ผู้เขียน หัวข้อ: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร  (อ่าน 25650 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #50 เมื่อ: มิถุนายน 21, 2012, 02:27:44 pm »



ครั้งที่ ๓๔ ลักษณะพุทธศาสนา
- มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุ พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

กำหนดพิจารณานามรูป
จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๕ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง เมื่อได้ปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์ ทำจิตให้บริสุทธิ์จากนิวรณ์ทั้งหลายอันนับว่าได้ปฏิบัติศีลให้เป็นภาคพื้น เป็นที่รองรับ เป็นที่ทรงไว้แห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ทำจิตให้บริสุทธิ์คือให้เป็นสมาธิ สงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นบาทของวิปัสสนา จึงได้จับปฏิบัติในวิปัสสนา ตั้งต้นแต่ชำระความเห็นให้บริสุทธิ์ และกำหนดจับเหตุปัจจัยแห่งนามรูปจนข้ามพ้นความสงสัยเกี่ยวแก่นามรูปทั้งหลาย เพราะจับเหตุปัจจัยได้แล้ว จึงปฏิบัติกำหนดพิจารณาขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ กำหนดจับพิจารณารวมเข้ามาในขันธ์ ๕ ย่อลงเป็นนามรูปโดยลักษณะจำเพาะของแต่ละข้อตามที่พระอาจารย์ได้แนะนำไว้ เช่นกำหนดจับพิจารณารูป ว่าเป็นสิ่งที่ชำรุดทรุดโทรม กำหนดจับพิจารณาเวทนา ว่าเป็นความรู้สุขทุกข์และเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข กำหนดพิจารณาสัญญา ว่าเป็นความรู้ที่จำหมาย กำหนดพิจารณาสังขาร ว่าเป็นความรู้ที่ปรุงแต่ง กำหนดจับพิจารณาวิญญาณ ว่าเป็นความรู้ที่เป็นความเห็นรูปได้ยินเสียง ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และรู้เรื่องราวของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ กับรู้เรื่องราวของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเหล่านั้น

ที่ประสบพบผ่านมาแล้ว หรือที่คาดคิดล่วงหน้าไปข้างหน้าและก็กำหนดรวมเข้ามาเป็นนามรูป โดยที่รูปก็คือเป็นสิ่งที่ต้องชำรุดทรุดโทรมดังกล่าวนั้นและสิ่งที่ชำรุดทรุดโทรมนั้นก็คือเป็นมหาภูตรูป คือรูปที่เป็นส่วนใหญ่ คือที่เป็นธาตุทั้ง ๔ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม กับอากาสธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่าง และเป็นอุปาทายรูป รูปอาศัย ก็คือประสาททั้ง ๕ จักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท และเป็นวิสัยคือเป็นอารมณ์ของประสาททั้ง ๕ นั้น คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตลอดจนถึงที่เป็นเพศชายเพศหญิงเป็นต้น บรรดาที่อาศัยอยู่กับมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น จึงล้วนเป็นสิ่งที่ต้องชำรุดทรุดโทรม และเป็นนามก็คือเป็นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ซึ่งเป็นความรู้ดังกล่าว ก็คืออาการที่จิตน้อมออกรู้อารมณ์คือเรื่องทางทวารทั้ง ๖ ก็สมมติเรียกว่าเป็นวิญญาณ ทีแรกก็คือความรู้ที่เป็นความเห็นรูปได้ยินเสียงเป็นต้นตามที่กล่าวแล้ว เรียกว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณเป็นต้น แล้วก็เป็นสัมผัส ก็คืออายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกันก็เป็นสัมผัส แล้วก็เป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขาร แล้วก็เป็นวิญญาณขึ้นอีก

รวมก็เป็นความรู้คือที่จิตน้อมออกรู้อารมณ์ที่เข้ามาทางทวารทั้ง ๖ จึงเรียกว่านาม ที่แปลว่าอาการที่จิตน้อมออกไปรู้อารมณ์คือเรื่องทางทวารทั้ง ๖ ก็ปรากฏเป็นวิญญาณเป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร แล้วก็เป็นวิญญาณขึ้นอีก แต่ว่าในขันธ์ ๕ นั้นไม่กล่าวถึงสัมผัส และเอาวิญญาณไปไว้เป็นข้อท้าย เอาเวทนาไว้เป็นข้อต้น จึงนับว่าเป็นเวทนาสัญญาสังขาร ซึ่งพิจารณาดูแล้วที่ท่านเรียงอย่างนี้ก็สะดวกแก่การพิจารณา เพราะว่าเมื่อจับพิจารณารูป ซึ่งเป็นของหยาบกำหนดได้ง่าย แล้วก็มาเวทนา ซึ่งเวทนานั้นก็บังเกิดขึ้นทั้งทางกายทั้งทางใจ เวทนาก็เป็นของหยาบแม้จะเป็นนามธรรม คือเป็นตัวความรู้ดังกล่าวนั้น แต่ก็บังเกิดขึ้นแก่ทั้งกายทั้งใจ กำหนดได้ง่าย จึงเอามาไว้ในข้อที่ ๒ แล้วก็จับกำหนดพิจารณาสัญญาซึ่งเป็นนามธรรมอย่างเดียวกัน แล้วก็สังขาร แล้วก็จับพิจารณาวิญญาณ เพราะว่าการพิจารณาสังขารนั้น คือการพิจารณาความรู้ที่เป็นการปรุงแต่งของใจ ปรุงแต่งรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธัมมะคือเรื่องราว และเมื่อจับพิจารณาการปรุงแต่งอย่างนี้ ก็เป็นการง่ายที่จะจับพิจารณาวิญญาณ ซึ่งเป็นตัวความรู้เห็น รู้ได้ยิน เป็นต้นดังกล่าวนั้น เพราะว่าวิญญาณนี้ก็เกิดจากความปรุงแต่ง คืออายตนะภายนอกอายตนะภายในประจวบกัน หรืออีกอย่างหนึ่งท่านแสดงว่านามรูป

เพราะฉะนั้นเมื่อจับเอานามรูป ก็นามรูปนี้เองเมื่อมาประจวบกันเข้าก็ให้เกิดเป็นวิญญาณ และหากจะพิจารณาให้ชัดขึ้นก็อายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกัน เช่นตากับรูปมาประจวบกันเข้าก็เกิดเป็นจักขุวิญญาณ คือว่าความรู้ที่เรียกว่าความเห็นคือเห็นรูปทางตาอันนี้ก็เป็นความปรุงแต่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อจับพิจารณาสังขาร ก็จับพิจารณาวิญญาณได้สะดวกขึ้น แล้วเป็นการจับพิจารณาให้พบต้นทางของนามธรรมทั้งหลายด้วย คือนามธรรมทั้งหลายนั้นก็มาจากอายตนะภายในอายตนะภายนอกที่ประจวบกัน หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเกิดจากนามรูปก็ได้ รูปก็รูปนั้นเอง นามก็คือบรรดานามทั้ง ๔ หรือว่าเอาตัวมโนคือใจนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นทวารในของจิตดังที่ได้กล่าวมาแล้วในครั้งก่อนๆ ซึ่งต้องมีประกอบอยู่ในอายตนะภายในทุกข้อ เช่นว่าเมื่อตากับรูปประจวบกัน ก็ต้องมีมโนเข้ามาประกอบด้วย จึงจะทำให้เกิดจักขุวิญญาณความรู้เห็นรูป อันตัวมโนที่มาประกอบนั้นก็คือตัวนามนั้นเอง ก็แปลว่าทั้งรูปทั้งนาม หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คืออายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกัน ก็เป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณเป็นต้น เพราะฉะนั้นการที่มีแสดงเอาไว้ ๒ อย่าง ว่านามรูปเป็นเหตุปัจจัยของวิญญาณ อีกอย่างหนึ่งแสดงว่าอายตนะภายในอายตนะภายนอกเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณนั้น ถ้าหากว่าอธิบายไม่เอามโนเข้ามาประกอบด้วยก็เห็นได้ยาก ถ้าหากว่าอธิบายเอามโนเข้ามาประกอบด้วย ก็จะเห็นได้ง่าย ว่าเรียกว่านามรูปก็ได้เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ก็เพราะว่าจะต้องมีมโนเข้ามาประกอบด้วยทุกข้อดังที่กล่าวมาแล้ว จึงจะเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณขึ้นได้

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 25, 2013, 06:36:47 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #51 เมื่อ: มิถุนายน 21, 2012, 02:30:58 pm »


วิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนาปัญญา 

เพราะฉะนั้นก็กำหนดพิจารณาให้รู้จักลักษณะจำเพาะข้อของแต่ละข้อดังที่กล่าวมานี้ และก็จับพิจารณารวมกันเข้าเป็นหมวดเป็นหมู่ ก็คือรวมกันเข้าขันธ์ ๕ ทุกข้อ นามรูปทั้งหมดซึ่งมีลักษณะจำเพาะๆ ดังที่กล่าวมานั้น ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องไม่เที่ยงคือเป็นสิ่งที่เกิดดับ เป็นทุกข์คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และต้องถูกความเกิดความดับบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา และต้องเป็นอนัตตา คือไม่เป็นอัตตาตัวตนเพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ แม้ว่าขันธ์ ๕ หรือนามรูปซึ่งมีลักษณะจำเพาะของแต่ละข้อดังที่กล่าวมานั้น ก็ต้องเป็นสิ่งที่อนิจจะ ไม่เที่ยง ทุกขะ เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ดังที่กล่าวมานั้นทุกข้อไปเหมือนกันเช่นว่าในข้อรูป ทั้งที่เป็นมหาภูตรูป ทั้งที่เป็นอุปาทายรูป ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณที่มีลักษณะเป็นความรู้ของจิตที่น้อมออกรู้อารมณ์ ก็ล้วนเป็นอนิจจะเป็นทุกขะและเป็นอนัตตา

