ผู้เขียน หัวข้อ: มิลินทปัญหา  (อ่าน 107297 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #240 เมื่อ: สิงหาคม 11, 2011, 05:14:24 am »

ปัญหาที่ ๓ ถามเรื่องทรงขับไล่ภิกษุ

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า
" เราเป็นผู้ไม่โกรธ เป็นผู้ไม่มีตะปู คือความโกรธแล้ว"
แต่ภายหลังได้ทรงประณามขับไล่ พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร พร้อมทั้งบริวาร

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงขับไล่ เพราะความโกรธ หรือเพราะความดีพระทัย ขอได้โปรดแก้ไขให้โยมเข้าใจ
ถ้าทรงขับไล่ด้วยความโกรธ ก็เป็นอันว่าพระตถาคตเจ้า ยังไม่ทรงละความโกรธ ถ้าทรงขับไล่ด้วยยินดี ก็เป็นอันว่าไม่รู้ แต่ทรงกระทำให้เมื่อยังไม่มีเหตุสมควร
ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ให้สิ้นสงสัยนะ พระคุณเจ้าข้า "

พระนาคเสนชี้แจงว่า
" ขอถวายพระพร ข้อที่สมเด็จพระชินวรเจ้าตรัสว่า เราเป็นผู้ไม่มีความโกรธ เป็นผู้ที่ไม่มีตะปู คือความโกรธแล้ว แต่ได้ทรงขับไล่พระโมคัลลาน์พระสารีบุตร พร้อมทั้งบริวาร การทรงขับไล่นั้น ไม่ใช่ทรงขับไล่ด้วยความโกรธ มหาราชะ

เหมือนอย่างบุรุษผู้หนึ่งพลาดล้มลงที่พื้นดิน หรือล้มลงที่แผ่นหิน ถูกก้อนกรวด หลักตอ ที่ไม่สม่ำเสมอ ที่มีตมมีโคลนย่อมมีอยู่ อาตมภาพขอถามว่า แผ่นดินโกรธหรือ จึงทำให้ผู้นั้นพลาดล้ม ? "
" แผ่นดินไม่ได้โกรธเลย ผู้เป็นเจ้า ความโกรธหรือความเลื่อมใสไม่มีแก่แผ่นดิน แผ่นดินไม่มีความยินดียินร้าย เขาพลาดล้มของเขาเอง"

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร สมเด็จพระพิชิตมารไม่มีความโกรธ ความยินดีร้ายอันใด แต่พระอัครสาวกทั้งสองนั้น ถูกขับไล่เพราะการกระทำผิดของตนต่างหาก อาตมภาพขอถามว่า ธรรมดามหาสมุทรย่อมไม่อยู่ร่วมกับซากศพ หรือจอกแหนสาหร่าย แต่อย่างใด มีแต่พัดเอาจอกแหนสาหร่าย ขึ้นไปบนฝั่งเสียโดยเร็ว มหาสมุทรนั้นโกรธหรือ จึงได้ทำอย่างนั้น ? "
" ไม่โกรธ ผู้เป็นเจ้า เพราะมหาสมุทรไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไร"

" ข้อนี้มีอุปมาฉันใด สมเด็จพระจอมไตรก็ไม่ทรงยินดียินร้ายแต่อย่างใด พระอัครสาวกทั้งสองนั้น ถูกขับไล่เพราะความผิดพลาดของตนต่างหาก สมเด็จพระผู้มีพระภาคมีแต่ทรงมุ่งประโยชน์สุข ได้ทรงขับไล่ด้วยทรงเห็นว่าภิกษุเหล่านี้ จักพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยอาการอย่างนี้ ขอถวายพระพร "

" สาธุ...พระนาคเสน โยมขอรับว่า ถูกอย่างพระผู้เป็นเจ้ากล่าวแล้วทุกประการ"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #241 เมื่อ: สิงหาคม 11, 2011, 05:23:50 am »

   ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องความเป็นสัพพัญญูของพระพุทธเจ้า

   พระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ตรัสถามว่า

   " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า พระพุทธเจ้าเป็นพระสัพพัญญู แต่กล่าวไว้อีกว่า เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงขับไล่พระภิกษุสงฆ์ มี พระโมคคัลลาน์พระสารีบุตร เป็นหัวหน้าไม่ให้เช้ามาเฝ้า แล้วพวกกษัตริย์ศากยราชกับท้าวสหัมบดีพรหม ได้พร้อมกันเข้าไปเฝ้าทูลขอโทษต่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคำอุปมากับพืชและลูกโค

   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อุปมาทั้งสองข้อ ที่ทำให้สมเด็จพระบรมศาสดาทรงอดโทษนั้น พระตถาคตเจ้าไม่ทรงทราบหรือ ถ้าไม่ทรงทราบจะว่าพระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูได้อย่างไร

   ถ้าทรงทราบ แต่ทรงพระประสงค์จะทดลองใจของภิกษุเหล่านั้นว่าจะคิดอย่างไรจึงได้ทรงขับไล่ ก็เป็นอันว่า พระตถาคตเจ้าไม่มีพระกรุณา
   ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิได้มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว "

   พระนาคเสนตอบว่า
   " ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าเป็นพระสัพพัญญูจริง แต่ว่าทรงอดโทษด้วยอุปมาทั้งสองข้อนั้น คือเทพยดามนุษย์ทั้งหลายย่อมทำให้พระตถาคตเจ้า ผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรม ทรงเลื่อมใสได้ด้วยธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้แล้ว ขอถวายพระพร

   ภรรยาย่อมให้สามีดีใจ ด้วยทรัพย์ของสามีที่หามาได้เอง คือเมื่อได้เห็นภรรยานำทรัพย์ที่ตนหามาได้นั้นออกมาให้ดูก็ดีใจฉันใด พวกกษัตริย์ศากยราช กับท้าวสหัมบดีพรหม ก็ได้ทำให้พระตถาคตเจ้าทรงชื่นชมยินดี ด้วยธรรมของพระองค์เองฉันนั้น

   อีกประการหนึ่ง ช่างกัลบกผู้ตกแต่งพระเกศของพระราชา ก็ทำให้พระราชาทรงพอพระทัย ด้วยเครื่องประดับของพระราชาเอง ถึงกับได้รับพระราชทานรางวัลฉันใด พวกนั้นก็ได้ทำให้พระตถาคตเจ้า ทรงโปรดปรานด้วยธรรมของพระองค์เอง พระตถาคตเจ้าก็ได้ทรงแสดงความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ให้พวกนั้นฟังฉันนั้น

   อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนสัทธิวิหาริก ได้ทำให้อุปัชฌาย์ดีใจ ด้วยอาหารที่อุปัชฌาย์บิณฑบาตมาได้เอง คือเมื่ออุปัชฌาย์บิณฑบาตได้อาหารมาไว้แล้ว สัทธิวิหาริกก็จัดน้อมเข้าไปถวาย อุปัชฌาย์ก็ดีใจฉะนั้น ขอถวายพระพร "

   " สาธุ...พระนาคเสน โยมรับว่าถูกต้องดีแล้ว"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #242 เมื่อ: สิงหาคม 11, 2011, 05:36:02 am »

   ปัญหาที่ ๕ ว่าด้วยบรรพชิตมีโอกาสได้มรรคผลมากกว่าฆราวาส

   พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธพจน์มีอยู่ว่า ฆราวาสก็ดี บรรพชิตก็ดี เมื่อหมั่นปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแล้ว ก็ย้อมได้บรรลุมรรคผลเหมือนกัน ฉะนี้มิใช่หรือ
   
   พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นดังพระองค์ตรัสนั้นแล

   ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้น จะบวชทำไม  ต้องโกนผม โกนหนวด ต้องสำรวมกายวาจาใจ ส่วนฆราวาส
   มีของบำเรอสุขสบายทุกอย่างทุกประการ แต่เมื่อปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแล้ว ก็ย่อมได้บรรลุมรรคผลเหมือนกัน ถ้าเป็นเช่นนี้ ฆราวาสจะมิดีกว่าหรือ

