เรื่องของพระกริ่งปวเรศ
บาตรน้ำมนต์หลวงปู่กรมพระยาปวรศ
และขันสาครหลวงปู่กรมพระยาปวเรศ
สำหรับพระกริ่งปวเรศ เนื้อสเตอร์ริงซิลเวอร์ และ เนื้อทองคำ
ท่านผู้ให้สร้างพระกริ่งปวเรศ เป็นไวยาวัจกร และ กลุ่มศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่กรมพระยาปวเรศ
ปีที่สร้างคือ ปี พ.ศ.2434 สร้างที่ทวีปยุโรป (ประเทศฝรั่งเศษ อาจจะมีประเทศอังกฤษ และ ประเทศอิตาลี ด้วย)
เรื่องของเนื้อ จะประกอบไปด้วยเนื้อเงินสเตอร์ริงเป็นหลักใหญ่ครับ
.
.
.
พระกริ่งปวเรศ เนื้อทองคำ ที่ผมเคยนำไปสแกนมา
องค์นี้แท้ครับ
ทองคำ 65.30 %
เงิน 16.80 %
ทองแดง 17.80 %
น้ำหนัก 28.77 กรัม
สัมฤทธิ์ตอนที่ 1
คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง
โดย แทน ท่าพระจันทร์
สวัสดี ครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน มีท่านผู้อ่านได้ถามมาถึงเรื่องเนื้อโลหะผสมและเนื้อสัมฤทธิ์กันมาก ซึ่งความจริงผมเองเคยได้เขียนถึงโลหะสัมฤทธิ์ตามสูตรโบราณไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่บางท่านยังไม่ได้อ่านจึงขอให้เขียนถึงอีกครั้ง จึงได้นำเอาของเก่ามาเล่ากันใหม่ครับ แต่จะไม่เหมือนกับครั้งที่แล้วทุกตัวอักษรเพราะผมไม่ได้เก็บต้นฉบับไว้ เขียนใหม่กันสดๆ แต่สูตรของโลหะยังคงเดิมตามแบบโบราณทุกประการ โดยขอนำข้อความบางตอนที่ท่านอาจารย์ ตรียัมปวายได้เคยเขียนไว้มาให้อ่านกันครับ
คำว่าสัมฤทธิ์ตาม พจนานุกรม หมายความว่า น. ความสำเร็จ ถ้าหมายถึงโลหะก็จะหมายถึงโลหะเจือชนิดหนึ่งประกอบด้วยทองแดงกับดีบุก ทองสัมฤทธิ์หรือสัมฤทธิ์ ก็เรียก เขียนว่าสำริดก็มี
โลหะผสมที่นำ มาสร้างพระพุทธรูปหรือพระรูปหล่อลอยองค์ โดยมากใช้โลหะธาตุทองแดงผสมกับดีบุกและโลหะธาตุอื่นๆ แล้วแต่จะผสมกันไปตามสูตรของใครของมัน และในปัจจุบันเรียกกันว่า "เนื้อสัมฤทธิ์" แต่ถ้าจะพูดถึงโลหะสัมฤทธิ์ตามสูตรโบราณแท้ๆ นั้นเขามีหลักมีเกณฑ์ในการผสมโลหะ และเพื่อให้เป็นสิริมงคล จึงได้ใช้คำเรียกโลหะผสมชนิดนี้ว่า "สัมฤทธิ์" ซึ่งหมายถึงการสัมฤทธิ์ผล หรือสัมฤทธิ์ประโยชน์ตามความปรารถนา ทั้งนี้หมายความถึง ความสำเร็จนับแต่เริ่มต้นในการผสมโลหะตามสูตร การลงอักขระเลขยันต์ให้สำเร็จเป็นอิทธิวัตถุ บังเกิดเป็นมงคลและความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และในประการสุดท้ายเมื่อนำอิทธิวัตถุสำเร็จไปใช้แล้ว ก็ย่อมจะอำนวยให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ปรารถนาได้ อาจสรุปได้ว่า แม้เพียงแต่การผสมโลหะต่างๆ ตามมูลสูตร แผ่เป็นแผ่นลงอักขระเลขยันต์ แล้วหล่อหลอมรวมกัน ก็ถือได้ว่าเป็นของวิเศษสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องรางของขลังได้ทันที ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า โลหะสัมฤทธิ์เป็นมงคลโลหะที่เหมาะสมที่สุดแก่การที่จะนำมาสร้างเป็นองค์พระ ปฏิมา
