ผู้เขียน หัวข้อ: พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย : หลวงปู่ฝั้น อาจาโร  (อ่าน 23276 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




         พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย
                   หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
       วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

    ๐ บทนำ
    ๑. กุสะลาธัมมา
    ๒. อกุสะลา ธัมมา
    ๓. อัพยากะตา ธัมมา
    ๔. สุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา
    ๕. ทุกขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา


    ๖. อะทุกขะมะสุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา
    ๗. วิปากา ธัมมา
    ๘. วิปากะธัมมะ ธัมมา
    ๙. เนวะวิปากะนะวิปากธัมมะ ธัมมา
    ๑๐. อุปาทินนุปาทานิยา ธัมมา

    ๑๑. อะนุปาทินนุปาทานิยา ธัมมา
    ๑๒. อะนุปาทินนานุปาทานิยา ธัมมา
    ๑๓. สังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา
    ๑๔. อะสังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา
    ๑๕. อะสังกิลิฏฐาสังกิเลสิกา ธัมมา

    ๑๖. สะวิตักกะสะวิจารา ธัมมา
    ๑๗. อะวิตักกะ วิจาระมัตตา ธัมมา
    ๑๘. อะวิตักกาวิจารา ธัมมา
    ๑๙. ปีติสะหะคะตา ธัมมา
    ๒๐. สุขะสะหะคะตา ธัมมา


    ๒๑. อุเปกขาสะหะคะตา ธัมมา
    ๒๒. ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพา ธัมมา
    ๒๓. ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา
    ๒๔. เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา
    ๒๕. ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา


    ๒๖. ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา
    ๒๗. เนวะ ทัสสะเนนะ นะ ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา
    ๒๘. อาจะยะคามิโน ธัมมา
    ๒๙. อะปะจะยะคามิโน ธัมมา
    ๓๐. เนวาจะยะคามิโน นาปะจะยะคามิโน ธัมมา

    ๓๑. เสกขา ธัมมา
    ๓๒. อะเสกขา ธัมมา
    ๓๓. เนวะเสกขา นาเสกขา ธัมมา
    ๓๔. ปะริตตา ธัมมา
    ๓๕. มะหัคคะตา ธัมมา


    ๓๖. อัปปะมาณารัมมะณา ธัมมา
    ๓๗. ปะริตตารัมมะณา ธัมมา
    ๓๘. มะหัคคะตารัมมะณา ธัมมา
    ๓๙. อัปปะมาณารัมมะณา ธัมมา
    ๔๐. หีนา ธัมมา

    ๔๑. มัชฌิมา ธัมมา
    ๔๒. ปะณีตา ธัมมา
    ๔๓. มิจฉัตตะนิยะตา ธัมมา
    ๔๔. สัมมัตตะนิยะตา ธัมมา
    ๔๕. อะนิยะตา ธัมมา


    ๔๖. มัคคารัมมะณา ธัมมา
    ๔๗. มัคคะเหตุกา ธัมมา
    ๔๘. มัคคาธิปะติโน ธัมมา
    ๔๙. อุปปันนา ธัมมา
    ๕๐. อะนุปปันนา ธัมมา

    ๕๑. อุปปาทิโน ธัมมา
    ๕๒. อะตีตา ธัมมา
    ๕๓. อะนาคะตา ธัมมา
    ๕๔. ปัจจุปปันนา ธัมมา
    ๕๕. อะตีตารัมมะณา ธัมมา


    ๕๖. อะนาคะตารัมมะณา ธัมมา
    ๕๗. ปัจจุปปันนารัมมะณา ธัมมา
    ๕๘. อัชฌัตตา ธัมมา
    ๕๙. พะหิทธา ธัมมา
    ๖๐. อัชฌัตตะพะหิทธา ธัมมา


    ๖๑. อัชฌัตตารัมมะณา ธัมมา
    ๖๒. พะหิทธารัมมะณา ธัมมา
    ๖๓. อัชฌัตตะพะหิทธารัมมะณา ธัมมา
    ๖๔. สะนิทัสสนะสัปปะฏิฆา ธัมมา
    ๖๕. อะนิทัสสะนะสัปปะฏิฆา ธัมมา
    ๖๖. อะนิทัสสะนาปปะฏิฆา ธัมมา


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 19, 2012, 10:27:42 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย
เรียบเรียงโดยหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

กรุณา วิยะ สัตเตสุ ปัญญายัสสะ มเหสิโน
เญยยธัมเมสุ สัพเพสุ ปวัตติตถะยถารุจิง
ทยายะ ตายะ สัตเตสุ สมุสสาหิตมานโส
ฯลฯ
อภิธัมมกถัง กเถสีติฯ

    ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้ประทานวิสัชนา ในพระอภิธรรมมาติกา ๒๒ ติกะในเบื้องต้น สนองศรัทธาธรรมของท่านสาธุชนสัปบุรุษ โดยสมควรแก่กาลเวลา ด้วยพระอภิธรรมมาติกานี้ ยากที่จะอธิบายแก้ไขแปลออกไปให้พิศดารได้ มีแต่ท่าน สวดมาติกาเพลาบังสุกุลเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นบาลีอยู่ ยากที่จะเข้าใจได้ ที่ท่านแปลออกไว้ก็มีแต่พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์อย่างย่อเท่านั้น แต่ในพระอภิธรรมมาติกานี้ หาได้แปลออกให้วิตถารพิศดารไม่ พระอภิธรรมมาติกา ๒๒ ติกะในเบื้องต้นนี้ ทรงสำแดงเมื่อพระชินสีห์พระศาสดาจารย์ เสด็จคมนาการขึ้นจำวัสสาในชั้นดาวดึงสาเทวโลก ทรงตรัสเทศนาในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ โปรดหมู่เทวกัลยา มีพระพุทธมารดาเป็นต้น กเถตตุ กามะยะตา ทรงปุจฉาเป็นสกวาที ปรวาที ทุก ๆ คัมภีร์ เป็นลำดับ ๆ ไปฯ

    เบื้องหน้าแต่นี้ อาตมาภาพจักได้วิสัชนาในพระอภิธรรมาติกาเป็นปุจฉาวิสัชนา ตามนัยพระพุทธฎีกาเช่นนั้น เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสได้ศรัทธา เชื่อมั่นคุณพระรัตนตรัยยิ่ง ๆ ขึ้นไป

