ผู้เขียน หัวข้อ: มิลินทปัญหา  (อ่าน 107279 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #250 เมื่อ: สิงหาคม 11, 2011, 07:11:40 am »

ปัญหาที่ ๓ ถามถึงเรื่องฆ่าตัวเอง

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเสจ้าได้ตรัสไว้ว่า

" ภิกษุไม่ควรทำตนให้ตกไป  ภิกษุใดทำตนให้ตกไป ต้องปรับอาบัติภิกษุนั้น ตามสมควรแก่เหตุการณ์"

แต่พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้อีกว่า เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายไม่ว่าในที่ใด ๆ ย่อมทรงแสดงเพื่อตัดการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้ขาดไป ผู้ใดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ ก็ทรงสรรเสริญผู้นั้นด้วยวาจาสรรเสริญอย่างเยี่ยม

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามไม่ให้ภิกษุทำลายตนเองนั้นถูก ข้อที่ได้ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ตัดขาด ซึ่งเกิดแก่ เจ็บ ตาย ก็ผิด

ถ้าการทรงแสดงธรรม เพื่อตัดการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้ขาดนั้นเป็นของถูก ข้อที่ห้ามไม่ให้ทำลายตัวเองก็ผิด
ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไขให้สิ้นสงสัยต่อไป "

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสห้ามไม่ให้ภิกษุทำลายตัวเองนั้นก็ถูก ข้อที่ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ตัดการเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นให้ขาดก็ถูก แต่ในข้อนั้น ย่อมมีเหตุการณ์ที่ให้ทรงห้ามและทรงชักนำ ขอถวายพระพร

ผู้มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นผู้ทำกิเลสให้พินาศ เหมือนกับยาดับพิษงู
ย่อมดับพิษร้าย คือกิเลสของสัตว์ทั้งหลาย เหมือนกับยาทั่วไป
ย่อมกำจัดเหงื่อไคล คือกิเลสของสัตว์ทั้งหลาย เหมือนกับน้ำ
ย่อมให้ได้สมบัติอันประเสริฐทั้งปวง เหมือนกับแก้วมณีโชติ

ย่อมทำให้ข้ามแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๔ เหมือนกับเรือ
ย่อมพาข้ามที่กันดาร คือการเกิด เหมือนกับนายเกวียน
ย่อมดับไฟ ๓ กองของสัตว์ทั้งหลาย เหมือนกับลม
ย่อมทำให้ความปรารถนาของสัตว์ทั้งหลายเต็มบริบูรณ์ เหมือนกับฝนห่าใหญ่ที่ตกลงมา

ย่อมให้สัตว์ทั้งหลายศึกษาสิ่งที่เป็นกุศล เหมือนอาจารย์
ย่อมบอกทางปลอดภัยให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เหมือนกับผู้นอกทิศบอกทาง


สมเด็จพระพิชิตมารผู้มีพระคุณมาก มีพระคุณเป็นเอนก มีพระคุณหาประมาณมิได้ เต็มไปด้วยกองพระคุณ เป็นผู้ทำความเจริญให้แก่สัตว์ทั้งหลายอย่างนี้ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไม่ให้ทำลายตัวเอง ด้วยทรงพระมหากรุณาว่า อย่าให้ผู้มีศีลพินาศไป พระกุมารกัสสปเถระ ผู้แสดงธรรมได้อย่างวิจิตร เมื่อจะแสดงโลกหน้าถวายแก่ พระเจ้าปายาสิ ได้กล่าวไว้ว่า

" สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีลธรรมอันงาม อยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน ด้วยอาการใด ๆ ก็ตาม ก็มีแต่ปฏิบัติเพื่อให้เป็นประโยชน์สุขแก่สัตวโลกทั้งหลาย ด้วยอาการนั้น ๆ "

แต่เพราะเหตุไร สมเด็จพระจอมไตรจึงทรงแสดงว่า
" ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โศกเศร้ารำพัน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คับแค้นใจเป็นทุกข์

การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การตายของมารดาบิดา พี่น้อง บุตร ธิดา ญาติ ก็เป็นทุกข์

ความเสื่อม
ญาติ ความเกิดโรค ความเสียทรัพย์ ความเสียศีล ความเสียทิฏฐิ ราชภัย โจรภัย เวรภัย ทุพภิกขภัย อัคคีภัย อุทกภัย อุมมิภัย คือลูกคลื่น กุมภิรภัย คือจระเข้ อาวัฏฏภัย คือน้ำวน สุสุกาภัย ปลาร้าย อัตตานุวาทภัย ติเตียนตนเอง ปรานุวาทภัย ถูกผู้อื่นติเตียน อสิโลกภัย เสื่อมลาภ ปริสารัชชภัย ครั่นคร้ามในที่ประชุม ทัณฑภัย ถูกราชทัณฑ์ ทุคคติภัย ทุคติอาชีวิตภัย หาเลี้ยงชีพ มรณภัย ถึงซึ่งความตาย เหล่านี้ทั้งสิ้น เป็นทุกข์ทั้งนั้น

การถูก
ตัดมือ ตัดเท้า ตัดหู ตัดจมูก ตัดปาก การถูกถลกหนังศีรษะ แล้วเอาก้อนเหล็กแดงวางลงไป การถลกหนังทั้งตัวแล้วขัดด้วยหินหยาบ ๆ ให้ขาวเหมือนสังข์

การทำปากราหู คือเอาขอเหล็กงัดปากขึ้นแล้วจุดประทีปทิ้งเข้าไปในปากให้ไฟลุกโพลงอยู่ในปาก
การทำเปลวไฟให้สว่าง คือผู้ขี้ริ้วชุบน้ำมัน พันตลอดตัวแล้วจุดไฟ

การ
จุดนิ้วมือต่างประทีป คือเอาผ้าชุบน้ำมันพันนิ้วมือ แล้วจุดให้เหมือนประทีป
การให้นุ่งผ้าแกะ คือถลกหนังตั้งแต่คอลงไปจนถึงข้อเท้า แล้วไล่ให้วิ่ง ให้วิ่งเหยียบหนังของตัวเองไป

การให้
นุ่งผ้าเปลือกปอ คือถลกหนังตั้งแต่ศีรษะลงไปพักไว้ที่สะเอวตอนหนึ่ง ถลกจากสะเอวไปถึงข้อเท้าตอนหนึ่ง ทำให้เป็นเหมือนท่อนล่างนุ่งผ้าเปลือกปอ

การทำให้ยืนแบบแพะ คือให้คุกเข่าคุกศอกลงบนหลาวเหล็ก แล้วเสียบปักไว้กับพื้นดิน
การตกเบ็ด คือเอาเบ็ดเกี่ยวเนื้อให้ตัวดึงให้หนัง เนื้อ เอ็น ขาดออกไปทีละชิ้น ๆ

การ
ทำให้เป็นรูปเงิน คือเอามีดคม ๆ เชือดเนื้อออกไปทีละก้อน ๆ เท่ากับรูปเงินกลม ๆ
การรดด้วยน้ำแสบ คือฟันแทงให้ทั่วตัวแล้วเอาน้ำแสบน้ำเค็มรดราดลงไป จนกระทั่งหนัง เนื้อ เอ็น หลุดออกไปเหลือแต่กระดูก

