ผู้เขียน หัวข้อ: มิลินทปัญหา  (อ่าน 107278 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ต๊ะติ้งโหน่ง

  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • ***
  • กระทู้: 259
  • พลังกัลยาณมิตร 76
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #300 เมื่อ: ตุลาคม 21, 2011, 07:52:02 am »
 :25: :25: :25:

ปาฎิหารย์ของพระอรหันต์   เป็นเพราะเทวดาแลมนุษย์ บันดาลอ่า

บัณฑิตย่อมรู้จริง  ไม่งมงาย อ่า




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #301 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2011, 07:04:29 am »

ปัญหาที่ ๓ ถามถึงการสำเร็จธรรมของบุคคล

" ข้าแต่พระนาคเสน พวกที่ปฏิบัติชอบได้ธรรมาภิสมัยเหมือนกันทั้งนั้นหรือ? "
" ขอถวายพระพร บางพวกก็ได้ บางพวกก็ไม่ได้ "
" ใครได้ ใครไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ? "
" ขอถวายพระพร พวกที่ไม่ได้นั้น มีอยู่หลายจำพวกด้วยกัน คือ

เดรัจฉาน ๑
เปรต ๑
มิจฉาทิฏฐิ ๑
ผู้ลวงโลก ๑

ผู้ฆ่ามารดา ๑
ผู้ฆ่าบิดา ๑
ผู้ฆ่าพระอรหันต์ ๑
ผู้ทำสังฆเภท ๑ ( ทำสงฆ์ให้แตกกัน )

ผู้ทำโลหิตุปบาท ๑ ( ทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต )
ผู้เป็นไถยสังวาส ๑
ผู้ไปเข้ารีตเดียรถีย์ ๑
ผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณี ๑

ผู้มีอาบัติสังฆาทิเสสติดตัว ๑
บัณเฑาะก์ ๑ (กระเทย)
อุภโตพยัญชนก ๑ ( คนสองเพศ )
เด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบ ๑
พวกเหล่านี้ถึงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ธรรมาภิสมัย"

พระเจ้ามิลินท์ตรัสแย้งว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน บุคคล ๑๕ จำพวกเบื้องต้น เป็นพวกทำผิด จะได้ธรรมาภิสมัยหรือไม่ก็ช่างเถอะ แต่จำพวกที่ ๑๖ คือเด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบนี้แหละเป็นปัญหา เพราะเด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบ ยังไม่มีราคะ โทสะ โมหะ มานะ มิจฉาทิฏฐิ อรติกามวิตกอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรมดาผู้ที่ห่างไกลจากิเลส สมควรจะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจ ๔ ไม่ใช่หรือ ? "

พระนาคเสนอธิบายว่า
" ขอถวายพระพร ข้อนี้ขอจงทรงฟังเหตุผล คือถ้าเด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบ รู้จักเกิดราคะ โทสะ โมหะ รู้จักมัวเมาในสิ่งที่ควรมัวเมา รู้จักยินดี ไม่ยินดี รู้จักนึกถึงกุศลอกุศล ก็จักมีธรรมาภิสมัยได้ แต่เด็กอายุต่ำกว่า ๗ ขวบนั้น จิตมีกำลังน้อย ส่วนพระนิพพานเป็นของใหญ่ ของหนัก จึงไม่อาจรู้แจ้งแทงตลอดนิพพานได้ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังน้อย ไม่อาจยกภูเขาสิเนรุราชได้ฉันนั้น หรือเปรียบเหมือนหยาดน้ำอันเล็กน้อย ไม่อาจซึมไปทั่วแผ่นดินใหญ่ได้ หรือเปรียบเหมือนเปลวไฟเล็กน้อยไม่อาจทำให้สว่างทั่วโลกได้ หรือเปรียบเหมือนตัวหนอนไม่อาจกลืนช้างได้ฉะนั้น "

" ข้าแต่พระนาคเสน ตามที่พระผู้เป็นเจ้าแก้มานี้ โยมเข้าใจดีแล้ว"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #302 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2011, 07:13:04 am »

ปัญหาที่ ๔ ถามถึงความไม่เจือทุกข์แห่งพระนิพพาน

" ข้าแต่พระนาคเสน นิพพานมีสุขอย่างเดียว หรือมีทุกข์เจือปน? "
" ขอถวายพระพร นิพพานมีสุขอย่างเดียวไม่มีทุกข์เจือปนเลย"

พระเจ้ามิลินท์ตรัสแย้งว่า
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมไม่เชื่อว่านิพพานมีสุขอย่างเดียว โยมเชื่อว่า นิพพานเจือทุกข์ ที่ว่านิพพานเจือทุกข์เพราะมีเหตุอยู่
คือพวกแสวงหานิพพาน ย่อมเดือดร้อนกายใจมีการกำหนดซึ่งการยืน การเดิน การนั่ง การนอน และอาหาร อดหลับอดนอน มีการบีบคั้นอายตนะ มีการสละทรัพย์ ญาติมิตรสหายที่รัก
ส่วนพวกที่หาความสุขในทางโลก ย่อมได้รื่นเริงบันเทิงใจด้วยกามคุณ ๕ คือตาก็ได้เห็นรูปที่สวยงาม หูก็ได้ฟังเสียงเพราะ ๆ จมูกก็ได้สูดดมกลิ่นหอม ๆ ลิ้นก็ได้รับรสอร่อย กายก็ได้ถูกต้องสัมผัสที่ให้เกิดความสุข ใจก็นึกถึงแต่อารมณ์ที่ให้เกิดความสุข
ผู้ละสิ่งที่ชอบอย่างไรก็ตาม จะให้เกิดความสุขทางตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ เสียแล้ว ย่อมได้รับแต่ความทุกข์ทางกายทางใจ
มาคันทิยปริพาชก ได้ติเตียนสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า " พระสมณโคดม เป็นผู้กำจัดความเจริญ " ดังนี้ไม่ใช่หรือ เหตุอันนี้แหละ โยมจึงกล่าวว่า นิพพานเจือทุกข์ "

