ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธศาสนสุภาษิต  (อ่าน 13018 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธศาสนสุภาษิต :หมวดความไม่ประมาท
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: สิงหาคม 23, 2013, 11:57:08 am »

หมวดความไม่ประมาท

ความไม่ประมาท เป็นทางแห่งความไม่ตาย
ผู้ไม่ประมาท ย่อมไม่ตาย
ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท
ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม
บัณฑิตย่อมบันเทิงในความไม่ประมาท

บัณฑิตย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท
บัณฑิตผู้ไม่ประมาท ย่อมได้รับประโยชน์ทั้งสอง
ผู้ไม่ประมาทพินิจอยู่ ย่อมถึงสุขอันไพบูลย์
ปราชญ์ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนทรัพย์ประเสริฐสุด
คนมีปัญญา พึงสร้างเกาะที่น้ำหลากมาให้ท่วมไม่ได้ ด้วยความหมั่น ความไม่ประมาท ความสำรวม และความข่มใจ

ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาท ย่อมเผาสังโยชน์น้อยใหญ่ไป เหมือนไฟไหม้เชื้อน้อยใหญ่ไปฉะนั้น
ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาท เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะเสื่อม ชื่อว่าอยู่ใกล้พระนิพพานทีเดียว
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลดีงาม ตั้งความดำริไว้ให้ดี คอยรักษาจิตใจของตน
คนมีปัญญาดีไม่ประมาทในเมื่อผู้อื่นประมาท มักตื่นในเมื่อผู้อื่นหลับ ย่อมละทิ้งผู้ประมาท (คนโง่) เหมือนม้าฝีเท้าเร็ว ทิ้งม้าไม่มีกำลังไปฉะนั้น
ท่านทั้งหลาย จงยินดีในความไม่ประมาท คอยรักษาจิตของตน จงถอนตนขึ้นจากหล่ม เหมือนช้างที่ตกหล่มถอนตนขึ้นฉะนั้น

ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ละความนับถือมั่นว่าของเราได้แล้วเที่ยวไป เป็นผู้รู้ พึงละชาติ ชรา โสกะ ปริเทวะ และทุกข์ ในโลกนี้ได้
ยศย่อมเจริญแก่ผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วทำ ระวังดีแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม และไม่ประมาท

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธศาสนสุภาษิต :หมวดตน- ฝึกตน
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: สิงหาคม 23, 2013, 12:12:10 pm »

หมวดตน- ฝึกตน

บุคคลไม่ควรลืมตน
ตนนั่นแหละเป็นที่รักยิ่ง
ผู้ประพฤติดี ย่อมฝึกตนอยู่เป็นนิจ
ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน
ชนะตนนั่นแหละ เป็นดี

ตระเตรียมตนให้ดีเสียก่อนแล้ว ต่อไปจะได้สิ่งอันเป็นที่รัก
รู้ตนว่าเป็นคนเช่นใด เหล่าเทพไท้ก็รู้เช่นนั้น
ผู้ฝึกตนได้ เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์
ไม่ควรพร่าประโยชน์แห่งตน เพราะประโยชน์ผู้อื่นแม้จะมีมาก
แน่ะ บุรุษ จริงหรือเท็จ ตัวท่านเองย่อมรู้

ฝึกตนได้แล้วจึงควรฝึกคนอื่น
จงถอนตนขึ้นจากหล่ม เหมือนช้างตกหล่มถอนตนขึ้นฉะนั้น
ติตนเองเพราะเหตุใด ไม่ควรทำเหตุนั้น
ได้ยินมาว่า ตัวเราฝึกได้ยาก
ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ไม่ควรประกอบตนนั้นด้วยความชั่ว

ควรรักษาตนนั้นไว้ให้ดี
ความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตัว
จงเป็นผู้ตามรักษาตน อย่าให้เดือดร้อน
อย่าฆ่าตัวเองเสียเลย
บัณฑิตพึงทำตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองจิต

เป็นที่รู้กันว่า ตนนี่แหละ ฝึกได้ยาก
ความผิดของตน มองเห็นได้ยาก
ทำบาปเอง ย่อมเศร้าหมองเอง
ไฉนจึงดูถูกตัวเองเล่า
ทุกท่านสามารถทำดีได้

พึงขวนขวายในเป้าหมายของตน
ตนมีทางไป เป็นของตน
ติตนด้วยข้อใด อย่าทำข้อนั้นเสียเอง
บัณฑิต ย่อมฝึกตน
บุรุษไม่พึงให้ซึ่งตนเอง

รักอื่นเสมอด้วยรักตน นั้นไม่มี
ไม่พึงอาศัยผู้อื่นยังชีพ
คนชั่วฆ่าตัวเองก่อน ภายหลังจึงฆ่าคนอื่น
ความผิดของผู้อื่นเห็นได้ง่าย
จงเตือนตนด้วย ตนเอง
บุรุษ ไม่พึงสละเสียซึ่งตัวเอง

ตนที่ฝึกดีแล้ว เป็นความโชติช่วงแห่งคน
ตนแล เป็นคติของตน
ความรักอื่น เสมอด้วยความรักตนเองไม่มี
คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้
จงพิจารณาตนด้วยตนเอง

ไม่ควรเอาตัวไปพัวพันกับความชั่ว
คนมิได้เป็นโจรเพราะคำของคนอื่น มิได้เป็นมุนีเพราะคำของคนอื่น
ตนไม่ทำบาปเอง ย่อมหมดจดเอง
ผู้มีตน ฝึกตนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งซึ่งได้ยาก
ชื่อว่าที่ลับ ไม่มีในโลก