การตอก
ลิ่ม คือให้นอนตะแคงลง แล้วเอาหลาวเหล็กแทงช่องหูข้างบน ให้ทะลุลงไปปักแน่นอยู่กับพื้นดินข้างล่าง แล้วจับเท้าหมุนเวียนไปรอบ ๆ
การ
ทำให้เหมือนมัดฟาง คือเชือดผิวหนังออกจนหมด ทุบกระดูกให้แตกด้วยก้อนหินแล้วจับที่ผมดึงขึ้น ผูกผมไว้ให้เหมือนกับมัดฟาง

การเอาน้ำมันเดือด ๆ เทรดตัว
การให้สุนัขกัดกิน
การปักไว้บนหลาว เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นทุกข์ใหญ่ทั้งนั้น
สัตว์โลกทั้งหลายย่อมได้รับทุกข์ต่าง ๆ อย่างที่ว่ามานี้

เมื่อ
ฝนตกลงที่ภูเขาหิมพานต์ ก็มีน้ำไหลหลั่งไปสู่แม่น้ำ พัดเอาหิน กรวด ไม้แห้ง กิ่งไม้ รากไม้ น้อยใหญ่ในป่า ให้ไหลไปฉันใด ทุกข์ต่าง ๆ เป็นอันมากอย่างที่กล่าวมานี้ ก็ไหลไปตามกระแสน้ำ คือสงสารฉันนั้น

การเวียนว่ายตายเกิดเป็นทุกข์ การไม่เวียนว่ายตายเกิดเป็นสุข เมื่อสมเด็จพระบรมสุคตจะทรงแสดงคุณการไม่เวียนว่ายตายเกิด และทรงแสดงโทษแห่งการเวียนว่ายตายเกิด จึงได้ทรงแสดงทุกข์ต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก เพื่อให้สำเร็จการไม่เวียนว่ายตายเกิด เพื่อให้พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายไป อันนี้แหละ เป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงทุกข์ไว้ต่าง ๆ ขอถวายพระพร "

" สาธุ...พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้แก้ปัญหาข้อนี้ถูกต้องดีแล้ว"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #251 เมื่อ: สิงหาคม 11, 2011, 07:29:59 am »

ปัญหาที่ ๔ ถามเกี่ยวกับอานิสงส์เมตตา

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า " เมตตาเจโตวิมุตติ " คือความหลุดพ้นแห่งจิตด้วยเมตตา อันบุคคลอบรมแล้ว ทำให้มีแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เหมือนยานพาหนะแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ตั้งไว้เนือง ๆ แล้ว สะสมไว้ดีแล้ว อบรมไว้แก่กล้าแล้ว ย่อมหวังได้อานิสงส์ ๑๑ ประการคือ

๑. นอนหลับสบาย
๒. เวลาตื่นก็สบาย
๓. ไม่ฝันลามก
๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย

๖. เทวดาทั้งหลายรักษา

๗. ไฟไม่ไหม้ ไม่ถูกพิษและอาวุธ
๘. หน้าตาเบิกบาน ใจมั่นคง
๙. สีหน้าผ่องใส
๑๐. ไม่หลงใหลในเวลาตาย
๑๑. เมื่อยังไม่สำเร็จอรหันต์ ก็ได้เกิดในพรหมโลก


แล้วมีเรื่องกล่าวไว้อีกว่า สุวรรณสาม ผู้อยู่ในเมตตา ผู้มีหมู่เนื้อเป็นบริวาร อยู่ในป่าใหญ่ ถูกพระยาปิลยักษ์ ยิงด้วยลูกศรอันอาบด้วยยาพิษ ล้มสลบอยู่ในที่นั้นทันที ดังนี้

ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอานิสงส์เมตตามีอยู่อย่างนั้นจริง เรื่องที่ว่าสุวรรณสามลูกศรพระยาปิลยักษ์นั้นก็ผิด
ถ้าเรื่องที่ว่าสุวรรณสามถูกศรพระยาปิลยักษ์ นั้นถูก ข้อที่ว่า ถึงอานิสงส์เมตตานั้นก็ผิด
ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ เป็นปัญหาละเอียดลึกซึ้ง ขอได้โปรดแก้ให้สิ้นสงสัยแก่บุคคลในภายหน้าด้วย"

พระนาคเสนแก้ไขว่า
" ขอถวายพระพร ข้อที่ว่า ด้วยอานิสงส์เมตตานั้นก็ถูก ที่ว่าสุวรรณสามถูกลูกศรพระยาปิลยักษ์นั้นก็ถูก แต่ว่าในข้อนั้นมีเหตุการณ์อยู่

เหตุการณ์นั้นคืออะไร...คือคุณอานิสงส์เหล่านั้น ไม่ใช่คุณอานิสงส์ของบุคคล เป็นคุณอานิสงส์แห่งเมตตาภาวนาต่างหาก เมื่อสุวรรณสามยกหม้อน้ำขึ้นบ่านั้น เผลอไปไม่ได้เจริญเมตตา คือในขณะใด บุคคลเจริญเมตตาอยู่ ในขณะนั้น ไฟก็ไม่ไหม้ ยาพิษก็ไม่ถูก อาวุธก็แคล้วคลาด ผู้มุ่งทำร้ายก็ไม่ได้โอกาส จึงว่าคุณเหล่านั้น เป็นคุณแห่งเมตตาภาวนา ไม่ใช่คุณแห่งบุคคล ขอจงทรงทราบด้วยอุปมาดังนี้

เปรียบประดุจบุรุษผู้แกล้วกล้า สวมเกราะแน่นหนาดีแล้วย่อมเข้าสู่สงคราม เมื่อบุรุษย่างเข้าสู่สงคราม ลูกศรที่ข้าศึกยิงมาถึงถูกก็ไม่เข้า การที่ลูกศรถูก ไม่เข้านั้น ไม่ใช่คุณความดีของผู้แกล้วกล้าในสงคราม เป็นคุณความดีของเกราะต่างหาก ข้อนี้มีอุปมาฉันใด อานิสงส์ ๑๑ อย่างนั้นก็ไม่ใช่คุณความดีของบุคคล เป็นคุณความดีของเมตตาภาวนาต่างหากฉันนั้น

อีกประการหนึ่ง เหมือนกับบุรุษมีรากยาทิพย์หายตัว ยังอยู่ในมือตราบใดก็ไม่มีใครเห็นตราบนั้น การไม่มีผู้เห็นนั้น ไม่ใช่เป็นความดีของบุรุษนั้น เป็นความดีของรากยานั้นต่างหาก "
" น่าอัศจรรย์ ! พระนาคเสน เป็นอันว่า เมตตาภาวนา ป้องกันสิ่งชั่วร้ายทั้งปวงได้ "

" ขอถวายพระพร เมตตาภาวนาย่อมนำคุณความดีทั้งสิ้นมาให้แก่บุคคลทั้งหลาย ผู้ที่ต้องการอานิสงส์เมตตา ควรเจริญเมตตา ขอถวายพระพร"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #252 เมื่อ: สิงหาคม 11, 2011, 07:54:24 am »

