แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
กุญแจเซน โดย ท่าน ติช นัท ฮัน
ฐิตา:
ต้องประกอบไปด้วยสติ
ขั้นตอนในการจุดแสงสว่างให้แก่ชีวิตความเป็นอยู่ ในการสร้างพลัง
แห่งการตั้งดวงจิตจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ในการทำให้ปัญญาญาณแผ่ขยายงอกงามนั้น ขั้นตอนเหล่านี้ในทางพุทธศาสนา
เรียกว่า " ไตรสิกขา " อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
คำว่าศีลอันได้แก่ข้อบัญญัติอันพึงปฏิบัตินั้นย่อมเป็นเครื่องอุดหนุนสัมมาสติ
ศีลมิได้หมายถึงข้อบัญญัติที่ห้ามการกระทำอันเป็นอกุศลด้วยการยึดมั่น
อยู่กับข้อบัญญัติ โดยมิได้รู้ความหมายของข้อบัญญัตินี้ เท่ากับการถือเอา
มรรคเป็นผล นับเป็นความหลงผิด ซึ่งทางพุทธศาสนา
เรียกว่า " การยึดมั่นถือมั่นในข้อบัญญัติ " ซึ่งเป็นข้ออุปสรรคอย่างใหญ่อันเป็น
เครื่องกีดขวางต่อวิชชาคือความรู้ที่แท้
การเป็นผู้อยู่ในทำนองคลองธรรม เป็นผู้มีกุศลเท่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้
บุคคลเกิดปัญญาอันแท้จริงได้
หากจำต้องอาศัยสติในการดำรงกายและจิตไว้อย่างแน่วแน่ด้วย นี่จึงเป็นเหตุผล
ที่อธิบายว่า เหตุใดการกำหนดดวงจิตให้มีสติรับรู้ในสภาพความเป็นอยู่นี้
จึงถือได้ว่าเป็น " สารัตถะ ( แก่น ) แห่งข้อวัตรปฏิบัติ "
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทำงานนห้องทดลอง เขาจะไม่ยอมสูบบุหรี่ ไม่กินขนม
ไม่ฟังวิทยุ เขายอมงดสิ่งเหล่านี้ มิใช่เพราะคิดว่ามันเป็น
ของเลวหรือเป็นบาปกรรม แต่เป็นเพราะเขารู้ว่านี่เป็นเครื่องทำจิตใจให้วอกแวก
ออกไปจากสิ่งที่กำลังค้นคว้าอยู่ นี้ก็เช่นเดียวกับ บทบัญญัติแห่งเซน
โดยที่บทบัญญัตินี้มิได้มีจุดมุ่งอยู่ที่การเป็นผู้มีศีลธรรม แต่ผู้ที่ตรวจตราดูแล
บทบัญญัติแห่งเซนจะต้องช่วยผู้ฝึกหัดให้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความมีสติเป็นประการสำคัญ
ปัญญาญาณแห่งเซนมิอาจเกิดขึ้นด้วยสติปัญญาอย่างสามัญ ไม่อาจเกิดขึ้น
จากการศึกษาเล่าเรียน พระปริยัติธรรม จากการวิเคราะห์ทฤษฎี
แต่ผู้ฝึกเซน จะต้องใช้ภาวะแห่งอัตถิภาวะ ( ภาวะสิ่งต่าง ๆ มีอยู่ ดำรงอยู่ ) ของตน
