ผู้เขียน หัวข้อ: มิลินทปัญหา  (อ่าน 107308 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 4 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #280 เมื่อ: กันยายน 09, 2011, 12:43:10 pm »

สิ่งที่กระทำได้ยาก ๗ ข้อ

พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน
การที่พระโพธิสัตว์ได้ให้บุตรอันเป็นที่รักของตน เพื่อไปเป็นทาสของพราหมณ์ เป็นของกระทำได้ยากข้อที่ ๑

การที่พระโพธิสัตว์ได้เห็นพราหมณ์ผูกมัดพระเจ้าลูกทั้งสอง ด้วยเครือไม้แล้วเฆี่ยนตีไป แต่ทรงเฉยอยู่ได้นั้น เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากข้อที่ ๒

การที่พระโพธิสัตว์ได้ยกพระเจ้าลูกทั้งสองที่สลัดเครื่องผูกให้หลุดออก แล้ววิ่งกลับไปหาพระองค์อีกนั้น พระองค์ได้ทรงอนุญาตให้พราหมณ์ ผูกมัดไปด้วยเครือไม้อีก เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากข้อที่ ๓

การที่พระโพธิสัตว์ทรงได้ยินเสียงพระเจ้าลูกทั้งสองร่ำร้องไห้ว่า " พราหมณ์นี้เป็นยักษ์จะนำหม่อมฉันทั้งสองไปกินเสีย" ก็ทรงเฉยอยู่ไม่ทรงปลอบโยนว่า " อย่ากลัวเลยลูกเอ๋ย! " อันนี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากข้อที่๔

การที่พระชาลีกุมาร ได้หมอบกราบลงร้องไห้คร่ำครวญอยู่ที่พระบาทว่า " ขอให้พระน้องนางกัณหากลับมาอยู่กับพระองค์เถิด หม่อนฉันผู้เดียวจะไปกับยักษ์ ยักษ์จะกินหรืออย่างไรก็ช่าง" แต่พระเวสสันดรไม่ทรงรับคำอ้อนวอนอันนี้ ข้อนี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากข้อที่ ๕
เมื่อพระชาลีกุมารร้องไห้คร่ำครวญว่า " ข้าแต่พระบิดา พระหทัยของพระองค์ช่างแข็งกระด้างดังแผ่นศิลา เมื่อข้าพระองค์ทั้งสองกำลังได้ทุกข์ พระองค์ยังเพิกเฉยอยู่ได้ พระองค์ไม่ทรงห้ามยักษ์ ที่จักนำหม่อนฉันทั้งสองไปในป่าใหญ่ อันไม่มีมนุษย์นี้เลย" ดังนี้ พระเวสสันดรก็ไม่ทรงกรุณา อันนี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก ข้อที่ ๖

เมื่อพระเจ้าลูกทั้งสองร้องไห้ด้วยเสียงอันน่าสยดสยอง จนลับคลองพระเนตรไป แต่พระหฤทัยของพระเวสสันดร ซึ่งควรจะแตกออกเป็นร้อยเสี่ยง พันเสี่ยง ก็ไม่แตกข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากข้อที่ ๗
พระเวสสันดรผู้มุ่งบุญ เหตุใดจึงทำทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ควรที่พระเวสสันดรจะให้ทานตัวเองไม่ใช่หรือ ?

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #281 เมื่อ: กันยายน 09, 2011, 12:48:15 pm »

"พระนาคเสนเฉลยว่า
" ขอถวายพระพร เพราะเหตุที่พระเวสสันดร ได้กระทำสิ่งที่ทำได้ยาก จึงมีเสียงสรรเสริญทั่วหมื่นโลกธาตุ เหล่าเทพยเจ้า อสูร ครุฑ นาค พระอินทร์ ยักษ์ ต่างก็สรรเสริญ อยู่ในที่อยู่ของตน ๆ กลองทิพย์ก็บันลือขึ้นเอง จนกระทั่งทุกวันนี้ ยังมีผู้คิดกันอยู่ว่าทานของพระเวสสันดรนั้น ดีหรือไม่ดี กิตติศัพท์อันนั้นย่อมแสดงให้เห็นคุณ ๑๐ ประการของพระโพธิสัตว์ ผู้มีสติปัญญาละเอียด ผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งคุณ ๑๐ ประการนั้น

คุณ ๑๐ ประการของพระโพธิสัตว์
๑. ความไม่ติดอยู่ในของรักของชอบใจ
๒. ความไม่อาลัยเกี่ยวข้อง
๓. ความสละ
๔. ความปล่อย
๕. ความไม่หวนคิดกลับกลอก

๖. ความละเอียด
๗. ความเป็นของใหญ่
๘. ความเป็นของรู้ตามได้ยาก
๙. ความเป็นของได้ยาก
๑๐. ความเป็นของไม่มีใครเสมอ "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #282 เมื่อ: กันยายน 09, 2011, 01:25:34 pm »

" ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลเหล่าใด ทำผู้อื่นให้เป็นทุกข์ด้วยการให้ทาน ทานของบุคคลเหล่านั้นจะให้ผลเป็นสุข จะทำให้ไปเกิดในสวรรค์ได้มีอยู่หรือ? "
" มีอยู่ มหาบพิตร "

" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอจงแสดงเหตุการณ์เปรียบเทียบ"
" ขอถวายพระพร ถ้ามีสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีศีลธรรมอันดี เป็นโรคมีร่างกายตายไปแถบหนึ่ง หรือเป็นโรคง่อยเปลี้ยหรือเป็นโรคอย่างใดอย่างหนึ่งเดินไม่ได้ มีผู้อยากได้บุญคนใดคนหนึ่ง ยกสมณพราหมณ์นั้นขึ้นสู่ยานพาหนะ นำไปส่งให้ถึงที่ประสงค์ บุคคลผู้นั้นจะได้ผลเป็นสุข ได้ไปเกิดในสวรรค์หรือไม่ ? "

" ได้ไปเกิดทีเดียว พระผู้เป็นเจ้า อย่าว่าแต่ยานทิพย์เลย ถึงผู้นั้นจะเกิดในที่ใด ก็จะได้ยานพาหนะสมควรแก่ที่นั้น ๆ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ได้ยานช้าง ยานม้า ยานรถ ยานทางบก ยานทางน้ำ เมื่อเกิดในสวรรค์ก็ได้ยานทิพย์ ความสุขจักต้องเกิดแก่เขาตามสมควรแก่ชาติกำเนิด ชาติสุดท้ายเขาก็จักได้ขึ้นยานฤทธิ์ ไปถึงเมืองนิพพานเป็นแน่ "

" ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นทานที่ให้ด้วยทำให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นก็มีผลเป็นสุข ทำให้เกิดในสวรรค์ได้ พระเวสสันดรทำให้พระเจ้าลูกทั้งสองต้องเป็นทุกข์ ด้วยการถูกผูกมัดด้วยเถาวัลย์ ก็จะได้เสวยสุขเหมือนอย่างนั้น แต่ขอมหาบพิตรจงทรงสดับเหตุให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก เพื่อให้เห็นว่าการให้ทานด้วยการทำทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ก็มีผลเป็นสุข ทำให้เกิดในสวรรค์ได้ คือ พระราชาที่ให้เก็บพลีกรรม ( ส่วย ) โดยชอบธรรม มาทรงบริจาคทานตามอำนาจนั้นมีอยู่ พระราชานั้นจะได้ความสุข อันเกิดจากการทรงให้ทานนั้นบ้างหรือ ทานนั้นจักทำให้ไปเกิดในสวรรค์ได้หรือไม่ ? "

" ได้ พระผู้เป็นเจ้า พระราชานั้นจักต้องได้ รับผลแห่งทานนั้นหลายแสนเท่า จักได้เกิดเป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา จักได้เกิดเป็นเทวดายิ่งกว่าเทวดา เกิดเป็นพรหมยิ่งกว่าพรหมเกิดเป็นพราหมณ์ยิ่งกว่าพราหมณ์ เกิดเป็น พระอรหัตย์ยิ่งกว่าพระอรหันต์เป็นแน่ "

" ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นทานที่ให้ด้วยการทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ ก็ต้องมีผลเป็นสุขต้องให้เกิดในสวรรค์ได้ เพราะพระราชาทรงบีบคั้นประชาชนมาให้ทาน ยังได้เสวยยศและสุขอย่างนั้นได้ "

อติทาน
พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน ทานที่พระเวสสันดรทรงกระทำนั้นเป็นอติทาน คือเป็นทานอย่างยิ่งเพราะพระเวสสันดรได้ทรงให้ทานพระอัครมเหสีของพระองค์ เพื่อให้ไปเป็นภรรยาของผู้อื่น ทรงให้ทานพระเจ้าลูกทั้งสอง เพื่อให้ไปเป็นทาสของพราหมณ์

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อันธรรมดาการให้ทานเกินไป ผู้รู้ทั้งหลายในโลกก็ตำหนิติเตียนเปรียบเหมือนเกวียนที่บรรทุกหนักเกินไปเพลาเกวียนก็หัก เรือบรรทุกหนักเกินไปก็จม อาหารที่กินมากเกินไปก็ไม่ย่อย ข้าวในนาเมื่อฝนตกมากเกินไปก็เสีย การให้ทานเกินไปก็สิ้นทรัพย์ แดดร้อนเกินไปในแผ่นดินก็ร้อน รักเกินไปก็บ้า โกรธเกินไปก็มีโทษ หลงเกินไปก็ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ โลภเกินไปก็ทำให้ลักขโมย พูดมากเกินไปก็พลาด น้ำเต็มฝั่งเกินไปก็ล้น ลมแรงเกินไปสายฟ้าก็ตก ไฟร้อนเกินไปน้ำก็ล้น เอาใจใส่ต่อการเรียนเกินไปก็บ้า กล้าเกินไปก็ตายเร็ว ฉะนั้นข้าแต่พระนาคเสน พระเวสสันดรให้ทานเกินไป ก็ไม่มีผล

"พระนาคเสนถวายวิสัชนาว่า
"ขอถวายพระพร อติทาน คือทานอันยิ่งเป็นของผู้รู้ทั้งหลายในโลกสรรเสริญ พวกใดให้ทานเช่นนั้นได้ พวกนั้นย่อมได้รับความสรรเสริญในโลก คนปล้ำย่อมทำให้คนปล้ำอีกฝ่ายหนึ่งล้มลงด้วยกำลังแรงกว่า แผ่นดินย่อมทรงไว้ได้ซึ่งคนและสัตว์ ภูเขา ต้นไม้ทั้งหลาย เพราะแผ่นดินเป็นของใหญ่ยิ่ง มหาสมุทรไม่รู้จักเต็ม เพราะมหาสมุทรเป็นของใหญ่ยิ่ง เขาสิเนรุไม่รู้จักหวั่นไหว เพราะเขาสิเนรุเป็นของหนักยิ่ง อากาศไม่มีที่สุดเพราะอากาศเป็นของกว้างยิ่ง ดวงอาทิตย์กำจัดเมฆหมอกเสียได้ เพราะมีรัศมียิ่ง ราชสีห์ไม่มีความกลัว เพราะมีชาติกำเนิดยิ่ง แก้วมณีให้สำเร็จความปรารถนาทั้งปวง เพราะเป็นของมีคุณยิ่ง พระราชาย่อมเป็นใหญ่ เพราะเป็นผู้มีบุญยิ่ง ไฟย่อมเผาสิ่งทั้งปวงได้ เพราะมีความร้อนยิ่ง เพชรย่อมเจาะแก้วมณี แก้วมุกดาแก้วผลึกได้ เพราะเป็นของแข็งยิ่ง เทพยดา มนุษย์ ยักษ์ อสูรทั้งหลาย ย่อมหมอบกราบภิกษุ เพราะมีศีลยิ่ง พระพุทธเจ้าไม่มีผู้เปรียบเพราะเป็นผู้วิเศษยิ่ง ข้อความเหล่านี้ฉันใด ทานอันยิ่งก็เป็นที่สรรเสริญของผู้รู้ทั้งหลายฉันนั้น ทานอันยิ่งของพระเวสสันดรนั้น มีผู้สรรเสริญทั่วหมื่นโลกธาตุ เพราะทานอันยิ่งนั่นแหละ พระเวสสันดรจึงได้เป็นพระพุทธเจ้าผู้ล้ำเลิศในมนุษย์โลก เทวโลก
ขอถวายพระพรทานที่ไม่ควรให้มีอยู่หรือ ? "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #283 เมื่อ: กันยายน 09, 2011, 02:01:19 pm »

(#299)

" มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ทานที่ไม่ควรให้นั้นมีอยู่ ๑๐ อย่าง ผู้ใดให้ทานเหล่านี้ ผู้นั้นก็ไปสู่อบาย มีดังนี้
ทาน ๑๐ อย่างที่ไม่ควรให้

๑. หญิงให้เมถุนธรรมเป็นทาน
๒. ปล่อยโคตัวผู้เข้าไปในฝูงแม่โคเพื่อเมถุนธรรม
๓. ให้น้ำเมา คือสุราเมรัยเป็นทาน
๔. ให้รูปเขียน อันประกอบดัวยเมถุนธรรมเป็นทาน
๕. ให้ศาตราวุธเป็นทาน

๖. ให้ยาพิษเป็นทาน
๗. ให้โซ่ตรวน ขื่อคา เป็นทาน
๘. ให้ไก่เพื่อให้เขาไปฆ่า
๙. ให้สุกรเพื่อให้เขาไปฆ่า
๑๐. ให้ทานเครื่องตวง ตาชั่ง ทะนาน เพื่อใช้โกง