โลหะสัมฤทธิ์ตามโบราณ ซึ่งใช้โลหะธาตุบริสุทธิ์ต่างๆ ตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไปและอย่างมากที่สุดจะไม่เกิน 9 ชนิด หล่อหลอมผสมกันตามอัตราส่วนสำเร็จขึ้นมาเป็นโลหะชนิดใหม่เรียกว่า "สัมฤทธิ์" อย่างไรก็ดีโลหะสัมฤทธิ์จะต้องใช้โลหะตระกูลสูง 2 ชนิด คือ ทองคำและเงิน เป็นส่วนผสมหลักอยู่ด้วยเสมอ มิฉะนั้นจะไม่ถือว่าเป็นโลหะสัมฤทธิ์ นอกจากนี้จะต้องมีโลหะยืนโรงอีกชนิดหนึ่ง คือทองแดง ซึ่งจะต้องใช้มากเพื่อให้ได้ปริมาณ
ตระกูลของสัมฤทธิ์ที่ถูกต้องตามสูตรโบราณมีอยู่ 5 ตระกูล คือ สัมฤทธิ์ผล สัมฤทธิ์โชค สัมฤทธิ์ศักดิ์ สัมฤทธิ์คุณ และสัมฤทธิ์เดช รวมเป็นสัมฤทธิ์ 5 ตระกูล อันมีความพิสดารดังต่อไปนี้
1. สัมฤทธิ์ผล คือสัมฤทธิ์แดง หรือ ตริยโลหะ มีมงคลความหมายถึง พระรัตนตรัยเป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อสาม ผสมด้วยโลหะธาตุ 3 ชนิด คือ ทองแดง เป็นส่วนใหญ่และเจือด้วยเงินกับทองคำ สัมฤทธิ์ตระกูลนี้มีวรรณะแดงคล้ายนาก แต่มีผิวเจือด้วยวรรณะคล้ำๆ คล้ายสีมะขามเปียก โบราณถือว่าเป็นมงคลวัตถุ อำนวยผลนานาประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเมตตามหานิยม พระพุทธรูปสมัยอู่ทองโดยเฉพาะพระพุทธรูปอู่ทองหน้าแก่มักสร้างด้วยเนื้อนี้
2. สัมฤทธิ์โชค คือสัมฤทธิ์เหลือง หรือปัญจโลหะ เป็นโบราณนิยามหมายถึงเบญจขันธ์ (ขันธ์ 5) คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อห้า ได้แก่ ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี เงิน ทองคำ มีวรรณะเหลืองคล้ายเนื้อกลองมโหระทึก หรือขันลงหิน มีแววนกยูงภายในเนื้อ เป็นสัมฤทธิ์ที่ให้คุณหนักไปทางด้านลาภผล กับความสำเร็จ พระพุทธรูปสกุลช่างสุโขทัยบางยุคและพระเชียงแสน พระชัยวัฒน์ของสมเด็จพระสังฆราชแพ บางรุ่น และพระกริ่งพระชัยวัฒน์ของท่านเจ้าคุณศรีสนธิ์บางรุ่นก็สร้างด้วยเนื้อนี้
วันนี้หมดหน้ากระดาษพอดี พรุ่งนี้ผมจะเล่าต่อเรื่องเนื้อสัมฤทธิ์ศักดิ์ สัมฤทธิ์คุณและสัมฤทธิ์เดชจนจบครับ
ด้วยความจริงใจ
แทน ท่าพระจันทร์
จากนสพ ข่าวสด
สัมฤทธิ์ตอนที่ 2
คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง
แทน ท่าพระจันทร์
สวัสดี ครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เราก็มาคุยเรื่องของโลหะเนื้อสัมฤทธิ์กันต่อ เมื่อวันก่อนก็ได้คุยกันถึงสัมฤทธิ์ผล และสัมฤทธิ์โชคกันไปแล้ว สัมฤทธิ์ที่เหลืออีก 3 เนื้อก็คือสัมฤทธิ์ศักดิ์ สัมฤทธิ์คุณ และสัมฤทธิ์เดช มาว่ากันต่อเลยนะครับ
3. สัมฤทธิ์ศักดิ์ คือสัมฤทธิ์ขาว หรือสัตตโลหะ เป็นมงคลนามหมายถึง โพชฌงค์ 7 คือ องค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ มี 7 ประการ ได้แก่ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา สัมฤทธิ์ศักดิ์เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเจ็ด ประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ปรอท เหล็กละลายตัว เงิน และทองคำ สัมฤทธิ์ตระกูลนี้มีวรรณะหม่นคล้ำน้อยๆ แต่มีแวววรรณะขาวผสมผสานอยู่ นับถือกันว่าอำนวยผลในด้านอำนาจ มหาอุด คงกระพัน แคล้วคลาด
