๒๖. ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา ในบทที่ ๒๖ ว่า ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา นั้น แปลว่า ธรรมทั้งหลาย
ที่มีปัจจัยเกื้อกูลอุดหนุนแก่ธรรมอันจะพึงละกิเลสได้ด้วยภาวนานั้น โดยความอธิบายว่า
โลกียธรรมเป็นปัจจัยเกื้อกูล
โลกุตรธรรม ศีลเป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่สมาธิ ศีลก็ได้แก่
ความสำรวมกาย วาจา และความอดใจ
สมาธิก็ได้แก่ภาวนา เพราะฉะนั้น ธรรมบทนี้จึงได้ชื่อว่า
โลกียธรรม โลกียธรรมก็เป็นปัจจัยให้เกิดภาวนา ศีลมีอยู่ ๒ ประการ คือ โลกียศีล ๑ โลกุตรศีล ๑ ภาวนาก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ โลกียภาวนา ๑ โลกุตรภาวนา ๑ โลกียศีลนั้นก็เป็นปัจจัยเกื้อกูลให้ได้แก่โลกียภาวนาเท่านั้น จะไปเกื้อกูลโลกุตรภาวนานั้นไม่ได้ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า โลกียศีลนั้นระงับได้เป็นคราว ๆ ครั้งภายหลังกิเลสก็เกิดขึ้นได้ เปรียบเหมือนหนึ่งศิลาทับหญ้า ธรรมดาว่าศิลาอันทับหญ้านั้น เมื่อศิลาทับอยู่ หญ้านั้นก็งอกขึ้นไม่ได้ ศิลานั้นก็ได้แก่ศีล หญ้านั้นก็ได้แก่กิเลส เอกบุคคลผู้ไม่ระวังรักษาองค์แห่งศีล และกระทำศีลให้ขาดไป กิเลสก็บังเกิดขึ้นได้อีกอย่างเดิม เปรียบเหมือนหนึ่งบุคคลที่ตัดต้นไม้ไซร้ ตัดต้นแต่ไม่ตัดรากด้วยแล้ว นานไปฝนตกลงมาก็กลับงอกงามขึ้นอีก ฉะนั้นจึงว่า บุคคลรักษาโลกียศีลนั้น ไม่มีความปรารถนาที่จะตัดกิเลส มีแต่ความปรารถนาที่จะให้ได้บุญได้กุศลอย่างเดียว เปรียบเหมือนรากไม้เกาะเกี่ยวอยู่กับแผ่นดิน ครั้นได้น้ำฝนตกลงมาถูกต้องแล้ว ก็กลับงอกขึ้นมาได้อีก ฉันใดก็ดี โลกียศีลก็มีอุปาทานเกี่ยวอยู่ กิเลสก็อาศัยอุปาทานบังเกิดขึ้นได้อยู่ เพราะเหตุนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า อุปาทานปัจจยาภโว เมื่อมีอุปทานเป็นปัจจัยแล้ว ภพก็อาศัยบังเกิดขึ้นได้อยู่ เพราะฉะนั้นจึงว่า โลกียศีลนี้ กิเลสยังอาศัยบังเกิดขึ้นได้อยู่ ศีลอันนั้นแลชื่อว่ โลกียศีล ดังนี้ ในโลกุตรศีลนั้น โดยเนื้อความว่า ศีลอันใดไม่ยังกิเลสให้บังเกิดขึ้นได้ ศีลอันนั้นแลชื่อว่า โลกุตรศีล ดังนี้ โดยความอธิบายว่า โลกุตรศีลนั้นไม่ต้องสมาทาน ไม่ต้องระวังรักษา กิเลสบังเกิดขึ้นไม่ได้ เปรียบเหมือนหนึ่งบุคคลที่ตัดต้นไม้แล้วแล ขุดถอนรากเสียฉะนั้น ถึงฝนจะถูกต้องเป็นประการใด ๆ ก็ดี ก็ไม่สามารถจะงอกงามขึ้นมาได้ ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนบุคคลที่ตัดยอดตาลและยอดมะพร้าว ธรรมดาว่ายอดตาลและยอดมะพร้าวอันบุคคลตัดแล้วนั้น ก็ไม่สามารถจะงอกขึ้นได้ โลกุตรศีลก็มีอุปไมยเหมือนกันฉะนั้น บุคคลที่รักษา
โลกุตรศีลนั้น เพราะมี
ปัญญาพิจารณาเห็นว่า ปัญจขันธ์แล
สรรพธรรมทั้งปวงแต่แล้วล้วน
เป็นของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ได้รักไม่ได้ชัง กิเลสก็
บังเกิดขึ้นไม่ได้