เหล่านี้ บัณฑิตไม่สรรเสริญ ทำผู้ให้ให้แล้วไปสู่อบายหายนะ พระผู้เป็นเจ้า "
" ขอถวายพระพร อาตมาภาพไม่ได้ถามถึงสิ่งที่ไม่ควรให้ทาน ถามถึงสิ่งที่ควรให้ทานแต่เมื่อทักขิไณยบุคคล ( ผู้ควรรับทาน) ยังไม่เกิดก็ยังไม่ควรให้ ว่าทานอย่างนั้นมีอยู่หรือดังนี้ต่างหาก"

" อ๋อ...ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า เพราะเมื่อจิตเลื่อมใสเกิดขึ้นแล้ว คนบางพวกก็ให้ทานโภชนะแก่ทักขิไณยบุคคล บางพวกก็ให้ทานเครื่องนุ่มห่มก็มี ให้ทานที่นอนก็มี ให้ทานที่อยู่อาศัยก็มี ให้ทานเครื่องปูก็มี ให้ทานเครื่องนุ่งห่มก็มี ให้ทานทาสีและทาสก็มี ให้ทานเรือกสวนไร่นาที่ดินก็มี ให้ทานสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้าก็มี ให้ทานทรัพย์ตั้งร้อยตั้งพันปี ให้ทานราชสมบัติใหญ่ก็มี ให้ทานชีวิตก็มี "

" ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าในโลกนี้ผู้อื่นยังให้ทานชีวิตได้ เหตุใดจึงมีผู้ติเตียนพระเวสสันดร ผู้เป็นทานบดีอย่างร้ายแรงเพราะเหตุพระราชทานพระราชโอรส ธิดา อัครมเหสี อีกประการหนึ่ง เมื่อว่าตามปกติโลกแล้วบิดาให้บุตรเป็นค่าใช้หนี้ หรือเป็นค่าเลี้ยงชีพหรือขายไป เพื่อเหตุใดเหตุหนึ่งก็ได้ไม่ใช่หรือ? "
" ได้ พระผู้เป็นเจ้า "

" ถ้าได้ พระเวสสันดรเมื่อยังไม่สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณก็เป็นทุกข์ เพื่อต้องการพระสัพพัญญุตญาณนั้น จึงได้ให้โอรส ธิดา อัครมเหสี เป็นทาน แต่เหตุใดมหาบพิตรจึงทรงติเตียนพระเวสสันดรอย่างร้ายแรงล่ะ?"

" ข้าแต่พระนาคเสน โยมไม่ได้ติเตียนทานของพระเวสสันดร เป็นแต่ติเตียนการที่พระเวสสันดร ได้ให้ทานโอรสธิดากับอัครมเหสีเท่านั้น เพราะว่าเมื่อว่าตามที่ถูกแล้วเวลายาจกมาทูลขอโอรส ธิดา อัครมเหสี พระเวสสันดรควรพระราชทานตัวของพระองค์เอง จึงจะสมควร "

" ขอถวายพระพร ข้อนั้นไม่ใช่การกระทำของสัตบุรุษ คือเมื่อเขาขอบุตรภรรยา จะให้ตัวเองนั้นไม่ถูก เมื่อเขาขอสิ่งใด ๆ ก็ควรให้สิ่งนั้น ๆ อันนี้เป็นการกระทำของสัตบุรุษทั้งหลาย ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่ามีบุรุษคนหนึ่งมาขอน้ำ ผู้ใดให้ข้าวแก่บุรุษนั้นจะเรียกว่าผู้นั้นเป็นกิจจการี คือผู้กระทำตามหน้าที่แล้วหรือ ? "
" ไม่เรียก พระผู้เป็นเจ้า เมื่อเขาขอสิ่งใดก็ให้สิ่งนั้น จึงจะเรียกว่ากระทำถูก "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือเมื่อพราหมณ์ทูลขอโอรส ธิดา อัครมเหสี พระเวสสันดรผู้เป็นทานบดี ก็ไม่พระราชทานของพระองค์เอง ได้พระราชทานโอรสธิดาอัครมเหสีไปแก่พราหมณ์นั้น ถ้าพราหมณ์นั้นขอพระสรีระทั้งสิ้นของพระเวสสันดร พระบาทท้าวเธอต้องไม่ห่วงใยเสียดายพระองค์ ต้องทรงบริจาคพระองค์ไปแล้ว ถ้านักเลงสะกา หรือสุนัขบ้าน สุนัขป่าเข้าไปทูลขอพระเวสสันดรว่า ขอจงให้พระองค์ยอมเป็นทาสของข้าพระองค์ พระเวสสันดรก็จะทรงยินยอมทีเดียว ทั้งจะไม่ทรงเดือดร้อน เสียใจภายหลัง เพราะว่าพระวรกายของพระเวสสันดรเป็นของทั่วไปแก่คนหมู่มาก เหมือนกับต้นไม้มีผล อันเป็นของทั่วไปแก่หมู่นกต่าง ๆ ฉะนั้น

ด้วยพระเวสสันดรทรงเห็นว่า เมื่อเราปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ อีกอย่างหนึ่ง บุรุษผู้ไม่มีทรัพย์ ผู้ต้องการทรัพย์ ผู้เที่ยวแสวงหาทรัพย์ ย่อมเที่ยวหาไปตามทางดงทางเกวียน ทางน้ำ ทางบก เพื่อให้ได้ทรัพย์ฉันใด พระเวสสันดรผู้ไม่มีทรัพย์คือพระสัพพัญญุตญาณ ก็ได้แสวงหาพระสัพพัญญุตญาณ ด้วยการพระราชทานทรัพย์และธัญชาติ ยาน พาหนะ ทาสี ทาสา ทรัพย์ สมบัติ บุตร ภรรยา ตลอดถึงหนัง เลือดเนื้อ หัวใจ ชีวิตของพระองค์ฉันนั้น

อีกประการหนึ่ง อำมาตย์ผู้ต้องการความเจริญ ต้องการเป็นใหญ่เป็นโต คือต้องการเป็นพระราชา ย่อมสละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ทั้งสิ้นของตนแก่คนอื่น ๆ ฉันใด พระเวสสันดรก็ทรงสละสิ่งของภายนอกตลอดจนถึงชีวิตแก่ผู้อื่น เพื่อให้ได้พระสัมมาสัมโพธิญาณฉันนั้น ขอถวายพระพร

อีกอย่างหนึ่ง พระเวสสันดรทานบดีทรงดำริว่า พราหมณ์ขอสิ่งใดเราควรให้สิ่งนั้น จึงจะเรียกว่าเราทำถูก ทรงดำริอย่างนี้ จึงได้พระราชทานโอรส ธิดา อัครมเหสี การที่พระองค์พระราชทานโอรส ธิดา อัครมเหสี ให้แก่พราหมณ์นั้น ไม่ใช่เพราะความเกลียดชัง หรือเห็นว่ามีอยู่มาก หรือเพราะไม่อาจเลี้ยงได้ หรือเพราะรำคาญ ได้พระราชทานไปเพราะทรงมุ่งหวังพระสัพพัญญุตญาณต่างหาก ทรงรักพระสัพพัญญุตญาณมากกว่า ข้อนี้สมกับที่ตรัสไว้ใน จริยาปิฏก ว่า