ทั้งหมดเป็นเครื่องมืออันจักนำมาซึ่งความรู้แจ้ง สติปัญญาเองก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง
ของภาวะแห่งการดำรงอยู่ในปัจจุบันของคนเท่านั้น
และบ่อยครั้งที่สติปัญญาดึงมนุษย์ให้ห่างเหินออกไปจากชีวิตที่เป็นจริง
ซึ่งเป็นจุดหมายอันยิ่งของเซน ด้วยเหตุนี้แหละที่ในหนังสือคู่มือเล่มเล็ก มิได้ถือเอา
การศึกษาทางด้านทฤษฎี เป็นวัตถุประสงค์
แต่มุ่งไปที่การชี้นำให้ผู้ฝึกดำเนินตามวิธีแห่งเซนโดยตรงเลยทีเดียว
ฐิตา:
ภายในวัดเซนนั้น สมณะผู้ปฏิบัติธรรมจะประกอบการงานทุกชนิด
ท่านจะไปตักน้ำ ผ่าฟืน หุงต้มอาหาร เพาะปลูกพืชผัก
ถึงแม้พระทุกรูปจะได้เรียนการนั่งสมาธิแบบเซน และปฏิบัติสมาธิในท่านั่งนั้นแล้ว
แต่ทุกท่าน จะต้องพยายาม มีสติในกิจที่ตนทำ อยู่อย่างสม่ำเสมอ
ไม่ว่าขณะกำลังตักน้ำ ปรุงอาหาร หรือปลูกผัก แต่ละคนย่อมรู้ว่าการตักน้ำ
มิได้เป็นเพียงการงานอันมีประโยชน์เท่านั้น แต่ยังเป็นการ ปฏิบัติเฝึกฝนซนอีกด้วย
และหากบุคคลใดไม่รู้จักฝึกฝนเซน
ขณะที่กำลังตักน้ำอยู่ ก็นับว่าการมาอาศัยอยู่ในวัดเป็นการเปล่าประโยชน์สิ้นเชิง
ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่า หนังสือคู่มือเล่มเล็กนั้นช่วยชี้แนะให้ผู้ปฏิบัติธรรม
ได้เข้าไปในโลกของเซนโดยตรง แม้ว่าการงานที่ผู้ฝึกหัดทำนั้น
ดูเผิน ๆ แล้วคล้ายกับ การงานที่ คนผู้ไม่รู้จักมรรควิถี โดยทั่ว ๆ ไปเขาทำกัน
อาจารย์เซนมักจะเฝ้าสังเกตศิษย์ของตนอย่างเงียบ ๆ ในขณะที่ศิษย์
พยายามจะจุดไฟแห่งชีวิตขึ้น ในความดำรงอยู่แห่งตน
ศิษย์เอง อาจจะคิดไปว่าอาจารย์ขาดความเอาใจใส่ในตน
แต่ความจริงแล้ว การกระทำของศิษย์ทั้งหมด ต่างไม่อาจรอดพ้น
จากสายตาของอาจารย์ไปได้
อาจารย์ย่อมจะรู้ว่าศิษย์ของตนเป็น " ผู้ตื่นขึ้น " แล้วหรือยัง
ในอารามนั้น แต่ละคนจะต้องมีสติในสิ่งที่ตนกำลังกระทำอยู่เสมอ
ยกตัวอย่างเช่น หากมีศิษย์ปิดประตูห้องด้วยเสียงอันดัง
นี่เป็นการพิสูจน์ว่า เขาขาดสติ รู้ในกิจ ที่กำลังทำอยู่
คุณความดีนั้นมิได้อยู่ที่การบรรจงปิดประตูอย่างปราศจากเสียง
แต่อยู่ที่การรับรู้ความจริงที่ว่า ตนกำลังอยู่ในกิจแห่ง..