ปัญหาที่ ๕ ถามถึงความเสมอกันและไม่เสมอกันแห่งกุศลและอกุศล

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน วิบากของบุคคลทั้งสอง คือผู้ทำกุศลกับทำอกุศล มีผลเสมอกันหรือต่างกันอย่างไร ? "

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร ต่างกัน คือกุศลมีสุขเป็นผล ทำให้ไปเกิดในสวรรค์ อกุศลมีทุกข์เป็นผล ทำให้ไปเกิดในนรก "

พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสต่อไปว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน มีคำกล่าวไว้ว่า พระเทวทัต มีแต่ดำอย่างเดียว ประกอบด้วยความดำอย่างเดียว ส่วน พระโพธิสัตว์ มีแต่ขาวอย่างเดียว ประกอบด้วยของขาวอย่างเดียว

แต่มีกล่าวไว้อีกว่า พระเทวทัตเสมอกันกับพระโพธิสัตว์ ด้วยยศและพรรคพวกในชาติ ในนั้น ๆ ก็มี ยิ่งกว่าก็มี

อย่างเช่น คราวหนึ่ง พระเทวทัตได้เกิดเป็นบุตรปุโรหิตของพระเจ้าพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เกิดในตระกูลเทหยากเยื่อ แต่เป็นผู้มีวิชา ร่ายวิชาให้เกิดผลมะม่วงได้นอกฤดูกาล เป็นอันว่า คราวนั้น พระโพธิสัตว์ต่ำกว่าพระเทวทัตด้วยชาติตระกูล

ในคราวหนึ่ง พระเทวทัตเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระโพธิสัตว์เกิดเป็นช้างของพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้น
อีกเรื่องหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นมนุษย์ พระโพธิสัตว์เกิดเป็นวานร

อีกเรื่องหนึ่ง พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาช้างฉัททันต์ พระเทวทัตเกิดเป็นนายพรานฆ่าพญาช้างฉัททันต์นั้นเสีย
อีกเรื่องหนึ่ง พระเทวทัตเกิดเป็นพรานป่า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกกระทา

อีกเรื่องหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็น " พระเจ้ากาสี " ที่พันธุมตีนคร พระโพธิสัตว์เกิดเป็น " ขันติวาทีฤๅษี" ถูกพระเจ้ากาสีให้ตัดมือตัดเท้าเสีย
เรื่องเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า พระเทวทัตยิ่งกว่าพระโพธิสัตว์ด้วยชาติ ตระกูล ยศ ศักดิ์ บริวารก็มี และยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น

เรื่อง พระเทวทัตเกิดเป็นชีเปลือย ชื่อว่า " โกรัมภิกะ" พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญานาค ชื่อว่า " ปันทรกะ "
อีกคราวหนึ่ง พระเทวทัตเกิดเป็น " ชฎิลดาบส " พระโพธิสัตว์เกิดเป็นสุกรใหญ่

อีกชาติหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นพระราชา ผู้ทรงพระนามว่า " อุปริปราช " ผู้เที่ยวไปในอากาศได้ พระโพธิสัตว์เกิดเป็น " กบิลพราหมณ์ราชครู "
อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเกิดเป็นมนุษย์ชื่อว่า " สามะ" พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาเนื้อชื่อว่า " รุรุ"

อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเกิดเป็นนายพราน ชื่อว่า " สุสามะ " พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาช้างเผือก ถูกพระเทวทัตตามไปเลื่อยงาถึง ๗ ครั้ง
อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเกิดเป็นพญาสุนัขจิ้งจอก เป็นใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลายในชมพูทวีป ส่วนพระโพธิสัตว์เกิดเป็น " วิธุรบัณฑิต "

เรื่องเหล่านี้ทั้งสิ้น ก็ชี้ให้เห็นว่าพระเทวทัตยิ่งกว่าด้วยชาติ ตระกูล ยศ ศักดิ์ บริวาร

ที่เสมอกันก็มี คือ ชาติหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นพญาช้างฆ่าลูกนางนกไส้ พระโพธิสัตว์ก็เกิดเป็นพญาช้างอีกฝูงหนึ่งเหมือนกัน
คราวหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นยักษ์ ชื่อว่า " อธรรม " พระโพธิสัตว์ก็เกิดเป็นยักษ์เหมือนกัน ชื่อว่า " สุธรรม "

คราวหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นนายเรือเป็นใหญ่กว่าตระกูล ๕๐๐ พระโพธิสัตว์ก็เกิดเป็นนายเรือ เป็นใหญ่กว่าตระกูล ๕๐๐ เหมือนกัน

อีกคราวหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นพญาเนื้อชื่อว่า " สาขะ " พระโพธิสัตว์ก็เกิดเป็นพญาเนื้อเหมือนกันชื่อว่า " นิโครธะ "
ที่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็มี เช่น คราวหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็นปุโรหิต ชื่อว่า " กัณฑหาลพราหมณ์ " พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระราชกุมารชื่อว่า " พระจันทกุมาร "
อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเกิดเป็นหัวหน้าพ่อค้าเกวียน ๕๐๐ พระโพธิสัตว์ก็เกิดเป็นหัวหน้าพ่อค้าเกวียน ๕๐๐ เหมือนกัน

ชาติหนึ่งพระเทวทัตเกิดเป็น " อลาตเสนาบดี" พระโพธิสัตว์เกิดเป็น " นารทพรหม "
อีกคราวหนึ่ง พระเทวทัตเกิดเป็นพระราชากาสี พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระราชโอรสทรงพระนามว่า " มหาปทุมกุมาร "

อีกชาติหนึ่ง พระเทวทัตเกิดเป็นพระราชามหาตปาตะ พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระราชโอรส ถูกพระราชบิดาให้ตัดมือ เท้า และ ศีรษะเสีย
มาถึงชาติปัจจุบันนี้ บุคคลทั้งสองนั้นก็ได้มาเกิดในตระกูลศากยราชเหมือนกัน แต่พระโพธิสัตว์ได้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พระเทวทัตก็ได้ออกบวชสำเร็จฌานโลกีย์

โยมจึงสงสัยว่า ข้อที่ว่า " กุศลให้ผลเป็นสุข ทำให้เกิดในสวรรค์ อกุศลให้ผลเป็นทุกข์ทำให้เกิดในนรก กุศลและอกุศลมีผลไม่เสมอกัน"

แต่เหตุใดบางชาติพระเทวทัตก็ยิ่งกว่า บางชาติก็เสมอกัน บางชาติก็ต่ำกว่า จะว่ามีผลไม่เสมอกันอย่างไร จะว่าต่างกันอย่างไร ถ้าดำกับขาวมีคติเสมอกัน กุศลกับอกุศลก็ต้องมีคติเสมอกัน พระคุณเจ้าข้า ? "

