ประชาสัมพันธ์ > การเตือนภัยสังคมและกลุ่มมิจฉาชีพต่างๆ
ระวังถูกหลอกและเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ของใกล้ตัว
sithiphong:
หนี้บัตรเครดิต...เรื่องสำคัญที่คนใช้บัตรเครดิตต้องเข้าใจ
โพสต์เมื่อ : 2 กรกฎาคม 2558 เวลา 11:12:09
หนี้บัตรเครดิต...เรื่องสำคัญที่คนใช้บัตรเครดิตต้องเข้าใจ
-http://money.kapook.com/view123030.html-
หนี้บัตรเครดิต เป็นแล้วสิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้คืออะไร ผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้จะร้ายแรงแค่ไหน ติดตามได้จากบทความนี้
หนี้บัตรเครดิต ที่หลายคนก่อไว้มาจากเหตุผลแตกต่างกันออกไป บางคนเกิดจากการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยเกินฐานะความจำเป็น อยากได้สิ่งของราคาแพงแต่ไม่มีเงิน จึงต้องนำเงินในอนาคตมาใช้ แต่บางคนก็ต้องแบกรับภาระหลายทางไหนจะค่าเทอมลูก ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ดังนั้นภาระความจำเป็นของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่ทุกสาเหตุนำไปสู่ผลลัพธ์เดียวกันคือ การเป็นหนี้ ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่บวกกับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่สุดโหดทำให้หลายคนเกิดอาการเบี้ยวหนี้ พอเป็นหนี้แล้วไม่จ่ายหนี้ เจ้าหนี้เขาก็ทวง พอทวงไม่ได้ก็ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันไป แต่มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ จะเอาเวลาไหนไปศึกษากฎหมายบัตรเครดิต วันนี้กระปุกดอทคอมจึงนำข้อควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ หนี้บัตรเครดิต มาบอกให้ทำความเข้าใจไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหนี้ ว่าแล้วก็ไปเริ่มกันเลย
หากถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้อง คดีที่เกี่ยวกับหนี้บัตรเครดิต ถือเป็นคดีประเภทใด
ในกรณีที่คุณเป็นหนี้บัตรเครดิตตามกฎหมายจะถือเป็น คดีแพ่ง ส่วนโทษในคดีแพ่งจะมีเพียงการชำระหนี้และชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น
หากถูกฟ้องจะต้องขึ้นศาลอะไร ที่ไหน
กรณีที่เป็นคดีเกี่ยวกับหนี้บัตรเครดิตจะเข้าข่ายคดีเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคล ซึ่งสถานที่ที่เจ้าหนี้สามารถยื่นฟ้องลูกหนี้ ได้แก่ 1. ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล 2. ศาลที่มูลคดีเกิด (ที่ตั้งของสถาบันการเงินที่ลูกหนี้ได้ไปรับบัตรเครดิต)
ส่วนการจะฟ้องที่ศาลใดจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ดูประเภทของคดีก่อนว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด
2. ดูทุนทรัพย์ของคดีว่าอยู่ในอำนาจศาลจังหวัดหรือศาลแขวง
เช่น ศาลจังหวัด จะพิจารณาคดีแพ่งที่มีจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาที่พิพาทเกินกว่า 300,000 บาท
ส่วนศาลแขวง จะพิจารณาคดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกิน 300,000 บาท
คดีบัตรเครดิตจะเริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อใดและมีอายุความกี่ปี
ในคดีบัตรเครดิตโดยทั่วไปเมื่อเจ้าหนี้ได้แจ้งกำหนดการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ทราบแล้ว เมื่อถึงกำหนดลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด อายุความจะเริ่มนับทันทีในวันถัดไป ส่วนคดีหนี้บัตรเครดิตจะมีอายุความทั้งสิ้น 2 ปี
เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ได้หรือไม่
คำตอบคือ ได้ โดยเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี หากลูกหนี้ไม่ชำระคืนตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน เจ้าหนี้มีสิทธิ์ยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิ์เรียกร้องของลูกหนี้ได้ โดยศาลจะตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อออกหมายยึดและอายัดต่อไป ดังนี้