    สมัยครั้งหนึ่ง ยังมีพระอาจารย์องค์หนึ่งชื่อ สกวาทีอาจารย์ มารำพึงแต่ในใจว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดานั้น พระองค์ได้เลือกคัดจัดสรรพระวินัย พระสุตตันตะ พระอภิธรรมทั้ง ๓ ปิฎกนี้แล้ว ก็ยังไม่เห็นว่าจักเสมอด้วยคุณของพระพุทธมารดานั้นได้ เห็นแต่พระอภิธรรมาติกานี้ไซร้จึงจะสมควรด้วยคุณของพระพุทธมารดา แต่พระบาลีนั้นก็ยังปรากฏอยู่ ๒๒ ติกะ ติกะละ ๓ รวมเป็น ๖๖ บทดังนี้ ทำไฉนหนออาตมาจึงจะรู้จักเข้าใจในเนื้อความแห่งพระอภิมาติกานี้

    เมื่อท่านสกวาทีอาจารย์คิดรำพันแต่ในใจฉะนี้แล้ว จึงคมนาการเข้าไปสู่สำนักของท่านปรวาทีอาจารย์ ท่านปรวาทีอาจารย์จึงกล่าวพระบาลีขึ้นว่า กุสะลา ธัมมา อกุสะลา ธัมมา เป็นต้น โดยเนื้อความเดิมในปฐมมาติกานี้ว่า กุสะลา ธัมมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลนั้นเป็นอย่างหนึ่ง อกุสะลา ธัมมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลนั้นอย่างหนึ่ง อัพยากะตา ธัมมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นอัพยากฤตนั้นอย่างหนึ่ง

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


             
                               หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

๑. กุสะลาธัมมา
    โดยความอธิบาย ในธรรมที่เป็นกุศลนั้นว่า ธรรมอันเป็นส่วนของบุคคลทั้งหลาย ผู้ฉลาด แปลว่าตัดออกเสียซึ่งบาป ไม่ให้เกิดขึ้นในสันดานได้ มีอุปมาเหมือนหนึ่งบุคคลปลูกผลไม้ มีต้นมะม่วง เป็นต้น คอยระวังรักษาไม่ให้กาฝากบังเกิดขึ้นในต้นมะม่วงนั้นได้ เพราะกลัวต้นมะม่วงนั้นจะไม่งาม จะมีผลน้อย เปรียบเหมือนร่างกายของบุคคลผู้ฉลาด อันธรรมดาบุคคลผู้ฉลาดนั้นย่อมระวังรักษากายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ให้บังเกิดความเศร้าหมองได้ฉะนั้น

    ท่านปรวาทีอาจารย์ถามว่า ในปฐมมาติกาคือ กุสะลา ธัมมา นั้น ท่านก็แปลถูกต้องตามพยัญชนะแล้ว แลยังอัตถาธิบายความอุปมาอุปไมยซ้ำอีกเล่า ยังจะมีอะไรที่ข้าพเจ้าจักต้องแจกแจงอีกหรือ?

    ท่านสกวาทีอาจารย์จึงว่า โดยอัตถุนั้นข้าพเจ้าก็เข้าใจแล้ว แต่ข้าพเจ้ายังมีความวิตกถึงบุคคลที่โง่กว่าข้าพเจ้านี้ก็ยังมีอยู่บ้าง เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าจึงขอคำแนะนำต่อไปอีกสักหน่อย ขอรับ

    ท่านปรวาทีอาจารย์จึงตอบขึ้นว่า เอโก กิระ ปุริโส ดูก่อนท่านสกวาทยาจารย์ ดังได้ยินข่าวว่ามีบุรุษผู้หนึ่งเป็นคนฉลาด ได้เห็นเรือพลัดมาติดอยู่ที่หน้าท่าของตน แล้วก็พิจารณาเห็นว่า เรือนี้เป็นเรือโจร โจรเก็บเอาของในเรือไปหมดแล้ว ลอยเรือมาหน้าท่าของเรา ถ้าเราไม่ผลักออกไปเสียจากหน้าท่าของเราไซร้ เมื่อเจ้าของเรือมาพบเข้าในกาลใด ก็จักกล่าวโทษว่าเราเป็นโจรลักเอาเรือมาดังนี้

    เปรียบเหมือนหนึ่งบุรุษไถนา วันหนึ่งโจรนำเอาถุงทรัพย์ไปทิ้งไว้ที่ริมนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเสด็จไปกับพระอานนท์ ครั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นถุงทรัพย์นั้นแล้ว จึงทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า อสรพิษอยู่ที่นี้แล้ว ครั้นบุรุษไถนาได้ฟังพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระอานนท์ดังนั้น ก็สำคัญเสียว่าเป็นอสรพิษจริง ๆ หาได้คิดว่าโจรเอาถุงเงินไปทิ้งไว้ในที่นั้นไม่ แล้วพระองค์จึงคมนาการเสด็จไปสู่ที่อื่น ครั้นภายหลังบุรุษผู้เป็นเจ้าของทรัพย์มา เห็นถุงทรัพย์ของตนทิ้งอยู่ที่ริมนาของบุรุษไถนานั้นแล้ว ก็สำคัญมั่นหมายว่าบุรุษไถนานั้นเป็นโจร จึงจับเอาบุรุษไถนานั้นไปฉะนี้ บุคคลผู้มีวิจารณญาณพิจารณาเห็นเหตุผลดังนี้แล้ว ก็ถอยเรือนั้นออกจากหน้าท่า ปล่อยไปตามกระแสน้ำ ก็จัดได้ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาด ตัดฐานะภัยเสียได้ ดังนี้

    ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนหนึ่งบุรุษเลี้ยงโค บุรุษเจ้าของโคนั้นเมื่อได้เห็นโคหลวงมาอยู่ในคอกของตนแล้ว ก็คิดแต่ในใจว่า ถ้าผู้ใหญ่บ้านและนายอำเภอมาเห็นโคหลวงมาอยู่ในคอกของเราแล้ว ก็จะหาว่าเราลักเอาโคของหลวงมา แล้วก็จะจับเอาตัวเราไปลงทัณฑกรรมต่าง ๆ เมื่อบุรุษเลี้ยงโคคิดเช่นนี้แล้ว ก็เปิดประตูคอกไล่โคหลวงออกไปให้พ้นจากบ้านของตน ดังนี้ก็จัดได้ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาด ตัดราชภัยให้พ้นไปเสียได้ ดังนี้