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร กุศลกับอกุศลไม่ใช่มีผลเสมอกัน ไม่ใช่ว่าพระเทวทัตจะทำผิดต่อคนทั้งหลายเสมอไป ส่วนพระโพธิสัตว์ก็ไม่ใช่ว่าไม่ได้ทำความผิดเลย ผู้ใดทำผิดต่อพระโพธิสัตว์ผู้นั้นก็ได้รับผลร้าย

เวลาพระเทวทัตได้เกิดเป็นพระราชา ก็ได้ปกครองบ้านเมืองดี มีการให้สร้างสะพาน สร้างศาลาและสระน้ำก็มี ให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนขอทานก็มี แล้วเขาก็ได้รับสมบัติในชาตินั้น ด้วยผลแห่งบุญอันนั้น ใครไม่อาจกล่าวได้ว่า พระเทวทัตได้เสวยสมบัติด้วยไม่ได้ให้ทานรักษาศีล ฟังธรรม อบรมจิตใจเลย

ข้อที่มหาบพิตรตรัสว่า พระเทวทัตกับพระโพธิสัตว์พบกันเสมอนั้นไม่จริง ตั้งร้อยชาติ พันชาติ แสนชาติก็ไม่พบกัน นานจึงจะพบกันสักชาติหนึ่ง เหมือนกับเต่าตาบอดอยู่ในมหาสมุทร โผล่ขึ้นมาตั้งแสนครั้ง ก็ไม่พบขอนไม้สักทีก็มี
หรือเปรียบเหมือนกับการที่จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นของได้แสนยากฉะนั้น

พระสารีบุตรเถระได้เกี่ยวเนื่องกับพระโพธิสัตว์ คือเป็นบิดา เป็นปู่ เป็นอาว์ เป็นพี่ชาย น้องชาย เป็นบุตร เป็นหลาน เป็นมิตรสหาย กันกับพระโพธิสัตว์ก็มี แต่ว่าหลายแสนชาติ กว่าจะได้เกี่ยวเนื่องกันสักชาติหนึ่ง

ด้วยเหตุว่า สัตว์ทั้งหลายในวัฏสงสาร ที่ถูกกระแสสงสารพัดไป ย่อมพบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็มี พบกับสิ่งอันเป็นที่รักก็มี เหมือนกับน้ำที่ไหลบ่าไป ย่อมพบของสะอาดก็มี ไม่สะอาดก็มี ดีก็มี ไม่ดีก็มี

ฉะนั้น
พระเทวทัตคราวเกิดเป็น " อธรรมยักษ์ " ตัวเองก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ยังแนะนำผู้อื่นไม่ให้ตั้งอยู่ในธรรมอีก แล้วไปตกนรกใหญ่อยู่ถึง ๕๗ โกฏิ ๖ ล้านปี ส่วนพระโพธิสัตว์ เมื่อคราวเกิดเป็น " สุธรรมยักษ์" ตัวเองก็ตั้งอยู่ในธรรม ยังชักนำบุคคลเหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในธรรมอีก ชาตินั้นได้ขึ้นไปเสวยทิพยสมบัติอยู่ในสวรรค์ตลอด ๕๗ โกฏิ ๖ ล้านปี

มาชาติปัจจุบันนี้ พระเทวทัตก็ไม่เลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้า จนถึงกับทำสังฆเภท แล้วจมลงไปในพื้นดิน ส่วนสมเด็จพระชินสีห์ตรัสรู้ธรรมทั้งปวง แล้วก็ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงจึงควรเห็นว่า กุศลกับอกุศลให้ผลต่างกันมากขอถวายพระพร"


" สาธุ...พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าแก้ปัญหาข้อนี้ถูกต้องดีแล้ว"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #253 เมื่อ: สิงหาคม 11, 2011, 08:10:51 am »

(#269) ปัญหาที่ ๖ ถามเกี่ยวกับนางอมราเทวีของมโหสถ

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

" ถ้าสตรีทั้งปวงได้ขณะ คือ โอกาส ๑ ได้ที่ลับ ๑ ถูกเกี้ยว ๑ พร้อมด้วยองค์ ๓ นี้แล้ว ต้องทำความชั่ว ถึงไม่พบเห็นบุรุษอื่นที่ดีกว่าคนง่อยเปลี้ย ก็ต้องทำความชั่วกับคนง่อยเปลี้ย " ดังนี้

แต่มีกล่าวไว้อีกว่า " นางอมราภรรยาของมโหสถ ถูกมโหสถทิ้งไว้ที่กระท่อมยายแก่คนหนึ่ง ให้อยู่ในที่สงัดโดยลำพังแล้ว ให้บุรุษไปเล้าโลมด้วยทรัพย์ตั้งพัน ก็ไม่ยอมทำความชั่ว "
ถ้าข้อที่ตรัสไว้นั้นเป็นของจริง ข้อที่กล่าวถึงนางอมรานั้นก็ไม่จริง
ถ้าข้อที่กล่าวถึงนางอมรานั้นจริง ข้อที่ตรัสไว้นั้นก็ไม่จริง

ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ โปรดแก้ไขให้สิ้นสงสัยด้วยเถิด"

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสไว้ทั้งสองอย่างนั้นจริงทั้งนั้น แต่นางอมรานั้น ไม่ได้ขณะโอกาส ไม่ได้ที่ลับ ไม่ถูกเกี้ยว

ข้อที่ว่า นางอมราไม่ได้โอกาสนั้น คือนางอมรากลัวถูกติเตียนในโลกนี้ ๑
กลัวไฟนรกในโลกหน้า ๑
ยังไม่สละมโหสถซึ่งเป็นที่รักของตน ๑
ยังเคารพมโหสถอยู่มาก ๑

ยังเคารพธรรมอยู่มาก ๑
ยังมีนิสัยติเตียนความเลวอยู่ ๑
ไม่อยากจะทำลายความดีของตน ๑

รวมเป็นเหตุหลายอย่างด้วยกัน ดังนี้จึงเรียกว่าไม่ได้โอกาส

ข้อที่ว่า ไม่ได้ที่ลับนั้น คือนางอมราเห็นว่าถึงมนุษย์ไม่เห็น อมนุษย์ก็ต้องเห็น ถ้าอมนุษย์ไม่เห็น ผู้รู้จักจิตใจของผู้อื่นก็ต้องเห็น ถ้าผู้รู้จิตใจของผู้อื่นไม่เห็น ตัวเองก็ต้องเห็น นึกอยู่อย่างนี้ จึงไม่ทำความชั่วในคราวนั้น

ข้อที่ว่า ไม่ถูกเกี้ยวนั้น คือถูกเกี้ยวก็จริง แต่ว่าเหมือนกับไม่ถูกเกี้ยว เพราะนางอมรานึกเกรงความดีของ มโหสถอยู่มาก นางรู้ว่ามโหสถเป็นเจ้าปัญญา ประกอบด้วยองค์คุณถึง ๒๘ ประการคือ

เป็นผู้แกล้วกล้า ๑
เป็นผู้มีความละอายต่อความชั่ว ๑
เป็นผู้กลัวความชั่ว ๑
มีพรรคพวก ๑
มีมิตรสหาย ๑

