ผู้เขียน หัวข้อ: ทาน ศีล ภาวนา  (อ่าน 8652 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
ทาน ศีล ภาวนา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2012, 08:07:59 pm »
ทาน
-http://www.84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html-

พระพุทธพจน์                   

เย  นํ  ททนฺติ  สทฺธาย

   

วิปฺปสนฺเนน  เจตสา

ตเมว  อนฺนํ  ภชติ

   อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ
บุคคลเหล่าใดมีใจผ่องใส ย่อมให้ข้าวด้วยศรัทธา
บุคคลเหล่านั้นย่อมได้ข้าวนั้นเอง ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

ตสฺมา วิเนยฺย มจฺเฉรํ   
ทชฺชา ทานํ มลาภิภู
ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ   

ปติฏฺฐา  โหนฺติ  ปาณินํ

เพราะเหตุนั้นพึงเปลื้องความตระหนี่เสีย แล้วให้ทาน
บุญเท่านั้น เป็นที่พึ่งของสัตว์ในโลกหน้า
จาก เสรีสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ ๒๘๔


ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ประณีต  ก้องสมุทร
สารบัญ

    เรื่อง

ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
การใช้ทรัพย์ ๕ ประการ
มหาทาน
ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๑
ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๒
กาลทาน ๕ อย่าง
ให้ทานในที่ใดมีผลมาก
ทานที่เจาะจงและไม่เจาะจง ๒๑ ประเภท
สังฆทาน ๗ ประเภท
ถวายภิกษุรูปเดียว ก็เป็นสังฆทาน
ทัททัลลวิมาน-แสดงอานิสงส์ของสังฆทาน
เรื่องเศรษฐีเท้าแมว
ความบริสุทธิ์แห่งทักษณาทาน ๔
อานิสงส์ของทาน ๕ อย่าง
ทานที่มีผลมาก อานิสงส์มาก ๗

http://www.84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html

.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
ทาน ศีล ภาวนา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2012, 08:08:32 pm »
ทาน
-http://www.84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html-

ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    คนเราที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ มิได้อยู่โดยลำพังเพียงคนเดียว ย่อมมี พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ มิตร สหาย ข้าทาส บริวาร และบุตร ภรรยา สามีด้วยกันทั้งนั้น การที่เราจะอยู่ร่วมกับคนเหล่านั้นด้วยความสุข และเป็นที่รักของคนเหล่านั้น นอกจากจะต้องเป็นคนดี มีเมตตากรุณา มีสัมมาคารวะต่อ ผู้ที่ควรคารวะ พูดวาจาอ่อนหวานแล้ว ยังต้องอาศัยความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อุดหนุน เจือจานกันเป็นเครื่องผูกใจคน เหล่านั้นด้วย
    ผู้ขอบ่อยๆ ย่อมเป็นที่รังเกียจของผู้อื่นฉันใด ผู้ให้ก็ย่อมเป็นที่รักของผู้อื่นฉันนั้น
    ด้วยเหตุนี้ การให้จึงเป็นการผูกน้ำใจผู้อื่นไว้ได้ประการหนึ่ง ปกตินั้นคนเรามักจะมีความตระหนี่ หวงแหนอยู่เป็นประจำใจ ยากนักที่จะหยิบยื่นสิ่งใดให้แก่ใครๆ ได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น คนที่สามารถหยิบ ยื่นของๆ ตนให้แก่ผู้อื่นได้นั้นนับว่าน่าสรรเสริญอย่างยิ่ง ถ้ารู้จักให้เสียครั้งหนึ่งแล้ว ก็ไม่ยากเลยที่จะให้ใน ครั้งต่อๆไป
    ทั้งๆที่ทุกคนรู้จักการรับ และการให้มาตั้งแต่เด็กๆ เพราะต่างก็เคยรับและเคยให้กันมาแล้ว การรับนั้นไม่ยาก ขอให้รับด้วยความอ่อนน้อมเป็นพอ ส่วนการให้นั้นเชื่อว่าคงมีคนไม่มากนักที่จะให้ได้ถูกต้อง ให้เกิดประโยชน์ ทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ เป็นการให้แบบสัตบุรุษ คือคนดีทั้งหลาย ตามที่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ถ้าไม่ได้ศึกษาเรียนรู้มาก่อน น้อยคนนักที่จะประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง แม้แต่ทรัพย์ที่เราขวนขวายแสวงหามา เราก็ยังไม่ทราบว่าจะใช้ทรัพย์นั้นไปในทางใดจึงจะเกิดประโยชน์ ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดง เรื่องการใช้ทรัพย์ ไว้ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อาทิยสูตรที่ ๑ (ข้อ ๔) ๕ ประการ คือ
    ๑. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม บำรุงเลี้ยงตนเอง บิดา มารดา บุตร ภรรยาและบ่าว ไพร่ให้มีความสุข ไม่อดยาก
    ๒. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม เลี้ยงดูมิตรสหายให้อิ่มหนำสำราญ
    ๓. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยสุจริตชอบธรรม ป้องกันอันตรายอันเกิดจากไฟ จากน้ำ พระราชา โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก เพื่อให้ตนปลอดภัยจากอันตรายนั้นๆ
    ๔. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม ทำพลี คือบูชา หรือบำรุงในที่ ๕ สถาน คือ ญาติพลี บำรุง ญาติ อติถิพลี ต้อนรับแขก ปุพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ราชพลี บำรุงราชการมีการเสียภาษี อากรเป็นต้น และเทวตาพลี ทำบุญแล้วอุทิศให้แก่เทวดา เพราะว่าเทวดาย่อมคุ้มครองรักษาผู้นั้นด้วยคิดว่า "คนเหล่านี้แม้ไม่ได้เป็นญาติของเราเขาก็ยังมีน้ำใจให้ส่วนบุญแก่เรา เราควรอนุเคราะห์เขาตามสมควร"
    ๕. ใช้ทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม บำเพ็ญทักษิณาทานที่มีผลเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบาก เป็นสุข ไว้ในสมณะพราหมณ์ผู้เว้นจากความประมาท มัวเมา ตั้งอยู่ในขันติโสรัจจะเป็นผู้หมั่นฝึกฝนตนให้ สงบระงับจากกิเลส ในข้อ ๕ นี้ตรัสสอนให้ใช้ทรัพย์ที่หามาได้ให้ทานแก่ผู้มีศีล ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเพื่อความหมดจดจากกิเลส ผู้เป็นทักขิเณยยบุคคล เพราะทานที่ให้แก่ผู้มีศีลมีผลมาก ทำให้เกิดใน สวรรค์ ได้รับความสุขอันเป็นทิพย์ นอกจากนั้นผู้ถวายยังอาจบรรลุคุณวิเศษ เพราะธรรมที่ท่านผู้ประพฤติ ดีปฏิบัติชอบเหล่านั้นยกมาแสดงให้ฟังได้อีกด้วย ผู้มีปัญญาย่อมไม่เสียดายทรัพย์ที่หมดเปลืองไปเพราะเหตุ เหล่านี้ เพราะว่าท่านได้ใช้ทรัพย์นั้นถูกทางแล้วเกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นแล้ว โดยเฉพาะทรัพย์คือบุญที่ ท่านถวายไว้ในผู้มีศีลเหล่านั้น ยังสามารถติดตามตนไปในโลกหน้าได้อีกด้วย
    ควรหรือไม่ที่เราจะใช้ทรัพย์ให้ถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้
    และควรหรือไม่ที่เราจะใช้ทรัพย์นั้นจำแนกแจกทาน
    ด้วยเหตุนี้ จึงควรที่จะรับรู้เรื่องของทาน ตลอดจนการให้ทานที่ถูกต้องไว้บ้าง เพื่อทานของเราจะ ได้เป็นทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
    คำว่า ทาน ที่แปลว่า การให้ นั้น จัดเป็นบุญเป็นกุศล เป็นความดีอย่างหนึ่ง หมายถึง เจตนาที่ เป็นเหตุให้เกิดการให้ก็ได้ หมายถึงวัตถุ คือสิ่งของที่ให้ก็ได้ ทานจึงมีความหมายที่เป็นทั้งนามธรรมและรูป ธรรม ถ้าหมายถึงเจตนาที่ให้ก็เป็นนามธรรม ถ้าหมายถึงวัตถุที่ให้ก็เป็นรูปธรรม ในที่นี้จะขอกล่าวถึงทาน ในความหมายทั้งสองอย่างนี้รวมๆกันไป
    เจตนาที่เป็นเหตุให้เกิดการให้ทานนั้น แบ่งตามกาลเวลาได้ ๓ กาล คือ ปุพเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้น ก่อน คือเมื่อนึกจะให้ ก็แสวงหาตระเตรียมสิ่งที่จะให้นั้นให้พร้อม มุญจเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นในขณะกำลังให้ ของเหล่านั้น อปรเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นหลังจากได้ให้เรียบร้อยแล้ว แล้วเกิดความปีติยินดีในการให้ของตน
    บุคคลใดที่ทำบุญหรือให้ทานด้วยจิตใจที่โสมนัสยินดี ทั้งประกอบด้วยปัญญา เชื่อกรรมและผลของ กรรมครบทั้ง ๓ กาลแล้ว บุญของผู้นั้นย่อมมีผลมาก
    เจตนาทั้ง ๓ กาลนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องดับไปเช่นเดียวกับสังขารธรรมอื่นๆ และเมื่อดับไป แล้วสามารถจะส่งผลนำเกิดในสุคติภูมิเป็นมนุษย์และเทวดาได้ ใน พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน แสดงความบุพกรรม คือกรรมในชาติก่อนๆ ของผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่เกี่ยวกับทานไว้มากมาย ตัวอย่าง เช่น พระอรหันต์รูปหนึ่งในอดีตชาติได้ถวายผลมะกอกผลหนึ่งแก่พระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในป่าใหญ่ รูปหนึ่ง เคยถวายดอกบุนนาค รูปหนึ่งเคยถวายขนม รูปหนึ่งเคยถวายรองเท้า เป็นต้น นับแต่นั้นมาท่านเหล่านั้นไม่ เคยเกิดในทุคติภูมิเลย เกิดอยู่แต่ในสุคติภูมิ เป็นมนุษย์และเทวดาเท่านั้น ตราบจนในชาติสุดท้ายได้สำเร็จ เป็นพระอรหันต์
    วัตถุทาน คือสิ่งของที่ให้นั้นก็มีหลายอย่าง กล่าวกว้างๆ ก็ได้แก่ปัจจัย ๔ คือ จีวร ซึ่งรวมทั้ง เครื่องนุ่งห่มด้วย บิณฑบาต ซึ่งรวมทั้งอาหารเครื่องบริโภคทุกอย่าง เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย คิลานเภสัช คือยารักษาโรค
    ในโภชนทานสูตร อัง. ปัญจก. ข้อ ๓๗ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ทายกผู้ให้โภชนะเป็น ทาน ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างแก่ปฏิคาหก คือ ผู้รับ ๕ อย่าง คือ ๑. ให้อายุ ๒. ให้วรรณะ คือผิวพรรณ ๓. ให้ความสุข คือ สุขกาย สุขใจ ๔. ให้กำลัง คือความแข็งแรงของร่างกาย ๕. ให้ปฏิภาณ คือฉลาดใน การตั้งปัญหาและตอบปัญหา
    ถ้าจะพูดให้ละเอียดขึ้นไปอีก พระพุทธองค์ก็ทรงจำแนกวัตถุทานไว้ ๑๐ อย่างคือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน (พาหนะ) ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่อยู่ ที่อาศัย และประทีปดวงไฟ
    ใน กินททสูตร สัง. สคาถ. ข้อ ๑๓๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
    การให้ข้าวและน้ำ ชื่อว่า ให้กำลัง การให้ผ้า เครื่องนุ่งห่ม ชื่อว่า ให้ผิวพรรณ การให้ยานพาหนะ ชื่อว่า ให้ความสุขทั้งกายและใจ การให้ประทีบดวงไฟ ชื่อว่าให้ดวงตา การให้ที่อยู่อาศัย ชื่อว่า ให้ทุกอย่าง คือให้กำลัง ให้ผิวพรรณ ให้ความสุข และให้ดวงตา
    แต่การพร่ำสอนธรรม คือการให้ธรรมะ ชื่อว่าให้สิ่งที่ไม่ตาย เพราะบุคคลจะพ้นจากความตาย ไม่ต้องเกิดอีกได้ ก็เพราะอาศัยการได้สดับตรับฟังธรรม ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
    การให้ธรรมะชนะการให้ (สิ่งอื่น) ทั้งปวง แม้การจะทำทานให้ถูกต้องก็ต้องอาศัยการฟังธรรม
    ใน วนโรปสูตร สัง สคาถ. ข้อ ๑๔๖ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบเทวดาที่มาทูลถามว่า ชนพวก ไหนมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรมสมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไป สวรรค์ ด้วยข้อความว่า ชนเหล่าใดสร้างอาราม (คือสวนดอกไม้ สวนผลไม้) ปลูกหมู่ไม้ (เพื่อให้ร่มเงา) สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำดื่มเป็นทาน บ่อน้ำ บ้านเป็นที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์
    ซึ่งมีความหมายว่า ชนเหล่าใดทำกุศลมีการสร้างอารามเป็นต้น เหล่านี้ เมื่อระลึกถึงการทำกุศลนั้น ในกาลใด ในกาลนั้นบุญย่อมเจริญ คือเพิ่มขึ้น และเมื่อชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม คือกุศลธรรม ๑๐ มีการไม่ ฆ่าสัตว์ เป็นต้น ย่อมเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ ละโลกนี้ไปแล้วย่อมเกิดในสวรรค์
    นอกจากนั้น เจตนาที่เป็นเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น พระพุทธองค์ก็ตรัสว่าเป็น มหาทาน เป็นทานที่ยิ่งใหญ่ดังที่ตรัสไว้ในปุญญาภิสันทสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒๙ ว่า
    การงดเว้นจากปาณาติบาต คือการไม่ฆ่าสัตว์ทั้งด้วยตนเองและใช้ผู้อื่น เป็นการให้ความไม่มีเวร ไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตสัตว์
    การงดเว้นจากอทินนาทาน คือการถือเอาของที่เจ้าของเขามิได้ให้ทั้งโดยตนเอง และใช้ผู้อื่น เป็นการให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น
    การงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร คือการประพฤติผิดในบุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น ชื่อว่า ให้ความ บริสุทธิ์แก่บุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น
    การงดเว้นจากมุสาวาท คือการกล่าวเท็จ กล่าวไม่จริงชื่อว่าให้ความจริงแก่ผู้อื่น
    การงดเว้นจากสุรา เมรัย และของมึนเมา เสพติด อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ชื่อว่าให้ความ ปลอดภัยแก่ทุกสิ่ง คือให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตสัตว์ แก่ทรัพย์สินของผู้อื่น แก่บุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น และให้แต่คำพูดที่เป็นจริงแก่ผู้อื่น ทั้งนี้เพราะผู้ที่มึนเมาแล้วย่อมขาดสติ เป็นผู้ประมาท สามารถจะประพฤติ ล่วงศีลได้ทุกข้อ รวมทั้งประพฤติผิดอื่นๆด้วย ด้วยเหตุนี้ผู้ที่อัตคัตขาดแคลนทรัพย์สิ่งของที่จะนำออกให้เป็น ทานก็ไม่ควรเดือดร้อนใจ เพราะเราสามารถจะบำเพ็ญทานที่ยิ่งใหญ่เป็นมหาทาน เป็นทานที่ไม่เจาะจง เป็นทานที่แผ่ไปยังสัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ ด้วยการรักษาศีล ๕ ยิ่งถ้าสามารถจะทำได้ทั้งสองอย่างก็ ยิ่งประเสริฐ
    ขอกล่าวถึง ทาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ทานของอสัตบุรุษและทานของสัตบุรุษ ตามที่แสดง ไว้ใน อสัปปุริสสูตร และ สัปปุริสสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ดังต่อไปนี้
    ทานของอสัตบุรุษ คือทานของคนไม่ดี มีอยู่ ๕ อย่าง คือ ให้โดยไม่เคารพ ๑ ให้โดยไม่ยำเกรง ๑ ไม่ให้ด้วยมือของตนเอง ๑ ให้โดยทิ้งขว้าง ๑ ไม่เห็นผลในอนาคตแล้วให้ ๑
    ส่วน สัตบุรุษ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑ ให้โดยยำเกรง ๑ ให้ด้วยมือของตนเอง ๑ ให้โดยไม่ทิ้ง ขว้าง ๑ เห็นผลในอนาคตจึงให้ ๑
    อีกนัยหนึ่ง แสดงว่า ทานของสัตบุรุษ มี ๕ อย่าง คือให้ทานโดยศรัทธา ๑ ให้ทานโดยเคารพ ๑ ให้ทานตามกาลอันควร ๑ เป็นผู้มีจิตคิดอนุเคราะห์ให้ทาน ๑ ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑ ถ้าตรง ข้ามกับ ๕ ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นทานของอสัตบุรุษ
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
ทาน ศีล ภาวนา
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2012, 08:09:21 pm »
ทาน
-http://www.84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html-

ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๑

   ๑.  ให้ทานโดยเคารพ  คือให้โดยความเต็มใจ  ไม่ได้ให้ด้วยความเกรงกลัวหรือจำใจให้  เวลาให้
ก็ให้ด้วยกิริยาที่นอบน้อมยิ้มแย้มแจ่มใส

   ๒.  ให้ทานโดยยำเกรง  คือเคารพในทานของตนและเคารพในผู้รับ  การเลือกให้แต่ของดี  ของมี
ประโยชน์  ของสะอาดมีรสดี เป็นต้น  ชื่อว่าเคารพทานของตน  อีกประการหนึ่งผู้ที่ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่
พอใจ  ผู้ที่ให้ของที่เลิศ  ย่อมได้ของที่เลิศ  ผู้ที่ให้ของที่ดี ย่อมได้ของดี  ผู้ที่ให้ของที่ประเสริฐย่อมเข้าถึงสถานที่
ประเสริฐ  นรชนใดให้ของที่เลิศ  ให้ของที่ดี  ให้ของที่ประเสริฐ  นรชนนั้นจะบังเกิดในที่ใดๆ  ย่อมมีอายุยืน  มียศ 
นี้เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า

   การเลือกผู้รับที่สมควรแก่ของ  และเลือกผู้รับที่เป็นผู้มีศีล  มีคุณธรรม ชื่อว่า เคารพในผู้รับ  ข้อนี้
มิได้หมายความว่าถ้าผู้รับเป็นสัตว์ดิรัจฉาน  หรือเป็นผู้ไม่มีศีลแล้ว ไม่ต้องให้  ควรให้ทั้งสิ้น  แต่ของที่ดี ของที่
ประณีต ของที่สะอาด มีรสเลิศ  ย่อมสมควรแก่ผู้รับที่เลิศ  คือผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้มีศีลยิ่งกว่าผู้อื่น  ยิ่งให้
แก่ผู้มีศีลจำนวนมากเป็นประโยชน์สุขแก่ผู้มีศีลจำนวนมาก  ที่เรียกว่า  สังฆทาน  ยิ่งมีผลมากจนประมาณไม่
ได้ว่าเท่านั้นเท่านี้ชาติ