และเมื่อรวมกันเข้าทั้งหมดเป็นหมวดเป็นหมู่ทั้งสิ้น ก็เป็นอนิจจะเป็นทุกขะและเป็นอนัตตาทั้งหมด และเมื่อประมวลเข้าทั้งหมด ทั้งที่เป็นส่วนอดีตทั้งที่เป็นส่วนอนาคตทั้งที่เป็นส่วนปัจจุบัน
อดีตก็คือว่าที่เกิดมาแล้วที่มีมาแล้ว อนาคตก็คือว่าที่จะเกิดจะมีต่อไป ที่เป็นปัจจุบันก็คือที่เกิดตั้งอยู่ในปัจจุบัน และทั้งที่เป็นภายในทั้งที่เป็นภายนอก และทั้งที่เป็นส่วนหยาบทั้งที่เป็นส่วนละเอียด ทั้งที่เป็นสิ่งที่ดีประณีต ทั้งที่เป็นสิ่งที่หยาบหรือเลว ทั้งที่อยู่ไกลทั้งที่อยู่ใกล้ทั้งหมด ก็ล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ทุกขะคือเป็นทุกข์ อนัตตามิใช่อัตตาตัวตนทั้งนั้น เมื่อกำหนดพิจารณาลงไปในไตรลักษณ์ดั่งนี้ ทีแรกก็ต้องอาศัยสัญญาคือความกำหนดหมาย ความกำหนดหมายหรือว่าความจำ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้และนำเอาความจำนั้นมากำหนดพิจารณาดู ตั้งแต่ชำระทิฏฐิคือความเห็นให้บริสุทธิ์ดังที่ได้กล่าวแล้วโดยลำดับ ก็จะเกิด วิปัสสนาญาณ คือความรู้ที่เป็นตัวความเห็นแจ้งขึ้นในขันธ์ ๕ ในนามรูป ว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยงอย่างนี้ ๆ เป็นทุกขะคือเป็นทุกข์อย่างนี้ ๆ เป็นอนัตตามิใช่ตัวตนอย่างนี้ ๆ ปรากฏชัดขึ้น อันกล่าวได้ว่าเป็นวิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนาปัญญาที่บังเกิดขึ้น

วิปัสสนูปกิเลส
เมื่อได้พบกับวิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนาปัญญาจากการปฏิบัติทำวิปัสสนากรรมฐานมาถึงขั้นนี้ ท่านแสดงว่าจะเกิด วิปัสสนูปกิเลส ที่แปลว่าเครื่องที่เข้ามาทำวิปัสสนาให้เศร้าหมองขึ้น ๑๐ ข้ออย่างใดอย่างหนึ่ง


วิปัสสนูปกิเลสดังที่กล่าวนี้ก็คือ โอภาส แสงสว่าง ญาณ ความหยั่งรู้ที่ชัดแจ้งหรือว่าแจ่มแจ้ง ปีติ ความอิ่มใจ ปัสสิทธิ ความสงบ สุข คือความสุข ความสบายกายความสบายใจ อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ คือมีความเชื่อที่บังเกิดขึ้นอย่างมั่นคง ปัคคาหะ ความเพียร คือรู้สึกว่ามีกำลังความเพียรที่บังเกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งชนิดที่ว่าจะปฏิบัติทำวิปัสสนาต่อไปกันอีกนานเท่าไหร่ จะทำเรื่อยไปโดยไม่หยุดก็ทำได้ อุปัฏฐาน คือสติอันได้แก่ความที่มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม อุเบกขา ความวางจิตเป็นกลาง คือความที่มีจิตเป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้ายมั่นคง แม้จิตจะเที่ยวไปในอารมณ์ทั้งหลาย ก็เป็นกลางอยู่ได้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย นิกันติ ความพอใจ คือมีความพอใจต้องการจับจิตจับใจในวิปัสสนาปฏิบัติและในผลที่ได้รับเป็นอย่างยิ่ง

อาการเหล่านี้จะบังเกิดขึ้น และอันที่จริงนั้นอาการที่บังเกิดขึ้นนี้ ก็เป็นเรื่องปรกติหรือเป็นเรื่องสามัญทั่วไปของผู้ที่ปฏิบัติทำวิปัสสนากรรมฐานทั้งหลาย เมื่อการปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐานได้เข้าถึงระดับที่ปรากฏเป็นตัวความรู้เห็นแจ้ง ในขันธ์ ๕ ในนามรูปโดยไตรลักษณ์ชัดแจ้งปราศจากความสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าข้ามพ้นความสงสัยทั้งหลายได้แล้ว ก็จะเกิดอาการเหล่านี้เป็นผลที่ได้รับในขั้นนี้ เรียกว่าเป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่เป็นผลโดยตรง เพราะว่าผลโดยตรงนั้นต้องการที่จะกำจัดกิเลสและกองทุกข์ แต่ว่าผลเหล่านี้เป็นผลพลอยได้ซึ่งบังเกิดขึ้นและเมื่อได้รับประสบผลเช่นนี้ ถ้าหากว่าเกิดความหลงเข้าใจผิดขึ้นว่านี้เป็นตัวมรรคตัวผลที่ต้องการและบัดนี้ได้บรรลุมรรคบรรลุผลแล้ว คือได้ประสบความสำเร็จแล้ว หากมีความเข้าใจดั่งนี้ อาการที่ปรากฏเหล่านี้จึงจะเรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส คือเครื่องที่เข้าไปทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง อันผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานและได้ประสบอาการดังที่กล่าวมานี้ บางท่านที่เคยได้ฟังมาปรากฏเป็นเสียงมาร้องบอกก็มี ว่าเธอสำเร็จแล้ว และท่านที่ปฏิบัติเมื่อได้ยินเสียงมาตะโกนบอกว่าสำเร็จแล้ว บางท่านก็เชื่อ รีบไปบอกพระที่เป็นผู้ร่วมปฏิบัติว่าสำเร็จแล้ว เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติซึ่งเป็นผู้รู้หลักก็ชี้แจงให้ฟัง

จึงได้เกิดความเข้าใจขึ้นว่าไม่สำเร็จ ที่เป็นดั่งนี้ก็มี หรือบางทีก็ปรากฏเป็นนิมิตเห็นเป็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานคำแนะนำก็มี ดังที่ท่านรูปหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานคำแนะนำ ครั้งแรกก็แนะนำว่าให้ทำเรื่อยไปไม่ต้องหยุด จึงได้ทำเรื่อยไปไม่นอน แต่ยังยอมฉัน เมื่อถึงเวลาก็ฉัน แต่ต่อมาก็เห็นพระพุทธเจ้ามาประทานคำแนะนำอีกว่าต้องไม่ฉัน เมื่อถึงขนาดนี้เพื่อนฝูงก็ต้องไปตามอาจารย์มาช่วยให้คำแนะนำแก้ไข ก็ประสบความสำเร็จในการแก้ไข ก็รู้ตัวในภายหลัง เหล่านี้เป็นวิปัสสนูปกิเลสทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอาการเหล่านี้นั้นอันที่จริงไม่ใช่เป็นวิปัสสนูปกิเลส เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นเป็นธรรมดา หรือเป็นสามัญของผู้ปฏิบัติ เมื่อเข้าถึงขั้นก็จะเกิดอาการเหล่านี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องทำญาณคือความหยั่งรู้ ว่าอาการที่ปรากฏเหล่านี้ยังไม่ใช่เป็นมรรคยังไม่ใช่เป็นผล
คือไม่ใช่เป็นทางที่บรรลุอันเรียกว่ามรรคและไม่ใช่ผล แต่เรียกว่าเป็นอาการที่บังเกิดขึ้นอันเป็นสิ่งที่พลอยได้ และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ไม่ติดอยู่ในอาการเหล่านี้ มีความรู้ว่าไม่ใช่เป็นตัวมรรคไม่ใช่เป็นตัวผล แต่เป็นอาการที่บังเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติตามขั้นตอนเท่านั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ไม่ติดไม่ยินดี ก็ปฏิบัติต่อไป ปรารภขันธ์อายตนะธาตุหรือขันธ์ ๕ นามรูป พิจารณาในไตรลักษณ์ให้เห็นชัดยิ่งขึ้นต่อไป ดั่งนี้เรียกว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง


๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๖

                         

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #52 เมื่อ: มิถุนายน 21, 2012, 03:53:43 pm »




ครั้งที่ ๓๕ ลักษณะพุทธศาสนา
- ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุ พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
จะแสดงวิสุทธิข้อที่   ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ เมื่อได้ความรู้จักว่าอะไรเป็นทาง อะไรมิใช่ทาง ตามอธิบายในวิสุทธิข้อที่ ๕ แล้ว ก็จะทำให้การปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐานได้ดำเนินตรงแน่วไปสู่ทางแห่งวิปัสสนา คือปัญญาที่เห็นแจ้งรู้จริงในสังขารทั้งหลาย โดยไม่มีความรู้ผิดเห็นผิดที่จะทำให้พลัดหรือหลงทางแห่งวิปัสสนาไป เพราะฉะนั้นในขั้นที่จะปฏิบัติแน่วไปตรงทางแห่งวิปัสสนาอันแท้จริงนั้น ก็ใคร่จะกล่าวย้ำตรงหัวต่อนี้ ๒ ข้อ ข้อหนึ่งก็คือหลงผิดในทางแห่งวิปัสสนาตามที่กล่าวมาแล้วเป็นอันตรายสำคัญแห่งความปฏิบัติก้าวหน้า วิปัสสนูปกิเลส สิ่งที่จะเข้ามาทำให้ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงเศร้าหมองไป ที่ท่านยกขึ้นไว้ ๑๐ ประการนั้น ก็เป็นข้อสำคัญ แต่ว่าแม้จะมีข้ออื่นอีกอันหมายความว่าความเห็นผิดเข้าใจผิดในนิมิตเป็นต้น ซึ่งดูเหมือนจะนอกไปจากนั้นอีก เมื่อเป็นทางที่ผิดแล้ว ก็นับเข้าในวิปัสสนูปกิเลสทั้งสิ้น ดังที่ยกมาเล่าแล้วที่พระผู้ปฏิบัติได้เห็นพระพุทธเจ้ามาแสดงแนะนำนั้น ซึ่งก็ล้วนเป็นนิมิตคือเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นขึ้นมา อันเป็นภาพมายาที่หลอกให้เข้าใจผิด เพราะว่าข้อที่แนะนำนั้นเป็นข้อที่ปฏิบัติมิได้ เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงต้องทำความรู้ล่วงหน้าไว้ แม้ว่าจะเกิดนิมิตมองเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาตรัสแนะนำอย่างโน้นอย่างนี้อะไรโดยตรง แต่เมื่อข้อแนะนำนั้นๆ ไม่ถูกต้อง ก็เป็นอันว่านั่นเป็นภาพมายา และภาพมายานี้ ถ้าไปปฏิบัติด้วยความหลงผิดก็เกิดอันตราย