4. สัมฤทธิ์คุณ คือสัมฤทธิ์เขียว หรือนวโลหะ หมายถึงนัยของธรรมอันสูงสุดในพระศาสนา อันได้แก่ นวโลกุตรธรรม อันมี มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 สัมฤทธิ์คุณเป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเก้า เช่นเดียวกับสัมฤทธิ์เดช ประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ปรอท เหล็กละลายตัว ชิน จ้าวน้ำเงิน เงิน และทองคำ แต่สัมฤทธิ์ตระกูลนี้แก่ส่วนผสมของเนื้อเงินมากกว่าธรรมดา ฉะนั้น เนื้อภายในจึงมีวรรณะสีจำปาอ่อนหรือนากอ่อน แต่ผิวเนื้อเมื่อกลับคล้ำเพราะถูกไอเหงื่อ จะมีวรรณะคล้ำเจือเขียวเตยหม่นแกมเหลืองอ่อนคล้ำมีแววขาวโดยตลอดเนื้อ สัมฤทธิ์ชนิดนี้อำนวยคุณวิเศษเช่นเดียวกับสัมฤทธิ์เดชทุกประการ
5. สัมฤทธิ์เดช คือสัมฤทธิ์ดำ หรือนวโลหะ เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเก้า เช่นเดียวกับสัมฤทธิ์คุณ แต่มีสัดส่วนการผสมได้เกณฑ์ถูกต้องตามมูลสูตรมากที่สุด ดังนั้นภายในจึงมีวรรณะจำปาแก่ หรือสีนากแก่ ผิวเนื้อเมื่อกลับคล้ำเพราะต้องไอเหงื่อ จะดำสนิท ประหนึ่งนิลดำ เรียกกันว่า "สัมฤทธิ์เนื้อกลับ" โบราณถือว่าสัมฤทธิ์นวโลหะทั้ง 2 ประเภทนี้ เป็นสัมฤทธิ์ที่สมบูรณ์ที่สุด หรือเป็นยอดของสัมฤทธิ์ อำนวยผลในด้านมหาอุตม์อันสูงส่ง คืออำนาจตะบะเดชะ มหานิยม ลาภผล ความสำเร็จ คงกระพัน แคล้วคลาด ทุกประการ สูตรผสมเนื้อสัมฤทธิ์เดช หรือนวโลหะ ที่เป็นตำรับของสมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว ยุคกรุงศรีอยุธยา ตกทอดมาอยู่กับ สมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ พระพุฒาจารย์มา ครั้งยังเป็นพระมงคลทิพยะมุนี วัดจักรวรรดิฯ และสมเด็จพระสังฆราช แพ วัดสุทัศน์ ครั้งยังเป็นพระเทพโมลีตามลำดับ เกณฑ์อัตราส่วนผสมของโลหะทั้ง 9 ชนิด มีดังนี้
1) ชิน หนัก 1 บาท
2) จ้าวน้ำเงิน หนัก 2 บาท
3) เหล็กละลายตัว หนัก 3 บาท
4) ตะกั่วเถื่อน หนัก 4 บาท
5) ปรอท หนัก 5 บาท
6) สังกะสี หนัก 6 บาท
7) บริสุทธิ์ (ทองแดงเถื่อน) หนัก 7 บาท
เงิน หนัก 8 บาท
9) ทองคำ หนัก 9 บาท
เนื้อ ทองสัมฤทธิ์เดชนี้ เราจะเห็นได้ว่า ส่วนผสมใช้ทองคำมากกว่าโลหะอื่นๆ ซึ่งหนักถึง 9 บาท จึงจะได้น้ำหนักของเนื้อสัมฤทธิ์เดชเพียง 45 บาทเท่านั้น ซึ่งก็จะสร้างเป็นองค์พระไม่ได้มากนัก ในปัจจุบันจึงไม่มีใครกล้าทำเนื้อทองสัมฤทธิ์เดช ซึ่งเป็นนวโลหะจริงๆ ตามสูตรโบราณเนื่องจากจะสิ้นเปลืองมาก
การสร้างพระเครื่องและ เหรียญในปัจจุบันนี้ได้ทำให้คนเข้าใจผิดกันมาก โดยเรียกโลหะผสมชนิดเนื้ออ่อนๆ ชนิดหนึ่งว่าเป็นเนื้อนวโลหะ และเรียกโลหะผสมชนิดเนื้อกลับว่า เป็นเนื้อสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นการตรงกันข้าม เพราะคำว่านวโลหะ หมายถึงเนื้อทองสัมฤทธิ์เนื้อเก้าตามแบบโบราณเท่านั้น
ครับ เรื่องของเนื้อทองสัมฤทธิ์ก็มีเท่าที่เล่ามานี้แหละครับ ส่วนเนื้อโลหะอื่นๆ ที่นำมาสร้างพระเครื่องก็ยังมีอีกมาก เช่นเนื้อชิน เนื้อเมฆพัด เนื้อเมฆสิทธิ์ และเนื้ออัลปาก้าเป็นต้น ซึ่งถ้ามีโอกาสก็ค่อยมาเล่าสู่กันฟังใหม่นะครับ วันนี้เอาแค่นี้ก่อนครับ
ด้วยความจริงใจ
แทน ท่าพระจันทร์
ที่มา นสพ ข่าวสด
.