หนังสือ "คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"ครูสอนเซน
อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทรบทที่ 39 นิพพานนิพพานหมายถึงความไม่เกิดและไม่ตาย มันเป็นธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือ การต้องไปเกิดและการที่จำพรากจากไปด้วยความตาย และมันอยู่นอกเหนือการปรากฏการณ์แห่งภาวะนิพพานที่เกิดขึ้น เพราะการเข้าไปยึดภาวะแห่งการหลุดพ้น เมื่อจิตหยุดการเคลื่อนไหวไป ในทิศทางแห่งความหมายที่เป็นตัวเป็นตนแห่งจิต จิตนั้นก็กลายเป็นธรรมชาติแห่งจิตที่มีแต่ความว่างเปล่า นิพพานก็คือธรรมชาติแห่งจิตนี้ โมหะไม่ได้อยู่ที่ใด พระพุทธเจ้าก็เข้าสู่นิพพานที่จิตอันเป็นธรรมชาติของท่าน ความทุกข์โดยสภาพของมันไม่มีที่ตั้ง ถึงพยายามจะตั้งให้มันเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น โดยธรรมชาติแล้วมันก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้ เมื่อความทุกข์โดยธรรมชาติแล้วตั้งอยู่ไม่ได้ มันคงเป็นเพียงแต่ธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า พระโพธิสัตว์ก็ตรัสรู้ธรรมรู้แจ้งชัดในความตั้งอยู่ไม่ได้ ณ ที่นั้น
สถานที่ที่ไม่น่าอยู่มีความอึดอัดคับแคบ คือสถานที่แห่งภพทั้งสาม ในความโลภ โกรธ หลง เมื่อมีความปรุงแต่งเกิดขึ้น ก็เข้าไปอยู่ในภพทั้งสาม เมื่อรู้แจ้งและเข้าถึงธรรมอันเป็นธรรมชาติ ก็สามารถออกมาจากภพทั้งสามได้ การเริ่มหรือการอยู่กับภพทั้งสามก็ขึ้นอยู่กับจิต จิตนี้ย่อมเข้าถึงได้ทุกสรรพสิ่ง ใครก็ตามที่รู้ว่า จิตมันเป็นเพียงมายาแห่งภาวะที่เกิดขึ้นเป็นจิตต่างๆ จึงเป็นผู้รู้ว่าจิตนี้คือธรรมชาติแห่งความว่าง แต่ปุถุชนผู้ปกคลุมไปด้วยจิตของตนที่เป็นภาวะแห่งการปรุงแต่ง จึงชอบอ้างว่า "จิตมีอยู่" แต่โพธิสัตว์ทั้งหลายและพระพุทธเจ้า รู้แจ้งชัดถึงการไม่ปรุงแต่งและการปรุงแต่งเป็นจิต ซึ่งหมายถึงมิใช่การไม่มีอยู่ของจิตหรือการมีอยู่ของจิต มันมิใช่ความหมายทั้งสองนี้ในเรื่องการมีหรือไม่มี แต่มันเป็นเพียงธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น มันไม่ใช่เป็นเรื่องของจิต และมันไม่ใช่การเป็นเรื่องความมีหรือไม่มีจิต แต่มันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น มันจึงเป็นทางสายกลางอย่างแท้จริง มันเป็นกลางนอกเหนือความมีอยู่หรือไม่มีอยู่
ถ้าท่านศึกษาความเป็นจริงแห่งธรรมชาติอันคือสัจจะ โดยไม่ใช้จิตมาเกี่ยวข้อง ท่านก็สามารถเข้าถึงความเป็นจริงอันคือสัจจะ และความเป็นจริงแห่งจิตได้ บุคคลผู้มืดบอดไม่มีปัญญาอันแท้จริงย่อมไม่เข้าใจสัมมาทิฐิ บุคคลผู้มีปัญญาอันแจ้งชัดย่อมเข้าใจในสัมมาทิฐิ บุคคลที่รู้ว่าธรรมชาติและจิตเป็นสิ่งเดียวกันมาตั้งแต่ต้น รู้ว่าแท้จริงจิตคือธรรมชาติที่มันว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น ก็คือบุคคลที่ได้ปัญญาแห่งความเป็นพุทธะแล้ว คนเหล่านี้ย่อมอยู่เหนือภาวะแห่ง การมีอยู่แห่งปัญญาญาณและการไม่มีอยู่แห่งปัญญาญาณ นั่นคือความเป็นสายกลางแห่งสัมมาทิฐิ