พระนาคเสนถวายพระพรว่า
" ดูก่อนมหาบพิตร นิพพานไม่เจือทุกข์เลย นิพพานเป็นสุขอย่างเดียว ข้อที่พระองค์ตรัสว่า นิพพานเป็นทุกข์นั้น ไม่ใช่ทุกข์ของนิพพาน เป็นทุกข์ของการจะทำให้สำเร็จนิพพาน ต่างหาก คือการทำให้สำเร็จนิพพานในเบื้องต้นนั้นเป็นทุกข์ ส่วนนิพพานเป็นสุขอย่างเดียว ขอถามมหาบพิตรว่า ความสุขในราชสมบัติของพระราชาทั้งหลายมีอยู่หรือ? "
" มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า "

" ขอถวายพระพร ราชสุขนั้นเจือด้วยทุกข์ไม่ใช่หรือ ?"
" ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า "
" ก็พระราชาทั้งหลาย เมื่อปลายแดนพระราชอาณาเขตเกิดกำเริบขึ้น ต้องห้อมล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ข้าราชการ พลทหาร เสด็จไปปราบ ต้องลำบากด้วยเหลือบ ยุง ลม แดด ลำบากด้วยการเดินทาง ต้องสู้รบกัน ต้องหยั่งลงสู่ความสงสัยในชีวิต เหตุใดจึงว่าราชสุขไม่เจือทุกข์? "

พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน นั่นไม่ใช่ราชสุข เป็นส่วนเบื้อนต้นแห่งการที่จะได้ราชสุขต่างหากพระราชาทั้งหลายย่อมได้ราชสุขด้วยความทุกข์ เวลาได้แล้วก็ได้เสวยราชสุข อันราชสุขไม่เจือทุกข์ ราชสุขอย่างหนึ่ง ทุกข์ก็อย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน "

พระนาคเสนจึงกล่าวต่อไปว่า
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร นิพพานเป็นสุขอย่างเดียว ไม่เจือทุกข์เลย ส่วนพวกแสวงหานิพพาน ย่อมทำให้กายใจเร่าร้อนลำบากด้วยการยืน เดิน นั่ง นอน อาหาร ตัดความสุขทางอายตนะเสีย ทำให้กายใจลำบาก แต่เมื่อได้นิพพานแล้ว ก็ได้เสวยสุขอย่างเดียว เหมือนพระราชาทั้งหลาย เมื่อกำจัดข้าศึกศัตรูได้สิ้นแล้ว ก็ได้เสวยราชสุขอย่างเดียวฉะนั้น เป็นอันว่า นิพพานเป็นสุขอย่างเดียวไม่เจือทุกข์เลย นิพพานก็อย่างหนึ่ง ทุกข์ก็อย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ขอได้ทรงสดับเหตุอย่างอื่นให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก คือพวกอาจารย์ที่มีศิลปะ ย่อมมีความสุขในศิลปะไม่ใช่หรือ? "

" ใช่ พระผู้เป็นเจ้า "
" สุขในศิลปะนั้น เจือทุกข์บ้างไหม ? "
" ไม่เจือเลย พระผู้เป็นเจ้า "

" เหตุใดพวกเรียนศิลปะ จึงต้องเอาใจใส่ต่ออาจารย์ ด้วยการกราบไหว้ การลุกรับ การตักน้ำ การปัดกวาด การให้ไม้สีฟันและน้ำบ้วนปาก การกินเดนอาจารย์ การนวดฟั้นขัดสีให้อาจารย์ การปฏิบัติเอาใจอาจารย์ นอนก็ไม่เป็นสุข กินก็ไม่เป็นสุข ทำให้กายใจเดือดร้อน ? "
" ข้าแต่พระนาคเสน ข้อนั้นไม่ใช่สุขในศิลปะ เป็นส่วนเบื้องต้นแห่งการแสวงหาศิลปะต่างหาก พวกอาจารย์แสวงหาศิลปะได้ด้วยความทุกข์ แต่ล้วนก็ได้เสวยสุขในศิลปะ สุขในศิลปะไม่เจือทุกข์เลย ทุกข์อย่างหนึ่งสุขในศิลปะก็อีกอย่างหนึ่ง "

" เรื่องนิพพานก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร "
" เอาละ พระผู้เป็นเจ้า เป็นอันโยมรับว่าเป็นจริงอย่างนั้น"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #303 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2011, 07:23:35 am »

   ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องนิพพานโดยรูปพรรณสัณฐาน"

   ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า นิพพาน แต่พระผู้เป็นเจ้าอาจชี้รูปหรือสัณฐาน วัย ประมาณ แห่งนิพพานนั้นได้ด้วย อุปมา หรือเหตุ หรือปัจจัย หรือนัยอย่างใดอย่างหนึ่งได้หรือไม่ ? "
   " ไม่ได้ มหาบพิตร เพราะนิพพานไม่มีของเปรียบ "