1. ทรัพย์สินที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น โต๊ะกินข้าว เก้าอี้ โทรทัศน์ เครื่องครัว มูลค่ารวมกัน 50,000 บาทแรก ห้ามเจ้าหนี้ยึด แต่ถ้าเป็นสร้อย แหวน นาฬิกา ของเหล่านี้แม้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของลูกหนี้ แต่เจ้าหนี้ก็มีสิทธิ์ยึดได้เพราะไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต
2. ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินของลูกหนี้ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร (ถ้าประกอบธุรกิจรับถ่ายเอกสาร) ถ้ามูลค่ารวมกัน 100,000 บาทแรก ห้ามเจ้าหนี้ยึด ในกรณีที่เครื่องมือประกอบอาชีพมีราคาสูงกว่า 100,000 บาท และจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ก็สามารถขอต่อศาลได้
ข้อควรรู้ หากมีเจ้าหนี้หลายราย ทรัพย์ใดถูกยึดไปแล้ว ห้ามเจ้าหนี้รายอื่นมายึดซ้ำ เจ้าหนี้รายใดยึดก่อนก็ได้สิทธิ์ก่อน
เจ้าหนี้สามารถทำเรื่องขออายัดเงินเดือนของลูกหนี้ได้หรือไม่
ข้อนี้อาจะยาวเสียหน่อย แต่คนที่เป็นหนี้บัตรเครดิตควรจะทราบไว้เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการรายได้ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันกรณีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ทำเรื่องขออายัดเงินเดือนครับ ถ้าลูกหนี้เพิกเฉยไม่ยอมติดต่อเจ้าหนี้ ไม่ยอมใช้หนี้ หรือตกลงเรื่องการจ่ายเงินไม่ได้ ทนายของฝ่ายเจ้าหนี้ก็อาจจะทำเรื่องขอยึดทรัพย์ หรืออายัดเงินเดือนได้
สำหรับเกณฑ์การอายัดเงินเดือนของกรมบังคับคดี หากลูกหนี้เป็นข้าราชการ/ลูกจ้างประจำของข้าราชการจะไม่ถูกอายัดเงินเดือน หากลูกหนี้เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง หรือเป็นพนักงานบริษัท ฯลฯ จะถูกอายัดเงินเดือน โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. อายัดเงินเดือนไม่เกิน 30 %
ลูกหนี้เงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาท (อายัดไม่ได้)
ลูกหนี้เงินเดือนเกิน 10,000 บาท อายัดได้ 30 % แต่จะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท
หากลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่ารักษาพยาบาล สามารถนำหลักฐานไปขอลดหย่อนที่กรมบังคับคดีเพื่อให้ลดเปอร์เซ็นต์การอายัดเงินเดือนได้
2. เงินโบนัส จะถูกอายัดไม่เกิน 50 %
3. เงินตอบแทนการออกจากงาน จะถูกอายัด 100 %
4. เงินค่าตอบแทนต่าง ๆ ค่าสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตำแหน่ง เจ้าหนี้จะสืบทราบและทำการร้องขอต่อศาลว่าจะอายัดเท่าไร
5. บัญชีเงินฝาก (อายัดได้)
6. เงิน กบข. (อายัดไม่ได้)
7. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทำกับบริษัท (อายัดไม่ได้) (พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ)
แต่ถ้าทำกองทุนต่าง ๆ กับธนาคารต้องดูตามหลักเกณฑ์ของกองทุนว่าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้หรือไม่ และมีข้อห้ามการบังคับคดีหรือไม่ ถ้าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ และไม่มีข้อห้ามก็จะอายัดได้
8. เงินค่าวิทยฐานะ (ค่าตำแหน่งทางวิชาการ) ถ้าเป็นข้าราชการจะไม่ถูกอายัด แต่ถ้าเป็นสังกัดเอกชนจะถูกอายัด เพราะถือว่าเป็นเงินเดือน
9. หุ้น กรมบังคับคดีสามารถยึดใบหุ้นเพื่อขายทอดตลาดได้ หรือถ้ามีเงินปันผล ก็จะทำเรื่องอายัดเงินปันผลได้
10. เงินสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานบริษัท หากเจ้าหนี้สืบทราบว่าเป็นสมาชิกสหกรณ์ใด สามารถอายัดเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน เงินค่าหุ้นสหกรณ์ได้
11. ร่วมทุนกับผู้อื่นเปิดบริษัท หากผู้ร่วมลงทุนมีปัญหาถูกอายัดทรัพย์ กรมบังคับคดีจะอายัดเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกอายัดเท่านั้น ไม่ได้อายัดทั้งหมด อาจดูเฉพาะส่วนของเงินปันผล ใบหุ้น ฯลฯ ของผู้ถูกอายัด
