ผู้เขียน หัวข้อ: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร  (อ่าน 23280 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 5 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

             

๒๐. สุขะสะหะคะตา ธัมมา

    ในบทที่ ๒๐ ว่า สุขะสะหะคะตา ธัมมา นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายอันร่วมมาแล้วด้วยความสุข ความสุขนั้นมี ๔ ประการ คือ ความสุขกาย ๑ ความสุขที่ไม่มีโรคเบียดเบียน ๑ ความสุขใจที่ไม่เศร้าหมอง ๑ ความสุขที่สมเหตุที่คิด สมกิจที่กระทำ ๑ ยังมีความสุขอีกประเภทหนึ่งมีอยู่ ๔ ประการเช่นกัน คือ สุขมีอายุยืน ๑ สุขมีรูปงาม ๑ สุขมีกำลังกาย มีกำลังทรัพย์ มีกำลังปัญญา ๑ สุขในความหมดเวรหมดกรรม ๑ เมื่อจะว่าย่อ ๆ ก็มีอยู่ ๒ ประการคือ โลกียสุข ๑ โลกุตรสุข ๑

    โดยความอธิบายว่า ความที่ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนเรียกว่าความสบาย ความสบายเรียกว่า ความสุข สุขที่ประกอบไปด้วยกิเลสนั้นเรียกว่า โลกียสุข ความสุขที่ไม่มีกิเลสนั้นเรียกว่า โลกุตรสุข ความสุขทั้ง ๒ ประการนี้เมื่อจะอ้างบุคคลก็ได้แก่ สุขสามเณร เมื่อเดิมทีนั้นก็เป็นคนยากจนเข็ญใจ ได้ถวายอาหารแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว แต่นั้นก็เป็นสุข สุขมาจนกระทั่งถึงศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าสมณโคดม นี้เป็นเขตโลกียสุข ตั้งแต่วันได้บรรลุอาสวักขัยเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานนั้น เป็นเขตโลกุตรสุข สุโข วิเวโก ความเงียบสงัดจากกิเลส ก็เป็นสุขประการหนึ่ง สุโข พุทธานะมุปาโท ความบังเกิดของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในโลกนี้ก็เป็นสุขประการหนึ่ง สุขา สัทธัมมะเทศนา การที่ได้ฟังพระสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นสุขประการหนึ่ง สุขา สังฆัสสะ สามัคคี การที่พร้อมเพรียงกันแห่งสงฆ์ก็เป็นสุขประการหนึ่ง สมัคคานัง ตโป สุดข การกระทำกิเลสให้เร่าร้อน คือผ่อนผันบรรเทาให้เบาบางพ้นจากสันดานไปได้ก็เป็นสุขประการหนึ่ง ความปฏิบัติความประพฤติเป็นไปในกายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก วิเวกทั้ง ๓ นี้แลเรียกชื่อว่าความสุข เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า สุขะสะหะคะตา ธัมมา

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

                 

๒๑. อุเปกขาสะหะคะตา ธัมมา

    ในบทที่ ๒๑ ว่า อุเปกขาสะหะคะตา ธัมมา นั้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอารมณ์แห่งจิตที่เป็นอุเบกขา อุเบกขานั้นคือหมดปีติแลหมดสุข จึงจัดเป็นอุเบกขาไว้ที่นี้ อุเบกขานี้ก็บังเกิดขึ้นแต่สุข สุขนั้นก็บังเกิดขึ้นแต่ปีติ ต่อเมื่อหมดปีติแลหมดสุขแล้ว อุเบกขาจึงจะบังเกิดขึ้น โดยความอธิบายว่า หมดปีติแลหมดสุขแล้วจึงจะเป็นอุเบกขา ถ้าปีติและสุขยังมีอยู่แล้ว อุเบกขาก็ไม่บังเกิดขึ้นได้ อุเบกขาในทีนี้ประสงค์ความว่า ปีติกับสุขทั้งสองบังเกิดขึ้นแล้วแลหายไป ถ้าปีติและสุขทั้งสองยังมีอยู่ตราบใด ก็ไม่จัดเป็นอุเบกขาได้ ถ้าปีติและสุขทั้งสองไม่มีแต่เดิมมา อุเบกขาก็ไม่มีเหมือนกัน เพราะเหตุว่าไม่อาจมีอุเบกขาได้เอง เปรียบเหมือนหนึ่งแสงสว่างอันบังเกิดแต่เปลวไฟ ไฟจะบังเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยแก่เชื้อฟาง ฟางก็ได้แก่ปีติ เปลวไฟก็ได้แก่ความสุข แสงสว่างก็ได้แก่อุเบกขา

    เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะจึงได้ทรงประทานเทศนาว่า ปีติสุข อุเบกขา เป็นลำดับกันมา เหมือนอย่างสุขทั้ง ๓ ประการ สุขในมนุษย์ สุขในสวรรค์ และสุขในพระนิพพาน

    สุขในมนุษย์ไม่เท่าสุขในสวรรค์ สุขในสวรรค์ไม่เท่าสุขในพระนิพพาน เช่นนี้ ดังมีในเรื่องราวท้าวมหาชมพูเป็นตัวอย่างว่า เมื่อเดิมทีท้าวมหาชนพูนั้นได้เสวยสุขในสิริราชสมบัติในมนุษย์ แล้วไปยินดีในสวรรค์ว่าสุขยิ่งกว่าในมนุษย์ ครั้นได้เห็นสุขในพระนิพพานอันเป็นบรมสุขยิ่งกว่าสุขทั้งสองนั้นแล้ว ก็ทิ้งสุขทั้งสองนั้นเสีย

    ความสุขทั้ง ๓ นั้น คือ มนุษย์ สวรรค์ และพระนิพพานนี้ ก็มีนัยเดียวกันกับธรรมทั้ง ๓ คือ ปีติ สุข อุเบกขา เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อุเปกขาสะหะคะตา ธัมมา ฉะนี้ แก้ไขมาในติกมาติกา บทที่ ๒๑ ก็ยุติลงเพียงนี้ฯ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

๒๒. ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพา ธัมมา

    ในลำดับนี้จะได้แสดงติกมาติกาในบบที่ ๒๒ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพา ธัมมา เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันบุคคลจะละกิเลสได้เพราะเหตุที่ได้เห็น ดังนี้ โดยความอธิบายว่า จิตที่ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่าง ๆ นั้น ครั้นได้เห็นเข้าแล้ว ก็บังเกิดสังเวชสลดใจ จึงละกิเลสได้ เหมือนหนึ่งบัณฑิตสามเณร เมื่อได้เห็นผมของตัวแล้วก็บังเกิดปัญญาพิจารณาเป็นอสุภะ ว่าผมของเราไม่งาม ผมของผู้อื่นก็ไม่งามเหมือนกัน อรหัตตผลก็บังเกิดปรากฏขึ้น ดังนี้

    พระสกวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า บุคคลที่ละกิเลสได้เพราะได้เห็นนั้น ก็เห็นอยู่ด้วยกันโดยมาก เหตุไฉนจึงละกิเลสไม่ได้ หรือการที่เห็นนั้นจะมีนัยต่างกันอย่างไร?

   พระปรวาทีฯ จึงวิสัชนาว่า การเห็นนั้นมีนัยต่างกัน ที่เห็นให้เกิดกิเลสก็มี ที่เห็นให้ละกิเลสก็มี สุดแต่เหตุที่ได้เห็น ถ้าเห็นของที่งาม ที่ชอบใจ ก็ให้บังเกิดกิเลสได้ดังนี้ เพราะเหตุนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะจึงได้ทรงตรัสสั่งสอนพุทธบริษัทว่า อสุภานุปัสสี วิหะระติ ดังนี้ ก็เพื่อพระพุทธประสงค์จะให้อยู่ด้วยความเห็นซึ่งอารมณ์อันไม่งาม เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพา ธัมมา ฉะนี้ฯ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