บัณฑิตไม่ควรขุดโค่นความดีของตนเสีย พึงรักษาตนไว้ให้ได้ทุกเมื่อ
กำหนดประโยชน์ที่หมายของตนให้แน่ชัด แล้วพึงขวนขวายแน่วในจุดหมายของตนนั้น
ผู้ใดรักษาตนได้ ภายนอกของผู้นั้นก็เป็นอันได้รับการรักษาด้วย
ท่านเอ๋ย ท่านก็สามารถทำดีได้ ไยจึงมาดูหมิ่นตัวเองเสีย
การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ถึงจะมากก็ไม่ควรให้เป็นเหตุ ทำลายประโยชน์ที่เป็นจุดหมายของตน

จงอยู่อย่างมีหลักยึดเหนี่ยวใจ อย่าเป็นคนไร้ที่พึ่ง
ตนทำชั่ว ตัวก็เศร้าหมองเอง ตนไม่ทำชั่ว ตัวก็บริสุทธิ์เอง
มัวพะวงอยู่ว่า นี่ของเราชอบ นี่ของเรารัก แล้วปล่อยปละละเลยตนเองเสีย คนอย่างนี้จะไม่ได้ประสบสิ่งที่ชอบสิ่งที่รักเลย
โทษคนอื่นเที่ยวกระจาย เหมือนโปรยแกลบ แต่โทษตนปิดไว้ เหมือนพรานนกเจ้าเล่ห์แฝงตัวบังกิ่งไม้
โทษคนอื่น เห็นง่าย แต่โทษตนเองเห็นยาก

ผู้ใดมีความไร้ศีลธรรมครอบคลุม เหมือนย่านทรายคลุมไม้สาละ ผู้นั้นชื่อว่าทำตนเหมือนถูกผู้ร้ายคุมตัว
บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน แล้วจึงสอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง
ชัยชนะใดกลับแพ้ได้ ชัยชนะนั้นไม่ดี ชัยชนะใดไม่กลับแพ้ ชัยชนะนั้นแลเป็นชัยชนะที่ดี
ถ้าสอนผู้อื่นฉันใด พึ่งทำตนฉันนั้น ผู้ฝึกตนดีแล้ว ควรฝึกผู้อื่น ได้ยินว่าตนแลฝึกยาก
สิ่งที่รักอื่นเสมอด้วยตนไม่มี ทรัพย์อื่นเสมอด้วยข้าวเปลือกไม่มี แสงสว่างอื่นเสมอด้วยปัญญาไม่มี ฝนแลเป็นสระที่ใหญ่

กรรมไม่ดี และไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ทำได้ง่าย ส่วนกรรมใดดีและเป็นประโยชน์ กรรมนั้นแลทำได้ยากอย่างยิ่ง
ถึงผู้ใดจะชนะเหล่าชนได้พันคนพันครั้งในสงคราม ก็หาชื่อว่าผู้ชนะยอดเยี่ยมไม่ ส่วนผู้ใดชนะตนคนเดียว ผู้นั้นแลชื่อว่าผู้ชนะยอดเยี่ยมในสงคราม
ไม่ควรใส่ใจคำแสลงหูของผู้อื่น ไม่ควรแส่มองธุระที่เขาทำและยังไม่ทำ ควรตั้งใจตรวจตราหน้าที่ของตนนี่แหละ ทั้งที่ทำแล้วและยังไม่กระทำ
ตนเองนี่แหละสำคัญกว่า สำคัญกว่าเป็นไหนๆ ตระเตรียมตนไว้ให้ดีก่อนแล้ว ต่อไปก็จะได้สิ่งที่รัก

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธศาสนสุภาษิต :หมวดมิตร
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: สิงหาคม 23, 2013, 12:23:47 pm »

หมวดมิตร

มีมิตรเลวมีเพื่อนเลว ย่อมมีมารยาทเลวและที่เที่ยวเลว
เมื่อความต้องการเกิดขึ้น สหายเป็นผู้นำสุขมาให้
ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมมีผู้บูชาในที่ทั้งปวง
ความเป็นสหายไม่มีในคนพาล
มารดาเป็นมิตรในเรือนตน

มารดาบิดา ท่านเรียกว่าเป็นพรหม
คนคุ้นเคย ไว้ใจกันได้ เป็นญาติอย่างยิ่ง
หมู่เกวียน เป็นมิตรของคนเดินทาง
ถ้าได้สหายเป็นผู้รอบคอบ พึงพอใจและมีสติเที่ยวไปกับเขา
สหายเป็นมิตรของคนผู้มีความต้องการเกิดขึ้นเนืองๆ

ผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวแท้
ภริยาเป็นเพื่อนสนิท
ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมผ่านพ้นศัตรูทั้งปวง
ถ้าไม่ได้สหายผู้รอบคอบ พึงเที่ยวไปคนเดียวและไม่พึงทำความชั่ว
ความดีที่ทำไว้เอง เป็นมิตรตามตัวไปเบื้องหน้า

ประโยชน์ที่มุ่งหมายทุกอย่างของผู้มีมิตรพรั่งพร้อม ย่อมจะสัมฤทธิ์ผลเหมือนโชคช่วย
ลูกที่ไม่เลี้ยงพ่อแม่เมื่อแก่เฒ่า ไม่นับว่าเป็นลูก
มารดาบิดา เป็นอาหุไนยบุคคลของบุตร
บุตร คือฐานรองรับของมวลมนุษย์
มารดาบิดา ท่านเรียกว่าเป็นบูรพาจารย์ (ครูคนแรกของบุตร)

