มะตูม - เรื่องน่ารู้
วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.
-http://www.dailynews.co.th/agriculture/235630-
มะตูมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลม ใบโตยาวสีเขียวอ่อน ดอกสีขาวมีกลิ่นหอม ผลกลมโต เปลือกแข็ง เนื้อในมีสีเหลืองนวล ภายในมีเมล็ด มียางหุ้มเป็นเมือกเหนียว มีรสขม พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ผู้คนทางภาคใต้ของไทย นำเปลือกมาขูดเอาผิวออกต้มกับน้ำตาลรับประทานเป็นของหวาน ส่วนเนื้อในเอามาหั่นเป็นแว่นๆ เอาเมล็ดออก เชื่อมกับน้ำตาล เรียกว่ามะตูมเชื่อมรัลประทานเป็นของหวานเช่นกัน
ในตำราการแพทย์แผนไทยจะนำผลตากแห้งนำมาปรุงเป็นยาธาตุ แก้ธาตุพิการ ผลดิบใช้เป็นยาสมาน รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะ แก้ท้องเสีย แก้บิด ผลสุกใช้เป็นยาระบาย แก้โรคไฟธาตุอ่อน แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้ท้องเสีย แก้บิดเรื้อรัง ช่วยย่อยอาหาร แก้ลมเสียดแทงในท้อง แก้มูกเลือด บำรุงธาตุไฟให้ย่อยอาหาร แก้กระหายน้ำ ขับลมผาย เปลือกของรากและลำต้น รักษาไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้ ใบสด คั้นเอาน้ำกิน แก้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ แก้ตาบวม แก้เยื่อตาอักเสบเป็นต้น
ลิเภาใหญ่ - เรื่องน่ารู้
วันอังคารที่ 24 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.
-http://www.dailynews.co.th/agriculture/235065-
ลิเภาใหญ่ เป็นพืชพวกเฟิน ลักษณะของลำต้นเป็นเถาเลื้อยคล้ายลิเภายุ่ง ต่างกันที่เถาใหญ่และแข็งกรอบ ใบ ประกอบสี่ชั้น ก้านแขนงแรกสั้น แตกก้านแขนงคู่ที่สองชิดหรือเกือบชิดก้านใบ ก้านชั้นที่สองแตกแขนงเป็นก้านช่อใบประกอบย่อย เรียงสลับ ใบประกอบย่อยแต่ละใบมีใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปหอก 3-5 ใบ
ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ปลายใบมนถึงแหลม โคนหยักเว้าหรือหยักลึกคล้ายหัวลูกศร บางครั้งหยักเป็น 5 พู ขอบใบหยักละเอียด ขึ้นในบริเวณที่โล่งตามชายป่า มีเขตการกระจายพันธุ์ทุกภาคของประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เปลือกของเถาใช้ทำหัตถกรรม ทางการแพทย์แผนไทยนำ รากมาต้มแก้ร้อนใน ปัสสาวะเหลือง ปัสสาวะแดง หรือผสมยาอื่นรักษาโรคมะเร็ง ราก ใบ เถา ต้มน้ำดื่ม แก้เลือดพิการ แก้ระดูมากะปริดกะปรอย.
ว่านพังพอน - เรื่องน่ารู้
วันพุธที่ 25 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.