    อีกเรื่องหนึ่ง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะของเราได้เสวยพระชาติเป็นกุฑาลบัณฑิต ครั้งนั้นพระองค์ได้ทำไร่ข้าวโพดและถั่วราชมาส อยู่ริมฝั่งมหาสมุทร ครั้นถึงคิมหันตฤดูแล้ว ก็บวชเป็นฤาษี เมื่อถึงวัสสันตฤดู (ฤดูฝน) แล้วก็สึกออกมาทำไร่ต่อไป เป็นเช่นนี้อยู่ถึง ๗ ครั้ง คือ บวช ๗ ครั้ง สึก ๗ ครั้ง ครั้นภายหลัง พระองค์จึงมาคิดว่า เรามีความเหนื่อยยากลำบากกาย ต้องบวชต้องสึก เพราะเป็นห่วงจอบกับข้าวโพดเป็นต้นนี้เอง ทำให้เราต้องบวช ๆ สึก ๆ เมื่อพระองค์คิดได้เช่นนี้แล้ว จึงนำเอาผ้าห่อพืชคามกับจอบนั้นไปโยนทิ้งเสียที่ริมฝั่งมหาสมุทร ครั้นสิ้นห่วงสิ้นกังวลแล้ว พระองค์จึงมาเจริญสมาบัติ ก็ได้สำเร็จญาณโลกีย์ ครั้นจุติจากนั้นแล้วก็ได้อุบัติบังเกิดในชั้นพรหมโลก ดังนี้

    แสดงมาทั้งนี้ก็เป็นแต่อุปมาอุปไมยเพื่อจะให้เห็นความว่า ร่างกายของเราท่านทั้งหลาย คือ เบญจขันธ์ทั้ง ๕ นี้ เมื่อบุคคลมีความยินดีรักใคร่อยู่ตราบใดแล้ว ก็จักได้เสวยแต่กองทุกขเวทนาอยู่ตราบนั้น เท่ากับว่ายินดีอยู่ด้วยราชภัยคือพญามัจจุราช และโจรภัยคือโมหะ เหมือนดังพระบาลีที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า ปัญจุปาทานักขันธาทุกขา ดังนี้ โดยเนื้อความว่า สัตว์โลกทั้งหลายมีความเดือดร้อนอยู่ ก็เพราะเข้าไปยึดถือเอาขันธ์ไว้ว่าเป็นของของเราฉะนี้

    ในธรรมที่ว่า กุสะลา ธัมมา นั้นคือ มีพุทธประสงค์ให้เอาองค์ปัญญาตัดอาลัยในเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เสียได้ โดยเห็นว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เพราะเบญจขันธ์นั้นไม่ได้อยู่ในอำนาจใต้บังคับของผู้ใด เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า กุสะลา ธัมมา แปลว่า ตัดเสียซึ่งบาปออกจากกาย วาจา ใจ ไม่ให้เกิดขึ้นได้ วินะยะ แปลว่าวินัย ก็แปลว่า นำเสียซึ่งบาปออกจากกาย วาจา ใจ ไม่ให้ติดอยู่ในสันดานได้ ปฏิปัตติ ก็แปลว่า ปฏิบัติกลับ กาย วาจา ใจ ที่เป็นบาปให้เป็นบุญเป็นกุศลเสียฉะนี้ เพราะเหตุนั้นจึงได้เรียกชื่อว่า ศีล ว่า วินัย ว่า ปฏิบัติ ดังนี้

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 20, 2013, 03:08:56 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

                 

๒. อกุสะลา ธัมมา
    เบื้องหน้าแต่นี้จักได้แก้ไขในบทที่ ๒ ต่อไป อกุสะลา ธัมมา นี้สืบไป โดยพระบาลีว่า อกุสะลา ธัมมา ธรรมทั้งหลายอันเป็นอารมณ์แห่งจิต คือว่าทรงไว้ซึ่งจิตที่เป็นอกุศลกรรม อกุสะลา ธัมมา ถ้าชี้ตัวบุคคลก็แปลว่า ธรรมของบุคคลผู้ไม่ฉลาด หรือแปลว่า ไม่ตัดบาปกรรมออกไปจาก กาย วาจา ใจ ก็ได้ ความอธิบายว่า คนโง่ ไม่ระงับบาปที่จะถึงแก่ตน บางคนบาปยังไม่ทันมาถึงตนเลย ก็เที่ยวแสวงหาบาปใส่ตนก่อนก็มี

    ท่านสกวาทีอาจารย์จึงถามขึ้นว่า คำว่าบาปที่จักมาถึงแก่ตนนั้นอย่างไรและที่ว่าบาปยังไม่ทันมาถึงตน ก็ไปเที่ยวแสวงหาบาปใส่ตนก่อนนั้นอย่างไร ขอท่านปรวาทีฯ จงวิสัชนาความข้อนี้ให้เกิดเป็นสุตตมยปัญญาแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิดพระเจ้าข้า?

 ท่านปรวาทีจึงอธิบายว่า บาปที่จะมาถึงแก่ตนนั้น ด้วยเหตุที่จักกระทำให้เดือดร้อนขึ้นก่อน เป็นต้นว่าไปได้ยินเสียงเขาลงอาญาหรือทุบตีด้วยไม้ ฆ้อน หรือก้อนดิน เป็นต้น บุคคลที่จะเกิดความเดือดร้อนนั้น เพราะไม่ปิดป้องกำบังไว้ให้ดี ปล่อยให้เสียงนั้นล่วงเข้ามากระทบหูหรือายตนะนั้นมาถึงตน บุคคลผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นคนโง่ ไม่ฉลาด ไม่ตัดบาป ไม่ระวังบาปที่จักมาถึงแก่ตนฉะนี้ ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนบุคคลที่มีเรือนไฟไหม้ บุรุษนั้นเมื่อได้เห็นไฟไหม้มาแต่ไกลแล้ว ก็ไม่ระมัดระวังไฟและไม่ตัดเชื้อไฟเสียแต่ที่ต้นลม เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นคนโง่ ไม่ฉลาด ไม่ระวังบาปที่จักมาถึงแก่ตน ดังนี้

