามที่อยากหรือไม่อยากให้มันเป็น อย่างที่เรียกว่า สกวิสัย (subjective)

 คุณค่าอย่างหลังนี้ นับว่าเป็นการเข้าถึงจุดหมายที่ต้องการของพุทธธรรมและของหลักขันธ์ ๕ นี้ คือการไม่ยึดมั่นถือมั่น การไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยการใช้ตัณหาอุปาทาน แต่เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการด้วย ปัญญา

 อย่างไรก็ดี ในการแสดงพุทธธรรมนั้น ตามปกติท่านไม่แสดงเรื่องขันธ์ ๕  โดยลำพังโดดๆ เพราะขันธ์ ๕  เป็นแต่สภาวะที่ยกขึ้นเป็นตัวตั้งสำหรับพิจารณา และการพิจารณานั้นย่อมเป็นไปตามแนวแห่งหลักธรรมอย่างอื่น ที่เป็นประเภทกฎสำหรับนำมาจับหรือกำหนดว่าขันธ์ ๕ มีสภาวะเป็นอย่างไร มีความเป็นไปอย่างไร เป็นต้น คือ ต้องแสดงโดยสัมพันธ์กับหลักธรรมชาติอย่างอื่น เช่น หลักอนัตตา เป็นต้น จึงจะปรากฏคุณค่าในทางปฏิบัติโดยสมบูรณ์ ดังนั้น จึงขอยุติเรื่องขันธ์ ๕ ไว้เพียงในฐานะสิ่งที่ยกขึ้นเป็นตัวตั้งสำหรับนำไปพิจารณากันในหลักต่อๆ ไป


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




ข. อายตนะ ๖ แดนรับรู้และเสพเสวยโลก
ช่องทางที่ชีวิตติดต่อกับโลก
 แม้ว่าชีวิตจะประกอบด้วยขันธ์ ๕ ซึ่งแบ่งซอยออกไปเป็นหน่วยย่อยต่างๆ มากมาย แต่ในทางปฏิบัติ คือ ในการดำเนินชีวิตทั่วไป มนุษย์ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับส่วนประกอบเหล่านั้นโดยทั่วถึงแต่อย่างใด

 ส่วนประกอบหลายอย่างมีอยู่และทำหน้าที่ของมันไปโดยมนุษย์ไม่รู้จัก หรือแม้รู้จัก ก็แทบไม่ได้นึกถึงเลย เช่น ในด้านรูปธรรม อวัยวะภายในร่างกายหลายอย่าง ทำหน้าที่ของมันอยู่ โดยมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของไม่รู้ และไม่ได้ใส่ใจที่จะรู้ จนบางคราวมันเกิดความวิปริตหรือทำหน้าที่บกพร่องขึ้น มนุษย์จึงจะหันมาสนใจ แม้องค์ประกอบต่างๆ ในกระบวนการฝ่ายจิตก็เป็นเช่นเดียวกัน

 การศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ และกระบวนการทำงานทางร่างกาย เราปล่อยให้เป็นภาระของนักศึกษาทางแพทยศาสตร์และชีววิทยา ส่วนการศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบและกระบวนการทำงานด้านจิตใจ เราปล่อยให้เป็นภาระของนักอภิธรรมและนักจิตวิทยา

 แต่สำหรับคนทั่วไป ความหมายของชีวิตอยู่ที่ชีวิตในทางปฏิบัติ หรือชีวิตที่ดำเนินอยู่เป็นประจำในแต่ละวัน ซึ่งได้แก่การติดต่อเกี่ยวข้องกับโลก สิ่งที่ให้ความหมายแก่ชีวิต ก็คือการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ชีวิตตามความหมายของมนุษย์ คือชีวิตโดยความสัมพันธ์กับโลก

 ชีวิตในทางปฏิบัติหรือชีวิตโดยความสัมพันธ์กับโลกนี้ แบ่งออกได้เป็น ๒ ภาค แต่ละภาคมีระบบการทำงาน ซึ่งอาศัยช่องทางที่ชีวิตจะติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกได้ ซึ่งเรียกว่า ทวาร” (ประตู, ช่องทาง) ดังนี้

 ๑. ภาครับรู้และเสพเสวยโลก อาศัย ทวาร ๖  คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับรับรู้และเสพเสวยโลก ซึ่งปรากฏแก่มนุษย์โดยลักษณะและอาการต่างๆ ที่เรียกว่า อารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
 ๒. ภาคแสดงออกหรือกระทำต่อโลก อาศัย ทวาร ๓  คือ กาย วาจา ใจ (กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร) สำหรับกระทำตอบต่อโลก โดยแสดงออกเป็นการทำ การพูด และการคิด (กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม)

 ใน ภาคที่ ๑ มีข้อที่พึงย้ำเป็นพิเศษ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาต่อไปว่า คำว่า “ทวาร” (ใน ทวาร ๖) นั้น เมื่อนำไปกล่าวในระบบการทำงานของกระบวนธรรมแห่งชีวิต ท่านนิยมเปลี่ยนไปใช้คำว่า “อายตนะ” ซึ่งแปลว่า แดนเชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือทางรับรู้ ดังนั้นในการศึกษาเรื่องนี้ต่อไป จะใช้คำว่า “อายตนะ” แทนคำว่า “ทวาร”

 ใน ภาคที่ ๒ มีข้อพึงย้ำคือ กระบวนธรรมของชีวิตในภาคนี้ รวมอยู่ในขันธ์ที่ ๔ คือ สังขารขันธ์ ที่กล่าวมาแล้วในบทก่อน

สังขารต่างๆ ในสังขารขันธ์ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากมาย แบ่งเป็น ฝ่ายดีบ้าง ฝ่ายชั่วบ้าง ฝ่ายกลางๆ บ้าง จะปรากฏตัวออกมาปฏิบัติการ โดยถูกเจตนาที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นตัวแทนเลือกชักจูงมา หรือจัดแจงมอบหมายหน้าที่ ให้ช่วยกันทำการปรุงแต่งการแสดงออก หรือการกระทำทาง ทวาร ๓ คือ กาย วาจา ใจ เกิดเป็นกรรม คือการทำ การพูด การคิด

 ในกรณีนี้ สังขารจะถูกจัดประเภทเสียใหม่ให้สอดคล้องกับบทบาทของมัน โดย
 - แบ่งตามทางหรือทวารที่แสดงออก เป็นกายสังขาร วจีสังขาร และมโนสังขาร
 - เรียกตามชื่อหัวหน้าหรือตัวแทนว่า กายสัญเจตนา วจีสัญเจตนา และมโนสัญเจตนา หรือ
 - เรียกตามงานที่ทำออกมาว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม แสดงให้เห็นง่ายขึ้น ดังนี้

๑. กายสังขาร        =  กายสัญเจตนา -------------  กายทวาร -- กายกรรม
[สภาพปรุงแต่งการกระทำทางกาย] = [ความจงใจ(แสดงออก)ทางกาย] [ทางกาย]  [การกระทำทางกาย]
๒. วจีสังขาร         = วจีสัญเจตนา  --------------- วจีทวาร -- วจีกรรม
[สภาพปรุงแต่งการกระทำทางวาจา] = [ความจงใจ(แสดงออก)ทางวาจา] [ทางวาจา][การกระทำทางวาจา]
๓. มโนสังขาร        =  มโนสัญเจตนา --------   มโนทวาร -- มโนกรรม
[สภาพปรุงแต่งการกระทำทางใจ]    = [ความจงใจ(แสดง)ทางใจ]  [ทางใจ] [การกระทำทางใจ]
สังขาร ในฐานะเครื่องแต่งคุณภาพหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต ได้กล่าวแล้วในเรื่องขันธ์ ๕
 ส่วน สังขาร ในฐานะกระบวนการปรุงแต่งแสดงออกและกระทำการต่างๆ ต่อโลก เป็นเรื่องกิจกรรมของชีวิต ซึ่งจะแสดงเป็นพิเศษส่วนหนึ่งต่างหาก ในตอนว่าด้วย “ชีวิตเป็นไปอย่างไร”

 ในที่นี้ มุ่งแสดงแต่สภาวะอันเนื่องอยู่ที่ตัวชีวิตเอง หรือองค์ประกอบของชีวิต พร้อมทั้งหน้าที่ของมันตามสมควร จึงจะกล่าวเฉพาะภาคที่ ๑ คือเรื่อง ทวาร ๖ ที่เรียกว่า อายตนะ ๖ อย่างเดียว
 
ตัวสภาวะ

 “อายตนะ” แปลว่า ที่ต่อ หรือแดน หมายถึงที่ต่อกันให้เกิดความรู้ แดนเชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือแหล่งที่มาของความรู้ แปลอย่างง่ายๆ ว่า ทางรับรู้ มี ๖ อย่าง ดังที่เรียกในภาษาไทยว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

 ที่ว่าต่อ หรือเชื่อมต่อ ให้เกิดความรู้นั้น ต่อ หรือ เชื่อมต่อกับอะไร ? ตอบว่า เชื่อมต่อกับโลก คือ สิ่งแวดล้อมภายนอก
 แต่โลกนั้นปรากฏลักษณะอาการแก่มนุษย์เป็นส่วนๆ ด้านๆ ไป เท่าที่มนุษย์จะมีแดนหรือเครื่องมือสำหรับรับรู้ คือ เท่าจำนวนอายตนะ ๖ ที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น

