ต่อค่ะ... ๒. หลักทุกขตา ๔) ความสุขแยกโดยคุณค่า มี ๒ ประเภท คือ ความสุขในการได้สนองความต้องการทางประสาททั้งห้าและสนองความคิดอยากต่างๆ อย่างหนึ่ง ความสุขในภาวะจิตที่ปลอดโปร่งผ่องใส เอิบอิ่ม สดชื่น เบิกบานเป็นอิสระ ปราศจากสิ่งข้องขัด กีดกั้น จำกัดความนึกคิด เช่น ความวิตกกังวล ความรู้สึกคับแคบ
และกิเลสต่างๆ ที่พัวพันจิตใจ อย่างหนึ่ง
ความสุขประเภทแรก เป็นความสุขที่ต้องหา และเป็นแบบที่ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก คือ วัตถุและอารมณ์สำหรับสนองความต้องการต่างๆ
ลักษณะอาการของจิตในสภาพที่เกี่ยวข้องกับความสุขประเภทนี้ คือ การแส่หาดิ้นรนกระวนกระวายเป็นอาการนำหน้า อย่างหนึ่ง และความรู้สึกที่ยึดติด คับแคบ หวงแหน ผูกพันเฉพาะตัวอย่างหนึ่ง อาการเหล่านี้มีความสำคัญมากในทางจริยธรรม
เพราะเป็นอาการของความยึดอยาก หรือความเห็นแก่ตัว และในเมื่อไม่จัดการควบคุมให้ดี ย่อมเป็นที่มาแห่งปัญหาต่างๆ
การที่ต้องอาศัยอารมณ์อย่างอื่น ต้องขึ้นต่อ
ปัจจัยภายนอกเช่นนี้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ความสุขประเภทนี้ จะต้องทำให้ตัวบุคคลตกเป็น
ทาสของปัจจัยภายนอก ในรูปใดรูปหนึ่ง ไม่มากก็น้อย และความแปรปรวนของปัจจัยภายนอกนั้น
ย่อมทำให้เกิดความกระทบกระเทือนแก่บุคคลนั้นด้วย ความสุขประเภทนี้ ทางธรรมเรียกว่า
สามิสสุข เป็นสุขเนื่องด้วยหาสิ่งสำหรับมาเติมความรู้สึกบางอย่างที่ขาดไป หรือพร่องอยู่ คือ
ต้องอาศัย หรือต้องขึ้นต่ออามิส
ส่วนความสุขประเภทหลัง เป็นความสุขที่มีขึ้นได้เอง สร้างขึ้นได้ เป็นอิสระของตัว ไม่ขึ้นต่อสิ่งอื่น ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ต้องอาศัยสิ่งหรืออารมณ์ภายนอกมาสนอง
เป็นภาวะของจิตใจภายในที่เรียกได้ว่าเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีสิ่งรบกวน หรือขุ่นระคาย
ภาวะจิตที่มีความสุขอย่างนี้ อาจบรรยายลักษณะได้ว่า
เป็นความ สะอาด เพราะไม่มีความรู้สึกที่เป็นกิเลสต่างๆ เข้าไปปะปนขุ่นมัว สว่าง เพราะประกอบด้วยปัญญา มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น เห็นกว้างขวางไม่มีขีดจำกัด มีความเข้าอกเข้าใจ และพร้อมที่จะรับรู้พิจารณาสิ่งทั้งหลายตามสภาววิสัย สงบ เพราะไม่มีความกระวนกระวาย ปลอดจากสิ่งกังวลใจ ไม่ว้าวุ่นหวั่นไหว ผ่อนคลาย ราบเรียบ เสรี เพราะเป็นอิสระ ไม่มีสิ่งที่จำกัดความนึกคิด ไม่มีความกีดกั้นข้องขัด โปร่งเบา ไม่ยึดติด ไม่คับแคบ เปิดกว้าง แผ่ความรู้สึกรักใคร่ปรารถนาดีด้วยเมตตาไปยังมนุษย์ สัตว์ ทั่วหน้า รับรู้ความทุกข์ของผู้อื่นด้วยกรุณา ร่วมบันเทิงใจด้วยมุทิตาในความสุขความรุ่งเรืองสำเร็จของคนทุกคน และ สมบูรณ์ เพราะไม่มีความรู้สึกขาดแคลน บกพร่อง ว้าเหว่ มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบาน เปรียบในทางร่างกายเหมือนการมีสุขภาพดี ย่อมเป็นภาวะที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์อยู่ในตัว ในเมื่อไม่มีโรคเป็นข้อบกพร่อง
ใน
ภาวะจิตเช่นนี้ คุณธรรมที่เป็นส่วนประกอบสำคัญก็คือ
ความเป็น อิสระ ไม่เกี่ยวเกาะผูกพันเป็นทาส และ