..การปิดประตู นั่นต่างหาก ในกรณีเช่นนี้ อาจารย์ก็อบรมและตักเตือน
ให้ศิษย์รู้จักปิดประตูอย่างนุ่มนวลขึ้น
ซึ่งเป็นข้อจำเป็นสำหรับศิษย์ที่จะต้อง " มีสติ " อยู่ตลอดเวลา
ที่อาจารย์ต้องทำดังนี้ มิใช่เพียงเพื่อให้เคารพต่อ ความสงบเงียบในวัดเท่านั้น
หากแต่เพื่อแสดงให้ศิษย์รู้ตนว่าการกระทำเช่นนั้น
ส่อว่าเขามิได้ดำเนินตามหนทางแห่งเซน เป็นเครื่องอธิบายถึงการขาด
" กรณียะอันประเสริฐ " และขาดสุขุมจริยา ( วิญญัติ ) " กิริยาอันละเอียดอ่อนนุ่มนวล "
กล่าวกันว่าในพุทธศาสนามี " สุขุมจริยา " ถึงเก้าหมื่นแบบซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องฝึกฝน
กิริยาอาการต่าง ๆ เหล่านี้คือการแสดงออก
ด้วยอาการแห่งความมีสตินั่นเอง ทุกสิ่งที่บุคคลได้พูด ได้คิด ได้กระทำไปในขณะที่มีดวงจิต
อันประกอบด้วยสติ อาจเรียกได้ว่าบุคคลเหล่านั้นได้ " ลิ้มรสแห่งเซน " แล้ว
หากผู้ฝึกหัดรู้สึกว่าตนได้ขาดการ " ลิ้มรสแห่งเซน " ในขณะที่ตน
กำลังพูดกำลังทำการงานแล้วละก็ ผู้ฝึกหัดควรจะตระหนักไว้ด้วยว่า
ตนได้ใช้ชีวิต ให้ผ่านไปโดยขาดสติ เสียแล้ว
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=truthoflife&month=07-02-2011&group=9&gblog=51
ฐิตา:
ภาค ๒ น้ำชาถ้วยหนึ่ง
จงมองลึกลงไปในธรรมชาติของตน
วัดที่ข้าพเจ้าพำนักอยู่ก็ดุจเดียวกับวัดเซนแบบดั้งเดิมทั้งหลาย
กล่าวคือมีภาพเขียนอันงดงามของท่านโพธิธรรม
เป็นภาพวาดด้วยหมึกฝีมือพู่กันจีน แสดงให้เห็นถึงพระภิกษุชาวอินเดียผู้มีพักตร์อันสุขุม
และมีแววแห่งความเด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง ม่านตา ดวงตาและคางของท่าน
ล้วนแสดงให้เห็นสถานะแห่งดวงจิตอันมิรู้จักโยกคลอน
เล่ากันว่า ท่านโพธิธรรมมีชีวิตอยู่ในสมัยพุทธสตวรรษที่ ๑๑
ลงความเห็นว่า ท่านเป็นมหาสังฆปรินายกองค์แรกแห่ง
พุทธศาสนานิกายเซนในประเทศจีน
ถึงแม้ว่าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติของท่าน
จะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แน่นอน แต่บุคลิกลักษณะ
และจิตใจของท่าน ตามที่ได้ยินได้ฟังถ่ายทอดลงมาแต่โบราณ
ได้ทำให้ท่านกลายเป็นบุคคลในอุดมคติ
ของผู้ที่ปรารถนาจะเข้าให้ถึงการตรัสรู้ โดยมรรคแห่งเซน
ภาพนั้นเป็นภาพของพระอริยบุคคลผู้สามารถผู้สามารถควบคุมตนเอง
ได้อย่างสมบูรณ์ เป็นผู้พ้นไปสู่..
