07.เรื่องพระสารีบุตรเถระพระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสารีบุตรเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า
น พฺราหฺมณสฺส เป็นต้น
พระสารีบุตรเถระ ได้รับการยกย่องจากประชาชนโดยทั่วไปว่า ท่านเป็นผู้มีความอดทนอดกลั้นเป็นเลิศ แม้ว่าจะมีคนด่า คนทุบตี ท่านก็จะไม่โกรธ พราหมณ์คนหนึ่ง เป็น
มิจฉาทิฏฐิ ต้องการจะพิสูจน์ว่าพระเถระมีความอดทนและไม่โกรธจริงหรือไม่ เขาจึงจะทดลองยั่วยุให้ท่านโกรธ จึงในวันหนึ่ง เมื่อเห็นพระเถระกำลังเดินบิณฑบาตอยู่นั้น พราหมณ์นั้นได้เดินตามท่านไปแล้วเอามือไปทุบหลังท่านอย่างรุนแรง พระเถระ
ไม่แสดงความสนใจแม้กระทั่งว่าหันกลับมามองว่าใครเป็นผู้ทำร้ายท่าน ท่านยังคงเดินต่อไปเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อเห็นพระเถระไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบอะไรออกมาเช่นนั้น พราหมณ์นั้นก็เกิดความตื่นตระหนก ทั่วร่างกายเกิดความเร่าร้อน จึงได้ก้มลงกราบที่เท้าของท่าน แล้วกล่าวขอขมาโทษว่า “
ขอท่านจงอดโทษแก่กระผมเถิด ขอรับ” เมื่อพระเถระกล่าวยกโทษให้แล้ว พราหมณ์นั้นก็ได้นิมนต์พระเถระไปรับบาตรที่บ้านของเขาในวันรุ่งขึ้น
ในตอนเย็นของวันนั้นเอง ภิกษุทั้งหลาย สนทนากันในธรรมสภาถึงเรื่องที่เกิดขึ้น และพระศาสดาได้ทราบเรื่องนี้แล้วจึงตรัสว่า “
ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์ชื่อว่าประหารพราหมณ์ ย่อมไม่มี แต่พราหมณ์ผู้สมณะจักเป็นผู้ถูกพราหมณ์คฤหัสถ์ประหารได้ ขึ้นชื่อว่าความโกรธนั่นย่อมถึงความถอนได้ ด้วยอนาคามิมรรค”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส
พระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
น พฺราหฺมณสฺส ปหเรยฺย
นาสฺส มุญฺเจถ พฺราหฺมโณ
ธิ พฺราหมณสฺส หนฺตารํ
ตโต ธิ ยสฺส มุญฺจติ ฯน พฺราหฺมณสฺเสตทกิญจิ เสยฺโย
ยทานิเสโธ มนโส ปิเยหิ
ยโต ยโต หึสมโน นิวตฺตติ
ตโต ตโต สมฺมติเมว ทุกฺขํ ฯพราหมณ์ไม่ควรประหารแก่พราหมณ์
ไม่ควรจองเวรแก่เขา
น่าติเตียนพราหมณ์ผู้ประหารพราหมณ์
น่าติเตียนพราหมณ์ผู้จองเวร
ยิ่งกว่าพราหมณ์ผู้ประหารนั้น.
ความเกียจกันใจ จากอารมณ์อันเป็นที่รักทั้งหลายใด
ความเกียจกันนั่น ย่อมเป็นความประเสริฐไม่น้อยแก่พราหมณ์
ใจอันสัมปยุตด้วยความเบียดเบียน ย่อมกลับได้จากวัตถุใดๆ
ความทุกข์ ย่อมสงบได้เพราะวัตถุนั้นๆ นั่นแล.เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
08.เรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตรมีพระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระนางมหาปชาบดีโคตมี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า
ยสฺส กาเยน เป็นต้น
พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระน้านางของพระศาสดา เมื่อพระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์ และเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ 7 วัน พระน้านางพระองค์นี้ก็ได้เป็นพระมเหสีเอกของพระเจ้าสุทโธทนะ ในขณะนั้น เจ้าชายนันทะพระโอรสแท้ๆของพระนางมีพระชนมายุเพียง 5 วัน
พระนางทรงมอบหมายให้พระพี่เลี้ยงนางนมเป็นผู้อภิบาลพระกุมารแท้ๆของพระนาง ส่วนพระนางเองได้ทรงเป็นผู้อภิบาลเจ้าชายสิทธัตถะ ด้วยเหตุนี้พระนางจึงมีอุปการคุณอย่างใหญ่หลวงต่อเจ้าชายสิทธัตถะ
เมื่อพระเจ้าชายสิทธัทธัตถะซึ่งก็คือพระศาสดา เสด็จกลับสู่กรุงกบิลพัสดุ์ ภายหลังจากได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้วนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้ไปเฝ้าพระองค์เพื่อทูลขอให้หญิงทั้งหลายได้รับพระอนุญาตให้บรรพชาเป็นภิกษุณีได้
แต่พระศาสดาได้ทรงปฏิเสธ ต่อมาเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะเสด็จสู่สวรรคาลัยหลังจากที่ทรงได้บรรลุพระอรหัตตผล ในขณะที่พระศาสดาประทับอยู่ที่ป่ามหาวันใกล้กรุงไพศาลี พระนางมหาปชาบดีโคตมี พร้อมด้วยสตรีอื่นอีก 500 นาง ได้พร้อมใจกันเดินเท้าเปล่าไปเฝ้าพระศาสดาที่ป่ามหาวันนั้น โดยสตรีทุกนางได้ปลงผมและสวมใส่ผ้าย้อมด้วยน้ำฝาดไปด้วย ใน
ครั้งที่สองนี้ พระนางมหาปชาบดีโคตมีก็ได้กราบทูลพระศาสดาให้ทรงอนุญาตให้พระนางพร้อมด้วยสตรีทั้ง 500 นางบรรพชาเป็นภิกษุณีเหมือนในครั้งแรก แต่ในครั้งนี้ พระอานนทเถระได้เข้าไปช่วยเจรจาช่วยพระนาง จนพระศาสดาทรงยินยอม โดยมีข้อแม้ว่า พระนางพร้อมด้วยสตรีทั้งหมดนั้น
ต้องรับครุธรรม 8 ประการ เมื่อพระนางและสตรีเหล่านั้นยอมรับเงื่อนไขนั้น ก็ได้รับการบรรพชาเป็นภิกษุณี โดยถือว่าพระนางปชาบดีโคตมีนี้เป็น
ภิกษุณีรูปแรก และสตรีอีก 500 นางก็ได้รับการบรรพชาเป็นนางภิกษุณีตามพระบัญชาของพระศาสดา
เมื่อกาลผ่านไป ภิกษุณีทั้งหลายมีความคิดว่า พระนางมหาปชาบดีโคตรมี เป็นภิกษุณีโดยไม่ถูกต้องเพราะไม่มีพระอุปัชฌายะและพระอาจารย์อื่นใด เป็นการบรรพชาโดยนำผ้ากาสาวพัสตร์มาสวมใส่เท่านั้นเอง ภิกษุณีทั้งหลายจึงยุติทำอุโบสถ และทำปวารณากับพระนาง และได้ไปเข้าเฝ้าพระศาสดา ยกปัญหาเรื่องพระนางปชาบดีโคตมี
ได้รับการบรรพชาโดยไม่ถูกต้องเพราะไม่มีพระอุปัชฌายะขึ้นทูลถามพระศาสดา พระศาสดาตรัสว่า “
ครุธรรม 8 ประการ เราให้แล้วแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี เราเองเป็นอาจารย์ เราเองเป็นอุปัชฌายะของพระนาง ชื่อว่าความรังเกียจในพระขีณาสพทั้งหลาย ผู้เว้นจากทุจริตทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้น อันเธอทั้งหลายไม่ควรทำ”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส
พระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
ยสฺส กาเยน วาจาย
มนสา นตฺถิ ทุกฺกฏํ
สํวุตํ ตีหิ ฐาเนหิ
ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ ฯความชั่วทางกาย วาจา และใจ
ของบุคคลใด ไม่มี
เราเรียกบุคคลนั้น ผู้สำรวมแล้วโดยฐานะ 3
ว่า เป็นพราหมณ์.เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.