ปัญญา ความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริง คุณธรรมสองอย่างนี้แสดงออกในภาวะของจิตที่เรียกว่า
อุเบกขา คือ ภาวะที่จิตราบเรียบ เป็นกลาง
พร้อมที่จะเข้าเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามสภาววิสัย ตามที่ควรจะเป็นด้วยเหตุผลบริสุทธิ์ ความสุขประเภทนี้ มีคุณค่าสูงสุดในทางจริยธรรม เรียกว่า
นิรามิส- สุข คือความสุขที่ไม่ต้องอาศัย
อามิส ไม่ต้อง
ขึ้นต่อสิ่งภายนอก ไม่ก่อให้เกิดปัญหา เช่น ความห่วงกังวล ความเบื่อหน่าย ความหวาดหวั่น การแย่งชิงแต่
เป็นภาวะที่ไม่มีปัญหาและช่วยขจัดปัญหา เป็นภาวะที่ประณีตลึกซึ้ง ซึ่งอาจพัฒนาไปจนถึงขั้น
ที่เกินกว่าจะเรียกว่าเป็นความสุข จึงเรียกง่ายๆ ว่า
ความพ้นจากทุกข์ เพราะแสดงลักษณะเด่นว่าพ้นจากข้อบกพร่องและความแปรปรวน
ในการดำรงชีวิตของ
ชาวโลก ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการแสวงหาความสุขประเภทที่หนึ่งอยู่ด้วยเป็นธรรมดานั้น เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะได้รับสิ่งสนองความต้องการทุกอย่างได้ทันใจทุกครั้ง ตลอดทุกเวลา สมหวังเสมอไป และคงอยู่ตลอดไป
เพราะเป็นเรื่องขึ้นต่อปัจจัยภายนอกและมีความแปรปรวนได้ตามกฎธรรมชาติ จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องพยายามสร้างสภาพจิตอย่างที่เรียกว่าความสุขประเภทที่สองไว้ด้วย อย่างน้อยพอเป็น
พื้นฐานของจิตใจ ให้มีสุขภาพจิตดีพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างที่เรียกว่าสุขสบาย มีความทุกข์น้อยที่สุด รู้จักว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรต่อความสุขประเภทที่หนึ่งนั้น เพื่อมิให้กลายเป็นปัญหา ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น สภาพจิตเช่นนี้จะสร้างขึ้นได้ก็ด้วยการ
รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น เพื่อความมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่าไม่ยึดติดถือมั่น ซึ่งอาศัยการรู้เท่าทันหลักความจริงของธรรมชาติ จนถึงขั้นอนัตตา ๕) ในการแสวงหาความสุขประเภทที่หนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยภายนอกนั้น จะต้องยอมรับความจริงว่า เป็นการเข้าไปสัมพันธ์กันของคู่สัมพันธ์อย่างน้อย ๒ ฝ่าย เช่น บุคคล ๒ คน หรือ บุคคล ๑ กับ วัตถุ ๑ เป็นต้น และแต่ละฝ่ายมีความทุกข์ มีความขัดแย้ง บกพร่อง ไม่สมบูรณ์ แฝงติดตัวมาด้วยกันอยู่แล้ว เมื่อสิ่งที่มีความขัดแย้งกับสิ่งที่มีความขัดแย้งมาสัมพันธ์กัน ก็ย่อมมีทางที่จะให้
เกิดความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณและระดับความรุนแรง ตามอัตราการปฏิบัติที่ผิด
ตัวอย่างง่ายๆ ในกรณีการแสวงหาความสุขนี้ เพื่อความสะดวก
ยกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสวยความสุข และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ถูกเสวย ทั้งผู้เสวยและผู้ถูกเสวย มีความบกพร่องและขัดแย้งอยู่ในตัวด้วยกันอยู่แล้ว เช่น ตัวผู้เสวยเอง ไม่อยู่ในภาวะและอาการที่พร้อมอยู่ตลอดเวลาที่จะเสวยความสุขตามความต้องการของตน ฝ่ายผู้ถูกเสวยก็ไม่อยู่ในภาวะและอาการที่พร้อมอยู่ตลอดเวลาที่จะถูกเสวย
ในภาวะเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะได้ฝ่ายเดียว โดยไม่ยอมเสียบ้างเลย เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย ไม่ตระหนักหรือไม่ยอมรับความจริงนี้ ย่อมถือเอาความยึดอยากของตนเป็นประมาณ และย่อมเกิดอาการขัดแย้งระหว่างกันขึ้น เริ่มแต่ความขัดใจเป็นต้นไป
อนึ่ง อาการที่ผู้เสวยยึดอยากต่อสิ่งที่ถูกเสวยนั้น ย่อมรวมไปถึงความคิดผูกหวงแหนไว้กับตนและความปรารถนาให้คงอยู่ในสภาพนั้นตลอดไปด้วย
อาการเหล่านี้เป็นการขัดแย้งต่อกระบวนการของธรรมชาติที่เป็นไปตามกระแสแห่งเหตุปัจจัยต่างๆ จึงเป็นการนำตนเข้าไปขวางขืนความประสานกลมกลืนกันในกระบวนการของธรรมชาติ เมื่อดำรงชีวิตอยู่
โดยไม่รู้เท่าทันความเป็นจริงเหล่านี้ ถือเอาแต่ความอยากความยึด คือ
ตัณหาอุปาทานเป็นประมาณ ก็คือการเป็นอยู่อย่างฝืนทื่อๆ ซึ่งจะต้องเกิดความกระทบกระทั่งขัดแย้ง บีบคั้น และ
ผลสะท้อนกลับที่เป็นความทุกข์ในรูปต่างๆ เกิดขึ้นเป็นอันมาก
ยิ่งกว่านั้น ในฐานะที่คู่สัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย เป็นส่วนประกอบอยู่ในธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างกันนอกจากจะเกี่ยวข้องไปถึงกระบวนการธรรมชาติทั้งหมดเป็นส่วนรวมแล้ว ยังมักมีส่วนประกอบอื่นบางส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างพิเศษ เป็น
ตัวการอย่างที่สามอีกด้วย เช่น บุคคลที่อยากได้ของสิ่งเดียวกัน เป็นต้น ความยึดอยากที่ถูกขัด ย่อมให้เกิดปฏิกิริยาแสดงความขัดแย้งออกมาระหว่างกัน เช่น การแข่งขัน ต่อสู้ แย่งชิง เป็นต้นเป็นอาการรูปต่างๆ ของความทุกข์ ยิ่งจัดการกับปัญหาด้วย
ความยึดอยากมากเท่าใด ความทุกข์ก็ยิ่งรุนแรงเท่านั้น แต่ถ้าจัดการด้วยปัญญามากเท่าใด ปัญหาก็หมดไปเท่านั้น
โดยนัยนี้ จาก
อวิชชา หรือ โมหะ คือความไม่รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น จึงอยากได้อย่างเห็นแก่ตัวด้วย
โลภะ เมื่อขัดข้องหรือถูกขัดขวาง และไม่มีปัญญารู้เท่าทัน ก็เกิด
โทสะความขัดใจและความคิดทำลาย จาก
กิเลสรากเหง้า ๓ อย่างนี้ กิเลสรูปต่างๆ ก็ปรากฏขึ้นมากมาย เช่น ความหวงแหน ความตระหนี่ ความริษยา ความหวาดระแวง ความฟุ้งซ่าน ความวิตกกังวล ความหวาดกลัว ความพยาบาท ฯลฯ เป็นการระดมสร้าง
ปัจจัยแห่งความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในตัวมากขึ้นๆ และ
กิเสสอันเป็นเครื่องหมายแห่งความขัดแย้งเหล่านี้ ย่อมกลายเป็นสิ่งสำหรับกีดกั้นจำกัด และแยกตนเองออกจากความประสานกลมกลืนของกระบวนการแห่งธรรมชาติ ความขัดแย้งต่อธรรมชาตินี้ ย่อมส่งผลร้ายสะท้อนกลับมาบีบคั้นกดดันบุคคลนั้นเอง
เป็นการลงโทษโดยธรรมชาติ ทุกข์ในธรรมชาติ หรือสังขารทุกข์ จึง
แสดงผลออกมาเป็นความทุกข์
ที่รู้สึกได้ในตัวคน เช่น
*เกิดความรู้สึกคับแคบ มืด ขุ่นมัว อึดอัด เร่าร้อน กระวนกระวาย กลัดกลุ้ม
*เกิดผลร้ายต่อบุคลิกภาพ และก่ออาการทางร่างกาย เช่น โรคภัยไข้เจ็บ
*ความทุกข์ที่เป็นอาการตามปกติทางร่างกายอันเป็นธรรมดาสังขาร เช่น ความเจ็บปวดในยามป่วยไข้ ทวีความรุนแรงเกินกว่า
ที่ควรจะเป็นตามปกติของมัน เพราะความเข้าไปยึดด้วยตัณหา อุปาทาน เป็นการซ้ำเติมตนเองหนักยิ่งขึ้น