    คำที่ว่าไปเที่ยวแสวงหาบาปใส่ตนนั้น ได้แก่บุคคลที่เที่ยวปักขวากหลาวไว้และตักบ่วงข่ายไว้สำหรับจะให้สัตว์มาติดตายนั้นแล จักได้ชื่อว่าไปเที่ยวแสวงหาบาปมาใส่ตน ที่ว่าไม่ได้ตัดบาปเสียนั้น มีคำอธิบายว่า ยังมีต้นไม้ไทรอยู่ต้นหนึ่ง ไม่สู้โตนัก มีใบ กิ่ง ก้าน บริบูรณ์เป็นอันดีอยู่ในป่าหิมวันตประเทศ วันหนึ่งมีนกบินไปจับกินเถาวัลย์ ครั้งภายหลังก็บินมาจับที่ต้นไทรนั้นแล้วก็ถ่ายอุจจาระลงไป ครั้นถึงวสันตฤดู เมล็ดเถาวัลย์นั้นก็งอกงามขึ้นมาที่ใต้ต้นไทร ยังมีคนจำพวกหนึ่งได้เดินมาเห็นเถาวัลย์กำลังงอกขึ้นอยู่ใต้ต้นไทร แล้วบอกแก่ต้นไทรนั้นว่า หน่อเถาวัลย์นั้น ครั้นงอกงามขึ้นมานี้แล้ว ถ้าทิ้งไว้ให้มันเจริญใหญ่โตแล้ว ก็จักปกคลุมท่านให้ถึงแก่ความตายไปในที่สุด ต้นไทรจึงตอบขึ้นว่า มันคงไม่ทันที่จะงอกงามขึ้นมาคลุมเราได้ สัตว์ทั้งหลาย มีกระต่ายและสุกรเป็นต้น ก็จะมากัดกินเป็นอาหาร เถาวัลย์ก็จักถึงแก่ความตายไป ไม่ทันที่จะเลื้อยยาวขึ้นมาได้ ครั้นนานไปเถาวัลย์นั้นก็เจริญใหญ่โตขึ้นมา ไม่มีอันตรายจากสัตว์ทั้งหลาย มีกระต่ายและสุกรเป็นต้น จนเถาวัลย์นั้นเลื้อยขึ้นไปถึงคาคบใหญ่ ยังมีคนจำพวกหนึ่งได้ตักเตือนต้นไทรนั้นว่า เหตุไฉนท่านจึงได้ให้โอกาสแก่เถาวัลย์นั้นเลื้อยขึ้นมาจนถึงเพียงน้เล่า ครั้นนานไปมันจักคลุมยอดของท่าน ท่านก็จักได้ความลำบาก ถึงแก่ความตายไป ครั้นต้นไทรได้ฟังแล้ว จึงตอบขึ้นว่า ท่านอย่าได้กลัวเลยว่าเถาวัลย์มันจักไม่ตาย ถ้าพวกตัดเสามาเขาเห็นเข้าแล้ว เขาก็จักตัดเอาไปทำเชือกลากเสา ต้นเถาวัลย์นั้นก็จักถึงแก่ความตายไป ครั้นนานมา ต้นเถาวัลย์นั้นก็เลื้อยขึ้นไปคลุมยอดแห่งต้นไทร จนต้นไทรนั้นถึงแก่ความตายหักลงไปอยู่เหนือปฐพี

    แสดงมาทั้งนี้ก็เพื่อให้เห็นความประมาทที่ไม่คิดตัดบาปทางกาย วาจา ใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องลำบากในภายหลัง ฉะนี้ฯ

    ท่านสกวาทีอาจารย์จึงถามขึ้นว่า บุคคลที่ไม่ตัดบาปนั้น ครั้นตายแล้วได้ไปเสวยทุกขเวทนาในอบายภูมิทั้ง ๔ มีนรกเป็นต้นนั้น จักได้แก่บุคคลจำพวกใด?

    ท่านปรวาทีจึงชักนิทานในคัมภีร์ธรรมบทมาแสดงให้เห็นปรากฏว่า ยังมีกุลบุตร ๔ คนพี่น้องกัน ครั้นได้ทัศนาการเห็นหญิงสวยผู้ภรรยาของท่านผู้อื่น แล้วเกิดความกำหนัดมีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ ได้กระทำกาเมสุมิจฉาจาร ครั้นพวกเขากระทำกาลกิริยาตายไปแล้ว ก็ไปตกอยู่ในนรกโลหะกุมภีนานประมาณหกหมื่นปีแล้ว จนน้ำนั้นเดือดขึ้นมาถึงปากหม้อกระทะทองแดงที่เดือดพล่าน แล้วก็ได้สติ มีความปรารถนาจะประกาศถึงบุพพกรรมของตนให้ปรากฏ แต่ก็กล่าวไม่ได้ตลอด ได้แต่เพียงคนละอักขระ คนที่หนึ่งว่า ทุ ความเต็มแปลว่า ข้าพเจ้าเป็นคนชั่ว ที่สองว่า สะ ความเต็มแปลว่า ข้าพเจ้าตกอยู่ในนรกนี้นานประมาณหกหมื่นปีแล้ว ที่สามว่า นะ ความเต็มแปลว่า ข้าพเจ้าไม่มีที่สุดว่าจักหมดกรรมเมื่อไร ที่นี่ว่า โส ความเต็มแปลว่า ข้าพเจ้าจักไม่กระทำชั่วอีกต่อไปแล้ว ดังนี้ พอยังไม่ทันจะหมดเรื่องที่จักกล่าว ได้แต่คนละอักขระ ๆ เท่านั้น น้ำก็พัดหมุนลงก้นหม้ออย่างเดิม แล้วก็ได้เสวยทุกขเวทนา เผ็ด แสบ ร้อน อยู่ในนรกอีกต่อไปจนกว่าจะสิ้นบาปกรรมเพราะโทษที่ตนไม่ได้ตัดบาปทาง ปวทาระกรรม (กระทำผิดในภรรยาของผู้อื่น) เปรตทั้ง ๔ ตนเหล่านี้เมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่นั้น ชื่อว่าเป็นคนโง่ คนไม่ฉลาด ไม่ตัดบาปกรรมเสีย เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นเปรต เสวยทุกขเวทนาอยู่ในโลหะกุมภีฉะนี้ฯ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
                   