   ๓.  ให้ด้วยมือของตน  ข้อนี้หมายความว่า  เวลานี้เราเป็นมนุษย์  มีมือ  มีเท้า  มีอวัยวะครบบริบูรณ์ 
เราจึงควรทำทานนั้นด้วยมือตนเอง  ไม่ควรใช้ผู้อื่นทำแทนอยู่เสมอๆ  ถ้าจะใช้ก็ควรใช้เป็นบางครั้งบางคราว
ในเวลาจำเป็น  นอกจากนั้นแล้วควรทำทานด้วยมือของตนเอง  เพราะนอกจากจะทำให้เกิดเจตนาที่เป็นบุญ
ในขณะที่กำลังให้แล้ว  ในวัฏฏะอันยาวนานนี้  เราไม่อาจทราบได้ว่าเราจะเกิดเป็นคนมือขาดเท้าขาดเมื่อใด
ถ้าเราเกิดเป็นคนมือขาดแล้ว  แม้ของมีอยู่และเราอยากให้ทานด้วยมือของเราเอง  เราจะให้ได้อย่างไร  นอก
จากจะอาศัยผู้อื่นทำแทนเท่านั้น

   ๔.  ให้โดยไม่ทิ้งขว้าง  ข้อนี้หมายถึงไม่ทิ้งขว้างการให้  คือให้อยู่โดยสม่ำเสมอ  ให้อยู่เป็นประจำ

   ๕.  เห็นผลในอนาคตจึงให้  หมายความว่า  ให้เพราะเชื่อว่า  ทานมีจริง  ผลของทานมีจริง  ทาน
ทำให้เกิดในสวรรค์ได้จริง  แม้เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผู้มั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน  หรือเชื่อว่าทานเป็นการขัด
เกลาความตระหนี่  เป็นบันไดก้าวไปสู่สวรรค์และมรรคผล  นิพพานได้  สัตบุรุษท่านเชื่ออย่างนี้จึงให้ทาน

   ถ้าเป็นทานของอสัตบุรุษ  ก็มีนัยตรงข้ามกับที่กล่าวนี้

ทานของสัตบุรุษนัยที่ ๒

   ๑.  ให้ทานโดยศรัทธา  ผู้ที่เป็นสัตบุรุษ  คือคนดีทั้งหลายนั้นย่อมให้ทานเพราะเชื่อกรรม  และผล
ของกรรมว่ามีจริงจึงให้  ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก  มีโภคะมาก  และเป็นผู้มีรูปงาม  น่าดูน่าเลื่อม
ใส  มีผิวพรรณงดงามในที่ๆ  ทานนั้นเผล็ดผล

   ๒.  ให้ทานโดยเคารพ  คือ  ให้ด้วยกิริยาที่เคารพ  นอบน้อม  ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง  มีทรัพย์
มาก  มีโภคะมาก  และเป็นผู้มีบุตร  ภรรยา  ทาส  และคนใช้หรือคนงาน  เป็นผู้เคารพเชื่อฟัง  สนใจสดับรับ
ฟังคำสั่ง  ตั้งใจใคร่รู้ในที่ๆ  ทานนั้นเผล็ดผล

   ๓.  ให้ทานตามกาลอันควร  ครั้นให้แล้ว  ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง  มีทรัพย์มาก  มีโภคะมาก  และย่อม
เป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์  ในที่ๆ  ทานนั้นเผล็ดผล  คือ  เป็นผู้มีทรัพย์มาตั้งแต่วัยเด็ก 
สามารถจะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในขณะที่ยังมีกำลังวังชาแข็งแรง  สติปัญญาเฉียบแหลม 
ไม่ใช่ได้ทรัพย์มาเมื่อหมดกำลังกายและกำลังปัญญาจะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว

   กาลทาน  หรือทานที่ให้ในกาลอันควรนี้  พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงแสดงไว้ใน  กาลทานสูตร 
อังคุตตรนิกาย  ปัญจกนิบาต  ว่ามีอยู่  ๕  อย่าง  คือ

   ๑.  อาคันตุกะทาน  คือทานที่ให้แก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน  หมายความว่าผู้นั้นเป็นผู้มาใหม่  ยังไม่รู้จัก
สถานที่และบุคคลในถิ่นนั้น  เราก็ช่วยสงเคราะห์ให้ที่พักหรือข้าวของต่างๆ  เพื่อให้เขาได้รับความสะดวกสบาย 
แม้พระภิกษุที่จรมาจากที่อื่น  ท่านยังไม่รู้จักทางที่จะไปบิณฑบาตเป็นต้น  ภิกษุที่อยู่ก่อนหรืออุบาสก  อุบาสิกา 
ก็ช่วยอนุเคราะห์ท่าน  ด้วยการถวายอาหารบิณฑบาต   และของใช้ที่จำเป็นแก่สมณะ  ทำให้ท่านได้รับความ
สะดวกสบายไม่เดือดร้อน  อย่างนี้จัดเป็น  อาคันตุกะทาน  และเป็นกาลทาน

   ๒.  คมิกะทาน  คือทานที่ให้แก่ผู้เตรียมตัวจะไป  หมายความว่า  ให้แก่บุคคลที่เตรียมตัวจะไปยัง
ถิ่นอื่น   สัตบุรุษย่อมสงเคราะห์คนที่จะเดินทางไปนั้น   ด้วยค่าพาหนะ  หรือด้วยยานพาหนะ  ตลอดจนเครื่อง
อุปโภคบริโภคที่สมควร

   ๓.  ทุพภิกขทาน  คือ  ทานที่ให้ในสมัยข้าวยากหมากแพง  ผู้คนอดอยาก  ได้รับความเดือดร้อน 
แม้ในสมัยที่น้ำท่วม  ไฟไหม้  ผู้คนเดือดร้อนไร้ที่อยู่  การให้ที่พักอาศัย  และข้าวของ  เครื่องใช้ข้าวปลาอาหาร
ในเวลานั้น  ก็จัดเป็นกาลทาน

   ๔.  นวสัสสะทาน  การให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล
   ๕.  นวผละทาน  การให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล

   ที่ข้อ  ๔  และข้อ  ๕  จัดเป็นกาลทาน  เพราะข้าวใหม่ก็ดีผลไม้ที่ออกใหม่ตามฤดูกาลก็ดี  มิใช่ว่า
จะมีอยู่เสมอตลอดปี  มีเป็นครั้งเป็นคราวตามฤดูกาลเท่านั้น  สัตบุรุษย่อมนำข้าวใหม่และผลไม้ที่เพิ่งออกใหม่ 
ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีล  แล้วจึงบริโภคเองต่อภายหลัง  ท่านที่เคยมีชีวิตอยู่ในชนบทคงจะเคยพบเห็น
ว่า  เวลาที่ข้าวออกรวงเป็นน้ำนม  ชาวนาก็จะเก็บเอารวงข้าวอ่อนมาทำเป็นข้าวยาคูถวายพระ  ข้าวแก่อีกนิด
ก็เอามาทำเป็นข้าวเม่า  ข้าวสุกแล้วก็เอามาสีเป็นข้าวสารหุง  ถวายพระภิกษุผู้ทรงศีลก่อน   แม้ชาวสวนเมื่อ
ผลไม้แก่จัดเขาก็จะเก็บเอามาถวายพระเสียก่อน  แล้วจึงนำออกขายหรือบริโภคเอง  คนที่มิใช่ชาวนาชาวสวน
บางคน  เมื่อเห็นข้าวใหม่หรือผลไม้ออกใหม่วางขายตามตลาด  ก็ซื้อมาแบ่งถวายพระเสียก่อนแล้วจึงบริโภค 
นับว่าท่านเหล่านี้  ได้ทำบุญของท่านถูกกาละเทศะเป็นอย่างยิ่ง   ตรงต่อคำสอนของพระบรมศาสดา  ในข้อ
กาลทาน

   บางแห่งท่านรวมเอาการให้ข้าวใหม่  และการให้ผลไม้ใหม่ไว้เป็นข้อเดียวกัน  แล้วเพิ่ม  คิลานทาน 
คือ  การให้ทานแก่คนเจ็บไข้ไร้ที่พึ่ง  ด้วยยา และอาหารเป็นต้น  ซึ่งคิลานทาน  นี้ก็สมควรจะเป็นกาลทานได้
เช่นกัน

   เพราะเหตุที่กาลทาน  เป็นทานที่ให้ในเวลาจำกัดทำไม่ได้โดยสม่ำเสมอ  พระผู้มีพระภาคเจ้า 
จึงตรัสว่าเป็นทานที่มีผลมาก  ยิ่งให้ในผู้มีศีลผู้ประพฤติตรงยิ่งมีผลมาก  แม้บุคคลผู้อนุโทนาต่อทานของผู้นั้น 
หรือช่วยเหลือให้ทานของผู้นั้นสำเร็จผล  ก็ได้รับผล  ทั้งบุญของผู้ให้ก็ไม่บกพร่อง  เพราะฉะนั้นบุคคลจึงควร
ยินดีในการให้ทาน  ทานที่บุคคลให้แล้วย่อมมีผลมาก  ทั้งยังติดตามไปเป็นที่พึ่งแก่เขาในโลกหน้าด้วย

   ๔.  มีจิตคิดอนุเคราะห์จึงให้  หมายความว่า  สัตบุรุษนั้นเมื่อเห็นผู้ใดได้รับความลำบาก  ขาด
แคลนสิ่งใด   ก็มีจิตคิดช่วยเหลือคนเหล่านั้นด้วยความเต็มใจ   โดยไม่หวังผลตอบแทนโดยไม่คิดว่าเมื่อเรา
ช่วยเหลือเขาแล้ว  เขาจะต้องตอบแทนคุณของเรา  แต่ช่วยเหลือเพราะต้องการให้คนเหล่านั้นได้รับความสุข
สบาย  ครั้นให้แล้วย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง  มีโภคะมาก  และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ ที่สูงๆที่ประณีต 
ที่เป็นของดียิ่งๆ ขึ้นไปในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

   ๕.  ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น  หมายความว่าไม่กระทบคุณงามความดีของตน  และ
ไม่กระทบคุณงามความดีของผู้อื่น  บางคนเคยทำทานด้วยทรัพย์สินและเงินทองครั้งละมากๆ  แต่บางคนก็ทำ
เพียงครั้งละเล็กๆ  น้อยๆ  ตามฐานะของตน   คนที่ทำมากบางคนทำแล้วก็ชอบข่มคนอื่น  ชอบกล่าววาจาดูถูก
ผู้อื่นที่ทำน้อยกว่า เป็นการยกตนข่มท่านอย่างนี้ชื่อว่าทำให้คุณงามความดีของตนลดน้อยลง

   เพราะอะไร
   เพราะเราอุตส่าห์ละความตระหนี่  นำทรัพย์สินเงินทองออกทำบุญให้ทาน  แต่แล้วเราก็กลับทำลาย
ความดีของเราเองด้วยการเพิ่มกิเลส  คือดูถูก  ดูหมิ่นผู้อื่น  ทั้งผู้ที่ทำบุญให้ทานน้อยนั้นเกิดได้ยินคำพูดอันไม่
เพราะหูนั้นเข้า  ถ้าเขาขาดโยนิโสมนสิการ  จิตใจที่เป็นกุศลของเขาก็ดับวูบลง  แล้วอกุศลคือความโทมนัสเสีย
ใจก็จะเกิดขึ้นแทน  อย่างนี้ชื่อว่าทำลาย  คุณงามความดีของผู้อื่น  ทำให้ผู้อื่นเสื่อมจากคุณความดี  คือกุศลที่มี
อยู่   หรือบางคนเป็นผู้รักษาศีล ๕  โดยเคร่งครัดแต่ได้ให้สุรายาเมาเป็นทานแก่ผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ  ก็
ตามทำให้ผู้รับมึนเมา  ขาดสติ  สามารถจะกระทำบาปอกุศลต่างๆ  มีการฆ่าสัตว์เป็นตนได้  อย่างนี้ก็เป็นการ
ให้ที่กระทบความดีของตนและผู้อื่นเช่นกัน   เพราะเราเป็นผู้มีศีลอยู่แล้ว   แทนที่จะชักชวนคนอื่นให้เขามีศีล
อย่างเรา  กลับทำให้เขาเสื่อมเสียจากศีล  ทานอย่างนี้สัตบุรุษท่านไม่กระทำ  สัตบุรุษครั้นให้ทานโดยไม่กระทบ
ตนและผู้อื่นแล้ว  ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง  มีทรัพย์มาก  มีโภคะมาก  และโภคทรัพย์นั้น  ย่อมไม่เป็นอันตรายจากไฟ 
จากน้ำ  จากพระราชา  จากทายาทหรือจากคนที่ไม่เป็นที่รักในที่ๆ  ทานนั้นให้ผล

   นี่คือการให้ทานของสัตบุรุษ  ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นทานของอสัตบุรุษ

   ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ  ถ้าไม่มีเหตุ  ผลก็เกิดไม่ได้ทั้งเหตุก็สมควรแก่ผลด้วย  คือเหตุดี  ผลต้องดี 
เหตุชั่วผลต้องชั่ว  ไม่ใช่เหตุดีแล้วผลชั่ว  หรือเหตุชั่วแล้วผลดี   ถ้าเป็นอย่างนั้นเหตุก็ไม่สมควรแก่ผล   สัตบุรุษ
ท่านทำเหตุ  คือทานของท่านดีผลที่ได้รับก็ต้องดีเป็นธรรมดา

   ใน  อิสสัตถสูตร สัง. สคาถ. ข้อ ๔๐๕  พระเจ้าปเสนทิโกศล  ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า 
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  บุคคลควรให้ทานในที่ไหน

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า  มหาบพิตร  ควรให้ทานในที่ที่จิตเลื่อมใส  คือจิตเลื่อมใสในที่ใด 
ในบุคคลใด  ควรให้ในที่นั้น  ในบุคคลนั้น

   พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลถามต่อไปว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก
พระเจ้าข้า

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า  ทานที่ให้แล้วแก่ท่านผู้มีศีล  มีผลมาก  ให้ในท่านผู้ไม่มีศีล 
หามีผลมากไม่

   เพราะฉะนั้น  การให้ทานในที่ใด  จึงเป็นอย่างหนึ่ง  ที่นั้นมีผลมากหรือไม่ เป็นอีกอย่างหนึ่ง

   ด้วยเหตุนี้  หากบุคคลที่ท่านเลื่อมใสเป็นผู้มีศีลทานของท่านย่อมมีผลมาก  ยิ่งผู้มีศีลนั้นเป็นผู้
ละกิเลสทั้งปวงได้แล้ว  เป็นพระอรหันตขีณาสพแล้ว  ทานของท่านที่ถวายในท่านผู้มีศีลนั้น  ด้วยจิตผ่องใส
ยิ่งมีผลมาก

   ถึงแม้พระผู้มีพระภาคเจ้า  จะทรงแสดงว่า  ควรให้ทานในผู้ที่ท่านเลื่อมใส  และมีศีลก็จริง
 แต่พระองค์ก็มิได้ทรงสอนให้ละเลยบุคคลที่ท่านมิได้เลื่อมใส  ตลอดจนสัตว์เดรัจฉาน  ยาจก  วณิพก 
เป็นต้นเสีย  เพราะเห็นว่าได้ผลน้อย  ทั้งนี้เพราะขึ้นชื่อว่าบุญแล้วแม้เล็กน้อย ก็ไม่ควรประมาท  ปล่อย
ให้ผ่านไปโดยไม่สนใจ  ด้วยว่าน้ำที่หยดลงในตุ่มทีละหยด  ก็ยังเต็มตุ่มได้  ฉันใด  บุญที่ว่าเล็กน้อยนั้น 
เมื่อสะสมไว้บ่อยๆ  เนืองๆ  ก็เป็นบุญมากได้ฉันนั้น

   พระพุทธองค์ตรัสว่า  การสาดน้ำล้างภาชนะลงไปในบ่อน้ำครำ  ด้วยเจตนาที่จะให้สัตว์
ที่อาศัยอยู่ในที่เหล่านั้นได้รับความสุข  ก็ยังมีอานิสงส์ไม่น้อย  จะป่วยกล่าวไปไยกับการให้ทาน
ในผู้มีศีล  หรือในบุคคลหมู่มากที่ประพฤติปฏิบัติตรง  ทั้งโดยเจาะจงและไม่เจาะจง

     ใน  ทักขิณาวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์  พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงจำแนกอานิสงส์
ของทานที่ให้โดยเจาะจงและไม่เจาะจงไว้ตามลำดับขั้น ถึง ๒๑ ประเภท  คือ

   ๑.  ให้ทานแก่ดิรัจฉาน  มีอานิสงส์ร้อยชาติ  คือ  ให้อายุ  วรรณะ  สุขะ  พละ  และปฏิภาณ 
ถึง  ๑๐๐  ชาติ
   ๒.  ให้ทานแก่ปุถุชนทุศีล  มีอานิสงส์พันชาติ
   ๓.  ให้ทานแก่ปุถุชนผู้มีศีล  มีอานิสงส์แสนชาติ
   ๔.  ให้ทานแก่ปุถุชนผู้ปราศจากความยินดีในกาม  นอกพุทธศาสนา  อย่างพวกนักบวชหรือฤาษี
ที่ได้ฌานเป็นต้น  แม้ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา  ก็ยังมีอานิสงส์ถึงแสนโกฏิชาติ

    สี่ประเภทนี้เป็นปาฏิปุคคลิกทาน  เป็นทานที่ให้โดยเจาะจง คือให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดย
เฉพาะ และมีผลจำกัด  ยังมีปาฏิปุคคลิกทานที่มีผลไม่จำกัด   คือให้ผลนับประมาณชาติไม่ได้  มากน้อย
ตามลำดับขึ้นอีก  ๑๐  ประเภท  ดังต่อไปนี้

   ๑.  ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ  เพื่อทำให้แจ้งซึ่ง  โสดาปัตติผล
   ๒.  ให้ทานแก่พระโสดาบันบุคคล  คือผู้ที่บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว
   ๓.  ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ  เพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล
   ๔.  ให้ทานแก่พระสกทาคามีบุคคล
   ๕.  ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ  เพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล
   ๖.  ให้ทานแก่พระอนาคามีบุคคล
   ๗.  ให้ทานแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ  เพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล
   ๘.  ให้ทานแก่พระอรหันต์
   ๙.  ให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
   ๑๐.  ให้ทานแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

   รวมเป็นปาฏิปุคคลิกทาน  คือทานที่ให้โดยเจาะจง ๑๔ ประเภท  ใน  ๑๔  ประเภทนี้ 
ประเภทที่ ๑ มีผลน้อยที่สุด  ประเภทที่ ๑๔ มีผลมากที่สุด

   ทานที่ให้โดยไม่เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่งที่เรียกว่า  สังฆทาน  มี ๗ อย่าง

   ๑.  ให้ทานในสงฆ์  ๒  ฝ่าย (คือภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์)  มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
   ๒.  ให้ทานในสงฆ์  ๒  ฝ่าย  ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานไปแล้ว
   ๓.  ให้ทานในภิกษุสงฆ์
   ๔.  ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์
   ๕.  ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากสงฆ์ ๒ ฝ่าย  ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวน
เท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า
   ๖.  ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์  ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็น
สงฆ์แก่ข้าพเจ้า
     ๗.  ให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุณีสงฆ์  ด้วยคำว่าขอได้โปรดจัดภิกษุณีสงฆ์จำนวนเท่า
นี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า