มีอีกเรื่องหนึ่ง ได้รู้จักเองกับพระองค์หนึ่ง เป็นพระชาวต่างประเทศซึ่งไปปฏิบัติอยู่ในวัดป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ก็นั่งปฏิบัติทำกรรมฐาน แต่ว่าจะปฏิบัติด้วยวิธีไหนอย่างไรนั้นไม่ทราบ แต่ก็ได้ปีติได้สุขในการปฏิบัติ ซึ่งปีติสุขในการปฏิบัตินั้นแม้ในขั้นสมาธิก็ย่อมได้ ดังที่มีแสดงไว้ในองค์ของปฐมฌานคือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เอกัคคตาก็คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว วิตกก็คือความนำจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐาน วิจารก็คือความที่ประคองจิตไว้ในอารมณ์ของกรรมฐานไม่ให้ตก ปีติ ความอิ่มใจ สุขก็คือความสบายกายสบายใจแล้วก็เอกัคคตา นี่ในขั้นสมาธิ ก็ได้มีนิมิตเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามาทางหน้าต่าง และก็เสด็จออกไปทางหน้าต่าง ก็ตามเสด็จออกไปทางหน้าต่าง รุ่งขึ้นก็มีคนเห็นพระรูปนั้นตกมาสลบอยู่ที่ข้างกุฏิตรงหน้าต่างนั้น ก็นำไปส่งโรงพยาบาล พยาบาลแก้ไขกันต่อไป ดั่งนี้อาจจะเป็นสมถูปกิเลสก็ได้ คือสิ่งที่มาทำให้การปฏิบัติในสมถกรรมฐานเศร้าหมองไป และแม้ในขั้นปฏิบัติวิปัสสนานี้ ก็ย่อมจะได้ภาวะของจิตเป็นความสงบเป็นความสุขอย่างยิ่งดังที่แสดงแล้วในวิปัสสนูปกิเลสนั้นเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นจะปรากฏนิมิตเป็นประการใดประการหนึ่งก็ตาม ซึ่งนอกทางวิปัสสนาไปแล้วก็อย่าไปยึดถือ อย่าไปหลงผิดว่าเป็นจริงเป็นจัง อันจะทำให้เป็นอันตรายแก่วิปัสสนาปฏิบัติเอง ต้องถือทางปฏิบัติแห่งวิปัสสนา กล่าวคือจับพิจารณาขันธ์ ๕ หรือนามรูปโดยไตรลักษณ์ต่อไปเป็นประการสำคัญ คือไม่ทิ้งวิปัสสนากรรมฐานที่ปฏิบัตินั้นเอง ต้องถือวิปัสสนากรรมฐานที่ปฏิบัตินั้นเป็นหลักต่อไป โดยไม่ไปหลงพะวักพะวงกับภาวะของจิตต่างๆ หรือนิมิตต่างๆ ที่บังเกิดขึ้น และข้อนี้ก็ได้กล่าวไว้แล้ว ว่าอันภาวะของจิตต่างๆ หรือนิมิตต่างๆ นั้น อาจบังเกิดขึ้นได้แก่ผู้ปฏิบัติทุกคนในข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ บางอย่างก็เป็นผลของวิปัสสนาปฏิบัติเรียกว่าเป็นผลพลอยได้ คือเมื่อจิตได้ญาณคือความหยั่งรู้ในวิปัสสนาดีขึ้นโดยลำดับ ก็ชำระฟอกจิตให้บริสุทธิ์สะอาด เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ทำให้จิตที่เคยดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายกลับสงบลง และก็ทำให้จิตที่เศร้าหมองด้วยกิเลสนั้นผ่องใสขึ้น จึงได้ความสงบได้ความสุขอันประณีต ก็ปรากฏออกมาเป็นตัวสุขเวทนา กายใจสบาย เหมือนอย่างว่าการนั่งพักอยู่ใต้ต้นไม้มีลมพัดสบาย คราวนี้ถ้าไปติดกับความสบายนั้นเสียแล้ว ก็ทำให้นั่งพักอยู่นั่นแหละ ไม่ออกจากต้นไม้เดินทางต่อไป เพราะจะต้องเดินทางกันต่อไปอีก ยังไม่สิ้นสุดของการเดินทาง หรือบางทีก็ไปเข้าใจว่าต้นไม้ที่ไปนั่งพักนั้นเป็นสุดทางแล้ว เห็นว่าเป็นความสุขเป็นความสงบพอแล้ว ดั่งนี้ก็เป็นอันว่าทำให้ชะงักการปฏิบัติอยู่แค่นั้น

อันผลต่างๆ หรือภาวะต่างๆ ที่บังเกิดขึ้นนั้น ตัวของภาวะนั้นๆ ไม่ใช่เป็นตัวกิเลส ไม่ใช่เป็นตัววิปัสสนูปกิเลส เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะพึงได้จะพึงพบ ก็เป็นอาการหรือเป็นภาวะที่ปรากฏขึ้นตามขั้นตอนของการปฏิบัตินั้นเอง เพราะฉะนั้นในตัวเองของสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นวิปัสสนูปกิเลสดังกล่าว แต่จะเป็นก็ในเมื่อผู้ปฏิบัติได้หลงยึดถือเข้ามาหรือไปหลงติด เมื่อไปหลงติดเข้าเมื่อใด ภาวะหรือสิ่งที่บังเกิดขึ้นนั้นก็กลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสไป เพราะฉะนั้นจึงอยู่ที่ผู้ปฏิบัติเอง อย่าไปยึดถืออย่าไปติด ปล่อยให้ผ่านๆ ไปเสีย แล้วก็ปฏิบัติในทางวิปัสสนาต่อไปคือเดินทางปฏิบัติต่อไปไม่หยุดอยู่แค่นั้น แม้จะเป็นนิมิตอะไรปรากฏเห็นโน่นเห็นนี่ก็ตาม จะเห็นพระพุทธเจ้าเห็นเทวดามารพรหม ผีสาง เห็นป่าเห็นเขา เห็นอะไรทั้งนั้น นั่นเป็นนิมิตทั้งนั้น อย่าไปยึดถือเกี่ยวเกาะ อย่าไปหวาดกลัว อย่าไปหลงตื่น อย่าไปเชื่อฟัง เป็นนิวรณ์ที่แวบเข้ามาในใจได้ เรียกว่าเป็นสัญญาเก่าก็ได้ หรือว่าจะเป็นมารอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาขัดขวางก็ได้ เพราะฉะนั้นก็อย่าไปหลงยึดถือทั้งนั้น ปล่อยวางไป อะไรจะปรากฏขึ้นมาก็ช่าง ก็จับปฏิบัติคือว่าเดินทางปฏิบัติต่อไป


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #53 เมื่อ: มิถุนายน 21, 2012, 04:59:29 pm »


  พิจารณาสรุปลงในสังขารโดยไตรลักษณ์

อีกข้อหนึ่งก็คือให้ทำความเข้าใจ ว่าอารมณ์ของวิปัสสนาอันเรียกว่าวิปัสสนากรรมฐานหรือวิปัสสนาภูมินั้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยกเอาขันธ์อายตนะธาตุขึ้นมาพิจารณา หรือว่ายกเอาแต่เพียงขันธ์ ๕ ย่อมาเป็นนามรูป ก็สรุปหมดนั่นแหละ อีกคำหนึ่งก็คือว่ายกเอาคำว่าสังขารขึ้นมาเป็นที่รวมสรุป คำว่าสังขารนั้นแปลว่าสิ่งที่ผสมปรุงแต่ง ทั้งหมดนั่นแหละรวมเข้าในคำว่าสังขารได้ ทั้งขันธ์ ๕ ย่อเป็นนามรูป ทั้งอายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ สิ่งซึ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมดรวมเข้าในคำว่าสังขารนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่าสังขารเป็นบทสรุปก็มี หรือเรียกว่าพิจารณาสังขารโดยไตรลักษณ์ดั่งนี้ก็ได้ หรือว่าเรียกว่าสภาวธรรม พิจารณาสภาวธรรมโดยไตรลักษณ์ดั่งนี้ก็ได้ คำว่าสภาวธรรมนั้นก็ได้อธิบายมาแล้ว ก็เป็นอันเดียวกันทั้งหมดนั่นแหละ สภาวธรรม ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สังขาร ยกเอาคำใดคำหนึ่งขึ้นมาก็ได้ทั้งนั้น คลุมถึงกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นแม้ว่าอะไรจะปรากฏ เป็นเทวดามารพรหม เป็นต้นไม้ภูเขา เป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย อะไรที่เป็นนิมิตโผล่เข้ามาในการปฏิบัติแล้วละก็จับเข้าในสังขารนี่ทั้งหมดเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น รวมอยู่ในขันธ์อายตนะธาตุนี่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็อย่าไปตั้งเป็นสมมติบัญญัติอะไรขึ้น อย่าไปตั้งเป็นสมมติบัญญัติว่าเป็นเทวดาเป็นมารเป็นพรหม เป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย เป็นภูเขาเป็นต้นไม้