อดทน ๑
มีศีล ๑
พูดจริง ๑
มีความบริสุทธิ์ ๑
ไม่ขี้โกรธ ๑

ไม่ถือตัว ๑
ไม่ริษยา ๑
มีความเพียร ๑
รู้จักหาทรัพย์ ๑
รู้จักยึดเหนี่ยวน้ำใจผู้อื่น ๑

ชอบแบ่งปัน ๑
มีวาจาไพเราะ ๑
รู้จักเคารพยำเกรง ๑
เป็นคนอ่อนโยน ๑
ไม่โอ้อวด ๑

ไม่มีมารยา ๑
มีความคิดดีมาก ๑
มีวิชาดีมาก ๑
มีชื่อเสียง ๑
เกื้อกูลผู้อาศัย ๑

เป็นที่พอใจของคนทั้งปวง ๑
มีทรัพย์ ๑
มียศ ๑

นางอมราเห็นว่าผู้ที่มาเกี้ยวนั้นสู้ พระมโหสถไม่ได้ จึงไม่ยอมทำความชั่ว ดังนี้ ขอถวายพระพร "
" สาธุ...พระนาคเสน คำแก้ของพระผู้เป็นเจ้านี้ ถูกต้องดีแล้ว"

(ต่อที่ #270 :http://agaligohome.com/index.php?topic=205.270)

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #254 เมื่อ: สิงหาคม 17, 2011, 02:22:43 pm »

ปัญหาที่ ๗ ถามถึงความไม่กลัวแห่งพระขีณาสพ

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
" พระอรหันต์ทั้งหลายหมดความสะดุ้งกลัว หมดความหวังต่อสิ่งใด ๆ แล้ว " ดังนี้

แต่มีกล่าวไว้อีกว่า
" พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ได้เห็นช้างธนบาล ( พระเทวทัตปล่อยมา ) วิ่งตรงมาข้างหน้าก็พากันสละพระพุทธเจ้าแยกกันไปคนละทิศละทาง ยังเหลือแต่ พระอานนท์ องค์เดียวเท่านั้น "

จึงขอถามว่า พระอรหันต์เหล่านั้นหลีกไปเพราะความกลัว ด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้าจะปรากฏด้วยกรรมของพระองค์เอง หรืออยากเห็นพระปาฏิหาริย์อันชั่งไม่ได้ อันไพบูลย์อันไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ ของพระตถาคตเจ้าหรือย่างไร...

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าคำว่า " พระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีความกลัว ความสะดุ้ง ความหวัง " จริงแล้ว ข้อที่ว่า " พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์เห็นช้างวิ่งตรงมา ก็ทิ้งพระพุทธเจ้าเสียวิ่งไปองค์ละทิศละทาง ยังเหลือแต่พระอานนท์องค์เดียวเท่านั้น " ก็ผิด

ถ้าว่าข้อนี้ถูก ข้อที่ว่า " พระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่มีความกลัว ไม่มีความสะดุ้ง ไม่มีความหวังต่อสิ่งทั้งปวงนั้น" ก็ผิด
ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ โปรดแก้ไขให้สิ้นสงสัยเถิด"

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร คำทั้งสองนั้นจริงทั้งนั้น ก็แต่ว่าการที่ทิ้งพระพุทธองค์ไปนั้น ไม่ใช่เพราะความกลัว เพราะเหตุที่ให้กลัวนั้น พระอรหันต์ตัดขาดไปสิ้นแล้ว ขอถวายพระพร ปฐพีใหญ่นี้ เมื่อถูกขุดหรือถูกทำลาย หรือรองรับไว้ซึ่งทะเล และภูเขาต่าง ๆ นั้น รู้จักกลัวหรือไม่? "
" ไม่รู้จักกลัว พระผู้เป็นเจ้า "

" เพราะอะไร มหาบพิตร? "
" เพราะเหตุที่ให้กลัวหรือสะดุ้งนั้น ไม่มีแก่ปฐพีใหญ่นี้"

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เหตุที่ให้กลัวหรือสะดุ้ง ก็ไม่มีแก่พระอรหันต์ทั้งหลายอนึ่ง ยอดภูเขาเวลาถูกทำลาย หรือถูกตี ถูกเผาด้วยไฟ รู้จักกลัวหรือไม่ ? "
" ไม่รู้จักกลัว พระผู้เป็นเจ้า "

" เพราะอะไร มหาบพิตร ? "
" เพราะยอดภูเขานั้นไม่มีเหตุที่จะให้กลัวหรือสะดุ้ง"

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พระอรหันต์ทั้งหลายก็ไม่มีเหตุที่ให้กลัว ให้สะดุ้ง ถึงสัตว์โลกทั้งหลายในแสนโลกธาตุ จะถืออาวุธมาล้อมพระอรหันต์องค์เดียว ก็ไม่อาจทำจิตของพระอรหันต์ให้สะดุ้งกลัวได้

ก็แต่ว่าพระอรหันต์ทั้งหลายในคราวนั้นได้นึกว่า วันนี้ เมื่อพระพุทธองค์ผู้ประเสริฐกว่าเทพยดามนุษย์ทั้งหลาย เสด็จเข้าสู่เมืองนี้ ช้างธนบาลก็วิ่งตรงมา พระอานนท์ผู้เป็นอุปฏฐาก ก็จะไม่สละพระพุทธองค์ ถ้าพวกเราไม่สละพระพุทธองค์ไป คุณของพระอานนท์ก็จะไม่ปรากฏ เหตุที่จะให้ทรงแสดงธรรมก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อพวกเราสละไป มหาชนหมู่ใหญ่ที่ได้ฟังธรรมแล้ว ก็จักพ้นจากกิเลสเป็นอันมาก คุณของพระอานนท์ก็จะปรากฏ พระอรหันต์ทั้งหลายนั้น เล็งเห็นอานิสงส์อย่างนี้ จึงได้แยกไปองค์ละทิศองค์ละทาง ขอถวายพระพร "

" สาธุ...พระนาคเสน โยมรับว่า ความกลัวหรือความสะดุ้ง ไม่มีแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #255 เมื่อ: สิงหาคม 17, 2011, 02:34:07 pm »

ปัญหาที่ ๘ ถามคุณและโทษแห่งสันถวไมตรี
ปัญหาข้อนี้ซ้ำกับปัญหาที่ ๖ เมณฑกปัญหา วรรคที่ ๔

ปัญหาที่ ๙ ถามถึงเรื่องผู้ควรแก่การขอ
ปัญหาข้อนี้ซ้ำกับปัญหาที่ ๑๐ เมณฑกปัญหา วรรคที่ ๔



ปัญหาที่ ๑๐ ว่าด้วยมรรคเป็นของเก่าหรือใหม่
(เป็นสำนวนแปลของนายยิ้ม ปัณฑยางกูร
จากหนังสือ "ปัญหาพระยามิลินท์" ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธพจน์มีอยู่ว่า เราตถาคตเป็นผู้ยังมรรคที่ยังไม่ได้เกิดให้เกิดขึ้นแล้ว ฉะนี้มิใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร มีอยู่เช่นนั้น

ม. ก็ถ้าเช่นนั้น จะมิแย้งกับพระพุทธพจน์ที่ว่า เราตถาคตได้เห็นมรรคของเก่า ทางของเก่า อันพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อนเสด็จดำเนินมาแล้ว ฉะนี้หรือ

