มะพร้าว : พฤกษาแห่งชีวิต
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 พฤศจิกายน 2553 12:01 น.
นัก โภชนาการยังได้พบอีกว่า เนื้อมะพร้าวมีคาร์โบไฮเดรท โปรตีน ไขมัน ไยอาหาร แคลเซียม โปแตสเซียม เหล็ก วิตามิน A. B1, B2 และ C (Robert Wetzlmayr)
สำหรับคนไทยก็เชื่อว่า มะพร้าวเป็นไม้มงคล จึงนิยมปลูกทางทิศตะวันออกของบ้าน เพราะคิดว่าจะทำให้เจ้าของบ้านอยู่เย็นเป็นสุข
คนไทยเรียกมะพร้าวหลายชื่อเช่น หมากอุ๋น หมากอูน โพล หรือถุง แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว มะพร้าวมีชื่อว่า Cocos nucifera ในวงศ์ Palmae เพราะมาจากคำ cocos ซึ่งเป็นคำในภาษาโปรตุเกส
นักประวัติศาสตร์ได้พบหลักฐานที่แสดงว่า มะพร้าวมีถิ่นกำเนิดในอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ และ Marianas เมื่อ Marco Polo เดินทางเยือนจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 9 เขาได้บันทึกการเห็นมะพร้าวว่ามีลำต้นประหลาดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ครั้นเมื่อชาวสเปนได้เห็นมะพร้าวที่ชาวโปรตุเกสนำมาจากเอเชีย จึงได้นำมะพร้าวไปปลูกใน West Africa และอเมริกาใต้ จากนั้นมะพร้าวก็ได้แพร่พันธุ์ไปทั่วโลก
ตามปรกติมะพร้าวชอบขึ้นในแถบร้อน โดยเฉพาะในบริเวณชายทะเลที่มีดินร่วนปนทราย และในที่ ๆ มีฝนตกน้อยกว่า 60 เซนติเมตร/ปี นักชีววิทยาบางคนไม่คิดว่ามะพร้าว คือ ต้นไม้ เพราะลำต้นไม่มีกิ่ง และไม่มีเปลือกเหมือนต้นไม้ทั่วไป แต่เป็นทรงกระบอกที่มีขนาดค่อนข้างสม่ำเสมอ และไม่มีวงปี นอกจากนี้ ลำต้นก็ไม่มีตาสำหรับให้ใบแตกแขนง คือ ใบจะแตกที่ยอด ซึ่งจะเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมะพร้าวไม่มีวงปี ดังนั้น เวลานักพฤกษศาสตร์ต้องการรู้อายุของต้นมะพร้าว เขาจะใช้วิธีนับรอยแผลที่เกิดจากการหลุดร่วงของใบ ทั้งนี้เพราะมะพร้าวจะผลัดใบราว 12-14 ใบในแต่ละปี ดังนั้นในปีหนึ่ง ๆ รอยแผลที่ลำต้นจะมีตั้งแต่ 12-14 แผล
ใบมะพร้าวเป็นใบประกอบ แบบขนานโดยแตกเป็นคู่ ๆ ใบมีขนาดใหญ่และยาว ตั้งแต่ 4.5-6.0 เมตร ใบอ่อนเกิดที่ใจกลางของยอดและมีลักษณะเรียวยาวคล้ายดาบ ใบที่ยังอ่อนจะมีกาบใบหุ้ม แต่เมื่อใบมีอายุมากขึ้น ใบอ่อนจะแผ่ขยายกว้าง และเอนออกจากลำต้น ดอกมะพร้าวมีกลีบดอก 6 กลีบ ดอกมีสีครีม หรือเหลืองนวล ดอกมี 3 ประเภทคือ ดอกตัวผู้ ดอกตัวเมีย