   สังฆทานทั้ง ๗ อย่างนี้  ปัจจุบันเราทำได้เพียง ๒ อย่าง  คือให้ทานในภิกษุสงฆ์  และให้ทาน
ในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์เท่านั้นเพราะพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว  ภิกษุณีสงฆ์ก็สูญวงศ์แล้ว

   ขึ้นชื่อว่าสังฆทานย่อมมีผลมาก  มากจนประมาณไม่ได้ว่าเท่านั้นเท่านี้ชาติ  แม้ในอนาคตกาล 
จักมีแต่  โคตรภูภิกษุ  มีผ้ากาสาวะพันที่คอ  หรือผูกข้อมือ  เป็นคนทุศีล  มีธรรมลามก  พระพุทธองค์ 
ก็ยังตรัสว่า  คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น  ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์
แม้ในเวลานั้นก็มีผลนับประมาณไม่ได้  ปาฏิปุคคลิกทานจะมีผลมากกว่าสังฆทาน คือทักษิณาที่ถึง
แล้วในสงฆ์แม้โคตรภูสงฆ์ หาเป็นไปได้ไม่

    แต่ว่าสังฆทาน  จะเป็นสังฆทานได้ก็ต่อเมื่อผู้ถวายมีความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เท่านั้น 
วางใจในสงฆ์เสมอเหมือนกันหมด  ไม่ยินดีเมื่อได้พระหรือสามเณรที่ชอบใจ  หรือไม่ยินร้ายเมื่อได้พระหรือ
สามเณรที่ไม่ชอบใจ  หรือต้องการผู้แทนของสงฆ์ที่เป็นพระเถระ  แต่ได้พระนวกะหรือสามเณรก็เสียใจ  หรือ
ได้พระเถระผู้ใหญ่ก็ดีใจอย่างนี้  ทานของผู้นั้นก็ไม่เป็นสังฆทานเพราะขาดความเคารพในสงฆ์  หรือผู้แทนที่
สงฆ์ส่งไปในนามของสงฆ์  ด้วยเหตุนี้การถวายสังฆทานที่ถูกต้องจึงทำได้ไม่ง่ายนัก

   ในทางพระวินัย  ภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป  จึงเรียกว่า  สงฆ์แต่การถวายไทยธรรมแก่ภิกษุแม้รูปเดียว
ที่สงฆ์จัดให้เป็นองค์แทนของสงฆ์ ก็จัดเป็นสังฆทานเหมือนกัน  ดังมีเรื่องเล่าไว้ใน อรรถกถาปปัญจสูทนี
ภาค ๓ (หน้า ๗๑๗)  อรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตร  ว่า

   กุฎุมพี  คือ  เศรษฐีคนหนึ่งเป็นเจ้าของวัดวัดหนึ่ง  ได้ไปขอภิกษุรูปหนึ่งมาจากสงฆ์  ด้วยคำว่า 
ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงให้ภิกษุรูปหนึ่งจากสงฆ์แก่ข้าพเจ้า  แม้เขาจะได้ภิกษุทุศีลรูปหนึ่งเขาก็ปฏิบัติต่อ
ภิกษุรูปนั้นด้วยความเคารพนอบน้อม  ตกแต่งเสนาสนะและเครื่องบูชาสักการะพร้อม  ล้างเท้าให้ภิกษุนั้น
เอาน้ำมันทาเท้าให้  แล้วถวายไทยธรรมด้วยความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เหมือนกับบุคคลเคารพยำเกรงต่อ
พระพุทธเจ้า   ภิกษุรูปนั้นฉันภัตตาหารแล้วก็กลับวัด   หลังจากนั้นได้กลับมาขอยืมจอบที่บ้านของกุฎุมพีนั้น
อีกครั้งหนึ่ง  คราวนี้กุฎุมพีเอาเท้าเขี่ยจอบให้  คนที่เห็นกิริยาของกุฎุมพีนั้นก็ถามว่า เมื่อเช้านี้ท่านถวายทาน
แก่ภิกษุรูปนี้ด้วยความเคารพนบนอบอย่างยิ่ง แต่บัดนี้แม้สักว่ากิริยาที่เคารพก็ไม่มี กุฎุมพีตอบว่า
เมื่อเช้านี้เราเคารพยำเกรงต่อสงฆ์  เราหาได้เคารพยำเกรงต่อภิกษุรูปนี้เป็นส่วนตัวไม่
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
ทาน ศีล ภาวนา
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2012, 08:10:02 pm »
ทาน
-http://www.84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html-

    การถวายทานในสงฆ์ที่เรียกว่าสังฆทานนั้น คำว่า สงฆ์ ท่านมุ่งเอา พระอริยสงฆ์ คือ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล พระอนาคามิมรรค พระ อนาคามิผล พระอรหัตตมรรค และพระอรหัตตผล รวมเป็น ๔ คู่ ๘ บุคคล หาได้หมายเอาสมมุติสงฆ์ไม่ ทั้งนี้เพราะพระอริยสงฆ์นั้นเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุปฏิปันโน คือ ปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติ ตรง ญายปฏิปันโน ปฏิบัติแล้วเพื่อญายธรรม สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติชอบ ทั้งพระอริยสงฆ์เหล่านั้นยังเป็น อาหุเนยโย คือ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาบูชา ปาหุเนยโย เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาต้อนรับ ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรแก่ไทยธรรมที่เขานำมาถวายด้วยศรัทธา อัญชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การกระทำ อัญชลี อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นนาบุญอันเยี่ยมของโลก ไม่มีนาบุญอื่นที่ยิ่งกว่า


    ใน ขุ. วิมานวัตถุ ทัททัลลวิมาน ข้อ ๓๔ กล่าวถึง อานิสงส์ของสังฆทานว่า มากกว่า ทานธรรมดา ดังนี้

    นางภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว ได้ถามนางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวว่า ท่านรุ่งเรืองด้วยรัศมี ทั้งเป็นผู้เรืองยศ ย่อมรุ่งโรจน์ล่วงเทพเจ้าชาวดาวดึงส์ทั้งหมดด้วยรัศมี ดิฉันไม่เคยเห็นท่าน เพิ่งจะมาเห็นในวันนี้เป็นครั้งแรก ท่านมาจากเทวโลกชั้นไหน จึงมาเรียกดิฉันด้วย ชื่อเดิมว่า ภัททา ดังนี้เล่า

    นางสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาวตอบว่า ข้าแต่พี่ภัททา ฉันชื่อว่าสุภัททา ในภพก่อนครั้งยังเป็นมนุษย์อยู่ ดิฉันได้เป็นน้องสาวของพี่ ทั้งได้เคยเป็นภริยาร่วมสามีเดียวกับพี่ด้วย ดิฉันตายจากมนุษย์โลกนั้นมาแล้ว ได้มาแล้วเกิดเป็นเทพ ธิดาประจำสวรรค์ ชั้นนิมมานรดี

    นางภัททาเทพธิดา ถามต่อไปว่า ดูก่อนแม่สุภัททา ขอเธอได้บอกการอุบัติของเธอในหมู่เทพเจ้าเหล่านิมมานรดี ซึ่งเป็นที่ ๆ สัตว์ได้สั่งสมบุญกุศลไว้มากแล้วจึงได้มาบังเกิด เธอได้มาเกิดในที่นี้ เพราะทำบุญกุศลสิ่งใดไว้ และใคร เป็นครูแนะนำสั่งสอนเธอ เธอเป็นผู้เรืองยศ และถึงความสุขพิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้ เพราะได้ให้ทานและ รักษาศีลเช่นไรไว้ ดูก่อนแม่เทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว นี่เป็นผลของกรรมอะไร โปรดตอบฉันด้วย

    นางสุภัททาเทพธิดา ตอบว่า เมื่อชาติก่อน ดิฉันมีใจเลื่อมใส ได้ถวายบิณฑบาต ๘ ที่แก่สงฆ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ๘ รูป ด้วยมือของตน เพราะบุญกรรมนั้น ดิฉันจึงมีวรรณะงามเช่นนี้ ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ เพราะ บุญกรรมนั้น

    นางภัททาเทพธิดาได้ถามต่อไปอีกว่า พี่เลี้ยงดูพระภิกษุทั้งหลาย ผู้สำรวมดี ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำ ด้วยมือของตนเองมากกว่าเธอ ครั้นให้ทานมากกว่าเธอแล้ว ก็ยังได้บังเกิดในเหล่าเทพเจ้าต่ำกว่าเธอ ส่วน เธอได้ถวายทานเพียงเล็กน้อย อย่างไรจึงมาได้ผลอย่างพิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้เหล่าแน่ะแม่เทพธิดา ฉันถาม เธอแล้ว นี่เป็นผลเป็นกรรมอะไร โปรดตอบฉันด้วย

    นางสุภัททาเทพธิดาตอบว่า เมื่อชาติก่อน ดิฉันได้เห็นพระภิกษุผู้อบรมทางจิตใจเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ จึงได้นิมนต์ท่าน รวม ๘ รูปด้วยกัน มีพระเรวตเถระเป็นประธาน ด้วยภัตตาหาร ท่านพระเรวตเถระนั้นมุ่งจะให้เกิด ประโยชน์ อนุเคราะห์แก่ดิฉัน จึงบอกดิฉันว่าจงถวายสงฆ์เถิด ดิฉันได้ทำตามคำของท่าน ทักขิณา ของดิฉันนั้นจึงเป็นสังฆทาน อันดิฉันให้เข้าไปตั้งไว้ในสงฆ์ เป็นทานที่ไม่อาจปริมาณผลได้ว่ามีอยู่ เท่าไร ส่วนทานที่คุณพี่ได้ถวายแก่ภิกษุด้วยความเลื่อมใสนั้น เป็นรายบุคคล จึงมีผลไม่มาก

    นางภัททาเทพธิดา เมื่อจะรับรองความข้อนั้น จึงกล่าวว่า พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า การถวายสังฆทานนี้ มีผลมาก ถ้าว่าพี่ได้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์อีก จักเป็น ผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ถวายสังฆทาน และไม่ประมาทเป็นนิตย์

    เมื่อสนทนากันแล้ว นางสุภัททาเทพธิดาก็กลับไปสู่ทิพวิมานของตนบนสวรรค์ขั้นนิมมานรดี ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับการสนทนานั้น จึงตรัสถามนางภัททาเทพธิดาว่า เทพธิดาผู้นั้นเป็นใคร มาสนทนากับเธอ มีรัศมีรุ่งโรจน์กว่าเทพเจ้าเหล่าดาวดึงส์ทั้งหมด

    นางภัททาเทพธิดา เมื่อจะบรรยายข้อที่สังฆทานของเทพธิดาผู้น้องสาวว่ามีผลมาก จึงทูลว่า ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ เทพธิดาผู้นั้นเมื่อชาติก่อนยังเป็นมนุษย์อยู่ในมนุษย์โลก เป็นน้องสาวของหม่อมฉัน และยังได้เคยร่วมสามีเดียวกับหม่อมฉันด้วย เธอสั่งสมบุญกุศล คือ ถวายสังฆทาน จึงได้ไพโรจน์ถึงอย่างนี้เพคะ

    สมเด็จอมรินทราธิราช เมื่อจะทรงสรรเสริญสังฆทานจึงตรัสว่า ดูก่อนนางภัททา น้องสาวของเธอไพโรจน์กว่าเธอ ก็เพราะเหตุในปางก่อน คือ การถวาย สังฆทานที่ไม่อาจปริมาณผลได้ อันที่จริง ฉันได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ครั้งประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ถึงผลแห่งไทยธรรมที่ได้จัดแจงถวายในเขตที่ผลมากของมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มุ่งบุญ ให้ทานอยู่หรือทำ บุญปรารภเหตุแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย จะถวายในบุคคลประเภทใดจึงจะมีผลมาก

    พระพุทธเจ้าตรัสตอบข้อความนั้นแก่ฉันอย่างแจ่มแจ้งว่า ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออริยมรรค ๔ จำพวก และท่านผู้ตั้งอยู่ในอริยผล ๔ จำพวก พระอริยบุคคล ๘ จำพวกนี้ ชื่อว่าสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตรง ดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญถวายทานในท่านเหล่านี้ หรือทำบุญปรารภ การเวียนเกิดเวียนตาย ทานที่ถวายในสงฆ์ย่อมมีผลมาก พระสงฆ์นี้เป็นผู้มีคุณความดีอันยิ่งใหญ่ ยังผลให้เกิดแก่ผู้ถวายทานในท่านอย่างไพบูลย์ ยากที่ใครจะปริมาณว่าเท่านี้ๆ ได้ เหมือนทะเลยาก ที่คาดคะเนได้ว่ามีน้ำเท่านี้ๆ ฉะนั้น

    พระสงฆ์เหล่านี้แล เป็นพระผู้ประเสริฐสุด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียรเป็นเยี่ยม ในหมู่นรชน เป็นแหล่งสร้างแสงสว่าง คือญาณของชาวโลก ได้แก่ นำเอาแสงสว่าง คือ พระสัทธรรมที่ พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้แล้วมาชี้แจง ปวงชนผู้ใคร่ต่อบุญเหล่าใด ถวายทานมุ่งตรงต่อสงฆ์ ทักขิณาของเขาเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นทักขิณาที่ถวายดีแล้ว เป็นยัญวิธีที่เซ่นสรวงถูกต้อง จัดเป็น บูชากรรมที่บูชาแล้วชอบเพราะทักขิณานั้นจัดเป็นสังฆทาน มีผลมาก อันพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า ทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลก ทรงสรรเสริญ

    ชนเหล่าใดยังท่องเที่ยวอยู่ในโลก มาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้ เกิดปีติโสมนัส ก็จะกำจัดมลทิน คือความตระหนี่ทั้งความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความลังเลในใจ และความวิปลาสอันเป็นมูลฐานเสียได้ ทั้งจะไม่ เป็นผู้ถูกผู้รู้ติเตียน ชนเหล่านั้นก็จะเข้าถึงสถานที่ที่เป็นแดนสวรรค์

    จากวิมานวัตถุเรื่องนี้ แสดงชัดว่า สังฆทาน ที่ถวายเจาะจงแด่พระอริยสงฆ์นั้น มีผลมาก มี อานิสงส์มากจริง ทั้งนี้ เพราะเหตุที่พระอริยสงฆ์ท่านประกอบด้วย พระคุณ ๙ ประการดังกล่าวมาแล้ว ทาน ที่ถวายในท่านเหล่านี้จึงมีผลมาก ถ้ายังเกิดอยู่ตราบใดสังฆทานนี้ก็ให้ผลไปเกิดในที่ดีมีความสุขนับชาติ ไม่ได้ทีเดียว ยิ่งกว่านั้น พระอริยสงฆ์ท่านยังอาจแสดงธรรมที่ท่านได้เห็นแล้วบรรลุแล้วให้ผู้ถวายได้เห็น ตามบรรลุตามเป็นผู้บริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลสเช่นเดียวกับท่านได้อีกด้วย การหมดจดจากกิเลสนี้เป็น อานิสงส์สูงที่สุดสำหรับบุคคลที่ถวายในสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ ทานที่ถวายในสงฆ์หรือสังฆทานจึงมีผลมากและ อานิสงส์มากอย่างนี้

    ก็พระคุณ ๙ ประการ ของพระอริยสงฆ์นั้น ๔ ประการแรก เป็นพระคุณเฉพาะส่วนตัวของท่าน ๕ ประการหลัง มีอาหุเนยโยเป็นต้น เป็นพระคุณที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ถวายทาน แก่ท่าน คือให้ได้รับผลมาก แม้อุทิศให้แก่เปรต เปรตทราบแล้วอนุโมทนาชื่นชมยินดี ก็ยังพ้นสภาพเปรต เป็นเทวดาได้

    ขอนำเรื่องของ เศรษฐีเท้าแมว ใน ธรรมบทภาค ๕ มาเล่าประกอบไว้ด้วย เรื่องนี้เกิดขึ้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
    อุบาสกผู้หนึ่ง ไปฟังธรรมที่วัดเชตวัน ในกรุงสาวัตถีได้ยินพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "บุคคล บางคนให้ทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาย่อมได้รับโภค สมบัติ แต่ไม่ได้รับบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด
    ส่วนบางคนตนเองไม่ให้ทาน แต่เที่ยวชักชวนคนอื่นให้ให้ทาน เพราะฉะนั้นเมื่อเขา ตายไป เขาก็ย่อมได้รับแต่บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้รับโภคสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด
    ส่วนบางคนตนเองก็ไม่ให้ทาน ทั้งไม่ชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขา ตายไป เขาก็ย่อมไม่ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด
    ส่วนบางคนตนเองก็ไห้ทาน ทั้งยังชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขา ตายไป เขาก็ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด"

    อุบาสกผู้นี้เป็นบัณฑิต ได้ฟังดังนั้นก็คิดจะทำบุญให้ได้รับผลครบทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ เขาจึงเข้าไปกราบทูลขอถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้า ก็ทรงรับคำอาราธนานั้น อุบาสกนั้นจึงได้เที่ยวป่าวร้องไปตามชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลาย ชักชวนให้บริจาค ข้าวสารและของต่างๆ เพื่อนำมาประกอบอาหารถวายก็ได้รับสิ่งของต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างตามศรัทธาและ ฐานะของผู้บริจาค อุบาสกคนนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนี้ จนมาถึงร้านค้าของท่านเศรษฐีผู้หนึ่ง ท่านเศรษฐี เกิดไม่ชอบในที่เห็นอุบาสกนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนั้น ท่านคิดว่า "อุบาสกคนนี้เมื่อไม่สามารถถวาย อาหารแก่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งวัดเชตวันได้ ก็ควรจะถวายตามกำลังของตน ไม่ควรจะเที่ยวชักชวนคนอื่นเขาทั่วไปอย่างนี้"

    เพราะเหตุที่คิดอย่างนี้ แม้ท่านจะร่วมทำบุญกับอุบาสกนั้นด้วย แต่ท่านก็ทำด้วยความไม่เต็มใจ ได้หยิบของให้เพียงอย่างละนิดละหน่อย คือใช้นิ้ว ๓ นิ้วหยิบของนั้น จะหยิบได้สักเท่าไร เวลาให้น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ก็ให้เพียงไม่กี่หยด เพราะเหตุที่ท่านมือเบามาก หยิบของให้ทานเพียงนิดหน่อย คนทั้งหลายก็เลย ตั้งชื่อท่านว่า เศรษฐีเท้าแมว เป็นการเปรียบเทียบความมือเบาของท่านกับความเบาของเท้าแมว