เมื่อได้ดำเนินไปในทางสายกลาง รูปจึงมิใช่รูป เพราะรูปมีความเสมอภาคกับธรรมชาติแห่งจิต จิตและรูปเป็นเพียงเหตุได้อาศัยซึ่งกันและกัน มันจึงมิใช่ความหมายแห่งการมีรูปและมีจิต มันจึงมิใช่เป็นการเกิดขึ้นแห่งการมีอยู่ของการที่รูปกับจิตได้อาศัยกัน ทางสายกลางจึงเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น มิได้เกี่ยวกับอะไรและอะไรระหว่างรูปกับจิต
ก็ด้วยความเป็นจริงตามธรรมชาติซึ่งเป็นสัจจะนี้ มันเป็นเพียงธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น มิได้เกี่ยวกับจะต้องมีสิ่งใดเห็นและจะต้องมีสิ่งใดถูกเห็น ธรรมชาติมิใช่การได้เห็นและต้องเห็นภาวะที่เกิดขึ้น ธรรมชาติมันย่อมแจ่มแจ้งไปโดยรอบ โดยความเป็นตัวมันเองแห่งธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้ความมุ่งเน้นในการดูการเห็น เพราะการดูการเห็นโดยมุ่งเน้นนี้ มันทำให้เกิดภาวะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงการได้เห็นได้ดูได้ทัศนาแห่งปุถุชนภาวะแต่เพียงเท่านั้น มันมิใช่การเห็น "ตามความเป็นจริง" แต่อย่างใด
จิตและโลกมันอยู่ตรงข้ามกันเสมอ การรู้เห็นด้วยความเป็น"จิต" ที่ทำให้ความหมายแห่งความเป็นโลกเกิดขึ้น เป็นการรู้เห็นเกิดจากการพบเห็นโดยใช้จิตเพ่งมองดู แต่เมื่อโลกและจิตทั้งสองมีความเสมอภาคแจ่มแจ้งเท่ากัน จึงเป็นการใช้จิตตามธรรมชาติมองดูโลกนี้ตามความเป็นจริง จึงเป็นการเห็นแบบสัมมาทิฐิ การมองไม่เห็นสิ่งใดๆ คือการเข้าใจมรรค การไม่เข้าใจสิ่งใดๆเลย คือการเข้าใจธรรมะ เพราะการเห็นที่แท้จริงมิใช่การมองเห็นหรือการมองไม่เห็น และการเข้าใจที่แท้จริงมิใช่การเข้าใจแล้วหรือยังมิได้เข้าใจ การเข้าใจโดยที่มิต้องอาศัยการเข้าใจ การเข้าใจจึงเป็นการเข้าใจตามความเป็นจริง การเห็นตามความเป็นจริงมิใช่เป็นการเห็นแต่เพียงเท่านั้น แต่มันเป็นการเห็นตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นโดยมิต้องใช้วิธีดู และสัมมาทิฐิมันมิใช่เป็นการเห็นด้วยสติปัญญาแต่เพียงเท่านั้น แต่มันเป็นการเห็นตามความเป็นจริงของมันอยู่อย่างนั้น เมื่อท่านได้เป็นสิ่งเดียวกันกับธรรมชาตินั้นแล้ว จึงมิใช่เป็นเรื่องของความเข้าใจและความไม่เข้าใจ ความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติมันมิใช่ความเข้าใจในภาวะที่เกิดขึ้น
เมื่อท่านเข้าใจความเป็นจริงตามธรรมชาติ ความจริงนั้นก็อาศัยท่าน เมื่อท่านยังไม่เข้าใจในความเป็นจริง ท่านก็อาศัยความเป็นจริงนั้น เมื่อความเป็นจริงอาศัยท่านด้วยความไม่มีอะไรแตกต่าง ระหว่างท่านกับความจริงนั้น สิ่งที่ไม่จริงนั้นก็กลายเป็นจริงตามธรรมชาติ แต่เมื่อท่านต้องอาศัยความเป็นจริง สิ่งที่จริงตามธรรมชาติของมันก็กลายเป็นเท็จในสายตาท่าน ทุกสรรพสิ่งก็เป็นจริงตามเนื้อหาของมัน ที่เป็นอยู่อย่างนั้นอยู่แล้วตามธรรมชาติ
ดังนั้นผู้รู้ทั้งหลายจึงไม่ใช้จิตของตนค้นหาสัจธรรม เพราะจิตนั้นโดยความเป็น "จิต" ของมันเอง มันคือภาวะแห่งการเคลื่อนไหวไป โดยมิได้ทำให้เกิดความจริงขึ้นมาแต่อย่างใด และความจริงซึ่งคือธรรมชาติก็มิได้ทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ แม้กระทั่งการเกิดขึ้นแห่งจิต ดังนั้นผู้รู้ทั้งหลายจึงใช้สัจธรรมค้นหาสัจธรรม ใครก็ตามที่รู้ว่าแท้จริงตามธรรมชาติ ย่อมไม่มีอะไรกับอะไรอาศัยซึ่งกันได้ ผู้นั้นย่อมเข้าถึงมรรค ใครก็ตามที่รู้ว่า "จิต" นี้ย่อมเป็นจิตอยู่อย่างนั้น มิได้ขึ้นอยู่กับความเป็นอะไร เขาผู้นั้นย่อมพบเส้นทางแห่งการรู้ชัดแจ้งในธรรมชาติอยู่เสมอ