   ขอถวายพระพรมหาบพิตร   เพศบรรพชิตย่อมทรงคุณพิเศษ กว่าฆราวาส ยังมีทางที่จะได้บรรลุมรรคผลได้
   เพราะบรรพชิตไม่ต้องเสียเวลาแสวงหาสิ่งที่จำเป็น เช่นเครื่องนุ่งห่ม อาหาร หรือที่อยู่อย่างฆราวาส มีโอกาสที่จะพึงประพฤติมักน้อย สันโดษ ยินดีในที่สงัดเงียบ และตัดความกังวลทั้งหลายเสียได้ ไม่มีสิ่งบำเรอความสุขซึ่งจะมาหน่วงเหนี่ยวใจให้เกิดความยินดีและความอาลัย โอกาสที่จะพึงกระทำศีลสมาธิปัญญาให้บริบูรณ์ยิ่ง ๆ จึงมีได้

   ขอถวายพระพร ก็เมื่อบรรพชิตมีโอกาสได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบถึงอย่างนี้ บรรพชิตจะมิดีกว่าฆราวาสหรือ

   ข้าแต่พระคุณเจ้า ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ดีกว่า

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #243 เมื่อ: สิงหาคม 11, 2011, 05:41:02 am »

ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องไม่มีที่อยู่ประจำและไม่มีอาลัย

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า
" การไม่มีที่อยู่ประจำไม่มีความอาลัยในสิ่งใดเป็นความเห็นของมุนี"

ดังนี้ แล้วตรัสอีกว่า
" บุคคลควรสร้างวิหารให้น่ายินดี ควรให้ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูตรมาอยู่ในวิหารนั้น"
ดังนี้ ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิควรแก้ไขให้สิ้นสงสัย"

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร สมเด็จพระชินวรเจ้าได้ตรัสคำทั้งสองนั้น ไว้อย่างนั้นจริง ๆ คำที่ตรัสว่า " การไม่มีที่อยู่ประจำ ไม่มีความอาลัยในสิ่งใด เป็นความเห็นของมุนีนั้น " เป็นคำที่ตรัสออกไปด้วยทรงเห็นว่า สิ่งทั้งสองนั้นสมควรแก่สมณะ เพราะสมณะไม่ควรมีที่อยู่ประจำ ไม่ควรอาลัยในสิ่งใดควรทำตนเหมือนกับเนื้อในป่าฉะนั้น

ข้อที่ตรัสไว้ว่า
" บุคคลควรสร้างวิหารให้น่ายินดี แล้วให้ภิกษุผู้เป็นพหูสูตรทรงพระไตรปิฎกมาอยู่นั้น ตรัสด้วยทรงเล็งเห็นประโยชน์ ๒ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ทรงเล็งเห็นว่า วิหารทาน การให้ที่อยู่ที่อาศัยเป็นทาน เป็นของที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญว่าดี พวกสร้างวิหารให้เป็นทาน อาจสำเร็จแก่พระนิพพาน พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันนี้เป็นอานิสงส์ในการสร้างวิหารทานเป็นข้อแรก

ประการที่ ๒ เมื่อมีวิหารอยู่ ก็จักมีพระภิกษุผู้มีความรู้ มาอาศัยอยู่เป็นอันมากใครอยากพบเห็นก็จะพบเห็นได้ง่าย อันนี้เป็นอานิสงส์ในวิหารข้อที่สอง

แต่พระภิกษุไม่ควรมีความอาลัยเกี่ยวข้องในที่อยู่ จึงทรงสอน อย่างนั้น ขอถวายพระพร

" ถูกแล้ว พระนาคเสน"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #244 เมื่อ: สิงหาคม 11, 2011, 05:48:40 am »

ปัญหาที่ ๗ ถามเรื่องสำรวมท้อง

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
" ภิกษุไม่ควรประมาทในอาหารที่ลุกขึ้นยืนรับ ควรเป็นผู้สำรวมท้อง"

ดังนี้แล้วตรัสอีกว่า
" ดูก่อนอุทายี บางคราวเราตถาคตได้ฉันอาหารเต็มเสมอขอบปากบาตร บางคราวก็ยิ่งกว่านั้น"

ดังนี้ ถ้าทรงสอนให้สำรวมท้อง คำที่ตรัสว่า
" บางคราวเสวยอาหารเต็มเสมอขอบปากบาตรและยิ่งกว่าก็มีนั้น" ก็ผิดไป