ดังนั้น อายตนะ ทั้ง ๖ จึงมีคู่ของมันอยู่ในโลก เป็นสิ่งที่ถูกรับรู้สำหรับแต่ละอย่างๆ โดยเฉพาะ
 สิ่งที่ถูกรับรู้ หรือลักษณะอาการต่างๆ ของโลก เหล่านี้ เรียกชื่อว่า    “อายตนะ” เหมือนกัน เพราะเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้ หรือเป็นแหล่งความรู้ เช่นเดียวกัน แต่เป็นฝ่ายภายนอก

 เพื่อแยกประเภทจากกันไม่ให้สับสน ท่านเรียกอายตนะพวกแรกว่า “อายตนะภายใน” (แดนต่อความรู้ฝ่ายภายใน) และเรียกอายตนะพวกหลังนี้ว่า “อายตนะภายนอก” (แดนต่อความรู้ฝ่ายภายนอก)

อายตนะภายนอก ๖ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งต้องกาย และสิ่งที่ใจนึก โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า “อารมณ์” แปลว่า สิ่งอันเป็นที่สำหรับจิตมาหน่วงอยู่ หรือ สิ่งสำหรับยึดหน่วงของจิต แปลง่ายๆ ว่าสิ่งที่ถูกรับรู้ หรือสิ่งที่ถูกรู้นั่นเอง

 เมื่ออายตนะ (ภายใน) ซึ่งเป็นแดนรับรู้ กระทบกับอารมณ์ (อายตนะภายนอก) ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ก็จะเกิดความรู้จำเพาะด้านของอายตนะแต่ละอย่างๆ ขึ้น เช่น ตากระทบรูป เกิดความรู้เรียกว่า “เห็น” หูกระทบเสียง เกิดความรู้เรียกว่า “ได้ยิน” เป็นต้น

ความรู้จำเพาะแต่ละด้านนี้ เรียกว่า “วิญญาณ” แปลว่า ความรู้แจ้ง  คือรู้อารมณ์
 ดังนั้น จึงมี วิญญาณ ๖ อย่าง เท่ากับอายตนะและอารมณ์ ๖ คู่ คือ วิญญาณทางตา  ได้แก่ เห็น  วิญญาณทางหู ได้แก่ ได้ยิน  วิญญาณทางจมูก ได้แก่ ได้กลิ่น  วิญญาณทางลิ้น ได้แก่ รู้รส  วิญญาณทางกาย ได้แก่ รู้สิ่งต้องกาย วิญญาณทางใจ ได้แก่ รู้อารมณ์ทางใจ หรือรู้เรื่องในใจ

สรุปได้ว่า อายตนะ ๖ อารมณ์ ๖ และ วิญญาณ ๖  มีชื่อในภาษาธรรม และมีความสัมพันธ์กัน ดังนี้
๑.  จักขุ   - ตา  เป็นแดนรับรู้   รูป - รูป     เกิดความรู้คือ จักขุวิญญาณ - เห็น
๒.  โสตะ  - หู         ,,      สัททะ - เสียง            ,,    โสตวิญญาณ - ได้ยิน
๓.  ฆานะ – จมูก      ,,      คันธะ - กลิ่น           ,,    ฆานวิญญาณ - ได้กลิ่น
๔.  ชิวหา  – ลิ้น       ,,          รส - รส           ,,    ชิวหาวิญญาณ- รู้รส
๕.  กาย   –  กาย     ,,   โผฏฐัพพะ - สิ่งต้องกาย   ,,    กายวิญญาณ  - รู้สิ่งต้องกาย
๖.  มโน   –  ใจ       ,,      ธรรม  - เรื่องในใจ   ,,    มโนวิญญาณ  - รู้เรื่องในใจ

 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิญญาณจะต้องอาศัยอายตนะและอารมณ์กระทบกันจึงจะเกิดขึ้นได้  ก็จริง แต่การที่อารมณ์เข้ามาปรากฏแก่อายตนะ ก็มิใช่ว่าจะทำให้วิญญาณเกิดขึ้นได้เสมอไป จำต้องมี ความใส่ใจ ความกำหนดใจ หรือความใฝ่ใจประกอบอยู่ด้วย วิญญาณนั้นๆ จึงจะเกิดขึ้น

ดังตัวอย่าง ในบางคราว เช่น เวลาหลับสนิท เวลาฟุ้งซ่าน หรือใจลอยไปเสีย เวลาใจจดจ่อแน่วแน่อยู่กับกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ตลอดจนขณะอยู่ในสมาธิ รูปและเสียงเป็นต้น หลายๆ อย่างที่ผ่านเข้ามา อยู่ในวิสัยที่จะเห็น จะได้ยิน แต่หาได้เห็น หาได้ยินไม่

 อีกตัวอย่างง่ายๆ ขณะเขียนหนังสือ ใจจดจ่ออยู่ จะไม่รู้สึกส่วนของร่างกายที่แตะอยู่กับโต๊ะและเก้าอี้ ตลอดจนมือที่แตะกระดาษ และนิ้วที่แตะปากกาหรือดินสอ

 ในเมื่อมีอายตนะและอารมณ์เข้ามาถึงกันแล้ว แต่วิญญาณไม่เกิดขึ้นเช่นนี้  ก็ยังไม่เรียกว่าการรับรู้ได้เกิดขึ้น

 การรับรู้ จะเกิดขึ้น ต่อเมื่อมีองค์ประกอบเกิดขึ้นครบทั้ง ๓ อย่าง คือ อายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ ภาวะนี้ในภาษาธรรมมีคำเรียกโดยเฉพาะว่า ผัสสะ” หรือ “สัมผัส”  แปลตามรูปศัพท์ว่า การกระทบ แต่มีความหมายทางธรรมว่า การประจวบหรือบรรจบพร้อมกันแห่งอายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ พูดอย่างเข้าใจกันง่ายๆ ผัสสะ ก็คือ การรับรู้ นั่นเอง

 ผัสสะ หรือ สัมผัส หรือการรับรู้นี้ มีชื่อเรียกแยกเป็นอย่างๆ ไป ตามทางรับรู้  คืออายตนะนั้นๆ ครบจำนวน ๖  คือ  จักขุสัมผัส  โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส

 ผัสสะ เป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการรับรู้ เมื่อผัสสะเกิดขึ้นแล้ว กระบวนธรรมก็ดำเนินต่อไป เริ่มแต่ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามานั้น ปฏิกิริยาอย่างอื่นของจิตใจ การจำหมาย การนำอารมณ์นั้นไปคิดปรุงแต่ง ตลอดจนการแสดงออกต่างๆ ที่สืบเนื่องไปตามลำดับ

 ในกระบวนธรรมนี้ สิ่งที่ควรสนใจเป็นพิเศษในการศึกษาขั้นนี้ ก็คือ ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามา ซึ่งเกิดขึ้นในลำดับถัดจากผัสสะนั้นเอง ความรู้สึกนี้ในภาษาธรรม เรียกว่า เวทนา” แปลว่า การเสวยอารมณ์ หรือ การเสพรสอารมณ์ คือความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามานั้น โดยเป็น สุขสบาย ไม่สบาย หรือเฉยๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง

 เวทนานี้ ถ้าแบ่งตามทางรับรู้ ก็มี ๖ เท่าจำนวนอายตนะ คือ เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางหู เป็นต้น
 แต่ถ้าแบ่งตามคุณภาพ จะมีจำนวน ๓ คือ
 ๑. สุข ได้แก่ สบาย ชื่นใจ ถูกใจ
 ๒. ทุกข์ ได้แก่ ไม่สบาย เจ็บปวด
 ๓. อทุกขมสุข ไม่ทุกข์ ไม่สุข คือเรื่อยๆ เฉยๆ ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า อุเบกขา อีกอย่างหนึ่ง แบ่งละเอียดลงไปอีกเป็น เวทนา ๕ อย่าง คือ
 ๑. สุข ได้แก่ สบายกาย
 ๒. ทุกข์ ได้แก่ ไม่สบายกาย เจ็บปวด
 ๓. โสมนัส ได้แก่ สบายใจ ชื่นใจ
 ๔. โทมนัส ได้แก่ ไม่สบายใจ เสียใจ และ
 ๕. อุเบกขา  ได้แก่ เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์
 กระบวนการรับรู้เท่าที่กล่าวมานี้ เขียนให้เห็นง่ายๆ ได้ดังนี้
อายตนะ + อารมณ์ +    วิญญาณ    =   ผัสสะ -- เวทนา
ทางรับรู้  สิ่งที่ถูกรู้       ความรู้        การรับรู้   ความรู้สึกต่ออารมณ์
 ดังได้กล่าวแล้วว่า  อารมณ์ ก็คือโลกที่ปรากฏลักษณะอาการแก่มนุษย์ทางอายตนะต่างๆ การรับรู้อารมณ์เหล่านี้ เป็นสิ่งจำเป็นซึ่งช่วยให้มนุษย์มีความสามารถในการเกี่ยวข้องกับโลก ทำให้ชีวิตอยู่รอดและดำเนินไปด้วยดี

 ในกระบวนการรับรู้นี้  เวทนา ก็เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องชี้บอกให้ทราบว่า อะไรเป็นอันตรายแก่ชีวิต ควรหลีกเว้น อะไรเกื้อกูลแก่ชีวิต ควรถือเอาประโยชน์ได้ เวทนาจึงช่วยให้กระบวนการรับรู้ที่ดำเนินต่อไป สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจที่ครบถ้วนบริบูรณ์ เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น