กิเลสจะบังเกิดขึ้นได้นั้น ก็เพราะจิตที่รักที่ชังนี่เอง เมื่อจิตไม่รักไม่ชังแล้ว กิเลสก็จะบังเกิดขึ้นมาแต่ไหนเล่า อุปมาเหมือนหนึ่งไฟ ธรรมดาว่าไฟจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้อง
อาศัยเชื้อมีอยู่ แต่ถ้าเชื้อไม่มีแล้ว ไฟก็เกิดขึ้นไม่ได้ ฉันใดก็ดี ใจของพระอริยสรรพบุรุษทั้งหลายนั้นย่อมไม่มีเชื้อ คือ
อุปาทานที่แจ้งไปด้วยพระไตรลักษณญาณนั้นอยู่ในจิตสันดานเป็นนิจนิรันดร เมื่อเชื้อคือ
อุปาทานไม่มีแล้ว กิเลสก็บังเกิดขึ้นไม่ได้ เหมือนหนึ่งเชื้อแห่งไฟฉะนั้น
เพราะเหตุนั้นจึงว่า
โลกุตรศีลนั้น
ไม่ต้องสมาทาน ไม่ต้องรักษา เป็นแต่ใช้
ปัญญาดวงเดียวก็
รู้กิเลสได้หมด เมื่อรู้กิเลสได้หมดแล้วก็เป็นโลกุตรศีล ไม่ต้องสมาทานรักษา
โลกียภาวนานั้น
เมื่อบังเกิดขึ้นแล้วก็หายไป ไม่ถาวรมั่นคงอยู่ได้ เหมือนหนึ่งจิตที่เป็นเอกัคตาแล้ว ก็กลับมาเป็นวิตกวิจารณ์อีกต่อไปได้ฉะนั้น หรือเปรียบเหมือนหนึ่งบุคคลที่ขึ้นต้นไม้ ครั้นเก็บเอาผลไม้แล้ว ก็กลับลงมากองไว้ใต้ต้นไม้
แล้วจึงขึ้นไปเก็บอีกฉะนั้น ถ้ามิฉะนั้นเปรียบเหมือนบุรุษที่ไปบวชในสำนักแห่งพระสารีบุตรแล้ว แลเรียนภาวนา
ได้สำเร็จฌาณโลกีย์เหาะไปได้ ครั้นภายหลังไปเห็นสตรี ก็มีจิตปฏิพัทธ์ยินดีชอบใจ อยากได้สตรีนั้นมาเป็นภรรยาของตน ภาวนั้นก็เสื่อมหายไป ครั้นภายหลังไปประพฤติโจรกรรม เขาจับตัวได้ ถึงแก่โทษประหารชีวิต พระสารีบุตรผู้เป็นอุปัชฌาย์ได้ทราบเหตุดังนั้นแล้ว จึงไปเตือนสติให้ภาวนา บุรุษนั้นก็ระลึกได้ จึงบริกรรมภาวนา ก็เหาะหนีรอดความตายมาได้ฉะนั้น เหตุนี้จึงว่า โลกียภาวนานั้นไม่ถาวรมั่นคงอยู่ได้ เมื่อบังเกิดขึ้นแล้วก็สูญหายไป
เพราะเป็นของไม่เที่ยง รู้กำเริบได้ ไม่เหมือนโลกุตรภาวนา โลกุตรภาวนานั้นเป็นของถาวรมั่นคงเที่ยงแท้
ไม่รู้แปรผันวิปริตกลับกลอกเหมือนหนึ่งโลกียภาวนา
โลกุตรภาวนานั้น เปรียบเหมือนหนึ่งบุคคลที่ว่ายน้ำ
ไปในที่น้ำพัดให้กลายกลับกลอกไปมา
ครั้นถึงฝั่งฟากแล้วก็พ้นจากนั้นไม่มีคลื่นฉะนั้น โดยความอธิบายว่า ภาวนาให้บังเกิดขึ้นแล้วแลไม่หายไม่สูญไป ฉะนั้นแลชื่อว่าโลกุตรภาวนา โลกุตรภาวนานั้นอุปมาเหมือนบุคคลที่เข้าถ้ำจนค่ำมืด มืดนั้นก็ได้แก่บุคคลที่แรกเจริญภาวนา บุคคลที่แรกเจริญภาวนานั้นก็ยังมืดอยู่ ครั้นภาวนาบังเกิดขึ้นแล้ว ก็มีแต่ความสว่างขึ้น ไม่มืดต่อไป บุรุษผู้เข้าป่าในเวลาค่ำมืดนั้น ครั้นแสงพระจันทร์ส่องสว่างลงมาแล้ว ย่อมได้แสงจันทร์เป็นที่ดำเนินไป บุรุษนั้นก็ได้เห็นพระจันทร์แล้ว บุรุษนั้นเดินไปสถานที่ใด ๆ จะให้พ้นพระจันทร์ไปนั้นไม่ได้ เมื่อบุรุษนั้นจะเดินไปสู่ประเทศที่ใด ๆ พระจันทร์ก็ตามไปในประเทศที่นั้น ๆ ฉันใดก็ดี ท่านที่ได้เจริญโลกุตรภาวนานั้น เมื่อโลกุตรภาวนา
บังเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อม
ติดตามผู้นั้นไปจนตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพานฉะนั้น เพราะเหตุนั้นจึงสมกับพระบาลีว่า ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา ดังนี้