..ความไม่มีอุปสรรคกีดขวางตนเองและสิ่งแวดล้อม
เป็นอริยบุคคล ผู้ซึ่งมีพลังแห่งจิตอันสูงส่ง
ซึ่งช่วยทำให้ดำรงความสงบราบคาบแห่งจิตไว้ได้
ไม่ว่าจะพบกับความสุข ความทุกข์หรือความเป็นอนิจจัง
ของชีวิต สิ่งที่เป็น แก่น สำคัญแห่งบุคลิกของท่านผู้นี้
มิได้เกิดจาก การค้นพบสัจจะอันสูงสุด
และมิได้เกิดจากจิตใจอันเข้มแข็งของท่าน
แต่เกิดมาจากทัศนะอันสุดแสนลึกซึ้งแห่งจิตใจของท่านเอง
รวมทั้งการดำเนินชีวิตอยู่ ในความเป็นจริง ด้วย
จากจุดนี้เองที่เกิดคำพูดแบบเซนที่ว่า
" จงมองให้ลึกลงในธรรมชาติแห่งตน "
ครั้นเมื่อบุคคลใดได้เข้าถึงสถานะแห่งการตรัสรู้เช่นนี้แล้ว
บุคคลนั้น จะรู้สึกว่ากระบวนการทางความคิด
อันผิดพลาดทั้งหมดที่อยู่ภายในตน ได้หักแหลกละเอียดลงอย่างสิ้นเชิง
ทัศนะและความคิดใหม่ของผู้ซึ่งได้ตรัสรู้นั้น ย่อมเต็มไปด้วย
สันติสุขอันล้ำลึก เป็นความสงบอันมิอาจหยั่งคาดได้
มีดวงจิตอันนิราศจากความกลัวใด ๆ ทั้งสิ้น
" ดังนั้น การมองให้ลึกลงใน..
..ธรรมชาติแห่งตน "จึงเป็นจุดหมายปลายทางของเซน
ฐิตา:
วาทะของท่านโพธิธรรม
แต่การมองให้ลึกลงในธรรมชาติแห่งตนมิใช่ผลอันเกิดมาจาก
การศึกษาเล่าเรียนและทำการค้นคว้า ปัญญาญาณ
จะเกิดขึ้นก็แต่โดยการใช้ชีวิตที่ลงลึกถึงแก่นแห่งความเป็นจริงเท่านั้น
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า เซนนั้นคัดค้านต่อข้อคิดและข้อเขียนทั้งหมด
ด้วยถ้อยคำนั้น
ไม่อาจจะก่อให้เกิดปัญญาที่แท้จริงได้ ตามที่ท่านโพธิธรรมได้กล่าวไว้ เซนก็คือ
" การถ่ายทอดโดยเฉพาะเจาะจง อันเป็นไปนอกพระสูตร
มิได้ถือตามถ้อยคำและตัวอักษร แต่ชี้ตรงจี้ลงสู่ใจของมนุษย์
เพื่อให้เขาอาจแลเห็นธรรมชาติของตน และบรรลุถึงภาวะแห่งการตรัสรู้ "
เมื่อท่านโพธิธรรมเดินทางมาเมืองจีนในศตวรรษที่ ๑๐ นั้น
พระพุทธศาสนาในเมืองจีนกำลังย่างเข้าสู่
ยุคแห่งการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก โดยอาศัยพระสูตรต่าง ๆ
และวุ่นวายอยู่ด้วยการตั้งนิกายใหม่ ๆ ขึ้น วงการพุทธศาสนาสนใจอยู่
ด้วยสิ่งเหล่านี้ มากกว่าที่จะหันมาสนใจฝึกหัดการทำสมาธิ
วาทะการพุ่งทะยานไปเบื้องหน้าของท่านโพธิธรรมนั้นมิใช่อะไรอื่น
นอกจากเสียงสะเทือนเลือนลั่นจากสายอสนีบาตที่ปลุกคน
ในวงการพุทธศาสนาให้ตื่นขึ้น และช่วยให้กลับมาสนใจฝึกหัดปฏิบัติธรรม
และหันเข้าหาหัวใจของพุทธศาสนานั่นเอง
เพราะเหตุที่ว่าวาทะของท่านโพธิธรรมก้องไปประดุจเสียงของสายฟ้า
จึงดูเหมือนว่าวาทะของท่านออกจะกล่าวเกินเลยไปบ้าง