เพราะว่ามาถึงขั้นวิปัสสนานี้ แปลว่าชำระความเห็นให้บริสุทธิ์ตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิแล้ว ไม่ใช่สัตตสัญญาอัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา แต่ว่าพิจารณาจับเข้ามาถึงขันธ์อายตนะธาตุถึงสภาวธรรมถึงตัวสังขารนี้ ก็ต้องจับอันนี้แหละเป็นหลัก อย่าให้กลับวกไปหาอัตตสัญญาสัตตสัญญา ความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาขึ้นมาอีก ถ้าปรากฏอะไรขึ้น เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาอะไรขึ้น ก็ให้ปล่อยวางทั้งหมด แปลว่าจะดึงให้ผิดทางไปเสียแล้ว ต้องกลับมาเข้าสู่ขันธ์อายตนะธาตุสภาวธรรมสามัญลักษณะ สภาวธรรม สังขาร โดยสามัญลักษณะนี้นั่นแหละทั้งหมด อันนี้แหละเป็นทางตรงโดยตรง เดินต่อไปในทางนี้ เพราะฉะนั้นอารมณ์หรือภาวะอะไรที่บังเกิดขึ้นอันจะทำให้หลงผิดทางไปนั้น ต้องคิดเสียว่าเป็นเรื่องที่บังเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติทุกคน และก็บังเกิดขึ้นตามขั้นตามตอนเป็นผลพลอยได้ก็มี เป็นนิวรณ์หรือเป็นมารเข้ามาก็มี ฉะนั้นก็อย่าไปหลง สำคัญที่ผู้ปฏิบัติเองอย่าไปหลงเข้า ต้องยึดอยู่ในทางของวิปัสสนา คือจับขันธ์อายตนะธาตุสังขารสภาวธรรม เดินไปทางสามัญลักษณะนี่แหละทั้งหมดตรงแน่วไปทีเดียว ไม่พะวงอะไรทั้งหมด เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว วิปัสสนาญาณ จะบังเกิดขึ้น

วิปัสสนาญาณ
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นความดับ
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงเห็นโทษ

๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงถึงความเบื่อหน่าย

๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยพิจารณาหาทาง
๘. สังขารุเปกขาญาณ ปรีชาคำนึงด้วยความวางเฉยเสีย
๙. สัจจานุโลมิกญาณ ปรีชาเป็นไปโดยสมควรแก่กำหนดรู้อริยสัจ


ข้อ ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ ก็คือจะได้ความรู้เห็นสังขารทั้งหลายทั้งความเกิดทั้งความดับ คือจะเห็นสังขารสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ว่ามีความเกิดขึ้นมีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อจับพิจารณารูปหรือขันธ์ ๕ ก็จะเห็นว่าขันธ์ ๕ นั้นเกิดดับไปอยู่ เมื่อจับพิจารณาอายตนะจับพิจารณาธาตุก็จะเห็น ว่าสิ่งทั้งปวงนี้เกิดดับไปอยู่ อันหมายความว่า สังขารข้อใดโผล่ขึ้นมา ก็จะเห็นเกิดเห็นดับของสังขารข้อนั้นพร้อมกันไปทีเดียว ในขั้นนี้ผู้ปฏิบัติต้องทำความเข้าใจ ว่าเช่นมีบุคคลหนึ่งเดินมา มองเห็นด้วยตาก็ดี ด้วยใจคือคิดไปถึงก็ดี ความรู้ความเห็นของผู้ปฏิบัติทำวิปัสสนานั้นจะไม่เห็นว่าคนเดินมา แต่จะเห็นว่าขันธ์ ๕ มาหรือนามรูปมาหรือสังขารมา และจะไม่เห็นแค่นั้น จะเห็นว่าเกิดว่าดับพร้อมกันไปทีเดียว คือสิ่งที่มานั้นเกิดสิ่งที่มานั้นดับ อะไรที่เห็นทางตาก็จะเห็นอย่างนี้ทั้งหมด อะไรที่ได้ยินทางหูก็จะเห็นดังนี้ทั้งหมด อะไรที่ทราบทางจมูกทางลิ้นทางกาย ก็จะเห็นดังนี้ทั้งหมด อะไรที่เกิดขึ้นทางใจด้วยความคิดก็จะเห็นดังนี้ทั้งหมด คือว่าเห็นขันธ์ ๕ เห็นว่าอายตนะเห็นว่าสังขาร ไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาทั้งหมด คือไม่ยึดถือว่าเป็นชายเป็นหญิงเป็นช้างเป็นม้าเป็นบ้านเป็นเรือนเป็นโคเป็นกระบือทั้งหมด

แต่จะเห็นเป็นขันธ์เป็นธาตุเป็นอายตนะเป็นสังขาร แล้วขณะที่ได้เห็นที่ได้ยินที่นึกขึ้นนั้น สิ่งเหล่านั้นเป็นสังขารทั้งหมด และเกิดดับทั้งหมด อันนี้จะรู้สึกว่าต่างจากผู้ที่มิได้ปฏิบัติจนถึงขั้นนี้ คือผู้ที่มิได้ปฏิบัติจนถึงขั้นนี้นั้น สิ่งที่ปรากฏทางอายตนะทั้งหมดนี้ดังเช่นทางตาก็จะเป็นชายเป็นหญิงเป็นต้นไม้เป็นภูเขา เป็นแก้วแหวนเงินทองเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ทั้งหมด ทางหูก็เป็นเสียงนั้นเสียงนี้ เสียงสรรเสริญเสียงนินทาเสียงเล่าเรื่องอะไรต่างๆ ทางจมูกก็เป็นกลิ่นที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง รสก็เป็นรสสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถูกลิ้นบ้างไม่ถูกลิ้นบ้าง ทางกายก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง ทางใจก็เป็นเรื่องโน้นบ้างเรื่องนี้บ้างอะไรต่างๆ เป็นที่ตั้งของกิเลสต่างๆ ทั้งนั้น เพราะว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไปทั้งนั้น แล้วก็ไม่ปรากฏความดับความเกิด ปรากฏเป็นความดำรงอยู่ตั้งอยู่ เกิดข้างต้นก็ไม่เห็น ดับข้างปลายก็ไม่เห็นทั้งนั้น ปรกติเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อเป็นวิปัสสนาแล้วจะไม่เห็นเป็นอย่างนั้น เห็นเป็นสังขารทั้งหมด จะเป็นรูปเป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะเป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นสังขารสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด ไม่เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาทั้งนั้น และเป็นสิ่งเกิดสิ่งดับทั้งนั้น แปลว่าเกิดปรากฏดับปรากฏ เห็นเกิดเห็นดับทันทีพร้อมกันไป ดั่งนี้แหละจึงจะเป็นข้อที่ ๑ ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ

และเมื่อได้ข้อ ๑ นี้แล้ว เมื่อวิปัสสนาญาณนี้แก่กล้าขึ้น ก็จะเห็นว่าดับ ดับไปแต่เพียงอย่างเดียว อะไรโผล่ขึ้นมาก็เห็นดับทั้งนั้น ไม่มีความตั้งอยู่ปรากฏ เห็นดับเห็นดับไปทั้งหมด เพราะฉะนั้นในข้อนี้ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างว่ามารดาที่มีบุตร ๓ คน ที่ทำความผิดถูกเขาตัดสินประหารทั้ง ๓ คน เวลาเขานำบุตร ๓ คนไปประหารก็ประหารทีละคน มารดาก็ไปยืนดูอยู่ด้วย เห็นเขาประหารคนที่ ๑ ไปแล้ว และก็กำลังประหารคนที่ ๒ และคนที่ ๓ นั้นกำลังรออยู่ แต่มารดาก็รู้สึกว่าเหมือนอย่างถูกประหารไปแล้วเหมือนกัน แม้ว่าสังขารนั้นจะตั้งอยู่ แต่ก็รู้สึกว่าไม่มีหวังเสียแล้วที่จะตั้งอยู่ ต้องถูกประหารเป็นอันดับที่ ๓ ต่อไป เพราะฉะนั้นการที่เห็นดับก็เห็นอย่างนี้ แม้ว่าจะเห็นสังขารทั้งหลายปรากฏเป็นรูปเป็นเสียงเป็นต้น แต่ว่าก็จะต้องดับ เพราะฉะนั้นเมื่อวิปัสสนาญาณอันนี้แก่กล้าขึ้นแล้วก็จะเห็นแต่ดับๆ ทั้งนั้น แม้จะตั้งอยู่ก็ดับ ความดับก็จะมาอยู่แล้ว เหมือนอย่างมารดาที่รอบุตรคนที่ ๒ กำลังจะถูกประหาร ยังไม่ถูกประหารก็จริง แต่ว่าก็จะถูกประหารเป็นอันดับต่อไปแล้ว ความหวังที่จะตั้งอยู่ไม่มีแล้ว จึงเห็นดับเห็นดับไปทั้งหมด ดั่งนี้ก็เป็นข้อที่ ปรีชาคำนึงเห็นความดับ


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #54 เมื่อ: มิถุนายน 21, 2012, 05:56:01 pm »



คราวนี้มาถึงข้อที่ ๓ เห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว ก็โดยที่เมื่อมีความเห็นว่าต้องเกิดต้องดับอยู่ดั่งนั้น ก็จึงเป็นเหมือนอย่างว่าเป็นเรือนที่ถูกไฟไหม้ เพราะฉะนั้นเรือนที่ถูกไฟไหม้นั้นก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ไม่กลัวก็เพราะมายืนดูอยู่ข้างนอก ไม่ได้ตั้งอยู่ในเรือนไม่ได้ยืนอยู่ในเรือนที่กำลังไฟไหม้ แปลว่าดูอยู่ข้างนอก ก็เห็นเรือนกำลังถูกไฟไหม้หมดไปเป็นของน่ากลัว ไม่ควรที่จะเข้าไปใกล้เรือนที่กำลังถูกไฟไหม้นั้น ต้องถอยห่างออกมา ฉะนั้นจึงได้ญาณข้อต่อไปก็คือคำนึงเห็นโทษ เมื่อเป็นของน่ากลัวอย่างนั้นก็เป็นสิ่งที่มีโทษไม่มีคุณ ก็เป็นข้อที่ ๔ และเมื่อคำนึงเห็นโทษดั่งนั้น แล้วก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ก็เป็นข้อที่ ๕ เมื่อเบื่อหน่ายก็ใคร่ที่จะพ้นไปเสีย ก็เป็นข้อที่ ๖ เมื่อใคร่ที่จะพ้นไปเสีย ก็พิจารณาหาทาง ก็เป็นข้อที่ ๗ การพิจารณาหาทางนั้นก็คือเดินทางปฏิบัติวิปัสสนานั้นต่อไปนั้นเอง และเมื่อได้พบทาง ก็ย่อมจะได้ข้อที่ ๘ คือว่าวางเฉยเสียได้ในสังขารทั้งหลาย ในข้อนี้ท่านเปรียบเหมือนอย่างว่าคนจับปลาวางข้องจับปลาไปในแม่น้ำ เมื่อรู้สึกว่าปลาจะเข้าข้องก็ยกขึ้นมา ก็เอามือล้วงไปจับที่คอของปลา แล้วก็ยกขึ้นมา ก็ปรากฏว่าไม่ใช่ปลาเสียแล้ว เป็นงู เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เกิดความกลัว มองเห็นโทษของงูว่ากัดเข้าก็ตาย ฉะนั้นก็เกิดความหน่ายในงู ก็ใคร่ที่จะพ้นไปเสีย จึงได้จับงูนั้นให้มั่นไม่ให้กัดได้แล้วก็ชูขึ้น แกว่งไปแกว่งมาให้งูอ่อนกำลังลง แล้วก็เหวี่ยงทิ้งไป เมื่อเหวี่ยงทิ้งไปแล้วก็ได้ความสบาย พ้นภัย

