วิธีเคลม เมื่อสายการบินทำกระเป๋าเดินทางบุบ แตก ล้อหลุด
By
spin9
-
Mar 21, 2019
.
เดินทางกันมามากๆ ก็ต้องเจอเข้าสักไฟลต์แหละครับ ที่พอเรารับกระเป๋าจากสายพาน แล้วพบว่ากระเป๋าเดินทางของเราสภาพไม่เหมือนเดิม บุบบ้าง แตกบ้าง หรือล้อหายไปข้างนึง ความจริงแล้วสายการบินรับประกันความเสียหายเหล่านี้นะครับ แต่เราต้องทำให้ถูกวิธี จึงจะสามารถเคลมได้ฟรี
.
สำรวจกระเป๋าเดินทางทุกครั้งที่รับจากสายพาน
นอกจากจำนวนกระเป๋าที่เราต้องสำรวจแล้ว ว่าได้รับกลับมาครบถ้วน อย่าลืมตรวจสอบสภาพกระเป๋าทุกครั้งครับ โดยเฉพาะเรื่องของการบุบ แตก ที่ลากกระเป๋า และ ล้อกระเป๋า ว่ายังสามารถใช้งานได้เป็นปกติหรือไม่
.
หากใครใช้รถเข็นกระเป๋าของสนามบิน ให้หลีกเลี่ยงการยกกระเป๋าขึ้นรถเข็นกระเป๋าทันทีจากสายพานก่อนนะครับ ลองลากกระเป๋า หมุนดูรอบๆ ก่อนสักนิด ว่ากระเป๋าอยู่ในสภาพเดียวกับที่เราโหลดไป ค่อยลำเลียงขึ้นรถเข็นกระเป๋าครับ
.
แจ้งทันที ที่พบปัญหา *สำคัญมาก*
.
หลักการเคลมกระเป๋าเดินทางเมื่อพบความเสียหาย ต้อง”แจ้งทันที” เท่านั้นนะครับ ใกล้กับสายพานรับกระเป๋า จะมีเคาน์เตอร์บริการของสายการบินอยู่ (ถ้าหาไม่เจอ สอบถามเจ้าหน้าที่ได้ครับ ว่าสายการบินที่เราเดินทาง ต่องติดต่อที่เคาน์เตอร์ไหน บางครั้งจะเป็นเคาน์เตอร์ของสายการบินพันธมิตรกัน) ให้นำกระเป๋าที่เสียหายไปแจ้งต่อเคาน์เตอร์ทันทีที่พบปัญหาครับ อย่าเพิ่งนำกระเป๋าที่เสียหายกลับ โดยที่ไม่แจ้งนะครับ เพราะจะพลาดโอกาสการเคลมไปเลย
.
เหตุที่ต้องแจ้งทันที เพราะหากเรานำกระเป๋าที่แตก หัก เสียหาย ล้อหลุด กลับออกไป และคิดว่าจะนำกลับมาเคลมใหม่ในโอกาสหน้า มันจะไม่ใช่ความผิดของสายการบินแล้วครับ สายการบินจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครคือผู้ทำความเสียหาย หรือหากเราเอากระเป๋าที่เสียหาย มาเช็คอินเพื่อโหลดกระเป๋าในการเดินทางครั้งถัดไป สายการบินจะทำการบันทึกความเสียหายของกระเป๋าใบนั้นไว้ตั้งแต่ตอนโหลด ทำให้เราไม่สามารถเคลมได้อีกแล้ว
.
วิธีการเคลม
.
เมื่อเราติดต่อกับเคาน์เตอร์บริการสายการบิน ว่ากระเป๋าเราเสียหายจากการเดินทางครั้งนั้น ทางเคาน์เตอร์จะขอแท็กกระเป๋าตัวจริงของเรา (ที่เราได้รับมาตอนที่เราเช็คอิน) เพื่อบันทึกเข้าระบบ และออกเอกสาร Damage Report มาให้เราครับ โดยมีการบันทึกลักษณะ สี ยี่ห้อกระเป๋า และรูปแบบความเสียหายเอาไว้อย่างครบถ้วน ถ้าเราได้เอกสารนี้แล้ว ก็เป็นอันสบายใจได้เลย ว่าสายการบินจะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกระเป๋าของเรา
.