การถูกอายัดเงินเดือน กรมบังคับคดีจะอายัด 30% จากเงินเดือนเต็ม ก่อนหักภาษีและประกันสังคม
กรณีคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์สินภายในบ้านได้หรือไม่
ถ้าเป็นกรณีที่เป็นสามีภรรยาโดยถูกต้องตามกฎหมาย ให้ถือว่าทรัพย์สินภายในบ้านเป็นสินสมรส เจ้าหนี้มีสิทธิ์นำชี้แถลงยืนยันต่อ เจ้าพนักงานบังคับคดี พร้อมนำส่งเอกสารประกอบการยึดทรัพย์ได้ หากทรัพย์ภายในบ้านเป็นสินสมรสจริง
ในกรณีที่ลูกหนี้เสียชีวิตใครจะเป็นผู้รับผิดชอบภาระหนี้สินดังกล่าว
หลายคนอาจสงสัยว่าหากเจ้าหนี้เสียชีวิตลง ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินที่ผู้ตายได้ก่อไว้ก่อนเสียชีวิต เรื่องนี้มีคำตอบครับ ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับหนี้สินกันก่อนซึ่งตามกฎหมายระบุไว้ว่า "หนี้" ถ้าคนไหนก่อคนนั้นก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบครับ คนอื่นไม่เกี่ยว ดังนั้นชัดเจนแล้วว่า คนอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายไม่ต้องเป็นกังวลไปนะครับว่าจะโดนทวงหนี้ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ความเป็นหนี้จะสิ้นสุดลงตามการตายของลูกหนี้ คนมีหนี้ก็ต้องใช้หนี้กันไป โดยกฎหมายระบุไว้ว่า เมื่อลูกหนี้ได้เสียชีวิตลง เจ้าหนี้ก็จะต้องไปทวงหนี้เอาจากกองมรดกของลูกหนี้เท่านั้นครับ แต่ถ้าหากลูกหนี้ไม่มีมรดกก่อนตายก็จบครับเป็นอันว่า “เจ้าหนี้ก็ไม่ได้รับชำระหนี้คืนเลย”
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ดูเหมือนลูกหนี้จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ฝ่ายเดียว แต่อย่าเพิ่งหมดกำลังใจไป ในทางปฏิบัติแล้วยังพอมีหนทางที่ลูกหนี้จะสามารถเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ได้ซึ่งกระปุกดอทคอมขอยกมา 3 วิธี ได้แก่ การประนอมหนี้ การโอนหนี้บัตรเครดิต และการปรับโครงสร้างหนี้
การประนอมหนี้
การประนอมหนี้ คือ การที่เจ้าหนี้ยินยอมลดจำนวนหนี้สินลง หรืออาจจะยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ เพื่อให้ลูกหนี้ได้ผ่อนชำระในจำนวนเงินที่น้อยลงสมกับสถานะทางการเงินปัจจุบันของลูกหนี้ ส่วนจำนวนหนี้ที่ยอมลดให้จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการต่อรองระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ แม้ว่าบางครั้งเจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้ไม่สูงแต่ถือว่าดีกว่าไปฟ้องร้อง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายทางศาล และเป็นการรักษาชื่อเสียงของเจ้าหนี้ว่าเจ้าหนี้รายนั้นไม่ใช่เจ้าหนี้หน้าเลือด
การโอนหนี้บัตรเครดิต
ส่วนใหญ่เวลาคนเป็นหนี้บัตรเครดิตมักเกิดจากหนี้จากบัตรเครดิตหลาย ๆ ใบ ทำให้ต้องชำระหนี้หลายช่องทางพ่วงด้วยอัตราดอกเบี้ยตามจำนวนบัตรที่ถือ ซึ่งภาระเรื่องดอกเบี้ยนี่แหละที่เป็นตัวการใหญ่ของปัญหาหนี้บัตรเครดิต ดังนั้นจึงมีหลายสถาบันการเงินที่รับโอนหนี้ ซึ่งการโอนหนี้ก็คือ การถ่ายโอนหนี้ค้างชำระจากสถาบันการเงินเดิมไปรวมไว้ยังสถาบันการเงินแห่งใหม่ ซึ่งลูกหนี้จะสะดวกในการรวมชำระหนี้ให้เป็นแห่งเดียว และจะทำให้ดอกเบี้ยลดลง ง่ายต่อการชำระหนี้มากขึ้น
ลูกหนี้สามารถเลือกผ่อนชำระได้นานขึ้นทำให้มีเวลาในการตั้งตัวและหาเงินมาใช้หนี้ รวมไปถึงช่วยลดภาระการชำระหนี้ต่อเดือน เช่น การผ่อนบัตรเครดิต ต้องชำระขั้นต่ำ 10% ของยอดคงค้าง ถ้าโอนหนี้แล้ว ลูกหนี้สามารถเลือกผ่อนได้น้อยลงขึ้นอยู่กับจำนวนเดือนที่เลือกผ่อนชำระกับทางสถาบันการเงิน
การปรับโครงสร้างหนี้
เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยบรรเทาภาระหนี้สิน เนื่องจากโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงินของลูกหนี้ในเวลาปัจจุบัน การปรับโครงสร้างหนี้มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไปโดยผ่อนค่างวดน้อยลง อัตราดอกเบี้ยคงเดิม, ขอจ่ายดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียวสักระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจึงขอจ่ายเป็นค่างวดตามเงื่อนไขเดิม พร้อมกับขยายระยะเวลาการกู้ออกไป เป็นต้น ดังนั้นพูดได้ว่าการปรับโครงสร้างหนี้ทำให้ลูกหนี้สามารถที่จะชำระหนี้ได้โดยที่ไม่ต้องไปขึ้นศาล และไม่ต้องถูกฟ้องล้มละลาย แต่ทั้งนี้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน
การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นประโยคที่ใช้ได้จริงกับผู้คนในยุควัตถุนิยมอย่างเช่นในปัจจุบัน ซึ่งจะว่าไปการมีบัตรเครดิตก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด หากเรารู้จักการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและรู้จักคำว่า พอเพียง ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ก็สามารถมีบัตรเครดิตได้ ดังนั้นจึงอยากจะฝากข้อคิดถึงผู้ที่เป็นหนี้ทุกประเภทว่าจะใช้จ่ายอะไรก็ตาม ขอให้นึกถึงความจำเป็นและศักยภาพในการชำระหนี้ของเราเป็นหลัก เพราะถ้าทำตามความต้องการของตัวเองมากจนเกินไปอาจก่อให้เกิดหนี้สินพะรุงพะรังจนเราไม่สามารถใช้หนี้ได้หมด และอาจโดนฟ้องร้องจนเป็นเหตุให้เสียทรัพย์สินตามมาก็เป็นได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมบังคับคดี, ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล, lukkid.com, บริษัท สำนักงานจรัสทนายความและการบัญชี จำกัด, บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด, บริษัท อาณาจักรกฎหมาย จำกัด
sithiphong:
เตือนภัย แก๊งโจรแสบแอบดูรหัส ATM ก่อนสลับกดเงินเหยื่อ 5 หมื่น ลอยนวล
-http://hilight.kapook.com/view/126623-
แก๊งโจรแสบแอบดูรหัส ATM ก่อนสลับกดเงินเหยื่อ 5 หมื่น ลอยนวล ด้านตำรวจเร่งไล่ล่า เหยื่อเผยทำทีมาพูดคุยขอดูบัตร ก่อนสลับหน้าตาเฉย ขณะที่กล้องวงจรปิดเผยทำงานกันเป็นทีม ให้อีกคนมาแอบจำรหัส ก่อนที่จะให้คนร้ายอีกคนมาสลับบัตร
วันนี้ (18 กันยายน 2558) เมื่อเวลา 13.50 น. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ได้รับแจ้งจาก นางวาสนา สุขอ้วน อายุ 39 ปี ว่า ถูกคนร้ายใช้อุบายสลับบัตรเอทีเอ็มหลบหนีไป ขณะที่กำลังกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็ม ที่หน้าธนาคารกรุงเทพ สาขากันทรารมย์
ทั้งนี้ นางวาสนา ให้การว่า ขณะที่กำลังกดเงินอยู่นั้น ก็มีคนร้ายเป็นหญิงใส่เสื้อและกระโปรงสีขาว รูปร่างหน้าตาดี พูดจาสุภาพ เข้ามาพูดคุยตีสนิท ก่อนที่จะขอดูบัตรเอทีเอ็มแล้วฉวยโอกาสสลับบัตรเอทีเอ็มเป็นเอทีเอ็มปลอมมาคืนให้ ซึ่งหลังจากทราบว่าตนถูกคนร้ายหลอก ก็รีบแจ้งร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเกรงว่าคนร้ายจะนำเงินสดออกจากบัญชี
หลังรับแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงพื้นที่ติดต่อขอข้อมูลจากภาพกล้องวงจรปิด พบว่า คนร้ายทำงานกันเป็นกลุ่ม โดยได้ส่งคนหนึ่งไปยืนสังเกตการณ์และยืนหลังนางวาสนาเพื่อจดจำรหัสบัตรเอทีเอ็ม ก่อนที่จะให้คนร้ายอีกคนเข้ามาพูดคุยและสลับบัตร จากนั้นได้นำเงินไปกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงเทพหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 สาขาห้วยขะยุง อ.วารินชำราบ จำนวน 50,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ติดตามตัวกลุ่มคนร้ายนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
เตือนภัย!แก๊งแสบแอบดูรหัสพร้อมเปลี่ยนบัตรATM
https://www.youtube.com/watch?v=sCamcb4PWhY
-https://www.youtube.com/watch?v=sCamcb4PWhY-
https://www.youtube.com/watch?v=sCamcb4PWhY
-https://www.youtube.com/watch?v=sCamcb4PWhY-
เตือนภัย!แก๊งแสบแอบดูรหัสพร้อมเปลี่ยนบัตรATM
ภาพจาก TNN 24
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
-http://www.dailynews.co.th/regional/348818-
.