ถ้าไม่ผิด คำว่า " ควรสำรวมท้อง " ก็ผิดไป
ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไขให้สิ้นสงสัยเช่นกัน"

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร คำที่ตรัสไว้ทั้งสองอย่างนั้น เป็นจริงทั้งนั้น ส่วนคำที่ตรัสว่า " ไม่ควรประมาทในอาหารที่ลุกขึ้นยืนรับ ควรเป็นผู้สำรวมท้องนั้น" เป็นถ้อยคำที่ปรากฏทั่วไปของพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัพพัญญูเจ้าทั้งหลาย

เพราะเหตุว่า ผู้ไม่สำรวมท้อง ย่อมทำบาปต่าง ๆ ได้ คือทำปาณาติบาติก็มี ทำอทินนาทานก็มี ทำกาเมสุมิจฉาจารก็มี กล่าวมุสาวาทก็มี ดื่มน้ำเมาก็มี ฆ่ามารดาบิดาก็มี ฆ่าพระอรหันต์ก็มี ทำสงฆ์ให้แตกกันก็มี ทำโลหิตุปบาทก็มี

พระเทวทัต ทำสงฆ์ให้แตกกัน ไม่ใช่เพราะไม่สำรวมท้องหรือ...

สมเด็จพระบรมศาสดาทรงเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ จึงได้ทรงสอนให้สำรวมท้อง ผู้สำรวมท้องย่อมล่วงรู้อริยสัจ ๔ สำเร็จ สามัญผล ๔ มีความชำนาญในปฏิสัมภิทา ๔ สมาบัติ ๔ อภิญญา ๖ ทรงไว้ซึ่งสมณธรรมทั้งสิ้น ลูกนกแขกเต้าเป็นผู้สำรวมท้อง จึงได้ทำให้สวรรค์ชั้นดาวดึงส์หวั่นไหว ทำให้พระอินทร์เสด็จลงมาหา ใช่หรือไม่ สมเด็จพระจอมไตรทรงเห็นอานิสงส์ต่าง ๆ อย่างนี้จึงได้ทรงสอนให้สำรวมท้อง

ส่วนข้อที่ตรัสว่า" บางคราวได้เสวยอาหารเสมอขอบปากบาตรก็มี ยิ่งกว่าก็มีนั้น" เป็นคำที่พระตถาคตเจ้าผู้สำเร็จกิจทั้งปวงแล้วได้ตรัสไว้ด้วยมุ่งหมายพระองค์เองเท่านั้น ผู้เป็นโรคเมื่อต้องการหายจากโรค ควรงดเว้นของแสลงฉันใด ผู้ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่เห็นของจริง ก็ควรสำรวมท้องฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง แก้วมณีที่บริสุทธิ์ผ่องใสอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขัดสีฉันใด พระพุทธเจ้าผู้สำเร็จพุทธวิสัยแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องห้ามในพุทธจริยาทั้งหลายฉันนั้น ขอถวายพระพร "

" ถูกดีแล้ว พระนาคเสน"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #245 เมื่อ: สิงหาคม 11, 2011, 05:59:45 am »

ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องปกปิดพระธรรมวินัย

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จมหามุนีได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า
" ธรรมวินัยอันพระตถาคตเจ้าประกาศไว้แล้ว มีผู้เปิดเผยจึงสว่างไสว เมื่อปิดก็ไม่สว่างไสว " แล้วตรัสไว้อีกว่า

" พระปาฏิโมกข์และพระวินัยทั้งสิ้น เป็นของอันภิกษุทั้งหลายปกปิดแล้ว"
ดังนี้ ถ้าบุคคลได้ความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา เปิดพระวินัยบัญญัติไว้ จะทำให้งามดี การศึกษา การสำรวมในพระวินัยบัญญัติและศีลคุณ อาจารบัญญัติ อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส จะปรากฏรุ่งเรืองขึ้น

ถ้าคำว่า " เปิดพระธรรมวินัยไว้ จะรุ่งเรืองดี " เป็นคำถูก คำว่า " พระปาฏิโมกข์และพระวินัยทั้งสิ้น เป็นของอันภิกษุทั้งหลายปกปิดแล้ว" ก็เป็นของผิด