การซอ่มกระเป๋า สามารถทำได้หลายรูปแบบครับ ส่วนมากแล้ว สายการบินจะนัดเวลาเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามารับกระเป๋าของเราไปซ่อม และนำกลับมาคืนให้ หรือถ้าเราไม่สะดวก ก็สามารถเจรจาว่า เราจะหาร้านซ่อมกระเป๋าเอง และนำบิลค่าซ่อมมาเบิกก็ได้ทำได้เช่นกัน
.
หากกระเป๋ามีความเสียหายเกินกว่าที่ร้านจะซ่อมได้ (เช่นแตกทั้งใบ) ทางสายการบินก็จะมีตัวเลือกของการชดเชยกระเป๋าใบใหม่ให้ หรือชดเชยมาเป็นเงินครับ ซึ่งก็จะมีเงื่อนไขและวงเงินรับประกันความเสียหายส่วนนี้อยู่ แต่ละสายการบินอาจจะมีวงเงินคุ้มครองสูงสุดไม่เท่ากันครับ
.
เดินทางครั้งหน้า แล้วกระเป๋าพัง ไม่ต้องตกใจนะครับ โดยส่วนมากแล้ว สายการบินคุ้มครองในส่วนนี้ครับ
.
ขอให้สนุกกับการเดินทางทุกท่าน
.
บทความโดย:
อู๋ spin9
https://spin9.me/2019/03/21/how-to-claim-damaged-luggage/?fbclid=IwAR37mDBal9257-zK8lFnX6YCvP60kCY3arSYnkh1Vbt-pkCcx9LBcZD5NAE.
.
-------------------
.
.
แนะวิธีคอมเพลนต่อโรงแรมและสายการบิน
.
เดินทางกันบ่อยๆ ก็ต้องมีบ้างแหละครับ ที่ต้องเจอกับการบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐานของบรรดาสายการบิน และโรงแรมต่างๆ บล็อกวันนี้ผมจะเขียนถึงวิธีคอมเพลน ที่จะเป็นประโยชน์ที่สุด เมื่อเราได้รับการบริการอย่างไม่เป็นธรรม ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือเกิดข้อผิดพลาดจากผู้ให้บริการ ซึ่งจะทำให้เราได้รับการชดเชยต่อเหตุการณ์นั้นค่อนข้างแน่นอน
.
ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนครับ ว่าบทความนี้ ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านไปหาช่องทางหรือหาเรื่องคอมเพลนนะครับ แต่เขียนขึ้นเพื่อเป็นคำแนะนำในการปฏิบัติเมื่อเราได้รับการบริการอย่างไม่เป็นธรรมเท่านั้น และในบทความนี้ ผมจะขอเน้นเฉพาะกลุ่มสายการบิน กับโรงแรมนะครับ (หรือใครจะประยุกต์ไปหาผู้ให้บริการกลุ่มอื่นๆ ก็ไม่ว่ากัน)
.
อะไรคือการบริการไม่เป็นธรรม หรือต่ำกว่ามาตรฐาน?
.
ไม่มีผู้ให้บริการรายไหน ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน หรือโรงแรม ที่อยากจะโดนคอมเพลนหรอกครับ แต่ข้อผิดพลาดก็มักจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งความประมาทเลินเล่อของพนักงาน, การจัดการที่ล่าช้า หรือ อาจจะเป็นระบบที่แย่เองก็เป็นได้ พอเกิดข้อผิดพลาด ก็จะส่งต่อประสบการณ์ที่ไม่ดีเหล่านั้นมาถึงลูกค้าแบบพวกเรา ซึ่งโดยส่วนมาก พวกเราก็อาจจะยอมๆ ปล่อยผ่านๆ ไปบ้าง เพราะเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือไม่อยากจะไปถกเถียงอะไรด้วย หรือในบางกรณี เราก็อาจจะใช้อารมณ์ในการไปคอมเพลน ด่าทอ ต่อว่าพนักงาน เสียอารมณ์กันทุกฝ่าย โดยไม่ได้ทำให้เกิดการชดเชยอะไรขึ้นมาอย่างเป็นธรรมอยู่ดี
.
ตัวอย่างของการได้รับบริการอย่างไม่เป็นธรรม หรือต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น ก็อย่างเช่น
.