 แต่สำหรับมนุษย์ปุถุชน เวทนามิได้มีความหมายเพียงเท่านั้น คือมิใช่เพียงแค่ว่ากระบวนการรับรู้ได้มีส่วนประกอบเพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยเสริมความรู้ให้สมบูรณ์ อันจะทำให้มนุษย์มีความสามารถมากขึ้น ในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม แต่เวทนา ยังหมายถึงการที่โลกมีอะไรอย่างหนึ่งเป็นผลตอบแทนหรือรางวัลแก่มนุษย์ ในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกด้วย ผลตอบแทนที่ว่านี้ คือความเอร็ดอร่อย ความชื่นใจที่เกิดจากอารมณ์ ซึ่งเรียกว่า สุขเวทนา

 ในกรณีที่กระบวนการรับรู้ดำเนินมาตามลำดับ จนถึงเวทนา ถ้ามนุษย์หันเข้าจับเวทนาไว้ตามความหมายในแง่นี้ มนุษย์ก็จะหันเหออกไปจากกระบวนการรับรู้ ทำให้กระบวนธรรมอีกอย่างหนึ่งได้โอกาสเข้ามารับช่วงแล่นต่อไปแทนที่ โดยเวทนาจะกลายเป็นปัจจัยตัวเอกที่จะก่อให้เกิดผลสืบเนื่องต่อไป พร้อมกันนั้น กระบวนการรับรู้ ซึ่งกลายไปเป็นส่วนประกอบและเดินควบไปด้วย ก็จะถูกกำลังจากกระบวนธรรมใหม่นี้บีบคั้น ให้บิดเบือนและเอนเอียงไปจากความเป็นจริง

 กระบวนธรรมรับช่วงที่ว่านี้ มักดำเนินไปในแบบง่ายๆ พื้นๆ คือ เมื่อรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เกิดความรู้สึกสุขสบายชื่นใจ ( ?? ? ? เวทนา) ก็อยากได้ (ตัณหา) เมื่ออยากได้ ก็ติดใจพัวพันจนถึงขั้นยึดติดถือมั่น (อุปาทาน) ค้างใจอยู่ไม่อาจวางลงได้ ทั้งที่ตามความเป็นจริงไม่อาจถือเอาไว้ได้ เพราะสิ่งนั้นๆ ล่วงเลยผ่านพ้นหมดไปแล้ว
 จากนั้น ก็เกิดความครุ่นคิดสร้างภาพต่างๆ ที่จะให้ตนอยู่ในภาวะครอบครองอารมณ์อันให้เกิดสุขเวทนานั้น พร้อมทั้งคิดปรุงแต่งสร้างวิธีการที่จะให้ได้อารมณ์และสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์นั้น แล้วลงมือกระทำการต่างๆ ทางกายบ้าง วาจาบ้าง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่ต้องการ เพื่อจะได้เวทนาที่ชอบใจนั้นยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

 ในทางตรงข้าม ถ้ารับรู้อารมณ์ใดแล้ว เกิดความรู้สึกทุกข์ เจ็บปวด ไม่สบาย (ทุกข-เวทนา) ก็ไม่ชอบใจ ขัดเคือง อยากจะพ้นไป หรือให้มันสูญสิ้นไป อยากทำลาย (ตัณหา) ผูกใจ ปักใจ ค้างใจกับสิ่งนั้น (อุปาทาน) ในทางร้าย ที่จะชิงชัง เกลียดกลัว หลีกหนี อย่าให้พบเห็นอีก เป็นต้น พร้อมกับเกิดเป็นปฏิกิริยา ให้ยิ่งยึดมั่นฝันหาผูกใจมั่นหมาย ที่จะให้พบให้ได้สุขเวทนาและสิ่งที่หวังว่าจะให้สุขเวทนาแก่ตนยิ่งขึ้นไปอีก

 ในกระบวนการนี้ ก็จึงบังเกิดเป็นสุขทุกข์แบบซับซ้อนรุนแรงเข้มข้น ที่เป็นผลเสกสรรค์ของมนุษย์เอง ซึ่งหมุนเวียนเข้าวงจรที่เริ่มจากเวทนาใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กลายเป็นสังสารวัฏ วนอยู่อย่างนั้น ไม่สามารถก้าวต่อไปสู่ผลเลิศอย่างอื่น ที่ชีวิตนี้ยังสามารถเข้าถึงได้ยิ่งกว่านั้นขึ้นไป


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


               

 โดยนัยนี้ จะเห็นว่า ช่วงต่อที่กระบวนธรรมจะสืบทอดจากการรับรู้ (ผัสสะ) ต่อไปนั้น เป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทีเดียว และในภาวะเช่นนี้ เวทนาเป็นองค์ธรรมที่มีบทบาทสำคัญมาก กระบวนธรรมที่ดำเนินต่อไปจะเป็นอย่างไร (สำหรับปุถุชน) ต้องขึ้นต่อสภาพของเวทนา ว่าจะเป็นแบบไหนอย่างใด ทั้งนี้ พอจะตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า

 ก. กระบวนธรรมที่สืบทอดจากผัสสะ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างกระบวนการรับรู้ที่บริสุทธิ์ กับกระบวนการสังสารวัฏ
 ในกระบวนการรับรู้บริสุทธิ์ เวทนามีบทบาทเป็นเพียงองค์ประกอบย่อยๆ อย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้เกิดความรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์
 ส่วนในกระบวนการสังสารวัฏ เวทนาเป็นปัจจัยตัวเอก ที่มีอิทธิพลครอบงำความเป็นไปของกระบวนธรรมทั้งหมด กล่าวได้ว่า มนุษย์จะคิดปรุงแต่งอย่างไร และทำการอะไร ก็เพราะเวทนา และเพื่อเวทนา หรือชีวิตจะเป็นอย่างไร ก็เพราะเวทนาและเพื่อเวทนา

 นอกจากนั้น ในกระบวนการสังสารวัฏนี้ มนุษย์มิได้หยุดอยู่เพียงแค่เป็นผู้รับรู้อารมณ์ และเรียนรู้โลกเพื่อเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งแวดล้อมอย่างได้ผลดีเท่านั้น แต่ได้ก้าวต่อไปสู่ความเป็นผู้เสพเสวยโลกด้วย

 สำหรับกระบวนการรับรู้บริสุทธิ์นั้น ถ้าจะพูดให้ละเอียดชัดเจนตามหลัก ก็ต้องตัดตอนที่ช่วงต่อจากผัสสะนี้ด้วยเหมือนกัน โดยถือว่า การรับรู้เกิดขึ้นเสร็จสิ้นแล้วที่ผัสสะ ดังนั้น กระบวนธรรมต่อจากนี้ไปจึงแยกได้เป็นอีกตอนหนึ่ง และขอเรียกชื่อว่า กระบวนการญาณทัศนะ หรือ กระบวนธรรมแบบวิวัฏฏ์ เป็นคู่ปฏิปักษ์กับกระบวนการสังสารวัฏ

 แต่กระบวนธรรมแบบวิวัฏฏ์ เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาชีวิต จึงจะยกไปพูดในตอนที่ว่าด้วย “ชีวิตควรให้เป็นอย่างไร ?” และ “ชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร ?” ไม่กล่าวไว้ในที่นี้

 ข. กระบวนธรรมที่สืบทอดจากผัสสะ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางจริยธรรม ระหว่างความดีกับความชั่ว ระหว่างกุศลกับอกุศล ระหว่างความหลุดพ้นเป็นอิสระ กับการหมกติดหมุนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ

 เมื่อกล่าวถึงส่วนอื่นๆ ของกระบวนธรรมแล้ว ก็ต้องย้อนกลับไปพูดถึงอายตนะอีก เพราะกระบวนธรรมต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ต้องอาศัยอายตนะ เริ่มต้นที่อายตนะ เมื่อว่าองค์ธรรมอื่นๆ สำคัญ ก็ต้องว่าอายตนะสำคัญ

เหมือนกัน เช่น เมื่อว่าเวทนาเป็นองค์ธรรมสำคัญยิ่งในกระบวนธรรมแบบเสพเสวยโลก อายตนะก็ย่อมมีความสำคัญมากด้วย เพราะอายตนะเป็นแหล่งหรือเป็นช่องทางที่อำนวยให้เวทนาเกิดขึ้น

 เวทนา เป็นสิ่งที่มนุษย์มุ่งประสงค์ อายตนะ เป็นแหล่งอำนวยสิ่งที่มุ่งประสงค์นั้น
 เท่าที่กล่าวมา สรุปได้ว่า อายตนะ ๖ ทำหน้าที่รับใช้มนุษย์ ๒ อย่าง คือ
 ๑. เป็นทางรับรู้โลก หรือเป็นแหล่งนำโลกมาเสนอต่อมนุษย์ เป็นเครื่องมือสื่อสาร ทำให้มนุษย์ได้รับข้อมูลแห่งความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถเกี่ยวข้องกับโลกได้ถูกต้อง ทำให้ชีวิตอยู่รอด และ
ดำเนินไปด้วยดี
 ๒. เป็นช่องทางเสพโลก หรือเป็นประตูที่มนุษย์จะเปิดออกไปรับอารมณ์ที่เป็นรสอร่อยของโลก มาเสพเสวย ด้วยการดู การฟัง การดม การลิ้มชิมรส การแตะต้องเสียดสี ความสนุกสนานบันเทิง ตลอดจนจินตนาการ
สิ่งที่หวานชื่นระรื่นใจ

