สืบตำนาน “อุ้มพระดำน้ำ” สู่ประเพณีดีงามเมืองมะขามหวาน
-http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000120933-
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 ตุลาคม 2555 17:05 น
พระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์
ในแต่ละจังหวัดของประเทศไทยมักจะมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอันเป็นสิ่งเคารพบูชาของชาวเมืองและประชาชนทั่วไป อีกทั้งพระพุทธรูปแต่ละองค์ก็มักมีเรื่องเล่าถึงตำนานความเชื่อและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อันปรากฏแก่ชาวเมือง และได้เล่าขานสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายมาเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนปัจจุบัน
ดังเช่น “พระพุทธมหาธรรมราชา” พระพุทธรูปศักสิทธิ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีตำนานเล่าขานถึงความอัศจรรย์กลางลุ่มน้ำป่าสัก โดยองค์พระพุทธมหาธรรมราชาเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่รูปแบบศิลปะขององค์พระพุทธรูปเป็นแบบขอม การพบพระพุทธรูปองค์นี้เล่ากันว่า ชาวประมงคนหนึ่งได้ทอดแหหาปลาบริเวณคุ้งมะขามแฟบ ในแม่น้ำป่าสัก ในเวลานั้นมีลมพายุฝนฟ้าคะนองและกระแสน้ำวนเกิดขึ้น แต่เพียงชั่วครู่ก็เงียบหายไป น้ำที่ไหลเชียวก็หยุดนิ่ง และปรากฏเป็นพระพุทธรูปลอยน้ำขึ้นมา สร้างความอัศจรรย์ให้แก่ชาวบ้านที่พบเห็น หลังจากนั้นชาวเมืองจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ และถวายนามว่าพระพุทธมหาธรรมราชา เนื่องจากพระวรกายสวมใส่เครื่องประดับของกษัตริย์นักรบสมัยขอมโบราณ
ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ขณะประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ
ตำนานพระพุทธรูปลอยน้ำมีมากมาย แต่เรื่องราวขององค์พระพุทธมหาธรรมราชามีความอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้น เพราะเมื่อถึงวันสารทไทย หรือวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ องค์พระก็ได้หายไปจากวัดอย่างไร้ร่องรอย และหลังจากการตามหาของชาวบ้านจึงได้พบองค์พระลอยอยู่ในแม่น้ำป่าสัก บริเวณเดียวกับที่พบพระพุทธรูปเป็นครั้งแรก
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทุกๆ วันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ เพื่อมิให้องค์พระต้องไปลอยอยู่ในแม่น้ำด้วยตัวเองอีกชาวบ้านจึงร่วมกันอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาไปประกอบพิธีดำน้ำ และได้กระทำสืบทอดกันมาด้วยความเชื่อและแรงศรัทธา จนทำให้เกิดเป็น “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” ของทางจังหวัดเพชรบูรณ์สืบต่อมา
สำหรับผู้ที่จะอุ้มองค์พระดำน้ำนั้นก็คือเจ้าเมืองหรือพ่อเมือง หรือในสมัยปัจจุบันก็คือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยจะประกอบพิธีพราหมณ์เพื่อเสี่ยงทายทิศทางในการอุ้มพระดำน้ำ นอกจากนั้นก็ยังจะทำพิธีคัดเลือกบุคคล 4 คน ซึ่งเป็นประชาชนธรรมดาจากหลากหลายอาชีพเพื่อเป็นตัวแทนของ เวียง วัง คลัง นา หรือกรมการปกครองทั้งสี่ในอดีต มาดำน้ำพร้อมผู้ว่าฯ ในตำแหน่งสี่ทิศด้านข้างท่านผู้ว่าฯ และจะดำน้ำพร้อมกันทั้งหมด 6 ครั้ง ตามประเพณีที่สืบต่อกันมา ในขณะทำพิธีชาวเมืองเพชรบูรณ์จะมาร่วมแรงร่วมใจกันอธิษฐานให้บ้านเมืองมีความสุขสงบร่มเย็น
พระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่ ณ พุทธอุทยานเพชบุระ
ปัจจุบัน พระพุทธมหาธรรมราชาประดิษฐานอยู่ในมณฑปของวัดไตรภูมิ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เฉพาะในช่วงเทศกาลสารทไทยของทุกปีที่จะถูกอัญเชิญไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ นอกจากนั้น ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ยังได้ร่วมกันสร้างพระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา เมื่อปี 2554 โดยพระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ที่พุทธอุทยานเพชบุระ ใน อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