๒๓. ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา

     ในบทที่ ๒๓ ว่า ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา นั้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันบุคคลจะพึงละกิเลสได้เพราะการที่ภาวนานั้น ภาวนาก็มีอยู่ ๓ ประการ คือ บริกรรมภาวนาละกิเลสอย่างหยาบได้ ๑ อุปจารภาวนาละกิเลสอย่างกลางได้ ๑ อัปปนาภาวนาละกิเลสอย่างละเอียดได้ ๑ เมื่อจะชี้บุคคลที่ท่านละกิเลสให้หมดไปและยังธรรมวิเศษได้ ด้วยอำนาจแห่งภาวนา ๓ ประการนี้ ก็มีเป็นอเนกประการ เช่น ภิกษุที่ได้เห็นฟันของสตรี หรือนางรูปนันทาที่ได้เห็นนิมิตที่งามยิ่งกว่ารูปของตนหรือพระปัจเจกโพธิ์ทั้ง ๕๐๐ องค์ที่ได้เห็นดอกบัวร่วงลงฉะนี้ เรียกว่าภาวนา โดยความอธิบายว่า ปัญญาที่หยาบก็ละกิเลสอย่างหยาบได้ ปัญญาอย่างกลางก็ละกิเลสอย่างกลางได้ ปัญญาอย่างละเอียดก็ละกิเลสอย่างละเอียดได้ ภาวนานั้นไซร้ประสงค์ความว่า ให้รู้จักดีชั่ว ละความชั่วให้หมดไป และกระทำคุณความดีให้บังเกิดขึ้นในตน ดังนี้ เรียกชื่อว่า ภาวนา เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา ฉะนี้ฯ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



๒๔. เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา

   ในบทที่ ๒๔ ว่า เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา นั้นแปลว่า ธรรมทั้งหลายอันบุคคลจะพึงกิเลสได้ด้วยเหตุที่ไม่ได้เห็นและไม่ใช่หนทางภาวนานั้น โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายที่ละกิเลสได้ด้วยนิสัยเปรียบเหมือนทุกุลบัณฑิต เห็นก็ไม่ได้เห็น ภาวนาก็ไม่ได้เจริญ เป็นแต่กระทำความในใจไม่ยินดีในกามคุณ ดุจบุคคลผู้มีอารมณ์อันดี ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นแต่อยู่เฉย ๆ อยู่ เพราะฉะนั้นจึงว่าเป็นไปตามนิสัย บุคคลที่จะละกิเลสได้ด้วยเหตุที่ไม่ได้เห็นและไม่ได้ภาวนา เป็นแต่กระทำความไม่ยินดีในกามคุณเช่นกับทุกุลบัณฑิตนั้น ก็หาได้โดยยากยิ่งนัก เพราะเหตุนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา ฉะนี้ ได้แก้ไขมาในติกมาติกาบทที่ ๒๔ ก็ยุติลงแต่เพียงเท่านี้ฯ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

                   

๒๕. ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา

    ในลำดับนี้จะได้แสดงติกมาติกาในบทที่ ๒๕ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีเหตุแล้วจึงละกิเลสได้เพราะความเห็น ดังนี้ โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายมีปัจจัยเกื้อกูลอุดหนุนก่อน แล้วจึงละกิเลสได้ด้วยความเห็นนั้น ความเห็นนั้นก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ เห็นด้วยตาแล้วละกิเลสได้ก็มี เห็นด้วยปัญญาแล้วละกิเลสได้ก็มี

    ความที่เห็นด้วยตาแล้วละกิเลสได้นั้น ก็ได้แก่บุคคลที่เห็นบุคคลอื่นเสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ แล้ว ก็บังเกิดความสังเวชสลดใจ กลัวแต่ภัยอันนั้นจะมาถึงตน ดังมีบุคคลเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า ยังมีสตรีสองคนพี่น้องกัน ผู้พี่สาวนั้นก็มีสามีก่อน ครั้นมีครรภ์ถึงกำหนดทศมาสแล้ว ก็คลอดบุตร ได้ความลำบากเวทนาแสนสาหัส ถึงแก่กระทำกาลกิริยาตายไป น้องสาวได้เห็นพี่สาวถึงแก่ความตายดังนั้น ก็บังเกิดความสลดสังเวชใจ จึงไม่มีสามีต่อไป กลัวแต่ภัยเช่นนี้จะบังเกิดมีแก่ตน ฉะนี้ ก็จัดได้ชื่อว่า ละกิเลสได้เพราะความเห็นด้วยตา ดังวิสัชนามาฉะนี้