    อุบาสกนั้นเป็นคนฉลาด เมื่อรับของจากท่านเศรษฐีจึงได้แยกไว้ต่างหาก ไม่ได้รวมกับของที่ตนรับ มาจากผู้อื่นเศรษฐีก็คิดว่า "อุบาสกนี้คงจะเอาเราไปเที่ยวประจานเป็นแน่" เมื่อคิดอย่างนี้ จึงใช้ให้คน ใช้ติดตามไปดู คนรับใช้ได้เห็นว่าอุบาสกนั้นนำเอาของของเศรษฐีไปแบ่งใส่ลงในหม้อที่ใช้หุงต้มอาหารนั้นหม้อ ละนิด อย่างข้าวสารก็ใส่หม้อละเมล็ดสองเมล็ดเพื่อให้ทั่วถึง พร้อมกับกล่าวให้พรท่านเศรษฐีด้วยว่า "ขอให้ทาน ของท่านเศรษฐีจงมีผลมาก" คนรับใช้ก็นำความมาบอกนาย ท่านเศรษฐีก็คิดอีกว่า "วันนี้เขายังไม่ ประจานเราพรุ่งนี้เวลานำเอาอาหารไปถวายพระที่วัดเชตวัน เขาคงจะประจานเรา ถ้าเขาประจานเรา เราจะฆ่าเสีย" ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นท่านจึงเหน็บกริชซ่อนไว้แล้วไปที่วัดเชตวัน ในเวลาที่อุบาสกและชาวเมือง ช่วยกันอังคาสเลี้ยงดูพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ เมื่อช่วยกันถวายภัตตาหารแล้ว อุบาสกผู้นั้นได้กราบ ทูลพระพุทธเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เที่ยวชักชวนมหาชนให้ถวายทานนี้ขอให้ คนทั้งหลายผู้ที่ข้าพระองค์ชักชวนแล้ว บริจาคแล้ว ทั้งผู้บริจาคของมาก ทั้งผู้บริจาคของน้อย จงได้รับผลมากทุกคนเถิด" ท่านเศรษฐีได้ยินแล้วก็ไม่สบายใจ กลัวอุบาสกจะประกาศว่า ท่านให้ของเพียง หยิบมือเดียว คิดอีกว่า "ถ้าอุบาสกเอ่ยชื่อเรา เราจะแทงให้ตาย" แต่อุบาสกนั้นกลับกราบทูลว่า "แม้ผู้ที่ บริจาคของเพียงหยิบมือเดียว ทานของผู้นั้นก็จงมีผลมากเถิด"

    ท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็ได้สติ คิดเสียใจว่า "เราได้คิดร้ายล่วงเกิดต่ออุบาสกนี้อยู่ตลอดเวลา แต่อุบาสกนี้เป็นคนดีเหลือเกิน ถ้าเราไม่ขอโทษเขา เราก็เห็นจะได้รับกรรมหนัก" คิดดังนี้แล้ว จึงเข้า ไปหมอบแทบเท้าของอุบาสกนั้น เล่าเรื่องให้ฟังพร้อมทั้งขอให้ยกโทษให้ พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็น กริยาอาการของท่านเศรษฐีอย่างนี้ก็ตรัสถามขึ้น เมื่อทรงทราบแล้วจึงได้ตรัสว่า "ขึ้นชื่อว่าบุญแล้ว ใครๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย ทานที่บุคคลถวายแล้วแก่ภิกษุสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเช่นนี้ ไม่ ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย คนที่ฉลาดทำบุญอยู่ ย่อมเต็มด้วยบุญ เหมือนหม้อน้ำที่เปิดปากไว้ ย่อมเต็ม ด้วยน้ำฉันนั้น" ในตอนท้าย พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาว่า "บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญเล็กน้อยว่าจะไม่ มาถึง แม้หม้อน้ำก็ยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาฉันใด ผู้ฉลาดเมื่อสะสมบุญแม้ทีละน้อยทีละ น้อย ก็ย่อมเต็มด้วยบุญฉะนั้น"

    ท่านเศรษฐีได้ฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล พระธรรมเทศนาของ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่งอย่างนี้ ถ้าเราหมั่นฟังอยู่เสมอและฟังด้วยความตั้งใจ ก็ย่อมได้ปัญญา ดังเศรษฐีท่านนี้เป็นตัวอย่าง

    จากเรื่องของท่านเศรษฐีผู้นี้ ทำให้ทราบว่าการให้ทานนั้น เป็นเหตุให้ได้รับโภคสมบัติ การชัก ชวนผู้อื่นให้ทานนั้นเป็นเหตุให้ได้รับบริวารสมบัติ ในที่ๆ ตนไปเกิด

    เพราะฉะนั้น เมื่อใครเขาทำบุญ หรือใครเขาชักชวนใครๆ ทำบุญ ก็อย่างได้ขัดขวางห้ามปราม เขาเพราะการกระทำเช่นนี้เป็นบาป เป็นการทำลายประโยชน์ของบุคคลทั้ง ๓ ฝ่าย คือตนเองเกิดอกุศลจิต ก่อน ๑ ทำลายลาภของผู้รับ ๑ ทำลายบุญของผู้ให้ ๑

    และจากเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นชัดว่า สังฆทานนั้นมีผลมาก และมีอานิสงส์มาก การที่กิเลสคือความ ตระหนี่ได้ถูกขัดเกลาออกไป ทำให้จิตใจที่หนาอยู่ด้วยกิเลสเบาบางลงไปได้ชั่วขณะนี้แหละ คืออานิสงส์ที่แท้ จริงของบุญ ยิ่งกิเลสถูกขัดเกลาไปได้มากเท่าไร ทานของผู้นั้นก็มีอานิสงส์มากเท่านั้น

    เสื้อผ้าที่สกปรกเปรอะเปื้อนต้องการสบู่หรือผงซักฟอกเข้าไปช่วยชำระล้างให้สะอาดฉันใด จิตใจที่เปรอะเปื้อนด้วยกิเลสก็ต้องการบุญ มีทานเป็นต้น เข้าไปช่วยชำระล้างขัดเกลาให้สะอาดหมด จดฉันนั้น

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา คือทานไว้ ๔ อย่าง คือ
    ๑. ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายกคือผู้ให้ แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคคาหกคือผู้รับ กล่าวคือผู้ให้เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ได้ของมาโดยชอบธรรม เป็นผู้เชื่อกรรมและผลของกรรม แต่ ผู้รับเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก
    ๒. ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก กล่าวคือผู้รับ เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม แต่ผู้ให้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ได้ของมาโดยไม่ชอบธรรม เป็นผู้ไม่เชื่อ กรรมและผลของกรรม
    ๓. ทักษิณาบางอย่าง ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและปฏิคคาหก คือทั้งผู้ให้และผู้รับ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก
    ๔. ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและปฏิคคาหก คือทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นผู้มี ศีลงาม มีธรรมงามทานที่บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่ายอย่างนี้ย่อมมีผลไพบูลย์

    อนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสว่า ถ้าทายกคือผู้ให้เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ได้ของมา โดยชอบธรรม มีศรัทธาเชื่อกรรมและผลของกรรม และปฏิคคาหกคือผู้รับ เป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ปราศจากราคะแล้วทานของผู้นั้นเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย

    อนึ่งใน ทานานิสังสสูตร อัง. ปัญจก. ข้อ ๓๕ พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์ของทาน ไว้ ๕ อย่างคือ
    ๑. ผู้ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก ๒. สัปบุรุษ ผู้สงบ มีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมคบหาผู้ให้ทาน ๓. กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทาน ย่อมขจรขจายไปทั่ว ๔. ผู้ให้ทาน ย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์ คือมีศีล ๕ ไม่ขาด ๕. ผู้ให้ทาน เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
    แล้วทรงสรุปเป็นคาถาว่า ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ (คือ มหาบุรุษ หรือพระโพธิสัตว์) สัปบุรุษผู้สงบ ผู้สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัปบุรุษเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์แก่เขา เขาได้ทราบชัดแล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ปรินิพพานในโลกนี้
    ควรอย่างยิ่งที่เราจะสะสมบุญ มีทานเป็นต้น ให้งอกงามเพิ่มพูนขึ้นในจิตใจของเรา เพราะว่า เมื่อไรที่จิตใจของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยบุญ เมื่อนั้นกิเลสจะไม่มีหลงเหลืออยู่ในจิตใจของเราเลย

    ใน ทานสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๔๙ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ ทานที่ให้แล้ว มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก และเหตุปัจจัยที่ทำให้ทานที่ให้แล้วมีผลมาก และมีอานิสงส์ มาก ไว้ดังต่อไปนี้

    ๑. บุคคลบางคน ให้ทานด้วยความหวังว่า เมื่อตายไปแล้ว จักได้เสวยผลของทานนี้ เมื่อตายไป ได้เกิดในเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลก แล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

    ๒. บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทาน เพราะหวังผลของทาน แต่ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี เป็นบุญ เป็นกุศล จึงให้เมื่อตายไป ได้เกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความ เป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมากแต่ ไม่มีอานิสงส์มาก

    ๓. บุคคลบางคนไม่ได้ให้ทาน เพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี แต่ให้ทานเพราะละอายใจที่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษเคยทำมา ถ้าไม่ทำก็ไม่สมควร ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นยามา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็ กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

    ๔. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ แต่ให้ทานเพราะเห็นสมณพราหมณ์เหล่านั้นหุงหากินไม่ได้ เราหุงหา กินได้ ถ้าไม่ให้ก็ไม่สมควร ครั้นตายลงได้เกิดในเทวโลกชั้นดุสิต สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความ เป็นใหญ่ในเทวโลกแล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

    ๕. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะรู้ว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ ไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นว่า สมณพราหมณ์หุงหากินไม่ได้ แต่ให้ทานเพราะ ต้องการจำแนกแจกทานเหมือนกับฤาษีทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำมหาทานมาแล้ว เขาตาย ไปได้เกิดในเทวโลกชั้นนิมมานรดี สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ก็กลับมาสู่ความ เป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานอย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

    ๖. บุคคลบางคน ไม่ได้ให้ทานเพราะหวังผลของทาน ไม่ได้ให้ทานเพราะว่าทานเป็นของดี ไม่ได้ให้ทานตามบรรพบุรุษ ไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นว่าสมณพราหมณ์หุงหากินไม่ได้ ไม่ได้ให้ทานเพราะ ต้องการจำแนกแจกทานเหมือนฤาษีทั้งหลายในปางก่อนได้กระทำมหาทาน แต่ให้ทานเพราะคิดว่า เมื่อให้แล้ว จิตจะเลื่อมใสโสมนัสจึงให้ ครั้นตายไปย่อมเกิดในเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตดี สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ คือกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทาน อย่างนี้มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก

    ๗. บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานเพราะเหตุที่กล่าวแล้วทั้ง ๖ อย่างข้างต้นนั้น แต่ให้ ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต คือให้ทานนั้นเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจหมดจดจากกิเลสด้วยอำนาจของ สมถะและวิปัสสนา จนได้ฌานและบรรลุ จนได้ฌานและบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ตายแล้วได้ไปเกิดใน พรหมโลก เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ในพรหมโลกแล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมาเกิด ในโลกนี้อีก คือปรินิพพานในพรหมโลกนั้นเอง ทานชนิดนี้เป็นทานที่มีผลมาก และมีอานิสงส์มาก

    สรุปรวมความว่า ทานชนิดใดก็ตาม เป็นปัจจัยให้ต้องเกิดอีก ทานชนิดนั้นแม้มีผลมาก ได้เกิด ที่ดีมีความสุขอันเป็นทิพย์ แต่ทานนั้นก็ไม่มีอานิสงส์มาก เพราะไม่สามารถจะทำให้หมดจดจากกิเลสได้

    ส่วนทานชนิดใดเป็นปัจจัยให้ไม่ต้องเกิดอีก ทานชนิดนั้นชื่อว่ามีผลมากด้วย มีอานิสงส์ มากด้วย เพราะทำให้หมดจดจากกิเลส

    ฉะนั้นคำว่า "อานิสงส์มาก" ในที่นี้ จึงหมายถึงการหมดจดจากกิเลสทั้งปวง ไม่ต้องเกิดอีก
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
ทาน ศีล ภาวนา
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2012, 08:10:48 pm »
ทาน
-http://www.84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html-

จริงอยู่  การเกิดในสวรรค์แต่ละชั้นนั้น  มีความสุขมาก  เพราะได้รับกามคุณอันเลอเลิศที่เป็น
ทิพย์  ละเอียดประณีตขึ้นไปตามลำดับชั้น  แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสว่า  กามคุณนั้นเป็นของเลว  เป็น
ของชาวบ้าน  เป็นของชวนให้หลงใหล  เป็นของมีสุขน้อย  แต่มีโทษมาก  เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรง
แสดงธรรม  คือ  อนุปุพพิกถา  แก่คฤหัสถ์  จึงได้ทรงแสดงโทษของกามไว้ด้วย  ผู้ที่ยินดีหลงไหลเพลิด
เพลินในกาม  คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  อันน่าใคร่  น่าพอใจ  ย่อมไม่อาจล่วงทุกข์ไปได้  ผู้ที่จะล่วง
ทุกข์ได้ก็เพราะเห็นโทษของกาม  ก้าวออกจากกามด้วยสมถะและวิปัสสนาเท่านั้น

   ด้วยเหตุนั้น  ทานที่เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต  ขัดเกลาจิตให้อ่อน  ให้ควรแก่การเจริญสมถะและ
วิปัสสนาจนบรรลุมรรคผลไม่ต้องกลับมาเกิดอีก  จึงเป็นทานที่มีผลมาก  และมีอานิสงส์มากแม้สังฆทานที่
กล่าวว่ามีผลมาก  มีอานิสงส์มาก  ก็เพราะผู้ถวายมีโอกาสได้ฟังธรรมจากสงฆ์แล้วบรรลุอริยสัจธรรม  ก้าว
ล่วงทุกข์ทั้งปวงไม่ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก

   พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่แก่สัตว์โลกแม้เมื่อทรงแสดงเรื่องทาน  ก็ทรงแสดงให้
พุทธบริษัทได้รับประโยชน์ครบทั้ง  ๓  ประการ  คือ  ประโยชน์ในโลกนี้  ประโยชน์ในโลกหน้า  และประ
โยชน์อย่างยิ่ง  คือ  มรรค  ผล  นิพพาน  ด้วยเหตุนี้  จึงควรทำใจให้เลื่อมใส  บำเพ็ญทานให้เกิดประโยชน์
ทั้ง  ๓  ประการ  จึงจะได้ชื่อว่า  ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์อย่างแท้จริง

   ควรหรือไม่  ที่เราจะทำทานชนิดที่มีผลมาก  มีอานิสงส์มาก

---------------

ทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ประณีต  ก้องสมุทร
ขอขอบคุณ
คุณนวชนก โพธิ์เจริญ
[ ผู้คัดลอก และตรวจทาน ]
จัดทำเมื่อ 21 เมษายน พ.ศ. 2545
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
ทาน ศีล ภาวนา
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2012, 09:37:59 pm »
อานิสงส์ ถวายสังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน
-http://www.trendytarot.com/632110/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B9%8C-%E0%B8%96%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%86%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99-

ผู้ถาม : “หลวงพ่อคะ ถวายสังฆทานให้พระองค์เดียวได้ไหมคะ..?”

 

หลวงพ่อ : “ได้ แต่พระไปกินองค์เดียวพระองค์นั้นลงนรก นี่เรื่องจริงนะ อย่างฉันรับนี่ฉันรับองค์เดียว แต่ว่าองค์เดียวนี่ถือว่าเป็นผู้แทนคณะสงฆ์นะ อย่าไปกินไปใช้แต่ผู้เดียวนี่ไม่ได้ ของเขาย่อมมีอานิสงส์สมบูรณ์แบบ พระองค์เดียวหรือพระ 3 องค์ ถือว่าเป็นผู้แทนสงฆ์ พระ  3องค์ก็แบ่งไปใช้แค่ 3 องค์ไม่ได้ จะต้องไปรวมทั้งคณะ คำว่า สังฆทาน สังฆะ เขาแปลว่า หมู่ ”

 

ผู้ถาม : “ลูกเป็นคนยากจนมีเงินน้อย อยากจะได้อานิสงส์มากๆ จะทำบุญอย่างไรดีคะ..?”

 

หลวงพ่อ : “คืออานิสงส์จริงๆต้องทำบุญให้มากที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ สมมติว่าเรามีเงินอยู่ 10 บาท จะไปมาที่นี่ค่ารถ 6 บาท กินก๋วยเตี๋ยว 3 บาท ได้ครึ่งชาม หมดไป 9 บาท เหลือ 1 บาท เขียนหน้าซองเลยว่า เงินนี้ถวายสังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน อันนี้อานิสงส์มากเหลือเกิน จำนวนเงินเขาไม่จำกัด เขาจำกัดกำลังใจ ถ้ากำลังใจมุ่งด้านดีนะ

 

               การทำบุญมากๆ คำว่า “ทำมาก” หมายความว่าทำบ่อยๆ แต่คำว่า “บ่อยๆ” ไม่ต้องทุกวันก็ได้นะ คำว่า “มาก” หมายความว่าทำเต็มกำลังที่พึงทำ ไม่ใช่ขนเงินมามาก เวลาทำบุญต้องดูก่อนว่า ค่าใช้จ่ายเรามีความจำเป็นเพียงใด ไอ้เงินที่มีความจำเป็นอย่านำมาทำบุญ มันจะเดือดร้อนภายหลัง และเหลือส่วนนั้นไว้บ้าง แล้วแบ่งทำบุญพอสมควร

 

               และประการที่ 2 การทำบุญถ้าใช้วัตถุมาก แต่กำลังใจน้อย อานิสงส์จะน้อย ถ้าหากใช้วัตถุน้อยแต่กำลังใจมีมากก็มีอานิสงส์มาก อย่างถวายสังฆทานที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทนำมานี่ลงทุนไม่มากแต่อานิสงส์มหาศาล

 

               ความจริงถ้าพูดถึงอานิสงส์กันจริงๆ ละก็ รู้สึกว่าจะมากกว่าจัดงานที่บ้านหรือที่วัดตั้งเยอะแยะ ทั้งนี้เพราะว่าอะไร เพราะว่าถวายสังฆทานราทำกันแบบเงียบๆ ไม่มีกังวล การบำเพ็ญกุศลแต่ละคราว ถ้ามีกังวลมากอานิสงส์มันก็น้อย เพราะว่าจิตที่เราเข้าสู่กุศล มันห่วงงานอื่นมากกว่า ไม่ตั้งจิตโดยเฉพาะ

 

               และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการถวายสังฆทานในหมู่ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ตามพระวินัยท่านเรียกกันว่า คณะสงฆ์ ถ้าต่ำกว่านั้นเป็น คณะบุคคล เป็นบุคคลเดียวเป็น ปาฏิคคลิกทาน ทานโดยเฉพาะทีนี้การถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์เป็นหมู่นี้อานิสงส์มาก

 

                เรื่องนี้ก็มีตัวอย่างคนที่มีทรัพย์น้อยทรัพย์มาก อย่างท่าน อินทกะเทพบุตร กับ อังกุระเทพบุตร ไงล่ะ?

 

                ท่านอินทกะเทพบุตร ทำบุญนอกหลักเขตพระพุทธศาสนา เวลานั้นพระพุทธศาสนายังไม่มี ตั้งโรงทาน 80 โรง ให้ทานถึงสองหมื่นปี เลี้ยงคนกำพร้า คนตกยาก คนเดินทาง พอตายจากความเป็นคน ไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทวดาที่มีบุญน้อยที่สุดเพราะเขตบุญเล็กไป คนไร้ศีลไร้ธรรม ใช่ไหม??