-ความเคารพรักบำรุงมารดา นำมาซึ่งความสุขในโลก
-มิตร เมื่อระลึกถึงธรรมแล้ว ไม่ยอมทอดทิ้งมิตร ในยามมีทุกข์ภัยถึงชีวิต ข้อนี้เป็นธรรมของสัตบุรุษโดยแท้
-เดินร่วมกัน ก้าว ก็นับว่าเป็นมิตร เดินร่วมกัน ก้าว ก็นับว่าเป็นสหาย อยู่ร่วมกันสักเดือนหรือ กึ่งเดือน ก็นับว่าเป็นญาติ ถ้านานเกินกว่านั้นไป ก็เหมือนกับเป็นตัวเอง แล้วเช่นนี้ จะให้เราละทิ้งนายกาฬกัณณีที่คุ้นเคยกันมานานแล้ว เพราะเห็นแก่ความสุขส่วนตัวได้อย่างไร
-มีญาติพวกพ้องมาก ย่อมเป็นการดี เช่นเดียวกับต้นไม้ในป่าที่มีจำนวนมาก ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่โดดเดี่ยว ถึงจะงอกงามใหญ่โตสักเท่าใด ลมก็พัดให้โค่นลงได้
-บัณฑิตย่อมปราถนาบุตรที่เป็นอภิชาต หรืออนุชาต ย่อมไม่ปราถนาอวชาตบุตร ซึ่งเป็นผู้ทำลายตระกูล

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธศาสนสุภาษิต :หมวดคบหา
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: สิงหาคม 23, 2013, 12:39:40 pm »

หมวดคบหา

คบคนเช่นใด ย่อมเป็นคนเช่นนั้น
ควรคบมิตรที่ดี
แม้ในมิตรก็ไม่ควรไว้ใจ
อยู่ร่วมกันนานเกินไป ที่เคยรักก็มักหน่าย
เป็นเพื่อนเพียงเพื่อดื่มเหล้าก็มี

ผู้คบคนเลว ย่อมพลอยเลวไปด้วย
เมื่อเขาไม่มีเยื่อใย ป่วยการอยู่กินด้วย
อย่าสมาคมกับคนพาลซึ่งเป็นดังศัตรูทุกเมื่อ
โจรพาลอยู่ในที่ใด บัณฑิตไม่ควรอยู่ในที่นั้น
ผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลว

คบคนดี ก็พลอยมีส่วนดีด้วย
ควรระแวงในศัตรู
ปราชญ์ย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ
เมื่อคบคนที่ดีกว่า ตัวเองก็ดีขึ้นมาฉับพลัน
ผู้เที่ยวสมาคมกับคนพาล ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน

คนเป็นมิตรแต่ปากก็มี
นักปราชญ์มีการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นสุข
ไม่ควรไว้ใจคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว
มิตรชั่วไม่ควรคบ
ไม่ควรไว้ใจคนที่แสร้งทำสงบเสงี่ยม

ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง
ผู้ไม่คบหาคนชั่ว ย่อมได้รับสุขแต่ส่วนเดียว
อยู่ในพวกข้าศึกศัตรูเพียงคืนเดียวหรือสองคืน ก็เป็นทุกข์
คนที่ทำดีแต่ภายนอก ภายในมักไม่บริสุทธิ์
มีศัตรูเป็นบัณฑิต ดีกว่ามีมิตรเป็นคนพาล

ไม่ควรไว้ใจคนพูดพล่อยๆ
ไม่ควรไว้ใจในคนไม่คุ้นเคย แม้ในคนคุ้นเคยก็ไม่ควรไว้ใจ
คนพาล คบเป็นเพื่อนไม่ได้
ไม่ควรสนิทสนมกับคนชั่ว
ไม่ควรไว้ใจคนทำบาป

เมื่อคบหาคนพาล ย่อมมีแต่ความฉิบหาย
เพียงเห็นกันชั่วครู่ชั่วยาม ไม่พึงไว้วางใจ
สมาคมกับสัตบุรุษย่อมนำสุขมาให้
คบคนเช่นใด ก็เป็นคนเช่นนั้น
สมาคมกับคนพาลย่อมนำทุกข์มาให้

เพราะความไว้ใจภัยจึงตามมา
ศัตรูจำนวนมาก คบหาแฝงมาในรูปมิตร
สมาคมกับคนชั่ว ไม่ดีเลย
ถึงคนคุ้นเคย ก็ไม่ควรวางใจ
เมื่อเกิดเรื่องราวขึ้น สหายช่วยให้เกิดสุข

การอยู่ร่วมกับคนชั่ว เป็นทุกข์
คบคนดี มีแต่ความเจริญ
ไม่ควรทำความสนิทสนมกับคนชั่ว
ไม่ควรไว้ใจ ในคนไม่คุ้นเคย
ควรระแวงในศัตรู แม้ในมิตรก็ไม่ควรไว้ใจ

ไม่ควรคบคนเลวทราม นอกจากเพื่อให้ความช่วยเหลือ
คนเป็นเพื่อนแต่เวลาดื่มเหล้า ก็มี เป็นเพื่อนแต่ปากว่า ก็มี
อยู่ร่วมกับปราชญ์นำสุขมาให้ เหมือนสมาคมกับญาติ
ส่วนผู้ใดเป็นสหายในเมื่อเกิดเรื่องต้องการ ผู้นั้นแล คือเพื่อนแท้
คนพาล ถึงอยู่ใกล้บัณฑิต จนตลอดชีวิต ก็ไม่รู้แจ้งธรรม เสมือนทัพพี ที่ไม่รู้รสแกง