    ความที่เห็นด้วยปัญญาแล้วละกิเลสได้นั้น โดยเนื้อความว่า บุคคลที่เห็นนามและรูป โดยพระไตรลักษณญาณว่า
รูปและนามทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วแลเบื่อหน่ายจากขันธ์ทั้ง ๕ ดังนี้แลเรียกว่า ละกิเลสได้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา ฉะนี้ฯ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 07, 2011, 08:02:46 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

๒๖. ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา 

    ในบทที่ ๒๖ ว่า ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา นั้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่มีปัจจัยเกื้อกูลอุดหนุนแก่ธรรมอันจะพึงละกิเลสได้ด้วยภาวนานั้น โดยความอธิบายว่า โลกียธรรมเป็นปัจจัยเกื้อกูลโลกุตรธรรม ศีลเป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่สมาธิ ศีลก็ได้แก่ ความสำรวมกาย วาจา และความอดใจ สมาธิก็ได้แก่ภาวนา เพราะฉะนั้น ธรรมบทนี้จึงได้ชื่อว่า โลกียธรรม โลกียธรรมก็เป็นปัจจัยให้เกิดภาวนา ศีลมีอยู่ ๒ ประการ คือ โลกียศีล ๑ โลกุตรศีล ๑ ภาวนาก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ โลกียภาวนา ๑ โลกุตรภาวนา ๑

     โลกียศีลนั้นก็เป็นปัจจัยเกื้อกูลให้ได้แก่โลกียภาวนาเท่านั้น จะไปเกื้อกูลโลกุตรภาวนานั้นไม่ได้ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า โลกียศีลนั้นระงับได้เป็นคราว ๆ ครั้งภายหลังกิเลสก็เกิดขึ้นได้ เปรียบเหมือนหนึ่งศิลาทับหญ้า ธรรมดาว่าศิลาอันทับหญ้านั้น เมื่อศิลาทับอยู่ หญ้านั้นก็งอกขึ้นไม่ได้ ศิลานั้นก็ได้แก่ศีล หญ้านั้นก็ได้แก่กิเลส เอกบุคคลผู้ไม่ระวังรักษาองค์แห่งศีล และกระทำศีลให้ขาดไป กิเลสก็บังเกิดขึ้นได้อีกอย่างเดิม เปรียบเหมือนหนึ่งบุคคลที่ตัดต้นไม้ไซร้ ตัดต้นแต่ไม่ตัดรากด้วยแล้ว นานไปฝนตกลงมาก็กลับงอกงามขึ้นอีก ฉะนั้นจึงว่า บุคคลรักษาโลกียศีลนั้น ไม่มีความปรารถนาที่จะตัดกิเลส มีแต่ความปรารถนาที่จะให้ได้บุญได้กุศลอย่างเดียว เปรียบเหมือนรากไม้เกาะเกี่ยวอยู่กับแผ่นดิน ครั้นได้น้ำฝนตกลงมาถูกต้องแล้ว ก็กลับงอกขึ้นมาได้อีก ฉันใดก็ดี โลกียศีลก็มีอุปาทานเกี่ยวอยู่ กิเลสก็อาศัยอุปาทานบังเกิดขึ้นได้อยู่ เพราะเหตุนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อุปาทานปัจจยาภโว เมื่อมีอุปทานเป็นปัจจัยแล้ว ภพก็อาศัยบังเกิดขึ้นได้อยู่ เพราะฉะนั้นจึงว่า โลกียศีลนี้ กิเลสยังอาศัยบังเกิดขึ้นได้อยู่ ศีลอันนั้นแลชื่อว่ โลกียศีล ดังนี้