" ไม่ใช่ว่าลูกทั้งสองเป็นที่เกลียดชังของเรา ไม่ใช่ว่ามัทรีไม่เป็นที่รักของเรา พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เราจึงได้ให้ทานบุตรธิดาภรรยา อันเป็นที่รักของเรา " ขอถวายพระพร

ครั้นพระเวสสันดรพระราชทานโอรสธิดาไปแล้ว ก็ได้เสด็จเข้าไปภายในบรรณศาลา ทรงพระกรรแสงด้วยความรักยิ่ง ดวงหทัยได้ร้อนขึ้น เมื่อพระนาสิกไม่พอหายใจ ก็ได้ปล่อยลมหายใจร้อน ๆ ออกมาทางพระโอษฐ์ มีน้ำพระเนตรเจือด้วยพระโลหิต ไหลนองเต็มสองพระเนตร เป็นอันว่า พระเวสสันดรทรงรักพระราชโอรสธิดาอย่างยิ่ง แต่ได้ทรงอดกลั้นความโศกไว้ได้ ด้วยทรงดำริว่า อย่าให้ทานของเราเสียไปเลย

ต่อที่ #300 :http://agaligohome.com/index.php?topic=205.300

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #284 เมื่อ: ตุลาคม 02, 2011, 07:45:32 am »

อานิสงส์ ๒ ประการ

ขอถวายพระพร

คราวนั้น พระเวสสันดรได้เล็งเห็นอานิสงส์ ๒ ประการ จึงได้ทรงพระราชาทานพระเจ้าลูกทั้งสอง เพื่อให้ไปเป็นทาสของพราหมณ์ อานิสงส์ ๒ ประการนั้นคือประการใดบ้าง

ประการที่ ๑ ว่า อย่าให้ " ทานตบะ " เครื่องเผากิเลส คือทานของเราเสียไปเลย
ประการที่ ๒ ว่า ลูกเล็กทั้งสองของเราเป็นทุกข์ ด้วยได้กินแต่ลูกไม้หัวมัน เมื่อเราให้ทานไป พระเจ้าปู่จะได้ทรงรับไปเลี้ยง เพราะพระเวสสันดรทรงทราบดีอยู่ว่า คนอื่น ๆ ไม่อาจใช้ลูกของเราให้เป็นทาสทาสีได้ พระเจ้าปู่จะต้องไถ่ลูกทั้งสองของเราไว้ ทั้งจักมารับเราด้วย
เป็นอันว่า พระเวสสันดรเล็งเห็นคุณวิเศษคืออานิสงส์ ๒ ประการนี้ จึงได้พระราชทานลูกทั้งสองไป

อีกประการหนึ่ง พระเวสสันดรทรงทราบอยู่ว่า พราหมณ์ผู้นี้แก่เฒ่าเต็มทีแล้วใกล้จะตายอยู่แล้ว คงไม่อาจใช้ลูกทั้งสองของเราเป็นทาสได้ บุรุษอาจจับดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ อันมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากลงมาใส่ไว้ในชะลอมหรือในผอบ หรือทำให้หมดรัศมีได้ ด้วยกำลังปกติหรือไม่ ? "
" ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พราหมณ์เฒ่าผู้มีบุญน้อยนั้น ก็ไม่อาจใช้พระเจ้าลูกทั้งสองให้เป็นทาสได้เหมือนกันฉะนั้น

อีกประการหนึ่ง ขอจงสดับเหตุให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก คือแก้วมณีโชติของพระเจ้าจักรพรรดิอันมีรัศมีแผ่ไปตลอด ๑๐๐ โยชน์นั้น ไม่มีใครอาจเอาผ้าขี้ริ้วหุ้มห่อปกปิดไว้ได้ อนึ่ง ช้างแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิย่อมไม่มีใครขึ้นขี่ได้ หรืออาจปกปิดไว้ได้ด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งฉันใด พระเจ้าลูกทั้งสองของพระเวสสันดร ก็ไม่มีใครอาจใช้เป็นทาสทาสีได้ฉันนั้น

อีกอย่างหนึ่ง มหาสมุทรอันกว้างใหญ่หาประมาณมิได้ ย่อมไม่มีใครอาจปิดให้มีแต่เพียงท่าเดียวได้ พระยานันโทปนันทนาคราชที่สามารถพันรอบเขาสิเนรุราชได้ ๗ รอบนั้นย่อมไม่มีใครสามารถจับมาใส่ชะลอมหรือผอบไปเล่นละครได้ พระยาเขาหิมพานต์อันสูงถึง ๕๐๐ โยชน์ กว้างยาวถึง ๓๐๐ โยชน์ มียอดถึง ๘ หมื่น ๔ พันยอด อันเป็นแดนเกิดมหานที ๕๐๐ สาย อันเป็นที่อาศัยของหมู่ภูตใหญ่ ๆ เป็นที่ทรงไว้ซึ่งไม้หอมต่าง ๆ สล้างสลอยไปด้วยทิพยโอสถตั้งร้อย ๆ อย่าง ย่อมแลดูสูงตระหง่านเหมือนกับเมฆอันลอยในท้องฟ้าฉันใด พระเวสสันดรก็สูงด้วยพระเกียรติยศเหมือนกันพระยาเขาหิมพานต์ฉันนั้น ใครเล่าจักอาจใช้พระเจ้าลูกทั้งสองให้เป็นทาสได้

อีกประการหนึ่ง กองเพลิงที่ลุกรุ่งเรืองอยู่บนภูเขา ในเวลากลางคืนมืด ๆ ย่อมปรากฏเห็นแต่ไกลฉันใด พระเวสสันดรก็ปรากฏเห็นไกลฉันนั้น


อีกอย่างหนึ่ง กลิ่นดอกกากะทิงบนภูเขาหิมพานต์ เมื่อมีลมพัดมา ย่อมส่งกลิ่นไปไกลได้ถึง ๑๒ โยชน์ฉันใด กลิ่นความดีของพระเวสสันดร ก็หอมฟุ้งไปทั่วแดนอสูร คนธรรมพ์ ยักษ์ รากษส นาค ครุฑ กินนร อินทร์พรหมทั้งหลายทุกชั้นฟ้าฉันนั้น เมื่อเป็นอย่างนั้น ใครเล่าจักอาจใช้พระเจ้าลูกทั้งสองของพระเวสสันดร ให้เป็นทาสทาสีได้ ขอถวายพระพร