อุปกรณ์อำนวยความสะดวกไม่ครบตามที่โฆษณาไว้ หรืออุปกรณ์ชำรุด
ห้องโรงแรมไม่สะอาด, ที่นั่งบนเครื่องบินไม่สะอาด (แบบต่ำกว่ามาตรฐานนะครับ ไม่ใช่แค่มีฝุ่นนิดหน่อย)
มีเสียงดังรบกวนจากบรรยากาศภายนอก, จากห้องข้างเคียง จนไม่สามารถพักผ่อนได้
สิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างของโรงแรมปิดปรับปรุง โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าตั้งแต่ตอนจอง
ระบบเอนเตอร์เทนเม้นต์บนเครื่องบินเสีย ไม่สามารถรับชมได้เป็นระยะเวลานานกว่าครึ่งของเที่ยวบิน
ถูก downgrade ไปยังชั้นโดยสารที่ต่ำกว่า หรือ ถูกเปลี่ยนห้องโรงแรมไปยัง type ที่ด้อยลงกว่าที่ทำจองมา
พนักงานไม่สุภาพ
.
อันนี้เป็นตัวอย่างเบื้องต้น แบบเล็กๆ น้อยๆ ที่ปัญหาเหล่านี้อาจจะเกิดกับใครก็ได้นะครับ หลายคนอาจปล่อยผ่าน หรือบางปัญหาก็อาจจะขอให้โรงแรม/สายการบินแก้ไขได้ทันท่วงที (ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนห้อง เปลี่ยนที่นั่ง หรืออัปเกรดไปยังห้องที่ดีกว่าเดิม อัปเกรดไปชั้นโดยสารที่สูงกว่าเดิม) แต่หากปัญหาเหล่านี้ ไม่ได้ถูกแก้ไข หรือไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ห้องเต็ม หรือพนักงานไม่ใส่ใจที่จะแก้ไข อันนี้ต้องมาดูต่อครับ ว่าเราควรจะต้องทำยังไง
.
โดยปกติแล้ว ถ้าเราไม่สามารถให้พนักงานหรือผู้จัดการแก้ไขปัญหา ณ ตอนนั้นได้ และเราต้องทนรับกับการไม่บริการที่ไม่เป็นธรรม หรือการบริการที่แย่ลงกว่าที่ควรจะเป็น ผู้ให้บริการทุกราย มักจะมีขั้นตอนของการรองรับกรณีพวกนี้อยู่แล้ว ผมแนะนำให้ทำตามขั้นตอนนี้ครับ
.
เก็บหลักฐานของการได้รับบริการแย่ๆ เหล่านั้นไว้ เช่น ภาพถ่าย วันเวลาที่ได้รับ หลักฐานการจอง บอดดิ้งพาส หรือ ชื่อพนักงาน
ส่งอีเมล ไปยังฝ่ายดูแลลูกค้าของสายการบิน หรือโรงแรมนั้นๆ ภายหลังจากการเข้ารับบริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งโดยปกติจะมีแบบฟอร์มให้กรอกอยู่ในหน้าเว็บของผู้ให้บริการ
ระบบคอมเพลนพวกนี้ จะมีขั้นตอนของมันอยู่ครับ กรอกไป ก็จะมีตอบกลับมา ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับภายในกี่ชั่วโมงหรือกี่วัน ตรงนี้ ต้องรอหน่อยครับ เพื่อให้ทางสายการบิน/โรงแรม ตอบกลับ และ เสนอการชดเชยมาให้
ไม่โพสคอมเพลนดังกล่าวบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้ความเสียหายเกิดเป็นวงกว้างขึ้น และทำให้การเจรจาชดเชยยากขึ้น เว้นเสียแต่ศูนย์บริการลูกค้าปฏิเสธที่จะดูแลอย่างเป็นธรรม
.
ตัวอย่างจริง (1)
.
เหตุการณ์: ผมกลับมาที่ห้องโรงแรมตอนเย็นแล้ว พบว่าพนักงานลืมทำความสะอาดห้องพัก เมื่อกดเรียก ก็ใช้เวลาอีกกว่า 2 ชั่วโมงจึงจะมีพนักงานมาทำความสะอาดให้ นอกจากนี้ ยังได้รับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในห้องน้ำไม่ครบ ตอนกลางคืนกดเรียกไปทั้งหมด 4 ครั้ง ไม่มีคนรับสายทุกเบอร์ ทั้งๆ ที่เขียนไว้ว่ากดเรียกได้ 24/7
สถานที่เกิดเหตุ: โรงแรมแห่งหนึ่งในกลุ่ม Starwood
.