    ในโลกุตรศีลนั้น โดยเนื้อความว่า ศีลอันใดไม่ยังกิเลสให้บังเกิดขึ้นได้ ศีลอันนั้นแลชื่อว่า โลกุตรศีล ดังนี้ โดยความอธิบายว่า โลกุตรศีลนั้นไม่ต้องสมาทาน ไม่ต้องระวังรักษา กิเลสบังเกิดขึ้นไม่ได้ เปรียบเหมือนหนึ่งบุคคลที่ตัดต้นไม้แล้วแล ขุดถอนรากเสียฉะนั้น ถึงฝนจะถูกต้องเป็นประการใด ๆ ก็ดี ก็ไม่สามารถจะงอกงามขึ้นมาได้ ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนบุคคลที่ตัดยอดตาลและยอดมะพร้าว ธรรมดาว่ายอดตาลและยอดมะพร้าวอันบุคคลตัดแล้วนั้น ก็ไม่สามารถจะงอกขึ้นได้ โลกุตรศีลก็มีอุปไมยเหมือนกันฉะนั้น
 
    บุคคลที่รักษาโลกุตรศีลนั้น เพราะมีปัญญาพิจารณาเห็นว่า ปัญจขันธ์แลสรรพธรรมทั้งปวงแต่แล้วล้วนเป็นของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ได้รักไม่ได้ชัง กิเลสก็บังเกิดขึ้นไม่ได้ กิเลสจะบังเกิดขึ้นได้นั้น ก็เพราะจิตที่รักที่ชังนี่เอง เมื่อจิตไม่รักไม่ชังแล้ว กิเลสก็จะบังเกิดขึ้นมาแต่ไหนเล่า อุปมาเหมือนหนึ่งไฟ ธรรมดาว่าไฟจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยเชื้อมีอยู่ แต่ถ้าเชื้อไม่มีแล้ว ไฟก็เกิดขึ้นไม่ได้ ฉันใดก็ดี ใจของพระอริยสรรพบุรุษทั้งหลายนั้นย่อมไม่มีเชื้อ คือ อุปาทานที่แจ้งไปด้วยพระไตรลักษณญาณนั้นอยู่ในจิตสันดานเป็นนิจนิรันดร เมื่อเชื้อคืออุปาทานไม่มีแล้ว กิเลสก็บังเกิดขึ้นไม่ได้ เหมือนหนึ่งเชื้อแห่งไฟฉะนั้น

    เพราะเหตุนั้นจึงว่า โลกุตรศีลนั้นไม่ต้องสมาทาน ไม่ต้องรักษา เป็นแต่ใช้ปัญญาดวงเดียวก็รู้กิเลสได้หมด เมื่อรู้กิเลสได้หมดแล้วก็เป็นโลกุตรศีล ไม่ต้องสมาทานรักษา โลกียภาวนานั้น เมื่อบังเกิดขึ้นแล้วก็หายไป ไม่ถาวรมั่นคงอยู่ได้ เหมือนหนึ่งจิตที่เป็นเอกัคตาแล้ว ก็กลับมาเป็นวิตกวิจารณ์อีกต่อไปได้ฉะนั้น หรือเปรียบเหมือนหนึ่งบุคคลที่ขึ้นต้นไม้ ครั้นเก็บเอาผลไม้แล้ว ก็กลับลงมากองไว้ใต้ต้นไม้ แล้วจึงขึ้นไปเก็บอีกฉะนั้น ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนบุรุษที่ไปบวชในสำนักแห่งพระสารีบุตรแล้ว แลเรียนภาวนาได้สำเร็จฌาณโลกีย์เหาะไปได้ ครั้นภายหลังไปเห็นสตรี ก็มีจิตปฏิพัทธ์ยินดีชอบใจ อยากได้สตรีนั้นมาเป็นภรรยาของตน ภาวนั้นก็เสื่อมหายไป ครั้นภายหลังไปประพฤติโจรกรรม เขาจับตัวได้ ถึงแก่โทษประหารชีวิต พระสารีบุตรผู้เป็นอุปัชฌาย์ได้ทราบเหตุดังนั้นแล้ว จึงไปเตือนสติให้ภาวนา บุรุษนั้นก็ระลึกได้ จึงบริกรรมภาวนา ก็เหาะหนีรอดความตายมาได้ฉะนั้น เหตุนี้จึงว่า โลกียภาวนานั้นไม่ถาวรมั่นคงอยู่ได้ เมื่อบังเกิดขึ้นแล้วก็สูญหายไป เพราะเป็นของไม่เที่ยง รู้กำเริบได้ ไม่เหมือนโลกุตรภาวนา โลกุตรภาวนานั้นเป็นของถาวรมั่นคงเที่ยงแท้ ไม่รู้แปรผันวิปริตกลับกลอกเหมือนหนึ่งโลกียภาวนา