sithiphong:
เตือนระวังมิจฉาชีพหลอกเก็บค่าไฟ หลังเจ้าของอู่ซ่อมรถโดนตุ๋น 9 พัน
-http://hilight.kapook.com/view/126658-
เตือนประชาชนระวังมิจฉาชีพแจ้งบิลค่าไฟปลอม หลังเหยื่อเป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถที่โคราชโดนตุ๋นไป 9,000 บาท
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2558 เว็บไซต์นิวส์ คอนเน็ก รายงานว่า เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสุรนารี จ.นครราชสีมา ได้เข้าตรวจสอบอู่ซ่อมรถยนต์ หลังมีการอ้างว่ามีบุคคลแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มาเรียกเก็บค่าไฟฟ้าจำนวน 9,000 บาท
ทั้งนี้นางรัตนา มาวขุนทด ผู้เสียหายเปิดเผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา เมื่อมีชายอายุประมาณ 30-35 ปี ห้อยบัตรพนักงานการไฟฟ้า นำใบแจ้งเตือนการตัดหม้อไฟมาให้ ซึ่งตนก็ไม่รู้สึกผิดสังเกตแต่อย่างใด จึงมอบเงินจำนวน 9,000 บาทแก่ชายคนดังกล่าวไป เพื่อจ่ายค่าไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม วันที่ 13 กันยายน ตนกลับถูกตัดหม้อไฟ ดังนั้นได้เข้าไปแจ้งต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสุรนารีว่า จ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับนำบิลมาให้ดู แต่สุดท้ายก็ทราบว่า เป็นบิลปลอม
ขณะที่เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสุรนารี ได้แจ้งเตือนประชาชนระวังกลุ่มมิจฉาชีพ พร้อมกับติดตัวอย่างใบค่าไฟฟ้าของจริงและของปลอมเอาไว้ นอกจากนี้ ขอยืนยันว่า ทางหน่วยงานไม่มีนโยบายเก็บค่าไฟฟ้าตามบ้านเรือน
ภาพจาก นิวส์ คอนเน็ก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก-http://www.newsconnect.co.th/pagedetail.php?typenews=3&idnews=2944-
sithiphong:
แก๊งปล่อยกู้แสบ ! อ้างรุ่นใหญ่ "พล.ต.อ. จักรทิพย์" ขู่ทวงหนี้-ไม่จ่ายโดนซ้อม
-http://hilight.kapook.com/view/126988-
แก๊งปล่อยกู้แสบ ! อ้างรุ่นใหญ่ "พล.ต.อ. จักรทิพย์" ขู่ทวงหนี้-ไม่จ่ายโดนซ้อม บอกรอง ผบ.ตร. เป็นเจ้าของเงิน สารภาพนำเงินลงขันแล้วปล่อยกู้ ดอกเบี้ยสุดโหดร้อยละ 20 บาทต่อวัน
วันที่ 27 กันยายน 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 3 จ.นครราชสีมา ได้นำตัว นายราชัน โชติพินิจ อายุ 36 ปี พร้อมพวกซึ่งเป็นชายฉกรรจ์ อายุระหว่าง 19-45 ปี รวม 14 คน พร้อมกับของกลางคือ สมุดจดบันทึกเงินที่นำมาปล่อยกู้และเงินสดหลายพันบาท มาดำเนินคดี หลังสืบทราบว่ามีพฤติกรรมปล่อยเงินกู้เก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งยังแอบอ้างชื่อของ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจ ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจคนใหม่ ว่าเป็นเจ้าของเงินที่มาปล่อยกู้
ทั้งนี้การจับกุมดังกล่าว สืบเนื่องจากมีชาวบ้านในเขตตัวเมืองโคราชร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า มีกลุ่มชายฉกรรจ์เดินสายปล่อยเงินกู้ให้กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดหลายแห่ง โดยมีพฤติกรรมข่มขู่ลูกหนี้ และดอกเบี้ยก็โหดถึงร้อยละ 20 ต่อวัน ที่สำคัญแก๊งนี้ยังอ้างชื่อของ พล.ต.อ. จักรทิพย์ รอง ผบ.ตร. ว่าเป็นเจ้าของเงินดังกล่าวด้วย จึงสืบตัวและกระจายกำลังจับกุมได้หลายจุดในเมืองโคราช