การอยู่ร่วมกับคนพาลเป็นทุกข์ เหมือนอยู่ร่วมกับศัตรูตลอดเวลา
คนจำพวกที่งามแต่ภายนอก ภายในไม่สะอาด มีบริวารกำบังตัวไว้ ก็ยังแสดงบทบาทอยู่ในโลก
ถ้าไม่ได้สหายที่มีปัญญาปกครองตน พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่พึงทำความชั่ว
ถ้าได้สหายผู้มีปัญญาปกครองตน พึงพอใจมีสติเที่ยวไปกับเขา
คนห่อกฤษณาด้วยใบไม้ แม้ใบไม้ก็หอมไปด้วยฉันใด การคบกับนักปราชญ์ก็หอมไปด้วยฉันนั้น

ภิกษุผู้ฟุ้งซ่าน คลอนแคลน อาศัยมิตรชั่ว ถูกคลื่นท่วมทับ (อดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้) ย่อมจมลงในห้วงน้ำใหญ่
บัณฑิตไม่พึงคบอสัตบุรุษ พึงคบแต่สัตบุรุษ เพราะอสัตบุรุษย่อมนำไปสู่นรก สัตบุรุษย่อมนำไปสู่สุคติ
ควรคบกับคนที่คบตน ไม่ควรคบคนที่ไม่คบตน ผู้ใดไม่คบคนที่คบตน ผู้นั้นชื่อว่าไม่มีธรรมของสัตบุรุษ
ผู้คบคนชั่ว ย่อมถึงความสุขโดยส่วนเดียวไม่ได้ เขาย่อมยังตนให้ประสบโทษ เหมือนกิ้งก่าเข้าฝูงเหี้ยฉะนั้น
ผู้ปรารถนาความสุขที่มั่นคง พึงเว้นมิตรชั่วเสีย คบแต่บุคคลสูงสุด และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน

ปราชญ์มีการอยู่ร่วมเป็นสุข เหมือนสมาคมแห่งชาติ
พึงสมาคมกับสัตบุรุษ พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ ผู้นั้นรู้ทั่วถึงสัทธรรมของสัตบุรุษแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
บุคคลควรคบผู้เลื่อมใสเท่านั้น ควรเว้นผู้ไม่เลื่อมใส ควรเข้าไปนั่งใกล้ผู้เลื่อมใส เหมือนผู้ต้องการน้ำเข้าไปหาห้วงน้ำฉะนั้น
คบคนเช่นใดเป็นมิตร เขาก็เป็นคนเช่นนั้น เพราะการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้น
พึงเป็นผู้ใคร่ธรรม ทรงไว้ซึ่งสุตะเป็นผู้สอบถาม เข้าไปนั่งใกล้ท่านผู้มีศีล และเป็นพหุสูตโดยเคารพ

-จิตจอดอยู่กับใคร ถึงไกลกัน ก็เหมือนอยู่ชิดใกล้ ใจหมางเมินใคร ถึงใกล้กัน ก็เหมือนอยู่แสนไกล
-วิญญูชน หากเข้าใกล้บัณฑิตแม้เพียงครู่เดียว ก็รู้ธรรมได้ฉับพลัน เสมือนลิ้นที่รู้รสแกง
-คนห่อปลาเน่าด้วยใบหญ้าคา แม้หญ้าคาก็พลอยเหม็นเน่าไปด้วยฉันใด การคบกับคนพาลก็เป็นคนพาลฉันนั้น
-ไม่ควรไว้ใจคนที่ทำชั่วมาแล้ว ไม่ควรไว้ใจคนที่พูดพล่อยๆ ไม่ควรไว้ใจคนที่เห็นแก่ตัว (คนที่มีปัญญาแต่เพื่อประโยชน์ของตัว) ถึงคนที่ทำสงบเสงี่ยมเกินไป ก็ไม่ควรไว้ใจ
-พึงแนะนำตักเตือนเถิด พึงพร่ำสอนเถิด พึงห้ามปรามจากความชั่วเถิด คนที่ทำเช่นนั้น ย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษ และไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษ

-ผู้ใด แม้หากมิได้กระทำความชั่ว แต่คบหาเกลือกกลั้วกับผู้กระทำบาป ผู้นั้นย่อมพลอยถูกระแวงในกรรมชั่ว อีกทั้งเสียงเสื่อมเสียย่อมเกิดขึ้นแก่เขา
-พึงมองเห็นคนมีปัญญาที่ชอบชี้โทษ พูดจาข่มขี่ เสมือนเป็นผู้บอกขุมทรัพย์ พึงคบคนที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้นแหละ เมื่อคบคนเช่นนั้นย่อมมีแต่ดี ไม่มีเสียเลย
-ในกาลไหนๆผู้คบคนเลว ย่อมเลว คบคนเสมอกันไม่พึงเสื่อม คบหาคนประเสริฐย่อมพลันเด่นขึ้น เหตุนั้นควรคบคนที่สูงกว่าตน
-บัณฑิตพึงทำความเป็นเพื่อนกับคนมีศรัทธา มีศีลเป็นที่รัก มีปัญญาและเป็นพหุสูต เพราะการสมาคมกับคนดีเป็นความเจริญ
-บัณฑิตไม่ควรทำความเป็นเพื่อนกับคนส่อเสียด คนมักโกรธ คนตระหนี่ และคนเพลิดเพลินในสมบัติ เพราะการสมาคมกับคนชั่ว เป็นความเลวทราม

-ปราชญ์ย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ไม่ชวนทำสิ่งที่มิใช่ธุระ การแนะนำดี เป็นความดีของปราชญ์ ปราชญ์ถูกกล่าวว่าโดยชอบก็ไม่โกรธ ปราชญ์ย่อมรู้วินัย การสมาคมกับปราชญ์จึงเป็นการดี
-ถ้าใจรักแล้ว ถึงอยู่ห่างคนละฝั่งฟากสมุทร ก็เหมือนอยู่สุดแสนใกล้ ถ้าใจชังแล้ว ถึงอยู่สุดแสนใกล้ ก็เหมือนอยู่ไกลคนละฟากมหาสมุทร

