พระพุทธองค์ตรัสว่า ความสุดโต่งของมนุษย์ มี ๒ ด้าน คือ ความพอใจสุดโต่ง และความไม่พอใจสุดโต่ง มนุษย์ส่วนมากจะตกไปอยู่ในที่สุด ๒ ด้านนี้ตลอด ความพอใจก็คือความโลภ ความไม่พอใจก็คือความโกรธ ตามความพอใจกับไม่พอใจไม่ทันก็คือความหลง ชีวิตของคนเราจึงไปหลงพอใจไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา ไม่มีโอกาสพบความพอดีในชีวิต ความพอดีของชีวิตก็คือหลักทางสายกลาง หรือหลักความจริง รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต ไม่ไปเกี่ยวข้องกับความพอใจ ไม่พอใจ กฎธรรมชาติ ๒ กฎที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ กฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ เกิดขึ้น คงอยู่ ดับไป และกฎของเหตุปัจจัย ในโลกนี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ มีเหตุปัจจัยให้เกิดเสมอ..
****************
พุทธวจน..ทางพ้นทุกข์"
พาหิยะ เมื่อใดเธอเห็นรูปแล้ว สักว่าเห็น
เมื่อใดฟังเสียงแล้ว สักว่าฟัง
ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางผิวกาย
ก็สักว่า ดม ลิ้ม สัมผัส
ได้รู้แจ้งธรรมมารมณ์ ก็สักว่าได้รู้แจ้งแล้ว
เมื่อนั้นเธอจัก ไม่มี เมื่อใดเธอ ไม่มี
เมื่อนั้นเธอก็ไม่ปรากฏในโลกใบนี้ ไม่ปรากฏในโลกอื่น
ไม่ปรากฏในระหว่างแห่งโลกทั้งสองนั่นละ.. ที่สุดแห่งทุกข์ละ
******************************
..ในหลักธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น ท่านวางหลักในเรื่องนี้ไว้ว่า..
“อตีตํ นานวาคเมยฺย นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ ปจฺจุปฺปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ”
บอกว่า อย่าคิดถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว อย่าคิดถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ให้เพ่งพิจารณาในเรื่องนั้น
เพื่อให้รู้ชัดเห็นชัดตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ อันนี้เป็นหลักการอันหนึ่ง ซึ่งเราน่าจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา..
สิ่งใดที่มันผ่านไปแล้วก็ปล่อยไป ช่างมันเถอะผ่านพ้นไปแล้ว เราจะไปคิดถึงสิ่งนั้นทำไม ให้มันเป็นอดีตไป อดีตมันก็ผ่านพ้นไปแล้วปัจจุบันมันก็ผ่านพ้นไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง แต่ถ้ามาถึงเข้า เราก็พิจารณาต่อไปด้วยปัญญาว่าสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นแก่เรา แต่ว่าสิ่งนี้มันไม่เที่ยงมันมีความเปลี่ยนแปลง คอยดูว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไป ให้เราทำตนเป็นคนดูด้วยปัญญา อย่าดูด้วยความยึดมั่นถือมั่น อย่าดูด้วยความหลงผิดในเรื่องนั้นๆ จิตใจเราก็จะสบายขึ้นไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ..
นี้เป็นประการหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหา คือความไม่ สบายใจ
หรือว่าความเหน็ดเหนื่อยใจที่เกิดขึ้น ให้พอคลายไปได้ จากการคิดนึกในรูปอย่างนี้..
********************
ภารา หเว ปัญจักขันธา = ขันธ์ทั้งห้า เป็นภาระหนักเน้อ
ภาระหาโร จะ ปุคคะโล = บุคคลนั่นแหละเป็นผู้แบกของหนักพาไป
ภาราทานัง ทุกขัง โลเก = การยึดถือของหนักไว้เป็นความทุกข์ในโลก
ภาระ นิกเขปะนัง สุขัง = การสลัดของหนักลงเสียได้เป็นความสุข
นิกขิปิตวา คะรุง ภารัง = พระอริยเจ้าสลัดทิ้งของหนักลงเสียแล้ว
อัญญัง ภารัง อนาทิยะ = ทั้งไม่หยิบฉวยเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีก
สะมูลัง ตัณหัง อัพพุยหะ = ก็เป็นผู้ถอนตัณหาขึ้นได้ กระทั่งราก
นิจฉาโต ปะรินิพพุโต = เป็นผู้หมดสิ่งปรารถนา ดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ
******************
"การทำจิตให้ไม่ตกอยู่ในความประมาท" ก็คือ การไม่หลงไปตามสิ่งที่มากระทบสัมผัส ไม่ให้เกิดความพอใจ ไม่พอใจ จนกลายเป็นหลง การที่จะดับความพอใจไม่พอใจและความหลง ได้นั้นต้องดับด้วยความจริง เพราะความพอใจไม่พอใจเป็นความเห็น ความจริงที่จะนำมาดับความพอใจไม่พอใจได้นั้น คือ ความจริงของโลกและชีวิต ..
*************************
"เหตุที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน"
"พระกิมพิละกราบทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แล้วอะไรเล่าหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นานในเมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว" "ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ เคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา เคารพยำเกรงกันแลกัน. นี้แล กิมพิละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรม ตั้งอยู่ได้นานในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว."
;..ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๕
*****************
"ผู้มีศรัทธา.." ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนามีสี่อย่าง คือ..
"กัมมสัทธา" เชื่อกรรม เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่า เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อว่าผลที่ต้องการ จะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น
"วิปากสัทธา" เชื่อวิบาก เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วย่อมมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว
"กัมมัสสกตาสัทธา" เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบาก เป็นไปตามกรรมของตน
"ตถาคตโพธิสัทธา" เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดีก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ทรงบำเพ็ญไว้..
wat nantaram Chiang Kham.
สนทนาธรรมตามกาล