   " ข้าแต่พระนาคเสน ข้อนี้โยมยังไม่ปลงใจ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอ้างเหตุให้โยมเข้าใจก่อน"
   " ขอถวายพระพร ได้...อาตมภาพขอถามว่ามหาสมุทรมีอยู่หรือไม่? "
   " มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า "

   " ถ้ามีอยู่ถามมหาบพิตรว่า น้ำในมหาสมุทรมีเท่าไร สัตว์ในมหาสมุทรมีเท่าไร มหาบพิตรจะตอบเขาว่ากระไร ?"
   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้ามีผู้ถามโยมอย่างนี้โยมก็จะตอบเขาว่า ถามสิ่งที่ไม่ควรถาม ปัญหานี้เป็นของควรพักไว้ไม่ใช่ควรจำแนก ใคร ๆ ไม่ควรถาม "
   " เพราะเหตุไร มหาบพิตร จึงต้องทรงตอบเขาอย่างนี้ ตามที่ถูกมหาบพิตรควรตอบเขาว่า น้ำในมหาสมุทรมีอยู่เท่านั้น สัตว์ในมหาสมุทรมีอยู่เท่านี้ไม่ใช่หรือ ? "
   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ไม่อาจตอบอย่างนั้นได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาเหลือวิสัย โยมจะทำอย่างไร ? "

   " เรื่องนิพพานก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตรแต่ว่า ผู้มีฤทธิ์ มีอำนาจทางจิต อาจคำนวณได้ว่าน้ำและสัตว์ในมหาสมุทรมีอยู่เท่านั้น แต่ไม่อาจชี้รูป หรือสัณฐาน วัย ประมาณ แห่งนิพพานได้ด้วยอุปมา หรือด้วยเหตุ หรือด้วยปัจจัย หรือด้วยนัย ขอได้โปรดทรงสดับเหตุอื่นให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก คือเทพเจ้าชื่อว่าอรูปกายิกา ( อรูปพรหม ) ในจำพวกเทพมีอยู่หรือ ? "
   " มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า "

   " มหาบพิตรอาจชี้รูป หรือสัณฐาน วัยหรือประมาณ แห่งพวกเทพจำพวกอรูปกายิกาเหล่านั้น โดยอุปมา หรือด้วยเหตุ ด้วยปัจจัย ด้วยนัย ได้หรือไม่? "
   " ไม่อาจ พระผู้เป็นเจ้า "
   " ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นพวกเทพอรูปกายิกาที่ไม่มีรูปร่างปรากฏ ก็ไม่มีน่ะซิ ? "
   " มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า แต่ว่าไม่มิใครอาจชี้รูป หรือสัณฐาน วัย หรือประมาณ แห่งเทพเจ้าเหล่านั้นได้ด้วยอุปมา เหตุ ปัจจัยหรือนัยได้ "

   " ขอถวายพระพร เรื่องนิพพานก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร"

   แสดงคุณแห่งนิพพาน
   " ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่านิพพานเป็นสุขอย่างเดียวก็จงพักไว้ แต่ว่าไม่มีใครอาจชี้รูป สัณฐาน วัย หรือประมาณแห่งนิพพานได้ด้วยอุปมา เหตุ ปัจจัย หรือนัย ก็คุณของนิพพานพอจะเทียบกับสิ่งอื่นได้ เพียงแต่จะชี้ให้เห็นได้สักเล็กน้อยด้วยอุปมามีอยู่หรือ? "
   " เมื่อว่าโดยย่อก็มีอยู่ มหาบพิตร "

   " ดีแล้ว พระคุณเจ้าข้า โยมขอฟังการแสดงเพียงบางส่วนแห่งคุณของนิพพาน ขอได้โปรดแสดงให้โยมดับความร้อนใจอยากจะฟัง เหมือนกับการดับความร้อนด้วยน้ำเย็นหรือด้วยลมอ่อน ๆ ฉะนั้นเถิด "
   " ขอถวายพระพร ดอกปทุมมีคุณ ๑ น้ำมีคุณ ๒ ยาดับพิษงูมีคุณ ๓ มหาสมุทรมีคุณ ๔ โภชนะมีคุณ ๕ อากาศมีคุณ ๑๐ แก้วมณีมีคุณ ๓ จันทน์แดงมีคุณ ๓ เนยใสมีคุณ ๓ ยอดศีรีมีคุณ ๕ คุณแห่งสิ่งเหล่านี้พอเปรียบเทียบกับคุณแห่งนิพพานได้"

   " ข้าแต่พระนาคเสน ข้อนี้คืออย่างไร ? "
   " ขอถวายพระพร คือ ดอกปทุมที่ว่ามีคุณ ๑ นั้น ได้แก่น้ำไม่ติดค้างอยู่ได้ เหมือนกับนิพพานไม่แปดเปื้อนด้วยกิเลส "
   " ข้าแต่พระนาคเสน น้ำมีคุณ ๒ เป็นอย่างไร ? "
   " ขอถวายพระพร น้ำมีคุณ ๒ คือความเย็น ๑ การดับความร้อน ๑ ทั้งสองประการนี้ พอเปรียบเทียบกับนิพพานอันเป็นของเย็น เป็นของดับความร้อนคือกิเลสได้ อนึ่ง น้ำอันเย็นนั้น ยังกำจัดความเศร้าหมองในร่างกาย และความกระหายความเร่าร้อนได้ เหมือนกับนิพพานอันกำจัดความกระหาย คือตัณหาทั้ง ๓ ได้ "