อย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนนายราชัน หัวหน้าแก๊ง ให้การรับสารภาพว่า ได้ร่วมกันปล่อยเงินกู้จริง โดยแต่ละคนนำเงินมาลงขันปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อวัน ไม่ได้มีใครอยู่เบื้องหลังแต่อย่างใด ส่วนที่ต้องแอบอ้างตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ก็เพราะต้องการให้ลูกหนี้เกรงกลัวและยอมจ่ายเงินมากขึ้น ซึ่งการตามเก็บหนี้ จะตระเวณขี่จักรยานยนต์ไล่ตามเก็บจากลูกค้า หากใครบ่ายเบี่ยงก็ขู่ บางคนก็ทำร้ายร่างกายให้หวาดกลัว
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตั้งข้อหาให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินเรียกอัตราดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา ดำเนินคดีต่อไป
ภาพจาก ทวิตเตอร์ @TNAMCOT
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก-http://www.dailynews.co.th/regional/350642-
sithiphong:
อุทาหรณ์ ! สำเนาบัตรประชาชนหลุด ตกเป็นหนี้บัตรเครดิตนับแสนบาท
-http://money.kapook.com/view130334.html-
อุทาหรณ์เตือนใจ ใครหลาย ๆ คนระวังสำเนาบัตรประชาชนที่ใช้สมัครงานหรือติดต่อธุรกรรมต่าง ๆ หลุด อาจตกเป็นหนี้บัตรเครดิตนับแสนแบบไม่รู้ตัว ชาวเน็ตแนะวิธีป้องกันมิจฉาชีพนำเอกสารไปใช้ประโยชน์ต่อ
วันที่ 28 กันยายน 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนนี้ชาวโซเชียลกำลังให้ความสนใจกระทู้ "เตือนภัย เป็นหนี้บัตรเครดิตกว่า 150,000+ โดยไม่รู้ตัว" ของ คุณ Ordinary diary สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่ได้โพสต์เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์จริง หลังตกเป็นลูกหนี้บัตรเครดิตของธนาคาร 2 แห่ง ทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่เคยสมัคร
โดยระบุว่า เมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2558 เจ้าของกระทู้ได้รับจดหมายทวงหนี้บัตรเครดิตจากธนาคาร A ที่ถูกส่งไปยังบ้านตามที่ระบุไว้ในบัตรประชาชน ทั้งนี้ ใบแจ้งหนี้ระบุว่า ตนเป็นหนี้จำนวน 76,000 กว่าบาท ซึ่งตอนที่น้องสาวถ่ายรูปแล้วส่งมาให้ดูก็คิดว่า คงถูกมิจฉาชีพส่งข้อมูลปลอมมาหลอก แต่เมื่อลองโทรไปสอบถามกับธนาคาร A จึงทราบว่า เป็นหนี้บัตรเครดิตจริง ๆ ทั้งที่ไม่เคยสมัคร
ต่อมา ตนได้เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของธนาคาร A เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทำให้ทราบว่า บัตรเครดิตถูกเปิดใช้ที่ธนาคาร A สาขารังสิต ช่วงเดือนมีนาคม 2558 มีวงเงิน 73,000 บาท แต่ใช้เกินวงเดือน ยอดรวมทั้งหมดจึงเป็น 76,000 กว่าบาท และเมื่อเดินทางไปยังธนาคาร A สาขารังสิต เพื่อแจ้งความ เจ้าหน้าที่ของธนาคาร ชื่อว่า น.ส.Y ก็มาชี้แจงให้ทราบว่า ได้มีฝ่ายบุคคลของ บจก.XXX เอาหลักฐานของพนักงาน (สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเรา) มายื่นกับธนาคารเพื่อสมัครบัตรเครดิตให้พนักงาน พร้อมทั้งนำสลิปเงินเดือน สเตทเม้นท์และใบเสียภาษีมาประกอบการสมัคร ประกอบกับธนาคารได้โทรไปสอบถามตามเบอร์ของ บจก.XXX ก็ยืนยันว่า พนักงานที่สมัครใช้บัตรเครดิตมีตัวตนจริง จึงอนุมัติบัตรเครดิต