 ความจริง หน้าที่ทั้งสองอย่างนี้ ก็ติดเนื่องอยู่ด้วยกัน
 หน้าที่อย่างแรก เรียกได้ว่าเป็นหน้าที่หลัก หรือหน้าที่พื้นฐานที่จำเป็น
 ส่วน หน้าที่ที่สอง เป็นหน้าที่รอง จะว่าเป็นของแถมหรือส่วนเกินก็คงได้ 
 ในกรณีทั้งสองนั้น การทำงานของอายตนะก็อย่างเดียวกัน ความแตกต่างอยู่ที่เจตจำนงของมนุษย์ ซึ่งมุ่งไปที่ความรู้ หรือมุ่งไปที่เวทนา

 สำหรับมนุษย์ปุถุชน ความสำคัญของอายตนะมักจะก้าวข้ามมาอยู่กับหน้าที่อย่างที่สอง คือการเสพโลก จนถึงขั้นที่กลายเป็นว่า หน้าที่อย่างที่หนึ่งมีไว้เพียงเพื่อเป็นส่วนประกอบสนองการทำหน้าที่อย่างที่สอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า กระบวนการรับรู้มีไว้เพื่อรับใช้กระบวนการเสพเสวยโลก หรือรับใช้กระบวนการสังสารวัฏเท่านั้นเอง

 ทั้งนี้เพราะว่า ปุถุชนมักใช้อายตนะ เพื่อมุ่งรับรู้เฉพาะความรู้ส่วนที่จะทำให้ตนได้เสพเสวยอารมณ์อร่อยของโลกเท่านั้น หาสนใจสิ่งอันพึงรู้นอกจากนั้นไม่

 ยิ่งกว่านั้น แม้ความสัมพันธ์กับโลกในภาคแสดงออก ด้วยการทำ การพูด การคิด ก็จะกลายเป็นการกระทำเพื่อรับใช้กระบวนการสังสารวัฏเช่นเดียวกัน คือ มุ่งทำ พูด คิด เพื่อแสวงหา และให้ได้มาซึ่งอารมณ์สำหรับเสพเสวย

 ยิ่งเป็นปุถุชนที่หนามากเท่าใด ความติดข้องพัวพันอยู่กับหน้าที่อย่างที่สองของอายตนะ ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น จนถึงขั้นที่ว่า ชีวิตและโลกของมนุษย์ วนเวียนอยู่แค่อายตนะ ๖ เท่านั้นเอง

 เท่าที่กล่าวมานี้ จึงเห็นได้ว่า แม้อายตนะ ๖ จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของขันธ์ ๕  และไม่ครอบคลุมทุกส่วนแห่งชีวิตของมนุษย์โดยสิ้นเชิง เหมือนอย่างขันธ์ ๕ ก็จริง แต่มันก็มีบทบาทสำคัญยิ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ มีอำนาจกำกับวิถีชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก จนกล่าวได้ว่า ชีวิตเท่าที่มนุษย์รู้จักและดำเนินอยู่ ก็คือการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกทางอายตนะเหล่านี้ และชีวิตมีความหมายต่อมนุษย์ก็ด้วยอาศัยอายตนะเหล่านี้

 ถ้าอายตนะไม่ทำหน้าที่แล้ว โลกก็ดับ ชีวิตก็ไร้ความหมายสำหรับมนุษย์

 มีข้อความแห่งหนึ่งในบาลี แสดงกระบวนธรรมเท่าที่กล่าวมานี้ได้อย่างกระทัดรัด และช่วยเชื่อมความที่กล่าวมาในตอนว่าด้วยขันธ์ ๕ เข้ากับเรื่องที่อธิบายในตอนนี้ ให้ต่อเนื่องกัน มองเห็นกระบวนธรรมได้ครบถ้วนตลอดสายยิ่งขึ้น จึงขอยกมาอ้างไว้ ดังนี้
 อาศัยตาและรูป เกิดจักขุวิญญาณ, ความประจวบแห่งธรรมทั้งสามนั้น เป็นผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี, บุคคลเสวยอารมณ์ใด ย่อมหมายรู้อารมณ์นั้น (สัญญา), หมายรู้อารมณ์ใด ย่อมตริตรึกอารมณ์นั้น (วิตักกะ), ตริตรึกอารมณ์ใด ย่อมผันพิสดารซึ่งอารมณ์นั้น (ปปัญจะ), บุคคลผันพิสดารซึ่งอารมณ์ใด เพราะการผันพิสดารนั้นเป็นเหตุ ปปัญจสัญญาแง่ต่างๆ  (สัญญาที่ซับซ้อนหลากหลาย) ย่อมผุดพลุ่งสุมรุมเขา ในเรื่องรูปทั้งหลาย ที่พึงรู้ได้ด้วยตา ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
  (ต่อไปว่าด้วยอายตนะและอารมณ์อื่นๆ จนครบ ๖ คู่ ใจความอย่างเดียวกัน)
 
กระบวนธรรมนี้ เขียนให้เห็นง่ายขึ้นดังนี้
      กระบวนการรับรู้บริสุทธิ์  กระบวนธรรมแบบเสพเสวยโลก
  (กระแสปกติตามธรรมชาติ)   (เกิดมีผู้เสวย-สิ่งถูกเสวย  ผู้คิด-สิ่งถูกคิด)
 
    อายตนะ
        +
    อารมณ์ =   ผัสสะ - เวทนา - สัญญา- (วิตักกะ - ปปัญจะ) - ปปัญจสัญญาแง่ต่างๆ
        +           (สังขาร)
    วิญญาณ
 เมื่อเกิดปปัญจสัญญาแล้ว ก็ยิ่งมีความตริตรึกนึกคิด (วิตักกะ) ได้มากมายและกว้างขวางพิสดารยิ่งขึ้น ทำให้เกิดกิเลสต่างๆ เช่น ชอบใจ ไม่ชอบใจ หวงแหน ริษยา เป็นต้น ปนเป คลุกเคล้า ไปกับความคิดนั้น
หมายเหตุ:
    ๑. คำที่ควรเข้าใจ คือ ‘ปปัญจะ’ หมายถึง อาการที่คลอเคลียพัวพันอยู่กับอารมณ์นั้น และคิดปรุงแต่งไปต่างๆ ด้วยแรงตัณหา มานะ และทิฏฐิผลักดัน หรือเพื่อสนองตัณหา มานะ และทิฏฐิ คือ ปรุงแต่งในแง่ที่จะเป็นของฉัน ให้ตัวฉันเป็นนั่นเป็นนี่ หรือเป็นไปตามความเห็นของฉัน ออกรูปออกร่างต่างๆ มากมายพิสดาร จึงทำให้เกิดปปัญจสัญญาแง่ต่างๆ คือสัญญาทั้งหลายที่เนื่องด้วยปปัญจะนั่นเอง
    ๒. จะเห็นว่ามีสัญญา ๒ ตอน สัญญาช่วงแรก คือสัญญาขั้นต้น ที่กำหนดหมายอารมณ์ซึ่งปรากฏตามปกติธรรมดาของมัน สัญญาช่วงหลัง เรียกว่า  ‘ปปัญจสัญญา’ เป็นสัญญาเนื่องจากสังขาร ที่ปรุงแต่งภาพอารมณ์ ให้ออกรูปออกร่างแง่มุมต่างๆ มากมายพิสดารดังกล่าวแล้ว
    ๓. จะเห็นว่า กระบวนธรรมทั้งหมดนั้น แยกได้เป็น ๒ ตอน
 ก) ตอนแรก ตั้งแต่อายตนะภายในถึงเวทนา เป็นกระบวนการรับรู้บริสุทธิ์
     พึงสังเกตว่า ช่วงตอนนี้กระบวนธรรมเป็นกระแสบริสุทธิ์ตามธรรม
     ชาติ มีแต่องค์ธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย (พึงอ่านความที่ยกมาอ้าง
     ข้างบน) ยังไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เกี่ยวข้อง
 ข) ตอนปลาย ตัดตอนแต่เวทนาไปแล้ว เกิดเป็นกระบวนธรรมแบบเสพ
      เสวยโลก หรือกระบวนการสังสารวัฏ มารับช่วงไป
      ความจริง ตั้งแต่เวทนานี้ไปเป็นทางแยก อาจต่อด้วยกระบวนธรรม
      แบบวิวัฏฏ์ก็ได้ แต่ในที่นี้มุ่งแสดงเฉพาะแบบสังสารวัฏก่อน
      ข้อพึงสังเกตในตอนนี้ ก็คือ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของช่วงหลังนี้ จะไม่มี
      เพียงองค์ธรรมต่างๆ ที่เป็นเหตุปัจจัยแก่กันตามธรรมชาติเท่านั้น แต่
      จะเกิดมีสัตว์บุคคลขึ้นมา กลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสพเสวย
      กับสิ่งที่ถูกเสพเสวย ผู้คิดและสิ่งที่ถูกคิด เป็นต้น
    ๔. กระบวนธรรมเสพเสวยโลกในช่วงปลาย ที่แสดงข้างบนนี้ เป็นเพียงวิธีแสดงแบบหนึ่งเท่านั้น เลือกเอามาเพราะเห็นว่าสั้น และเข้ากับเรื่องที่กำลังอธิบาย คือขันธ์และอายตนะได้ดี อาจแสดงแบบอื่นอีกก็ได้ เช่นที่แสดงอย่างพิสดารในหลักปฏิจจสมุปบาทแบบทั่วไป ซึ่งเป็นกระบวนธรรมแบบสังสารวัฏโดยสมบูรณ์
    ๕ ว่าตามหลักอย่างเคร่งครัด วิญญาณ ผัสสะ เวทนา สัญญา ในกระบวนธรรมนี้ เป็นสหชาตธรรม ท่านถือว่าเกิดร่วมกัน พึงเข้าใจว่า ที่เขียนแสดงลำดับไว้อย่างนี้ มุ่งเพื่อศึกษาได้ง่าย
 เนื่องด้วยกระบวนธรรมนี้ แยกได้เป็น ๒ ช่วงตอน และช่วงตอนหลังอาจแยกไปเป็นกระบวนธรรมแบบสังสารวัฏ หรือแบบวิวัฏฏ์ก็ได้ ดังนั้น เพื่อมองเห็นภาพได้กว้างขวางขึ้น อาจเขียนแสดงได้ดังนี้
อายตนะ
    +      -กระบวนธรรมแบบสังสารวัฏฏ์
อารมณ์ =  ผัสสะ - เวทนา-
    +      -กระบวนธรรมแบบวิวัฏฏ์
วิญญาณ