๓. อัพยากะตา ธัมมา
    ในลำดับนี้จักได้วิสัชนาแก้ไขในบทที่ ๓ สืบต่อไป โดยพระบาลีว่า อัพยากะตา ธัมมา แปลว่า ธรรมเป็นอารมณ์แห่งจิตที่เป็น อัพยากฤต ข้อนี้แปลว่า ธรรมอันพระพุทธองค์มิได้ทรงพยากรณ์ว่าเป็นบุญหรือเป็นบาป ดังนี้ โดยความอธิบายว่า จิตที่ไม่ยินดียินร้าย ไม่โสมนัสโทมนัสนั้นแล ชื่อว่ อัพยากฤต เปรียบเหมือนหนึ่งว่า ใบบัวอันน้ำดีและน้ำชั่วตกถูกต้องแล้ว ก็ไหลไปไม่ขังอยู่ได้ฉะนั้น ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเสมือนเสาไม้แก่นอันบุคคลฝังไว้แล้วเหนือแผ่นดิน ผงเผ้าเถ้าธุลีจะปลิวมาสักเท่าใด ๆ ก็ดี ก็ไม่ติดอยู่ที่เสาได้ จิตที่เป็นอัพยากฤตนั้น ถึงใคร ๆ จะบูชาดีก็ดี บูชาชั่วก็ดี ก็ไม่มีความยินดียินร้ายฉะนั้น

    ท่านสกวาทีอาจารย์จึงได้ขออุปมาอุปไมยขึ้นอีกว่า ข้าแต่ท่านปรวาทีอาจารย์ ซึ่งท่านได้ชี้แจงแสดงมาก็ถูกต้องตามพระบาลีดีแล้ว ข้าพเจ้าได้ฟังก็มีความยินดีชอบใจทุกประการแล้ว แต่ข้าพเจ้าขออุปมาอุปไมยอีกสักหน่อย ขอรับ

    ท่านปรวาทีอาจารย์จึงแสดงอุปมาอุปไมยว่า ดูกรท่านสกวาทีอาจารย์นครวาริกะ ปุริโสวิยะ จิตที่เป็นอัพยากฤตนั้นเปรียบเหมือนหนึ่งนายทวาริกะคือบุรุษผู้เฝ้าประตูพระนคร จิตที่เป็นกุศลนั้นเปรียบเหมือนหนึ่งชนที่เข้าไปในประตูพระนคร จิตที่เป็นอกุศลนั้นเปรียบเหมือนชนที่ออกไปจากประตูพระนคร นายทวาริกะผู้เฝ้าซึ่งประตูพระนครนั้นก็ไม่ได้ไต่ถามซึ่งชนที่เข้าออก เพียงแต่เห็นหาได้ถามชนที่เข้าออกนั้นไม่ เช่นนี้แลชื่อว่า อัพยากฤต

    ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนหนึ่งภาชนะที่ใส่น้ำเป็นต้น ภาชนะที่เต็มแล้วด้วยน้ำนั้น ถึงใคร ๆ จะเอาน้ำใส่ลงไปอีกสักเท่าใด ๆ ก็ดี น้ำในนั้นก็ย่อมไหลล้นออกไปจากภาชนะ ไม่สามารถขังอยู่ได้ ฉันใดก็ดี จิตที่เป็นอัพยากฤต ที่พระพุทธองค์มิได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่าเป็นบุญเป็นบาปนั้น ก็ชื่อว่าบุญบาปไม่มี ถึงบุญบาปจักมีมาสักเท่าใด ๆ ก็ดี ก็ไม่สามารถจะติดค้างอยู่ได้ มีอุปไมยดังภาชนะที่เต็มแล้วด้วยน้ำฉะนั้น

    จิตที่เป็นอัพยากฤตนี้ก็ย่อมมีแต่ในพระอริยเจ้าจำพวกเดียวเท่านั้น หาได้มีแก่ปุถุชนไม่ ปุถุชนนั้นมีแต่จิตเป็นบุญเป็นบาปทั้งสองประการ จิตที่เป็นอัพยากฤตนั้นหาได้มีไม่ เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นอัพยากฤตนั้น จึงมิได้บังเกิดแก่ปุถุชน

   ท่านสกวาทีอาจารย์ได้ฟังก็ชอบใจ จึงไต่ถามต่อไปอีกว่า บุคคลผู้ใดมีแต่จิตที่เป็นกุศล ส่วนอกุศลและอัพยากฤตไม่มี บุคคลผู้ใดมีแต่จิตที่เป็นอกุศล ส่วนกุศลและอัพยากฤตไม่มี บุคคลผู้ใดมีแต่จิตที่เป็นอัพยากฤต ส่วนกุศลและอกุศลไม่มีเล่าขอรับ?

    ท่านปรวาทีอาจารย์จึงวิสัชนาว่า บุคคลที่มีจิตเป็นบาปเป็นอกุศลนั้น ก็ได้แก่นายพราน คิดแต่จะฆ่าเนื้อฆ่าปลาอยู่เป็นนิจ กุศลจิตและอัพยากฤตจิตนั้นไม่บังเกิดมีแก่นายพรานเลย ดังนี้ บุคคลที่มีจิตเป็นบุญเป็นกุศลนั้น ได้แก่พระอริยะสัปบุรุษ ท่านคิดแต่การบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา สดับฟังพระธรรมเทศนาเป็นนิจ อกุศลจิตและอัพยากฤตจิตก็ไม่บังเกิดมีแก่ท่านดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงว่า จิตที่เป็นอัพยากฤตนี้ ย่อมบังเกิดมีแต่พระอรหันต์อย่างเดียว พระอรหันต์เมื่อเข้านิโรธสมาบัติแล้ว จิตที่เป็นบุญเป็นบาปนั้นไม่บังเกิดมีแก่ท่าน ฉะนั้นนักปราชญ์ผู้มีปัญญา พึงสันนิษฐานเข้าใจตามนัยพระพุทธภาษิตอันวิจิตรพิศดาร อาตมาแก้ไขมาในปฐมมาติกา บทที่ ๓ โดยสังเขปก็ยุติลงแต่เพียงนี้ฯ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 23, 2015, 10:47:42 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

                       