แต่ขอให้เราพิจารณาอย่างรอบคอบ ถึงลักษณะความสัมพันธ์
ระหว่างเซนกับพุทธศาสนาดั้งเดิมของอินเดีย และเราจะทราบได้ว่า
เซนนั้นมิใช่อะไรอื่น มิใช่นิกาย มิใช่ลัทธิที่เสริมแต่งดัดแปลง
และแตกแยกออกมาจากพระพุทธศาสนา หากคือสาระแห่งพุทธศาสนานั่นเอง
ท่านโพธิธรรมได้กล่าวว่า
" เซนได้รับการถ่ายทอดมาจาก พุทธองค์ โดยมิได้เกี่ยวพัน
กับพระสูตรและพระพุทธดำรัส ซึ่งพวกท่านกำลังศึกษากันอยู่
( เซนคือการถ่ายทอดโดยเฉพาะเจาะจง อันเป็นไปนอกพระสูตร ) "
ฐิตา:
จากทัศนะแรกนี้จึงดูคล้ายกับว่า เซนจะต้องมีวิธีการสอนอันลึกลับ
มีการถ่ายทอดจากอาจารย์มาสู่ศิษย์ผ่านมาหลายชั่วอายุคน
มีแก่นแท้เนื้อความซึ่งไม่อาจนำมาเขียนถกเถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้
หรือถ้าจะขยายความให้ชัดขึ้น เซนก็คือ
มรดกตกทอดทางจิต ซึ่งไม่มีใครจะเข้าใจได้นอกจากผู้ตรัสรู้เท่านั้น
ไม่มีใครสามารถนำไปสอนโดยใช้สัญลักษณ์เท่าที่มีใช้อยู่ คือ
ภาษาพูดและภาษาเขียน ระบบเหตุผลตรรกะวิทยา
ด้วยเซนนั้นไม่อาจนำไปสั่งสอนกันได้ เพราะเซนสืบผ่านโดยตรง
จากอาจารย์มาสู่ศิษย์ จาก " จิตสู่จิต " เป็นตราประทับที่ใช้ประทับลงบนดวงจิต
เซนมิใช่ตราที่ทำด้วยไม้ทองแดงหรืองาช้าง แต่เป็น " ตราแห่งจิต " คำว่า
" การถ่ายทอด " ที่เอ่ยถึงนั้นหมายถึง
การถ่ายทอดจากตราแห่งจิตนี้เอง เซนนี่แหละคือตราแห่งจิต
สิ่งต่าง ๆ มากมายที่อาจค้นพบได้ในวรรณคดีและในพระสูตรของพระพุทธศาสนานั้น
อาจเรียกได้ว่าเป็นพุทธศาสนา แต่ก็หาใช่พระพุทธศาสนานิกายเซนไม่
ด้วยเซนนั้นไม่ อาจหาพบได้ในพระสูตร เพราะเซนนั้น
" ไม่อาจหาได้ในข้อเขียนใด ๆ เลย และนี่คือคำประกาศจากวาทะ
ของท่านโพธิธรรม ซึ่งอาจารย์เซนส่วนใหญ่ได้แสดงธรรมกถาเล่าสืบต่อกันมา
ตามความเป็นจริงแล้ว หลักการที่ว่า " ไม่ขึ้นอยู่กับข้อเขียน ทำให้เซน
แตกต่างไปจากพุทธศาสนานิกายอื่น ๆ นั้น หลักการนี้ได้มีมานานแล้ว
โดยเฉพาะเป็นหลักการในพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม รวมทั้งฝ่ายมหายานด้วย
การอภิปรายโต้แย้งการบรรยายถึง สัจภาวะอันสูงสุด ด้วยถ้อยคำนั้น
เป็นหลักการที่ทางพุทธศาสนาปฏิเสธและไม่นิยมให้กระทำ
ดังนั้นวาทะของท่านโพธิธรรมจึงมิได้เป็นสิ่งใหม่ นอกจากเป็นการย้ำ
อย่างหนักแน่นและรุนแรงในหลักการเดิม
ซึ่งให้คุณค่าต่อการปฏิบัติฝึกฝน ทางจิต โดยตรงและละเว้นการไตร่ตรอง
หาเหตุผลตามระบบความคิดแบบต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่ในโลก
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version