ปลาดอลลี่....พี่ไทยโดนต้มจนสุก
-http://www.yclsakhon.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539377083-
ปลาดอลลี่.......พี่ไทยโดนต้มจนสุก ขึ้นโต๊ะจีนราคาแพงๆที่แท้ "ปลาสวายธรรมดา" จากเวียดนาม....อย่างไรก็ตามจะไปโทษเอกชนผู้ขายก็ไม่ได้เพราะเขาเขียนชื่อการค้าเป็นภาษาอังกฤษ Pangasius Fillet แถมมีชื่อวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่าเป็นปลา Pangasius Hypophthalmus
ผู้ขายระบุชื่อว่าเป็น "ปลาดอร์ลี่แล่" กำกับภาษาอังกฤษว่า Pangasius Fillet (Pangasius Hypophthalmus) เป็นการให้ข้อมูล "ถูกต้องแต่ไม่ครบถ้วน" อาจสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นปลาทะเล หรือปลาชนิดใหม่ เพราะผู้บริโภคทั่วๆไปไม่ได้จบการศึกษาวิชา Fisheries หรือ Zoology แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นค้าชนิดเดียวกันที่อเมริกา (ภาพข้างล่าง) เขาระบุรายละเอียดชัดเจนว่าเป็นปลาเลี้ยงจากฟาร์มในประเทศเวียดนาม ใช้ชื่อการค้าว่า Swai เพื่อให้ผู้บริโภคชาวมะกันทั่วๆไปได้ทราบ
จริงๆแล้วคนขายเขาก็ไม่ได้หลอกเพราะเขียนภาษาอังกฤษ พร้อมกำกับด้วยศัพท์วิทยาศาสตร์ไว้เห็นชัดๆว่า Pangasius hypophthalmus แต่ผู้บริโภคทั่วไปไม่ทราบว่านี่คือ "ปลาสวายธรรมดา" ในฐานะที่ผมเรียนจบปริญญาวิทยาศาสตร์สาขาเกษตร และทำงานด้านนี้มา 35 ปี จนเกษียณอายุราชการในตำแหน่งเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสกลนคร และเมื่อครั้งที่เป็นเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม ระหว่างปี 2545 - 2550 ก็คุ้นเคยกับโครงการส่งเสริมเลี้ยงปลาชนิดเดียวกันนี้ที่แม่น้ำโขง โดยใช้งบประมาณยุทธศาสตร์จังหวัด หรือเรียกเล่นๆในสมัยนั้นว่างบผู้ว่าราชการจังหวัด ซีอีโอ
ด้วยความที่ผมถูกสอนมาตลอดอายุราชการให้ทำหน้าที่รับใช้พี่น้องประชาชน จึงจำเป็นต้องเอาข้อมูลที่เป็นจริงมาเผยแพร่ให้เราๆท่านๆได้รับทราบ ถือว่าเป็นการตอบแทนและขอบคุณสังคมไทยที่ผมเคยได้รับทุนรัฐบาลที่มาจากภาษีของพี่น้องร่วมชาติ ไปฝึกอบรมและดูงานในต่างประเทศหลายครั้ง อีกทั้งบำนาญที่ได้รับอยู่ทุกวันนี้ก็มาจากภาษีของท่านทั้งหลาย
ผมซื้อปลาที่ว่านี้ในห้าง WalMart ที่อเมริกา เขาใช้ชื่อการค้าตรงไปตรงมาว่า Swai มีชื่อวิทยาศาสตร์กำกับว่า Pangasius Hypopthalmus และระบุชัดเจนว่าเป็น "ปลาเลี้ยงจากฟาร์ม" (Farm Raised) และส่งมาจากเวียดนาม (Product of Vietnam) เพื่อให้ผู้บริโภครู้ข้อมูลที่แท้จริง