ตนจึงพยายามขอข้อมูลคนที่มาเปิดบัตรเครดิต ปรากฏว่า น.ส.Y ปฏิเสธ เนื่องจากเป็นข้อมูลของลูกค้า แต่ น.ส.Y จะส่งเรื่องไปให้สำนักงานใหญ่ดำเนินการต่อให้ หลังจากนั้นตนก็ได้เช็กกับเครดิตบูโร พบว่า มีคนร้ายแอบใช้บัตรเครดิตของธนาคาร B อีก 2 ใบ วงเงินใบละ 40,000 บาท หลังทราบเรื่องก็รีบเดินทางไปธนาคาร เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ก่อนจะไปแจ้งความและนำเอกสารไปติดต่อธนาคารซึ่งเป็นสถานที่เปิดใช้บัตรเครดิตดังกล่าวทันที เรียกว่า กว่าจะเดินเรื่องจนหลุดพ้นหนี้บัตรเครดิตที่ตนเองไม่ได้ก่อ ก็ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนทีเดียว
นอกจากนี้ เจ้าของกระทู้ยังได้โพสต์เล่าการสอบถามเรื่องการทำบัตรเครดิตกับพนักงานของธนาคาร เพิ่มเติมด้วยว่า
1. เราจะป้องกันอย่างไร ไม่ให้คนร้ายไปเปิดบัตรมั่วซั่วอีก?
พนักงานของธนาคาร ตอบว่า ป้องกันไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือ รอว่าจะมีเซอร์ไพรส์จากธนาคารไหน แล้วค่อยตามไปแจ้งเรื่อง
2. เราสามารถฝากเอกสารให้เพื่อนหรือใครมาสมัครบัตรเครดิตแทนเราได้ไหม?
พนักงานของธนาคาร ตอบว่า ได้
3. เจ้าของหลักฐานไม่ต้องเซ็นชื่อต่อหน้าพนักงานเหรอ?
พนักงานของธนาคาร ตอบว่า แล้วแต่กรณีว่า ลูกค้ากับพนักงานมีข้อตกลงกันว่าอย่างไร
4. ถ้าเราทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ล่ะ จะช่วยได้ไหม?
พนักงานของธนาคาร ตอบว่า ไม่ได้ เพราะข้อมูลยังเป็นข้อมูลของเรา
อย่างไรก็ดี คุณ Ordinary diary ยังตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่หลุดไปถึงมือคนร้ายนั้น อาจหลุดไปกับการสมัครงานเมื่อช่วงต้นปี 2557 เนื่องจากแฟนของคุณ Ordinary diary ที่ยื่นใบสมัครที่เดียวกัน ก็ถูกนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไปเปิดบัตรเครดิตในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
ภายหลังที่เรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปก็มีบรรดาชาวเน็ตเข้ามาสอบถามว่า ธนาคารต้นเรื่องทั้ง 2 แห่งคือที่ไหนกัน เหตุใดเจ้าหน้าที่จึงไม่ตรวจเช็กข้อมูลของลูกค้าอย่างละเอียด ก่อนอนุมัติบัตรเครดิต หรือมัวแต่คิดเพิ่มยอดจนไม่สนใจอะไร ขณะที่บางส่วนก็เข้ามาต่อว่า บริษัทรับสมัครงานที่ทางเจ้าของกระทู้คาดว่าอาจเป็นต้นตอที่ทำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหลุดไปอยู่ในมือมิจฉาชีพว่า บริษัทดังกล่าวไม่มีจรรยาบรรณในการจัดเก็บเอกสารส่วนตัวหรือทำลายเอกสารสำคัญของผู้สมัครงานเลย และบางส่วนก็เข้ามาแนะนำเทคนิคการเซ็นรับรองสําเนาถูกต้องให้ปลอดภัย อาทิ ทุกครั้งหลังจากเซ็นชื่อ และเขียนข้อความรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว เจ้าของเอกสารควรเขียนรายละเอียดกำกับไว้ด้วยว่า เอกสารฉบับนั้นใช้สำหรับทำอะไร เป็นต้น
เทคนิคการเซ็นรับรองสําเนาถูกต้องให้ปลอดภัย
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก คุณ Ordinary diary สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม
เทคนิคการเซ็นรับรองสําเนาถูกต้องให้ปลอดภัย