-http://www.dailynews.co.th/agriculture/235071-
ว่านพังพอนเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีเหง้ายาวคล้ายทรงกระบอก หนา ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 20-60 ซม. ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบแหลมหรือรูปหัวใจเบี้ยวเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 20-50 ซม. ช่อดอกมี 1-4 ช่อ ยาวได้ถึง 60 ซม. แต่ละช่อมี 6-30 ดอก แผ่นกลีบประดับมี 2 คู่ สีขาวถึงม่วงอ่อนๆ คู่นอกไร้ก้าน รูปรี ขอบขนาน หรือรูปใบหอก ยาวได้ถึง 14 ซม. คู่ในมีก้าน รูปใบหอกกลับหรือรูปใบพาย ยาวได้ถึง 22 ซม. กลีบประดับรูปเส้นด้ายมี 5-25 อัน สีอ่อนกว่าแผ่นกลีบประดับ ยาว 10-20 ซม. ดอกสีเขียวอมม่วงน้ำตาล ก้านดอกยาว 2-4 ซม. กลีบรวม 6 กลีบ เรียง 2 วง รูปรีหรือรูปไข่ ยาวประมาณ 0.5-1.5 ซม. ผลรูปขอบขนาน เป็น 6 เหลี่ยม ยาว 4-5 ซม. ปลูกได้ดีในดินร่วนที่ชุ่มชื้นแต่ต้องระบายน้ำได้ดี ไม่ขังแฉะ ควรปลูกในที่แดดรำไร รดน้ำเช้าและเย็น ขยายพันธุ์โดยการแยกเหง้าหรือเพาะเมล็ด คนไทยนิยมปลูกเพื่อเป็นสิริมงคล ให้เป็นที่เอ็นดูของผู้ใกล้ชิดและบุคคลรอบข้างในทางการแพทย์แผนไทย ใช้เป็นยารักษาไข้ แก้ปาก ลิ้น คอ เปื่อย ช่วยในการเจริญอาหาร
กะเร่กะร่อนปากเป็ด - เรื่องน่ารู้
วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.
-http://www.dailynews.co.th/agriculture/235166-
กะเร่กะร่อนปากเป็ด เป็นกล้วยไม้ประเภทอิงอาศัยขนาดใหญ่ เจริญทางด้านข้างขึ้นเป็นกอแน่น เกาะตามลำต้นของต้นไม้ใหญ่ ใบเป็นแถบยาวเนื้อใบหน้าและแข็ง ทดแล้งได้ดี ปลายใบมน โคนใบซ้อนกันแน่น รากมีจำนวนมากและอยู่รวมกันเป็นกระจุก เพื่อยึดเกาะต้นไม้ และเป็นรากอากาศ ดอกออกเป็นช่อโปร่งแบบกระจะ ห้อยย้อยลง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกรูปขอบขนาน ปลายกลีบมีแถบสีม่วงแดงรูปคล้ายเกือกม้า ส่วนกลีบอื่นๆ สีเหลือเข้ม ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม พบในภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในประเทศไทยพบทางภาคกลางและภาคใต้ ตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้งป่าโปร่ง โดยเกาะอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ คนไทยเมื่อครั้งอดีตจะนำใบสดของกะเร่กะร่อนปากเป็ดมาใช้ประโยชน์ในการรักษาอาการหูเป็นน้ำหนวก
ส้มมวง - เรื่องน่ารู้
วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.
-http://www.dailynews.co.th/agriculture/235860-
ส้มมวงเป็นต้นไม้ ขนาดกลาง สูง 15 - 20 ม. เรือนยอด เป็นพุ่มรูปกรวยคว่ำ ทรงสูง แตกกิ่งชั้นเดียว เปลือกนอก เรียบ สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ เปลือกใน สีชมพูถึงแดง มีน้ำยางสีเหลืองขุ่นไหลเยิ้มออกมาจากเปลือกต้น ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้ามเป็นคู่ ๆ แต่ละคู่เรียงตรงกันข้ามเป็นมุมฉากซึ่งกันและกัน ใบรูปไข่ขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลม ผิวใบเป็นมัน เนื้อใบหนา ใบมีรสเปรี้ยว ดอก เป็นช่อขนาดเล็ก กลีบดอกแข็ง หนาแตกออกจากโคนใบและปลายกิ่ง ผลสด ทรงกลม ผิวเรียบมีร่องรอยเป็นพูบาง ๆ รอบผล ขนาดผล ผลอ่อน สีเขียวอมเหลือง ผลแก่ เมื่อสุกมีสีเหลืองถึงส้ม
ในทางการแพทย์แผนไทยจะนำรากซึ่งมีรสเปรี้ยวใช้ประโยชน์ แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ถอน พิษไข้ แก้บิด เสมหะเป็นพิษ ใบมีรสรสเปรี้ยวใช้เป็น ยาระบายท้อง แก้ไข้ กัดฟอกเสมหะ แก้ธาตุพิการ แก้โลหิต แก้ไอ แก้กระหายน้ำ ผลมีรสรสเปรี้ยวใช้ ระบายท้อง แก้ไข้ กัดฟอกเสมหะ แก้ธาตุพิการ แก้กระหายน้ำ ฟอกโลหิตเป็นต้น