 ในเรื่องอายตนะนี้ มีข้อควรทราบเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการ
ศึกษาต่อไป ดังนี้
 - อายตนะภายใน หรือทวาร ๖ นั้น มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อินทรีย์ ๖” คำว่า อินทรีย์ แปลว่า ภาวะที่เป็นใหญ่ หมายถึงสิ่งที่ทำหน้าที่เป็นใหญ่ เป็นเจ้าหน้าที่ หรือเป็นเจ้าการในเรื่องนั้นๆ เช่น ตา เป็นเจ้าการในการรับรู้รูป หู เป็นเจ้าการในการรับรู้เสียง เป็นต้น อินทรีย์ ๖ คือ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ และมนินทรีย์

 คำว่า อินทรีย์ นิยมใช้กับอายตนะในขณะทำหน้าที่ของมัน ในชีวิตจริง และเกี่ยวกับจริยธรรม เช่น การสำรวมจักขุนทรีย์ เป็นต้น ส่วน อายตนะ นิยมใช้ในเวลาพูดถึงตัวสภาวะที่อยู่ในกระบวนธรรม เช่นว่า อาศัยจักขุ อาศัยรูป เกิดจักขุวิญญาณ เป็นต้น และเมื่อพูดถึงสภาว-ลักษณะ เช่นว่า จักขุไม่เที่ยง เป็นต้น อีกคำหนึ่งที่ใช้พูดกันบ่อย ในเวลากล่าวถึงสภาวะในกระบวนธรรม คือคำว่า “ผัสสายตนะ” แปลว่า ที่เกิดหรือบ่อเกิดแห่งผัสสะ คือที่มาของการรับรู้นั่นเอง

 -อายตนะภายนอก หรืออารมณ์ ก็มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก คือ “โคจร” (ที่เที่ยว, ที่หากิน) และ “วิสัย” (สิ่งผูกพัน, แดนดำเนิน)  และชื่อที่ควรกำหนดเป็นพิเศษ ใช้เฉพาะกับอารมณ์ ๕ อย่างแรก ซึ่งมีอิทธิพลมาก ในกระบวนธรรมแบบเสพเสวยโลก หรือแบบสังสารวัฏ คือคำว่า “กามคุณ” (ส่วนที่น่าใคร่น่าปรารถนา, ส่วนที่ดีหรือส่วนอร่อยของกาม)
 กามคุณ ๕ หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ เฉพาะที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ

(อ่านต่อค่ะที่) : http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8102/
ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
พุทธพจน์เกี่ยวกับอายตนะ
คุณค่าทางจริยธรรม (อายตนะ)


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 25, 2013, 10:12:33 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


                 

ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้
 เมื่อพูดถึง อายตนะ ซึ่งเป็นแดนรับรู้ ก็ควรทราบเรื่องราวเกี่ยวกับความรู้ด้วย แต่เรื่องที่ควรทราบเกี่ยวกับความรู้ มีมากมายหลายอย่าง ไม่อาจแสดงไว้ในที่นี้ทั้งหมด จึงจะกล่าวไว้เพียงเรื่องเดียว คือ ความถูกต้องและผิดพลาดของความรู้ และแม้ในหัวข้อนี้ ก็จะกล่าวถึงหลักที่ควรทราบเพียง ๒ อย่างเท่านั้น

ก. สัจจะ ๒ ระดับ
ข. วิปลาส หรือ วิปัลลาส ๓

ก. สัจจะ ๒ ระดับ
 ผู้สดับคำสอนในพระพุทธศาสนาบางคน เกิดความสับสน เมื่อได้อ่านได้ฟังข้อความบางอย่าง เช่น
บางแห่งว่า ไม่ควรคบคนพาล ควรคบบัณฑิต คนพาลมีลักษณะอย่างนี้ๆ บัณฑิตมีลักษณะอย่างนี้ๆ ควรยินดีแต่ของของตน ไม่ควรอยากได้ของของผู้อื่น ตนเป็นที่พึ่งของตน คนควรช่วยเหลือกัน ดังนี้เป็นต้น

 แต่บางแห่งว่า พึงพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า กายก็แค่กาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา พึงรู้เท่าทันตามเป็นจริงว่า ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ดังนี้เป็นต้น

 เมื่อได้อ่านได้ฟังอย่างนี้แล้ว ก็มองไปว่า คำสอนในทางพระศาสนาขัดแย้งกันเอง หรือไม่ก็งงแล้วไม่เข้าใจ หรือบางคนเข้าใจบ้างแต่ไม่ชัดเจนพอ ทำให้เกิดการปฏิบัติสับสนผิดพลาด ดำเนินชีวิตไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ในเวลาที่ควรพูดควรปฏิบัติตามความรู้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน กลับพูดหรือปฏิบัติด้วยความยึดถือในความรู้ตามสภาวะ เป็นต้น ทำให้เกิดความวุ่นวายและเสียหาย ทั้งแก่ตนและผู้อื่น


 คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม หวังจะช่วยป้องกันความสับสนผิดพลาดเช่นนี้ จึงสอนให้รู้จักแยกสัจจะ หรือความจริง เป็น ๒ ระดับ กล่าวคือ
๑. สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โวหารสัจจะ ความจริงโดยโวหาร หรือโดยสำนวนพูด) คือ จริงตามมติร่วมกัน ตามที่ได้ตกลงกันไว้ หรือยอมรับร่วมกัน เป็นเครื่องมือสื่อสาร พอให้สำเร็จประโยชน์ในชีวิตประจำวัน (conventional truth) เช่น คน สัตว์ คนดี คนชั่ว โต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ เป็นต้น ตัวอย่างที่พอเทียบให้เห็นเค้า เช่น ภาษาสามัญพูดว่า น้ำ ว่าเกลือ เป็นต้น

๒. ปรมัตถสัจจะ ความจริงโดยปรมัตถ์ คือ จริงตามความหมายสูงสุด ตามความหมายแท้ อย่างยิ่ง หรือ ตามความหมายแท้ขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่พอจะกล่าวถึงได้ หรือพอจะยังพูดให้เข้าใจกันได้ (ultimate truth) เพื่อสำหรับให้เกิดความรู้ความเข้าใจเท่าทันความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย คือ รู้จักสิ่งเหล่านั้นตามที่มันเป็น และเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด คือ การหยั่งรู้สัจธรรม ที่จะทำให้ความยึดติดถือมั่นหลงผิดทั้งหลายสลายหมดไป ทำให้วางใจวางท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ มีจิตใจเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบาน มีความสุขที่แท้จริง

 สิ่งที่เป็นจริงโดยปรมัตถ์ เช่น นามธรรม รูปธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือจิต เจตสิก รูป นิพพาน ผัสสะ เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ ฯลฯ ตัวอย่างที่พอเทียบให้เห็นเค้า เช่น ในทางวิทยาศาสตร์ถือว่า คำว่า น้ำ ว่า เกลือ เป็นต้น ยังไม่ตรงสภาวะแท้ อาจมีแง่ความหมายที่คลุมเครือ หรือเขวได้ น้ำแท้ๆ คือ hydrogen oxide (H2O) เกลือสามัญก็เป็น sodium chloride (NaCl) จึงถูกแท้ ดังนี้เป็นต้น (ข้อเปรียบเทียบนี้ไม่ใช่ตรงกันแท้ แต่เทียบพอให้เห็นว่า ในวิชาการอื่น ก็มีการมองเห็นความจริงด้านอื่น ของสิ่งสามัญ และไม่ยอมรับว่าคำพูดสามัญสื่อความจริงได้ตรงแท้)

 อย่างไรก็ดี ความคิดเกี่ยวกับสมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ ที่ท่านระบุออกมาเป็นคำบัญญัติในพระอภิธรรมนั้น ก็ยกเอาความในพระสูตรนั่นเองเป็นที่อ้าง แสดงว่า ความคิดความเข้าใจเรื่องนี้ เป็นของมีแต่เดิม แต่ในครั้งเดิมนั้น คงเป็นที่เข้าใจกันดี จนไม่ต้องระบุคำบัญญัติ ๒ คำนี้ ข้อความในพระสูตรที่ท่านยกมาอ้างนั้น เป็นคำของพระภิกษุณีชื่อวชิรา มีเนื้อความดังนี้

นี่แน่ะมาร! ท่านจะมีความเห็นยึดถือว่าเป็นสัตว์ได้อย่างไร, ในสภาวะที่เป็นเพียงกองแห่งสังขารล้วนๆ นี้ จะหาตัวสัตว์ไม่ได้เลย, เปรียบเหมือนว่า เพราะคุมส่วนประกอบเข้าด้วยกัน ศัพท์ว่า “รถ” ย่อมมีฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สมมติว่า “สัตว์” ก็ย่อมมี ฉันนั้น