   " ข้าแต่พระนาคเสน ที่ว่า คุณแห่งยาดับพิษงูมี ๓ นั้น คืออย่างไร ? "
   " ขอถวายพระพร คือยาดับพิษงู ย่อมเป็นเครื่องดับพิษ เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายเหมือนกับนิพพานอันดับพิษคือกิเลส และยาดับพิษงูทำให้หมดโรค เหมือนกับนิพพานทำให้สิ้นทุกข์ทั้งปวง ยาดับพิษงูเป็นของไม่ตายเหมือนกับนิพพานอันเป็นของไม่ตายฉะนั้น"

   " ข้าแต่พระนาคเสน คุณแห่งมหาสมุทร ๔ ที่พอจะเปรียบกับนิพพานได้นั้น คืออย่างไร ? "
   " ขอถวายพระพร คือ มหาสมุทรเป็นของบริสุทธิ์ ว่างเปล่าจากซากศพทั้งหลาย ก็เปรียบเหมือนกับนิพพานอันว่างเปล่าจากกิเลสทั้งหลาย ๑ มหาสมุทรใหญ่แลไม่เห็นฝั่ง ไม่รู้จักเต็มด้วยน้ำที่ไหลมาจากที่ทั้งปวง เหมือนกับนิพพานอันเป็นของใหญ่แลไม่เห็นฝั่ง ไม่รู้จักเต็มด้วยสรรพสัตว์ฉะนั้น ๑ มหาสมุทรอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ใหญ่ ๆ เหมือนกับนิพพานอันเป็นที่อยู่ของผู้มีคุณใหญ่คือผู้สิ้นกิเลสแล้วฉะนั้น ๑ มหาสมุทรย่อมเจือไปด้วยดอกไม้ คือลูกคลื่นหาประมาณมิได้ เหมือนกับนิพพานอันเต็มไปด้วยดอกไม้ คือวิชชา วิมุตติ อันบริสุทธิ์หาประมาณมิได้ฉะนั้น ๑ "

   " ข้าแต่พระนาคเสน ที่ว่า โภชนะที่คุณ ๕ พอจะเทียบกับคุณแห่งนิพพานได้นั้น คืออย่างไร ? "
   " ขอถวายพระพร ธรรมดาโภชนะ ย่อมทรงไว้ซึ่งอายุ ทำให้เจริญกำลัง ทำให้เกิดวรรณะระงับความกระวนกระวาย กำจัดความหิวของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เหมือนกับนิพพานอันทรงไว้ซึ่งอายุ ด้วยการกำจัดชรามรณะเสีย ทำให้เจริญกำลังคือฤทธิ์ ให้เกิดวรรณะคือศีล ระงับความกระวนกระวายคือกิเลสทั้งปวง กำจัดซึ่งความหิวคือทุกข์ทั้งปวงฉะนั้น "

   " ข้าแต่พระนาคเสน ที่ว่า อากาศมีคุณ ๑๐ พอจะเทียบกับนิพพานได้นั้น คืออย่างไร ? "
   " ขอถวายพระพร คืออากาศไม่รู้จักเกิด ไม่รู้จักตาย ไม่รู้จักเคลื่อน ไม่รู้จักปรากฏ กดขี่ไม่ได้ โจรขโมยไม่ได้ ไม่อิงอาศัยอะไร เป็นที่ไปแห่งนก ไม่มีเครื่องกั้งกาง ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนกับนิพพานฉะนั้น "

   " ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่า แก้วมณีมีคุณ ๓ ซึ่งพอจะเปรียบเทียบกันกับคุณแห่งนิพพานได้นั้น คืออย่างไร ? "
   " ขอถวายพระพร คือแก้วมณี ให้สำเร็จความปรารถนา ๑ ทำให้ร่าเริงใจ ๑ ทำให้สว่าง ๑ ฉันใด นิพพานก็ให้สำเร็จความปรารถนา ทำให้ร่าเริงใจ ทำให้สว่างฉันนั้น "

   " ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่า จันทน์แดงมีคุณ ๓ พอจะเทียบกับนิพพานได้นั้น คืออย่างไร ? "
   " ขอถวายพระพร คือธรรมดาจันทน์แดงย่อมเป็นของหาได้ยาก ๑ มีกลิ่นหอม ไม่มีกลิ่นอื่นเสมอ ๑ และเป็นที่สรรเสริญแห่งคนทั้งหลาย ๑ ฉันใด นิพพานก็เป็นของหาได้ยาก มีกลิ่นหอม ไม่มีกลิ่นอื่นเสมอ เป็นที่สรรเสริญแห่งพระอริยเจ้าทั้งหลายฉันนั้น "

   " ข้าแต่พระนาคเสน ที่ว่า เนยใสมีคุณ ๓ พอจะเทียบกับคุณแห่งนิพพานได้นั้น คืออย่างไร ? "
   " ขอถวายพระพร ธรรมดาเนยใส ย่อมมีสีดี มีรสดี มีกลิ่นดี ฉันใด นิพพานก็มีสี คือคุณดี มีรสคือไม่รู้จักตาย มีกลิ่นคือศีลฉันนั้น "

   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่ว่า ยอดศีรีมีคุณ ๕ พอจะเทียบกับคุณแห่งนิพพานได้นั้น คืออย่างไร ? "
   "ขอถวายพระพร คือยอดศีรีเป็นของสูง เป็นของไม่หวั่นไหว ขึ้นได้ยาก ไม่เป็นที่งอกงามแห่งพืชทั้งปวง พ้นจากการยินดียินร้าย เหมือนกับนิพพานฉันนั้น "