อีกอย่างหนึ่ง พระเวสสันดรได้ทรงกำชับสั่งพระชาลีกุมารไว้ว่า
" ลูกเอ๋ย ! พระเจ้าปู่จักต้องไถ่เจ้าทั้งสองด้วยทรัพย์จากพราหมณ์ไป แต่เมื่อจะทรงไถ่นั้นจงให้ไถ่ตัวเจ้าด้วยทองคำพันตำลึง ให้ไถ่น้องกัณหาด้วยทาส ทาสี ช้าง ม้า โค ทองคำอย่างละร้อย ๆ ถ้าพระเจ้าปู่จะทรงบังคับเอาเปล่า ๆ พวกเจ้าอย่ายอม จงติดตามพราหมณ์ไป " ทรงสอนอย่างนี้แล้ว จึงได้พระราชทานไป ฝ่ายพระชาลีกุมารที่พระเจ้าปู่ตรัสถามว่าจะต้องไถ่เจ้าทั้งสองอย่างไร จึงได้กราบทูลว่า
" พระบิดาของหม่อมฉันได้ตีราคาหม่อมฉันไว้พันตำลึงทอง ได้ทรงตีราคาน้องกัญหาไว้ด้วยทรัพย์อย่างละร้อย มีช้าง ๑๐๐ เชือกเป็นต้น พระเจ้าข้า

" เรื่องมีมาอย่างนี้แหละมหาพิตร"
" ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้ทำลายข่ายทิฏฐิ ย่ำยีถ้อยคำของผู้อื่นได้แล้วได้แสดงเหตุผลไว้เพียงพอแล้ว ทำให้เข้าใจปัญหาข้อนี้ได้ง่ายแล้ว "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #285 เมื่อ: ตุลาคม 02, 2011, 12:24:12 pm »

ปัญหาที่ ๖ ว่าด้วยการทรงทำทุกกรกิริยา

" ข้าแต่พระนาคเสน พระโพธิสัตว์ทำทุกกรกิริยาเหมือนกันทั้งหมดหรือ ว่าทำเฉพาะพระโคดมบรมโพธิสัตว์เท่านั้น ? "
" ไม่เหมือนกันหมด มหาบพิตร ทำเฉพาะพระโคดมบรมโพธิสัตว์เท่านั้น "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่ถูกกับความต่างกันของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย "
" ขอถวายพระพร พระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมต่างกัน ๔ อย่างคือ ต่างกันด้วยตระกูล ๑ เวลาสร้างบารมี ๑ พระชนมายุ ๑ ประมาณพระสรีรกาย ๑ "

แต่เมื่อไรตรัสรู้แล้วพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ไม่ต่างกันด้วยพระรูปลักษณะ ๑ ตบะ ๑ ศีล ๑ สมาธิ ๑ ปัญญา ๑ วิมุตติ ๑ วิมุตติญาณทัสสนะ ๑ เวสารัชชธรรม ๔ ทศพลญาณ ๑๐ พุทธญาณ ๑๔ พุทธธรรม ๑๘ เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสมอกันด้วย " พุทธธรรม "
" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าพระพุทธเจ้า ถ้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเสมอกันด้วยพุทธธรรม คือธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว เหตุใดจึงทำทุกกรกิริยาเฉพาะพระโคดมบรมโพธิสัตว์เท่านั้น ? "
" ขอถวายพระพร เพราะพระโคดมบรมโพธิสัตว์ ได้เสด็จออกทรงบรรพชาในเวลาที่พระโพธิญาณยังไม่แก่กล้า จึงต้องทรงทำทุกรกิริยา เพื่อรอความแก่กล้าแห่งพระโพธิญาณ "

" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้น พระโคดมบรมโพธิสัตว์ก็ควรจะเสด็จออกบรรพชาในเวลาที่พระโพธิญาณแก่กล้า จึงจะสมควร "
" ถูกแล้ว มหาบพิตร แต่ว่าพระโคดมบรมโพธิสัตว์ได้ทรงเห็นความวิปริตของพวกนางสนม จึงทรงเบื่อหน่าย เทวดาจำพวกมารจึงคิดว่า เวลานี้เป็นเวลาที่จะกำจัดความเบื่อหน่าย จึงได้ปรากฏตัวที่อากาศ เปล่งวาจาขึ้นว่า

" ขอท่านอย่าวุ่นวายเลยอีก ๗ วันนับจากนี้ไป จักรแก้วอันเป็นทิพย์ ก็จะปรากฏขึ้นแก่ท่าน จักรแก้วนั้นมีกำพันหนึ่ง พร้อมทั้งกงดุม เพลา พร้อมเสร็จ ท่านจักได้ทรงจักรแล้วไปได้ทั่วโลก จักมีอำนาจแผ่ไปทั่วโลกจักมีพระราชโอรสตั้งพัน ล้วนแต่เป็นผู้แกล้วกล้าสามารถย่ำยีข้าศึกทั้งปวง ท่านจักสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ จักได้เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ " พอพระโคดมบรมโพธิสัตว์ได้ฟังคำของมารอย่างนี้ ก็ยิ่งสลดใจมากขึ้น ร้อนพระทัยมากขึ้น เปรียบเหมือนบุรุษถูกแทงด้วยเหล็กแดงฉะนั้น หรือเปรียบเหมือนผู้ถูกไฟร้อน
           อีกอย่างหนึ่ง แผ่นดินใหญ่นี้ ย่อมชุ่มอยู่ด้วยน้ำตามปกติ เวลาฝนห่าใหญ่ตกลงมาก็ยิ่งชุ่มหนักขึ้นฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าเบื่อหน่ายโลกอยู่ตามปกติแล้ว เมื่อได้ฟังถ้อยคำของมารนั้น ก็ยิ่งทรงเบื่อหน่ายมากขึ้นฉันนั้น "

" ข้าแต่พระนาคเสน จักรแก้วจักเกิดขึ้นแก่พระโพธิสัตว์เจ้าในวันที่ ๗ ไม่ใช่หรือเหตุใดพระโพธิสัตว์จึงไม่กลับพระทัย รอจนให้จักรแก้วเกิดขึ้น ? "
"ขอถวายพระพร ไม่ใช่ว่าจักรแก้วจะเกิดแก่พระโพธิสัตว์เจ้าในวันที่ ๗ นั้นจริง เป็นแต่มารกล่าวเท็จเพื่อเล้าโลมพระโพธิสัตว์เจ้าเท่านั้น ถึงจักรแก้วจะเกิดแก่พระโพธิสัตว์เจ้าจริง พระโพธิสัตว์เจ้าก็ไม่ยอมกลับพระทัย ทั้งนี้ เพราะอะไร...เพราะพระโพธิสัตว์เจ้ายึดมั่นแล้วว่าสิ่งทั้งปวงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปลงพระทัยลงสู่ความสิ้นอุปาทานแล้ว น้ำที่ไหลไปจากสระอโนดาต ย่อมไหลไปสู่คงคานที แล้วน้ำในคงคานทีก็ไหลเข้าไปสู่มหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรก็ไหลเข้าไปสู่ปากบาดาล น้ำที่ปากบาดาลจะไหลกลับมาสู่มหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรจะไหลกลับไปสู่คงคานที น้ำในคงคานทีจะไหลกลับคืนไปสู่สระอโนดาตหรือไม่ ? "
" ไม่ พระผู้เป็นเจ้า "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พระโพธิสัตว์เจ้าได้สร้างพระบารมีมาตลอด ๔ อสงไขยกับแสนกัปแล้ว ถึงชาติสุดท้ายแล้วจะกลับพระทัยเพราะเห็นแก่สมบัติอย่างนั้น จนให้พระโพธิญาณแก่กล้าตลอดถึง ๖ ปี จึงจะเสด็จออกบรรพชา เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้านั้นไม่ได้ฉันนั้น อาตมภาพขอถามว่า พระโพธิสัตว์เจ้าจะกลับพระทัย เพราะเหตุแห่งจักรแก้วได้หรือ ? "
" ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า "