 ความคล้ายกันนี้ ที่เน้นในแง่ปฏิบัติ คือ ความรู้เท่าทันสมมติ และเข้าใจปรมัตถ์ แล้วรู้จักใช้ภาษาเป็นเครื่องสื่อความหมาย โดยไม่ยึดติดในสมมติ ไม่เป็นทาสของภาษานั้น สามารถยกบาลีที่เป็นพุทธพจน์มาอ้างได้อีกหลายแห่ง เช่น

ภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ...จะพึงกล่าวว่า ฉันพูด ดังนี้ก็ดี เขาพูดกับฉัน ดังนี้ก็ดี เธอเป็นผู้ฉลาด รู้ถ้อยคำที่เขาพูดกันในโลก ก็พึงกล่าวไปตามโวหารเท่านั้น
 เหล่านี้เป็นโลกสมัญญา เป็นโลกนิรุติ เป็นโลกโวหาร เป็นโลกบัญญัติ ซึ่งตถาคตใช้พูดจา แต่ไม่ยึดติด


 อนึ่ง พระอรรถกถาจารย์บรรยายลักษณะของพระสูตร (สุตตันตปิฎก) ว่าเป็น โวหารเทศนา เพราะเนื้อหาส่วนมากแสดงโดยโวหาร คือ ใช้ภาษาสมมติ
 ส่วนพระอภิธรรมเป็น ปรมัตถเทศนา เพราะเนื้อหาส่วนมากแสดงโดยปรมัตถ์ คือ กล่าวตามสภาวะแท้ๆ 
 นี้เป็นข้อสังเกตเพื่อประดับความรู้อย่างหนึ่ง


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


ข. วิปลาส หรือ วิปัลลาส ๓
 วิปลาส คือ ความรู้คลาดเคลื่อน ความรู้ที่ผันแปรผิดพลาดจากความเป็นจริง หมายถึง ความรู้คลาดเคลื่อนขั้นพื้นฐาน ที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด หลงผิด การลวงตัวเอง วางใจ วางท่าที ประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้อง ต่อโลก ต่อชีวิต ต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวง และเป็นเครื่องกีดกั้นขัดขวางบังตา ไม่ให้มองเห็นสัจภาวะ วิปลาส มี ๓ อย่าง คือ

 ๑. สัญญาวิปลาส สัญญาคลาดเคลื่อน หมายรู้ผิดพลาดจากความเป็นจริง
 ๒. จิตวิปลาส จิตคลาดเคลื่อน ความคิดผิดพลาดจากความเป็นจริง
 ๓. ทิฏฐิวิปลาส ทิฏฐิคลาดเคลื่อน ความเห็นผิดพลาดจากความเป็นจริง
 สัญญาวิปลาส หมายรู้คลาดเคลื่อน เช่น คนตกใจเห็นเชือกเป็นงู กาและกวางป่า มองหุ่นฟางสวมเสื้อกางเกงมีหม้อครอบ เห็นเป็นคนเฝ้านา คนหลงทางเห็นทิศเหนือเป็นทิศใต้ เห็นทิศใต้เป็นทิศเหนือ คนเห็นแสงไฟโฆษณากระพริบอยู่กับที่ เป็นไฟวิ่ง เป็นต้น

 จิตวิปลาส ความคิดคลาดเคลื่อน เช่น คนบ้าคิดเอาหญ้าเป็นอาหารของตน คนจิตฟั่นเฟือนมองเห็นคนเข้ามาหา คิดว่าเขาจะทำร้าย คนเห็นเงาเคลื่อนไหวในที่มืดสลัว คิดวาดภาพเป็นผีหลอก กระต่ายตื่นตูม ได้ยินเสียงลูกมะพร้าวหล่น คิดวาดภาพเป็นว่าโลกกำลังแตก เป็นต้น

 ทิฏฐิวิปลาส ความเห็นคลาดเคลื่อน ตามปกติ สืบเนื่องมาจากสัญญาวิปลาสและจิตวิปลาสนั่นเอง เมื่อหมายรู้ผิดอย่างไร ก็เห็นผิดไปตามนั้น เมื่อคิดวาดภาพเคลื่อนคลาดไปอย่างไร ก็พลอยเห็นผิด เชื่อถือผิดพลาดไปตามอย่างนั้น

 ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อหมายรู้ผิดว่าเชือกเป็นงู ก็อาจลงความเห็นยึดถือว่าสถานที่บริเวณนั้นมีงูหรือมีงูชุม เมื่อหมายรู้ว่าผืนแผ่นดินเรียบราบขยายออกไปเป็นเส้นตรง ก็จึงลงความเห็นยึดถือว่าโลกแบน เมื่อคิดไปว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น เป็นไป เคลื่อนไหวต่างๆ ก็ต้องมีผู้จัดแจงผลักดัน ก็จึงลงความเห็นยึดถือว่า ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม มีเทพเจ้าประจำอยู่และคอยบันดาล ดังนี้เป็นต้น

 ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นชั้นหยาบที่เห็นง่ายๆ อาจเรียกอย่างภาษาพูดว่า เป็นความวิปลาสขั้นวิปริต
 ส่วนในทางธรรม ท่านมองความหมายของวิปลาสอย่างละเอียดถึงขั้นพื้นฐาน หมายถึงความรู้คลาดเคลื่อนชนิดที่มิใช่มีเฉพาะในบางคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่มีในคนทั่วไปแทบทั้งหมดอย่างไม่รู้ตัว คนทั้งหลายตกอยู่ใต้อิทธิพลครอบงำของมัน และวิปลาสทั้ง ๓ ชนิดนั้น จะสอดคล้องประสานกันเป็นชุดเดียว วิปลาสขั้นละเอียดหรือขั้นพื้นฐานนั้น พึงเห็นตามบาลีดังนี้

 ภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส มี ๔ อย่าง
  ดังนี้; ๔ อย่างอะไรบ้าง ?  (กล่าวคือ)
  ๑. สัญญาวิปลาส  จิตวิปลาส  ทิฏฐิวิปลาส  ในสิ่งไม่เที่ยง     ว่าเที่ยง 
  ๒. สัญญาวิปลาส  จิตวิปลาส  ทิฏฐิวิปลาส  ในสิ่งที่เป็นทุกข์  ว่าเป็นสุข
  ๓. สัญญาวิปลาส  จิตวิปลาส  ทิฏฐิวิปลาส  ในสิ่งมิใช่ตัวตน  ว่าตัวตน
  ๔. สัญญาวิปลาส  จิตวิปลาส  ทิฏฐิวิปลาส  ในสิ่งที่ไม่งาม     ว่างาม

วิปลาสเหล่านี้ เป็นอุปสรรคต่อการฝึกอบรมเจริญปัญญา และก็เป็นเป้าหมายของการฝึกอบรมปัญญาที่จะกำจัดมันเสีย การพัฒนาความรู้และเจริญปัญญาตามวิธีที่กล่าวไว้ในพุทธธรรม ล้วนช่วยแก้ไขบรรเทาและกำจัดวิปลาสได้ทั้งนั้น เฉพาะอย่างยิ่ง การใช้โยนิโสมนสิการแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัยและแยกแยะองค์ประกอบตรวจดูสภาวะ โดยมีสติพร้อมอยู่


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธธรรม :พุทธพจน์เกี่ยวกับอายตนะ (ป. อ. ปยุตฺโต)
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 21, 2013, 06:26:02 am »



พุทธพจน์เกี่ยวกับอายตนะ
ก) สรรพสิ่ง โลก และบัญญัติต่างๆ
ข) ความจริงเดียวกัน ทั้งแก่ผู้หลง และผู้รู้เท่าทัน
ค) จิตใจใหญ่กว้าง มีปัญญานำทาง อยู่อย่างมีสติ
ง) ก้าวไปในมรรคาแห่งอิสรภาพและความสุข

ก) สรรพสิ่ง โลก และบัญญัติต่างๆ
 ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงแก่พวกเธอซึ่ง “สรรพสิ่ง” (สิ่งทั้งปวง. ครบหมด, ทุกสิ่งทุกอย่าง), จงฟังเถิด; อะไรเล่าคือ สรรพสิ่ง: ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ ใจกับ   ธรรมารมณ์ - นี้เราเรียกว่า สรรพสิ่ง

 พระองค์ผู้เจริญ เรียกกันว่า “โลก โลก” ดังนี้, ด้วยเหตุเพียงไร จึงมีโลก หรือบัญญัติว่าเป็นโลก ?