ถ้าคำว่า " เปิดพระธรรมวินัยไว้ จะรุ่งเรืองดี " เป็นคำผิด คำว่า " พระปาฏิโมกข์และพระวินัยทั้งสิ้น เป็นของอันภิกษุทั้งหลายปกปิดแล้ว" ก็เป็นของถูก
ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไข"

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร คำทั้งสองนั้น ถูกต้องทั้งนั้น ก็แต่กว่าการปิดนั้น ไม่ได้ปิดทั่วไปปิดมีเขตแดนต่างหาก คือสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปิดพระปาฏิโมกข์ อันมีสีมาเป็นเขตแดน ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ

๑. ปิดตามวงค์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน
๒. ปิดด้วยความเคารพพระธรรม
๓. ปิดด้วยความเคารพภูมิของภิกษุ


๑. ปิดตามวงค์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน คืออย่างไร... คือพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทรงแสดง พระปาฏิโมกข์ ในท่ามกลางภิกษุทั้งหลาย ปิดเฉพาะพวกนอกจากภิกษุเท่านั้น เหมือนกับขัตติยมายา คือประเพณีของกษัตริย์ทั้งหลาย ย่อมรู้เฉพาะในวงศ์กษัตริย์เท่านั้น ปกปิดพวกอื่นไม่ให้รู้

๒. ปิดเพราะเคารพพระธรรมนั้น คืออย่างไร...คือพระธรรมเป็นของควรเคารพเป็นของหนัก ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพระธรรมจึงจะสำเร็จธรรมได้ ถ้าไม่ปกปิดไว้ ผู้ไม่ปฏิบัติชอบในระบอบธรรมวินัย คือพวกคฤหัสถ์ก็จะติเตียนได้ จึงทรงโปรดให้ปกปิดพระปาฏิโมกข์ไว้ ด้วยเคารพพระธรรมว่า อย่าให้พระธรรมอันเป็นแก่นอันประเสริฐนี้ เป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนดูถูกติเตียน ของพวกที่ไม่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเลย

เปรียบเหมือนจันทร์แดง อันมีแก่นประเสริฐ สมควรแก่ขัตติยกัญญาเท่านั้น ฉะนั้น

๓. ปิดเพราะความเคารพภูมิของภิกษุนั้น คืออย่างไร...คือความเป็นภิกษุเป็นของมีคุณ ชั่งไม่ได้ ประมาณไม่ได้ ตีราคาไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดเสมอ เปรียบเหมือนทรัพย์อันประเสริฐอย่างใดอย่างหนึ่ง คือเครื่องนุ่งห่ม เครื่องปู ม้า ช้าง รถ ทอง เงิน ที่ช่างทองตกแต่งดีแล้ว ย่อมสมควรแก่พระราชาทั้งหลายฉันใด คุณธรรม คือการศึกษาเล่าเรียน การสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ย่อมสมควรแก่ภิกษุสงฆ์ฉันนั้น ขอถวายพระพร "

" ถูกดีแล้ว พระนาคเสน"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #246 เมื่อ: สิงหาคม 11, 2011, 06:05:14 am »

ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องความหนักเบาแห่งมุสาวาท

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า
" เป็นปาราชิกเพราะแกล้งกล่าวเท็จ"

แต่ตรัสอีกว่า " แกล้งกล่าวเท็จเป็นอาบัติเบา แสดงในสำนักภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้"
ความ ๒ ข้อนี้ต่างกันอย่างไร เหตุไรข้อหนึ่งจึงเป็น อเตกิจฉา คือแก้ไขไม่ได้ อีกข้อหนึ่งเป็น สเตกิจฉา คือแก้ไขได้

ถ้าที่ตรัสว่า " แกล้งกล่าวเท็จเป็นปาราชิก " ถูกแล้ว คำที่ตรัสว่า " แกล้งกล่าวเท็จเป็นอาบัติเบา " ก็ผิดไป
ถ้าที่ตรัสว่า " แกล้งกล่าวเท็จเป็นอาบัติเบา " นั้นถูก ที่ตรัสว่า " แกล้งกล่าวเท็จเป็นปาราชิก" นั้นก็ผิดไป
ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไข "

พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสว่า " แกล้งกล่าวเท็จเป็นปาราชิก " นั้นก็ถูก ที่ตรัสว่า " แกล้งกล่าวเท็จเป็นอาบัติเบา " นั้นก็ถูก
เพราะว่าการแกล้งกล่าวเท็จนั้น เป็นของหนักและเบาตามวัตถุ มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร ถ้ามีบุรุษคนหนึ่งตบตีบุรุษอีกคนหนึ่งด้วยมือ พระองค์จะทรงลงโทษแก่ผู้ตบนั้นอย่างไร ? "

" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าบุรุษนั้นไม่ขอโทษก็จะต้องไหมเขา เป็นเงิน ๑ กหาปณะเป็นอย่างมาก "
" ขอถวายพระพร ถ้าบุรุษคนเดียวกันนั้นเอง ตีมหาบพิตรด้วยฝ่ามือ บุรุษนั้นจะได้รับโทษอย่างไร ? "
" ข้าแต่พระนาคเสน ต้องให้ตัดมือบุรุษนั้นจนกระทั่งถึงตัดศีรษะ ริบบ้านเรือน ให้ฆ่าเสียถึง ๗ ชั่วตระกูล "
" ขอถวายพระพร การตบตีด้วยมืออย่างเดียวกัน เหตุไฉนจึงมีโทษหนักเบากว่ากันล่ะ ? "

" อ๋อ...เพราะเป็นเหตุด้วยวัตถุ "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร การแกล้งกล่าวเท็จ ก็มีโทษหนักเบาตามวัตถุขอถวายพระพร "

" ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #247 เมื่อ: สิงหาคม 11, 2011, 06:20:28 am »

ปัญหาที่ ๑๐ ถามถึงเรื่องผู้ควรแก่การขอ

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ได้ตรัสประทานไว้ว่า " เราเป็นพราหมณ์ ผู้ควรแก่การขอ ผู้มีมืออันล้างไว้เนือง ๆ ผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้าย ผู้เยี่ยม"

แล้วตรัสอีกว่า " พระพากุละเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นสาวกของเรา ในทางมีอาพาธน้อย " ดังนี้

อาพาธได้เกิดในพระวรกายของพระพุทธเจ้าหลายครั้ง ถ้าพระตถาคตเจ้าเป็นผู้เยี่ยมจริง คำที่ว่า " พระพากุละเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา ในทางมีอาพาธน้อย " ก็ผิดไป ถ้าพระพากุละเป็นผู้มีอาพาธน้อยจริงคำที่ว่า " พระตถาคตเจ้าเป็นผู้เยี่ยม" ก็ผิดไป
ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ สมควรแก้ไขอีก "

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสไว้ทั้งสองนั้นถูกทั้งนั้น ข้อที่ตรัสไว้นั้น เป็นความดีภายนอกต่างหาก คือพระสาวกทั้งหลายที่ไม่นอนเลย ได้แต่ยืนกับเดินเท่านั้นตลอดวันก็มี ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้ามีทั้งทรงยืน เดิน นั่ง นอน สาวกเหล่านั้น จึงมีการยืน กับการเดินนั้น เป็นคุณพิเศษ

พวกสาวกที่นั่งฉันในอาสนะเดียว ถึงจะเสียชีวิตก็ไม่ยอมนั่งฉันในอาสนะที่สองก็มี ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเสวยในอาสนะที่สองก็ได้ พวกนั้นจึงมีการนั่งฉันในอาสนะเดียวนั้นเป็นคุณวิเศษ

ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ว่าเป็นผู้เยี่ยมนั้น คือเยี่ยมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ทศพลญาณ เวสารัชชญาณ พุทธธรรม ๑๘ ที่ว่าเป็นผู้เยี่ยมทรงหมายพุทธวิสัยทั้งสิ้น ในหมู่มนุษย์ ผู้หนึ่งมีชาติตระกูลสูงผู้หนึ่งมีทรัพย์ ผู้หนึ่งมีวิชา ผู้หนึ่งมีศิลปะ ผู้หนึ่งแกล้วกล้า ผู้หนึ่งเฉียบแหลม มีคุณวิเศษต่าง ๆ กัน แต่พระราชาย่อมสูงสุดกว่าบุรุษเหล่านั้นฉันใด สมเด็จพระจอมไตรก็เป็นผู้ล้ำเสิศประเสริฐสุดกว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายฉันนั้น พระพากุละผู้มีอาพาธน้อย จึงเลิศกว่าผู้อื่นในทางอาพาธน้อยเท่านั้น ไม่ใช่เลิศกว่าผู้อื่นในสิ่งทั้งปวง ขอถวายพระพร "

" ถูกแล้วพระนาคเสน โยมรับรองว่าถูกต้องดี"

จบวรรคที่ ๔

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #248 เมื่อ: สิงหาคม 11, 2011, 06:37:30 am »

ปัญหาที่ ๑ ถามถึงอำนาจฤทธิ์และกรรม

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

" บรรดาภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา มหาโมคคัลลาน์เป็นผู้เลิศในทางฤทธิ์ " แล้วมีปรากฏว่า พระมหาโมคคัลลาน์นั้นถูกพวกโจรทุบตีจนศีรษะแตก กระดูก เส้นเอ็น สมอง แหลกละเอียด เหมือนกับเมล็ดข้าวสาร แล้วพระมหาโมคคัลลาน์ก็ปรินิพพานด้วยเหตุนั้น ดังนี้

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระโมคคัลลาน์เป็นผู้เลิศในทางฤทธิ์จริง ข้อที่ว่า
" พวกโจรทุบตีแหลกละเอียดจนปรินิพพาน " นั้นก็ผิด
ถ้าข้อที่ว่า " ถูกพวกโจรทุบตีแหลกละเอียดจนปรินิพพาน " นั้นถูก
ข้อที่ว่า " พระมหาโมคคัลลาน์เป็นผู้เลิศในทางฤทธิ์ " นั้นก็ผิด พระมหาโมคคัลลาน์ไม่สามารถกำจัดพวกโจรอันจักมีแก่ตนด้วยฤทธิ์ได้หรือ...ไม่อาจเป็นที่พึ่งของมนุษย์โลกเทวโลกได้หรือ...
ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไขให้สิ้นสงสัยเช่นกัน "

พระนาคเสนชี้แจงว่า
" ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสว่า " พระมหาโมคคัลลาน์เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีฤทธิ์ " นั้นก็ถูก ข้อที่ว่า " พระมหาโมคคัลลาน์ถูกโจรทุบตีถึงปรินิพพาน " นั้นก็ถูก แต่ข้อนั้นเป็นด้วย กรรม เข้ายึดถือ "

" ข้าแต่พระนาคเสน สิ่งทั้งสอง คือ วิสัยของผู้มีฤทธิ์ ๑ ผลของกรรม ๑ เป็นอจินไตยใคร ๆ ไม่ควรคิดไม่ใช่หรือ ? "

" ขอถวายพระพร สิ่งที่ไม่ควรคิดทั้งสองอย่างนี้ อย่างหนึ่งมีกำลังมากกว่า ข้อนี้เปรียบเหมือนพระราชากับประชาชน พระราชองค์เดียว ย่อมมีอำนาจครอบประชาชนฉันใด ผลของกรรมอันมีกำลังยิ่งกว่า ก็ครอบสิ่งทั้งปวงฉันนั้น

กิริยาอย่างอื่นของผู้ที่กรรมเข้ายึดถือแล้ว ย่อมไม่ได้โอกาส มีบุรุษคนหนึ่งกระทำผิดพระราชาอาชญาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมไม่มีใครช่วยได้

มารดาบิดา พี่หญิงพี่ชาย มิตรสหาย ก็ช่วยไม่ได้ พระราชาต้องทรงลงโทษแก่ผู้นั้น ตามความผิดของเขาฉันใด ผลของกรรมก็มีกำลังแรงกว่าฤทธิ์ ย่อมครอบงำฤทธิ์ได้ฉันนั้น