 

                 ตรงกันข้าม ท่านอังกุระเทพบุตร เกิดเป็นคนจน พ่อตาย ตัดฟืนเลี้ยงแม่ ก็ไม่ได้ตัดขายมากมาย เอาแค่พอกินพอใช้ ไปวันๆ วันหนึ่งพระสงฆ์เดินผ่านไปที่นั่น ท่านมีโอกาสได้ถวายทานในฐานะไม่ได้เตรียมตัวไว้ ก่อน คนจนจะมีอะไรมากนักใช่ไหมล่ะ เพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิตเท่านั้น อาศัยคุณความกตัญญูรู้คุณอย่างหนึ่ง แล้วก็ถวายสังฆทานหนึ่ง สองอย่างด้วยกัน ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดามีบุญมากที่สุดในดาวดึงส์ นอกจากพระอินทร์แล้วไม่มีใครโตกว่า”

 

การทำบุญใส่บาตร


ผู้ถาม : “การที่เราทำบุญใส่บาตรตามหน้าบ้านกับพระที่เรารู้จักตามวัด แล้วไปทำที่วัดอันไหนจะมีอานิสงส์มากกว่ากันเจ้าคะ...?”

 

หลวงพ่อ : “คือว่าการใส่บาตรไม่เฉพาะเจาะจง พระอะไรมาก็ใส่ อย่างนี้ก็เป็นสังฆทาน ทีนี้ไปใส่บาตรตามพระที่ชอบใช่ไหม.....?”

 

ผู้ถาม : “ไม่ใช่ชอบเจ้าคะ คือว่าศรัทธาคะ”

 

หลวงพ่อ : “ชอบกับศรัทธาก็ครือๆกัน ถ้าศรัทธาฉันตั้งแต่ 4 องค์ขึ้นไป เป็นสังฆทานมีอานิสงส์เหมือนกัน แต่ถ้าหากฉันตั้งแต่ 1 องค์ ถึง 3องค์ อย่างนี้เป็น “ปาฏิคคลิกทาน””

 

ผู้ถาม : “มีอานิสงส์มากไหมคะ..?”

 

หลวงพ่อ : “มีโยม ถ้าเป็น ปาฏิคคลิกทาน  ถ้าวัดกันตามลำดับแย่นะ ไล่เบี้ยตั้งแต่ ให้ทานกับคนไม่มีศีล จนถึงพระอรหันต์ มีอานิสงส์ไม่เท่ากัน แต่จะพูดสรุปโดยย่อว่า

 

                   ถวายทานกับพระอรหันต์ 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานกับพระพุทธเจ้า 1 ครั้ง

                   ถวายทานกับพระพุทธเจ้า100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายสังฆทาน 1 ครั้ง

                   และถ้าถวายสังฆทาน 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายวิหาร 1 ครั้ง คือสร้างวิหารมีการก่อสร้าง เช่น สร้างส้วม ศาลาการเปรียญ กุฏิ โบสถ์ วิหาร เป็นต้น

 

                    การถวายทาน 1 ครั้งในชีวิต และถวายด้วยจิตที่บริสุทธิ์มีศรัทธาแท้ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า ผลของสังฆทานนี้จะดลบันดาลให้แก่บุคคลผู้ถวายเกิดไปทุกชาติ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็ญใจไม่มี ในแดนใดเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากขัดสน คนที่ถวายสังฆทานแล้วจะไม่เกิดในที่นั้น ผลให้ไปไกลมาก ท่านกล่าวว่า แม่แต่พุทธญาณเอง ก็ยังไม่เห็นผลที่สุดของกรถวายสังฆทาน

 

                    คำว่า “ไม่เห็นผลที่สุดของกรถวายสังฆทาน”หมายความว่า แม้แต่บุคคลผู้เป็นเจ้าของสังฆทาน บำเพ็ญเพียรบารมีแล้ว แล้วเกิดไปอีกกี่แสนชาติก็ตาม จนกระทั่งเข้าพระนิพพาน อานิสงส์นั้นก็ยังไม่หมด นี่เป็นอำนาจของการถวายสังฆทาน

 

                    ฉะนั้นการถวายสังฆทานเป็นส่วนบุคคล กับการถวายเป็นสังฆทาน อานิสงส์มันต่างกันหลายแสนเท่า แล้วก็ยังมีอีกเวลาหนึ่งถ้าพระออกจากสมาบัติ นี่คูณหนักเข้าไปอีกไม่รู้เท่าไร

 

                     ทีนี้การถวายสังฆทานแก่พระมีผลไม่เสมอกันอยู่อย่างหนึ่งคือ หมายความว่าถวายทานแก่ พระที่มีจิตกำลังฟุ้งซ่านไปด้วยอำนาจของนิวรณ์5ประการ อย่างนี้เราถวายกี่หมื่นแสนอานิสงส์มันก็ไม่มาก

 

                     ถ้าหากว่าถวายแก่ท่านผู้ปฏิบัติกรรมฐาน ถ้าหากเข้าถึงจิตบริสุทธิ์ เรื่องบริสุทธิ์แค่ไหนก็ช่าง อย่างน้อยที่สุดก็มีขณิกสมาธิ อุปาจารสมาธิ บางท่านก็เข้าถึง ฌานสมบัติ บางท่านนี่เป็นถึงพระอริยเจ้า ก็เข้าถึง ผลสมาบัติ ถ้าถวายทานกับท่านที่ออกจาก นิโรธสมาบัติ หมายความว่าให้คนเดียวนะ ก็ให้ผลปัจจุบันทันด่วน ได้ผลวันนั้นเลย ”

 

ผู้ถาม : “แล้วอย่างเราใส่บาตรโดยเราลงมือใส่เอง กับให้ลูกจ้างคือเด็กของเราไปใส่แทนอย่างไหนจะได้บุญมากกว่ากันคะ..?”

 

หลวงพ่อ : “เราไม่ได้ไปแต่ให้คนอื่นไปแทน ได้บุญเท่ากัน แต่เราใส่เองเราเกิดความปลื้มใจอันนี้ได้กำไรอีกนิด แต่ผลมันเสมอกัน”

 

ผู้ถาม : “เวลาเราไปใส่บาตรแล้ว ถ้าหากว่าพระไม่ได้ฉันอาหารของเรา เราจะได้บุญไหมคะ..?”

 

หลวงพ่อ : “บุญมันเริ่มที่คิดว่าจะให้แล้วนะ พระจะฉันหรือไม่ฉันไม่ใช่ของแปลก คือการให้ทาน ตัวให้นี่ตัดความโลภ และตัวนี่กันความจนในชาติหน้า อันดับรองลงมา “ทานัง สัคคโส ปาณัง” ทานเป็นบันไดให้เกิดในสวรรค์

 

                    ทีนี้พอเราเริ่มให้ปั๊บ มันเริ่มได้ตั้งแต่เราตั้งใจ การตั้งใจน่ะมันตัดสินใจเด็ดขาดแล้วนะ เช่น คิดว่าพรุ่งนี้จะใส่บาตรข้าวขันนี้ เราไม่กินแน่นอน คิดว่าเราจะไม่กินเอง ตั้งแต่วันนี้คิดว่าจะใส่บาตรนี่บุญมันเกิดตั้งแต่เวลานี้

 

                     แต่พอพรุ่งนี้ต้องใส่จริงๆนะ อย่านึกโกหกพระไม่ได้นะ ไม่ใช่แกล้งนึกทุกๆวัน คิดว่านึกได้บุญ เลยไม่ได้ใส่บาตรสักที นี่ดีไม่ดีฉันพูดไปพูดมาเสียท่าเขานะ

                       แต่ถ้าคิดจะทำจริงๆนะ คือพรุ่งนี้จะใส่บาตรแน่ๆ แต่ว่าวันนี้เกิดตายก่อน นี่ได้รับ 100 เปอเซ็นเลย ก็อย่างที่พระพุทธเจ้าบอกนั่นแหละ

                        “เจตนาหัง ภิกขเว ปุญญัง วทานิ”

 

                        “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าตัวตั้งใจเป็นตัวบุญ”

 

                         พระพุทธเจ้าบอกว่า มันมีผลตั้งแต่การตั้งใจเริ่มสละออก พอคิดว่าเริ่มจะทำ อารมณ์มันตัดตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว ถือว่าไม่ได้เป็นของเราแล้ว มันได้ตั้งแต่ตอนนั้น”

 

ผู้ถาม : “หลวงพ่อคะ การใส่บาตรวิระทะโย มีอานิสงส์อย่างไรคะ..?”

 

หลวงพ่อ : “อานิสงส์เท่ากับการ ถวายสังฆทานธรรมดา ไม่ต่างกัน อานิสงส์เหมือนกันหมด แต่ว่าใช้ วิระทะโย (คาถาภาวนากันจน) มันมีผลปัจจุบัน ชาตินี้ทำให้เงินไม่ขาดตัว ถ้าใส่บาตรทุกวัน สวดมนต์อยู่เสมอ จะหมดก็มีมาต่อจนได้ ถ้าแบ่งเวลาทำสมาธิละก็ขลังมาก รวยมาก

หน่อย”

 คัดมาจากหนังสือหลวงพ่อตอบปัญหาธรรมเล่ม1


ภาพประกอบหัวเรื่องจาก -http://www.3a100.com/ArnisisongSangkatan.html-


คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
ทาน ศีล ภาวนา
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2012, 09:38:32 pm »
อานิสงส์ ถวายสังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน
-http://www.trendytarot.com/632110/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B9%8C-%E0%B8%96%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%86%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99-

เนื้อนาบุญที่ดี


ผู้ถาม : “เห็นพระบางองค์ดูลักษณะไม่สำรวม ท่านวนเวียนคอยรับบาตรบ้านคนคนนี้แล้วก็ถ่ายลงใส่ถัง ถ้าเราไม่ใส่บาตรพระแบบนี้เราจะเป็นคนบาปไหมคะ..?”

 

หลวงพ่อ : “บาป เขาแปลว่า ชั่ว บุญเขาแปลว่า ดี ถ้าเรา ไม่ใส่ก็ไม่ชั่วตรงไหนนี่ เพราะว่ามันเป็นทรัพย์สินของเรา เขาแสดงอาการไม่เป็นที่น่าเลื่อมใส เราไม่ให้ไม่เห็นจะแปลก เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า การให้ทานก็จะต้องเลือกให้เหมือนกัน เพราะผู้รับถือว่าเป็น “เนื้อนาบุญ”

 

                   ถ้าหว่านพืชลงในนาลุ่มน้ำก็ท่วมตาย ถ้าดอนเกินไปน้ำไม่ถึงก็ตาย ต้องหว่านในเนื้อนาที่เหมาะสม ถ้าเราเห็นนามันไม่ควรเราก็ไม่ให้ ทำไม่เหมาะไม่สม ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ถ้าห็เป็นการเลี้ยงโจร

 

                    แต่ว่าพูดถึงทานการให้ เจตนาเราจะตั้งอย่างไรก็ตาม ตัวนี้มันเป็นผลตัดโลภะอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่จริงๆที่มีอานิสงส์สูงคือ ตัดโลภะ ความโลภ เพราะคนที่มีความโลภนี้ให้ทานไม่ได้ เงินที่จะให้ทานนี้มันตัดความสุขของเจ้าของ หากว่าให้ทานไม่ได้ เขากินเขาใช้ก็มีความสุข เขาอุตส่าห์ตัดความสุขของเขาส่วนนี้ออกไป เป็นการตัดโลภะ ความโลภ เป็นก้าวหนึ่งที่จะถึงพระนิพพาน อันนี้เขาไม่ต่ำ มันเป็น จาคานุสสติกรรมฐาน

 

                     จาคานุสสติกรรมฐานนี่ไม่ต้องไปภาวนา จิตคิดว่าจะให้ทานทุกๆวันนี่นะ จิตคิดว่า จิตคิดว่าถึงเวลานั้นเราจะใส่บาตร มากหรือน้อยก็ตาม อันนี้เป็นจาคานุสสติกรรมฐาน และการใส่บาตรหน้าบ้านเขาถือว่าเป็นสังฆทาน ถ้าพระองค์ไหนมีจริยาไม่สมควร เราไม่ให้มันก็ไม่แปลก การถวายสังฆทานมันมีผลสำหรับผู้รับ ถ้าผู้รับไม่ดีก็ลงอเวจีไปเอง”

 

ผู้ถาม : “กระผมจะทำบุญใส่บาตรเหมือนกันครับ แต่คิดว่าของที่จะใส่บาตรทำบุญมันไม่ดี ก็เลยอายไม่อยากใส่กะไว้ว่าถ้าเมื่อมีอาหารดีเมื่อไรจะใส่บาตร ผมคิดอย่างนี้ถูกไหมครับ..?”

 

หลวงพ่อ : “การทำบุญทำไมจะต้องอาย เคยมีนักเทศน์เขาถามกันว่า “มียายกับตา 2 คน แกหุงข้าวแล้วแฉะอีก ไอ้แกงก็เปรี้ยวแล้วเปรี้ยวอีก แกกินไม่ลง ของมันกินไม่ได้  เวลาพระมาบิณฑบาตแกก็บอกใส่บาตรดีกว่า”

                     พระนักเทศน์เขาก็ถามกันว่า “อย่างนี้จะได้อานิสงส์ไหม”ก็ต้องตอบว่า “ได้อานิสงส์ แต่ผลที่ขาจะได้รับก็เป็นทาสทาน”

ผู้ถาม : “ทาสทานเป็นยังไงครับ...?”


ทานมี 3 ประเภท

หลวงพ่อ : “คำว่า ทาสทาน หมายความว่า ให้ของเลวที่เรากินเราใช้ เวลาที่เราใช้สอยมันก็ต้องเลวกว่าที่เขากินเขาใช้กัน ได้ก็ได้ของเลว

 

                   

ถ้าให้ของเสมอที่เรากินอยู่ หรือที่เราใช้อยู่ เขาเรียกว่า สหายทาน ผลที่เราจะได้รับ ก็เสมอกัยที่เรากินเราใช้

 

                   

ถ้าให้ของที่ดีกว่าที่เรากินเราใช้ เขาเรียกว่า สามีทาน สามีทานเขาไม่ได้แปลว่า ผัวทานนะ สามีเขาแปลว่า นาย เวลาที่ได้รับผลเราก็จะได้ของเลิศ

                     

ถ้าถามว่า ทาสทาน มีอานิสงส์ไหม ก็ต้องดูตัวย่าง ท่านอาฬวีเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐีมีทรัพย์ 80 โกฏิ พระราชาตั้งเป็นมหาเศรษฐี แต่ว่าผ้าที่แกนุ่งนี่ ผ้าใหม่แกนุ่งไม่ได้ นุ่งผ้าช้ำแล้วใกล้จะขาดแล้วแกนุ่งได้ ข้าวที่จะกินเม็ดสวยๆก็กินไม่ได้ ต้องเป็นข้าวหัก หรือปลายข้าวแกจึงจะกินได้ ของทุกอย่างที่แกใช้ต้องเป็นของเลว แต่อย่าลืมนะว่าเข้าเป็นมหาเศรษฐีได้นะ”

หลวงพ่อปรารถเพิ่มว่า

 

หลวงพ่อ : “การตั้งใจว่าจะใส่บาตรด้วยของดีๆน่ะดี แต่ว่าวันไหนมีอาหารที่เราคิดว่าไม่ดีก็ใส่บาตรได้

 

                   

การให้ทานพระพุทธเจ้าบอกว่า อย่าเบียดเบียนตัวเอง ถ้าเบียดเบียนตัวเองเป็น อัตตกิลมมถานุโยค เป็นการทรมานตัวเอง

                   

และการให้ทานพระพุทธเจ้าให้ดูอีกว่า ควรให้หรือไม่ควรให้ ถ้าให้นอกในเขตของคนเลวอานิงสงส์ก็น้อย อาจจะไม่มีเลย รู้ว่าคนนี้ควรจะให้เราก็ให้ ถ้าไม่ควรให้เราก็ไม่ควรให้ ให้แล้วไปกินเหล้าเมายา ไปสร้างอันตรายกับคนอื่น เราไม่ให้ดีกว่าเป็นการต่อเท้าโจร ให้พลังแก่โจร เวลาจะให้ท่านวางกฎดังนี้

 

    ผู้ให้บริสุทธิ์ บริสุทธิ์หรือไม่เขาจึงให้สมาทานศีลก่อน ถ้าสักแต่ว่าสมาทานนี่ซวย เวลายั้ยต้องตั้งใจรักษาศีลจริงๆ จิตตอนนั้นมันถึงจะบริสุทธิ์ คืออยู่ในช่วงว่างจากกิเลส ถ้าตั้งใจสมาทานศีลด้วยดี จิตตอนนั้นบริสุทธิ์
    ผู้รับบริสุทธิ์ หมายความว่า ถ้าผู้รับเป็นพระ ก็พยายามให้เป็นพระจริงๆนะ ถ้าถวายสังฆทานนี่ไม่ต้องห่วง ผู้รับบริสุทธิ์แน่นอน พระองค์ไหนถ้าไม่บริสุทธิ์ กินแล้วตกนรก
    วัตถุทานบริสุทธิ์ ถ้าไม่ได้ฆ่าวัตว์เอามาทำบุญ ไม่ได้ขโมยสตางค์เอามาทำบุญ เป็นของเราหามาได้โดยชอบธรรม

           อย่างนี้ของดีก็ตาม ของเลวก็ตาม มีอานิสงส์มาก อานิสงส์คือความดี ความชื่นใจมาก

           แต่ถ้าผู้ให้บริสุทธิ์ ผู้รับบริสุทธิ์ วัตถุทานไม่บริสุทธิ์ ความดีก็ลดน้อยลง

           แต่ผู้ให้บริสุทธิ์ ผู้รับไม่บริสุทธิ์ วัตถุทานไม่บริสุทธิ์ ให้บาทหนึ่ง จะได้สักสตางค์หรือเปล่าก็ไม่รู้

           รวมความว่าต้องบริสุทธิ์ทั้ง 3 อย่าง ถ้าลดไปอย่างใด อย่างหนึ่งอานิสงส์ก็ลดตัวลงมา ถ้าลดเสียหมดก็ไม่มีเลย”

 

เจตนาครบ 3 กาล


หลวงพ่อ : “แต่ว่าการให้ทาน พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อีกประเภทหนึ่ง ต้องครบ 3 กาล จึจะมีอานิสงส์สูง คือ

    ก่อนที่จะให้ก็ต้องตั้งใจให้
    ขณะให้ก็ดีใจ
    เมื่อให้แล้ว ก็เกิดความเลื่อมใส

              มีเรื่องเล่าว่า สมัยหนึ่ง เมื่อท่านอนาถบิณฑกเศรษฐีจนลง ขนาดข้าวเป็นเม็ดแทบไม่มีกิน ต้องกินปลายข้าว แต่ว่าศรัทธาท่านยังไม่ถอย ท่านนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน ท่านก็เอาปลายข้าวละเอียด เรียกว่า ข้าวปลายเกวียนต้ม แล้วเอาน้ำผักดองเปรี้ยวๆเค็มๆ ทำเป็นกับมาถวายพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้า

              “เวลานี้ทานของข้าพระพุทธเจ้าเศร้าหมอง พระพุทธเจ้าข้า”

              พระพุทธเจ้าถามว่า “เธอมีเจตนาในการถวายทานมีความรู้สึกอย่างไร..?”