ท่านเปรียบไว้ว่า ความที่จับยึดถือสังขารทั้งหลายว่าเป็นตัวเราของเรานั้น ก็เปรียบเหมือนว่าจับงูด้วยความหลง ก็คือด้วยความไม่รู้ เหมือนอย่างล้วงลงไปในข้องนึกว่าปลา จับมั่นแต่เมื่อยกขึ้นมาดูแล้วปรากฏว่าไม่ใช่ปลาแต่เป็นงู เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นว่าเป็นงูก็เปรียบเหมือนอย่างว่าความที่ยึดถือสังขาร เมื่อได้ปัญญามองเห็นว่าสังขารทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่เกิดดับ เป็นสิ่งที่ดับๆ ไปโดยส่วนเดียว ก็เกิดความรู้เห็นขึ้นมา ว่าความที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรานั้นยึดถือผิดแต่ว่ายังปล่อยไม่ได้ เพราะว่ายังยึดเอาไว้อยู่ ถ้าปล่อยไม่ดีก็จะเป็นอันตราย ปัญญาที่จะปล่อยก็ยังไม่ถึงในขณะนั้น แต่ก็เรียกว่าไม่มองเห็นแล้วว่ายึดถือผิด และก็ปรากฏว่าเป็นของที่น่ากลัวเพราะเป็นสิ่งที่เกิดดับเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเห็นโทษ
เหมือนอย่างว่าจับงูขึ้นมาก็เห็นโทษว่างูมันกัดให้ตายได้ จึงมีความหน่ายงู ก็เหมือนอย่างมีความหน่ายในสังขารทั้งหลาย มีความใคร่จะพ้นจากสังขารทั้งหลาย ก็เหมือนใคร่ที่จะพ้นจากงู คราวนี้พิจารณาที่จะพ้นก็คือพิจารณาหาทางที่จะปล่อยวางสังขารนั้นเอง ก็เหมือนอย่างพิจารณาว่าจะหาทางเหวี่ยงงูออกไปอย่างไร งูจึงจะไม่หวนมากัดเอา เพราะฉะนั้นเมื่อหาทางที่จะปล่อยงูได้ ก็ชูงูขึ้นเหนือศีรษะแล้วก็เหวี่ยงงูทิ้งไปเสียให้ไกล ก็เหมือนอย่างความที่วางสังขารได้ ก็มีความเฉย คือความที่ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อน มีความเบาสบาย อันเรียกว่าวางเฉย อันเป็นข้อที่ ๘ เพราะเมื่อเหวี่ยงงูไปพ้นแล้ว ก็แปลว่าวางเฉยในงูนั้นได้ เมื่อวางสังขารได้ ก็แปลว่าวางเฉยในสังขารทั้งหลายได้

จึงมาถึงข้อที่ ๙ ที่เมื่อได้ความวางเฉยในสังขารแล้ว ก็พิจารณาโดยสมควร กำหนดรู้อริยสัจ ก็คือพิจารณาถึงความรู้ความเห็นที่ได้มาจนถึงขั้นวางสังขารทั้งหลายลงได้ ได้ความวางเฉยในสังขารแล้ว กับที่ได้ปฏิบัติมาโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ดำเนินมาถูกต้องตามแนวอริยสัจ หรือตามแนวโพธิปักขิยธรรม อันเป็นทางที่ถูกต้อง และที่จะปฏิบัติต่อไป ก็เป็นทางที่ถูกต้องแก่โพธิปักขิยธรรมหรือแก่อริยสัจ ที่ท่านมีอุปมาเหมือนอย่างว่า มีมหาอมาตย์ ๘ คนผู้มีหน้าที่วินิจฉัยอรรถคดีของพระราชา ได้ถวายข้อวินิจฉัย พระราชาก็ทรงอนุมัติไปตามข้อวินิจฉัยของมหาอมาตย์ทั้ง ๘ คนนั้น และข้อที่พระราชทานพระบรมราชานุมัติไปนั้น ก็สอดคล้องกับหลักของนิติธรรม อันเป็นพระราชนิติหรือกฏหมายของแผ่นดิน แปลว่าพระราชาทรงอนุมัติไปตามวินิจฉัยของมหาอมาตย์ทั้ง ๘ และก็โดยถูกต้องต่อหลักนิติธรรมของบ้านเมืองอีกด้วย นี้ก็เป็นข้อที่ เรียกว่าปรีชาเป็นไปโดยสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ วิปัสสนาญาณทั้ง ๙ นี้เรียกว่าปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติอันเป็นวิสุทธิข้อที่ ๖

๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๖



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #55 เมื่อ: มิถุนายน 23, 2012, 04:28:48 pm »




ลักษณะพุทธศาสนา ครั้งที่ ๓๖
- ญาณทัสสนวิสุทธิ

ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุ พรรษา ๒๕๒๖  ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

วิสุทธิขั้นกำจัดกิเลสได้หรือพ้นโลก

   จะแสดงวิสุทธิข้อที่ ๗ ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะคือความรู้ความเห็น ญาณทัสสนวิสุทธินี้ได้แก่ญาณในอริยมรรค ๔ วิสุทธิข้อที่ ๗ นี้จึงเป็นญาณทัสสนะ ความรู้เห็นในอริยมรรค ๔ อันได้แก่ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตมรรค จึงเป็นญาณทัสสนะที่เป็นโลกุตระอันแปลว่าอยู่เหนือโลก ฉะนั้นวิสุทธิข้อที่ ๗ นี้ จึงเป็นวิสุทธิซึ่งเป็นโลกุตรธรรม ธัมมะที่อยู่เหนือโลก หรือว่าเป็นโลกุตรวิสุทธิ วิสุทธิที่อยู่เหนือโลก ส่วนวิสุทธิ ๖ ข้อข้างต้น ตั้งแต่สีลวิสุทธิจนถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นวิสุทธิที่ยังเป็นโลกิยธรรม ธัมมะที่ยังเกี่ยวกับโลก หรือเป็นโลกิยวิสุทธิ วิสุทธิที่ยังเกี่ยวกับโลกหรือยังเป็นขั้นโลก ฉะนั้นจึงพึงเข้าใจว่าขั้นแห่งธรรมปฏิบัติในพุทธศาสนานั้น เบื้องต้นก็ยังขั้นโลกหรือขั้นโลกิยธรรม ส่วนขั้นที่กำจัดกิเลสได้เรียกว่าขั้นโลกุตรธรรมที่แปลว่าพ้นโลกหรือว่าเหนือโลก และแบ่งบุคคลออกเป็น ๒ คือเป็น ขั้นปุถุชน ที่แปลว่าคนที่ยังมีกิเลสหนาแน่น “ปุถุ” แปลว่าหนาหรือมาก ฉะนั้นจึงหมายถึงคนจำนวนมากก็ได้ กับ ขั้นอริยชน คือคนที่เป็นอริยะ อันหมายถึงว่ากำจัดกิเลสได้ และคำว่าอริยะนี้ก็ใช้เป็นชื่อของหมู่คนที่มีความเจริญ ดังที่แสดงไว้ในพุทธประวัติ ว่าในชมพูทวีป ในขั้นแรกก็เป็นที่อาศัยของหมู่ชนอันไม่มีความเจริญเรียกว่า “มิลักขะ” หรือว่า “ทัสสยุ” แต่ต่อมามีชนที่เรียกตัวเองว่า “อริยะ” ได้ยกเข้ามาอาศัยอยู่ และก็ปราบพวกมิลักขะหรือทัสสยุนั้นให้พ่ายแพ้ไป และทำพวกนั้นให้เป็นทาส พระพุทธเจ้าก็ได้ประสูติขึ้นในหมู่ชนเหล่าอริยะ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงกำจัดกิเลสได้สิ้นเชิง และได้ทรงประกาศพุทธศาสนาสั่งสอนธัมมะให้หมู่เวไนยนิกรได้ดวงตาเห็นธรรมและกำจัดกิเลสได้ และก็ได้เรียกหมู่ชนที่ยังกำจัดกิเลสไม่ได้ว่าปุถุชน และก็เรียกเหล่าชนที่กำจัดกิเลสได้ว่าอริยชน แต่คำว่าอริยะนี้ ภาษาสันสกฤตว่าอารยะ ดังที่เรามาเรียกกันในบัดนี้ว่าอารยประเทศ หรือเรียกหลักธรรมที่ปฏิบัติสำหรับชนที่มีความเจริญหรือหมู่คนที่มีความเจริญว่าอารยธรรม ก็คือคำว่าอริยะในภาษาบาลีนั้นเอง เป็นคำเดียวกัน