ปลานิลแล่เนื้อขายในห้าง WalMart ที่อเมริกา ต้องระบุว่า "เป็นปลาที่เลี้ยงจากฟาร์ม"
ขณะเดียวกันปลานิลตัวนี้ก็ต้องระบุว่าเป็นผลผลิตจากการเลี้ยงในฟาร์ม (Farm Raised) ประเทศชิลี
ถ้าเป็นปลาแซลม่อนที่จับมาจากทะเลก็ต้องระบุว่า "จับจากธรรมชาติ" (Wild Caught)
เปรียบเทียบระหว่างปลาดอร์ลี่ ฟีเลย์ (John Dory Fillets) ของฝรั่ง กับปลาดอร์ลี่แบบไทยๆ
คนไทยโดยทั่วไปรังเกียจปลาสวายเพราะเนื้อเหลืองไม่น่ากิน แต่พอไปเห็นปลาที่ใช้ชื่อว่า "ดอลลี่" เนื้อออกสีขาวอมชมพู ดูสวยงามน่ากิน ก็ยอมจ่ายเงินราคาแพงๆเพราะคิดว่านี่แหละของดี
ผมเคยไปดูงานที่เมือง Can Tho ประเทศเวียดนาม ในคราวประชุม 17th Annual Meeting of MRC Fisheries Program 25-26 November 2010 มีผู้เชี่ยวชาญด้าประมงจากหลายประเทศไปประชุมกัน ฝ่ายไทยก็มีผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทุกคนยืนยันนั่งยันว่าที่เขาเลี้ยงในบ่อดินริมแม่น้ำ และเข้าโรงงานแร่เป็นชิ้นเนื้อสีขาวอมชมพู คือ "ปลาสวายธรรมดา" ชื่อวิทยาศาสตร์ Pangasius Hypophthalmus แต่พี่น้องชาวเวียดนามมีวิธีทำให้ปลาสวายมีเนื้อสีขาวด้วยเทคนิค 2 ข้อ คือ
1.เลือกอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดสีเหลืองเข้าไปแทรกในใขมัน เช่น อย่าให้มีอาหารที่เป็นข้าวโพด และเนื่องจากเมืองนี้อยู่ใกล้ปากแม่น้ำ (ใกล้ทะเล) จึงมีสามารถหาซื้ออาหารโปรตีนจำพวกปลาป่นราคาถูกๆ
2.มีการถ่ายเทน้ำให้สะอาดอยู่ตลอดเวลา พวกเขาโชคดีที่เมืองนี้อยู่ใกล้ทะเลทำให้มีน้ำขึ้นและน้ำลง จึงสามารถถ่ายน้ำเข้าและออกจากบ่อดินได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำให้สิ้นเปลืองพลังงาน
ด้วยเหตุผลที่ว่าทำให้ปลาสวายธรรมดามีเนื้อสีขาวอมชมพู ในต้นทุนที่ต่ำ สามารถส่งออกตีตลาดได้ทั่วโลก เฉพาะตลาดอเมริกาแห่งเดียวพี่แกก็รับทรัพย์ไปแบบเต็มๆ
อาหารที่ใช้เป็นวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นราคาถูกๆ แรงงานก็ราคาถูก ไม่ใช่ 300 บาทเหมือนบ้านเรา
บ่อดินที่ใช้เลี้ยงปลาสวายก็ติดกับแม่น้ำโขง ทำให้สามารถถ่ายน้ำเข้าออกได้ตลอดเวลา เพราะมีน้ำขึ้นน้ำลงทุกวัน
ภาพนี้ผมถ่ายด้วยตนเอง แสดงให้เห็นว่าบ่อเลี้ยงปลาสวายอยู่ติดแม่น้ำโขง สามารถระบายน้ำเข้าออกได้ตลอดเวลาโดยอาศัยน้ำขึ้นน้ำลง (ไม่ต้องใช้พลังงานเครื่องสูบน้ำ) ทำให้บ่อสะอาด