และดอกกะเทย ซึ่งมักอยู่แยกกัน ถึงจะอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกออกเป็นช่อ และเป็นส่วนที่ชาวสวนเรียกว่า จั่น ซึ่งเมื่อโตเต็มที่จั่นจะยาวตั้งแต่ 0.75-2.00 เมตร โดยทั่วไปดอกมะพร้าวจะเริ่มบานจากปลายมาโคนจั่น ดอกตัวเมียมีขนาดตั้งแต่ 1-3 เซนติเมตร ส่วนดอกกะเทยจะใหญ่ประมาณ 10-55% ของดอกตัวเมีย มะพร้าวต้นหนึ่งมีดอกตัวผู้ตั้งแต่ 200-300ดอก
ผลมะพร้าวทุกผลมีเปลือกหุ้ม โดยชั้นนอกเป็นใยเหนียวแข็ง มีสีเขียว แดง เหลือง หรือน้ำตาล ชั้นกลางเป็นเส้นใยที่หนาพอประมาณ ส่วนชั้นในหรือที่เรียกว่า กะลานั้นแข็งมาก สำหรับเมล็ดมะพร้าวนั้นก็คือ เนื้อมะพร้าวรูปแบบหนึ่ง ขณะผลยังอ่อนอยู่ ภายในเมล็ดจะมีน้ำมะพร้าวเต็ม แต่เมื่อผลแก่ น้ำมะพร้าวส่วนหนึ่งจะแห้งไป
ประเทศไทยมีสวนมะพร้าวประมาณ 2.5 ล้านไร่ ในพื้นที่ภาคกลาง และใต้ หรือตามบริเวณชายทะเล เพราะต้นมะพร้าวขึ้นได้ดีในแถบร้อน และตามที่สูงตั้งแต่ที่ระดับน้ำทะเลจนถึง 900 เมตร หรือตามชายฝั่งที่มีการระบายน้ำดี และมีน้ำใต้ดินผ่าน ส่วนบริเวณที่มีฝนตกมากกว่า 100 เซนติเมตร/ปี และมีอุณหภูมิตั้งแต่ 20-34 องศาเซลเซียสนั้นเป็นพื้นที่ ๆ เหมาะสำหรับการปลูก เพราะไม่ร้อนจัดและไม่เย็นจัด นอกจากนี้ ชาวสวนยังพบอีกว่า มะพร้าวต้องการแดดมาก ดังนั้นต้นที่ปลูกในที่ร่มจะเติบโตช้า กว่าต้นที่ถูกแดดตลอดเวลาส่วนลมที่พัดในสวนก็สมควรเป็นลมอ่อน ๆ เพราะถ้าลมพัดแรงต้นมะพร้าวอาจล้ม
โรคที่มะพร้าวเป็นคือโรคยอดเน่า ส่วนศัตรู คือ ด้วงมะพร้าว ซึ่งชาวสวนสามารถกำจัดได้โดยใช้ยากำจัดแมลง
ในการคัดเลือกพันธุ์มาปลูกตามปรกติชาวสวนจะใช้ผลที่มีหน่อแก่จัดและโคนหน่อมีขนาดใหญ่ และมี
ลำต้นอวบ ผลมะพร้าวที่มีขนาดเล็ก และมีน้ำน้อยจะไม่ถูกเลือกมาเพาะ อนึ่งเวลาจะเพาะมะพร้าวชาวสวนจะเลือกสถานที่ใกล้น้ำ และดินเป็นดินทราย ในตอนต้นฤดูฝน ชาวสวนจะนำหน่อที่ต้องการปลูกใส่ในหลุม แล้วกลบดินให้เสมอผิว และรดน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง พร้อมกับทำความสะอาดหลุมปลูก ไม่ให้มีหญ้ารกรุงรัง สำหรับแบบแผนปลูกนั้น ชาวสวนนิยมปลูกแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยให้มีระยะห่างระหว่างต้นเท่า ๆ กัน คือห่างตั้งตา 9-12 เมตร