   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า การที่แก้มาแล้วนี้เป็นการถูกต้องดีทั้งนั้น"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #304 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2011, 07:26:54 am »

  ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องการกระทำให้แจ้งนิพพาน

   พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามต่อไปว่า
   " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า นิพพานไม่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันไม่ใช่เกิดแล้ว ไม่ใช่ยังไม่เกิด ไม่ใช่ว่าจักเกิด ก็ผู้ที่ปฏิบัติชอบย่อมได้สำเร็จนิพพานมีอยู่ ผู้นั้นสำเร็จนิพพานที่เกิดแล้ว หรือว่าทำให้นิพพานเกิดแล้วจึงสำเร็จ ? "

   พระนาคเสนตอบว่า
   " ขอถวายพระพร ไม่ใช่ว่าสำเร็จนิพพานที่เกิดแล้ว ไม่ใช่ว่าทำให้นิพพานเกิดแล้วจึงสำเร็จ เป็นแต่ว่า นิพพานธาตุนั้นมีอยู่ ผู้ปฏิบัติชอบก็สำเร็จนิพพานธาตุนั้น"

   พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า
   " ข้าแต่พระนาคเสน ขอพระผู้เป็นเจ้าอย่าทำปัญหานี้ให้ปกปิดเลย จงแสดงออกให้แจ่มแจ้งเถิด สิ่งใดที่ผู้มีฉันทะอุตสาหะ ได้ศึกษาแล้วในเรื่องนิพพาน ขอจงบอกสิ่งนั้นทั้งสิ้น เพราะในเรื่องนิพพานนั้น ประชุมชนสงสัยกันอยู่มาก ขอจงทำลายความสงสัย อันเป็นเหมือนลูกศร ที่ฝังอยู่ในดวงใจของคนทั้งหลายเถิด พระผู้เป็นเจ้า "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #305 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2011, 07:31:40 am »

   สภาวะแดนนิพพาน

   " ขอถวายพระพร นิพพานธาตุ ธาตุคือนิพพานอันสงบ อันเป็นสุข อันประณีตนั้น มีอยู่ ผู้ปฏิบัติชอบ เมื่อพิจารณาสังขารตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็กระทำให้แจ้งนิพพานธาตุด้วยปัญญา เหมือนกับศิษย์กระทำให้แจ้งวิชาตามคำสอนของอาจารย์ด้วยปัญญาฉะนั้น

   อันนิพพานนั้น บุคคลควรเห็นอย่างไร...ควรเห็นว่า เป็นของไม่มีเสนียดจัญไร ไม่มีอุปัทวะ เป็นของสงบ ไม่มีภัย ปลอดภัย สุขสบาย น่ายินดี เป็นของประณีต เป็นของสะอาด เป็นของเย็น ขอถวายพระพร

   เรื่องนี้เป็นเปรียบเหมือนอะไร...เปรียบเหมือนบุรุษที่ถูกล้อมด้วยกองไฟใหญ่เบียดเบียน ก็พยายามหนีจากกองไฟใหญ่ไปอยู่ในที่ไม่มีภัย แล้วเขาก็ได้สุขยิ่งฉันใด ผู้ปฏิบัติชอบ เร่าร้อนด้วยไฟ ๓ กองก็หนีจากไฟ ๓ กอง ด้วยโยนิโสมนสิการ ( ทำจิตไว้ด้วยอุบายอันชอบธรรม) เข้าไปอยู่ในที่ไม่มีไฟ ๓ กอง แล้วเขาก็กระทำให้แจ้งนิพพาน อันเป็นเอกันตบรมสุขฉันนั้น ควรเห็นไฟ ๓ กองเหมือนกับกองไฟใหญ่ ควรเห็นผู้ปฏิบัติชอบ เหมือนกับผู้หนีกองไฟใหญ่ ควรเห็นนิพพานเหมือนที่ไม่มีกองไฟใหญ่ฉะนั้น

   อีกประการหนึ่ง บุรุษผู้มีซากศพงู หรือซากสุนัข หรือซากมนุษย์ ผูกติดคอ แล้วพยายามสลัดซากศพนั้น ไปสู่ที่ไม่มีซากศพแล้วเขาก็ได้ความสุขอย่างยิ่งฉันใด ผู้ปฏิบัติชอบก็กระทำให้แจ้งนิพพาน อันเป็นบรมสุขอันไม่มีซากศพคือกิเลส ด้วยโยนิโสมนสิการฉันนั้น ควรเห็นกามคุณ ๕ เหมือนซากศพ ควรเห็นผู้ปฏิบัติชอบ เหมือนผู้พยายามหนีซากศพ ควรเห็นนิพพานเหมือนที่ไม่มีซากศพฉะนั้น

   อีกอย่างหนึ่ง บุรุษผู้กลัวภัย ย่อมพยายามหนีจากที่มีภัย ไปสู่ที่ไม่มีภัย แล้วเขาก็ได้ความสุขอย่างยิ่งฉันใด ผู้ปฏิบัติชอบก็กระทำให้แจ้งนิพพานอันเป็นบรมสุข อันไม่มีภัย ไม่มีความสะดุ้ง ด้วยโยนิโสมนสิการนั้น ควรเห็นภัยอันมีเรื่อยไป เพราะอาศัยความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกับภัย ควรเห็นผู้ปฏิบัติชอบเหมือนกับผู้กลัวภัย ควรเห็นนิพพานเหมือนที่ไม่มีภัยฉะนั้น