" ถึงพื้นปฐพีใหญ่จะล่มจมไป หรือภูเขาต่าง ๆ ทั้งสิ้นจะโค่น แม่น้ำใหญ่ทั้งปวงจะแห้ง พระโพธิสัตว์เจ้ายังไม่สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นอันไม่กลับพระทัยเป็นอันขาด ถึงมหาสมุทรอันเป็นที่ขังน้ำเค็ม หาประมาณมิได้จะแห้งขอดลงไปเหมือนกับน้ำในรอยโคก็ตาม ถึงน้ำในมหาคงคาจะไหลทวนกระแสขึ้นไปเบื้องบนก็ตาม พระยาเขาสิเนรุจะแตกออกไปตั้งร้อยเสี่ยงพันเสี่ยงก็ตาม อากาศจะม้วนกลมเหมือนเสื่อลำแพนก็ตาม ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ทั้งดวงดาว จะตกลงมาที่พื้นดินเหมือนก้อนดินก็ตาม พระโพธิสัตว์ยังไม่สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นอันไม่กลับพระทัยเป็นอันขาด เพราะอะไร...เพราะพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้ทำลายเครื่องผูกทั้งปวงแล้ว "

" ข้าแต่พระนาคเสน เครื่องผูกในโลกมีอยู่เท่าใด ? "
" ขอถวายพระพร มีอยู่ ๑๐ ประการ "
" คืออะไรบ้าง ? "
" เครื่องผูกในโลก ๑๐ ประการ ได้แก่ มารดาบิดา ภรรยา บุตร ญาติ มิตร ทรัพย์ ลาภ สักการะ อิสริยยศ และกามคุณ ๕ สัตว์ทั้งหลายออกไปจากโลกไม่ได้ เพราะเครื่องผูก ๑๐ ประการนี้แหละ เครื่องผูก ๑๐ ประการนี้ พระโพธิสัตว์เจ้าได้ทำลายเสียสิ้นแล้ว เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าจึงไม่กลับพระทัย "

" ข้าแต่พระนาคเสน เมื่อจิตเบื่อหน่ายเกิดขึ้น เมื่อญาณยังไม่แก่กล้า ถ้าพระโพธิสัตว์เจ้าเสด็จออกบรรพชา ตามคำของเทวดาที่เป็นมารนั้นแล้ว จะมีประโยชน์อันใด ด้วยการที่พระโพธิสัตว์เจ้าจะทรงทำทุกกรกิริยาพระโพธิสัตว์เจ้าควรรอให้พระญาณแก่กล้าควรหักสิ่งทั้งปวงไม่ใช่หรือ ? "
" ขอถวายพระพร มีบุคคลอยู่ ๑๐ จำพวก ที่มีผู้ดูหมิ่นดูแคลนเกลียดชังติเตียนครอบงำไม่ยำเกรง บุคคล ๑๐ จำพวกนั้น คือ หญิงหม้าย ๑ ผู้ทุพพลภาพ ๑ ผู้ไม่มีมิตรมีญาติ ๑ ผู้กินจุ ๑ ผู้อยู่ในตระกูลอันไม่น่าเคารพ ๑ ผู้มีมิตรเลวทราม ๑ ผู้เสื่อมทรัพย์ ๑ ผู้เสียศีล ๑ ผู้เสียการงาน ๑ ผู้เสียการประกอบ ๑ เมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าระลึกถึงบุคคลทั้ง ๑๐ จำพวกนี้ ก็ทรงนึกว่า เราไม่ควรเป็นผู้เสียการงาน เสียการประกอบ ให้เป็นที่ติเตียนของเทพยดามนุษย์ทั้งหลาย เราควรเป็นเจ้าของการงาน ควรเคารพการกระทำ ควรมีการกระทำเป็นใหญ่ มีการกระทำเป็นปกติ ทรงไว้ซึ่งการกระทำ อาศัยการกระทำไม่ปล่อยเครื่องผูก คือการกระทำ ควรเป็นผู้ ไม่ประมาท ด้วยเหตุนี้ พระโพธิสัตว์เจ้าจึงได้ทรงทำทุกกรกิริยา เพื่อรอความแก่กล้าแห่งญาณ "

พระเจ้ามิลินท์ตรัสอีกว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน พระโพธิสัตว์ผู้ทำทุกกรกิริยาได้กล่าวไว้ว่า เราไม่ได้สำเร็จความรู้ความเห็นวิเศษอันเป็นของอริยะ อันยิ่งกว่าธรรมดาของมนุษย์ได้ ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ ทางอื่นที่จะให้ตรัสรู้ได้จักต้องมี ก็ในคราวนั้น ความเผลอสติได้มีแก่พระโพธิสัตว์เจ้า เพราะแรงปรารภทางบ้างหรือไม่ ? "

พระนาคเสนชี้แจงว่า
" ขอถวายพระพร สิ่งที่จะทำให้จิตเสียกำลังใจ ไม่ทำให้จิตตั้งมั่นดี เพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย มีอยู่ ๒๕ ประการ คือ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #286 เมื่อ: ตุลาคม 02, 2011, 12:33:06 pm »

สิ่งที่ทำให้เสียกำลังใจ

๑. ความโกรธ       
๒. ความผูกโกรธ
๓. ความลบหลู่บุญคุณของผู้อื่น           
๔. ความตีเสมอกับผู้อื่น
๕. ความริษยาไม่ยินดีต่อความดีของผู้อื่น   
         
๖. ความตระหนี่เหนียวแน่น
๗. ความมีเล่ห์เหลี่ยมหลอกลวง         
๘. ความโอ้อวด
๙. ความดื้อดึง       
๑๐. ความแข่งดี

๑๑. ความถือตัว   
๑๒. ความดูหมิ่นผู้อื่น
๑๓. ความมัวเมา   
๑๔. ความเมาใหญ่
๑๕. ความง่วงเหงา

๑๖. ความเพลิดเพลิน
๑๗. ความเกียจคร้าน         
๑๘. ความคบมิตรลามก
๑๙. รูปของคนและสัตว์สิ่งของ           
๒๐. เสียงของคนสัตว์สิ่งของ