วิถีชีวิตของมะพร้าว มีรูปแบบในทำนองเดียวกับคน คือ จะออกผลเต็มที่เมื่ออายุ 12-13 ปี และให้ผลจนอายุ 60 ปี จากนั้นก็หยุดและตายเมื่ออายุตั้งแต่ 80-90 ปี โดยต้นที่ได้ปุ๋ยดีจะให้ผลตั้งแต่ 70-120 ลูก/ปี อนึ่งเวลาเก็บผลชาวสวนมักคอยจนผลตกจากต้น
ในบทบาทที่เป็นอาหารนั้น ชาวสวนพบว่าเวลาเอามีดตัดปลายจั่นมะพร้าว แล้วนำไปนวดจะมีน้ำหวานไหลออกมา ซึ่งน้ำหวานนี้สามารถนำไปทำน้ำตาล ดื่ม หรือทำเหล้าได้ น้ำมะพร้าวสามารถใช้รับประทานสดได้ส่วนเนื้อมะพร้าวสดใช้ปรุงอาหาร ทำขนม หรือน้ำมัน สำหรับกากมะพร้าวใช้เป็นอาหารสัตว์ และยอดอ่อนใช้เป็นอาหาร
นักโภชนาการยังได้พบอีกว่า เนื้อมะพร้าวมีคาร์โบไฮเดรท โปรตีน ไขมัน ไยอาหาร แคลเซียม โปแตสเซียม เหล็ก วิตามิน A. B1, B2 และ C สำหรับบทบาทที่เป็นยา แพทย์ชาวบ้านก็ได้พบว่า เปลือกต้นมะพร้าวเมื่อนำมาเคี้ยว สามารถใช้เป็นยาแก้ปวดฟันได้ ส่วนเถ้าที่เกิดจากการเผาลำต้น ก็สามารถนำมาทำยาสีฟันได้ ดอกมะพร้าวใช้เคี้ยวแก้เจ็บปาก เจ็บคอ ท้องเสีย ร้อนใน กระหายน้ำ ขับเสมหะ และบำรุงโลหิต เนื้อมะพร้าวมี glycerine ที่ทำหน้าที่บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ เป็นอาหารคาว หวาน ใช้ทำกะทิ ทำสบู่ น้ำมะพร้าวใช้แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้พิษ น้ำมันมะพร้าวใช้ยาบำรุงกำลัง ทำไขมัน ทำเนยเทียม แก้ปวดกระดูก ถ่านกะลาใช้ดูดควันพิษ รากมีรสฟาก แก้ท้องเสีย ทำน้ำอมปาก แก้เจ็บคอ ใบใช้มุงหลังคา จักสาน ห่อขนม ก้านใบใช้ทำไม้กวาด หมวก กระเป๋าถือ ตะกร้า ไม้จิ้มฟัน ทำไซดักปลา ไม้กลัด ทำของเล่นเด็ก กะลาใช้ทำจาน แก้วน้ำ ซ้อน มีด ที่เขี่ยบุหรี่ ของที่ระลึก ทำกระดุมและหัวเข็มขัด ลำต้นแก่ใช้ประดิษฐ์เป็นเครื่องเรือน เป็นวัสดุก่อสร้าง ที่อาศัย เก้าอี้ เตียง ฟูก เปลือกมะพร้าวใช้สกัดเป็นใย ใชทำเชือก พรม วัสดุยัดเบาะ ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 แพทย์ทหารใช้น้ำมัดมะพร้าว ต่างสารละลาย glucose เพื่อฉีดเข้าเส้นเลือดของทหาร
คุณประโยชน์ที่มหาศาลเช่นนี้ ได้ทำให้ชาวฟิลิปปินส์ชื่นชมและยกว่า มะพร้าวว่าเป็นพฤกษาแห่งชีวิต
สำหรับคนไทยก็เชื่อว่า มะพร้าวเป็นไม้มงคล จึงนิยมปลูกทางทิศตะวันออกของบ้าน เพราะคิดว่าจะทำให้เจ้าของบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ในพิธีเทศกาลชาวบ้านมักใช้ใบตกแต่งซุ้ม แห่ขันหมาก คนภาคใต้นิยมให้หญิงมีครรภ์ดื่มน้ำมะพร้าว เพราะเชื่อว่าสามารถทำให้ประจำเดือนหยุดก่อนวัยอันควร แต่คนภาคกลางนิยมให้สตรีมีครรภ์ดื่มเพราะเชื่อว่า จะทำให้ผิวทารกที่คลอดใหม่สดใส และคนที่เป็นแม่จะคลอดลูกได้สะดวก นอกจากนี้ คนบางคนยังเชื่ออีกว่า น้ำมะพร้าวที่สะอาด จะสามารถใช้อาบศพได้ด้วย