   อนึ่ง บุรุษผู้ตกเลนตกหล่ม ย่อมพยายามหนีจากเลนจากหล่ม ไปสู่ที่ไม่มีเลนไม่มีหล่ม แล้วเขาก็ได้ความสุขยิ่งฉันใดผู้ปฏิบัติชอบก็ได้สำเร็จนิพพานอันเป็นสุขยิ่งอันไม่มีเลนไม่มีหล่มคือกิเลส ด้วยโยนิโสมนสิการฉันนั้น ควรเห็นลาภสักการะสรรเสริญ เหมือนเลนเหมือนหล่ม ผู้ปฏิบัติชอบเหมือนผู้พยายามหนีเลนหนีหล่ม นิพพานเหมือนที่ไม่มีเลนมีหล่มฉะนั้น "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #306 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2011, 07:35:13 am »

   วิธีกระทำให้แจ้งนิพพาน

   " ข้าแต่พระนาคเสน นิพพานนั้น บุคคลกระทำให้แจ้งว่าอย่างไร? "
   " ขอถวายพระพร ผู้ใดปฏิบัติชอบ ผู้นั้นย่อมเห็นความเป็นไปแห่ง สังขารทั้งหลาย ผู้เห็นความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมเห็นความคิด แก่ เจ็บ ตาย ในสังขารแล้วก็ไม่เห็นสิ่งใด ๆ ในสังขารว่าเป็นสุข ทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ไม่เห็นอะไรในร่างกายที่จะควรยึดถือไว้ เหมือนกับบุรุษที่ไม่เห็นสิ่งใดในเหล็กแดงที่ตนควรจะจับ ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดฉะนั้น

   เมื่อเห็นสังขารอันเป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดถือ ความไม่ยินดีก็เกิดขึ้นในจิต ความเร่าร้อนก็ย่างลงในกาย ผู้นั้นเมื่อเห็นว่า ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่หลบหลีก ก็เบื่อหน่ายในภพทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษเข้าไปสู่กองไฟใหญ่ เห็นว่าไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย ก็เบื่อหน่ายกองไฟฉะนั้น

   ผู้ที่เห็นว่าน่ากลัวในสังขาร ก็คิดขึ้นได้ว่า สังขารที่เป็นไปนี้เป็นของเร่าร้อน แล้วก็เห็นความทุกข์มากความคับแค้นมาก ในภพทั้งหลายเห็นความดับสังขารทั้งปวง ความสละกิเลสทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายตัณหา ความดับตัณหา นิพพาน คือความไม่มีตัณหาว่าเป็นความสงบอย่างยิ่ง เมื่อเป็นอย่างนั้น จิตของผู้นั้นก็แล่นไปในความไม่เป็นไปแห่งสังขาร แล้วจิตใจก็ผ่องใสร่าเริง ยินดี เราได้ที่พึ่งแล้ว เปรียบเหมือนบุรุษที่หลงทาง ไปพบทางเกวียนที่พาตนไปถึงที่ประสงค์ จิตก็แล่นไปในทางนั้น แล้วก็สบายใจว่า เราได้ทางแล้วฉะนั้น

   ผู้เล็งเห็นความไม่เป็นไปแห่งสังขารว่าเป็นของหมดทุกข์ทั้งสิ้น แล้วก็อบรมความรู้ความเห็นนั้นในแรงกล้าเต็มที่ แล้วก็ตั้งสติ วิริยะ ปีติ ไว้ในความไม่เป็นไปแห่งสังขาร จิตของผู้นั้นก็ล่วงเลยความเป็นไปแห่งสังขาร ไปถึงความไม่เป็นไปแห่งสังขาร ผู้ไปถึงความไม่เป็นไปแห่งสังขารแล้วเรียกว่า ผู้ปฏิบัติชอบ กระทำให้แจ้ง นิพพาน ดังนี้แหละ ขอถวายพระพร "

   " ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #307 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2011, 07:39:36 am »

   ปัญหาที่ ๗ ถามถึงที่ตั้งนิพพาน

   " ข้าแต่พระนาคเสน ที่ทางบูรพาหรือทางทักษิณ ทางปัจฉิมหรือทางอุดร ทางเบื้องบน ทางเบื้องต่ำ ทางขวาง ที่นิพพานตั้งอยู่ มีอยู่หรือไม่ ? "
   " ไม่มี มหาบพิตร "

   พระเจ้ามิลินทร์ตรัสต่อไปว่า
   " ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าที่นิพพานตั้งอยู่ไม่มี นิพพานก็ไม่มี ข้อที่ว่าการกระทำให้แจ้งนิพพานก็ผิด ในเรื่องนี้โยมขออ้างเหตุว่า นาเป็นที่ตั้งแห่งข้าว ดอกไม้เป็นที่ตั้งแห่งกลิ่น กอไม้เป็นที่ตั้งแห่งดอกไม้ ต้นไม้เป็นที่ตั้งแห่งผลไม้ บ่อแก้วเป็นที่ตั้งแห่งแก้ว ผู้ต้องการสิ่งใด ๆ ในสิ่งนั้น ไปที่นั้นแล้วก็ได้สิ่งนั้น ๆ ฉันใด ถ้านิพพานมี ที่ตั้งแห่งนิพพานก็ควรมีฉันนั้น เพราะที่ตั้งแห่งนิพพานไม่มี โยมจึงว่านิพพานไม่มี คำที่ว่ากระทำให้แจ้งนิพพานนั้นก็ผิดไป