สำหรับคำร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่ที่ชาวบ้านได้พบนั้น นางจำนงค์สุข วีรพันธุ์ และนางสุรินทร์ มีเนตร แม่บ้านประจำพุทธอุทยานเพชบุระ ได้เล่าให้ฟังว่า หากใครปรารถนาเรื่องสุขภาพและหน้าที่การงาน ถ้ามาขอกับองค์พระก็จะสำเร็จกันทุกคน และมักจะแก้บนด้วยผลไม้ 9 อย่าง และหากวันไหนมีฝนตกหนักในยามค่ำ ชาวบ้านก็จะเห็นแสงที่ด้านหลังเศียรพระ เชื่อว่าอาจจะเป็นเพราะองค์ท่านจะชอบน้ำ เมื่อฝนมาจึงได้เกิดความอัศจรรย์ให้คนได้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
สำหรับในปีนี้หากใครสนใจอยากมาร่วมงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ก็สามารถมาได้ตั้งแต่วันที่ 13-17 ตุลาคมนี้ ณ บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก วัดโบสชนะมาร ซึ่งนอกจากจะได้มาเห็นประเพณีแห่งความศรัทธาแล้ว ก็ยังจะได้มากราบสักการะขอพรพระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่ และเป็นโอกาสดีที่จะได้ท่องเที่ยวในจังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย
----------------------------------------------------
พระสมเด็จเบญจรงค์
-http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNMU5UTXlORGc0TUE9PQ==§ionid=-
เปิดตลับพระใหม่
พระเครื่องชุดเบญจภาคี เป็นพระในฝันที่บรรดาเซียนพระและนักสะสมนิยมพระเครื่อง ต่างเสาะแสวงหามาไว้ในครอบครอง โดยเฉพาะพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม
ทั้งนี้พระสมเด็จเบญจรงค์ ถือเป็นพระเครื่องในตระกูลพระสมเด็จ ที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน และเป็นที่ปรารถนาครอบครองของนักสะสมนิยมพระเครื่องเป็นอย่างยิ่ง
พระครูสังฆรักษ์ประสิทธิ์ สิทธิโก หรือ พระอาจารย์ประสิทธิ์ เจ้าอาวาสวัดเพลง (อุโบสถสีชมพู) ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี ได้รับมาจากนายนพภรณ์ น้าวัฒนถาวร และครอบครัว ซึ่งเป็นนักสะสมพระเครื่องมายาวนานกว่า 50 ปี ถวายให้ท่าน เพื่อให้นำไปมอบให้ผู้ที่สนใจเช่าบูชา นำรายได้สมทบทุนบูรณะอุโบสถสีชมพู ที่ชำรุดทรุดโทรมในขณะนี้
พระสมเด็จเบญจรงค์มีเนื้อมวลสารกังไสและเนื้อมวลสารปูนสอ คล้ายพระสมเด็จวัดระฆังฯ แต่มีลักษณะที่แตกต่างจากการสร้างพระสมเด็จหลายประการ ทั้งพุทธลักษณะ พิมพ์แม่แบบ และเนื้อมวลสาร ซึ่งพระแต่ละองค์จะมีสีขาว เหลือง น้ำตาล ดำ เบญจสิริ และสีสิริมงคล ได้แก่ สีแดง สีเหลือง สีชมพู สีเขียว สีส้ม สีฟ้า สีม่วง สีขาว สีดำ ที่สำคัญใช้แร่มวลสารที่เป็นมงคลในตัวเองและหายาก เป็นส่วนผสมประกอบด้วย ผงทองนพคุณ ผงแร่รัตนชาติ ผงแร่เหล็กไหล ทำให้เป็นพระที่มากด้วยพุทธคุณ
"พุทธคุณ ซึ่งถือว่าผู้ที่มีไว้บูชาจะเป็นผู้ที่ มีบารมี อำนาจ วาสนา มีเมตตามหานิยมแก่ทุกคนทั่วไป ค้าขายประกอบธุรกิจดีมีกำไร แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ และพุทธคุณท่านจะมีพลานุภาพได้ บุคคลที่มีไว้บูชา จะต้องเป็นผู้ที่ยึดมั่นถือมั่น และกระทำแต่ความดี" พระอาจารย์ประสิทธิ์กล่าว
วัดเพลง (อุโบสถสีชมพู) สร้างมานานกว่า 20 ปี โดยพระอาจารย์ประสิทธิ์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านี้อดีตเจ้าอาวาสได้มรณภาพไป จึงไม่ได้มีการพัฒนาบูรณวัดเพลง (อุโบสถสีชมพู) อย่างต่อเนื่อง ทำให้ถาวรวัตถุภายในวัดชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พระอาจารย์ประสิทธิ์ได้จัดหาปัจจัยเข้ามาเร่งบูรณะ
พระอาจารย์ประสิทธิ์เปิดเผยว่า อาตมา ได้เข้ามาดูแลและสร้างถาวรวัตถุให้กับทางพระพุทธศาสนา ญาติโยมเห็นถึงความตั้งใจจริง จึงได้ถวายพระสมเด็จเบญจรงค์ ซึ่งถือว่าหาได้ยาก เพื่อให้ญาติโยมได้ร่วมทำบุญเช่าบูชาสมเด็จเบญจรงค์กับวัด เพื่อให้นำปัจจัยจากการเช่าบูชาทั้งหมด ร่วมสมทบทุนบูรณะอุโบสถสีชมพู ให้กลับมาสง่างาม คู่กับพระบารมีสมเด็จพระพุทธ เจ้าหลวงบรมราชธิราช (ร.5) ต่อไป
หากท่านใดสนใจบูชาสมเด็จเบญจรงค์ ซึ่งวัดมีจำนวนจำกัด สามารถหาบูชาได้ที่วัดเพลง (อุโบสถสีชมพู) ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี
.