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธศาสนสุภาษิต :หมวดสร้างตัว
« ตอบกลับ #14 เมื่อ: สิงหาคม 23, 2013, 12:46:25 pm »

หมวดสร้างตัว

บุคคลตั้งตัวให้ได้ เหมือนก่อไฟจากกองน้อย
บุคคลพึงหาเลี้ยงชีพ โดยทางชอบธรรม
บุคคลพึงประกอบการค้าที่ชอบธรรม
บุคคลไม่พึงหาทรัพย์ด้วยการคดโกง
จงทำงานให้สมกับอาหารที่บริโภค

จงเก็บรวบรวมทรัพย์สิน เหมือนผึ้งเที่ยวรวมน้ำหวานสร้างรัง
ถึงไม่ได้ แต่ชอบธรรม ยังดีกว่าได้โดยไม่ชอบธรรม
ขยัน เอาธุระ ทำเหมาะจังหวะ ย่อมหาทรัพย์ได้
ทรัพย์สินย่อมพอกพูนขึ้นได้ เหมือนดังก่อจอมปลวก
การงานไม่คั่งค้างสับสน เป็นมงคลอย่างสูงสุด

โภคะของใคร ไม่ว่าสตรีหรือบุรุษ ที่จะสำเร็จเพียงด้วยคิดเอา ย่อมไม่มี
ความอุบัติแห่งผล ย่อมมีได้ด้วยการกระทำของตน
ชีวิตจะอยู่ได้ที่ไหน พึงไปที่นั้น ไม่พีงให้ที่อยู่ฆ่าตนเสีย
คนที่ขยันในหน้าที่ ไม่ประมาท เอาใจใส่สอดส่อง ตรวจตรา จัดการงานให้เรียบร้อย เป็นอันดี จึงควรเข้ารับราชการ
ขยันงาน ไม่ประมาท ฉลาดในวิธีจัดการ เลี้ยงชีวิตแต่พอดี ย่อมรักษาทรัพย์สมบัติ ให้คงอยู่ และเพิ่มทวี

การได้ยศ การได้ลาภ การเลี้ยงชีพ ด้วยการยอมลดคุณค่าของชีวิต หรือด้วยการประพฤติอธรรม เป็นสิ่งน่ารังเกียจ
ผลประโยชน์ทั้งปวง ตั้งอยู่ที่หลัก ประการ คือการได้สิ่งที่ยังไม่ได้ และการรักษาสิ่งที่ได้แล้ว
คนมีปัญญา ประกอบด้วยความรู้ ฉลาดในวิธีจัดงาน รู้จักกาล รู้จักสมัย จึงควรเข้ารับราชการ
คนใดชอบนอน ชอบมั่วสุม ไม่เอางาน เกียจคร้าน เอาแต่โกรธ งุ่นง่าน นั้นคือปากทางของความเสื่อม

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธศาสนสุภาษิต :หมวดการปกครอง
« ตอบกลับ #15 เมื่อ: สิงหาคม 24, 2013, 01:15:55 am »

                 

หมวดการปกครอง

ผู้มีภาระปกครองรัฐ จงอย่าได้ประมาทเลย
ถ้าผู้ปกครองทรงธรรม ประเทศชาติก็เป็นสุข
การอยู่ในอำนาจของผู้อื่น เป็นทุกข์ทั้งสิ้น
พึงระแวง สิ่งที่ควรระแวง
ผู้ปกครองชอบธรรมจึงจะดี

ผู้บริหารโง่ ถึงจะเข้มแข็ง ก็ไม่ดี
พึงยกย่องคนที่ควรยกย่อง
เมื่อมีความประมาท ก็เกิดความเสื่อม
เมื่อมีความเสื่อม ก็เกิดโทษประดัง
สักการะฆ่าคนชั่วได้

พึงป้องกันภัยที่ยังมาไม่ถึง
อิสรภาพ เป็นสุขทั้งสิ้น
คนพาล เป็นผู้นำไม่ได้
เมื่อมีความมัวเมา ก็เกิดความประมาท
ยกย่องผู้ควรยกย่องเป็นอุดมมงคล

ผู้บริหารฉลาดและเข้มแข็ง จึงจะดี
พึงข่มคนที่ควรข่ม
ผู้ปกครองที่ฉลาด พึงแสวงสุขเพื่อประชาชน
ผู้ถือความถูกต้องเป็นใหญ ได้ชื่อว่าผู้เที่ยงธรรม
ผู้เป็นใหญ่ไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ย่อมตกจากอำนาจ

โสดาปัตติผลประเสริฐกว่าความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
ถึงจะเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นมา ก็ควรมีความถ่อมตน
ท่านผู้ครองแผ่นดิน ทั้งหลาย การที่ทำโดยผลีผลามจะแผดเผาตัวได้
อย่าสำคัญตนว่า เรามีอำนาจยิ่งใหญ่ แล้วทำให้ประชาชนพลอยพินาศ
คนที่เป็นใหญ่ จะต้องใคร่ครวญให้ดีก่อน จึงลงโทษ

อำนาจเป็นใหญ่ในโลก
ถึงมีกำลังพลน้อย แต่มีความคิด ก็เอาชนะกองทัพใหญ่ที่ไร้ความคิดได้
ราชา เป็นสง่าแห่งแคว้น
ผู้บริหารหมู่ชน เป็นปราชญ์ และมีกำลังเข้มแข็งจึงจะเป็นผลดี
ผู้บริหารหมู่คณะ ถึงจะมีกำลังอำนาจ แต่เป็นคนพาลย่อม ไม่เป็นผลดี