              ท่านบอกว่า “ก่อนจะให้ก็เต็มใจพร้อมเสมอ ในขณะนี้ก็ปลื้มใจ เมื่อให้แล้วเกิดความเลื่อมใส ดีใจว่าให้แล้วพระพุทธเจ้าข้า”

              พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า “ดูก่อน มหาเศรษฐี  ลูขัง วา ปะณีตัง วา” หมายความว่า ถ้าคนให้ทานมีเจตนาพร้อมเพรียงทั้ง 3 กาลอย่างนี้ ของดีก็ตาม ของเลวก็ตาม ย่อมมีอานิสงส์เลิศ มีอานิสงส์สูง แต่ที่ท่านอนาถบิณฑกเศรษฐีท่านทำนั้น ท่านถวายพระพุทธเจ้า และพระที่ฉันก็เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด นับเป็นยอดของทาน

               ถ้าหากว่าเราไม่รู้จะเลือกยังไง องค์นี้จะเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์หรือเปล่า หรือเป็นพระโปเก พระเชียงกง ถ้าเราไม่รู้ก็ถวายเป็นสังฆทานเลย เพราะสังฆทานอานิสงส์สูงมากรองจากวิหารทาน”

ผู้ถาม : “หลวงพ่อครับ ใส่บาตรตอนเช้าบังเอิญหากับข้าวไม่ทัน เอาปลาเค็มที่กินค้างเมื่อวานนี้ ใส่ไปเพราะความจำเป็น อย่างนี้มีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่าครับ..?”

หลวงพ่อ : “มีแน่ เป็นผลร้ายแรงมาก”

ผู้ถาม : “ขนาดไหนครับพลวงพ่อ..?”

หลวงพ่อ : “ตายแล้วเกิดเป็นเทวดา นี่เป็นจริงๆนะ”

ผู้ถาม : “ก็นี่เขากินเหลือนี่ครับ”

หลวงพ่อ : “เดี๋ยวก่อน... เคยอ่านเจอในพระไตรปิฎกไหม ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปในที่แห่งหนึ่ง เวลานั้นสายเกินเลยเวลาอาหารตอนเช้าใช่ไหม พร้อมกับคณะสงฆ์ ก็มีพราหมณ์คนหนึ่งบอกว่า

                  “อาหารของข้าพเจ้ามี แต่เวลานี้มันเป็นเดนไปเสียแล้ว การถวายพระพุทธเจ้าพร้อมไปด้วยคณะสงฆ์เกรงจะเป็นบาป”

                   พระพุทธเจ้าถามว่า “เธอคิดว่าเป็นเดนน่ะ เธอตักกินในหม้อหรือเปล่า”

                    เขาบอกว่าเปล่า เขาตักออกมาใส่ถ้วยแล้วกิน พระพุทธเจ้าบอกว่า “อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นเดน ถวายพระสงฆ์หรือพระพุทธเจ้าก็ดี จะมีอานิสงส์สมบูรณ์แบบ”แล้วท่านก็ตรัสต่อไป “ถึงแม้ว่าอาหารจะเป็นเดน คือกินในถ้วยนั้นแล้ว แต่ถ้าพระท่านหิว ถ้าเอาไปถวาย ก็มีอานิสงส์สมบูรณ์แบบเหมือนกัน ไม่มีโทษ มีแต่คุณ”

 

 

การทำบุญ มี 3 วิธี

หลวงพ่อ : “อีกประการหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า สมัยพระพุทธกัสสปท่านเทศน์ไว้อย่างนี้ คือ

 

                    “บุคคลใดทำบุญด้วยตนเอง ไม่ชักชวนคนอื่น ในชาติต่อไป จะร่ำรวย แต่ขาดบริวารสมบัติ”

 

                    “แต่ถ้าดีแต่ชักชวนเขา ไม่ทำเอง ชาติต่อไปมีเพื่อนมากมาย แต่ตัวเองจน”

 

                     “ถ้าทำบุญด้วยตนเองด้วย ชักชวนคนอื่นด้วย รวยด้วยมีพรรคพวกด้วย

 

                     นี่ท่านเทศน์แบบนี้นะ ถ้าเราทำคนเดียวก็ได้ก็ทำ ทีนี้ถ้าเราชวนเขาด้วย แต่ว่าการชวนนี่ก็ลำบากนะ ถ้าชวนเขาทำบุญด้วยก็อย่าหวังว่าเขาจะให้เรานะ คิดว่าเขาให้หรือไม่ให้ก็เป็นเรื่องของเขา คือแนะนำเขาว่าเวลานี้เราทำนู่นทำนี่ จะทำบุญร่วมด้วยไหม.. ถ้าบังเอิญเขาไม่ร่วมทำบุญด้วยก็อย่าโกรธ เราถือว่าเราชวนเข้าทำดี ถ้าเราโกรธเขา บุญเราจะด้อยลงไป เพราะตัวโกรธเข้ามาตัด”

ผู้ถาม : “ดิฉันเคยอ่านเจอในหนังสือที่หลวงพ่อเขียนบอกว่าการถวายสังฆทานควรมี พระพุทธรูป ผ้าไตรจีวร และอาหาร อันนี้จำเป็นจะต้องมีครบตามนี้ไหมคะ..?”

 

หลวงพ่อ : “ความจริงเราไม่ทำถึงขนาดนั้นก็ได้ การถวายสังฆทานในที่บางแห่งใช้เครื่อง 5 เครื่อง 8 นี่เป็นเพียงการสร้างขึ้น เรามีข้าวเพียงช้อนหนึ่ง แกงเพียงช้อนหึ่ง น้ำเพียงช้อนหนึ่ง แล้วถวายไป บอกว่าเป็นสังฆทานเพียงเท่านี้ก็ใช้ได้ แต่ว่าที่เขียนไว้ในหนังสือ ว่าควรทำแบบนี้เพราะ ผีกี่ร้อยกี่พันรายก็ตาม มาขอกันแบบนี้เรื่อยๆ คือขอเหมือนกัน ที่ฉันแนะนำเขาตามที่ผีขอนะเลยถามเขาว่า

 

                     “ผลที่ได้แก่พวกเอ็งเป็นยังไง..?”เขาบอกว่า

    ถวายพระพุทธรูปเป็นของสงฆ์ อานิสงส์ก็คือถ้าเป็นเทวดามีรัศมีกายสว่างไสวมาก เพราะว่าเทวดาหรือพรหมเขาไม่ดูกันที่เครื่องแต่งตัว เขาดูแสงสว่างจากกาย
    ผ้าไตรจีวร หรือผ้าสักผืนหนึ่ง เขาจะได้เครื่องประดับอันเป็นทิพย์ เครื่องแต่งตัวทิพย์
    อาหารหรือของกิน จะทำให้ร่างกายเป็นทิพย์”

ผู้ถาม : “ทีนี้ถ้าหากว่า ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจุติจากเทวดาโลกก็ดี พรหมก็ดี มาเกิดเป็นมนุษย์ อานิสงส์เหล่านี้จะติดตามมาอีกไหมครับ...?”

หลวงพ่อ : “อานิสงส์ตามมาคือ

    มีรูปร่างหน้าตาสวย เพราะอานิสงส์ถวายข้าวพระพุทธรูป แล้วก็มีปัญญาทรงตัว นี่อำนาจพุทธนานุภาพนะ
    เครื่องประดับแต่งตัวดี และไม่อดอยาก เพราะอาศัยทาน

ยกตัวอย่าง นางวิสาขา เป็นคนสวยงามมาก เพราะในชาติก่อนได้เคยซ่อมแซมพระพุทธรูป และปลูกโรงทำหลังคาคลุมพระพุทธรูป จึงเป็นปัจจัยได้ เบญจกัลยาณี คือความงาม 5 ประการ

 

                   และนางวิสาขาเป็นคนรวยมาก มีเครื่องลดามหาปสาธน์ราคา 16 โกฏิ เป็นเครื่องประดับ เพราะอานิสงส์เคยถวายผ้าไตรจีวรไว้ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ถ้าเป็นผู้ชายออกบวชในสำนักพระพุทธเจ้า  เมื่อท่านตรัสว่า “เอหิภิกขุ” แปลว่า “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” เพียงเท่านี้ ก็จะได้ผ้าไตรจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ ลอยลงมาสวมตัวทันที

 

                     ทั้งนี้ด้วยอำนาจบารมีที่ท่านได้บำเพ็ญแล้วด้วยดี จึงเป็นปัจจัยให้นางวิสาขาเป็นทั้งคนสวยคนรวย และเป็นคนมีปัญญามาก ได้เป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ 7 ขวบ”

 

ผู้ถาม : “ทีนี้ก็มีคนสงสัยเรื่องสังฆทานครับ ถามว่าสังฆทานที่มาถวายหลวงพ่อ  แล้วก็ผาติกรรมไป แล้วก็กลับมาถวายหลวงพ่ออีกครั้งหนึ่ง อานิสงส์จะสมบูรณ์หรือไม่อย่าไงครับ ...?”

 

หลวงพ่อ : “เท่ากันแหละ เขาเอาแบงค์มาถวายก็เป็นสังฆทาน ถ้าอยากจะมีของไปรับเอามาก็เท่ากัน”

 

ผู้ถาม : “ซื้อมาเองกับผาติกรรมนะครับ...?”

 

หลวงพ่อ : “แต่อย่าลืมว่าสตางค์ของใคร นั่นเป็นสัญลักษณ์เป็นนิมิตออกมา มีของสักหน่อยใจมันก็สบายกว่าไม่มีของใช่ไหม ถ้าเจตนาให้เงินมันเป็นอะไรมันก็เป็นตามนั้น และก็ตั้งใจเฉยๆ เกรงว่าไม่เป็นไปตามนั้นให้มันมีของตั้งอยู่ ถ้าต้องการจีวรต้องการพระพุทธรูป ก็เป็นนิมิตจับ

 

                   อย่าลืมว่าอานิสงส์ของสังฆทาน อะไรๆก็ต้องไปดาวดึงส์เป็นอย่างน้อย ส่งฆทาน กับวิหารทาน จุดแรกต่ำสุด คือดาวดึงส์ หลังจากนั้นจะไปเลวกว่านั้นก็ตามใจ แต่อย่าลืมนะดาวดึงส์นี่เข้ายาก ไม่ใช่เข้าง่ายๆเลย นอกจากทำบุญขั้นสังฆทานและวิหารทานแล้ว ถ้าเป็นบุญเล็กน้อย ก็ต้องเป็นการทำบุญตัดชีวิต

 

                   คำว่า “ทำบุญตัดชีวิต” ก็หมายความว่า ถ้าเราเดินทางเอาข้าวไปจำกัด ขณะกินข้าวอยู่เห็นสุนัขเดินมา หรือไก่ เดินมานึกสงสารมัน “ให้มันกินหน่อยเหอะวะ” อย่างนี้ไปถึงดาวดึงส์ได้”

 

ทำบุญวันเกิด


ผู้ถาม : “หลวงพ่อคะ กรทำบุญวันเกิด เราจะทำหลังวันเกิดหรือก่อนวันเกิดดีคะ...?”

 

หลวงพ่อ : “ตอนไหนก็ได้ การทำบุญวันเกิด เราถือว่าปีหนึ่งเรามีโอกาสทำบุญครั้งหนึ่ง ที่เราทำบุญวันเกิดนี่เป็นนโยบายของพระ ท่านให้เรามีจิตเป็นกุศลไว้ ถ้าถึงวันเกิดเราตั้งใจจะทำบุญ เราจะทำอะไรบ้าง มีการเตรียมการไว้ในใจ ถ้าจิตมันนึกอย่างนี้ เวลาตายอานิสงส์ได้ทันที

 

                   อย่าง สาตกีเทพธิดา เธอจะเอาดอกบวมขมไปบูชาเจดีย์ที่เขาบรรจุกระดูกพระอรหันต์ แต่พอจัดดอกไม้ยังไม่ทันพ้นบ้านถูกวัวขวิดตาย อาศัยที่เธอตั้งใจบูชาพระด้วยดอกไม้นั้นยังไปไม่ถึง พอตายแล้วก็เกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทวโลก มีวิทานทองคำที่อยู่ มีนางฟ้า 1000เป็นบริวาร

 

                   อย่างนี้เขาถือว่าเป็น อนุสสติ ถ้าเรานึกจะถวายเป็นสิ่งของ ก็เป็น จาคานุสสติ คิดว่าเราจะทำบุญกับพระองค์นั้นองค์นี้ นึกถึงพระสงฆ์ ก็เป็น สังฆานุสสติ ถ้าเราคิดจะทำบุญกับพระสงฆ์แต่ให้มีพระพุทธรูปตั้งอยู่ด้วย นึกถึงพระพุทธก็เป็น พุทธานุสสติ ถือว่าเป็นการเจริญพระกรรมฐานไปในตัว แต่พระท่านไม่ได้บอกตรงๆเท่านั้นเอง”

 

ผู้ถาม : “หลวงพ่อคะ แล้วอย่างทำบุญเพียงแค่เล็กน้อย เช่น การสร้างโบสถ์นี่คะ คือไม่ได้ทำทั้งหลังคะ ทำเฉพาะประตูไม้ เขามาเรี่ยไรก็ร่วมทำบุญกับเขาไป อย่างนี้บุญคงน้อยกว่าการทำบุญทั้งหลังใช่ไหมคะ ..?”

หลวงพ่อ : “ถ้าเราทำบุญสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างกุฏิ สร้างศาลา ทั้งหมดนี่เราไม่ได้ทำเต็มหลัง วิมานจะปรากฏเลย ถ้าเราได้มโนยิทธิจะสามารถไปเที่ยวดูได้เลย”

 

ผู้ถาม : “รู้สึกว่าสมบัติที่เราทำมันเล็กน้อย ก็คิดว่าบุญคงได้น้อยคะ”

 

หลวงพ่อ : “สมบัติมันเล็กน้อยก็จริง แต่ว่าอานิสงส์มันไม่เล็กน้อย ก็แบบซื้อลอตเตอรี่ใบเดียวถูกรางวัลที่หนึ่งน่ะ อย่างทำบุญสร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างอาคาร สร้างส้วม เขาเรียกว่าวิหารทาน อันนี้จัดเป็นบุญสูงสุด

 

                   ตัวอย่างตอนที่พระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็น มฆมานพ ท่านกับเพื่อนอีก 32 คน ช่วยกันทำศาลาหลังหนึ่งไว้เป็นที่พักของคนเดินทาง มีช้างสำหรับลากไม้หนึ่งเชือก มีนายช่างหนึ่งคน

 

                     ตายไปแล้ว ท่านมฆมานพก็ไปเกิดเป็นพระอินทร์ เพื่อนอีก 32 คน ก็ไปเกิดเป็นเทวดา มีวิมานคนละหลัง นายช่างไปเป็น วิษณุกรรมเทพบุตร ช้างที่ลากไม้เป็น เอราวัณเทพบุตร มีวิมานคนละหลังเหมือนกัน เห็นไหม... สร้างศาลาหลังเดียว ก็มีวิมานคนละหลัง นี่เป็นเรื่องของอานิสงส์นะ ”

 

ผู้ถาม : “หลวงพ่อครับ กุศลชนิดใดมีอานิสงส์มากกว่าวิหารทานบ้างละครับ”

 

หลวงพ่อ : “ “สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ” การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง ให้ธรรมทานซิคุณ หนังสือเรียนของเด็ก หนังสือเรียนของผู้ใหญ่ หนังสือเรียนของพระ หนังสือธรรมะต่างๆ

 

                 ดูตัวอย่าง พระสารีบุตร ให้ปัญญากับประชาชนทั้งหลาย เพราะอานิสงส์ได้เคยสร้างพระธรรมซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีประโยชน์ถวายพระพุทธเจ้า เกิดมาชาติหลังสุดเป็นพระที่มีปัญญามาก

 

                  อย่างเงินที่เขาถวายฉันไว้นี่ พอกลับไปถึงวัดก็เรียบร้อย เลี้ยงอาหารพระบ้าง ค่ากระแสไฟฟ้าบ้าง ค่าก่อสร้างบ้างโดยเฉพาะเทปคลาสเซทที่ขายม้วนละ 25 บาท ถ้าเอาทุนจริงๆแล้วมันไม่พอรวมความว่า ที่ท่านตั้งใจนี่ มีผล 4 อย่าง

    สร้างพระพุทธรูป
    วิหารทาน
    สังฆทาน
    ธรรมทาน

ทั้งหมดนี้ไม่ต้องใช้ทุนมากก็ได้ เอาสัก 50 สตางค์เป็นอันว่าการทำบุญเอาแค่พอควรนะ แต่ให้มันเป็นบุญใหญ่ เขามุ่งแบบนั้นนะ คือเราเอาไปผสมกับเขาแล้วกัน ไม่ต้องสร้างทั้งหลัง ”

 

ผู้ถาม : “กระผมสงสัยเรื่องการทำบุญ บางคนทำช้า บางคนทำไว  อยากเรียนถามหลวงพ่อว่า อานิสงส์จะต่างกันหรือไม่ขอรับ..?”