เมื่อท่านไม่เข้าใจ ท่านก็ผิด ผิดไปจากความเป็นจริง เมื่อท่านเข้าใจท่านก็ไม่ผิด เป็นความเข้าใจตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้น เพราะความผิดทั้งหลายมันเป็นของว่างเปล่า เสมอกันในบรรดาแห่งความผิดเหล่านั้น เมื่อท่านไม่เข้าใจ ต่อให้ท่านใช้ความพยายามอีกสักเท่าใด ความที่มันถูกอยู่แล้วตามธรรมชาติของมัน ก็กลับกลายมาเป็นผิดตามความไม่เข้าใจของท่าน และเมื่อท่านเข้าใจมันแล้วความผิดก็มิใช่ความผิดอีกต่อไป มันก็คงมีแต่ความถูกตามความเป็นจริงตามธรรมชาติ ที่ท่านเข้าใจมันอยู่อย่างนั้น ก็เพราะด้วยความเป็นจริง "ความผิด" ย่อมไม่มีอยู่จริง
พระสูตรกล่าวว่า "ไม่มีธรรมชาติที่เป็นตัวของมันเองได้เลย มันคงมีแต่ธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น ในความเป็นจริงแห่งความว่างเปล่า" เมื่อท่านยังหลงไปในความเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน อายตนะทั้งหกและขันธ์ทั้งห้าย่อมสร้างความทุกข์ และการเกิดการตายให้แก่ท่านได้อยู่ทุกเมื่อ แต่เมื่อท่านได้มีธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ได้อยู่เสมอ อายตนะทั้งหกและขันธ์ทั้งห้าก็เป็นเพียงเหตุปัจจัย ที่ท่านได้อาศัยเพื่อความเป็นเสมอภาคในธรรมชาติ ที่คงอยู่กับท่านอยู่อย่างนั้น คนที่พบมรรคเดินไปบนหนทางที่ถูกต้อง ย่อมรู้ว่าธรรมชาติแห่งจิตตนนั้นคือมรรค เมื่อเขาพบกับจิตชนิดนี้เขากลับไม่พบอะไรในความเป็นจริงนั้น เมื่อเขาได้เดินไปบนหนทางแห่งความไม่มีอะไรในมรรคนั้น เขากลับพบความเป็นจริงในทุกย่างก้าวที่ได้ก้าวไป ถ้าท่านยังคิดว่ามรรคนั้นเกิดจากการใช้จิตค้นหา ท่านก็ยังดำเนินไปในทางที่ผิดอยู่ เพราะมรรคนั้นเป็นการทำความเข้าใจ ในความเป็นจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นมรรคจึงไม่ใช่การค้นหาและต้องใช้อะไรค้นหา ถึงท่านจะหลงทางไป แต่ความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั้นยังคงอยู่ เมื่อท่านมีธรรมชาติแห่งการระลึกรู้ได้ ถึงความที่ธรรมชาติมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ความหลงก็จะหายไป ความเป็นมรรคที่แท้จริงก็จะปรากฏอยู่ต่อหน้า ต่อให้ท่านใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะค้นหามรรค จนลมหายใจท่านหยุดและร่างกายแตกดับ แต่เมื่อท่านหยุดการดิ้นรนค้นหา ในมายาแห่งมรรคนั้น มรรคนั้นก็จะกลับมาเป็นมรรคตามความเป็นจริงแห่งมัน จงปลดเปลื้องความคิดทุกความคิด อันเกี่ยวกับมรรคและธรรมทุกชนิดออกเสีย แล้วหันหน้ามาเผชิญต่อความเป็นจริงแล้ว ตามที่มันเป็นอยู่ของมันตามธรรมชาติอยู่แล้ว
การเห็นรูปแต่ธรรมชาติแห่งจิตไม่เศร้าหมองเพราะรูปนั้น การได้ยินด้วยธรรมชาติแห่งจิตนั้น ชื่อว่าเป็นการดำรงชีวิตอยู่ด้วยจิตหลุดพ้น อันคือความเป็นไปในความเป็นธรรมชาติของจิตนั้นนั่นเอง ตา ที่มองเห็นด้วยความเป็นธรรมชาติ ขึ้นชื่อว่า เซน หู ที่ได้ยินด้วยความเป็นธรรมชาติ ขึ้นชื่อว่า เซน เช่นกัน กล่าวโดยสรุปบุคคลที่ยอมรับว่าชีวิตตนคือธรรมชาติแห่งพุทธะนั้น ชื่อว่า จิตอันหลุดพ้นเพราะความเป็นธรรมชาตินั้น เมื่อท่านมองดูรูปด้วยความเป็นธรรมชาติของจิต รูปก็ไม่ขึ้นต่อจิต และจิตก็ไม่ขึ้นต่อรูป ทั้งรูปและจิตนี้ต่างก็บริสุทธิ์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว
เมื่อปราศจากโมหะ จิตก็คือธรรมชาติแห่งพุทธะ เมื่อโมหะมี จิตก็คือจิตแห่งการยึดมั่นถือมั่น อวิชชาสร้างความหลงและให้จิตสร้างภพชาติให้เกิดขึ้น ปุถุชนจึงหลงไปเกิดในดินแดนแห่งการเกิดการตายนับไม่ถ้วน พระโพธิสัตว์ได้รู้แจ้งแทงตลอดถ้วนทั่วทุกอณูธรรมธาตุ ท่านจึงเลือกที่จะอยู่เป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติแห่งพุทธะนั้น
ถ้าท่านไม่ใช้จิตปรุงแต่ง จิตโดยธรรมชาติมันนั้นมันคือธรรมชาติแห่งความหยุดนิ่ง ปราศจากความเคลื่อนไหวปรุงแต่งใดๆกลายเป็นจิตต่างๆนานา จิตมันเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น มันจึงชื่อได้ว่า ธรรมชาติแห่งการหยุดนิ่งภายใน เมื่อท่านหลงไปปรุงแต่งจนเกิดเป็นภาวะแห่งจิต ท่านก็จะหลงไปทำกรรมดีกรรมชั่ว ต้องไปเกิดในนรก ในสวรรค์
กายไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่หรือไม่มีอยู่ แต่กายก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มีความเสมอภาค ในความเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น อัตตาเป็นทรัพย์ของปุถุชน อนัตตาเป็นอริยทรัพย์ของบัณฑิต เมื่อท่านได้ทำความเข้าใจรู้จักความเป็นธรรมชาติ ความเป็นอนัตตาคือธรรมชาติแห่งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น มันก็เป็นญาณที่ดีที่ทำให้ท่านเข้าถึงความเป็นธรรมชาตินั้นๆ โดยไม่ต้องทำอะไรลงไปอีกเลย เมื่อจิตเข้าถึงนิพพานอันคือธรรมชาติที่แท้จริงแห่งจิต ท่านก็จะไม่เห็นนิพพานในลักษณะเป็นภาวะนิพพานที่มันเกิดขึ้น แต่ถ้าท่านเห็นนิพพานด้วยความเป็นจิตแห่งภาวะที่เกิดขึ้น ท่านก็กำลังหลงตัวเอง
ความทุกข์ยากคือเมล็ดพันธุ์พืชแห่งพุทธะ ความทุกข์เป็นสัจธรรมความเป็นจริง ที่เข้ามากระตุ้นให้ปุถุชนใช้ปัญญาพิจารณา ถึงธรรมชาติแห่งทุกข์นั้น
แต่ท่านอาจคิดไปว่า ทุกข์ทำให้พุทธะภาวะเกิดขึ้น แต่ไม่อาจกล่าวว่าทุกข์เป็นพุทธะภาวะ แต่ความเป็นจริงตามธรรมชาติ ทุกข์และพุทธะต่างก็เป็นเพียงเหตุและปัจจัย อาศัยซึ่งกันและกันแต่เพียงเท่านั้น ทุกข์และพุทธะต่างก็มีความเสมอภาคกัน ด้วยความเป็นเนื้อหาเดียวกันในความเป็นจริงตามธรรมชาตินั้น กายและจิตของท่านเปรียบเสมือนดั่งท้องทุ่งนา ทุกข์คือเมล็ดพืช ปัญญาคือต้นกล้า พุทธะคือเมล็ดข้าว อุปมาอีกอย่างหนึ่ง จิตอันคือธรรมชาติแห่งพุทธะนั้นเปรียบเสมือนกลิ่นหอมในไม้ พุทธะเกิดจากธรรมชาติแห่งจิตที่มีความเป็นอิสระอยู่อย่างนั้น มันเป็นเหตุให้อาศัยซึ่งกันและกันในความเป็นธรรมชาตินั้น ถ้ามีกลิ่นหอมโดยปราศจากไม้ ก็เป็นกลิ่นหอมที่ประหลาด ถ้าเป็นพุทธะโดยปราศจากธรรมชาติแห่งจิต ก็เป็นพุทธะที่ประหลาดเช่นกัน
หนังสือ
"คำสอนเซน
ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ" ครูสอนเซน:
อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร 7 มีนาคม 2557 >>> F/B นิกายเซน หนังสือใจต่อใจในการฝึกตน