ผมถ่ายภาพขณะนั่งรถยนต์มองเห็นชัดเจนว่าบ่อเลี้ยงปลาที่ "เมืองเกิ่นเถอ" ประเทศเวียดนามอยู่ติดแม่น้ำโขง
เมือง Can Tho (เกิ่น เถอ) อยู่ใกล้ทะเลจึงหาอาหารปลาได้ในราคาถูก แถมยังมีน้ำขึ้นน้ำลงช่วยให้ถ่ายน้ำเข้าออกจากบ่อเลี้ยงปลาได้อย่างสบายๆ
อุตสาหกรรมของเขาครบวงจรตั้งแต่เพาะลูกปลา เลี้ยงให้โต และแปรรูปเป็นเนื้อชิ้นที่สวยงาม และส่งออก
ผมไปร่วมประชุม MRC Fisheries Programme ที่เมือง Can Tho Vietnam ได้สัมผัสกับวิธีการเลี้ยงปลาสวายให้มีเนื้อสีขาวอมชมพู เกษตรกรที่นั่นขายปลาสวายที่ปากบ่อได้ราคากิโลกรัมละ 1 USD ก็ดีใจแล้ว เพราะต้นทุนเขาต่ำเมื่อเทียบกับประเทศไทยทั้งค่าอาหาร และค่าแรงงาน
บรรยากาศในห้องประชุม
ดูกันชัดๆว่านี่คือ "ปลาสวายธรรมดา" แต่เวียดนามเขาสามารถเลี้ยงให้มีเนื้อสีขาวอมชมพู ผมถ่ายภาพนี้กับมือตัวเองที่ร้านอาหารริมแม่น้ำโขงที่เมือง Can Tho ประเทศเวียดนาม
ทำอาหารต้มยำอร่อยมาก ภาษาเวียดนามพูดว่า "อันก้า งอนหลำ"
จากปลาสวายธรรมดากลายเป็นอาหารชั้นดี ดูไฮโซ ขึ้นเหลา ขึ้นโต๊ะอาหารฝรั่ง
พ่อค้าไทยบางกลุ่มหัวใสครับ สั่งปลาสวายเวียดนามเข้ามาตั้งชื่อใหม่ซะสวยหรูว่า "ดอร์ลี่" คนไทยอย่างเราๆท่านๆเห็นอาหารแบบนี้แล้วน้ำลายไหล ดูน่ากิน แพงเท่าไหร่ก็สู้เพราะเชื่อว่าเป็นปลาชั้นเลิศ
ผมอยู่บ้านในเมืองทัลซ่า รัฐโอคลาโฮม่า สหรัฐอเมริกาไปซื้อปลาสวายที่ห้าง WalMart ราคาไม่แพงเหมือนปลาดอร์ลี่บ้านเรามาทอดให้หลานกิน ที่อเมริกาปลาสวายคือสวาย ไม่มีการแหกตาตั้งชื่อใหม่ๆให้สับสน แถมยังระบุด้วยว่าเจ้านี่คือปลาเลี้ยงในฟาร์มนำเข้่าจากประเทศเวียดนาม
ท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ปิ้งไอเดียการเลี้ยงปลาสวายเนื้อขาว (โดยคิดว่านั่นคือปลาเผาะ) เลยเอามาส่งเสริมที่จังหวัดนครพนมภายใต้แผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดผู้ว่าซีอีโอ เมื่อปี 2547 - 49 เพื่อการส่งออกไปประเทศสเปนส์
ยอมรับว่าตอนนั้นพวกเราเข้าใจผิดว่าปลาสวายเนื้อขาวที่พี่น้องชาวเวียดนามเลี้ยงคือ "ปลาเผาะ" (Pangasius bocourti) ซึ่งเป็นปลาธรรมชาติอยู่ในแม่น้ำโขง ปลาชนิดนี้ชาวนครพนมรู้จักดีมีเนื้อสีขาวอมชมพู เพราะจับมากินเป็นอาหารชั้นเลิศ เช่นผัดฉ่า ต้มยำ ขายราคาแพงๆในร้านอาหารดังๆ
ผมเป็นเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สนับสนุนในนามของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีสถานีประมงน้ำจืดนครพนมเป็นตัวจักรในการผลิตลูกปลาเผาะที่ว่า และสถาบันอาหารของกระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบในส่วนการจัดหาอาหารปลาและการตลาด องค์การบริหารส่วนจังหวัดรับผิดชอบส่งเสริมการเลี้ยงในกระชังตามริมแม่น้ำโขง โครงการนี้เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่โดย ฯพณฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีเป็นโต้โผ มีการติดต่อกับฑูตประเทศสเปนส์ให้นำบริษัทเอกชนมาลงนามรับซื้อปลาเผาะอย่างเป็นทางการ มีการนำเอกอัคราชฑูตหลายประเทศมาดูงานที่นครพนม
บรรดาท่านฑูตร่วมกันช้อนปลาเผาะที่เลี้ยงในกระชังอย่างสนุกสนาน
แต่พอดำเนินโครงการเข้าจริงๆมารู้ตอนหลังว่า "ขาดทุน" เพราะเหตุผลปลาเผาะโตช้ามากกินอาหารหมดตามโควต้าแล้วก็ยังไม่ได้ขนาด ทำให้เกษตรกรต้องเลิกเลี้ยงไปในที่สุด เพราะราคาของการขายส่งออกต่างประเทศเป็นราคาเชิงอุตสาหกรรมกิโลกรัมละ 50 บาท อีกทั้งการเพาะเลี้ยงให้ออกลูกก็ยากทำให้ได้ลูกปลาน้อยเกินไปที่จะเป็นเชิงอุตสาหกรรม และยิ่งมารู้ตอนหลังว่าที่เวียดนามเขาเลี้ยงกันคือปลาสวายธรรมดา "ไม่ใช่ปลาเผาะอย่างที่เราเข้าใจ" แต่ใช้วิธีบริหารจัดการอาหารและวิธีการถ่ายน้ำในบ่อทำให้มีเนื้อเป็นสีขาวอมชมพู ก็ยิ่งเสียความรู้สึกไปเยอะ
ภาพปลาเผาะที่เกษตรกรเลี้ยงในกระชังริมแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม
ทำความรู้จัก "ปลาดอร์ลี่" ตัวจริง กับ ย้อมแมว
ปลาดอร์ลี่ตัวจริงอยู่ในทะเลลึกที่มหาสมุทแอตแลนติก และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เนื้อแน่น น่ากิน มีชื่อเล่นว่า "จอห์น ดอร์ลี่" (John Dory) ชื่อวิทยาศาสตร์ Zenopsis conchifera
ภาพเปรียบเทียบระหว่างปลาดอร์ลี่ ตัวจริงกับ ปลาดอร์ลี่ย้อมแมว
ภาพปลาดอร์ลี่ กับปลาทะเลที่มีชื่อเสียงชนิดต่างๆ
เปรียบเทียบสเต็กปลาดอร์ลี่ตัวจริง รูปร่างกลมๆป้อมๆ กับสเต็กปลาดอร์ลีย้อมแมว รูปร่างยาวๆ (ก็ปลาสวายนี่หว่า) ผู้บริโภคสเต็กถูกแหกตามาตลอดครับพ้ม
ปลาดอร์ลี่ตัวจริงเสียงจริงเป็นปลาทะเล ส่วนปลาดอร์ลี่แบบไทยๆคือปลาสวายอยู่ในน้ำจืดเลี้ยงในบ่อตามริมแม่น้ำโขงที่ประเทศเวียดนาม
เป็นยังไงครับเมื่อทราบข้อมูลที่แท้จริงเช่นนี้แล้ว ก็ต้องเริ่มคิดใหม่แล้วครับอย่าให้ถูกต้มถูกหลอกอีกต่อไป.........ความจริงกรมประมงก็ออกข่าวนี้อย่างเป็นทางการแต่สื่อมวลชนยังไม่ค่อยตีข่าวมากนัก
http://www.yclsakhon.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539377083.