    โลกุตรภาวนานั้น เปรียบเหมือนหนึ่งบุคคลที่ว่ายน้ำไปในที่น้ำพัดให้กลายกลับกลอกไปมา ครั้นถึงฝั่งฟากแล้วก็พ้นจากนั้นไม่มีคลื่นฉะนั้น โดยความอธิบายว่า ภาวนาให้บังเกิดขึ้นแล้วแลไม่หายไม่สูญไป ฉะนั้นแลชื่อว่าโลกุตรภาวนา โลกุตรภาวนานั้นอุปมาเหมือนบุคคลที่เข้าถ้ำจนค่ำมืด มืดนั้นก็ได้แก่บุคคลที่แรกเจริญภาวนา บุคคลที่แรกเจริญภาวนานั้นก็ยังมืดอยู่ ครั้นภาวนาบังเกิดขึ้นแล้ว ก็มีแต่ความสว่างขึ้น ไม่มืดต่อไป บุรุษผู้เข้าป่าในเวลาค่ำมืดนั้น ครั้นแสงพระจันทร์ส่องสว่างลงมาแล้ว ย่อมได้แสงจันทร์เป็นที่ดำเนินไป บุรุษนั้นก็ได้เห็นพระจันทร์แล้ว บุรุษนั้นเดินไปสถานที่ใด ๆ จะให้พ้นพระจันทร์ไปนั้นไม่ได้ เมื่อบุรุษนั้นจะเดินไปสู่ประเทศที่ใด ๆ พระจันทร์ก็ตามไปในประเทศที่นั้น ๆ ฉันใดก็ดี ท่านที่ได้เจริญโลกุตรภาวนานั้น เมื่อโลกุตรภาวนาบังเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมติดตามผู้นั้นไปจนตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพานฉะนั้น เพราะเหตุนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา ดังนี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 07, 2011, 05:12:05 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

                 

๒๗. เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา

    ในบทที่ ๒๗ ว่า เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา นี้แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่ธรรมที่พึงละกิเลส เพราะเหตุที่ไม่ได้เห็นแลไม่ได้ภาวนานั้น ความอธิบายว่า ในเบื้องต้นที่หนึ่งว่าละกิเลสได้เพราะเห็น บทที่สองนั้นว่าละกิเลสได้เพราะภาวนา ดังนี้ ในบทที่สามนั้นว่าไม่ต้องเห็นไม่ต้องภาวนา ละกิเลสได้ด้วยภาวะของตนเอง เปรียบเหมือนหนึ่งต้นไม้ที่มีผลเป็นต้น ธรรมดาว่าผลไม้นั้น บางทีหล่นลงเองก็มี บางทีหล่นด้วยพายุพัดก็มี บางทีหล่นด้วยคนสอยก็มี บางทีหล่นด้วยสัตว์ทั้งหลายมีค้างคาวเป็นต้น แต่พระธรรมบทนี้หล่นลงโดยสภาวะของตนเอง จะได้ลงด้วยคนสอยและลมพายุพัดและสัตว์จำพวกใดกระทำหามิได้ เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา ฉะนี้

    พระสกวาทีฯ จึงถามขึ้นว่า ข้าแต่ท่านปรวาทีฯ ข้าพเจ้าเคยได้ยินได้ฟังมาว่า ท่านที่ได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษต่าง ๆ นั้น ก็เพราะได้เห็น ได้เจริญภาวนาดังที่ท่านได้เห็นฟองน้ำและพยับแดดเป็นฉะนี้ ในพระกรรมฐาน ๔๐ แลวิปัสสนา ๑๐ นั้นก็ดี ท่านแสดงไว้ว่าได้สำเร็จเพราะเหตุที่ได้เห็น และเหตุที่ได้เจริญภาวนา ดังนี้ ก็แลคำที่ท่านว่าไม่ต้องเห็นไม่ต้องภาวนานั้น ข้าพเจ้ามีความสงสัยเพราะไม่เคยได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น ขอพระปรวาทีฯ จงแสดงอ้างบุคคลพอเป็นตัวอย่าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจอีกต่อไป