อริยบุคคล
อริยชนนั้นก็มาจากปุถุชนนั้นเอง ในเบื้องต้นก็ยังเป็นปุถุชน และปุถุชนนี้เองถ้ายังมีกิเลสหนาแน่นมาก ไม่มีดวงตาที่จะเห็นธัมมะแม้ในขั้นต้นขั้นต่ำ ก็เรียกว่าอันธพาลปุถุชน ปุถุชนที่เป็นอันธพาล คือเป็นผู้เขลาเหมือนอย่างเป็นผู้บอด ไม่ใช่หมายความว่าตานอกหรือตาเนื้อบอด แต่หมายความว่าตาใจบอด คือไม่มีปัญญาที่จะรู้เห็นธัมมะแม้ที่เป็นขั้นต้นขั้นต่ำ พูดง่ายๆ ว่าไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษอะไร เมื่อปุถุชนผู้ได้สดับธัมมะของพระอริยะคือของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้มีศรัทธา ได้มีปัญญา ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ แต่ยังไม่ตัดกิเลสได้ ก็เรียกว่ากัลยาณปุถุชน ปุถุชนที่ดีงาม ต่อเมื่อตัดกิเลสได้จึงจะเรียกว่าอริยชน และสำหรับที่ตัดกิเลสได้นี้ก็ยังแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือที่ตัดกิเลสได้บางส่วนกับตัดกิเลสได้สิ้นเชิง ตัดกิเลสได้บางส่วนนั้นก็มี ๓ คือ โสดาบัน แปลว่าผู้ถึงกระแสแห่งธรรมตัดสังโยชน์ได้ ๓ สกทาคามี แปลว่าผู้มาอีกก็เพียงครั้งเดียว ก็ตัดสังโยชน์ได้ ๓ เหมือนอย่างโสดาบันนั่นแหละ แต่ทำกิเลสให้เบาบางลง คือทำราคะโทสะโมหะให้เบาบางลงยิ่งขึ้นได้อีก อนาคามี แปลว่าผู้ไม่มาอีก ที่ท่านแสดงว่าไปเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาสและนิพพานในพรหมชั้นนั้น ตัดสังโยชน์ได้ กับอรหันตบุคคลหรือพระอรหันต์ ตัดสังโยชน์ได้ ๑๐

บุคคล ๔ จำพวกนี้เรียกว่า อริยบุคคล ดังที่ได้สวดในบทสังฆคุณว่า ภควโต สาวกสงฺโฆ หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ คือคู่แห่งบุรุษบุคคล ๔ คือ บุคคล ๔ คู่ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา นับเรียงตัวก็เป็นบุรุษบุคคล ๘ บุรุษบุคคล ๔ คู่ก็คือ คู่ที่ ๑ พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค กับพระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล คู่ที่ ๒ พระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค กับพระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล คู่ที่ ๓ พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค กับพระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล คู่ที่ ๔ พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรค และพระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตผล นับรายบุคคลก็เป็น ๘ นับเป็นคู่ก็เป็น ๔ คู่ดั่งนี้ และท่านผู้ที่ได้บรรลุโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผลแล้ว ก็เรียกว่าโสดาบัน พระผู้ตั้งอยู่ในสกาทาคามิมรรคกับพระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผลแล้ว ก็เรียกว่าสกทาคามีหรือสกทาคามีบุคคล พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรคกับพระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผลแล้ว ก็เรียกว่าอนาคามีหรืออนาคามีบุคคล พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรคอรหัตผลแล้ว ก็ชื่อว่าพระอรหันต์หรืออรหันตบุคคล


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #56 เมื่อ: มิถุนายน 23, 2012, 08:39:48 pm »


              โลกุตรธรรม 

อันมรรคผลดังกล่าวกับนิพพานอีกหนึ่ง เรียกว่าโลกุตรธรรม ธัมมะที่อยู่เหนือโลกหรือธัมมะที่พ้นโลก และนิพพานอันเป็นข้อที่ ๙ นี้ ท่านเรียกว่าอนุปาทาปรินิพพานก็มี คำว่า “อนุปาทาปรินิพพาน” นี้แปลว่าปรินิพพาน คือดับกิเลสได้โดยรอบ คือดับกิเลสได้หมดสิ้น อนุปาทาไม่ยึดมั่น คือไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลกทั้งสิ้น เรียกว่าอนุปาทาปรินิพพาน แต่ก็เรียกสั้นคำเดียวว่า นิพพาน อันหมายความว่าดับกิเลส แต่ที่เป็นนิพพานอย่างสูงสุดก็คือดับกิเลสได้ทั้งหมด แต่เมื่อพิจารณาดูนิพพานที่ท่านใช้ในที่ต่างๆ แล้วก็สรุปลงได้ ว่าอันมรรคผลที่ตัดกิเลสก็ยังมีแบ่งเป็น ๒ คือตัดกิเลสได้บางอย่าง กับตัดกิเลสได้ทั้งหมด นิพพาน ก็เป็นอย่างเดียวกัน ตัดกิเลสได้บางอย่างก็เป็นนิพพาน ตัดกิเลสได้ทั้งหมดก็เป็นนิพพาน และที่ตัดกิเลสได้ทั้งหมดนี่แหละจึงเรียกว่า อนุปาทาปรินิพพาน คือดับกิเลสได้โดยรอบ ได้โดยสิ้นเชิง ไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลกทั้งหมด เพราะฉะนั้นโลกุตรธรรม ธัมมะที่อยู่เหนือโลกในพุทธศาสนานั้น จึงมี ๙ อันได้แก่มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑

อันมรรคผลนิพพานนี้ท่านแสดงไว้ว่ามรรคนั้นเมื่อตั้งเป็นมรรคจิตขึ้น ก็ดับ ผลนั้นเมื่อเป็นผลจิตขึ้น ก็ดับ ส่วนนิพพานนั้นเป็นอมตธรรม ไม่เกิดไม่ดับ เป็นธัมมะที่บรรลุถึง ตามที่ได้เคยอธิบายแล้ว ว่านิพพานนั้นตามศัพท์แปลว่าออกจากกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด คำว่าเครื่องร้อยรัดนั้นมาจากคำว่าวานะ คือนิพพานนั้นประกอบขึ้นด้วยศัพท์ว่า นิ แปลว่าออก กับวานะ แปลว่าเครื่องร้อยรัด หรืออีกอย่างหนึ่งแปลว่าลูกศร มาประกอบเป็นคำว่านิพพาน ก็แปลว่าออกจากกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดหรือว่าออกจากกิเลสที่เป็นเหมือนอย่างลูกศรเสียบแทงจิตใจ เพราะฉะนั้นเมื่อดับกิเลสได้ทั้งหมด สภาพจิตบริสุทธิ์สิ้นเชิงไม่มีกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดทั้งหมด หรือไม่มีลูกศรคือกิเลสเสียบแทงทั้งหมด ถอนลูกศรคือกิเลสเสียบแทงจิตทั้งหมดแล้ว เป็นจิตที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง ไม่มีทุกข์ด้วยประการทั้งปวง นี้คือนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพจิตที่เป็นนิรามโย ไม่มีโรคคือกิเลส ซึ่งเป็นเครื่องเสียแทงทั้งหมด เป็นจิตที่มีอนามัยสมบูรณ์ มีเสรีอย่างสมบูรณ์ คือไม่มีโรคสิ้นเชิง โรคคือกิเลสเป็นเครื่องเสียบแทงให้เจ็บช้ำลำบาก ไม่มีลูกศรเสียบแทงใจให้เป็นทุกข์ทั้งหมด สภาพจิตที่เป็นดั่งนี้เป็นสภาพจิตที่เป็นนิพพาน หรือเป็นนิพพานธรรมที่ปรากฏขึ้นในจิต ซึ่งดำรงอยู่ตลอดไป แต่ว่ามรรคนั้นทำหน้าที่กำจัดกิเลส เมื่อทำหน้าที่กำจัดกิเลสได้แล้วก็สิ้นหน้าที่มรรค ผลนั้นเล่าก็เป็นผลของการกำจัดกิเลส เมื่อเป็นผลขึ้นแล้วก็หมดหน้าที่ เพราะฉะนั้นสภาพนิพพานจึงดำรงอยู่ตลอดไป

เพราะฉะนั้นจึงมีเปรียบเทียบว่าเหมือนอย่างการเดินทางไปสู่ที่ใดที่หนึ่ง เช่นว่าการเดินทางไปสู่พระปฐมเจดีย์ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ พระปฐมเจดีย์นั้นเป็นที่ไปเพื่อนมัสการ การไปนั้นเป็นมรรค จะไปด้วยรถยนต์ จะไปด้วยรถไฟ หรือจะไปด้วยพาหนะอะไร ตลอดจนถึงเดินไปก็ตาม เป็นการไปที่เทียบได้กับมรรค การถึงพระปฐมเจดีย์เทียบได้กับตัวผล และที่ถึงคือพระปฐมเจดีย์นั้นก็คือนิพพาน อันการไปนั้นเมื่อไปจนถึงก็สิ้นหน้าที่ของการไป เรียกว่าการไปก็ดับ ก็ถึง ถึงนั้นก็มีหน้าที่เท่าที่ไปถึง เมื่อถึงแล้วก็หมดหน้าที่ของการถึง ก็เป็นอันว่าหมดหน้าที่ของผล ผลก็ดับ จึงอยู่แต่ที่ถึงคือพระปฐมเจดีย์เท่านั้น เพราะฉะนั้นการไปเมื่อถึงก็หมดหน้าที่ของการไป และเมื่อถึงแล้วก็หมดหน้าที่ของการถึง เพราะฉะนั้นท่านจึงแสดงว่ามรรคกับผลนี้เป็นสังขตธรรมธัมมะที่มีปัจจัยปรุง เพราะว่าต้องปรุงต้องแต่งคือต้องปฏิบัติ  ปุถุชนหรือสามัญชนหรือแม้แต่กัลยาณปุถุชนก็ต้องปฏิบัติ เมื่อยกเอาวิสุทธิ ๗ นี้ขึ้นเป็นทางปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติในวิสุทธิทั้ง ๗ นี้ตั้งแต่สีลวิสุทธิเป็นต้นมา จนถึงข้อที่ ๖ คือปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งข้อที่ ๖ นี้เมื่อปฏิบัติจนถึงวิปัสสนาญาณข้อที่ ๙ คือ สัจจานุโลมิกญาณ ปรีชาเป็นไปตามสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ ท่านแสดงว่าเป็นวิปัสสนาญาณซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของความเป็นปุถุชน คือเมื่อปฏิบัติในสีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ และจับปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐานจับตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิเป็นต้นมา จนถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิอันเป็นข้อที่ ๖ ซึ่งทุกข้อนี้คือตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิมาจนถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิรวมเป็น ๔ ข้อ นี้คือเป็นการปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐาน เป็นวิปัสสนาโดยตรง และเมื่อปฏิบัติมาจนถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ก็คือวิปัสสนาญาณ ๙ ถึงข้อที่ ๙ คือ สัจจานุโลมิกญาณดังกล่าวนั้น ก็เป็นอันว่าได้ถึงที่สุดของวิปัสสนาญาณในภูมิของปุถุชน