ผู้ปกครองต้องทราบรายได้รายจ่ายด้วยตนเอง ต้องทราบกิจการที่ทำแล้ว และยังมิได้ทำด้วยตนเอง
ในแว่นแคว้นของราชาผู้มีเมตตา มีธรรมมั่นคง ประชาชนจะนอนเป็นสุข เหมือนนอนอยู่ในบ้านของตัว ในร่มเงาอันเย็นสบาย
ผู้ครองแผ่นดินที่เจ้าสำราญ แส่หาแต่กามารมณ์ โภคทรัพย์จะพินาศหมด นี่แลที่เรียกว่าทุกข์ภัยของผู้ครองแผ่นดิน
เมื่อผู้ครองแผ่นดินประมาท โภคทรัพย์ในรัฐทั้งหมดย่อมพินาศ นี่แลเรียกว่าทุกข์ภัยของผู้ครองแผ่นดิน
ผู้ใดไม่รู้เท่าทันเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้โดยพลัน ผู้นั้นจะหลงเข้าไปในอำนาจของศัตรู และจะเดือดร้อนภายหลัง

-เมื่ออนารชนก่อกรรมชั่ว อารชนใช้อาชญาหักห้าม การกระทำนั้น เป็นการสั่งสอน หาใช่เป็นเวรไม่ บัณฑิตทั้งหลายเข้าใจกันอย่างนี้
-ดูเถิดมหาราช พระองค์จงเสด็จเที่ยวสดับ ดูความเป็นอยู่ ความเป็นไปในแว่นแคว้นแดนชนบท ครั้นได้เห็นได้ฟังแล้ว จึงปฎิบัติราชกิจนั้นๆ
-เริ่มแรก แก้ไขข้อที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนให้เสร็จ ระงับความโกรธกริ้วและความบันเทิงไว้ก่อน จากนั้นจึงสั่งงาน ข้อนี้นักปราชญ์กล่าวว่าเป็นวัตร(ระเบียบปฎิบัติ) ของผู้ปกครอง
-ชาวชนบทไม่ได้รับการพิทักษ์รักษา ถูกกดขี่ด้วยค่าธรรมเนียมโดยไม่ชอบธรรม กลางคืนโจรปล้น กลางวันข้าราชการข่มเหง ในแว่นแคว้นผู้ปกครองชั่วร้าย ย่อมมีคนอาธรรม์มากมาย

-เมื่อฝูงโคว่ายข้ามฟากอยู่ ถ้านำโคฝูงไปตรง โคทั้งหมดย่อมว่ายตรงไปตาม ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น ผู้ใดได้รับแต่งตั้งเป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติธรรม ประชาชนที่เหลือก็เป็นอันไม่ต้องกล่าวถึง ถ้าราชาตั้งอยู่ในธรรม รัฐทั้งหมดย่อมอยู่เป็นสุข
-เมื่อฝูงโคว่ายข้ามฟากอยู่ ถ้านำฝูงไปคด โคทั้งหมดก็ว่ายคดไปตาม ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น ผู้ใดได้รับแต่งตั้งเป็นใหญ่ ถ้าประพฤติอธรรม จะป่วยกล่าวไปไยถึงประชาชนที่เหลือ ถ้าราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม รัฐทั้งหมดย่อมอยู่เป็นทุกข์
-ผู้ใดทำความชั่วด้วยสำคัญตัวว่า เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ครั้นทำแล้ว ก็ไม่หวั่นเกรงต่อคนทั้งหลาย ผู้นั้นจะดำรงชีพอยู่ยืนยาวด้วยความชั่วนั้นก็หาไม่ แม้เทพทั้งหลาย ก็มองดูเขาด้วยนัยน์ตาอันเหยียดหยาม

มีต่อค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 26, 2013, 12:56:33 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธศาสนสุภาษิต :หมวดสามัคคี
« ตอบกลับ #16 เมื่อ: สิงหาคม 24, 2013, 01:25:25 am »

หมวดสามัคคี

สามัคคีของหมู่ทำให้เกิดสุข
จงสามัคคีมีน้ำใจต่อกัน
ความเพียรของหมู่ชนผู้พร้อมเพรียงกันทำให้เกิดสุข
สุกรทั้งหลายพร้อมเพรียงกันยังฆ่าเสือโคร่งได้ เพราะใจรวมเป็นอันเดียว
ความพร้อมเพรียงของปวงชนผู้เป็นหมู่ ยังความเจริญให้สำเร็จ

-พึงศึกษาความสามัคคี ความสามัคคีนั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลาย สรรญเสริญแล้ว ผู้ยินดีในสามัคคี ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่คลาดจากธรรมอันเกษมจากโยคะ
-ท่านทั้งหลายจงเห็นความวิวาทโดยความเป็นภัย และความไม่วิวาทโดยความปลอดภัยแล้ว เป็นผู้พร้อมเพรียง มีความประนีประนอมกันเถิด นี้เป็นพระพุทธานุศาสนี
-ผู้ใดเมื่อคนอื่นล่วงเกินกันอยู่ ตนเองกลับหาทางเชื่อมเขาให้คืนดีกันได้ ผู้นั้นแล ชื่อว่าเป็นคนเอาภาระ เป็นผู้จัดธุระที่ดียอดเยี่ยม
-ผู้ใดรู้โทษที่ตนล่วงละเมิด ผู้ใดย่อมรับรู้โทษ ที่เขามาสารภาพ คนทั้งสองนี้ย่อมพร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น มิตรภาพของเขาย่อมไม่เสื่อมคลาย

-ถ้าแม้สัตบุรุษวิวาทกัน ก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว ส่วนคนพาลทั้งหลายย่อมแตกกันเหมือนภาชนะดิน เขาย่อมไม่ได้ความสงบเวรกันเลย