   "พระนาคเสนตอบว่า
   " ขอถวายพระพร ที่ตั้งแห่งนิพพานไม่มี แต่นิพพานมี

   ผู้ปฏิบัติชอบ เมื่อเห็นความตั้งขึ้นและเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลายด้วยโยนิโสนสิการแล้ว ก็กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ไฟมีอยู่ แต่ที่ตั้งแห่งไฟไม่มี เมื่อบุคคลเอาไม้ ๒ อันมาสีกันเข้าก็ได้ไฟฉันใด นิพพานก็มีอยู่ แต่ว่าที่ตั้งนิพพานไม่มี เมื่อผู้ปฏิบัติชอบเล็งเห็นความตั้งขึ้น และเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย ด้วยโยนิโสมนสิการแล้ว ก็กระทำให้แจ้งนิพพานฉันนั้น

   อีกอย่างหนึ่ง แก้ว ๗ ประการ คือจักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้วมีอยู่ แต่ที่ตั้งแห่งแก้ว ๗ ประการนั้นไม่มี กษัตริย์ผู้ปฏิบัติชอบย่อมได้แก้ว ๗ ประการนี้ ด้วยผลแห่งการปฏิบัติฉันใด นิพพานก็มีอยู่ แต่ที่ตั้งนิพพานไม่มีเมื่อผู้ปฏิบัติชอบ เล็งเห็นความสิ้นความเสื่อมแห่งสังขารทั้งหลาย ด้วยโยนิโสมนสิการ แล้วก็กระทำให้แจ้วนิพพานฉันนั้น "

   " ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าที่ตั้งนิพพานไม่มี ผู้ปฏิบัติชอบตั้งอยู่ในที่ใด จึงกระทำให้แจ้งนิพพาน ที่นั้นมีอยู่หรือ ? "
   " ขอถวายพระพร มีอยู่ "

   " มีอยู่อย่างไร โยมขอฟัง ? "
   " ขอถวายพระพร มีอยู่อย่างนี้ คือที่ตั้งนั้นได้แก่ศีล ผู้ตั้งอยู่ในศีล ผู้มีโยนิโสมนสิการ คือตั้งใจไว้ด้วยอุบายที่ฉลาด ผู้ปฏิบัติชอบไม่ว่าอยู่ในที่ใด ๆ จะเป็นป่าสักกายวัน หรือจีนวิลาตวัน อลสันทนคร นิกุมพนคา กาสีโกศลนคร กัสมิรนคร คันธารนคร ยอดภูเขา พรหมโลกก็ตาม ก็กระทำให้แจ้งนิพพานได้ทั้งนั้น ขอถวายพระพร "

   " เป็นอันถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสนพระผู้เป็นเจ้าได้แสดงนิพพานไว้แล้ว ได้แสดงการกระทำให้แจ้งนิพพานไว้แล้ว ได้ยกธงชัยคือพระธรรมขึ้นไว้แล้ว ได้ตั้งเครื่องนำพระธรรมไว้แล้ว โยมขอรับว่าถูกต้องดี "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #308 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2011, 07:54:04 am »

  ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องสิ่งที่ควรรู้ด้วยอนุมาน

   ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ผู้ตั้งอยู่ในสาราณียธรรม ( ข้อปฏิบัติที่ทำให้ระลึกถึงกัน ) กับผู้เป็นปราชญ์ด้วยกันแล้ว มีพระราชประสงค์จะทรงทราบ ทรงสดับ ทรงจำไว้ ทรงเห็นแสงสว่างแห่งญาณ ทรงทำลายความไม่มีญาณ ทรงทำให้ญาณเกิดขึ้น ทำให้อวิชชาหมดไป ก้าวล่วงเสียซึ่งกระแสสงสาร ตัดเสียซึ่งกระแสตัณหา ทรงปรารถนาจะถึงนิพพานจะถูกต้องนิพพาน จึงทรงปลุกฉันทะความพอใจ ความเพียร ปัญญา อุตสาหะ ตั้งสติสัมปชัญญะให้แรงเต็มที่ แล้วจึงถามพระนาคเสนเถระต่อไปว่า

   " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ ? "
   " ขอถวายพระพร ไม่ได้เห็น "
   " ก็อาจารย์ของพระผู้เป็นเจ้าได้เห็นหรือไม่ ? "

   " ขอถวายพระพร ไม่ได้เห็น "
   " ถ้าพระผู้เป็นเจ้าไม่เห็น อาจารย์ก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้าก็เป็นอันไม่มี "
   " ขอถวายพระพร กษัตริย์ทั้งหลายในปากก่อน ที่เป็นต้นวงศ์กษัตริย์มีอยู่หรือไม่ ? "
   " มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า "

   " ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้ทรงเห็นหรือไม่ ? "
   " ไม่เห็น พระผู้เป็นเจ้า "
   " พวกปุโรหิต เสนาบดี มหาอำมาตย์ราชบริพารของมหาบพิตร ได้เห็นหรือไม่ ? "
   " ไม่ได้เห็น พระผู้เป็นเจ้า "