๔. สุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา

    ในลำดับนี้จักได้แสดงติกมาติกาบทที่ ๔ สืบต่อไป โดยพระบาลีว่า สุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา แปลว่าธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นอารมณ์แห่งจิตอันสัมปยุตแล้วด้วยเวทนา เวทนาแปลว่าเสวยอารมณ์ สุขายะ แปลว่าสุข โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตแล้วด้วยความเสวยอารมณ์เป็นสุขนั้น คือ จักขุโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ ที่ได้สัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็ล้วนแต่เป็นที่รักที่เจริญใจ คือว่าไม่ยังใจให้เดือดร้อน มีแต่ความโสมนัสยินดีในเมื่อสัมผัสมาถูกต้องกับทวาร มีจักขุทวารเป็นต้น เพราะฉะนั้นธรรมดวงนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสว่ สุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา ฉะนี้

    พระสกวาทีอาจารย์จึงขอความอุปมาอุปไมยต่อไปว่า ข้าแต่ท่านปรวาทีอาจารย์ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงให้พิศดารอีกสักหน่อยเถิดพระเจ้าข้า

    พระปรวาทีอาจารย์จึงวิสัชนาว่า คนหนาวได้ห่มผ้า คนร้อนได้อาบน้ำ คนหิวอาหารได้รับประทานอาหารบรรเทาเวทนาเก่าลงได้ และห้ามเวทนาใหม่ไม่ให้กำเริบขึ้นมาได้ ฉะนี้ ก็จักได้ชื่อว่าสัมผัสถูกต้องเวทนาที่เป็นสุข ถ้ามิฉะนั้น เปรียบเหมือนหนึ่งคนยากจนเข็ญใจ เมื่อได้ลาภ ยศ ฐานนันดรอันใดอันหนึ่งแล้ว ก็ย่อมมีความชื่นชมยินดีเป็นกำลัง ดังนายควาญช้าง เดิมทีก็เป็นคนยากจนอนาถา ครั้นได้รับจ้างเขาเลี้ยงช้าง แล้วก็ได้รับประทานอาหารเช้าเย็น ครั้นอยู่มาภายหลัง ก็ได้เสวยราชสมบัติเป็นบรมกษัตริย์ เสวยแต่เวทนาที่เป็นสุขฉะนั้น ถ้ามิฉะนั้นก็เปรียบเหมือนหนึ่งพระเจ้าสักกมันธาตุราชกุมาร เมื่อเดิมทีนั้นก็เป็นคนยากจนเข็ญใจ จะแสวงหาอาหารบริโภคแต่ละมื้อนั้นก็ทั้งยาก จนที่สุดแม้แต่ผ้าจะนุ่งจะห่มก็ไม่มี มีแต่นุ่งใบไม้ ครั้นภายหลังก็ได้เป็นบรมจักรพรรดิ แสนที่จะมีความสุขสบายดังนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

                       

๕. ทุกขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา

    ในลำดับนี้จักได้วิสัชนาแก้ไขในบทที่ ๕ สืบต่อไป โดยพระบาลีว่ ทุกขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตแล้วด้วยทุกขายะ เวทนายะ นามธรรมที่ได้เสวยอารมณ์เป็นทุกข์ โดยความอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายที่ทรงไว้ซึ่งจิตของบุคคลที่มีความลำบากนั้นก็ได้แก่คนที่ยากจนเข็ญใจและคนที่มีโรคาพยาธิเบียดเบียนต่าง ๆ และคนที่ต้องราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย เป็นต้น เหล่านี้แลชื่อว่า ทุกขายะ เวทนายะ เป็นทุกขเวทนาอีกอย่างหนึ่ง คือทุกข์ของสัตว์ในนรก ทุกข์ของเปรต อสุรกาย ทุกข์ของสัตว์ดิรัจฉานกำเนิด ทุกข์ของสัตว์ที่จักเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ดังนี้แลชื่อว่า ทุกขเวทนา

    ท่านสกวาทีอาจารย์จึงถามขึ้นว่า บุคคลที่ได้เสวยทุกขเวทนาอย่างที่ได้แสดงมานี้คือใคร ผู้ใดเป็นตัวอย่างขอรับ โปรดได้อัตตาธิบายให้แจ่มแจ้ง ขอรับ?

    ท่านปรวาทีอาจารย์จึงนำบุคคลยกขึ้นมาแสดงให้เห็นเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า ยังมีสตรีผู้หนึ่งชื่อว่า นางสุปวาสา เป็นมารดาของพระสีวลีที่ทรงพระครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ครั้นภายหลัง นางสุปวาสา ผู้เป็นมารดานั้นจึงได้ชี้แจงแสดงเหตุให้ปรากฏว่า ตนประกอบไปด้วยความทุกข์เหลือที่จะอดทนพ้นที่จักพรรณนาเป็นต้นว่า ครรภ์นั้นได้ใหญ่เกินประมาณ จะนั่งก็เป็นทุกข์ จะนอนก็เป็นทุกข์ จะยืนก็เป็นทุกข์ จะเดินก็เป็นทุกข์ ดังนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า ทุกขเวทนา ทุกข์นั้นแปลว่าลำบาก ลำบากนั้นแปลว่าความชั่ว ก็มาจากความชั่วที่ตนเองกระทำไว้ไม่ดี เพราะเหตุนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสเทศนาว่า สัพพะปาปัสสะอะกะระณัง ดังนี้ ก็เพื่อพระพุทธประสงค์ไม่ให้สัตว์กระทำบาป เพราะทรงพระกรุณาแก่สัตว์ จักไม่ให้ได้เสวยทุกขเวทนา ด้วยทรงหวังพระหฤทัยว่าจักให้สัตว์ได้เสวยแต่สุขเวทนายิ่ง ๆ ขึ้นไปฉะนี้ฯ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

           

๖. อะทุกขะมะสุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา

    เบื้องหน้าแต่นี้จักได้แสดงในบทที่ ๖ อะทุกขะมะสุขายะ เวทนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา นี้ต่อไป ข้อนี้แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตแล้วด้วยเวทนาที่ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ โดยความอธิบายว่า ทุกข์ก็อาศัยแก่เบญจขันธ์ทั้ง ๕ เมื่อได้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา วิจารณญาณเห็นเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน หรือเห็นว่าเป็นอย่างอื่น มิใช่เราและตัวตนของเราแล้ว อุปาทานก็ไม่เข้าไปใกล้ไปยึดถือปล่อยวางเฉย เพราะฉะนั้นจึงว่า สุขทุกข์ไม่มีดังนี้ ส่วนอารมณ์นั้นเล่าก็มีอุเบกขา อุเบกขานั้นแปลว่า เข้าไปเห็นเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เบญจขันธ์ทั้ง ๕ ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับสูญไปสิ้นไป ส่วนความรู้ความเห็นนั้นก็ไม่เจือปนอยู่ด้วยเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เพราะเหตุนั้นจึงว่า ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข ฉะนี้ฯ

    ท่านพระสกวาทีอาจาจารย์จึงถามสืบต่อไปว่า อารมณ์ที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขนั้นเป็นอย่างไร เป็นโลกีย์หรือเป็นโลกุตระ หรือเป็นประการใด?