๒๑. กลิ่นของคนสัตว์สิ่งของ
๒๒. รสของคนสัตว์สิ่งของ
๒๓. สิ่งที่ถูกต้องทางกาย     
๒๔. ความหิวกระหาย
๒๕. ความไม่ยินดีในทางดี   

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #287 เมื่อ: ตุลาคม 02, 2011, 12:39:10 pm »

พระโพธิสัตว์เจ้าได้ครอบงำกายด้วยความหิวกระหาย คือปล่อยให้ความหิวกระหายครอบงำกาย เมื่อความหิวกระหายครอบงำกายแล้ว จิตก็ไม่ตั้งมั่นดีเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย พระโพธิสัตว์เจ้าได้แสวงหาการสำเร็จอริยสัจ ๔ อยู่ตลอด ๔ อสงไขยกับอีกแสนกัปแล้ว ในภพสุดท้ายจักมีความเผลอสติเพราะปรารภทางได้อย่างไร

เป็นแต่พระโพธิสัตว์นึกขึ้นมาว่า ทางตรัสรู้ทางอื่นจะมีหรืออย่างไร เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติแล้วได้ ๑ เดือนได้ทรงนั่งสมาธิอยู่ ณ ที่บรรทมภายใต้ต้นหว้าอันมีเงาร่มเย็นนั้น ในเวลาที่พระราชบิดาทรงแรกนาขวัญ ก็ยังได้สำเร็จฌาน ๔ ขอถวายพระพร "

" ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน โยมรับว่าเมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าจะทรงรอให้ญาณแก่กล้าจึงได้ทำทุกกรกิริยา "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #288 เมื่อ: ตุลาคม 02, 2011, 12:48:46 pm »

ปัญหาที่ ๗ ว่าด้วยกำลังแห่งกุศลอกุศล

" ข้าแต่พระนาคเสน กุศลกับอกุศลอย่างไรยิ่งกว่ากัน มีกำลังกว่ากัน ? "
" ขอถวายพระพร กุศล ยิ่งกว่า มีกำลังแรงกว่า "

พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมไม่เชื่อว่า กุศลยิ่งกว่า มีกำลังแรงกว่า เพราะเห็นอยู่ทั่วกันว่าผู้ทำปาณาติบาต ฆ่ามนุษย์ ผู้ทำอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปล้นชาวบ้าน ปล้นคนเดินทาง ฉ้อโกง หลอกลวง ทั้งสิ้นนี้ย่อมถูกลงโทษต่าง ๆ คือ ถูกตัดมือก็มี ตัดเท้าก็มี ตัดหู ตัดจมูกก็มี เอาหม้อข้าวครอบหัวก็มี ถลกหนังแล้วขัดด้วยหินหยาบให้ขาวเหมือนสังข์ก็มี ทำปากราหูคือจุดไฟยัดเข้าปากก็มี ทำตัวเป็นดอกไม้เพลิงคือเอาผ้าชุบน้ำมันพันตัวแล้วจุดไฟก็มี จุดนิ้วมือต่างประทีป คือผ้าขี้ริ้วชุบน้ำมันพันนิ้วมือ แล้วจุดไฟก็มี ทำหนังแกะ คือลอกหนังตั้งแต่คอลงไปถึงข้อเท้า แล้วให้เดินเหยียบหนังตัวเองไปก็มี ทำผ้าผูกคอ คือถลกหนังตั้งแต่คอลงไปพักไว้ที่บั้นเอวเสียตอนหนึ่ง ถลกหนังจากใต้บั้นเอวลงไปถึงข้อเท้า ให้เหมือนนุ่งผ้าเปลือกปอก็มี ตอกข้อเท้าทั้งสองเข่าทั้งสองขึงไว้กับพื้นดินก็มี เอาเบ็ดเกี่ยวเนื้อออกเป็นชิ้น ๆ ก็มี

เชือดเนื้อออกทีละก้อน ๆ เท่าเงินกหาปณะก็มี ฟันแทงให้ทั่วตัว แล้วเอาน้ำแสบน้ำเค็มเทราดก็มี ให้นอนตะแคงเอาหลาวแทงช่องหู ปักลงไปกับพื้นดินให้แน่น แล้วจับเท้าหมุนก็มี ทำดั่งฟาง คือเชือดเอาผิวหนังออกแล้วทุบกระดูกให้แตกด้วยก้อนหิน จับผมดึงถลกหนังขึ้น ทำให้เหมือนมัดฟางก็มี เสียบหลาวไว้ทั้งเป็นก็มี ตัดศีรษะด้วยดาบก็มี พวกทำบาปในกลางคืนได้รับผลบาปในกลางคืนก็มี พวกทำบาปกลางคืนได้รับผลบาปกลางวันก็มี พวกทำบาปกลางวันได้รับผลบาปกลางวันก็มี บางพวกที่ได้รับกลางคืน บางพวกที่ได้รับกลางคืน บางพวกล่วงไป ๒ - ๓ วันจึงได้รับ เป็นอันว่าพวกทำบาปทั้งสิ้น ได้รับผลในทันตาเห็น

ส่วนผู้ให้ทานแก่สมณพราหมณ์องค์เดียวหรือ ๒ องค์ ๓ องค์ ๔ องค์ ๕ องค์ ๑๐ องค์ ๑๐๐ องค์ พันองค์ แสนองค์ จึงได้รับผลคือทรัพย์ ยศ หรือสุข ในปัจจุบันก็มี บางคนก็ได้เสวยสมบัติด้วยศีล ๕ ก็มี ด้วยศีล ๘ ก็มี "

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร บริษัททั้ง ๔ นี้ให้ทานรักษาศีล รักษาอุโบสถ แล้วไปสวรรค์ทั้งเป็นก็มีอยู่ "

" คือใครบ้างล่ะ พระผู้เป็นเจ้า ? "
" ขอถวายพระพร คือ พระเจ้ามันธาตุราช ๑ พระเจ้าเนมิราช ๑ พระเจ้าสาธินราช ๑ โคตติลพราหมณ์ ๑ "

" ข้าแต่พระนาคเสน เรื่องบุคคลทั้ง ๔ นั้น เป็นเรื่องนานหลายพันชาติมาแล้ว ถ้าพระผู้เป็นเจ้าสามารถ จงบอกเรื่องที่มีอยู่ในครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ว่า ผู้ที่ทำบุญแล้ว ได้ผลทันตาเห็นนั้นคือใครบ้าง ? "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #289 เมื่อ: ตุลาคม 02, 2011, 01:03:11 pm »