    พระปรวาทีฯ จึงนำเอาเรื่องพระอานนท์มาแสดงเพื่อให้เป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า ดูก่อนท่านสกวาทยาจารย์ เพื่อพระอานนท์ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปถึงเมืองกุสินารา ครั้งนั้น พระอานนท์ได้ทราบว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จเข้าสู่พระนิพพานก็มีความเศร้าโศกอาลัยไปต่าง ๆ พระองค์จึงทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า มา โสจะยิ ดูก่อนอานนท์ เธออย่าได้เศร้าโศกเสียใจไปเลย เมื่อเราผู้ตถาคตนิพพานไปแล้วพระมหาอริยะกัสสะปะจะยกพระวินัยสุตตันตอภิธรรมขึ้นสู่สังคายนา ในกาลครั้งนั้นท่านจะได้บรรลุอาสวักขัยเป็นพระอรหันต์ดังนี้

    ครั้นถึงวันประชุมสังคายนา พระสงฆ์ทั้งหลายจึงตักเตือนพระอานนท์ เสวะสันนิปาโต วันพรุ่งนี้แล้วพระสงฆ์จะประชุมกระทำสังคายนา ตวัง เสโข ตัวท่านยังเป็นเสขบุคคลอยู่ ท่านหาสมควรที่จะเข้าประชุมสันนิบาตไม่ อัปปะมัตโต โหติ ฉะนั้นท่านจงอย่าได้ประมาทเลย ดังนี้ เมื่อพระอานนท์ได้ฟังซึ่งคำแห่งสงฆ์ตักเตือน ดังนั้น จึงเข้าไปสู่ที่สงัดกระทำสมณธรรมปลงปัญญาลงความเห็นชัดว่า เราคงได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษพระอรหันต์เป็นแน่ พระองค์ทรงตรัสไว้แล้วไม่เป็นคำสอง ดังนี้ ดูก่อนท่านสกวาทีฯ พระอานนท์ก็ไม่ได้สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษอันใดเพราะเหตุที่ได้เห็นนั้น

    ครั้นภายหลัง พระอานนท์ก็ได้เจริญกายคตาสติกรรมฐาน พิจารณาซึ่งอาการ ๓๒ โดยพระไตรลักษณญาณ จนคืนยันรุ่งพระอานนท์ก็ไม่ได้สำเร็จมรรคผลวิเศษอันใด เพราะเหตุนั้น พระอานนท์จึงวิตกไปว่า ก็เหตุใดหนอเราจึงไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ สังขาระสะมัตโถ ชะรอยว่าเราจะทำความเพียรกล้าหนักไป จำเราจะระงับสังขารเสียสักหน่อยให้สบาย แล้วจึงจะภาวนาใหม่ต่อไป ฉะนี้ พระอานนท์ก็ละความเห็นและภาวนานั้นแล้วจึงเอนกายลง พระเศียรยังไม่ถึงพระเขนย พระบาทยังไม่พ้นพื้น
พระอานนท์ก็ได้บรรลุอาสวักขัยเป็นพระอรหันต์ปฏิปสัมภิทาในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ นั้น  โดยความอธิบายว่า พระอานนท์เป็นผู้เกื้อกูลแก่ธรรมอันจะพึงละกิเลสได้ด้วยเหตุที่ไม่ต้องเห็นไม่ต้องภาวนา ดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา ฉะนี้ ปราชญ์ผู้มีวิจารณญาณก็พึงสันนิษฐานเข้าใจตามนัยพุทธภาษิตอันวิจิตรพิศดาร อาตมารับประทานวิสัชนามาในติกมาติกาที่ ๒๗ นี้โดยสังเขปกถา ก็ยุติลงเพียงนี้


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

               