 

หลวงพ่อ : “ต่างกัน คือได้ช้าได้เร็ว ก็เหมือน ท่านจูเฬกสาฎกท่านตั้งใจฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า ตั้งใจถวายทานตั้งแต่ ยามต้น และยามที่สอง จิตเป็นห่วงยายที่บ้านไม่มีโอกาสจะฟังเทศน์เพราะไม่มีผ้าห่ม พอยามที่ 3 ใกล้สว่าง จึงตัดสินใจถวายแล้วประกาศว่า “ชิตัง เม ชิตัง เม” พระเจ้าปเสนธิโกศลได้ยินก็ทราบว่าชนะความตระหนี่ จึงนำผ้าสาฎกและทรัพย์สินต่างๆมาให้มีฐานะเป็นคหบดีคนหนึ่ง

 

                 ต่อมาพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ถ้าพราหมณ์นี้ถวายในยามต้นจะได้เป็น มหาเศรษฐี ถ้าถวายยาม 2 จะได้เป็น อนเศรษฐี ยามที่ 3 จะได้เป็นคหบดีใหญ่ ที่ได้น้อยเพราะถวายช้าเกินไป” พระองค์จึงตรัสว่า การบำเพ็ญกุศลผลความดีในศาสนาของเรานี้จงอย่าเนิ่นช้า ต้อง “ตุลิตะ ตุลิตัง สีฆะ สีฆัง” คือ เร็วๆ ไวๆ ”

 

คัดมาจากหนังสือหลวงพ่อตอบปัญหาธรรมเล่ม1


ภาพประกอบหัวเรื่องจาก -http://www.3a100.com/ArnisisongSangkatan.html-

.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
ทาน ศีล ภาวนา
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2012, 09:48:00 pm »
ท่านจูเฬกสาฎก

โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

 -http://www.kaskaew.com/index.asp?contentID=10000004&title=%B7%E8%D2%B9%A8%D9%E0%CC%A1%CA%D2%AE%A1&getarticle=150&keyword=&catid=6-

มีเรื่องในธรรมบท  ท่านว่าเวลานั้นพระพุทธเจ้าพักอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร  เวลานั้น องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ ๆ  คำว่าพระพุทธเจ้ายังไม่ปรากฎในโลก  แต่คำว่าอรหันต์นี่ชาวบ้านรู้เรื่อง   เขาต้องการอรหันต์กัน  แต่ยังไม่รู้จักอรหันต์จริง ๆ

วันนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่เมืองสาวัตถี  และไปพักที่พระเชตวันมหาวิหาร  บรรดาทายกก็ประกาศว่า  เวลานี้องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถคือพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก  ขอบรรดาท่านทั้งหลายจงไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้าทั้งกลางวันและกลางคืน  ใครจะไปกลางคืนก็ได้  ใครจะไปกลางวันก็ได้

ในตอนนั้นท่านบอกว่า  มีพราหมณ์คู่หนึ่งสองตายายสองสามีภรรยา  ชื่อว่า จูเฬกสาฎก  แต่ว่าพราหมณ์จูเฬกสาฎกตามบาลีท่านบอกว่า  ในสมัยพระวิปัสสี  พราหมณ์คนนี้ชื่อว่ามหาสาฎก  แปลว่าสาฎกใหญ่  สมัยพระพุทธเจ้าองค์นี้  มาเกิดใหม่ชื่อสาฎกตามเดิม  ชื่อจูเฬกสาฎก  แปลว่า สาฎกเล็ก

พอตาพราหมณ์ได้ฟังก็บอกกับท่านยาย  ถามท่านยายว่า  ยายจะไปฟังเทศน์กลางคืนหรือว่ากลางวัน  เพราะเราไปพร้อมกันไม่ได้  เพราะจนมาก  มีผ้านุ่งคนละผืน มีผ้าห่มผืนเดียว  พราหมณ์ออกจากบ้านต้องห่มผ้า  เมื่อสามีออกจากบ้าน  ภรรยาก็ต้องเฝ้าบ้าน เพราะไม่มีผ้าห่ม ถ้าภรรยาออกนอกบ้าน  สามีก็ต้องเฝ้าบ้าน เพราะไม่มีผ้าห่ม  ยายก็บอกว่า  กลางคืนตาฉันไม่ดี  ให้ตาไปฟังกลางคืนก็แล้วกัน  กลางวันจึงจะไป

ก็เป็นอันว่าท่านจูเฬกสาฎกก็ตกลงใจ  (ฉันก็ยกย่องเป็นท่านจูเฬกสาฎกนะ  อย่าลืมนะว่าท่านทันสมัยพระพุทธเจ้า  ไม่โง่ตามฉันหรอกนะ  อย่างน้อยก็ไปนิพพานนานแล้ว)  ก็ตัดสินใจ  พอค่ำก็เดินทางไปที่มหาวิหารพระเชตวันไปนั่งด้านหน้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตั้งใจเทศน์สงเคราะห์โดยเฉพาะ  คนฟังมาก  แต่วันนั้นท่านจี้จุดเฉพาะท่านจูเฬกสาฎก  แต่คนที่พลอยได้นะมีเยอะ  ตามธรรมดาพระพุทธเจ้าเทศน์ต้องมุ่งก่อนว่า วันนี้เราไปเทศน์จะมีใครบรรลุมรรคผลไหม  จะมีผลเป็นประการใดบ้าง  ถ้าไม่มีผลเลยนี่ไม่ไป ถ้าจะไปแล้วจะต้องพูดแบบไหนจึงจะมีผล  ท่านรู้ไปก่อน

ในเมื่อท่านจูเฬกสาฎกไปนั่งข้างหน้า  ท่านก็เทศน์เรื่อง ทานบารมี  อธิบายผลของทานว่า  ทานเป็นปัจจัยให้เกิดความรักเป็นต้น  ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของผู้รับ  เป็นต้น  และบรรดาเพื่อน ๆ ของบุคคลผู้รับก็ย่อมรักผู้ให้  เทศน์อย่างนี้  เทศน์อานิสงส์ของทานว่า  การมีชีวิตอยู่ก็มีความสุขและก็มีพวกมาก  ตายไปแล้วก็ไปเกิดบนสวรรค์  มาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ก็เป็นคนร่ำรวย  ท่านเทศน์ยาว

พอถึงยามต้น หัวค่ำนะ  พราหมณ์ตัดสินใจคิดว่า  เราจะถวายผ้าห่มผืนนี้กับพระพุทธเจ้า  พอคิดเพียงเท่านี้ก็ห่วงบ้าน  เทศน์ไพเราะแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน  ถ้าเราถวายผ้าผืนนี้กับพระพุทธเจ้า  พรุ่งนี้ยายก็มาไม่ได้ใช่ไหม  ห่วงยาย  พระพุทธเจ้าก็เทศน์ต่ออีก  พอถึงยามที่สองก็ตัดสินใจใหม่อีก  แล้วก็ห่วงยายอีก  พอถึงยามที่สามเลิกห่วงยาย (เห็นแก่ตัวแล้วนะ)  ช่างมันเถอะ  ยายจะมาฟังได้หรือไม่ได้ก็ช่างมัน  กูถวายละ  ก็เปลื้องผ้าที่ห่ม (คงจะแสนเก่า ไม่ใช่แสนใหม่นะ  มีผืนเดียวนี่นะ)  เอาไปวางที่พระบาทของพระพุทธเจ้า  แล้วก็ถอยหลังออกมาเปล่งวาจาว่า  “กูชนะแล้ว  กูชนะแล้ว”  ตามภาษาบาลีว่า  “ชิตัง เม ชิตัง เม”  เราชนะแล้ว  เราชนะแล้ว

เวลานั้น  พระเจ้าปเสนทิโกศลนั่งฟังเทศน์อยู่ด้วย  จึงให้ราชบุรุษเข้าไปถามว่า  ดูซิลุงแก่แกชนะอะไรของแก  เดินจะไม่ไหวอยู่แล้วใช่ไหม  ในเมื่อราชบุรุษเข้าไปถาม  ท่านบอกว่าชนะความตระหนี่  เพราะตัดสินใจมาตั้งแต่ตอนเย็น  ตัดสินใจไม่ได้  เวลานี้ตัดสินใจได้แล้ว  ก็รวมความว่า  วันพรุ่งนี้ทั้งตัวแกเองรวมทั้งยายด้วยไม่ได้ฟังเทศน์  ถึงแม้จะไม่ได้ฟังก็ตามใจ  ฟังเทศน์นี่ชื่นใจมากแล้ว

เวลานั้น  พระเจ้าปเสนทิโกศลท่านทราบ  ก็สั่งให้เขาไปเอาผ้าสาฎกที่พระองค์ทรงใช้เองเอามาสองผืน (หนึ่งคู่) ให้แก  แกก็น้อมไปถวายให้พระพุทธเจ้าอีก  ทีนี้สั่งเอามาให้อีกสองคู่  แกก็ถวายพระพุทธเจ้าอีก  ไปถึง 32 คู่  ว่าเรื่อยกันไปนะ  2 คู่ 3 คู่ 4 คู่ ว่าเรื่อยไปถึง 32 คู่  พอถึง 32 คู่  ก็คิดในใจว่า  ถ้าเราไม่เอาไว้เลย  ท่านผู้ให้จะหาว่าเรารังเกียจ  เลยกันไว้สองคู่  เพื่อยายคู่หนึ่ง เพื่อตัวคู่หนึ่ง  อีก 30 คู่ ถวายพระพุทธเจ้า

พระเจ้าปเสนทิโกศลก็คิดว่า  คนนี้มีความเลื่อมใสในที่ที่เราเลื่อมใสแล้ว  จึงให้ไปนำผ้ากำพลที่พระองค์ใช้เองอย่างดีที่สุด ราคาแสนกหาปณะมาสองผืน  มามอบให้พราหมณ์  ท่านจูเฬกสาฎกก็เอาไปทำเพดานให้พระพุทธเจ้าเสียผืนหนึ่ง  เอาไปกั้นเพดานที่บ้านเสียผืนหนึ่ง  เมื่อเวลาพระสงฆ์ไปฉัน

พอรุ่งขึ้นอีกวันตอนบ่าย  พระเจ้าปเสนทิโกศลมาเห็นผ้ากำพลก็จำได้  ก็ถามพระพุทธเจ้าว่า  ใครถวาย  พระพุทธเจ้าก็บอกว่า  จูเฬกสาฎกถวาย  จึงทรงเรียกจูเฬกสาฎกมา  อีตานี้ใจหายวาบ สั่งให้เข้าเฝ้าด่วน  ให้มาด่วนเดี๋ยวนี้ (น่ากลัวหัวขาด)  พอรับสั่งให้เข้ามาถึง ก็บอกว่า  ฉันให้ผ้าเธอถึง 32 คู่ ไล่เป็นลำดับมา  เธอถวายพระพุทธเจ้า  เธอเอาไว้สองคู่เพื่อตากับยาย  ฉันให้ผ้ากำพลเธอใช้เพราะเธอมีศรัทธา  เธอทำไมจึงถวายพระพุทธเจ้าอีก

ท่านก็เลยบอกว่า  ผ้ากำพลไม่เหมาะกับข้าพระพุทธเจ้า  คนฐานะอย่างนี้ไม่สมควร   สมควรกับพระเจ้าอยู่หัวอย่างเดียว  ไม่เช่นนั้นก็พระพุทธเจ้าเท่านั้น

ท่านก็เลยบัญชาใหม่ว่า  นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  เราให้คู่ 4 กับเธอ  คือ โค 4 ช้าง 4 ม้า 4 ควาย 4 แล้วก็ผู้หญิง 4 ผู้ชาย 4 ทาสชาย 4 ทาสหญิง 4 และทรัพย์สินอีก 4,000 กหาปณะ  (เวลานั้นเป็นคนรวยแล้วนะ)  และบ้านสำหรับเก็บส่วยเก็บภาษีอีก 4 ตำบล  รวยใหญ่เลย  กลายเป็นอนุเศรษฐีไป

ต่อมาตอนเย็น  พระสงฆ์ทั้งหลายก็นั่งคุยกัน  (พระพุทธเจ้าอยู่ในมหาวิหาร)  ว่าน่าอัศจรรย์ที่จูเฬกสาฎกถวายผ้าแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเพียงแค่ผืนน้อย ๆ ผืนเดียว ผ้าเก่าด้วย  มีผลปัจจุบันขนาดนี้  องค์สมเด็จพระชินสีห์ฟังแล้วก็คิดว่า  เราควรจะไปที่นั่น  พอไปถึงท่านก็ถามว่า  “เธอคุยเรื่องอะไรกัน”  (นี่เป็นธรรมดานะ  ธรรมดาของพระพุทธเจ้า  พระสงฆ์ก็เหมือนกัน  รู้แล้วต้องทำเป็นไม่รู้)  พระก็เล่าให้ฟัง  พระพุทธเจ้าก็บอกว่า  จูเฬกสาฎกถวายช้าไป  ถ้าถวายตถาคตตั้งแต่ยามต้น  จะได้คู่ 12  หากถวายยามกลางจะได้คู่ 8 คือ 8 คู่  นี่ถวายยามสุดท้ายจึงได้ 4 คู่  (น้อยไป)  ฉะนั้น  การทำบุญต้องเร็ว ๆ ไว ๆ   ตุลิตะ ตุลิตัง  สีฆะ  สีฆัง  เร็ว ๆ ไว ๆ
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
ทาน ศีล ภาวนา
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2012, 10:16:11 pm »
อานิสงส์กฐินทาน

โดย  หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

 -http://www.kaskaew.com/index.asp?contentID=10000004&title=%CD%D2%B9%D4%CA%A7%CA%EC%A1%B0%D4%B9%B7%D2%B9&getarticle=38&keyword=&catid=7-

                        ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11  ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12  เป็นเวลากาลที่จะทอดผ้าพระกฐินทาน  เหตุฉะนั้นในวันนี้อาตมาภาพจะได้นำเอาเรื่องราวของบุญที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า  “ปุญญานิ  ปรโลกัสมิง  ปติฏฐา  โหนติ  ปาณินัง”  ซึ่งแปลเป็นใจความง่าย ๆ ว่า  “บุญกุศลย่อมจะทำให้บุคคลมีความสุขต่อไปในภายภาคข้างหน้า”

 

                        ความมีอยู่ว่า  ในสมัยเมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่  เวลานั้นองค์สมเด็จพระบรมครูทรงเสด็จประทับอยู่ในพระคันธกุฎีมหาวิหาร อันเป็นวิหารที่นางวิสาขาหาอุบาสิกาสร้างถวาย ตั้งอยู่ในเขตแห่งเมืองสาวัตถีคือเมืองสาเกต อันเป็นเขตพระราชฐานของพระราชา  มีนามว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลบรมกษัตริย์

 

                        เวลานั้นเป็นเวลาก่อนที่จะเข้าพรรษา  มีภิกษุชาวปาฐา  30  รูป  ตั้งใจไปเฝ้าองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เมืองสาเกต  อันเป็นเขตของเมือง
สาวัตถี  แต่ว่าเวลานั้นองค์สมเด็จพระมหามุนีได้มีพระพุทธฎีกาบัญญัติว่า  ถึงวาระเวลากาลฤดูฝนตั้งแต่กลางเดือน 8  ให้บรรดาภิกษุทั้งหลายหาที่พักจำพรรษาห้ามเดินไปในสถานที่อื่น  จนกว่าจะถึงวันกลางเดือน  11

 

                        ทั้งนี้เพราะว่าในสมัยก่อนนั้น  องค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงบัญญัติฤดูกาลแห่งการจำพรรษา  ฉะนั้นจึงมีเหตุอยู่ว่า  เวลาฤดูฝนชาวบ้านเขาปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารมาก  สาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าบางท่านก็ดี  แต่บางท่านก็เต็มที  เพราะว่าไร้มารยาทเดินลัดทุ่งหญ้าทุ่งนา  เหยียบพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ชาวบ้านเขาปลูกไว้  ทำให้ต้นพืชต้นข้าวเขาเสียหาย

 

                        ต่อมาเมื่อมีคนตำหนิว่า  สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไร้มายาท ปราศจากความดี  ทำลายทรัพย์สินเหล่านี้ของเขาให้สิ้นไป  เหตุฉะนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงได้ทรงบัญญัติว่า  “ตั้งแต่ต้นฤดูฝน คือกลางเดือน 8  เป็นต้นไปให้  บรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจำพรรษาสิ้นเวลา  3  เดือน  ถึงกลางเดือน  11”

 

                        เวลานั้นภิกษุชาวปาฐา  30 รูป จะเข้ามาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เดินมาระหว่างทางไม่ทันจะถึง  ก็ปรากฎว่าถึงกลางเดือน  8  พอดี  จึงต้องหยุดพักจำพรรษาตามที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงอนุมัติ  คือการจำพรรษานั้นจะจำพรรษาที่บ้านทุ่งก็ได้  ที่บ้านร้างก็ได้  บ้านว่างก็ได้  ในโพรงไม้ก็ได้  อย่างนี้เป็นต้น  เพราะเป็นที่กันฝนได้  ครั้นเมื่อออกพรรษาภิกษุ  30  รูป  ทั้งหลายเหล่านั้นก็ตั้งใจจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา

 

                        เวลานั้นพระพุทธเจ้าก็ยังทรงบัญญัติว่า  พระต้องมีผ้าแค่  3  ผืน  นั่นเอง สบง  1  ผืน  จีวร  1  ผืน  สังฆาฏิ  1 ผืน  และมีผ้าเกินคือผ้าอังสะอีก  1  ผืน  ใช้เป็นผ้าซับในกับรัดประคตเอว  มีเกินนอกนี้ไม่ได้  เหตุฉะนั้น บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายเวลานั้นจึงมีผ้าจำกัด  เวลาที่จะเดินไปเฝ้าพระทรงสวัสดิโสภาคย์  ก็ต้องผ่านใบหญ้าใบไม้ที่เปียกชุ่มใบด้วยน้ำฝนและน้ำค้าง  สบงจีวรของท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็เปียกชุ่มโชกไปในระหว่างทาง

 

                        พอไปถึงเมืองสาเกตุ  เวลานั้นองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์กำลังแสดงพระธรรมเทศนาอยู่  ครั้นเทศน์จบแล้ว  บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายจึงพากันไปเฝ้าองค์สมเด็จพระบรมครูก็ต้องเข้าไปทั้งที่เปียก ๆ  เพราะมันไม่มีผ้าจะผลัด  เมื่อเข้าไปแล้วก็ถวายนมัสการองค์สมเด็จพระสวัสดิโสภาคย์  แล้วก็นั่งอยู่

 

                        เวลานั้นนางวิสาขาเฝ้าองค์สมเด็จพระบรมครูอยู่พอดีครั้นเห็นบรรดาภิกษุชาวปาฐาทั้ง  30  รูปนี้  มีผ้าสบงจีวรเปียกโชกไปอย่างนั้น  จึงได้กราบทูลขอพรต่อองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า  “ภันเต  ภควา  ข้าแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เจริญ  พระพุทธเจ้าข้า  ต่อแต่นี้ไปข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพรจากพระผู้มีพระภาคว่า  ฤดูกาลหลังจากออกพรรษาแล้ว  ขอบรรดาประชาชนทั้งหลายมีโอกาสถวายผ้าไตรจีวรแก่คณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา”

 

                        เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาได้สดับนั้นแล้ว  องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงอนุมัติ  แล้วก็ทรงประกาศให้บรรดาประชาชนถวายผ้าพระกฐินทานแก่บรรดาพระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบไตรมาสในอาวาสนั้น ๆ ได้

 

                        นี่เป็นอันว่า  ต้นเหตุแห่งการทอดผ้าพระกฐินในศาสนานี้ก็มีนางวิสาขาเป็นคนแรก  สำหรับอานิสงส์กุศลบุญราศีในการถวายผ้าพระกฐินทานนี้  องค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสว่ามีอานิสงส์มากเป็นกรณีพิเศษคือ  คนถวายผ้าพระกฐินทานหรือร่วมในการถวายกฐินทานครั้งหนึ่ง  จะปรารถนาเป็นพระอัครสาวกก็เป็นได้   จะปรารถนาพระนิพพานเพื่อเป็นพระอรหันต์ปกติก็เป็นได้

 

                        ยิ่งกว่านั้นไซร้  ก่อนที่บรรดาผลทั้งหลายเหล่านั้น คือความเป็นพระพุทธเจ้าก็ดี  ความเป็นพระอัครสาวกก็ดี  หรือว่าเป็นอรหันต์สาวกก็ดี  จะมาถึง  สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวว่า  ในขณะที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะ  มีบารมียังไม่สูงดียังไม่พอที่จะบรรลุมรรคผลได้  อานิสงส์กฐินทานจะให้ผลตามนี้

 

                        กล่าวคือ  อันดับแรกเมื่อตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นเทวดา  แล้วก็จะลงมาเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช  ปกครองประเทศทั่วโลก  มีมหาสมุทรทั้ง 4  เป็นขอบเขต  500  ชาติ

 

                        เมื่อบุญแห่งความเป็นพระมหาจักรพรรดิสิ้นไป  บุญก็หย่อนลงมา  จะได้เป็นพระมหากษัตริย์  500  ชาติ

 

                        หลังจากนั้นมา  เมื่อบุญแห่งความเป็นกษัตริย์ได้หมดไปก็จะเป็นมหาเศรษฐี  500  ชาติ

                       

บุญแห่งความเป็นมหาเศรษฐีหมดไป  ก็จะเป็นอนุเศรษฐี  500  ชาติ

                                                                                                                       

                        บุญแห่งความเป็นอนุเศรษฐีหมดไป  ก็จะเป็นคหบดี  500  ชาติ

 