   " ขอถวายพระพร ถ้าไม่มีผู้ได้เห็น กษัตริย์ก่อน ๆ ก็ต้องไม่มี "
   " มี พระผู้เป็นเจ้า เพราะเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์ก่อน ๆ มีอยู่ คือ เศวตฉัตร พระมงกุฏ พัดวาลวิชนี ที่บรรทม พระขรรค์แก้ว อันทำให้โยมเชื่อว่ากษัตริย์ก่อน ๆ มีอยู่ "

   " ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ธรรมพุทธบริโภคของพระพุทธเจ้ามีอยู่ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ซึ่งทำให้รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีอยู่ พระพุทธเจ้านั้น บุคคลควรรู้ว่ามีอยู่ด้วยเหตุอันนี้ ด้วยปัจจัยอันนี้ ด้วยนัยอันนี้ ด้วยอนุมานอันนี้ "

   " ข้าแต่พระนาคเสน ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมา "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #309 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2011, 10:33:31 am »

   " ขอถวายพระพร นายช่างผู้จะสร้างพระนคร ย่อมพิจารณาภูมิประเทศเสียก่อนเห็นว่าที่ใดเป็นที่เสมอ ไม่ลุ่มไม่ดอน ไม่มีหินมีกรวด ไม่มีเครื่องรบกวน ไม่มีโทษ เป็นที่น่ายินดี แล้วจึงทำพื้นที่นั้นให้ราบคาบ เพื่อให้ปราศจากเสี้ยนหนามหลักตอ แล้วจึงสร้างพระนคร อันสวยงามลงในที่นั้น การสร้างพระนครนั้น ได้แบ่งแยกเป็นส่วน ๆ มีคูและกำแพงล้อมรอบ มีป้อมประตูมั่นคง มีถนน ๔ แพร่ง ๓ แพร่ง มีถนนหลวงอันมีพื้นสะอาดเสมอดี มีตลาดค้าขาย มีสวนดอกไม้ผลไม้ บ่อน้ำ สระน้ำ ท่าน้ำไว้เป็นอันดี เมื่อพระนครนั้นสำเร็จพร้อมทุกประการแล้วนายช่างก็ไปสู่ที่อื่น

   ต่อมาภายหลัง พระนครนั้นเจริญกว้างขวางขึ้น บริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหารเกษมสุขสำราญ มีผู้คนเกลื่อนกล่น มากไปด้วยกษัตริย์ พราหมณ์ เวศย์ ศูทร นายช้าง นายม้า นายรถ พลเดินเท้า นายขมังธนู หมู่บัณเฑาะก์และกะเทย ลูกอำมาตย์ ลูกหลวง พลโยธาที่แกล้วกล้าสามารถ ลูกทาส ลูกคนรับจ้าง พวกมักมวย ช่างต่าง ๆ ช่างตัดผม ช่างทำผม ช่างดอกไม้ ช่างทอง ช่างเงิน ช่างดีบุก ช่างทองเหลือง ทองแดง ช่างเหล็ก ช่างแก้ว ช่างไม้ถือ ช่างไม้ค้อน ช่างเกราะ ช่างตุ้มหู ช่างเจียระไน ช่างขัดเกลา ช่างทำเงินสก ช่างหูก ช่างหม้อ ช่างคทา ช่างหอก ช่างแกะ ช่างหนัง ช่างเชือก ช่างทำฟัน ช่างหวี ช่างด้าย ช่างหญ้า ช่างทราย ช่างดินเหนียว ช่างดาบ ช่างหลาว ช่างเกาทัณฑ์ ช่างผ้ากัมพล ช่างดอกไม้ เป็นต้น

ช่างผู้ฉลาดได้สร้างเมืองไว้อย่างนี้ฉันใด พระพุทธเจ้าผู้ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีผู้เปรียบ ผู้ล้ำเลิศ ผู้ไม่มีใครเหมือน ผู้ชั่งพระคุณไม่ได้ ผู้นับพระคุณไม่ได้ ผู้ประมาณพระคุณไม่ได้ ผู้บริสุทธิ์ด้วยพระคุณ ผู้มีพระปรีชา พระเดช พระกำลัง พระวิริยะ หาที่สุดมิได้ ผู้ถึงความสำเร็จแห่งกำลังของพระพุทธเจ้า ทรงทำลายมารพร้อมทั้งเสนา ทำลายข่ายคือทิฏฐิ ทำลายอวิชชา ทำให้วิชชาเกิด ทรงไว้ซึ่งพระธรรมจักร สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณชนะสงครามทั้งสิ้นแล้ว ก็ได้ทรงสร้างธรรมนครไว้ฉันนั้น

   ธรรมดานครของพระพุทธเจ้านั้น มีศีลเป็นกำแพง มีหิริเป็นคูน้ำรอบ มีสติเป็นนายประตู มีพระปรีชาญาณเป็นซุ้มประตู มีพระวินัยเป็นป้อม มีศรัทธาเป็นเสาระเนียด มีปัญญาเป็นปราสาท มีพระสูตรเป็นทางไปมา มีพระอภิธรรมเป็นทาง ๓ แพร่ง ๔ แพร่ง มีพระวิริยะเป็นโรงวินิจฉัย มีสติปัฏฐานเป็นวิถี สองข้างวิถีคือสติปัฏฐานนั้น เต็มไปด้วยตลาดดอกไม้ ตลาดของหอม ตลาดผลไม้ ตลาดยาแก้ยาพิษ ตลาดยาทั่วไป ตลาดยาอมฤต ตลาดรัตนะ ตลาดสิ่งทั้งปวง "