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธศาสนสุภาษิต :หมวดเกื้อกูลสังคม
« ตอบกลับ #17 เมื่อ: กันยายน 02, 2013, 02:59:45 pm »

หมวดเกื้อกูลสังคม

พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ
พึงสละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต
พึงสละอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ชีวิต เพื่อรักษาความถูกต้อง
ผู้ฉลาดควรสละสุขเล็กน้อย เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธศาสนสุภาษิต :หมวดพบสุข
« ตอบกลับ #18 เมื่อ: กันยายน 02, 2013, 03:07:13 pm »

หมวดพบสุข

ผู้ไม่มีอะไรให้กังวล ย่อมมีแต่ความสุข
ไม่มีอะไรเลย ไม่มีใครเบียดเบียน
ท่านผู้ไกลกิเลส มีความสุขจริงหนอ
คนมีห่วงกังวล ย่อมวุ่นวายอยู่
ตราบใดยังมีชิ้นเนื้อคาบไว้นิดหน่อย ตราบนั้นก็ยังถูกกลุ้มรุมยื้อแย่ง

-พวกมนุษย์ผู้อ่อนปัญญา ไม่เห็นอริยธรรม สนทนาถกเถียงกันทั้งวันทั้งคืน แต่ในเรื่องที่ว่า เงินของเรา ทองของเรา
-ผู้ถึงธรรม ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดำรงอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ฉะนั้น ผิวพรรณจึงผ่องใส
-ผู้ที่มัวเพลินประมาทอยู่กับสิ่งที่ชอบใจ สิ่งที่รัก และสิ่งที่เป็นสุข จะถูกสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่รักและความทุกข์ เข้าครอบงำ
มัวเศร้าโศกอยู่ก็ซูบผอมลง อาหารก็ไม่อยากรับประทาน ศัตรูก็พลอยดึใจ ในเมื่อเขาถูกลูกศรแห่งความโศกเสียบแทงย่ำแย่อยู่
-ชนทั้งหลายผู้ยังอ่อนปัญญา เฝ้าแต่เพ้อฝัน สิ่งที่ยังไม่มาถึง และหวนละห้อยถึงความหลังอันล่วงไปแล้วจึงซูบซีดหม่นหมอง เสมือนต้นอ้อสด ที่เขาถอนขึ้น ทิ้งไว้ในกลางแดด

-ผู้ใดพอใครถามถึงทุกข์ของตน ก็บอกเขาเรื่อยไป ทั้งที่มิใช้กาลอันควร ผู้นั้นจะมีแต่มิตรชนิดเจ้าสำราญ ส่วนผู้หวังดีต่อเขาก็มีแต่ทุกข์
-ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และ ทุกข์ สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมดาในหมู่มนุษย์ไม่มีความเที่ยงแม้แน่นอน อย่าเศร้าโศกเลย ท่านจะโศกเศร้าไปทำไม
-คนฉลาด พึงรู้จักกาลอันสมควร กำหนดเอาคนที่มีความคิด ที่ร่วมใจกันได้แล้ว จึงบอกทุกข์ร้อน โดยกล่าววาจาสละสลวย ได้ถ้อยได้ความ
-เราเดินทางไปในแดนสัตว์ร้าย ก็ไม่หวาดหวั่น ถึงจะนอนหลับในที่เช่นนั้น ก็ไม่กลัวเกรง คืนวันผ่านไปไม่มีอะไรให้เราเดือดร้อน เรามองไม่เห็นว่ามีอะไรที่จะเสีย ณ ที่ไหน ในโลก เพราะฉะนั้น เราจึงนอนสบาย ใจก็คิดแต่จะช่วยเหลือปวงสัตว์
ดอกบัว เกิดและเจริญงอกงามในน้ำแต่ไม่ติดน้ำ ทั้งส่งกลิ่นหอม ชื่นชูใจให้รื่นรมย์ฉันใด พระพุทธเจ้าทรงเกิดในโลก และอยู่ในโลก แต่ไม่ติดโลก เหมือนบัวไม่ติดน้ำฉันนั้น

มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธศาสนสุภาษิต :หมวดทาน
« ตอบกลับ #19 เมื่อ: กันยายน 02, 2013, 03:48:22 pm »

หมวดทาน

ผู้ให้ ย่อมเป็นที่รัก
ของที่ให้แล้ว ชื่อว่านำออกไปอย่างดีแล้ว
ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ย่อมได้สิ่งที่เลิศอีก
การเลือกให้ พระสุคตทรงสรรเสริญ
เป็นคนควรให้ปันบ้าง ไม่มากก็น้อย

คนฉลาด พลอยยินดีการให้ทาน
คนดี บำเพ็ญประโยชน์แก่ปวงชน
คนดี ชอบช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น
คนใจการุณ ช่วยแก้ไขคนให้หายโศกเศร้า
เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว ทักขิณาทานชื่อว่าน้อย ย่อมไม่มี

ปราชญ์ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข
ผู้บูชา ย่อมได้บูชาตอบ
ผู้ใดสั่งสอนธรรม ผู้นั้นชื่อว่าให้สิ่งที่ไม่ตาย
จงช่วยเหลือคนเดือนร้อน ด้วยความตั้งใจ
ให้ของดี ย่อมได้ของดี

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก คนหมู่มากย่อมคบเขา
คนพาลเท่านั้น ย่อมไม่สรรเสริญทาน
คนดีจัดการโภคทรัพย์ ทำประโยชน์แก่คนจำนวนมาก
ท่านว่า ทานและการรบ เสมอกัน
คนควรให้ของที่ควรให้