อีกประการหนึ่ง เมื่อไฟไหม้ป่าลุกลามมาใหญ่ ถึงจะตักน้ำไปดับตั้งพันโอ่ง ก็ไม่อาจดับได้ สู้ไฟป่านั้นไม่ได้ เพราะไฟป่ามีกำลังมากกว่าฉันใด ผลของกรรมก็มีกำลังมากกว่าฤทธิ์ ครอบงำฤทธิ์ได้ฉันนั้น

เพราะฉะนั้นแหละ มหาบพิตร พระมหาโมคคัลลาน์ผู้ที่กรรมเข้ายึดถือแล้ว จึงถูกพวกโจรทุบตี ไม่สามารถกางกั้นได้ด้วยฤทธิ์ "

" สาธุ...พระนาคเสน โยมรับว่าถูกต้องดีแล้ว"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #249 เมื่อ: สิงหาคม 11, 2011, 06:48:04 am »

ปัญหาที่ ๒ ถามถึงธรรมดาของพระโพธิสัตว์

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสไว้ในธัมมตาปริยายว่า
" มารดาบิดาของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในปางก่อนย่อมเป็นนิตตะ คือแน่นอน การตรัสรู้ก็แน่นอน อัครสาวกทั้งสองก็แน่นอน พระโอรสก็แน่นอน อุปัฏฐากก็แน่นอน" ดังนี้

แต่มีกล่าวอีกว่า พระโพธิสัตว์ผู้ยังประทับอยู่ในดุสิตสวรรค์ได้เล็งดู มหาวิโลกนะ ๘ คือเล็งดูกาลเวลา ๑ เล็งดูทวีป ๑ เล็งดูประเทศ ๑ เล็งดูพระชนนี ๑ ตระกูล ๑ อายุ ๑ เดือน ๑ การเสด็จออกบรรพชา ๑ ดังนี้

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เมื่อญาณยังไม่แก่กล้าการตรัสรู้ย่อมไม่มี เมื่อญาณแก่กล้าแล้ว ไม่อาจรอเวลาพิจารณาได้ เหตุไรพระโพธิสัตว์จึงเล็งดูเวลาว่า เป็นเวลาที่เราสมควรจะลงไปเกิดในมนุษย์หรือไม่...

ข้าแต่พระนาคเสน ถ้ามารดาบิดาของพระโพธิสัตว์แน่นอนแล้ว ข้อที่ว่า " เล็งดูตระกูลบิดามารดานั้น" ก็ผิด
ถ้าข้อที่ว่า " เล็งดูตระกูลบิดามารดานั้น " ถูก ข้อที่ว่า " มารดาบิดาของพระโพธิสัตว์แน่นอนนั้น " ก็ผิด
ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าควรแก้ไข

" พระนาคเสนวิสัชนาว่า
" ขอถวายพระพร มารดาบิดาของพระโพธิสัตว์เป็นของแน่นอนนั้นก็จริง พระโพธิสัตว์เล็งดูตระกูลมารดาบิดานั้นก็จริง การเล็งดูตระกูลของมารดาบิดานั้นเล็งดูอย่างไร...คือเล็งดูว่ามารดาบิดาของเราเป็นกษัตริย์หรือพราหมณ์

ผู้ที่เล็งดูมี ๘ จำพวก
สิ่งที่เป็นอนาคต แต่ควร
เล็งดูก่อนนั้นมีอยู่ ๘ อย่าง คือ

๑. พ่อค้า ต้องเล็งดูสินค้าก่อน
๒. ช้าง ต้องคลำหนทางด้วยงวงก่อน
๓. พ่อค้าเกวียน ต้องพิจารณาดูท่าข้ามก่อน
๔. ต้นหน คือนายท้ายสำเภา ต้องพิจารณาดูฝั่งเสียก่อน

๕. แพทย์ ต้องตรวจดูอายุก่อน จึงเข้าใกล้คนไข้
๖. ผู้จะข้ามสะพาน ต้องดูว่าสะพานมั่นคงหรือไม่เสียก่อน
๗. พระภิกษุ ต้องพิจารณาเสียก่อนจึงฉัน
๘. พระโพธิสัตว์ชาติสุดท้าย ต้องพิจารณาดูตระกูลเสียก่อน ดังนี้ ขอถวายพระพร "

" สาธุ...พระนาคเสน โยมรับว่าถูกต้อง"