ผมส่งอีเมลอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากเชคเอ้าท์มาแล้ว และได้รับการติดต่อจากศูนย์บริการลูกค้าของ SPG (Starwood) เพื่อขออภัยและส่งเรื่องต่อไปยังผู้จัดการโรงแรมแห่งนั้น เพื่อเจรจาการชดเชยจากการบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยผู้จัดการเสนอชดเชยเป็นคะแนน Starpoints จำนวน 6,000 คะแนน จากข้อผิดพลาดดังกล่าวนี้
.
ผมตอบกลับ ขอเจรจาได้รับคะแนน Starpoints จำนวน 12,000 คะแนน เพราะเป็นจำนวนคะแนนที่จะสามารถแลกห้องพักได้ฟรี 1 คืนในโรงแรมแบรนด์เดียวกับที่เข้าพัก เพื่อเป็นการชดเชย (และก็น่าจะดูสมเหตุสมผลกว่าการได้รับ 6,000 คะแนน ซึ่งเป็นเพียงแค่ครึ่งเดียวของคะแนนที่สามารถแลกห้องพัก 1 คืนได้)
.
ผู้จัดการตอบตกลง จบเคส ได้รับการชดเชยเป็นคะแนน Starpoints 12,000 คะแนน (ถ้าไม่ต่อรอง อาจะได้แค่ครึ่งเดียว)
.
ตัวอย่างจริง (2)
.
เหตุการณ์: ผมใช้บริการสายการบิน United ชั้นธุรกิจ และเกิดปัญหาขณะเครื่องบินขึ้น มีน้ำแอร์หยดลงมาที่ไหล่จากแผงแอร์ด้านบน เป็นจำนวนมาก (ชนิดที่เอาหนังสือพิมพ์มารอง ก็ถึงกับชุ่มไปทั้งเล่ม) แม้ว่าเมื่อเครื่องรักษาระดับได้แล้ว น้ำแอร์จะหยดน้อยลง แต่เจ้าหน้าที่สายการบิน United ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ผมได้ พูดจาไม่สุภาพ และบอกกับผมว่าจะให้ย้ายไปนั่ง Coach (Economy) ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่รับไม่ได้ ในเที่ยวบินที่ยาวนานกว่า 10 ชั่วโมง
.
ผมเจรจากับผู้จัดการเที่ยวบิน ได้รับโค้ดสำหรับคอมเพลนบนหน้าเว็บไซต์ของ United ซึ่งต้องนำโค้ดนี้ ไปกรอกและอธิบายเหตุการณ์ด้วยตัวเองอีกครั้ง จากนั้นจึงจะมีเจ้าหน้าที่ตอบกลับ ว่ากรณีดังกล่าว จะสามารถชดเชยเป็นอะไรให้เราได้บ้าง
.
จบเคส ได้รับการชดเชยเป็นเงินจำนวน $200 พร้อมเสนอว่าสามารถนำค่าซักรีดเสื้อผ้าในการเดินทางครั้งนั้นมาเบิกได้เพิ่มเติม (จริงๆ ผมถือว่าชดเชยน้อยมากครับในเคสนี้ ควรได้เยอะกว่านี้พอสมควร)
.
ตัวอย่างจริง (3)
.
เหตุการณ์: รับกระเป๋าที่สายพานสนามบินต่างประเทศแห่งหนึ่ง และพบว่ากระเป๋าถูกโยนจนเกิดความเสียหาย (ล้อเบี้ยวไปข้างนึง)
.
กรณีนี้เป็นกรณีที่หลายคนเข้าใจผิดและปฏิบัติผิดครับ หากเกิดเหตุการณ์กระเป๋าเสียหายจากการเดินทาง ต้องทำการเคลมทันที ที่สนามบินแห่งนั้น โดยให้ไปยังเคาน์เตอร์บริการของสายการบิน (มักจะอยู่ใกล้กับสายพานรับกระเป๋า) และแจ้งความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อขอรับเอกสาร Damage Report จากสายการบิน ณ สนามบินที่เกิดเหตุ จึงจะสามารถนำไปเคลมได้ ซึ่งหลักฐานที่ต้องใช้คือ บอดดิ้งพาส และแท็กกระเป๋าของไฟลต์นั้นๆ
.