                        รวมความแล้ว  สมเด็จพระบรมโลกนาถตรัสว่า  “คนที่ทอดผ้าพระกฐินครั้งหนึ่งก็ดี  บุญบารมีส่วนนี้ยังไม่ทันจะหมด  ก็ปรากฎว่าท่านเจ้าของไปนิพพานก่อน”  เมื่อองค์สมเด็จพระชินวรตรัสอย่างนี้แล้ว  จึงได้ตรัสอีกว่า  “เราเทศน์คราวนี้  เทศน์ตามนัยที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดามีพระนามว่าปทุมุตตระ  ได้เทศน์ไว้เมื่อ  91  กัปป์มาแล้ว  พระองค์ก็รับรองว่าอานิสงส์เป็นอย่างนี้”

 

                        หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระมหามุนีจึงได้นำเอาเรื่องราวอดีตทาน  ซึ่งเป็นอัตตโนบุพกรรม  กล่าวคือ  เป็นกรรมของพระองค์มาตรัส  ตอนนั้นองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ทรงตรัสว่า  “ภิกขเว  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ถอยหลังจากกัปป์นี้ไป  91  กัปป์  ถ้านับกัปป์นี้ด้วยก็เป็น 92 กัปป์  ยังมีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งทรงอุบัติขึ้นในโลก  มีพระนามว่า
ปทุมุตระ  เวลานั้น พระปุมุตระได้แสดงพระธรรมเทศนาอานิสงส์กฐินตามที่กล่าวมาแล้ว”

 

                        ขณะนั้นเองปรากฎว่า  มีชายมหาทุคคตะคนหนึ่ง  คำว่า  มหาทุคคตะนี้จนมาก  เป็นทาสของท่านคหบดี  ได้ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระชินสีห์  โดยนั่งอยู่ท้ายบริษัท  ฟังเทศน์ที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์เทศน์นั้น  ท่านเทศน์ตามนัยเมื่อกี้นี้  เมื่อฟังจบก็รู้สึกดีใจนักว่า  อานิสงส์กฐินนี่มากมายเหลือเกิน  แต่ว่าเราอยากจะทอดกฐิน เราก็เป็นเพียงทาสของเขา  เงินสักบาทหรือสลึงหนึ่งก็ไม่มี  ไอ้เครื่องแต่งกายของเรานี้มันก็แสนจะขาดแสนจะเก่า  เราจะทำอย่างไรเล่าจึงจะมีโอกาสได้ทอดกฐิน  แต่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า  นอกจากจะเป็นเจ้าภาพแล้ว  ถ้าหากว่ามีการช่วยในการทอดกฐิน  เราก็มีอานิสงส์เหมือนกัน   ซึ่งองค์สมเด็จพระภควันต์กล่าวว่า  ถึงแม้ว่าจะช่วยในการทอดกฐิน  จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้  เป็นพระอัครสาวกก็ได้  เป็นมหาสาวกก็ได้  เป็นปกติสาวกก็ได้  และนอกนั้นไซร้ก็ยังได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  เป็นกษัตริย์  เป็นมหาเศรษฐี  เป็นอนุเศรษฐี  เป็นคหบดี  ถ้ากระไรก็ดี  เราจะช่วยนายของเราทอดกฐิน

 

                        เมื่อดำริอย่างนี้แล้ว  ครั้นฟังเทศน์จากสมเด็จพระประทีบแก้วจบ  ชาวบ้านเขากลับ  ท่านมหาทุคคตะก็กลับเหมือนกัน  เมื่อกลับมาถึงบ้านก็ชวนนายทอดกฐิน  พูดถึงอานิสงส์ให้ฟัง  นายฟังแล้วก็ดีใจว่า  เออหนออานิสงส์กฐินทานนี่มีอานิสงส์มาก  การถวายก็ไม่ยากเรามีผ้าจีวรผืนหนึ่ง  หรือว่าสบงผืนหนึ่ง หรือว่าสังฆาฏิผืนหนึ่งก็ได้  จะถวายทั้งไตรก็ได้ ถวายมากก็ได้  ถวายน้อยก็ได้อานิสงส์เหมือนกัน  ฉะนั้น  ท่านนายจึงกล่าวว่า “โภ ปุริสะ  ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ  ถ้ากระไรก็ดีทรัพย์สินของเรานี้มีอยู่  แต่ว่าการทอดกฐินเป็นของใหม่  เราไม่มีความเข้าใจ  ถ้าเธอจะให้ทอดกฐินทานก็จงเป็นผู้จัดการในการทอดกฐินก็แล้วกัน”

 

                        ท่านมหาทุคคตะก็จัดการทุกอย่าง  ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามีอะไรบ้างนอกจากนั้นของที่เกินออกไปจากของบริวารเจ้านายจะทำก็ตามใจทุกอย่าง  จนเสร็จภารกิจทุกประการ  เมื่อจัดการครบถ้วนเรียบร้อย  ถึงวันจะทอดกฐินท่านก็มานั่งนึกว่า  ไอ้ทรัพย์สมบัติหมดนี่เป็นของนายแต่ผู้เดียว  เรามีหน้าที่ในการจัดแต่ไม่มีส่วนในทานแม้แต่น้อยหนึ่งเลย  จึงได้เข้าไปในป่าเปลื้องเครื่องแต่งตัวออก  ถอดเสื้อเอากางเกงออก  กลัดใบไม้แล้วก็นุ่งใบไม้ห่มใบไม้แทน เข้าไปในร้านที่ตลาด  เอาเสื้อกับกางเกงนี่เข้าไปบอกเจ้าของร้านว่า  ไอ้เสื้อเก่า ๆ กางเกงเก่า ๆ ของฉันนี่มันจะแลกของอะไรได้บ้างหนอ  ของในร้านนี้เอาอะไรก็ได้ ฉันต้องการแต่เพียงอย่างเดียวที่ท่านจะพึงให้ได้

 

                        เจ้าของร้านมานั่งพิจารณาว่า  ไอ้ผ้าเก่า ๆ เสื้อเก่า ๆ มันก็เปื่อยแล้ว  จะไปเทียบกับอะไรมันก็ไม่ได้สักอย่าง  ก็เลยตัดสินใจให้ด้ายไปหนึ่งกลุ่ม ให้เข็มไปหนึ่งเล่ม แล้วก็บอกว่าเสื้อผ้าของท่านเหล่านี้  ความจริงราคามันก็ไม่เท่ากับเข็มหนึ่งเล่ม ด้ายหนึ่งกลุ่ม แต่ว่าในฐานะที่ท่านจะเอาไปทำบุญ  เราขอตัดสินใจให้  ฝ่ายท่านมหาทุคคตะท่านได้เท่านั้นท่านก็ดีใจ  ด้ายหนึ่งกลุ่ม เข็มหนึ่งเล่ม เอามาร่วมในการทอดผ้าพระกฐินทานกับเจ้านาย

 

                        เมื่อทอดผ้าพระกฐินทานเสร็จแล้วไซร้  องค์สมเด็จพระจอมไตรคือพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุโมทนา  กล่าวถึงอานิสงส์เมื่อกี้นี้เป็นเหตุ  ครั้นองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์กล่าวจบ คนทั้งหลายเขาก็กลับกันหมด  ท่านมหาทุคคตะก็คลานเข้าไปไหว้พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตระ  แล้วได้กล่าวคำมโนปณิธานตั้งความปรารถนาว่า “ด้วยอานิสงส์บุญบารมี ที่ข้าพระพุทธเจ้ามีหน้าที่ขวนขวายในการจัดงานทอดผ้าพระกฐินทานก็ดี  และข้าพระพุทธเจ้าสละเสื้อผ้าอันเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่ข้าพระพุทธเจ้ามี  โดยแลกกับด้ายกลุ่มหนึ่งกับเข็มเล่มหนึ่ง เข้ามาร่วมในการทอดกฐิน  ขออานิสงส์กุศลบุญราศรีอันนี้ จงดลบันดาลให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลเถิดพระพุทธเจ้าข้า”

 

                        เมื่อท่านมหาทุคคตะตั้งมโนปณิธานอย่างนั้นแล้ว  องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงพระนามว่าปทุมุตระ  ก็ทรงพิจารณาดูด้วยอำนาจพระพุทธญาณว่า  มหาทุคคตะคนนี้ปรารถนาพระโพธิญาณ  อยากจะทราบว่ามโนปณิธานความปรารถนาของเธอจะสำเร็จผลหรือไม่  หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ทรงทราบว่า  หลังจากนี้ไป  ต่อไปอีก  91  กัปป์  มหาทุคคตะคนนี้จะไปเกิดเป็นลูกกษัตริย์ ที่กรุงกบิลพัสด์มหานคร  จอมบพิตรอดิศรจะได้นามว่า  สิทธัตถะราชกุมาร  หลังจากนั้นจะออกบำเพ็ญ  มหากษัตริย์จะได้เป็นพระพุทธเจ้า  ทรงพระนามว่า  พระสมณโคดม

 

                        เมื่อทรงทราบอย่างนี้แล้ว  องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงพระนามว่า
ปทุมุตระ ก็ทรงประกาศคำพยากรณ์ให้ทราบ  ท่านมหาทุคคตะก็ดีใจกลับมาที่บ้าน  หลังจากนั้นไซร้  ท่านก็ตั้งใจบำเพ็ญกุศลบุญราศรีตามกำลังที่จะพึงมี  โดยนัยว่าทรัพย์ทั้งหลายเหล่านี้ของท่านไม่มี  เพราะท่านเป็นทาสเขา  แต่อานิสงส์ที่พาเจ้านายไปทอดผ้าพระกฐินทาน  เพราะอานิสงส์ที่พระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า  ท่านจะได้เป็นพระพุทธเจ้ามีพระนามว่า พระสมณโคดม  จากนี้ไปอีก  91  กัปป์  เหตุนี้เป็นเหตุให้เจัานายมีความยินดี  ได้กล่าวว่า

 

                        “มหาทุคคตะ  ความดีในการทอดผ้าพระกฐินทาน  พร้อมด้วยเครื่องบริวารที่เราจะได้โดยยาก  ซึ่งเป็นอานิสงส์ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสว่า  ต่อแต่นี้ไป  ถ้าเราจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้  เป็นอัครสาวกก็ได้  เป็นปกติสาวกก็ได้  แต่เวลาใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร  ในกาลข้างหน้า  ถ้าบุญบารมีนั้นยังไม่เต็ม  เราสามารถจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ถึง  500  ชาติ  เป็นอนุเศรษฐี  500 ชาติ  และเป็นคหบดี  500  ชาติ

 

                        แต่องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถก็ยังตรัสว่า  อานิสงส์ทั้งหลายเหล่านี้ยังได้ไม่หมด  ก็ปรากฎว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของกฐินทานและผู้ติดตามจะไปนิพพานก่อน  อาศัยที่ความดีขององค์สมเด็จพระชินวรทรงเทศน์  และเธอก็ได้แนะนำเราให้ปฏิบัติความดีที่เราไม่เคยเข้าใจมาก่อน  ฉะนั้น ความดีอันนี้ มหาทุคคตะ เราขอปล่อยท่านจากความเป็นทาส  คือนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  เจ้าก็จงเป็นไทไม่ต้องเป็นทาสต่อไป  และเราจะให้บ้านส่วนของเรา  100  หลัง เป็นที่เก็บส่วย  เป็นเครื่องทำมาหากิน  ให้ข้าทาสหญิงชายช้างม้าวัวควายพอสมควรแก่ฐานะ”

 

                        รวมความว่า  นับแต่เวลานั้นมา  ท่านมหาทุคคตะก็พ้นจากความเป็นมหาทุคคตะ  กลายเป็นคหบดีคนหนึ่ง  อยู่ในฐานะคหบดีมีเงินกิน มีเงินพอใช้พอสมควรแก่ฐานะ  และหลังจากนั้นมา  ท่านก็บำเพ็ญกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติ  เมื่อสิ้นอายุขัยเจ้านายของท่านก็ตาย  แล้วไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทวโลกมีความสุข

 

                        สำหรับท่านมหาทุคคตะ  ได้เคยบำเพ็ญบารมีเพื่อปรารถนาพระโพธิญาณมาก่อน  และในตอนนี้องค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า  บารมีเข้าขั้นเริ่มต้นปรมัตถบารมี  เหตุฉะนั้น  มหาทุคคตะคนนี้  เมื่อตายจากความเป็นคน  จึงไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิต มีความสุข
.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
ทาน ศีล ภาวนา
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: พฤศจิกายน 19, 2012, 05:46:49 am »
    02-อนาถปิณฑิกเศรษฐี
    เอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายก
-http://www.84000.org/one/3/02.html-

    อนาถบิณฑิกเศรษฐี เกิดในตระกูลมหาเศรษฐี ในเมืองสาวัตถี บิดาชื่อว่า “สุมนะ”
    มีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล เมื่อเกิดมาแล้วบรรดาหมู่ญาติได้ตั้งชื่อให้ว่า “สุทัตตะ” เป็น
    คนมีจิตเมตตาชอบทำบุญให้ทานแก่คนยากจนอนาถา

    ได้ชื่อใหม่เพราะให้ทาน
    เมื่อบิดามารดาของท่านล่วงลับไปแล้ว ได้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีแทน ให้ตั้งโรงทานที่
    หน้าบ้านแจกอาหารแก่คนยากจนทุกวัน จนกระทั่งประชาชนทั่วไปเรียกท่านตามลักษณะนิสัย
    ว่า “อนาถบิณฑิกะ” ซึ่งหมายถึง “ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา” และได้เรียกกันต่อมาจนบาง
    คนก็ลืมชื่อเดิมของท่านไปเลย
    ท่านอนาถบิณฑิกะ ทำการค้าขายระหว่างเมืองสาวัตถีกับเมืองราชคฤห์เป็นประจำ
    จนมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับเศรษฐีเมืองราชคฤห์ นามว่า “ราชคหกะ” และต่อมาเศรษฐีทั้ง
    สองก็มีความเกี่ยวดองกันมากขึ้น โดยต่างฝ่ายก็ได้น้องสาวของกันและกันมาเป็นภรรยา ดังนั้น
    เมื่ออนาถบิณฑิกะ นำสินค้ามาขายยังเมืองราชคฤห์จึงได้มาพักอาศัยที่บ้านของราชคฤหเศรษฐี
    ผู้ซึ่งมีฐานะเป็นทั้งน้องเขยและพี่เมียอยู่เป็นประจำ

    อนาถบิณฑิกเศรษฐีสำเร็จพระโสดาบัน
    อนาถบิณฑิกเศรษฐี ดำรงชีวิตอยู่ในกรุงสาวัตถี โดยมิได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการเกิดขึ้น
    แห่งพระพุทธศาสนาเลย จวบจนวันหนึ่งท่านได้นำสินค้ามาขายยังเมืองราชคฤห์ และได้เข้าพัก
    ในบ้านของราชคหกเศรษฐีตามปกติ แต่ในวันนั้น เป็นวันที่ราชคหกเศรษฐี ได้กราบทูล
    อาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมากมายและฉันภัตตาหารที่เรือน
    ของตนในวันรุ่งขึ้น
    ราชคหกเศรษฐี มัวยุ่งอยู่กับการสั่งงานแก่ข้าทาสบริวาร จึงไม่มีเวลามาปฏิสันถาร
    ต้อนรับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเหมือนเช่นเคย เพียงแต่ได้ทักทายปราศัยเล็กน้อยเท่านั้นแล้วก็
    สั่งงานต่อไปแม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็เกิดความสงสัยขึ้นเช่นกัน จึงคิดอยู่ในใจว่า
    “ราชคหกเศรษฐี คงจะมีงานบูชาอัญหรือไม่ก็คงจะกราบทูลเชิญพระเจ้าพิมพิสารเสด็จมายัง
    เรือนของตนในวันพรุ่งนี้”
    เมื่อการสั่งงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ราชคหกเศรษฐี จึงได้มีเวลามาต้อนรับพูดคุยกับ
    อนาถบิณฑิกเศรษฐี และท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้ไต่ถามข้อข้องใจสงสัยนั้น ซึ่งได้รับคำ
    ตอบว่าที่มัวยุ่งอยู่กับการสั่งงานนั้นก็เพราะได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระ
    ภิกษุสงฆ์ มาเสวยและฉันภัตตาหารที่เรือนของตนในวันพรุ่งนี้
    อนาถบิณฑิกเศรษฐี พอได้ฟังคำว่า “พระพุทธเจ้า” เท่านั้นเอง ก็รู้สึกแปลกประหลาด
    ใจ จึงย้อนถามถึงสามครั้งเพื่อให้แน่ใจ เพราะคำว่า “พระพุทธเจ้า” นี้เป็นการยากยิ่งนักที่จะ
    ได้ยินในโลกนี้ เมื่อราชคหกเศรษฐีกล่าวยืนยันว่า “ขณะนี้ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระ
    สงฆ์ เกิดขึ้นแล้วในโลก” จึงเกิดปีติและศรัทธาเลื่อมใสอย่างแรงกล้า ปรารถนาจะไปเข้าเฝ้า
    พระพุทธองค์ในทันที่นั้น แต่ราชคหกเศรษฐียับยั้งไว้ว่ามิใช่เวลาแห่งการเข้าเฝ้า จึงรอจนรุ่งเช้า
    ก็รีบไปเข้าเฝ้าก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จไปยังบ้านราชคหกเศรษฐี ได้ฟังอนุปุพพิกถาและ
    อริยสัจสี่จากพระพุทธเจ้าแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลในพระพุทธศาสนา
    ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

    อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดถวาย
    อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ช่วยอังคาสถวายภัตตาหารแด่พระบรมศาสดาและพระภิกษุ
    สงฆ์ ครั้นเสร็จภัตตากิจแล้วก็ได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาเพื่อเสด็จไปประกาศพระ
    ศาสนายังเมืองสาวัตถี พร้อมทั้งกราบทูลว่า จะสร้างพระอารามถวายเมืองสาวัตถีนั้น พระบรม
    ศาสดาทรงรับอาราธนาตามคำกราบทูล
    อนาถบิณฑิกเศรษฐี รู้สึกปราบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง รีบเดินทางกลับสู่กรุงสาวัตถี
    โดยด่วน ในระหว่างทางจากกรุงราชคฤห์ถึงกรุงสาวัตถี ระยะทาง ๕๔ โยชน์ ได้บริจาคทรัพย์
    จำนวนมากให้สร้างวิหารที่ประทับเป็นที่พักทุก ๆ ระยะหนึ่งโยชน์ เมื่อถึงกรุงสาวัตถีแล้วได้
    ติดต่อขอซื้อที่ดินจากเจ้าชายเชตราชกุมาร โดยได้ตกลงราคาด้วยการนำเงินปูลาดให้เต็มพื้นที่
    ตามที่ต้องการ ปรากฏว่าเศรษฐีใช้เงินถึง ๒๗ โกฏิ เป็นค่าที่ดิน และอีก ๒๗ โกฏิ เป็นค่าก่อ
    สร้างพระคันธกุฏีที่ประทับของพระบรมศาสดา และเสนาสนะสงฆ์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๔
    โกฏิ แต่ยังขาดพื้นที่สร้างซุ้มประตูพระอาราม ขณะนั้น เจ้าชายเชตราชกุมารได้แสดงความ
    ประสงค์ขอเป็นผู้จัดสร้างถวาย โดยขอให้จารึกพระนามของพระองค์ที่ซุ้มประตูพระอาราม ดัง
    นั้นพระอารามนี้จึงได้ชื่อว่า “เชตวนาราม”
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)