*เป็นการก่อความทุกข์ความขัดแย้ง ความคับแคบ อึดอัด ขุ่นมัว ให้เกิดแก่คนอื่นๆ ขยายวงกว้างออกไป
*เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่ละคน ต่างระดมสร้างกิเลสขึ้นมาปิด กั้นแยกตนเองด้วยความเห็นแก่ตัว ความขัดแย้งต่างๆ ก็เกิดเพิ่มพูนมากขึ้น สังคมก็เสื่อมโทรมเดือดร้อน เพราะผลกรรมร่วมกัน ของคนในสังคม
นี้คือกระบวนการทำให้สังขารทุกข์ เกิดกลายเป็นทุกขเวทนา หรือความทุกข์แท้ๆ (
ทุกขทุกข์) ขึ้นมา เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย
ด้วยอวิชชา มีชีวิตอย่างฝืนทื่อๆ ต่อกระบวนการธรรมชาติ และปล่อยตัวลงเป็นทาสในกระแสของมัน เรียกสั้นๆ ว่า เพราะความยึดมั่นถือมั่น
วิถีที่ตรงข้ามจากนี้ ก็คือ การเป็นอยู่อย่างรู้เท่าทันความจริง คือรู้จักสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น แล้วเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยปัญญา รู้จักที่จะปฏิบัติโดยประการที่ว่า ทุกข์ในธรรมชาติที่เป็นไปตามสภาวะของมันเองตามธรรมดาสังขาร จะคงเป็นแต่เพียงสังขารทุกข์อยู่ตามเดิมของมันเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเป็นพิษเป็นภัยมากขึ้น ทั้งยังสามารถถือเอาประโยชน์จากสังขารทุกข์เหล่านั้นด้วย โดยเมื่อรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์
เพราะเข้าไปยึดถือด้วยตัณหาอุปาทาน ก็ไม่เข้าไปยึดถือมัน ไม่เป็นอยู่อย่างฝืนทื่อๆ
ไม่สร้างกิเลสสำหรับมาขีดวงจำกัดตนเองให้กลายเป็นตัวการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาบีบคั้นตนเองมากขึ้น
พร้อมกันนั้น ก็รู้จักที่จะอยู่อย่างกลมกลืนประสานกับธรรมชาติ และเพื่อนมนุษย์ ด้วยการประพฤติคุณธรรมต่างๆ ซึ่งทำใจให้เปิดกว้าง และทำให้เกิดความประสานกลมกลืน เช่น
เมตตา-ความรักความปรารถนาดีต่อกัน
กรุณา-ความคิดช่วยเหลือ
มุทิตา-ความบันเทิงใจในความสุขสำเร็จของผู้อื่น
อุเบกขา-ความวางใจเป็นกลาง ตัดสินเหตุการณ์ตามเป็นจริงตามเหตุปัจจัย และราบเรียบไม่หวั่นไหวเพราะกระแสโลก
ความสามัคคี ความร่วมมือ การช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์แก่กัน ความเสียสละ ความสำรวมตน ความอดทน ความเคารพอ่อนน้อม ความมีวิจารณญาณไม่หลงใหลในเหตุการณ์ เป็นต้น อันเป็น
คุณสมบัติตรงข้ามกับกิเลสที่สร้างความขัดแย้งและความคับแคบ เช่น ความเกลียดชัง ความพยาบาท ความริษยา ความกลัดกลุ้มวุ่นวายใจ ความหวงแหน ความแก่งแย่งแข่งดี การเห็นแก่ได้ การตามใจตนเอง ความหุนหัน ความดื้อรั้น ความเย่อหยิ่ง ความกลัว ความหวาดระแวง ความเกียจคร้าน ความเฉื่อยชา ความหดหู่ ความมัวเมา ความลืมตัว ความลุ่มหลงงมงาย เป็นต้น
นี้คือวิถีแห่งความมีชีวิตที่ประสานกลมกลืนในธรรมชาติ การสามารถถือเอาประโยชน์จากกฎธรรมชาติ หรือใช้กฎธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ได้
การอยู่อย่างไม่สูญเสียอิสรภาพ อย่างที่ว่า อยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ขึ้นต่อสิ่งใด หรือการมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งถือว่าเป็นการมีชีวิตอยู่อย่างประเสริฐสุด ตามพุทธภาษิตว่า “ปญฺญฺาชีวึ ชีวิตมาหุ เสฏฺฐํ”