 ดูกรสมิทธิ ที่ใดมีตา มีรูป มีจักขุวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ด้วยจักขุ-วิญญาณ, ที่นั่นก็มีโลก หรือบัญญัติว่าเป็นโลก, ที่ใดมีหู...มีจมูก...มีลิ้น...มีกาย...มีใจ มีธรรมารมณ์ มีมโนวิญญาณ มีสิ่งอันพึงรู้ด้วยมโนวิญญาณ ที่นั้นก็มีโลก หรือบัญญัติว่าโลก
 ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวว่า ที่สุดโลก เป็นสิ่งที่รู้ได้ เห็นได้ ถึงได้ ด้วยการไป, แต่เราก็ไม่กล่าวเช่นกันว่า บุคคลยังไม่ถึงที่สุดโลก จะทำความสิ้นทุกข์ได้
 (พระอานนท์กล่าว : ) ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ ยังมิได้ทรงแจกแจงเนื้อความโดยพิสดารนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจความโดยพิสดารดังนี้ :- บุคคลย่อมสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลกด้วยสิ่งใด สิ่งนั้นเรียกว่า “โลก” ในอริยวินัย

 ด้วยอะไรเล่า คนจึงสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลก ? ด้วยตา...ด้วยหู...ด้วยจมูก...ด้วยลิ้น...ด้วยกาย...ด้วยใจ คนจึงสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลก

ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงการอุทัยพร้อม และการอัสดงแห่งโลก, จงฟังเถิด.
 การอุทัยพร้อมแห่งโลกเป็นไฉน ? อาศัยตา และรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ, ความประจวบแห่งสิ่งทั้งสามนั้น คือ ผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี, เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี, เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี, เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี, เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี, เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสก็มีพร้อม; นี้คือการอุทัยพร้อมแห่งโลก

 อาศัยหู...อาศัยจมูก...อาศัยลิ้น...อาศัยกาย...อาศัยใจและธรรมารมณ์ จึงเกิดมโนวิญญาณ ฯลฯ นี้คือการอุทัยพร้อมแห่งโลก
 การอัสดงแห่งโลกเป็นไฉน ? อาศัยตา และรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ,ความประจวบแห่งสิ่งทั้งสามนั้นคือผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี, เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี, เพราะตัณหานั้นแหละสำรอกดับไปไม่เหลือ ความดับอุปาทานจึงมี, เพราะดับอุปาทาน ความดับภพจึงมี, เพราะดับภพ ความดับชาติจึงมี, เพราะดับชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงดับ, ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งหมด  ย่อมมีได้อย่างนี้; นี้เรียกว่าการอัสดงแห่งโลก

อาศัยหู...อาศัยจมูก...อาศัยลิ้น...อาศัยกาย...อาศัยใจและธรรมารมณ์ จึงเกิดมโนวิญญาณ ฯลฯ เพราะตัณหานั้นแหละสำรอกดับไปไม่เหลือ…นี้คือการอัสดงของโลก

 พระองค์ผู้เจริญ เรียกกันว่า “มาร มาร” ...เรียกกันว่า “สัตว์ สัตว์” ...เรียกกันว่า “ทุกข์ ทุกข์” ดังนี้, ด้วยเหตุเพียงไร จึงมีมารหรือบัญญัติว่ามาร...จึงมีสัตว์หรือบัญญัติว่าสัตว์... จึงมีทุกข์หรือบัญญัติว่าทุกข์ ?

 ดูกรสมิทธิ ที่ใดมีตา มีรูป มีจักขุวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ด้วยจักขุวิญญาณ ฯลฯ มีใจ มีธรรมารมณ์ มีมโนวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ด้วยมโนวิญญาณ, ที่นั้นก็มีมารหรือบัญญัติว่ามาร...สัตว์หรือบัญญัติว่าสัตว์...ทุกข์หรือบัญญัติว่าทุกข์
 เมื่อตามีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขทุกข์, เมื่อตาไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมไม่บัญญัติว่าสุขทุกข์, เมื่อหู...เมื่อจมูก...เมื่อลิ้น...เมื่อกาย...เมื่อใจมีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลาย จึงบัญญัติสุขทุกข์ เมื่อหู ฯลฯ ใจไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมไม่บัญญัติสุขทุกข์

ข) ความจริงเดียวกัน ทั้งแก่ผู้หลง และผู้รู้เท่าทัน
ภิกษุทั้งหลาย ตา...หู...จมูก...ลิ้น...กาย...ใจ ไม่เที่ยง...เป็นทุกข์...เป็นอนัตตา, แม้สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จักเป็นของเที่ยง จักเป็นสุข จักเป็นอัตตาได้แต่ที่ไหน

 รูป...เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ไม่เที่ยง...เป็นทุกข์…เป็นอนัตตา, แม้สิ่งที่เป็นเหตุ  เป็นปัจจัยให้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ธรรมารมณ์เกิดขึ้น ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จักเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาได้แต่ที่ไหน

 ภิกษุทั้งหลาย ข้าวกล้างอกงามบริบูรณ์ และคนเฝ้าข้าวกล้าก็ประมาทเสีย, โคกินข้าวกล้า ลงสู่ข้าวกล้าโน้น พึงเมาเพลินประมาทเอาจนเต็มที่ ฉันใด, ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ไม่สังวรในผัสสายตนะ ๖ ย่อมเมาเพลินประมาทในกามคุณ ๕ จนเต็มที่ ฉันนั้น

 ภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ที่ไม่ฝึก ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สังวร ย่อมเป็นเครื่องนำทุกข์มาให้...ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ ที่ฝึกดีแล้ว คุ้มครองดี รักษาดี สังวรดี ย่อมเป็นเครื่องนำสุขมาให้...


 ตาเป็นเครื่องผูกล่ามรูปไว้, รูปเป็นเครื่องผูกล่ามตาไว้; หู - เสียง; จมูก - กลิ่น; ลิ้น - รส; กาย - โผฏฐัพพะ; ใจเป็นเครื่องผูกล่ามธรรมารมณ์ไว้, ธรรมารมณ์เป็นเครื่องผูกล่ามใจไว้ ดังนี้หรือ ?

 (หามิได้)  ตาก็มิใช่เครื่องผูกล่ามรูปไว้,  รูปก็มิใช่เครื่องผูกล่ามตาไว้; ฉันทราคะ (ความชอบใจจนติด) ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูปทั้งสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ตาและรูปนั้น ฯลฯ ใจก็ไม่ใช่เครื่องผูกล่ามธรรมารมณ์, ธรรมารมณ์ก็มิใช่เครื่องผูกล่ามใจ; ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ใจและธรรมารมณ์นั้น

 หากตาเป็นเครื่องผูกล่ามรูปไว้ หรือรูปเป็นเครื่องผูกล่ามตาไว้แล้วไซร้, การครองชีวิตประเสริฐ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ ก็จะปรากฏไม่ได้;  แต่เพราะเหตุที่ตาไม่ใช่เครื่องผูกล่ามรูป,  รูปมิใช่เครื่องผูกล่ามตา, ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูปสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ตาและรูปนั้น, เพราะเหตุฉะนั้น การครองชีวิตประเสริฐเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏได้ ฯลฯ

 พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระจักษุ, พระผู้มีพระภาคก็ทรงเห็นรูปด้วยจักษุ, (แต่) ฉันทราคะไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า, พระผู้มีพระภาคทรงมีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว; พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระโสต...พระฆานะ...พระชิวหา...พระกาย...พระทัย...

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 21, 2013, 08:50:20 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


ค) จิตใจใหญ่กว้าง มีปัญญานำทาง อยู่อย่างมีสติ
 พระองค์ผู้เจริญ! ถึงแม้ข้าพระองค์จะชราแล้ว เป็นผู้เฒ่าผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ ก็ตาม, ขอพระผู้มีพระภาคสุคตเจ้า โปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ แต่โดยย่อเถิด ข้าพระองค์คงจะเข้าใจความแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคได้เป็นแน่ ข้าพระองค์คงจะเป็นทายาทแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคได้เป็นแน่

 แน่ะมาลุงกยบุตร ! ท่านเห็นเป็นประการใด ? รูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยจักษุอย่างใดๆ ซึ่งเธอยังไม่เห็น ทั้งมิเคยได้เห็น ทั้งไม่เห็นอยู่ ทั้งไม่เคยคิดหมายว่าขอเราพึงเห็น, ความพอใจ ความใคร่ หรือความรัก ในรูปเหล่านั้น จะมีแก่เธอไหม ?
 ไม่มี พระเจ้าข้า

 เสียง…กลิ่น...รส…โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ทั้งหลาย อย่างใดๆ ซึ่งเธอไม่ได้ทราบ ไม่เคยทราบ ไม่ทราบอยู่ ทั้งไม่เคยคิดหมายว่าเราพึงทราบ, ความพอใจ ความใคร่ หรือความรักในธรรมารมณ์เหล่านั้น จะมีแก่เธอไหม ?
 ไม่มีพระเจ้าข้า

มาลุงกยบุตร! บรรดาสิ่งที่เห็น ได้ยิน รู้ ทราบ เหล่านี้ ในสิ่งที่เห็น เธอจักมีแค่เห็น ในสิ่งที่ได้ยินจักมีแค่ได้ยิน ในสิ่งที่ลิ้ม ดม แตะต้อง จักมีแค่รู้ (รส กลิ่น แตะต้อง) ในสิ่งที่ทราบ จักมีแค่ทราบ
 เมื่อใด (เธอมีแค่เห็น ได้ยิน ได้รู้ ได้ทราบ) เมื่อนั้น เธอก็ไม่มีด้วยนั่น
(อรรถกถาอธิบายว่าไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำ), เมื่อไม่มีด้วยนั่น ก็ไม่มีที่นั่น (อรรถกถาอธิบายว่า ไม่พัวพันหมกติดอยู่ในสิ่งที่ได้เห็นเป็นต้นนั้น), เมื่อไม่มีที่นั่น เธอก็ไม่มีที่นี่ ไม่มีที่โน่น ไม่มีระหว่างที่นี่ที่โน่น (ไม่ใช่ภพนี้ ไม่ใช่ภพโน้น ไม่ใช่ระหว่างภพทั้งสอง), นั่นแหละคือที่จบสิ้นของทุกข์