บุคคลตัวอย่าง

ขอถวายพระพร คือ นายปุณณกะ ผู้เป็นทาสของเศรษฐี ( เมณฑกเศรษฐี ) ซึ่งได้ใส่บาตรพระสารีบุตรเถระ แล้วได้เป็นเศรษฐีในวันนั้น พระนางโคปาลมาตาเทวี ตัดมวยผมออกขายได้เงิน ๘ กหาปณะ แล้วซื้ออาหารถวายแก่พระ ๘ องค์ มีพระมหากัจจายนเถระเป็นประธาน แล้วได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าอุเทน ( ในพระสูตรว่าเป็นพระเจ้าจัณฑปัชโชติ ) ในวันนั้น นางสุปิยาอุลาสิกา เชือดเนื้อขาออกปิ้งถวายพระอาพาธองค์หนึ่ง แล้วรุ่งขึ้นก็มีเนื้องอกขึ้นเต็มเป็นปกติ พระนางมัลลิกา ได้เอาขนมถั่วใส่บาตรพระพุทธเจ้า แล้วได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าโกศลในวันนั้น นายสุมนมาลาการ บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกมะลิ ๘ กำมือ แล้วได้รับพระราชทานรางวัลจากพระราชาสิ่งละ ๘ ในวันนั้น เป็นอันว่าบุคคลทั้งสิ้นนี้ ได้ทรัพย์ ยศ ในชาติปัจจุบันนี้ขอถวายพระพร "

" ข้าแต่พระนาคเสน ท่านพิจารณาเห็นเพียง ๖ คนเท่านี้หรือ ? "
" เพียง ๖ คนเท่านี้แหละ มหาบพิตร "

พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสอีกว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้น อกุศลก็มีกำลังยิ่งนัก เพราะว่าคราวหนึ่งโยมได้เห็นบุรุษคราวละ ๑๐ คน ๒๐ คน ๓๐ คน ๔๐ คน ๑๐๐ คน ๑,๐๐๐ คน ถูกเสียบหลาวทั้งเป็นด้วยผลบาปของเขา บุตรของเสนาบดีแห่งพระเจ้าจันทคุตต์ชื่อว่า " ภัททบาล " ได้เกิดทำสงครามกับพระเจ้าจัตทคุตต์ ในการทำสงครามกลางเมืองคราวนั้นพลนิกายทั้งสองฝ่าย ต่างก็มีมือถือดาบอันคมกล้า ฆ่าฟันกันล้มตายเป็นอันมาก

การที่พวกนั้น ถึงความพินาศอย่างนั้นก็เพราะผลของบาปกรรม เหตุอันนี้แหละโยมจึงว่าอกุศลมีกำลังยิ่งกว่า โยมได้ฟังมาว่า พระเจ้าโกศล ได้ถวายอสทิสทาน ในครั้งพระพุทธองค์ยังทรงดำรงอยู่ จริงไหม ? "

พระนาคเสนยอมรับว่า " จริง มหาบพิตร "
" ข้าแต่พระนาคเสน พระเจ้าโกศลถวายอสทิสทานนั้นแล้วได้ทรัพย์ ยศ หรือสุขอย่างใดอย่างหนึ่งในปัจจุบันหรือไม่ ? "
" ไม่ได้ มหาบพิตร "
" ถ้าไม่ได้ ก็เป็นอันว่า อกุศลมีกำลังยิ่งกว่า "

" ขอถวายพระพร อกุศลย่อมให้ผลเร็วเพราะเป็นของเล็กน้อย ส่วนกุศลย่อมให้ผลช้าเพราะเป็นของใหญ่ ความข้อนี้ควรทราบด้วยอุปมา ดังนี้ ในอปรันตชนบทมีธัญชาติ คือข้าวเปลือกชนิดหนึ่งชื่อว่า " กุมุทธภัณฑิกา " อันจัดเป็นข้าวเบา หว่านลงในนาเดือนเดียวก็ได้ผล ส่วนข้างสาลีต้อง ๕ - ๖ เดือนจึงจักได้ผล ข้อนี้มหาบพิตรว่าเป็นเพราะอะไร ? "

" โยมว่าเป็นเพราะข้าวกุมุทธภัณฑิกาเป็นของเล็กน้อย ส่วนข้าวสาลีเป็นของใหญ่เพราะเป็นข้าวเสวยของพระราชา ส่วนข้าวกุมุทธกัณฑิกา เป็นข้าวของพวกทาสกรรมกร "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เพราะอกุศลเป็นของเล็กน้อย จึงให้ผลเร็ว ส่วนกุศลเป็นของใหญ่ จึงให้ผลช้า "

พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน สิ่งใดให้ผลเร็ว สิ่งนั้นชื่อว่า มีกำลังยิ่งกว่า เพราะฉะนั้น อกุศลจึงมีกำลังยิ่งกว่า เหมือนกับพลรบที่เข้าสู่สนามรบผู้ใดจับศัตรูมาได้เร็ว ผู้นั้นชื่อว่าผู้แกล้วกล้าสามารถ หมอผ่าตัดคนใดถอนลูกศรออกได้เร็วหมอผ่าตัดคนนั้นชื่อว่าหมอฉลาด คนนับคนใดนับได้เร็ว คนนับคนนั้นก็ชื่อว่าเก่ง คนปล้ำคนใดจับคู่ปล้ำด้วยกันฟาดลงได้ทั้งยืน คนปล้ำคนนั้นก็ชื่อว่าแกล้วกล้าสามารถ ข้อเปรียบเหล่านี้มีอุปมาฉันใด กุศลหรืออกุศลใดสามารถ ให้ผลเร็ว กุศลหรืออกุศลนั้น ก็ชื่อว่ามีกำลังยิ่งกว่าฉันนั้น "

พระนาคเสนอธิบายว่า
" ขอถวายพระพร กรรมทั้งสองนี้ เป็นกรรมให้ผลในชาติที่ ๒ รองจากชาตินี้ลงไปอีกอย่างหนึ่ง อกุศลที่ให้ผลในปัจจุบันนั้น เป็นเพราะมีโทษมากกษัตริย์องค์ก่อน ๆ ทรงกำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ขโมยของผู้อื่น เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น กล่าวเท็จ ปล้นบ้านเมือง แย่งชิงคนเดินทาง ทำของปลอม ทำการหลอกลวง ผู้นั้นต้องได้รับโทษอาญาคือฆ่าหรือตัดอวัยวะหรือเฆี่ยนตี อย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ แล้วพระราชาเหล่านั้น ก็ลงโทษตามที่ทรงกำหนดไว้ ส่วนผลของทานศีล มีผู้กำหนดไว้หรือไม่ว่า ผู้ใดให้ทาน รักษาศีล รักษาอุโบสถ พระราชาต้องพระราชทานทรัพย์ ยศ แก่ผู้นั้นเหมือนกับการลงโทษผู้กระทำผิดกฏหมาย ? "
" ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า "

" ขอถวายพระพร ถ้ามี กุศลก็ต้องให้ผลทันตาเห็นแก่ผู้ให้ทานทั้งนั้น แต่เพราะไม่มีพระราชกำหนดกฏหมายไว้ กุศลจึงไม่ได้ผลทันตาเห็นเสมอไป ส่วนในภพต่อ ๆ ไป เขาก็ได้ผล มีกำลังยิ่งกว่า สำหรับอกุศลไม่ใช่อย่างนั้น "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ปัญหานี้ท่านได้แก้ไขถูกต้องดีแล้ว "