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #57 เมื่อ: มิถุนายน 23, 2012, 08:47:48 pm »


                   วิปัสสนาญาณ ๑๖ ชั้น

เมื่อได้บรรลุถึงขั้นวิปัสสนาญาณที่สุดของภูมิของปุถุชนดั่งนี้แล้ว สืบขึ้นไปจะบรรลุ โคตรภูญาณ อันแปลว่าญาณครอบโคตร อันหมายความว่าเป็นญาณที่อยู่ในระหว่างแห่งภูมิปุถุชนและภูมิอริยชน เทียบได้เท่ากับเส้นขีดคั่นพรหมแดนระหว่างประเทศ เมื่อจะก้าวข้ามประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง ก็จะต้องผ่านเส้นขีดคั่นพรหมแดนนี้ ฉันใดก็ดี ความที่จะก้าวข้ามจากภูมิปุถุชนไปสู่ภูมิอริยชนก็จะผ่านโคตรภูญาณ แปลว่าญาณครอบโคตรคือครอบระหว่างโคตรของปุถุชนกับโคตรของอริยชน โคตรก็คือโคตรตระกูลนี่แหละ ใช้ในความหมายถึงความที่จะข้ามไปจากโคตรคือภูมิปุถุชนไปสู่โคตรคือภูมิของอริยชน และท่านแสดงว่าอันที่จริงนั้นโคตรภูญาณนี้เองเท่ากับเป็นที่สุดของภูมิปุถุชนจริงๆ และวิปัสสนาญาณคือตัวโคตรภูญาณนี้ก็เป็นวิปัสสนาญาณนั้นเอง แต่เป็นวิปัสสนาญาณที่ครอบโคตร เพราะฉะนั้นจึงสูงกว่าเข้าไปสู่โคตรอริยบุคคล จึงบรรลุ มัคคญาณ คือวิปัสสนานั่นเองซึ่งเป็นตัวมรรค กำจัดกิเลสได้บางส่วนจนถึงสิ้นเชิง และเมื่อได้มัคคญาณคือวิปัสสนาญาณที่เป็นตัวมรรคกำจัดกิเลสได้ ก็ได้ ผลญาณ คือวิปัสสนาที่เป็นตัวผล และต่อจากนั้นก็ได้ ปัจจเวกขณญาณ คือญาณที่พิจารณารู้ว่ากำจัดกิเลสอะไรได้แล้ว และจะต้องกำจัดกิเลสอะไรต่อไป หรือว่ากำจัดกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว กล่าวคือเมื่อได้มัคคญาณผลญาณที่เป็นขั้นโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล สกทาคามิมรรคสกทาคามิผล อนาคามิมรรคอนาคามิผล อรหัตมรรคอรหัตผล หากได้มรรคผล ๓ ข้างต้น ปัจจเวกขณญาณก็พิจารณากิเลสที่ละได้แล้วและกิเลสที่จะละต่อไป เพราะว่ามรรคผลทั้ง ๓ ข้างต้นนั้นละกิเลสได้บางส่วนแล้ว และจะต้องละต่อไป แต่ว่าเมื่อได้อรหัตมรรคอรหัตผลแล้ว ปัจจเวกขณญาณก็พิจารณากิเลสที่ละไปแล้วทั้งหมด

มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ ทั้ง ๓ นี้เป็นโลกุตระ ก็นับรวมเข้าในวิสุทธิข้อที่ ๗ ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็น เพราะฉะนั้นญาณทัสสนวิสุทธิข้อที่ ๗ นี้ เมื่อจะกล่าวรวมทั้งหมด ก็นับตั้งแต่โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ เป็น ๔ ญาณทั้ง ๔ นี้รวมเข้าในวิสุทธิข้อที่ ๗ ญาณทัสสนวิสุทธิ และท่านได้แสดงวิปัสสนาญาณทั้งหมด คือนับจากที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้รวมเป็นญาณ ๑๖ ชั้น กล่าวคือ ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความเห็นเป็นวิปัสสนาญาณข้อแรก เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า นามรูปววัตถานญาณ ญาณเป็นเครื่องกำหนดนามรูป กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้เป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปัจจยปริคคหณญาณ หรือ ปัจจยปริคคหญาณ ญาณเป็นเครื่องกำหนดรู้เหตุปัจจัย ก็มาถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง ก็เรียกว่า มัคคามัคคญาณ หรือ สัมมสนญาณ ญาณที่เป็นเครื่องพิจารณาให้รู้ว่าทางหรือมิใช่ทาง นี่รวมเป็น ๓ กับปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นในปฏิปทาคือทางปฏิบัติ อันได้แก่วิปัสสนาญาณ ๙ ๙ กับ ๓ ก็รวมเป็น ๑๒ และมาถึงวิสุทธิข้อที่ ๗ ก็ได้ญาณ ๔ ข้อคือ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ อีก ๔ ก็รวมเป็น ๑๖ ก็ได้แก่ญาณ ๑๖ ก็เป็นวิปัสสนาญาณทั้งหมด แต่ว่าในวิสุทธิข้อ ๗ นี้ท่านมักจะยกแสดงเพียงมัคคญาณ ว่าได้แก่ญาณทัสสนวิสุทธิ อันที่จริงนั้นก็รวมเข้าทั้ง ๔ นั่นแหละ คือ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าวิสุทธิ ๕ ข้อข้างหลัง ตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิจนถึงญาณทัสสนวิสุทธินี้เป็นตัววิปัสสนาญาณทั้งหมด

และท่านได้มีแสดงเป็นอุปมาไว้ถึงญาณที่กล่าวในขั้นสูงข้างหลังนี้ ว่าเหมือนอย่างว่าเจ้าของเรือนบริโภคในเวลาเย็น ก็ขึ้นสู่ที่นอนแล้วนอนหลับไป เรือนก็ถูกไฟไหม้ขึ้นมา เจ้าของเรือนตื่นขึ้นเห็นไฟไหม้เรือนก็กลัว จึงได้คิดอยู่ว่าทำอย่างไรจึงจะออกไปได้ไม่ต้องถูกไฟไหม้ เห็นทางแล้วก็รีบหนีออกไป ก็ไปยืนอยู่ในที่ที่พ้นไฟโดยเร็ว การที่มีความยึดถืออยู่ในขันธ์ ๕ ของปุถุชนทั้งหลายว่าตัวเราของเรา ก็เหมือนอย่างเจ้าของเรือนที่บริโภคแล้ว ก็ขึ้นไปสู่ที่นอนและก็หลับไป การที่ได้มีญาณโดยที่ปฏิบัติทางปฏิบัติที่ชอบ ได้เห็นไตรลักษณ์ ได้ญาณ คือความหยั่งรู้ปรากฏว่าขันธ์ ๕ เป็นของน่ากลัว ก็เหมือนอย่างเวลาที่เจ้าของเรือนตื่นขึ้นมา เห็นไฟกำลังไหม้เรือนก็กลัว ญาณที่ทำให้ใคร่จะพ้นออกไป ก็เหมือนอย่างเจ้าของเรือนใคร่ที่จะออกไปจากเรือนที่ไฟไหม้ ก็มองเห็นทางที่จะออก สัจจานุโลมิกญาณ คือญาณที่อนุโลมแก่สัมมาปฏิปทาที่ปฏิบัติมาแล้ว และแก่อริยสัจหรือโพธิปักขิยธรรมที่จะปฏิบัติต่อไป ก็เหมือนอย่างเจ้าของเรือนเห็นทางที่จะหนีออกจากเรือนที่ไฟไหม้ โคตรภูญาณ ก็เหมือนอย่างการที่เจ้าของเรือนที่ไฟไหม้นั้นออกไปจากเรือนที่ไฟไหม้ได้ มัคคญาณ ก็เหมือนอย่างการที่ออกไปได้โดยเร็ว ผลญาณก็เหมือนการที่ออกมาได้แล้วและยืนอยู่ในที่ที่ปลอดภัย ท่านเปรียบไว้อย่างนี้


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #58 เมื่อ: มิถุนายน 24, 2012, 03:18:40 pm »


                     