น. ขอถวายพระพร ไม่แย้ง เพราะว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อน เสด็จเข้านิพพานไปแล้ว ศาสนาก็อันตรธานเสื่อมสูญไป โดยไม่มีใครสั่งสอนและปฏิบัติกันสืบมา เมื่อเป็นเช่นนั้น มรรคคือหนทางที่พระพุทธเจ้านั้น ๆ ได้เสด็จดำเนินมา ก็เลอะเลือนเสื่อมสูญไป ครั้นมาถึงวาระที่พระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงอุบัติขึ้น มรรคคือหนทางอย่างเดียวกับของเก่านั้น ก็เกิดขึ้นมาด้วย เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เราตถาคตเป็นผู้ยังมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นแล้ว ขอถวายพระพร ความข้อนี้เปรียบเหมือนหนทางที่กรุยและปราบเรียบร้อยแล้วต่อมาปล่อยให้รก เดินไม่ได้ ภายหลังมีผู้ทำให้เตียนขึ้นได้อีก ฉะนั้น

ม. เธอฉลาดว่า

จบวรรคที่ ๕

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #256 เมื่อ: สิงหาคม 17, 2011, 02:54:08 pm »

วรรคที่ ๖

ปัญหาที่ ๑ ถามถึงโทษแห่งปฏิปทา

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า "ข้าแต่พระนาคเสน นับแต่พระโพธิสัตว์เจ้าได้ทำทุกกรกิริยาแล้วมา ก็ไม่ได้ทำความเพียรสู้รบกับกิเลส กำจัดเสนามัจจุ กำหนดอาหาร ในที่อื่นอีก ในการทำความเพียรยิ่งใหญ่อย่างนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าก็ไม่ได้ความดีใจอย่างใด จึงได้ทรงเปลี่ยนความคิดอย่างนั้นเสีย แล้วได้ตรัสไว้ว่า

" เราไม่ได้สำเร็จความรู้ความเห็นพิเศษอันเป็นของพระอริยะ อันยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ธรรมดา ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้เลย ทางตรัสรู้ทางอื่นเห็นจะมี "

ทรงดำริดังนี้แล้ว ก็เลิกทุกกรกิริยานั้นเสีย แล้วได้สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณด้วยทางอื่น แล้วทรงแนะนำสั่งสอนพวกสาวกด้วยปฏิปทานั้นอีกว่า
" เธอทั้งหลาย จงทำความเพียร จงประกอบในพระพุทธศาสนา จงกำจัดเสนามัจจุ เหมือนช้างหักไม้อ้อฉะนั้น " ดังนี้
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระตถาคตเจ้าทรงเบื่อหน่ายในปฏิปทาใดแล้ว เหตุไรจึงทรงชักนำพวกสาวกในปฏิปทานั้น ? "

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร ในคราวนั้นก็ดี ในบัดนี้ก็ดี ปฏิปทานั้นก็คงเป็นปฏิปทานั้นเอง พระโพธิสัตว์เจ้าปฏิบัติตามปฏิปทานั้นแล้ว จึงสำเร็จความเป็นพระสัพพัญญู ในเมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าทรงทำความเพียรอันยิ่ง ก็ได้ตัดอาหารไม่ให้เหลือ เมื่อตัดอาหารหมดแล้ว ก็หมดกำลังใจ เมื่อหมดกำลังใจ ก็ไม่อาจสำเร็จความเป็นพระสัพพัญญูได้ เมื่อทรงเสวยอาหารที่เป็นคำ ๆ ตามสมควร ไม่ช้าก็ได้สำเร็จความเป็นพระสัพพัญญูด้วยปฏิปทานั้น ปฏิปทานั้นแหละ ทำให้ได้พระสัพพัญญุตญาณ แก่พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย เหมือนกับอาหารอันให้ความสุขสำราญแก่สัตว์ทั้งหลายฉันนั้น

องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ไม่ได้สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณในขณะนั้นด้วยสิ่งใดสิ่งนั้นไม่ใช่โทษแห่งการทำความเพียร ไม่ใช่โทษแห่งการสู้รบกับกิเลส เป็นโทษแห่งการตัดอาหารเท่านั้น ปฏิปทานั้นเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ บุรุษเดินทางไกลด้วยความรีบร้อนจะต้องเสียกำลังแข้งขา หรือเป็นง่อยเปลี้ยเดินไปมาไม่ได้ การที่เดินไปมาไม่ได้นั้น จะว่าเป็นโทษแห่งแผ่นดินอย่างนั้นหรือ...มหาบพิตร ?"

" ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า แผ่นดินอันใหญ่นี้ย่อมมีประจำอยู่ทุกเมื่อ การที่บุรุษนั้นเสียกำลังแข้งขาจนเดินไม่ได้นั้น ไม่ใช่เป็นโทษแห่งแผ่นดิน เป็นโทษแห่งความพยายามต่างหาก "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร การที่สมเด็จพระพิชิตมาร ไม่สำเร็จสัพญญุตญาณในขณะนั้น ไม่ใช่เป็นโทษแห่งความเพียร ไม่ใช่เป็นโทษแห่งการสู้รบกิเลส เป็นโทษแห่งการขาดอาหารต่างหาก ปฏิปทานั้นมีอยู่ทุกเมื่อ

อีกอย่างหนึ่ง
บุรุษนุ่งผ้าที่เศร้าหมองไม่รู้จักซัก ปล่อยให้เศร้าหมองอยู่นั่นเอง การที่ผ้าเศร้าหมองนั้น ไม่ใช่เป็นโทษแห่งน้ำ น้ำมีอยู่ทุกเมื่อ เป็นโทษแห่งบุรุษนั้นต่างหากฉันใด การที่พระโพธิสัตว์ไม่สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณ ในขณะที่บำเพ็ญทุกกรกิริยานั้นไม่ใช่เป็นโทษแห่งความเพียร ไม่ใช่เป็นโทษแห่งการสู้รบกับกิเลส เป็นโทษแห่งการขาดอาหารต่างหากฉันนั้น


ปฏิปทานั้นมีอยู่ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้น สมเด็จพระภควันต์จึงทรงสั่งสอนชักชวนพวกสาวก ด้วยปฏิปทานั้น ปฏิปทานั้นเป็นของดีไม่มีโทษ เป็นของมีอยู่อย่างนั้นแหละ มหาบพิตร "

" ข้าแต่พระนาคเสน ข้อนี้พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #257 เมื่อ: สิงหาคม 17, 2011, 03:08:12 pm »


ปัญหาที่ ๒ ถามถึงธรรมที่ไม่ให้เนิ่นช้า

"ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า " ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีเครื่องไม่เนิ่นช้าเป็นที่มายินดี จงยินดีในเครื่องไม่เนิ่นช้า " ดังนี้ โยมขอถามว่า เครื่องไม่เนิ่นช้านั้นได้แก่อะไร?"