๒๘. อาจะยะคามิโน ธัมมา

    ในลำดับนี้จะได้แสดงในติกมาติกาที่ ๒๘ สืบต่อไป โดยนัยพระบาลีว่า อาจะยะคามิโน ธัมมา เป็นต้น แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเหตุจะยังสัตว์ให้ได้เสวยความสุข เพราะการสร้างสมซึ่งบุญนั้น ธรรมดาว่าบุคคลไปสู่หนทางอันไกล ก็ต้องอาศัยสะสมเสบียงอาหารให้เพียงพอบริบูรณ์ก่อน จึงจะมีความสุขความสบายในหนทางฉะนั้น หรือเปรียบเหมือนหนึ่งแม่ทัพที่จะยกพลนิกายเข้าสู่ยุทธสงคราม ก็ต้องตระเตรียมเสบียงอาหารและเครื่องศาสตราวุธให้เพียงพอบริบูรณ์ก่อน จึงจะยกเข้าสู่ยุทธสงครามนั้นได้ ฉันใดก็ดี บุคคลที่จะได้ประสบซึ่งความสุขนั้น ก็ต้องอาศัยสะสมซึ่งการบุญการกุศลเหมือนกัน ดังมีในราชเทวตาสังยุตพุทธภาษิตว่า ปุญญัสสะ อุจจะโย เมื่อบุคคลผู้ใดสะสมซึ่งบุญ บุญนั้นก็จะนำมาซึ่งความสุข เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อาจะยะคามิโน ธัมมา ฉะนี้ฯ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

                 

๒๙. อะปะจะยะคามิโน ธัมมา

    ในบทที่ ๒๙ ว่า อะปะจะยะคามิโน ธัมมา นั้น แปลความว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นเหตุจะยังสัตว์ให้ได้เสวยซึ่งความทุกข์ เพราะไม่ได้สั่งสมขึ้นซึ่งการบุญการกุศล โดยความอธิบายว่า บุคคลจะถึงซึ่งความทุกข์ยากลำบากเข็ญใจเพราะไม่มีเครื่องใช้สอยต่าง ๆ มีเงินทองผ้านุ่งห่มเป็นต้นนั้น ก็เพราะไม่ได้สั่งสมการบุญการกุศล เปรียบเหมือนหนึ่งคนยากจนอนาถาเที่ยวขอทานท่านผู้อื่นเลี้ยงอัตภาพ บางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้ วันที่ขอเขาไม่ได้นั้นแลมากกว่าวันที่ได้ เพราะของของตนไม่มี จึงต้องถึงซึ่งความลำบากดังนี้ ดังมีบุคคลเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า ยังมีเศรษฐีผู้หนึ่ง ชื่อ อานันทเศรษฐี ผู้นี้ไม่ได้กระทำบุญให้ทานแก่ใคร ๆ ครั้นตายไปก็ได้บังเกิดในครรภ์จันฑาล ตั้งแต่ทารกนั้นมาปฏิสนธิการตั้งครรภ์ขึ้นมา ก็กระทำให้บิดามารดาทั้งสองถึงความยาก เที่ยวขอทานเขาได้โดยลำบาก ครั้นคลอดออกมาพอรู้เดินได้แล้ว มารดาบิดาพาไปเที่ยวขอทาน ก็เลยไม่ได้สิ่งอันใด ถ้าไม่พาไป ไปแต่ตนผู้เดียว ก็ได้มาพอเป็นยาปรมัตถ์เลี้ยงกันไป เพราะเหตุนั้นมารดาจึงพาไปปล่อยทิ้งเสียให้ไกลพ้นจากบ้านของตนแล้ว ก็เที่ยวขอทานเขากินได้โดยความสะดวกดี

    ฝ่ายทารกนั้นก็เที่ยวขอทานเขาไป เมื่อทารกทั้งหลายได้เห็นแล้ว ก็พากันไล่ทุบตีให้ถึงแก่ความตาย แล้วจึงพากันเอาไปโยนทิ้งไว้เหนือกองหยากเยื่อในที่แห่งหนึ่ง เพลาเช้าวันนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเสด็จไปโคจรภิกขาจารบิณฑบาต ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นทารกนั้นนอนตายอยู่บนกองหยากเยื่อนั้นแล้ว จึงทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ทารกที่นอนตายอยู่บนกองหยากเยื่อนี้ก็คืออานันทเศรษฐีนั้นเอง เพราะตนไม่ได้บำเพ็ญกุศลไว้ จึงต้องถึงซึ่งความทุกข์ยากลำบากเห็นสภาวะปานฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อะปะจะยะคามิโน ธัมมา