ผู้ให้สิ่งประเสริฐ ย่อมถึงฐานะที่ประเสริฐ
เมื่อให้ บุญก็เพิ่มขึ้น
กินคนเดียว ไม่ได้ ความสุข
ผู้ให้สิ่งที่ชอบใจ ย่อมได้สิ่งที่ชอบใจ
ในโลกนี้ เวรระงับด้วยเวร ไม่เคยมี

ผู้ให้ ย่อมผูกไมตรีไว้ได้
ไม่พึงบริโภคของอร่อยแต่ผู้เดียว
คนมีปัญญาอยู่ครองเรือน ก็เป็นประโยชน์แก่คนจำนวนมาก
นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่
ของที่ให้แล้ว ชื่อว่าออกผลเป็นความสุขแล้ว ส่วนของที่ยังไม่ได้ให้ ยังไม่มีผลเช่นนั้น

-พึงนำสมบัติออกด้วยการให้, วัตถุที่ให้แล้วย่อมเป็นอันนำออกดีแล้ว, วัตถุที่ให้แล้วย่อมมีผลเป็นสุข, ส่วนวัตถุที่ยังไม่ได้ให้ก็ไม่เป็นอย่างนั้น
คนใด มั่งมีทรัพย์สินเงินทอง มีของกินของใช้มาก แต่บริโภคของอร่อยคนเดียว นั้นเป็นปากทางแห่งความเสื่อม
คนใด มารดาบิดาแก่เฒ่า ล้วงพ้นวัยหนุ่มวัยสาวไปแล้ว ตนเองสามารถก็ไม่เลี้ยงดู นั้นคือปากทางแห่งความเสื่อม
บัณฑิตสามารถปัดเป่าความเศร้าโศกของคนอื่นได้ จึงจัดว่าเป็นที่พึ่งยอดเยี่ยมของคนทั้งหลาย
การให้ทานนั้นปราชญ์สรรเสริญกันโดยมากอย่างแน่นอน แต่ กระนั้น บทธรรมก็ยังประเสริฐกว่าทาน

ห้วงน้ำที่เต็ม ย่อมยังสาครให้เต็มได้ฉันใด, ทานที่ให้แต่โลกนี้ ย่อมสำเร็จแก่ผู้ละไปแล้วฉันนั้น
ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ให้สิ่งที่ดี ให้สิ่งที่ประเสริฐ ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศในภพที่ตนเกิด
ผู้ให้ข้าว ชื่อว่าให้กำลัง ผู้ให้ผ้า ชื่อว่าให้ผิวพรรณ ผู้ให้ยานพาหณะ ชื่อว่าให้ความสุข ผู้ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ
ผู้ใดไม่ให้ทานในคนที่ไม่ควรให้ ให้ทานในคนที่ควรให้ เมื่อผู้นั้นประสบความเสื่อมเพราะอันตราย ย่อมได้สหาย
ผู้ใดให้ที่พักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้สิ่งทั้งปวง ผู้ใดสอนธรรม ผู้นั้นชื่อว่าให้อมตะ

เมื่อให้ทานในวัตถุอันเลิศ บุญอันเลิศ อายุ วรรณะ ยศ เกียรต สุข และกำลังอันเลิศ ก็เจริญ
ให้ทานเป็นเบื้องต้นก่อน จึงได้สุขบัดนี้ เหมือนรดน้ำที่โคนให้ผลที่ปลาย
ผู้ใดให้ทานในบุคคลที่ไม่ควรให้ ไม่ให้ทานในคนที่ควรให้ เมื่อผู้นั้นถึงความเสื่อมเพราะอันตราย ย่อมไม่ได้สหาย
ชนเหล่าใด สร้างสวน ปลูกป่า ให้โรงประปา บ่อน้ำ และ ที่พักอาศัย บุญของชนเหล่านั้นย่อมเพิ่มพูนทุกเมื่อ ทั้งคืนทั้งวัน

-ตรวจดูด้วยจิต ทั่วทุกทิศแล้ว ไม่พบใครที่ไหน เป็นที่รักยิ่งกว่าตนเลย คนอื่นก็รักตนมากเช่นเดียวกัน ฉะนั้น ผู้รักตน จึงไม่ควรเบียดเบียนคนอื่น
-ผู้ให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง ผู้ให้ผ้านุ่งห่ม ชื่อว่าให้ผิวพรรณ ผู้ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสะดวก ผู้ใดให้ที่พำนักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้ทั้งหมด
-ผู้ให้ของชอบใจ ย่อมได้ของชอบใจ ผู้ให้ของเลิศ ย่อมได้ของเลิศ ผู้ให้ของดี ย่อมได้ของดี ผู้ให้ของประเสริฐ ย่อมถึงฐานะอันประเสริฐ
-นกชนิดหนึ่งเที่ยวบินอยู่ตามช่องเขา และ ไหล่เขา มีชื่อว่านกมัยหกะ มันบินไปสู่ต้นเลียบอันมีผลสุก แล้วร้องว่า *ของข้า ๆ* เมื่อนกมัยหกะร้องอยู่อย่างนั้นฝูงนกทั้งหลายก็พากันบินมาจิกกินผลเลียบ แล้วก็พากันบินไป นกมัยหกะก็ยังพร่ำอยู่อย่างเดิมนั้นเอง คนบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้น เก็บทรัพย์สะสมไว้มากมายแล้ว ตนเองก็ไม่ได้ใช้
-สัตว์ทั้งปวง ย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวความตาย สัตว์ทั้งปวง ย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา ชีวิตเป็นที่รักของทุกคน เราฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น สัตว์เหล่านี้ฉันใด เราก็ฉันนั้น นึกถึงเขา เอาตัวเราเข้าเทียบแล้ว ไม่ควรเข่นฆ่า ไม่ควรให้สังหารกัน

มีต่อค่ะ