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร เครื่องไม่เนิ่นช้าได้แก่ โสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล อรหัตผล "

พระเจ้ามิลินท์ซักถามต่อไปว่า
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าโสดาปัตติผลตลอดถึงอรหัตผลเป็นเครื่องไม่เนิ่นช้าแล้ว เหตุใดภิกษุทั้งหลายจึงเล่าเรียนสอบถามซึ่งพระพุทธวจนะมีองค์ ๙ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อติวุตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ( รวมเรียกพระไตรปิฎก ) อยู่ และยังเกี่ยวข้องอยู่กับ นวกรรม คือการก่อสร้าง และเกี่ยวข้องอยู่กับทาน การบูชา ภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่ากระทำกรรมที่ทรงห้ามไม่ใช่หรือ? "

พระนาคเสนชี้แจงว่า
" ขอถวายพระพร ภิกษุเหล่าใดยังเล่าเรียนสอบถามอยู่ ยังเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอยู่ ยังเกี่ยวข้องกับทานอยู่ เกี่ยวข้องกับการบูชาอยู่ ภิกษุเหล่านั้นทั้งสิ้น ชื่อว่า กระทำเพื่อถึงเครื่องไม่เนิ่นช้าทั้งนั้น ขอถวายพระพร

ภิกษุเหล่านั้นได้บริสุทธิ์ตามสภาพอยู่แล้ว มีวาสนาบารมีอันได้อบรมไว้ในปางก่อนมาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ไม่มีเครื่องเนิ่นช้า ด้วยขณะแห่งจิตดวงเดียว ( ได้บรรลุมรรคผลในชั่วขณะจิตเดียว) ส่วนภิกษุเหล่าใด ยังเป็นผู้ศึกษาอยู่ ภิกษุเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ไม่มีเครื่องเนิ่นช้าด้วยประโยค คือยังต้องบำเพ็ญบารมีด้วยสิ่งเหล่านี้อยู่ เนื้อความข้อนี้ควรทราบด้วยอุปมา

คือสมมุติว่ามีบุรุษชาวนาผู้หนึ่ง หว่านพืชลงในนาแล้ว ก็เก็บผลแห่งพืชข้าว ได้ด้วยกำลังและความเพียรของตน โดยไม่ต้องล้อมรั้วก็มีบุรุษอีกคนหนึ่ง หว่านพืชลงในนาแล้ว ต้องเข้าป่าตัดเอากิ่งไม้ ใบไม้ และหลักรั้ว มาทำรั้วจึงได้ผลแห่งพืชข้าว การแสวงหาเครื่องล้อมรั้วนั้น ก็เพื่อพืชข้าวฉันใด

ภิกษุเหล่าใดบริสุทธิ์อยู่ตามสภาพแล้ว ได้อบรมวาสนาบารมีไว้ในปางก่อนแล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็เป็นผู้ไม่มีเครื่องเนิ่นช้า ด้วยขณะจิตเดียว เปรียบเหมือนบุรุษที่ได้ข้าวด้วยไม่ต้องล้อมรั้วฉะนั้น

ส่วนภิกษุเหล่าใดยังศึกษาอยู่ ภิกษุเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ชื่อว่าไม่เนิ่นช้า ด้วยการบำเพ็ญบารมีสิ่งเหล่านี้ เหมือนกับบุรุษที่ล้อมรั้ว แล้วจึงได้ข้าวฉะนั้น

อีกประการหนึ่ง ขั้วผลไม้ย่อมอยู่บนยอดต้นไม้ใหญ่ มีผู้มีฤทธิ์คนใดคนหนึ่ง มาถึงต้นไม้ใหญ่นั้น ก็นำเอาผลไม้นั้นไปได้ทีเดียว ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นผู้ไม่มีฤทธิ์ เมื่อมาถึงต้นไม้นั้นแล้ว ต้องหาตัดไม้และเถาวัลย์มาผูกเป็นพะอง พาดขึ้นต้นไม้ใหญ่นั้น จึงจะเก็บเอาผลไปได้

การที่บุรุษนั้นหาไม้มาทำพะอง ก็เพื่อต้องการผลไม้ฉันใด ภิกษุเหล่าใดบริสุทธิ์อยู่ตามสภาพแล้ว ได้อบรมวาสนาบารมีแล้วภิกษุเหล่านั้นก็เป็นผู้ไม่เนิ่นช้า คือสำเร็จได้ด้วยขณะจิตเดียวเท่านั้น เปรียบเหมือนผู้มีฤทธิ์นำผลไม้นั้นไปได้ฉะนั้น

ส่วนพวกที่ยังศึกษาอยู่ ก็ย่อมสำเร็จมรรคผล ด้วยการบำเพ็ญบารมีสิ่งเหล่านี้เหมือนกับบุรุษนำผลไม้ไปได้ ด้วยอาศัยมีพะองพาดขึ้นไปฉะนั้น

อีกอย่างหนึ่ง เหมือนกับผู้จะทำประโยชน์คนหนึ่งมีความเข้าใจดี ก็ทำให้สำเร็จได้โดยลำพังผู้เดียว อีกคนหนึ่งเป็นคนมีทรัพย์ แต่ไม่เข้าใจดี ต้องจ้างคนอื่นให้ช่วยทำจึงสำเร็จได้ การที่บุรุษนั้นมีทรัพย์ จ้างคนอื่นก็เพื่อกิจธุระนั้นฉันใด พวกใดที่บริสุทธิ์ตามสภาพแล้วได้อบรมวาสนาบารมีไว้ในปางก่อนแล้ว พวกนั้นก็ได้สำเร็จอภิญญา ๖ ด้วยขณะจิตเดียว เปรียบเหมือนบุรุษสำเร็จประโยชน์โดยลำพังผู้เดียวฉะนั้น ส่วนพวกใดยังศึกษาอยู่ พวกนั้นย่อมสำเร็จอริยสัจ ด้วยการบำเพ็ญบารมีสิ่งเหล่านี้เหมือนกับบุรุษผู้ให้สำเร็จประโยชน์ ด้วยเอาทรัพย์จ้างผู้อื่นฉะนั้น "

" ข้าแต่พระนาคเสน ปัญหาข้อนี้ พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว โยมขอรับทราบว่าถูกต้องดีแท้ "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #258 เมื่อ: สิงหาคม 17, 2011, 03:21:16 pm »

ปัญหาที่ ๓ ถามถึงความเป็นพระอรหันต์แห่งคฤหัสถ์

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า

" ข้าแต่พระนาคเสน มีคำกล่าวไว้ว่า " คฤหัสถ์ผู้สำเร็จอรหันต์แล้ว ย่อมมีคติ ๒ ประการ คือบรรพชาในวันนั้น ๑ ปรินิพพานในวันนั้น ๑ ไม่อาจเลยวันนั้นไปได้ " ดังนี้

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าในวันนั้น ไม่ได้อาจารย์ หรืออุปัชฌาย์ หรือบาตร จีวร ผู้สำเร็จอรหันต์แล้วนั้นจะบรรพชาเอง หรือเลยวันนั้นไป หรือมีพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์องค์ใดองค์หนึ่งมาให้บรรพชา จะได้หรือไม่ หรือต้องปรินิพพานไป ? "