   ท่านพระปรวาทีอาจารย์จึงได้เฉลยวินิจฉัยว่า ความที่ว่าไม่มีทุกข์ไม่มีสุขนั้น ที่เป็นโลกีย์ก็มี ที่เป็นโลกุตรก็มี เปรียบเหมือนหนึ่งอารมณ์ที่ร้อนแล้ว แลมีความปรารถนาจักให้พ้นร้อนไปหาเย็น แต่ยังไปไม่ทันจะถึงความเย็นฉะนั้น

   แล้วท่านปรวาทีอาจารย์จึงย้อนถามท่านสกวาทีอาจารย์กลับคืนมาอีกว่า ท่านสกวาทีอาจารย์จักมีความเห็นเป็นอย่างไร เมื่อได้ออกจากความร้อนแต่ยังไม่ทันถึงความเย็น?

 ท่านสกวาทีฯ ตอบว่า อารมณ์นั้นร้อน
 ท่านปรวาทีอาจารย์จึงถามอีกว่า อารมณ์นั้นจักร้อนอย่างไร เมื่อได้หนีพ้นร้อนมากแล้ว?
 พระสกวาทีฯ จึงตอบว่า ถ้าพ้นอารมณ์ร้อนมาแล้ว อารมณ์นั้นก็เย็น
 พระปรวาทีฯ จึงว่า จะเย็นได้อย่างไรเพราะยังไม่ถึงความเย็น?
 พระสกวาทีฯ จึงว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว อารมณ์นั้นก็ไม่เย็นไม่ร้อน
 พระปรวาทีฯ จึงอนุโลมคล้อยตามว่า นั้นแลธรรมที่สัมปยุตแล้วด้วยเวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุข

    ท่านสกวาทีอาจารย์ยังมีความวิมุติกังขา คือ มีความสงสัย จึงไถ่ถามอีกว่า ธรรมที่เป็นโลกีย์นั้นคือใคร ผู้ใดกระทำได้แล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าชี้บอกบุคคลที่เป็นโลกีย์มาแสดงในทีนี้ เพื่อให้เห็นเป็นแบบอย่างสักเรื่องหนึ่ง พอเป็นเครื่องเตือนสติให้สิ้นความสงสัย?

    ท่านปรวาทีฯ จึงนำบุคคลมาแสดงเพื่อให้เป็นนิทัศนอุทาหรณ์ว่า เอโกเถโร ยังมีพระมหาเถระองค์หนึ่ง ไปเจริญสมณธรรมอยู่ในอรัญราวป่า ท่านได้นั่งเจริญวิปัสสนา พิจารณาซึ่งสังขารธรรม คืออนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความทนทุกข์ยากลำบาก อนัตตา ความมิใช่ตัวเราและของเรา หรือตัวตนของเรา จนอารมณ์นั้นไม่มีทุกข์ไม่มีสุข แต่เฉย ๆ อยู่ตลอดกาล ขณะนั้นยังมีเสือโคร่งใหญ่ตัวหนึ่ง เข้ามาคาบเอาพระมหาเถระองค์นั้นไปบริโภคเป็นภักษาหาร เมื่อเดิมทีนั้นก็บริโภคตั้งแต่เท้าขึ้นไปจนถึงโคนเข่า พระผู้เป็นเจ้าก็ไม่สุขไม่ทุกข์ จิตของพระผู้เป็นเจ้านั้นก็ยังเป็นโลกีย์อยู่ คือท่านยังเป็นปุถุชน ยังไม่ได้สำเร็จอะไร เมื่อเสือโคร่งใหญ่นั้นบริโภคถึงจะเอวและท้องน้อย ท่านก็ยังไม่สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษอันใด อารมณ์ของท่านนั้นก็ยังเฉย ๆ อยู่ ไม่ได้เดือดร้อนหวั่นไหว ครั้นบริโภคถึงดวงหฤทัยของท่านแล้ว ท่านก็ได้สำเร็จอรหันต์พ้นกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานในปากเสือโคร่งใหญ่นั้น ฉะนี้ฯ

    อนึ่ง นักปราชญ์ผู้มีวิจารณญาณพึงสันนิษฐานเข้าในตามนัยพระพุทธภาษิตอันวิจิตรพิศดาร อาตมารับประทานวิสัชนามาในติกมาติกาบทที่ ๖ แต่ขอสังขิตนัยโดยย่นย่อพอสมควรแก่กาลเวลาเพียงเท่านี้ฯ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

                 

๗. วิปากา ธัมมา

    ณ บัดนี้จักได้แก้ไขในติกมาติกาที่ ๗ ตามลำดับสืบไป โดยนัยพระบาลีว่า วิปากา ธัมมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นสุขและทุกข์ต่าง ๆ กัน คือกรรมวิบากที่เป็นส่วนบุญนั้นเรียกว่า กุศลวิบาก ๑ กรรมวิบากที่เป็นส่วนบาปนั้นเรียกว่า อกุศลวิบาก ๑ ขันธวิบาก ๑ และปัญญาวิบาก ๑

    กรรมวิบากนั้นเป็นผลจาก ๒ ประการ คือ อกุศลวิบาก ได้แก่ผลทุจริต คือ กายทุจริต ๑ วจีทุจริต ๑ มโนทุจริต ๑ ทุจริตทั้ง ๓ เหล่านี้เป็นฝ่ายอกุศลวิบาก กุศลวิบาก ได้แก่ผลสุจริต คือ กายสุจริต ๑ วจีสุจริต ๑ มโนสุจริต ๑ สุจริตทั้ง ๓ เหล่านี้ เป็นฝ่ายกุศลวิบาก เมื่อเสวยแล้วก็มีผลต่าง ๆ กัน