-http://hilight.kapook.com/view/86082-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องยื่นเอกสารสำคัญต่าง ๆ เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สิ่งสำคัญที่ควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง คือเรื่องของการเซ็นชื่อรับรองในสำเนาเอกสารเหล่านั้น เนื่องจากอาจมีบางท่านเซ็นชื่อรับรองสำเนาเอกสารอย่างไม่รัดกุม จนส่งผลให้ได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง หรืออาจเป็นเพราะบางท่านไม่ทราบว่าควรเซ็นสำเนาอย่างไรถึงจะถูกวิธี ดังนั้นวันนี้เราจึงนำข้อมูลมาฝากกันค่ะ
วิธีเซ็นชื่อรับรองสําเนาถูกต้อง
1. การเซ็นชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง จะใช้วิธีขีดเส้นคร่อมบนตัวสำเนาในส่วนที่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของเอกสารหรือไม่ก็ได้ เนื่องจากการขีดคร่อม และเขียนข้อความกำกับบนสำเนาเอกสารนั้น ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดไว้ แต่อาจเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อป้องกันมิให้มิจฉาชีพนำสำเนาเอกสารนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ แต่บางครั้งการขีดคร่อมเอกสารเพื่อนำไปใช้ประกอบเป็นหลักฐาน หากทำไม่ถูกต้อง อาจส่งผลให้สำเนาเอกสารฉบับนั้น ไม่สามารถใช้บังคับได้ตามกฎหมาย หรืออาจกลายเป็นลักษณะของการขีดฆ่าเอกสารทิ้งนั่นเอง
2. ทุกครั้งหลังจากเซ็นชื่อ และเขียนข้อความรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว เจ้าของเอกสารควรเขียนรายละเอียดกำกับไว้ด้วยว่า เอกสารฉบับนั้นใช้สำหรับทำอะไร เช่น "ใช้เฉพาะการสมัครงานเท่านั้น" หรือ "ใช้สำหรับติดต่อเรื่อง...เท่านั้น"
3. นอกจากเขียนรายละเอียดกำกับการใช้แล้ว เจ้าของเอกสารควรระบุ วัน เดือน ปี ณ วันที่ยื่นเรื่อง ลงบนสำเนาดังกล่าว ซึ่งจะช่วยกำหนดอายุการใช้สำเนาเหล่านั้นได้
4. ต้องเขียนข้อความทั้งหมดทับลงบนสำเนาส่วนที่เป็นบัตรประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านเพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลงเอกสาร แต่อย่าทับบริเวณสาระสำคัญของสำเนาเอกสาร เช่น ชื่อ-นามสกุล, วันเดือนปีเกิด
สำหรับวิธีการเซ็นชื่อรับรองสำเนาเอกสารทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นเทคนิคง่าย ๆ ที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับเจ้าของเอกสาร โดยไม่ต้องมานั่งกังวลว่าจะถูกกลุ่มมิจฉาชีพหรือผู้ไม่ประสงค์ดีนำสำเนาเอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่มีชื่อของเราไปใช้ได้อย่างง่ายดาย
นอกจากนี้ การเซ็นชื่อรับรองสำเนาเอกสารต่อหน้าเจ้าหน้าที่หรือพนักงานที่เราติดต่อเพื่อทำธุรกรรม ย่อมปลอดภัยกว่าการเซ็นชื่อรับรองสำเนาเอกสารแล้วส่งทางไปรษณีย์ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่เอกสารดังกล่าวอาจตกหล่นสูญหาย หรืออาจถูกมิจฉาชีพนำไปดัดแปลงแก้ไขจนสร้างความเดือดร้อนให้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ถ้าจำเป็นจะต้องยื่นเอกสารสำคัญเพื่อติดต่อธุรกรรมต่าง ๆ ก็อย่าลืมนำวิธีดังกล่าวไปใช้กันนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค , เว็บไซต์กองบิน 4
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version