ในบทบาทที่เกี่ยวกับความงามโดยทั่วไป ที่หาดเวลาลมพัดเบา ๆ ใบมะพร้าวจะโบกไปมา และส่งเสียงเบา ๆ ลำต้นที่ตั้งตรงทำให้ดูเสมือนต้นมะพร้าวกำลังเต้นบัลเลท์ หรือเวลาพระอาทิตย์ตกดินในบรรดาหาดทรายขาวซึ่งมีน้ำทะเลสีน้ำเงิน คงไม่มีหาดใดที่สวยงามเท่าหาดที่มีทิวมะพร้าวขึ้นเรียงรายตามชายหาดเป็นแน่
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ มะพร้าวจึงสมควรที่ได้ชื่อว่า เป็นต้นไม้แห่งชาติฟิลิปปินส์ เพราะในชาติทุกคนผูกพันกับมะพร้าวมาก และใครก็ตามที่นับดาวได้ทั่วฟ้า เขาก็จะรู้ประโยชน์ของมะพร้าวได้มากเท่านั้น
ในวารสาร Current Biology ฉบับที่ 19 หน้า R1069 ปี 2010 Julian Finn แห่ง Museum Victoria ที่ Melbourne ใน Australia ได้รายงานว่า ปลาหมึก Amphioctopus marginatus ที่มีหนวดขนาด 8 เส้น รู้จักใช้กะลามะพร้าวเป็นเกราะกำบังตัว นี่เป็นหลักฐานชิ้นแรกของโลก ที่แสดงว่า สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังก็รู้จักใช้อุปกรณ์ เพราะนักชีววิทยาคิดว่าสิ่งมีชีวิตที่รู้จักใช้อุปกรณ์เป็นสัตว์ฉลาด เช่น มนุษย์ ลิง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนก ต่างก็รู้จักใช้อุปกรณ์เช่นกัน ดังนั้นตามคำจำกัดความนี้ ปลาหมึก ที่ใช้กะลามะพร้าวปกป้อง และเป็นที่อยู่โดยการแฝงตัวในกะลาครึ่งซีกจึงเป็นสัตว์ฉลาด เพราะเวลาศัตรูเข้ามาใกล้ ปลาหมึกจะพลิกตัวเข้าไปในกะลาให้หุ้มเพื่อปกป้องตัวมันและเมื่อศัตรูเดินไป ไกลแล้ว มันก็จะทิ้งกะลาไปเพื่อจะได้ใช้ในกะลานั้นให้หุ้มปกป้องมันโอกาสต่อไป
ณ วันนี้ น้ำมะพร้าวกำลังเป็นที่นิยมดื่มในอเมริกามาก หลังจากที่ดาราดังเช่น Madonna, Matthew McConaughey และ Demi Moore ได้ออกมาสนับสนุน ว่า น้ำมะพร้าวที่บรรจุในกล่องกระดาษของบริษัท Vita Coco เป็นน้ำดื่มสุขภาพที่ควรได้รับความนิยม เพราะมีแคลอรีน้อยและมีสารอาหารเช่นโปแตสเซียม มากกว่ากล้วย อีกทั้งมีน้ำตาลน้อยกว่า น้ำอัดลมทั่วไป ดังนั้น จึงสามารถใช้ดื่มสำหรับคนที่เป็นโรคอ้วนได้
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
.
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000156291.
.