    ทุจริตทั้ง ๓ นั้นได้แก่สัตว์ที่เสวยทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ หลายอย่างหลายประการ เป็นต้นว่าให้โรคาพยาธิเบียดเบียนมาก และให้เป็นคนยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์อับปัญญาและยังสัตว์ให้ตกไปในอบายภูมิทั้ง ๔ ฉะนี้ ชื่อว่าอกุศลวิบากทั้ง ๔

    ผลกรรมที่ ๒ คือ สุจริตทั้ง ๓ นั้นได้แก่สัตว์ที่เสวยความสุขสนุกสบายต่าง ๆ หลายอย่างหลายประการ เป็นต้นว่าให้ปราศจากโรคาพยาธิและให้มั่งมีทรัพย์สมบัติสมบูรณ์บริบูรณ์มาก และยังสัตว์ให้เสวยสมบัติในฉกามาพจรสวรรค์เป็นต้นฉะนี้ ชื่อว่า กุศลวิบาก

    ขันธวิบากนั้นคือยังร่างกายของสัตว์ให้ได้โทษ ลดน้อยถอยกำลังลงไป และให้ฟันหัก ผมหงอก เนื้อหนังเหี่ยวแห้ง หูตึง ตามืดมัวไป ทั้งสรีระร่างกายนั้นไซร้ก็คดค้อมน้อมโค้งไปเบื้องหน้า ให้ทรมานทรกรรมด้วยโรคาพยาธิต่าง ๆ ฉะนี้ จึงชื่อว่า ขันธวิบาก

    ปัญญาวิบากนั้นยังสัตว์ให้รู้จักบาปรู้จักบุญ รู้จักคุณและโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ทั้งปวงตามความเป็นจริงได้ และให้มีปัญญาสามารถรู้จัก สัพพเญยยธรรม ที่เป็นโลกีย์และเป็นโลกุตรได้ฉะนั้น จึงชื่อว่า ปัญญาวิบาก

    ท่านพระสกวาทีฯ ได้เสวนาการฟังธรรมบรรยายแล้วก็ชอบใจชื่นชมยินดียิ่งนัก จึงขอให้ท่านปรวาทีฯ ยกเอาบุคคลตัวอย่างต่อ เพื่อเป็นนิทัศนนัยอีก ๔ คนว่า อกุศลวิบากนั้นจักได้แก่บุคคลผู้ใด กุศลวิบากนั้นจักได้แก่บุคคลผู้ใด ขันธวิบากนั้นจักได้แก่บุคคลผู้ใด และปัญญาวิบากนั้นจักได้แก่บุคคลผู้ใด ขอรับ?

    ท่านพระปรวาทีฯ จึงได้เฉลยตอบต่อไปว่า อกุศลวิบากนั้นได้แก่อุบาสกที่ถูกตัดคอนั้นเอง กุศลวิบากนั้นก็ได้แก่ท้าวมหาชมพูบดีนั่นเอง ขันธวิบากนั้นก็ได้แก่พระปูติกติสสะเถระนั้นเอง ปัญญาวิบากนั้นได้แก่พระจุฬบันถกนั้นเองฯ แก้ไขในติกมาติกาบทที่ ๗ โดยสังเขปก็ยุติไว้แต่เพียงนี้ฯ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

               

๘. วิปากะธัมมะ ธัมมา

    ในลำดับนี้จักได้แสดงติกมาติกาในบทที่ ๘ ว่าด้วย วิปากะธัมมะ ธัมมา สืบไปต่อไป โดยเนื้อความว่า ธรรมทั้งหลายอันเกิดแห่งวิบาก ได้แก่ เหตุและปัจจัย เปรียบเหมือนหนึ่งผลมะพร้าวห้าว (แห้ง) ที่ควรจะงอกออกมาจากผลมะพร้าวได้ และมีบุคคลนำเอาไปปลูกไว้ในแผ่นดิน ต้นมะพร้าวนั้นก็งอกงาม เจริญใหญ่โตขึ้นมาจนถึงแก่ตกจั่น แล้วก็กลายเป็นมะพร้าวอ่อนและมะพร้าวห้าว ต้นมะพร้าวที่งอกงามเจริญขึ้นนั้นได้แก่เหตุ บุคคลที่นำไปปลูกลงไว้นั้นได้แก่ปัจจัย ผลมะพร้าวอ่อนและผลมะพร้าวห้าวที่ควรจะบริโภคนั้นได้แก่วิบาก

    อีกนัยหนึ่งว่า อกุศลกรรมนั้นเปรียบเหมือนหนึ่งต้นไม้ที่มีพิษสง เมื่อมีผลสุกแล้วก็ให้โทษแก่บุคคลผู้บริโภคฉะนั้น กุศลวิบากนั้นเปรียบดุจหนึ่งต้นไม้ที่ไม่มีพิษสง เมื่อมีผลอันสุกแล้ว ก็ย่อมนำประโยชน์ให้สำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายทั่วไป โดยเหตุนี้จึงว่า บาปเป็นเหตุ ทุกข์เป็นผล บุญเป็นเหตุ สุขเป็นผล ดังนี้

    เพราะเหตุนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสเทศนาไว้ว่า วิปากะธัมมะ ธัมมา ฉะนี้ โดยเนื้อความว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นเครื่องอุดหนุนของความสุขพิเศษ เปรียบเหมือนเครื่องบ่มผลไม้ทั้งปวง มีผลมะม่วงและกล้วยเป็นต้น อีกประการหนึ่ง ด้วยอวิชชานี้แลเป็นวิบากธรรม เพราะสังขาร วิญญาณ นามรูป จะบังเกิดได้ ก็ต้องอาศัยอวิชชาเป็นเดิมเหตุ ถ้ามิฉะนั้นก็ต้องอาศัยแก่มูล ๖ คือ กุศลมูล ๓ และอกุศลมูล ๓ มูลทั้ง ๖ นี้เป็นเหตุให้บังเกิดบุญ เกิดบาป เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า วิปากะธัมมะ ธัมมา ฉะนี้ฯ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 05, 2011, 01:00:27 pm โดย ฐิตา »