โลกุตรธรรมเป็นธัมมะที่บรรลุถึงได้

คราวนี้ก็ใคร่จะได้กล่าวว่า การที่กล่าวถึงโลกุตรธรรมหรือกล่าวถึงอริยบุคคลนั้น ก็ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อเป็นดั่งนี้ก็เป็นธัมมะที่สุดเอื้อม เมื่อเป็นปุถุชนหรือเป็นสามัญชนก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ แต่อันที่จริงนั้นความเข้าใจดั่งนั้นไม่ถูก เพราะว่าการที่จะก้าวเข้าไปสู่ความเป็นอริยบุคคลบรรลุถึงโลกุตรธรรมได้ ก็ต้องปฏิบัติมาตั้งแต่ในขั้นธรรมปฏิบัติที่ยังอยู่ในขั้นโลกหรือสำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชนนั้นเอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้แสดงวิสุทธิ ๗ นี้มาตั้งแต่ในข้อ ๑ คือตั้งแต่ในข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ นี้เป็นข้อปฏิบัติสำหรับสามัญชนหรือปุถุชนทั้งนั้น และเมื่อได้ปฏิบัติขึ้นมาโดยลำดับแล้ว ก็จะก้าวขึ้นสู่ความเป็นอริยบุคคลหรือก้าวขึ้นสู่โลกุตรธรรมได้เอง เพราะฉะนั้นท่านจึงแสดงถึงโคตรญาณ ก็แปลว่าต้องก้าวขึ้นมาโดยลำดับๆ เหมือนอย่างจะก้าวจากเขตประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งก็ต้องเดินไปโดยลำดับ เมื่อถึงเส้นกั้นเขตแดนอันเป็นโคตรภูญาณ ก็เป็นอันว่าก้าวข้ามเส้นนี้แล้ว ก็ไปสู่อริยภูมิ ไปสู่โลกุตรธรรมได้โดยลำดับ ก็เป็นขั้นตอนของการปฏิบัตินั้นเอง รวมความเข้าแล้วเวไนยชนคือชนที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำได้ก็พึงปฏิบัติได้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบวิสุทธิ ๗ นี้ไว้อีกอย่างหนึ่ง ว่าเหมือนอย่างเป็นรถ ๗ ผลัด คือมาจาก รถวินีตสูตร ที่พระสารีบุตรเถระได้สนทนากับพระปุณณมันตานีบุตร พระสารีบุตรได้ถามท่านพระปุณณมันตานีบุตร ว่าท่านประพฤติพรหมจรรย์เพื่อสีลวิสุทธิหรือ ท่านพระปุณณมันตานีบุตรก็ตอบว่าไม่ใช่ พระสารีบุตรก็ถามไปทีละข้อว่าเพื่อจิตวิสุทธิหรือเป็นต้นไปจนถึงข้อญาณทัสสนวิสุทธิ ว่าท่านปฏิบัติเพื่อญาณทัสสนวิสุทธิหรือ ท่านก็ตอบว่าไม่ใช่ คราวนี้ท่านพระสารีบุตรก็ถามอีก ว่าท่านปฏิบัติเว้นไปจากหรือนอกไปจากวิสุทธิทั้ง ๗ นี้หรือ ท่านพระปุณณะท่านก็ตอบว่าไม่ใช่อีกเหมือนกัน ท่านพระสารีบุตรก็ถามต่อไป ว่าถ้าเช่นนั้นท่านปฏิบัติพรหมจรรย์นี้เพื่ออะไร ท่านพระปุณณะก็ตอบว่าเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน คือเพื่อความดับกิเลสโดยรอบคือสิ้นเชิงทั้งหมด ไม่ยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งหมด ท่านพระสารีบุตรจึงถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อท่านถามว่าท่านปฏิบัติเพื่อสีลวิสุทธิหรือ ก็ตอบว่าไม่ใช่ เมื่อถามไปทุกข้อทั้ง ๗ ข้อท่านก็ตอบว่าไม่ใช่ และเมื่อท่านถามอีกว่าท่านปฏิบัตินอกไปจากหรือเว้นจากวิสุทธิ ๗ นี้หรือ ท่านก็บอกว่าไม่ใช่อีก ท่านอธิบายอย่างไร

ท่านพระปุณณมันตานีบุตรก็ตอบว่าคือว่า การปฏิบัติพรหมจรรย์นี้มิใช่ยุติลงแค่วิสุทธิข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น แต่เพื่อให้ส่งต่อๆ กันขึ้นไปจนถึงอนุปาทาปรินิพพานเป็นที่สุด และที่ท่านตอบว่าท่านปฏิบัติไม่นอกไปจากทั้ง ๗ ข้อนี้ ก็หมายความว่าท่านก็ต้องปฏิบัติอยู่ในทั้ง ๗ ข้อนี้โดยลำดับนั้นเอง แต่ว่าไม่ใช่พอเพียงเท่านั้น แต่ว่าเพื่อให้บรรลุอนุปาทาปรินิพพานเป็นที่สุด และถ้าหากว่าท่านตอบว่าไม่ใช่แล้ว ก็เป็นอันว่าไม่ต้องปฏิบัติกัน เมื่อไม่ต้องปฏิบัติกันแล้ว ใครๆ ก็บรรลุอนุปาทาปรินิพพานกันได้ แต่ว่าไม่ใช่เช่นนั้น ต้องปฏิบัติ แต่ว่าไม่ใช่ยุติลงเพียงข้อใดข้อหนึ่งเพียงเท่านั้น คือไม่ใช่พอเพียงเท่านั้น แต่ว่าต้องให้ส่งต่อๆ กันขึ้นไปจนถึงอนุปาทาปรินิพพานเป็นที่สุด
จึงเปรียบเหมือนอย่างการเดินทางด้วยรถ ๗ ผลัดของพระเจ้ากรุงสาวัตถี คือเมื่อพระเจ้ากรุงสาวัตถีจะเสด็จจากกรุงสาวัตถีไปสู่เมืองสาเกตโดยรถม้าพระที่นั่ง ก็จะต้องเปลี่ยนกันถึง ๗ ผลัด คราวนี้เมื่อเสด็จโดยรถม้าพระที่นั่งผลัดที่ ๑ ไปจนถึงผลัดที่ ๒ ก็ขึ้นรถม้าพระที่นั่งผลัดที่ ๒ ก็เรื่อยๆ ไปดั่งนี้จนถึงผลัดที่ ๗ ก็เสด็จขึ้นรถม้าพระที่นั่งผลัดที่ ๗ ก็ไปถึงประตูเมืองสาเกต ก็ลงจากรถม้าพระที่นั่งเข้าสู่เมืองสาเกต ฉันใดก็ดี การปฏิบัติในวิสุทธิทั้ง ๗ ข้อนี้ก็ต้องปฏิบัติไปทั้ง ๗ ข้อโดยลำดับ จนถึงข้อที่ ๗ ก็จะบรรลุต่อไปถึงอนุปาทาปรินิพพานอันเป็นข้อที่สุดของพรหมจรรย์ท่านสอนไว้ดั่งนี้

เพราะฉะนั้นในพรรษากาลนี้ได้สอนลักษณะพุทธศาสนามาโดยลำดับจนถึงวิสุทธิ ๗ ก็เป็นการที่กล่าวลักษณะพุทธศาสนาในด้านสรุปเข้าในไตรสิกขา คือสีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา อันสีลสิกขานั้นก็ได้แก่การปฏิบัติทำศีลให้บริสุทธิ์เป็นสีลวิสุทธิ จิตตสิกขาเป็นการปฏิบัติทำจิตให้บริสุทธิ์เป็นจิตตวิสุทธิ ปัญญาสิกขานั้นก็ได้แก่ตัววิปัสสนาปัญญาอันได้แก่วิสุทธิอีก ๕ ตั้งแต่ทิฏฐิวิสุทธิจนถึงญาณทัสสนวิสุทธิ ก็เป็นอันว่าหลักปฏิบัติเหล่านี้เป็นหลักปฏิบัติจิตตภาวนา จะเป็นเครื่องอบรมจิต ทำจิตนี้ให้บริสุทธิ์จากอุปกิเลส คือกิเลสที่เข้ามาทำจิตให้เศร้าหมองไป

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ถึงจิตตภาวนาว่า
จิตนี้เป็น ธรรมชาติประภัสสร คือผุดผ่อง
จิตนี้เศร้าหมองไปด้วย อุปกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองที่ จร เข้ามา
อันทำจิตให้เศร้าหมอง จิตนี้บริสุทธิ์หมดจด หลุดพ้นได้ จาก อุปกิเลส
พระองค์ตรัสอริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว ว่าเป็นผู้มี จิตตภาวนา


เพราะฉะนั้นก็เป็นอันยุติการอบรมในพรรษากาลนี้ในวันนี้เพียงเท่านี้
ก็ขอให้มีความเจริญในพระธรรมวินัย ในสัมมปฏิบัติ
พร้อมด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ยิ่งๆ ขึ้นไปทุกท่านเทอญ

๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๖






เรียนขออนุญาต ท่านผู้คัดลอก นำมาแบ่งปันค่ะ...
... sirivajj - http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=visutthisiri&date=18-02-2011&group=19&gblog=11
* Agaligo Home บ้านที่แท้จริง อกาลิโก โฮม
กุศลผลบุญใดที่พึงบังเกิดจากธรรมทานนี้ ขอจงเป็นบุญเป็นปัจจัย
แด่ท่านผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในธรรมทานนี้ ทุกๆท่าน
รวมทั้งท่านเจ้าของภาพ ทุกๆภาพ เรียนขออนุญาตใช้ภาพ
ไว้ ณ ที่นี้... นะคะ

อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 26, 2012, 12:34:52 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #59 เมื่อ: มิถุนายน 24, 2012, 03:42:11 pm »




ลักษณะพระพุทธศาสนา

ชื่อหนังสือ   ๐   ลักษณะพระพุทธศาสนา
ผู้แต่ง   ๐   สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ  สุวฑฺฒโน)
จำนวนหน้า   ๐   208  หน้า ราคา   ๐   45  บาท
ปีที่พิมพ์/ครั้งที่พิมพ์   ๐   5/2540

เป็นพระนิพนธ์เกี่ยวกับวิปัสสนา  16  ชั้น 
มีอรรถรสควรแก่ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติธรรม 
จะทำให้มีความเข้าใจพระพุทธศาสนากว้างขวางยิ่งขึ้น.

สารบาญ

ทบทวนคำสอนนาค
นิสสัย 4
ปาริสุทธิศีล 4
ลักษณะพุทธศาสนา
ลักษณะพุทธศาสนา - อริยสัจ

ลักษณะพุทธศาสนา - พระรัตนตรัย
ลักษณะพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับกายจิต
ลักษณะพุทธศาสนา - สังสารวัฏ
ลักษณะพุทธศาสนา - สังขตธรรมและอสังขตธรรม
ลักษณะพุทธศาสนา - การรับรู้อารมณ์ของจิต

ลักษณะพุทธศาสนา - กิเลส
ลักษณะพุทธศาสนา - วัฏฏะของกิเลส
ลักษณะพุทธศาสนา - จิตตภาวนา
ลักษณะพุทธศาสนา - วิสุทธิ 7 ข้อสีลวิสุทธิ

ลักษณะพุทธศาสนา ธรรมบรรยายพิเศษเรื่องชาติ - ความเกิด
ลักษณะพุทธศาสนา - ทิฏฐิวิสุทธิ  เป็นต้น

-http://mahamakuta.inet.co.th/T-BOOK/P-127.html