พระนาคเสนตอบว่า

" ขอถวายพระพร พระอรหันต์ทั้งบรรพชาเองไม่ได้ ถ้าบรรพชาเองก็ชื่อว่า " ไถยสังวาส "  และเลยวันนั้นไปก็ไม่ได้ จะมีพระอรหันต์องค์อื่นมาหรือไม่มีก็ตาม ก็ต้องปรินิพพานในวันนั้น"

" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้นความเป็นพระอรหันต์ ก็ทำให้สิ้นชีวิตน่ะซิ "

" ขอถวายพระพร คฤหัสถ์ถึงสำเร็จอรหันต์แล้วต้องบรรพชา หรือปรินิพพานในวันนั้น เพราะเพศคฤหัสถ์ไม่มีกำลังพอ ข้อที่สิ้นชีวิตไปนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะโทษแห่งความเป็นพระอรหันต์ เป็นเพราะโทษแห่งคฤหัสถ์ ไม่มีกำลังพอต่างหาก ขอถวายพระพร

ธรรมดาโภชนาหารย่อมรักษาอายุ รักษาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายไว้ แต่ว่าโภชนาหารนั้น ย่อมทำให้สิ้นชีวิตได้ด้วยไฟย่อยอาหารไม่พอ การสิ้นชีวิตนั้นไม่ใช่เป็นโทษแห่งอาหารนั้น เป็นโทษแห่งไฟย่อยอาหารไม่พอฉันใด การที่คฤหัสถ์ผู้ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้วต้องบรรพชาหรือปรินิพพานในวันนั้น ข้อนั้นไม่ใช่เป็นโทษแห่งความเป็นพระอรหันต์ เป็นโทษแห่งเพศคฤหัสถ์มีกำลังไม่พอฉันนั้น

อีกประการหนึ่ง เหมือนกับบุคคลยกเอาก้อนศิลาหนัก ๆ วางลงบนฟ่อนหญ้าเล็ก ๆ ฟ่อนหญ้าเล็ก ๆ นั้น ก็ต้องจมลงไปเพราะกำลังไม่พอฉันใด ข้อนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น

อีกอย่างหนึ่ง เหมือนบุรุษผู้มีบุญน้อยเมื่อได้ราชสมบัติอันใหญ่แล้ว ก็ไม่อาจรักษาความเป็นอิสระไว้ได้ฉันใด คฤหัสถ์ผู้ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่อาจรับรองความเป็นอรหันต์ไว้ได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องบรรพชาหรือปรินิพพานในวันนั้น ขอถวายพระพร "

" ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #259 เมื่อ: สิงหาคม 25, 2011, 10:52:47 am »

  ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องโลมกัสสปฤๅษี

   " ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
   " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราเป็นมนุษย์อยู่เมื่อก่อน เราไม่ชอบเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย " ดังนี้

   แต่คราวเสวยพระชาติเป็น โลมกัสสปฤๅษี ได้เห็นนางจันทวดี ก็ได้ฆ่าสัตว์หลายร้อยบูชายัญ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าข้อว่า " ไม่เคยเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย " เป็นของถูก ข้อว่า " ฆ่าสัตว์บูชายัญด้วยครั้งเป็นโลมกัสสปฤๅษี " ก็ผิดไป

   ถ้าข้อว่า " เป็นโลมกัสสปฤๅษีได้ฆ่าสัตว์บูชายัญ " นั้นถูก ข้อว่า " ไม่เคยเบียดเบียนสัตว์ " นั้นก็ผิด
   ปัญหาข้อนี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ แก้ได้ยากโปรดแก้ให้สิ้นสงสัยด้วยเถิด "

   พระนาคเสนจึงตอบว่า
   " ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสว่า " เมื่อเราเป็นมนุษย์อยู่ชาติก่อน เราไม่ได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย " นั้นก็ถูก ข้อว่า " ครั้งเป็นโลมกัสสปฤๅษีได้ฆ่าสัตว์หลายร้อยบูชายัญ " นั้นก็ถูก ก็แต่ว่าข้อนั้น เป็นด้วยอำนาจราคะ รักใคร่หลงใหลในนางจันทวดี หาได้มีเจตนาแกล้งฆ่าสัตว์ให้ตายไม่ "

   " ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลย่อมฆ่าผู้อื่นด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ ด้วยอำนาจราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ มานะ ๑ โลภะ ๑ ชีวิต ๑ ความโง่เขลา ๑ ตามบทบัญญัติ ๑ ส่วนโลมกัสสปฤๅษีกระทำนั้น เป็นการกระทำปกติ "

   " ขอถวายพระพร ไม่ใช่เป็นการกระทำปกติ ถ้าโลมกัสสปฤๅษีน้อมใจลงไป เพื่อจะบูชายัญใหญ่ตามสภาวะปกติ ไม่ใช่ด้วยปัญญาก็คงไม่กล่าวไว้ว่า
   " บุคคลไม่ควรต้องการแผ่นดิน อันมีสมุทรเป็นขอบเขต มีสาครเป็นกุณฑล พร้อมกับการนินทา ดูก่อนเสยหะอำมาตย์ เธอจงรู้อย่างนี้เถิด..." ดังนี้ ขอถวายพระพร

   โลมกัสสปฤๅษีผู้พูดอย่างนี้ แต่พอได้เห็นพระนางจันทวดีก็เสียสติหลงใหล ได้ฆ่าสัตว์บูชายัญด้วยความเสียสติ ขอถวายพระพร ธรรมดาคนเสียสติคือคนบ้า ย่อมเหยียบไฟก็ได้ กินยาพิษก็ได้ วิ่งเข้าหาช้างตกมันก็ได้ แล่นลงไปสู่ทะเลที่ไม่ใช่ท่าก็ได้ ตกน้ำครำก็ได้ เหยียบหนามเหยียบตอก็ได้ กระโดดลงจากภูเขาก็ได้ กินของน่าเกลียดโสโครกก็ได้ เปลือยกายเดินไปตามถนนก็ได้ ทำสิ่งที่ไม่ควรทำได้ต่าง ๆ ฉันใด โลมกัสสปฤๅษีก็เสียสติ จึงได้ฆ่าสัตว์บูชายัญในคราวนั้น บาปที่คนบ้าทำ ย่อมไม่มีโทษ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาตมภาพขอถามว่า ถ้ามีคนบ้าทำผิด จะทรงลงโทษหรือไม่ ? "
   " ไม่ลงโทษ พระผู้เป็นเจ้า เพียงแต่ให้ไล่ตีให้หนีไปเท่านั้น "

   " ขอถวายพระพร ความผิดย่อมไม่มีแก่คนบ้าฉันใด โลมกัสสปฤๅษีก็ไม่มีความผิดในการฆ่าสัตว์บูชายัญ เพราะความเป็นบ้าในคราวนั้น พอจิตเป็นปกติขึ้น ก็ได้สำเร็จอภิญญา ๕ อีก แล้วได้ขึ้นไปเกิดในพรหมโลกขอถวายพระพร "

   " ข้าแต่พระนาคเสน ปัญหาข้อนี้ พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขถูกต้องดีแล้ว "