 (พระมาลุงกยบุตรสดับแล้ว กล่าวความตามที่ตนเข้าใจออกมาว่า:)
พอเห็นรูป สติก็หลงหลุด ด้วยมัวใส่ใจแต่นิมิตหมายที่น่ารัก แล้วก็มีจิตกำหนัดติดใจ เสวยอารมณ์แล้วก็สยบอยู่กับอารมณ์นั้นเอง, เวทนาหลากหลายอันก่อกำเนิดขึ้นจากรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้น จิตของเขาก็คอยถูกกระทบกระทั่ง ทั้งกับความอยากและความยุ่งยากใจ เมื่อสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่าไกลนิพพาน

พอได้ยินเสียง…พอได้กลิ่น...พอลิ้มรส...พอถูกต้องโผฏฐัพพะ...พอรู้ธรรมารมณ์  สติก็หลงหลุด ฯลฯ ก็เรียกว่าไกลนิพพาน
 เห็นรูปก็ไม่ติดในรูป ด้วยมีสติมั่นอยู่, มีจิตไม่ติดใจ เสวยเวทนาไป ก็ไม่สยบกับอารมณ์นั้น; เขามีสติดำเนินชีวิตอย่างที่ว่า เมื่อเห็นรูป และถึงจะเสพเวทนา ทุกข์ก็มีแต่สิ้น ไม่สั่งสม; เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่าใกล้นิพพาน


 ได้ยินเสียง...ได้กลิ่น...ลิ้มรส…ถูกต้องโผฏฐัพพะ...รู้ธรรมารมณ์ ก็ไม่ติดในธรรมารมณ์ ด้วยมีสติมั่นอยู่ ฯลฯ ก็เรียกว่าใกล้นิพพาน

 ด้วยเหตุเพียงไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวาร ? คนบางคนเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมน้อมรักฝากใจในรูปที่น่ารัก ย่อมขุ่นเคืองขัดใจในรูปที่ไม่น่ารัก มิได้มีสติกำกับใจ เป็นอยู่โดยมีจิตคับแคบ (มีใจเล็กนิดเดียว), ไม่เข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งความหลุดรอดปลอดพ้นของจิต และความหลุดรอดปลอดพ้นด้วยปัญญา ที่จะทำให้บาปอกุศลธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่ตัวเขา ดับไปได้โดยไม่เหลือ; ฟังเสียงด้วยหู...สูดกลิ่นด้วยจมูก...ลิ้มรสด้วยลิ้น...ต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ทราบธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมน้อมรักฝากใจในเสียง...ในธรรมารมณ์ อันน่ารัก ย่อมขุ่นเคืองขัดใจในเสียง...ในธรรมารมณ์ อันไม่น่ารัก ฯลฯ

 ด้วยเหตุเพียงไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวาร ? ภิกษุเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมไม่น้อมรักฝากใจในรูปที่น่ารัก ไม่ขุ่นเคืองขัดใจในรูปที่ไม่น่ารัก มีสติกำกับใจ เป็นอยู่อย่างผู้มีจิตกว้างขวาง ไม่มีประมาณ เข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งความหลุดรอดปลอดพ้นของจิต และความหลุดรอดปลอดพ้นด้วยปัญญา ที่จะทำให้บาปอกุศลธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่ตัวเขา ดับไปได้โดยไม่เหลือ; ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ทราบธรรมารมณ์ด้วยใจ ย่อมไม่น้อมรักฝากใจในเสียง…ในธรรมารมณ์ อันน่ารัก ไม่ขุ่นเคืองขัดใจใน เสียง…ในธรรมารมณ์ อันไม่น่ารัก ฯลฯ”

ง) ก้าวไปในมรรคาแห่งอิสรภาพและความสุข
 ภิกษุทั้งหลาย  อย่างไรจึงจะชื่อว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ? เมื่อภิกษุสังวรจักขุนทรีย์อยู่ จิตย่อมไม่ซ่านแส่ไปในรูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยจักษุ, เมื่อมีจิตไม่ซ่านแส่ ปราโมทย์ก็เกิด, เมื่อมีปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด, เมื่อมีใจปีติ กายก็สงบระงับ, ผู้มีกายสงบย่อมเป็นสุข, ผู้มีสุขจิตย่อมเป็นสมาธิ, เมื่อจิตเป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏ, เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ ผู้นั้นจึงนับว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท” (เกี่ยวกับโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน)

 อานนท์ การอบรมอินทรีย์ (อินทรียภาวนา) ที่ยอดเยี่ยม ในแบบแผนของอารยชน (อริยวินัย) เป็นอย่างไร ? เพราะเห็นรูปด้วยตา…เพราะได้ยินเสียงด้วยหู...เพราะได้กลิ่นด้วยจมูก...เพราะรู้รสด้วยลิ้น…เพราะต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...เพราะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ย่อมเกิดความชอบใจบ้าง เกิดความไม่ชอบใจบ้าง เกิดทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจบ้าง.แก่ภิกษุ; เธอเข้าใจชัดดังนี้ว่า ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้.เป็นสิ่งปรุงแต่ง เป็นธรรมหยาบ เป็นของอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น, ภาวะต่อไปนี้จึงจะสงบประณีต นั่นคืออุเบกขา (ความมีใจเป็นกลาง), (ครั้นแล้ว) ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจ.ที่เกิดขึ้นแก่เธอนั้น.ก็ดับไป อุเบกขาก็ตั้งมั่น”สำหรับบุคคลผู้ใดก็ตาม ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป อุเบกขาย่อมตั้งมั่นได้เร็วพลันทันที โดยไม่ยาก เสมือนคนหลับตาแล้วลืมตา หรือลืมตาแล้วหลับตา ฯลฯ นี้เรียกว่า การอบรมอินทรีย์ที่ยอดเยี่ยม ในแบบแผนของอารยชน...

 ภิกษุทั้งหลาย ก่อนสัมโพธิ เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ ผู้ยังไม่ตรัสรู้ เราได้เกิดความดำริขึ้นดังนี้ว่า: อะไรเป็นคุณ (ความหวานชื่น ความอร่อย) ของจักษุ ? อะไรเป็นโทษ (ข้อเสีย ความบกพร่อง) ของจักษุ ? อะไรเป็นทางออก (เป็นอิสระ ไม่ต้องอิงอาศัย) แห่งจักษุ ? อะไรเป็นคุณ...เป็นโทษ...เป็นทางออก แห่งโสตะ...ฆานะ...ชิวหา…กาย…มโน ?

 เราได้เกิดความคิดขึ้นดังนี้:  สุข  โสมนัส  ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุ นี้คือคุณของจักษุ, ข้อที่จักษุ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้คือโทษของจักษุ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในเพราะจักษุเสียได้ นี้คือทางออกแห่งจักษุ (ของโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน)

ตราบใด เรายังมิได้รู้ประจักษ์ตามเป็นจริง ซึ่งคุณของอายตนะภายใน ๖ เหล่านี้ โดยเป็นคุณ, ซึ่งโทษ โดยเป็นโทษ, ซึ่งทางออก โดยเป็นทางออก, ตราบนั้น เราก็ยังไม่ปฏิญญาว่าเราบรรลุแล้วซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ...

 (ต่อไปตรัสถึงคุณ โทษ ทางออกพ้น แห่งอายตนะภายนอก ๖ ในทำนองเดียวกัน)
 ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่รู้เห็นจักษุตามที่มันเป็น รู้เห็นรูปทั้งหลายตามที่มันเป็น  รู้เห็นจักขุวิญญาณตามที่มันเป็น  รู้เห็นจักษุสัมผัสตามที่มันเป็น รู้เห็นเวทนาอันเป็นสุขหรือทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ตามที่มันเป็น ย่อมไม่ติดพันในจักษุ ไม่ติดพันในรูปทั้งหลาย ไม่ติดพันในจักขุวิญญาณ ไม่ติดพันในจักขุสัมผัส ไม่ติดพันในเวทนา อันเป็นสุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เกิดเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย

 เมื่อผู้นั้นไม่ติดพัน ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง รู้เท่าทันเห็นโทษ ตระหนักอยู่ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ย่อมถึงความไม่ก่อตัวพอกพูนต่อไป

 อนึ่ง ตัณหาที่เป็นตัวการก่อภพใหม่ อันประกอบด้วยนันทิราคะ คอยแส่เพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์ต่างๆ  ก็จะถูกละไปด้วย

 ความกระวนกระวายทางกายก็ดี ความกระวนกระวายทางใจก็ดี ความเร่าร้อนกายก็ดี ความเร่าร้อนใจก็ดี ความกลัดกลุ้มทางกายก็ดี ความกลัดกลุ้มทางใจก็ดี ย่อมถูกเขาละได้; ผู้นั้นย่อมเสวย ทั้งความสุขทางกาย ทั้งความสุขทางใจ
 
บุคคลผู้เป็นเช่นนั้นแล้ว มีความเห็นอันใด ความเห็นนั้นก็เป็นสัมมา-ทิฏฐิ, มีความดำริใด ความดำรินั้นก็เป็นสัมมาสังกัปปะ, มีความพยายามใด ความพยายามนั้นก็เป็นสัมมาวายามะ, มีความระลึกใดความระลึกนั้นก็เป็นสัมมาสติ, มีสมาธิใด สมาธินั้นก็เป็นสัมมาสมาธิ, ส่วนกายกรรม วจีกรรม และอาชีวะของเขา ย่อมบริสุทธิ์ดีมาแต่ต้นทีเดียว; ด้วยประการดังนี้ เขาชื่อว่ามีอริยอัฏฐังคิกมรรคอันถึงความเจริญบริบูรณ์ (เกี่ยวกับโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน)