‘ข้อควรปฏิบัติเพื่อลดอันตรายและผลข้างเคียงจากการใช้ยา’ - ชีวิตและสุขภาพ
วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2556 เวลา 00:00 น.
-http://www.dailynews.co.th/article/1490/212123-
ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันคนไทยมีการเข้าถึงยาและใช้ยากันมากขึ้น บางคนถึงกับกินยาต่างอาหาร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องกินยาหลายขนานร่วมกัน และจะเห็น
ได้ว่าปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยค่าใช้จ่ายด้านยาคิดเป็นเกือบร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่าถึง 200,000 ล้านบาท
ค่ายาประมาณ 100,000 ล้านบาท นับเป็นมูลค่ามหาศาลและมากกว่าที่ควรจะเป็นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม และความไม่รู้ของประชาชนอยู่
อีกมาก
ด้วยตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาการใช้ยาดังกล่าว ในงานประชุมวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2556 สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นวาระครบ
100 ปีวิชาชีพเภสัชกรรมโรงพยาบาล และเป็นปีที่สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ก่อตั้งมาครบ 24 ปี จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบทบาทวิชาชีพของ
เภสัชกรโรงพยาบาล ในการเป็นผู้ให้ข้อมูลและความรู้ด้านยาแก่ประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้ยาอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยจัดขึ้นที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทย
สมาคมแห่งประเทศไทย ซอยศูนย์วิจัย เมื่อเร็ว ๆ นี้
สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ได้มีการนำเสนอผลการวิจัยเรื่องยาเหลือใช้ ซึ่งทำการศึกษาจากข้อมูลการจ่ายยาในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 4 โรค คือ ความดันโลหิตสูง
เบาหวาน หืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง กว่า 57,916 ราย พบว่า ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 60 มียาเหลือใช้ คิดเป็นมูลค่าประมาณ4% และประมาณการว่ามูลค่ายาเหลือใช้ทั้งประเทศมีประมาณ
4,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดปัญหานี้ได้หากมีความตระหนักและจัดการอย่างเหมาะสม และยังได้มีการนำเสนอการศึกษาเกี่ยวกับ “ความรู้เรื่องยา” ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังครอบคลุม
โรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ จำนวน 3,136 ราย ซึ่งพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องยา โดยร้อยละ 50 ไม่รู้จักชื่อยาที่ตนเองใช้ และมีเพียงร้อยละ 53.6 ที่อ่านฉลาก
ก่อนการใช้ยา
ดังนั้น เพื่อลดอันตรายและผลข้างเคียงจากการใช้ยา ผู้ใช้ยาควรปฏิบัติ ดังนี้
• ผู้ป่วยควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดทุกครั้งก่อนใช้ยา เพราะการไม่อ่านฉลากยา และใช้ยาผิด อาจทำให้เกิดการแพ้ยาอย่างรุนแรงและอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
• ไม่ควรใช้ยาของคนอื่น
• ผู้ที่มียาเหลือใช้อยู่ในบ้านต้องระมัดระวังและจัดเก็บให้ดี เพราะถือเป็นความเสี่ยงใกล้ตัว ถ้าเก็บไม่ถูกวิธีจะกลายเป็นยาเสีย หากมีคนนำไปใช้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะเป็น
อันตรายต่อสุขภาพ
• หากมียาเหลือใช้ที่ยังไม่หมดอายุและอยู่ในสภาพดี ควรเก็บอยู่ในซองยา หรือขวดยาเดิมไว้ในที่เดียวกันและให้พ้นมือเด็ก หรือเก็บในตู้ยา หรือกระเป๋ายาให้พ้นแสงแดด ไม่อยู่ใน
ที่ชื้น
• อย่าเก็บยาในตู้เย็นยกเว้นยาที่มีฉลากระบุไว้
• อย่านำยาเหลือใช้มารวมในซองยา หรือขวดยาเดียวกัน
• อย่าแกะยาออกจากแผงหากยังไม่ใช้
• อย่านำยาเหลือใช้ไปให้คนอื่นใช้ และอย่ากินยาที่คนอื่นให้มา เพราะอาการที่คล้ายกันอาจไม่ได้เกิดจากโรคเดียวกัน ขนาดยาก็อาจไม่เหมาะสม และอาจเกิดอาการแพ้ยาได้อีก
ด้วย
• อย่าใช้ยาที่หมดอายุ หรือยาเสื่อมสภาพ
• ยาเหลือใช้ที่หมดอายุ หรือเสื่อมสภาพ สีเปลี่ยนแล้วให้ทำลายก่อนทิ้ง โดยแกะฉลากที่มีชื่อผู้ป่วย ถ้าเป็นยาเม็ดให้ทุบทำลายและเติมน้ำเล็กน้อย ถ้าเป็นยาน้ำก็ให้เทน้ำผสมลงไป
ส่วนยาที่เป็นครีมหรือขี้ผึ้ง ให้บีบออกจากหลอด จากนั้น นำกากชา ขี้เลื่อย เศษผัก หรือเปลือกผลไม้ ผสมลงไปในถุงเดียวกัน ปิดปากถุงให้สนิท ก่อนนำไปทิ้ง เพื่อไม่ให้คนอื่นนำ
ยาที่ทิ้งนั้นไปใช้ได้อีก
• หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ให้ปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง
และเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยจากการใช้ยามากยิ่งขึ้น ทางสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ได้จัดทำ สมุดบันทึกการใช้ยาประจำตัวผู้ป่วย และ แอพพลิเคชั่น
โปรแกรมบันทึกบัตรแพ้ยาที่สามารถใช้งานบนสมาร์ทโฟน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสะดวกในการบันทึกประวัติแพ้ยาได้ด้วยตนเอง และเภสัชกรผู้ประเมินอาการก็สามารถบันทึกข้อมูล
ผ่านทางมือถือ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องลืมบัตรแพ้ยา นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นดังกล่าวยังมีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการแพ้ยาทั้งในรูปแบบบทความและวิดีโอ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด
แอพพลิเคชั่น “โปรแกรมบันทึกบัตรแพ้ยา” ได้ทาง App store หรือ เว็บไซต์ของสมาคมฯ
www.thaihp.org โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ข้อมูลจาก เภสัชกรสมชัย วงศ์ทางประเสริฐ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
http://www.dailynews.co.th/article/1490/212123.