หลักการของการเคลมกระเป๋าเสียหาย คือเมื่อเราได้รับเอกสาร Damage Report แล้ว สายการบินมักจะให้เราเอากระเป๋าไปหาร้านซ่อมเอง และนำใบเสร็จค่าซ่อมมาเบิกเป็นเงินคืนในภายหลังครับ แต่ก็จะมีกรณีที่สายการบินรับกระเป๋าไปซ่อมให้เช่นกัน อันนี้ต้องติดต่อกับแต่ละสายการบินเพื่อดูตามขั้นตอนอีกครั้ง
.
หากเราไม่ได้เคลมกระเป๋าในสนามบินที่เกิดเหตุ เช่นล้อหลุดไปข้างนึง แล้วปล่อยผ่านไป พอจะเดินทางอีกที ถ้านำกระเป๋าล้อหลุดใบนั้นไปเช็กอินเพื่อโหลดกระเป๋าอีกครั้ง เจ้าหน้าที่จะระบุว่ากระเป๋าเสียหายตั้งแต่ก่อนโหลด ดังนั้น จะไปเคลมที่สนามบินปลายทางไม่ได้แล้วนะครับ อันนี้ต้องระวังให้ดี
.
จบเคส ซ่อมกระเป๋าฟรี
.
.
อันนี้เป็นตัวอย่างบางส่วน ให้คุณผู้อ่านได้พอเห็นภาพครับ ว่าหากทำการขั้นตอนและหลักการในการคอมเพลน ก็จะได้รับการชดเชยกลับมาในระดับที่น่าจะพึงพอใจกันทุกฝ่าย โดยไม่เสียอารมณ์มากนัก และไม่มีความจำเป็นต้องไปด่าทอต่อว่าพนักงานในจุดเกิดเหตุแต่อย่างใด เพราะหลายๆ ครั้ง ก็ไม่ใช่ความผิดที่พนักงานคนใดคนนึง รวมถึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ขึ้นมาด้วย
.
สายการบิน และโรงแรมส่วนมาก จะมีนโยบายในการชดเชยให้กับเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้อยู่แล้ว โดยจะมีการชดเชยกลับมาในรูปแบบของเงินชดเชย, voucher, หรือคะแนนสะสม โดยให้เราระลึกไว้เสมอครับ ว่าเราสามารถต่อรองได้ หากคิดว่าตัวเลขนั้นยังไม่เหมาะสมเพียงพอ หรือหากทางโรงแรม/สายการบิน ไม่เสนอการชดเชยใดๆ มาให้ เราก็สามารถเรียกร้องตามสิทธิที่เหมาะสมได้ครับ เช่น ผมเคยส่งอีเมล แจ้งขอการชดเชยจากสายการบิน กรณีระบบ entertainment บนเครื่องบินพังตลอดทั้งไฟลต์ และได้รับการชดเชยมาเป็นไมล์สะสมจำนวน 5,000 ไมล์ ซึ่งผู้โดยสารนับร้อยคนในไฟลต์เดียวกันนั้น อาจจะมีคนขอชดเชยเพียงไม่กี่คนก็ได้ (ใครขอ ก็ได้ชดเชย ใครปล่อยผ่าน ก็เสียสิทธิ์ตรงนี้ไป)
.
ในทางกลับกัน ไม่ใช่แค่เรื่องคอมเพลนเท่านั้น แต่หากเราได้รับการบริการที่ประทับใจเป็นพิเศษ ก็อย่าลืมที่จะส่งต่อคำชมไปยังศูนย์บริการลูกค้าได้เช่นกันนะครับ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจต่อการทำงาน ทั้งของพนักงานคนนั้นๆ และขององค์กรโดยรวมครับ ผมมักจะส่งคำชมไปยังสายการบินและโรงแรม โดยระบุชื่อพนักงานที่ให้บริการอยู่เสมอ หากสามารถทำให้เราประทับใจในการรับบริการได้
.
พบกันใหม่บทความหน้า สวัสดีครับ
.
บทความโดย:
อู๋ spin9
https://spin9.me/2018/03/18/how-to-complain-an-unfair-treatment/.